'อภิสิทธิ์' หนุนหยุด พ.ร.บ.ม.นอกระบบในรัฐบาลนี้ เสนอผ่านกฎหมาย 2 ฉบับแทน

ประชาไท - 7 ก.พ. 2550 เมื่อวันที่ 6 ก.พ. สถาบันสหวิทยาการศาสตร์และการจัดการความรู้สภาคณาจารย์ มหาวิทยาลัยศิลปากร จัด เสวนา 'ผ่าทางตัน ปัญหาการเปลี่ยนสภาพสู่..มหาวิทยาลัยในกำกับ' ณ อาคารอธิการบดี มหาวิทยาลัยศิลปากร 

 

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวยืนยันในการเสวนาว่า แนวคิดมหาวิทยาลัยในกำกับหรือ ม.นอกระบบ เป็นเรื่องการบริหารจัดการเท่านั้น โดยอยู่บนฐานคิดว่าจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงบางอย่างทั้งจากแนวโน้มต่างๆที่เกิดขึ้นในโลก หรือการที่มหาวิทยาลัยในระบบราชการมีงานวิจัยน้อยลง หรือการทำโครงการพิเศษต่างๆที่ยกเว้นระเบียบราชการของมหาวิทยาลัยมีมากขึ้นทุกที

 

นายอภิสิทธิ์ อธิบายว่า นโยบายมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ เริ่มมีมาตั้งแต่ พ.ศ. 2507 แต่การผลักดันมีปัญหาและวกไปวนมาโดยตลอด จนมาผลักดันสำเร็จแห่งแรกที่สถาบันพรจอมเกล้าธนบุรี รวมทั้งในสมัยรัฐบาลชวน 2

 

โดยประเด็นหลักที่นำไปสู่การผลักดันนโยบายนี้ อันดับแรกมาจากเรื่องปัญหาการบริหารจัดการสายการบังคับบัญชาที่ไม่น่าใช้รูปแบบเป็นแนวดิ่งตามระบบราชการ แต่ควรเป็นการกระจายอำนาจสู่มหาวิทยาลัยและประชาคมมหาวิทยาลัยเต็มที่

 

ประเด็นต่อมาคือเรื่องงบประมาณที่ระบบราชการขาดความยืดหยุ่น  ส่วนประเด็นสุดท้ายเป็นเรื่องบุคลากรทางการศึกษาที่ไม่อิงกับระบบราชการ ซึ่งนอกจากเรื่องค่าตอบแทนแล้วระบบราชการต้องยอมรับว่ามีความมั่นคงในการทำงานสูงมาก แต่หากผ่านการประเมินอย่างตรงไปตรงมาการเปลี่ยนแปลงโยกย้ายกลับสามารถทำได้ยาก เช่นเวลาครูทำไม่ดีก็ย้ายไปที่อื่นแทนจึงไม่เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล

 

อย่างไรก็ตาม นายอภิสิทธิ์ยืนยันว่า แนวคิด มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐนั้นไม่ได้เป็นการพลิกสถานภาพจากรัฐสู่เอกชน แต่ยังคงสถานภาพในภาครัฐไว้และไม่ประสงค์แสวงหาผลกำไร ไม่ลดการสนับสนุนจากภาครัฐ ทว่าปัญหาการผลักภาระทางการเงินสู่ผู้เรียนนั้นมาจากแนวโน้มที่มีผู้เข้าสู่ระดับอุดมศึกษามากขึ้น โดยเฉพาะหากสนับสนุนการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งในกรณีนี้ภาระจะมีมากอยู่แล้วไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยในหรือนอกระบบก็ตาม

 

นายอภิสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า หลังการทำงานเรื่องนี้ช่วงมหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับแห่งแรก พบว่าพอเปลี่ยนรัฐบาลก็เกิดความสับสน ผู้มาทำต่อไม่ชัดเจน และปล่อยให้ปัญหาทิ้งค้าง หรือในสมัยรัฐบางทักษิณก็มีปัญหาจากการมักพูดว่ามหาวิทยาลัยไหนไม่อยากออกนอกระบบก็ไม่ต้องออก แต่กลับสั่งผลักดันเดินหน้ากฎหมายนี้เข้าสู่สภาทันที ประชาคมมหาวิทยาลัยต่างๆก็มีคำถามมากขึ้นแต่คำตอบกลับไม่มีมากขึ้นเรื่อย ในความไม่ชัดเจนสถานภาพพนักงานมหาวิทยาลัยที่ไม่ได้รับการบรรจุเป็นราชการก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมาเรื่อยๆ

