Skip to main content
sharethis


 


วานนี้ (6 ก.พ.) ตัวแทนประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนจากอาคารสูงใน ซ.วัดอุโมงค์ ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ จำนวนหนึ่ง เดินทางเข้าพบนายวิชัย ศรีขวัญ ผู้ว่าราชการ จ.เชียงใหม่ เพื่อขอทราบความคืบหน้าในการติดตามปัญหาและการตรวจสอบการดำเนินงานของ อบต.สุเทพ กรณีมาตรการแก้ปัญหาตึกสูงใน ซ.วัดอุโมงค์ โดยมีนายกฤษดาภรณ์ เสียมภักดี รองผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นผู้เข้ารับฟังปัญหาการร้องเรียน พร้อมกันนี้ตัวแทนประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากอาคารสูง ซ.วัดอุโมงค์ ยังได้เข้าพบโยธาธิการและผังเมือง จ.เชียงใหม่ ด้วย


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การเข้าพบผู้ว่าราชการ จ.เชียงใหม่ ของตัวแทนประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนจากอาคารสูงใน ซ.วัดอุโมงค์ ในครั้งนี้เป็นผลมาจากกรณีที่ผังเมือง จ.เชียงใหม่ ได้กำหนดให้ย่าน ซ.วัดอุโมงค์ เปลี่ยนจากการเป็นพื้นที่สีเหลือง ซึ่งหมายถึงย่านพักอาศัยหนาแน่นน้อย กลายเป็นพื้นที่สีส้ม คือย่านพักอาศัยความหนาแน่นปานกลาง ซึ่งเป็นการแก้ไขที่ผิด สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้ที่อาศัยอยู่เดิม นอกจากนี้พื้นที่สีส้มห้ามสร้างโรงแรม หอพัก คอนโดมิเนียมที่เป็นอาคารขนาดใหญ่ แต่ขณะนี้ได้เกิดอาคารขนาดใหญ่เป็นโรงแรมสูง 5-8 ชั้น จำนวนมาก อีกทั้งย่าน ซ.วัดอุโมงค์เป็นย่านพักอาศัยเก่าแก่ มีซอยแคบและคดเคี้ยวทุกซอย มีความเป็นที่พักอาศัยหนาแน่นน้อยที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของเมืองเชียงใหม่ แต่บัดนี้ ได้เกิดอาคารสูงมากมาย ทั้งๆ ที่ซอยมีความกว้างเพียง 6 เมตร หรือแคบกว่านั้น


อย่างไรก็ตาม กรณีดังกล่าวในเบื้องต้นรองผู้ว่าราชการจังหวัดได้รับเรื่องดังกล่าวเพื่อนำไปพิจารณาหาแนวทางแก้ไขต่อไป โดยจะลงสำรวจพื้นที่ พร้อมด้วยฝ่ายโยธาธิการและผังเมือง สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 1 ในวันที่ 7 ก.พ.นี้ หลังจากนั้นจะเชิญ อบต.สุเทพ มาหารือเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้น


นายกฤษดาภรณ์ เสียมภักดี รองผู้ว่าราชการ จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า สิ่งที่สำคัญที่ต้องตรวจสอบกรณีการสร้างอาคารสูงคือ มีการอนุญาตอย่างถูกต้องตามกฎระเบียบของกฎหมายที่เกี่ยวข้องหรือไม่ หากการอนุญาตเป็นไปโดยมิชอบ หรือไม่ถูกต้องก็ต้องสั่งระงับการก่อสร้างนั้น โดยจะสั่งการให้ฝ่ายโยธาธิการเข้าไปสำรวจพื้นที่ และตรวจสอบอาคารสูงตามที่ประชาชนได้ร้องเรียนมา


นางพจนีย์ ขจรปรีดานนท์ โยธาธิการและผังเมือง จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ตามที่ประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาอาคารสูงได้ยื่นหนังสือร้องเรียนมาทางผู้ว่าราชการจังหวัด ตั้งแต่วันที่ 30 ม.ค. ที่ผ่านมานั้น ปัจจุบันฝ่ายโยธาธิการและผังเมืองอยู่ในขั้นตอนการประสานงานกับคณะกรรมการควบคุมอาคาร กรุงเทพฯ เพื่อยื่นร่างประกาศกระทรวงมหาดไทยเกี่ยวกับการควบคุมอาคาร โดยจะใช้เวลาอย่างเร็วที่สุดประมาณ 4 เดือน ในการพิจารณาอนุมัติร่างประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าว ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ 1 ปี และสามารถนำเสนอให้พิจารณาเป็นกฎกระทรวงต่อไปได้


