Skip to main content
sharethis

ประชาไท 7 ก.พ. 2550 - กรีนพีซเปิดรายงานการตลาดข้าวโลก เผยบริษัทข้าวชั้นนำของโลก 41 บริษัทประกาศนโยบาย "ไม่เอา" ข้าวจีเอ็มโอ ด้านสมาคมผู้ส่งออกข้าวร่วมแถลงจุดยืนย้ำ "ไม่ค้าข้าวจีเอ็มโอ" ส่วนเกษตรกรไทยร้องรัฐบาลห้ามออกกฎหมายเปิดทดลองภาคสนาม หวั่นอุตสาหกรรมข้าวไทยล่มซ้ำรอยอเมริกา


 


ในรายงานการตลาดเรื่อง "วิกฤตอุตสาหกรรมข้าว" ได้บรรจุแถลงการณ์นโยบายของบริษัทข้าวชั้นนำในเอเชีย ยุโรป ออสเตรเลีย และทวีปอเมริกาเหนือและใต้รวม 41 บริษัท (1) เช่นบริษัท Ebro Puleva ผู้แปรรูปข้าวที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป ที่ระบุว่าหยุดซื้อข้าวจากอเมริกาทันทีหลังการปนเปื้อนข้าวจีเอ็มโอของบริษัทไบเออร์เมื่อปลายปี 2549 ในรายงานนี้ยังรวมถึงแถลงการณ์ครั้งประวัติศาสตร์ของโลกระหว่างสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยและสมาคมอาหารแห่งเวียดนาม ที่ร่วมลงนาม "ไม่ค้า" ข้าวจีเอ็มโออีกด้วย


 


"ตลาดข้าวยุโรปเป็นตลาดที่มีแนวโน้มสดใสมาก เพราะนอกจากบริโภคภายในแล้วยังส่งออกผลิตภัณฑ์ไปทั่วโลกอีกด้วย เมื่อตลาดยุโรปต้องการข้าวปลอดจีเอ็มโอ 100 % เราจึงต้องทำตามความต้องการของตลาด โดยไม่ต้องเอาใจอเมริกาที่สนับสนุนจีเอ็มโอ สมาคมผู้ส่งออกข้าวจึงมีนโยบายไม่ค้าขายจีเอ็มโออย่างเด็ดขาด และไม่สนับสนุนให้มีการทดลองข้าวจีเอ็มโอในภาคสนาม เพราะอาจทำให้เกิดการปนเปื้อนได้" นายรุจจน์ ทรัพย์นิรันดร์ กรรมการบริหารสมาคมผู้ส่งออกข้าวต่างประเทศ และประธานกรรมการบริหารบริษัทปทุมไรซ์มิลล์แอนด์แกรนารีจำกัด (มหาชน) - ผู้ผลิตข้าวถุงมาบุญครอง กล่าว


 


ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพันธุวิศวกรรม กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า การปนเปื้อนและการปฏิเสธของตลาดจากทั่วโลก แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความต้องการให้ไบเออร์หยุดพัฒนาข้าวจีเอ็มโอ ไบเออร์ได้พิสูจน์ว่าข้าวจีเอ็มโอมีความเสี่ยงมากเกินไป เพียงแค่แปลงทดลองเล็กๆ ก็สร้างความเสียหายต่ออุตสาหกรรมข้าวโลกได้


 


"รัฐบาลทั่วโลกต้องตอบสนองต่อกรณีความเสียหายทางเศรษฐกิจ ตลาดและสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการปนเปื้อนข้าว จีเอ็มโอในปี 2549 โดยต้องไม่อนุมัติคำขออนุญาตปลูกและทดลองข้าวจีเอ็มโอทุกชนิด การทดลองข้าวจีเอ็มโอภาคสนาม การปลูกข้าวจีเอ็มโอเพื่อการค้าต้องไม่เกิดขึ้น มิเช่นนั้นพืชอาหารหลักของโลกต้องเผชิญหน้ากับหายนะ" ภัสน์วจีกล่าว


 


ในรายงานได้เปิดเผยผลกระทบจากการปนเปื้อนข้าวของไบเออร์ กล่าวคือราคาข้าวในตลาดล่วงหน้าตกลงถึง 150 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทำลายสถิติราคาที่ตกต่ำที่สุดในรอบวันในหลายปีที่ผ่านมา และคาดการณ์ว่าการส่งออกข้าวของสหรัฐฯ จะลดลงถึง 16% ในปีการผลิต 2549-2550 (2) ส่วนกลุ่มเกษตรกรและผู้ค้าข้าวเรียกร้องให้ไบเออร์รับผิดชอบต่อการปนเปื้อนและจ่ายเงินชดเชย โดยฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายวงเงินหลายล้านเหรียญสหรัฐ (3)


 


"ไบเออร์พยายามผลักดันให้ทั่วโลกอนุมัติคำขอปลูกข้าวจีเอ็มโอ รวมถึงในยุโรปและบราซิล แต่ปฏิเสธความรับผิดชอบจากการปนเปื้อนข้าวจีเอ็มโอผิดกฎหมายของตัวเองที่แพร่กระจายไปทั่วอเมริกาและที่อื่นๆ ตรงกันข้ามกลับอ้างว่าเป็นความผิดพลาดของเกษตรกรและธรรมชาติ" (4) อดัม ลีวิตต์ ทนายความของสำนักงานกฎหมาย Wolf Haldenstein Adler Freeman & Herz ที่ฟ้องร้องคดีให้กับกลุ่มเกษตรกรในสหรัฐอเมริกากล่าว