 

สำหรับในตอนนี้ มองว่าสภาวะเปลี่ยนไป ทั้งคนที่เข้าใจและไม่เข้าใจมีมากขึ้น และสถานการณ์มากไปกว่าการที่จะมองว่ามหาวิทยาลับไหนอยากออกก็ออก ไม่อยากออกก็ไม่ต้องออก ดังนั้นรัฐบาลนี้จึงยังไม่ควรผ่านกฎหมายมหาวิทยาลัยในกำกับ แต่ต้องปรับหลักคิดและยืนยันว่าเป็นเรื่องการบริหารจัดการเท่านั้น ในส่วนที่รัฐบาลนี้ควรทำขอเสนอ 2 ประการ

 

ประการแรกคือมีหลักประกันเรื่องงบประมาณ จัดให้มีหน่วยงานอิสระของภาครัฐทำหน้าที่ประเมินจัดงบประมาณให้สถาบนอุดมศึกษา โดยประเมินต้นทุนในการผลิตบัณฑิตแต่ละสาขา ซึ่งเรื่องนี้ความจริงแล้วต้องทำก่อนจะมี กรอ.ด้วย

 

นอกจากนี้ ต้องประกาศให้ชัดเจนว่าจากการประเมินต้นทุน รัฐจะสนับสนุนให้เท่าไหร่ในแต่ละสาขาอย่างโปร่งใส โดยขอมองสวนทางว่าในสาขาที่มีตลาดรองรับสูงรัฐบาลไม่ต้องอุดหนุนมากเพราะตลาดจะเป็นผู้ตอบแทนคืน แต่สำหรับสาขาวิชาที่เกี่ยวกับประโยชน์ของสังคมนั้นต้องสนับสนุนให้มาก ประเมินจากจำนวนนักศึกษาอย่างไม่บิดพลิ้ว เพื่อยืนยันว่าเป็นการจัดสรรงบประมาณอย่างสมเหตุสมผลไม่เกี่ยวกับเป็นมหาวิทยาลัยในหรือนอกระบบ อีกทั้งสะสางเรื่องงานวิจัยและการลงทุนไปเลยว่าจะใช้เกณฑ์อะไรสนับสนุน

 

ประการที่ 2 คือ รัฐบาลต้องทำกฎหมายหลักประกันเสรีภาพทางวิชาการ ต้องมีการประเมินเพื่อลดความมั่นคงแบบราชการลงบ้างและอาจใช้การกำหนดเงื่อนไขในการจ้างเป็นรายบุคคลแทน เช่น ถ้าอยากสอนมากก็วางเงื่อนไขให้วิจัยน้อย หรืออยากวิจัยมากก็วางเงื่อนไขอีกแบบ หรือวางเงื่อนไขเฉพาะสำหรับผู้สอนอย่างเดียว เป็นต้น โดยระบบประเมินต้องไม่มาจากการกลั่นแกล้งกัน มีกฎหมายมาประกันการร้องเรียน อุทธรณ์และตัดสิน

 

ทั้งนี้ เพื่อให้การเปลี่ยนแปลงทิศทางการศึกษาจะได้ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องการผลักต้นทุนให้เป็นภาระสู่ผู้เรียนรวมทั้งเรื่องเสรีภาพทางวิชาการ

 

"ต้องคุยกัน 2 เรื่องนี้ก่อน ในทัศนะคือหยุด พ.ร.บ.นอกระบบไว้ก่อน แต่ไม่ใช่อยู่เฉยในระบบราชการ ทำกฎหมาย 2 เรื่องนี้มาก่อน " หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าว

 

ด้าน รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวชมแนวคิดของนายอภิสิทธิ์ ที่มีความชัดเจน พร้อมระบุว่าส่วนตัวเคยร่วมคิดเรื่องนี้กับรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นเวลา 2 ปี มองว่าเป็นเรื่องนี้คือเรื่องออกนอกระบบบวกกับทุนนิยมสามานย์ จึงเป็นห่วงว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นจะไม่ใช่หลักการเดียวกับที่นายอภิสิทธิ์คิด

 