"การสร้างอาคารมีองค์ประกอบเกี่ยวกับ พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร ที่สถาปนิกต้องรู้ เช่น การสร้างอาคารต้องเป็นสัดส่วนกับความกว้างของถนน หรือซอยด้วย ถ้าดูตามระเบียบของเทศบัญญัติแล้วสิ่งปลูกสร้างที่ติดถนนต้องสูงไม่เกิน 1.5 เมตร เป็นต้น" นางพจนีย์ กล่าว


อย่างไรก็ตาม โยธาธิการและผังเมือง จ.เชียงใหม่ กล่าวในตอนท้ายว่า การกำหนดโซนผังเมืองบริเวณ ซ.วัดอุโมงค์ จากเดิมเป็นสีเหลืองมาเป็นสีส้มนั้น กำหนดขึ้นตามจำนวนประชากรรวมในเขตพื้นที่นี้ ซึ่งประกาศออกมาเป็นกฎกระทรวงแล้ว แต่ในท้องถิ่นก็สามารถดำเนินการควบคุมความหนาแน่นของผู้อยู่อาศัย และอาคารได้ในระดับหนึ่ง


นายคามิน เลิศชัยประเสริฐ อาจารย์พิเศษคณะวิจิตรศิลป์ ม.เชียงใหม่ กล่าวว่า ตนอยากให้ย่าน ซ.วัดอุโมงค์ยุติการสร้างตึกสูง เพราะอาคารสูงที่เกิดขึ้นหลายแห่งมีความไม่เหมาะสม และไม่ทราบว่าหน่วยงานท้องถิ่นอนุญาตให้ก่อสร้างได้อย่างไร เช่น ในพื้นที่จำนวนไม่ถึง 1 ไร่ แต่มีตึกสูง 7 ชั้น เป็นสัดส่วนที่ไม่เหมาะสม เพราะถนนสัญจรเป็นซอยแคบแค่ 4 เมตร เท่านั้น หากไม่ทำการควบคุมอาคารตั้งแต่ตอนนี้ มีแนวโน้มว่าพื้นที่นี้จะหยุดการสร้างอาคารสูงแบบนี้ได้อยาก ซ้ำร้ายจะทำให้มีการประกาศเป็นพื้นที่สีแดงในอนาคต


ด้าน รศ.ดร. ธเนศวร์ เจริญเมือง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.เชียงใหม่ กล่าวว่า ย่าน ซ.วัดอุโมงค์เป็นสถานที่อยู่อาศัยที่น่าอยู่ที่สุดแห่งหนึ่งของเมืองเชียงใหม่ แต่ขณะนี้มีอาคารสูงผุดขึ้นมากมาย กลายเป็นสลัมในศตวรรษที่ 21 หากพื้นที่ในซอยแคบๆ ขนาดนี้รองรับคนอยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก จะก่อให้เกิดปัญหาระบบสาธารณูปโภคตามมาได้


"เป็นไปได้อย่างไรที่จะปล่อยให้ย่านนี้ ซึ่งถนนเป็นซอยแคบๆ มีอาคารสูงผุดขึ้นเพื่อรองรับคนจำนวนมากอย่างไม่มีการควบคุม ซึ่งจะทำให้ระบบสาธารณูปโภคได้รับความเสียหาย เช่น น้ำไม่เพียงพอใช้ ร่องท่อระบายน้ำพังพินาศ เนื่องจากรถยนต์ และรถบัสขนาดใหญ่เดินทางเข้าออกในซอยแคบๆ นอกจากนี้ยังมีปัญหาฝุ่นควัน มลพิษทางเสียงอีกด้วย" รศ.ดร.ธเนศวร์ กล่าวทิ้งท้าย.


ที่มา สำนักข่าวประชาธรรม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net