 


นอกจากคดีกลุ่ม ยังมีการฟ้องร้องเป็นรายบุคคลของผู้ค้าข้าวในยุโรปอีกด้วย ผลจากการปนเปื้อนทำให้เกษตรกร โรงสีข้าว ผู้ค้าข้าวและผู้จำหน่ายข้าวต้องเสียเงินมหาศาลจาก ค่าตรวจสอบและเรียกคืนสินค้า การยกเลิกการสั่งซื้อ การห้ามการนำเข้า เสียชื่อเสียงผลิภัณฑ์ และผู้บริโภคขาดความไว้ใจ ซึ่งส่งผลในระยะยาว


 


ด้านอุบล อยู่หว้า ตัวแทนเกษตรกรจากเครือข่ายเกษตรทางเลือกกล่าวว่า ประเทศไทยไม่ควรเดินตามอเมริกา ซึ่งภาคธุรกิจจีเอ็มโอและรัฐบาลสหรัฐฯ ร่วมกันเอาเปรียบผู้บริโภคและเกษตรกร โดยออกกฎหมายเปิดประเทศให้จีเอ็มโอ รัฐบาลไทยไม่ควรออกกฎหมายความปลอดภัยทางชีวภาพที่เปิดให้มีการทดลองภาคสนามพืชจีเอ็มโอ และไม่ควรอนุญาตให้มีการทดลองข้าวจีเอ็มโอ ซึ่งจะทำให้เกษตรกรและสินค้าเกษตรไทยตกอยู่ในความเสี่ยง"


 


กรีนพีซรณรงค์เกี่ยวกับพืชและผลิตภัณฑ์อาหารปลอดจีเอ็มโอบนหลักการของความยั่งยืน การรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ และเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงอาหารที่ปลอดภัย จีเอ็มโอเป็นเทคโนโลยีที่ไม่จำเป็นและไม่เป็นที่ต้องการ ที่สามารถปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อม คุกคามความหลากหลายทางชีวภาพ และก่อเกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพ


 


Notes


 


(1) แถลงการณ์ของบริษัทมาจากประเทศ: ญี่ปุ่น, สวิทเซอร์แลนด์, ฝรั่งเศส, ฮ่องกง, เยอรมนี, ออสเตรเลีย, ปากีสถาน, ประเทศไทย, อินเดีย, บราซิล, สเปน, แคนาดา และสหราชอาณาจักร. ดูแถลงการณ์ได้ในรายงานการตลาดหน้า 6 - 14: www.greenpeace.org


 


(2) Elias P. 2006. California growers fear biotech rice threat. Washington Post. 15 October, 2006.


 


http://www.washingtonpost.com/wp-dyn/content/article/2006/10/15/AR2006101500465.html


 


(3) Weiss, R. 2006. Firm Blames Farmers, "Act of God" for Rice Contamination. Washington Post. 22 November, 2006.


 


www.washingtonpost.com/ActofGod


 


Leonard, C. 2006. 13 Lawsuits Over Accidental Spread of Genetically Altered Rice Could Be Combined Into 1. Associated Press. 30, November, 2006.


 


www.boston.com/LawsuitGErice


 


(4) ประเทศที่ไบเออร์ ครอปไซนส์ยื่นขออนุญาตเพื่อเพาะปลูกข้าว เพื่อเป็นอาหารมนุษย์และอาหารสัตว์ เป็นการอนุมัติเฉพาะพันธุ์ LL 62 เว้นแต่เสียว่ามีข้อระบุอื่น


 


1.ออสเตรเลีย -อาหารมนุษย์และอาหารสัตว์ ยื่นคำขอเมื่อ 2549


 


2.บราซิล - เพาะปลูก, อาหารคนและอาหารสัตว์,นำเข้าเมล็ดพันธุ์,การทดลองในสภาพไร่นา เพิ่มเติม, ยื่นคำขอ เมื่อ 2549


 


3. แคนาดา - อนุมัติสำหรับเป็นอาหารคนและอาหารสัตว์ ยื่นคำขอเมื่อ 2549


 


4. สหภาพยุโรป (25 ประเทศ) - อาหารคนและอาหารสัตว์ ยื่นคำขอเมื่อ 2006


 


 


5. นิวซีแลนด์ - อาหารคนและอาหารสัตว์ ยื่นคำขอเมื่อ 2006


 


6. ฟิลิปปินส์ - อาหารคนและอาหารสัตว์ ยื่นคำขอเมื่อ 2006


 


7. แอฟริกาใต้ - อาหารคนและอาหารสัตว์ ยื่นคำขอเมื่อ 2006


 


8. สหรัฐอเมริกา - อนุมัติเพื่อเพาะปลูก เป็นอาหารคนและอาหารสัตว์แล้ว ในข้าวพันธุ์ LL601, LL 62 และ LL 06 ในปี 2549 และ 2545 ตามลำดับ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net