"สิ่งที่ได้ฟังมาน่าวิตก เช่น เอาออกนอกระบบไปแล้วเดี๋ยวก็หยุดพูดกันเอง การออกนอกระบบเป็นเรื่องเสรีภาพทางวิชาการ รวมทั้งพูดกันเรื่องต้นทุน ทางมหาวิทยาลัยเอกชนบอกไม่ยุติธรรม ค่าเล่าเรียนต่างกันมาก ส่วนเด็กก็ได้ประโยชน์จากการศึกษา ดังนั้นควรต้องออกค่าเล่าเรียนเอง ประเด็นเหล่านี้ไปสอดคล้องกับวิธีคิดทุนนิยมทักษิณ เริ่มเห็นอุปสงค์มากกว่าอุปทาน ใช้วิธีให้เรียนก่อนผ่อนทีหลัง รัฐลงทุนเท่าไหร่เด็กก็ต้องลงทุน 50 เปอร์เซ็น คิดไปมารายหัวแล้วต้องรับภาระเกือบทั้งหมด"

 

รศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวต่อว่า มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งก็รับแนวคิดทุนนิยมเสรีนี้ไปเต็มๆ จึงตามมาด้วยการเปิดหลักสูตรพิเศษ แล้วคิดว่าจะหาลูกค้าอย่างไรจึงให้เกรดดีหรือต่ำกว่านั้นไม่ได้กลายเป้นจ่ายหมดจบแน่ เป็นต้น ดังนั้นเมื่อนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบทุนนิยมสามานย์จะมีชีวิตทันที เพราะการอยู่ในระบบมันเกะกะเรื่องกฎเกณฑ์ แต่นอกระบบมันเอื้อกว่า เนื่องจากเป็นซีอีโอเต็มตัว ในสังคมไทยใครไม่เห็นด้วยกับอธิการบดีก็มีโอกาสซวยมาก

 

รศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวอีกว่า ให้จำคำพูดของนายอภิสิทธิ์ วันนี้ให้ดีๆ เพราะมีโอกาสเป็นนายกรัฐมนตรี คือถ้าไม่ออกนอกระบบแล้วจะอยู่แบบไหน เพราะการไม่บรรจุอัตราราชการแต่ให้เป็นพนักงานราชการเป็นแนวคิดมาจากรัฐบาลชวน 1

 

นอกจากนี้ ยังกล่าวถึงกรณี พ.ร.บ.จุฬาลงกรณ์ฯ ที่ไปอยู่ในสภาด้วยว่า ไม่เคยนำความคิดจากการประชาพิจารณ์ไปแก้ไขเลย ทั้งที่ประชาคมไม่ควรมีส่วนแค่แสดงความเห็นแต่ต้องมีส่วนในการตัดสินใจด้วย สำหรับมหาวิทยาลัยศิลปากรที่ทางสภามหาวิทยาลัยขอถอนเรื่องออกมาจากการพิจารณาของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) นั้น มองว่าควรเป็นมหาวิทยาลัยแรกที่ต้องทำเรื่องทุนทางสังคมไม่ต้องไปแข่งแบบเอกชนเหมือนที่อื่นๆ หากมหาวิทยาลัยอื่นจะออกก็ออกไป ทำไมต้องออกนอกระบบเหมือนกันหมด วคิดว่า มหาวิทยาลัยที่ควรออกนอกระบบควรเป็นมหาวิทยาลัยใหม่ๆ และใช้งบประมาณไม่เกิน 500 ล้านบาทเพื่อความคล่องตัว

 

แต่สำหรับมหาวิทยาลัยแบบศิลปากร จุฬาฯ หรือธรรมศาสตร์ นั้นเป็นเรื่องใหญ่ มีคณะวิชามากและต้องใช้งบประมาณมหาศาล  อย่างกรณี จุฬาฯต้องไม่ต่ำกว่า 3000 ล้านบาท ดังนั้นในบางมหาวิทยาลัยมีรากฐานอีกแบบต้องดูว่าไม่ใช่เรื่องมหาวิทยาลัยในกำกับ ส่วนถ้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์บอกว่าพร้อมและอยากออกก็ออกไป แต่ถ้าจุฬาฯหรือศิลปากรไม่อยากออกก็ให้บอกว่าจะทำอะไร เพราะแต่ละแห่งก็มีลักษณะเฉพาะทาง

 

รศ.ดร.สมพงษ์ เปิดเผยอีกว่า ในบริบทสังคมไทยมีปัญหาเรื่องธรรมาภิบาล เพราะสังคมไทยเป็นสังคมคอรัปชั่น ดังนั้นถ้าเปิดโอกาสก็จะแสวงหาประโยชน์กัน และเรื่องที่กังวลกันเกี่ยวกับม.นอกระบบนั้นเป็นจริงทุกเรื่อง เช่นเรื่องค่าหน่วยกิจ มีการพูดคุยกันในรัฐบาลก่อนว่าเพดานจะสูงขึ้นถึง 50 เปอร์เซ็นต์ โดยผู้เรียนจะต้องรับผิดชอบเอง ขณะเดียวกันงบประมาณจะน้อยลง ถ้าออกนอกระบบจะรู้เลยว่างบประมาณจะลดลง 70 - 80เปอร์เซ็นต์ เพราะเป็นการคิดแบบองค์กรทางเศรษฐกิจมามององค์กรทางสังคม

 

"นิสิตนักศึกษาเรียนแล้วมีหนี้ 3 - 4 แสนบาททันทีจะเรียนเพื่ออุดมการณ์หรือ ออกนอกระบบแล้วตรงนี้จะยิ่งหลุดหายไปทั้งยวง แต่จะคิดถึงตัวเองก่อน ตรงนี้ต่างจากสังคมตะวันตกที่มีคนชั้นกลางสูง แต่ไทยมีคนยากจน 60 - 70 % คนมีการศึกษาคือคนที่ได้รับโอกาส" รศ.ดร. สมพงษ์ กล่าว

 

ด้าน นายวันชัย ลีลากวีวงศ์ ประธานสภาคณาจารย์มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า ไม่ใช่มหาวิทยาลัยศิลปากรจะไม่เปลี่ยนแปลงแต่เห็นว่ามีสติ การที่สภาคณาจารย์ฯทำหนังสือถึงรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการและนายกรัฐมนตรีเพราะต้องการความชัดเจน และต้องการดูนโยบายขอรัฐที่แท้จริง อีกทั้งต้องการดูความพร้อมของมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งรวมทั้งศิลปากรเอง การขอถอนพ.ร.บ.ศิลปากร ในกำกับ จึงไม่ใช่เพื่อต้าน หลังจากนั้นก็ได้รับการชะลอมาก่อน

 

ทั้งนี้ ประสิทธิภาพทางการเงินการลงทุนไม่ใช่เพียงการผลิตบัณฑิตขึ้นมา 1 คน แต่ต้องตอบโจทย์ทางสังคมด้วย เรื่องแรกคือความเหลื่อมล้ำทางสังคม งานวิจัยของ ทีดีอาร์ไอในรอบ 20 ปีมานี้จะเห็นว่าเป็นไปอย่างคงที่ คนรวยมีรายได้เกือบ 60 เปอร์เซ็น คนชั้นกลาง 25 เปอร์เซ็นต์ ส่วนคนชั้นล่างได้ไม่ถึง 5 เปอร์เซ็น เป็นมาตลอดจึงแสดงว่าการศึกษายังไม่ตอบโจทย์ ดังนั้นการแข่งขันทางการศึกษาจึงยังไม่ต้องพูด ต้องพูดเรื่องจะดันคนขึ้นมาได้อย่างไร

 

โจทย์อีกข้อคือความแตกแยกของระบบครอบครัว และสังคมในรอบ 2-3 ปีนี้รุนแรงมาก อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน โจทย์ต่อมาคือปัญหาสิ่งแวดล้อม ถ้าบริษัทมาเป็นเจ้าของทุนให้มหาวิทยาลัยวิจัยทางสิ่งแวดล้อมแล้วไปกระทบบริษัทจึงให้ระงับการวิจัยนั้นจะทำอย่างไร เรื่องนี้มีขึ้นจริงในกรณีต่างประเทศ เช่น ออสเตรเลีย หรืออเมริกา

 

นอกจากนี้ ระบบธรรมาภิบาล ระบบจริยธรรมของผู้นำในรอบ 20 ปี มานี้ได้หายไปจากสังคมไทย จึงโยงไปสู่การไม่เห็นด้วยกับมหาวิทยาลัยนอกระบบ เพราะยังตอบด้วยระบบเก่ายังไม่ได้จะให้ตอบด้วยระบบใหม่ที่ยังไม่เห็นทางได้อย่างไร ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยนอกระบบจะให้อำนาจไว้กับคนเพียง 2 กลุ่ม คือ ผู้บริหารและสภามหวิทยาลัยเท่านั้น ดังนั้นที่คัดค้านคือการได้มาซึ่งคนทั้ง 2 กลุ่มนี้ซึ่งจะไปดูแลไม่ใช่เพียงคนในมหาวิทยาลัยแต่ดูแลคนทั้งประเทศเพราะหากมีปัญหาจะทำให้เกิดการชี้นำทางสังคมได้ โดยทุกอย่างจะเบ็ดเสร็จในสภามหาวิทยาลัย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท