ข่าวมอนิเตอร์ วันที่ 29 ม.ค.2550

การเมือง

 

ต้านตั้งธง รธน. เตือนระวังสืบทอดอำนาจ - "วิชา" เสนอลดบทบาท ส.ว.

เวบไซต์สยามรัฐ - นักวิชาการ ค้าน ส.ว.มาจากการแต่งตั้ง พร้อมยุยุบทิ้งสภาสูง เหตุไทยเป็นรัฐเดียวไม่จำเป็นต้องมี "ชวน" แนะควรให้ได้ข้อยุติเรื่องโครงสร้าง ก่อนกำหนดจำนวนผู้ทรงเกียรติทั้ง 2 สภา ขณะที่ "ภาคประชาชน-อดีตวุฒิฯ" เตือนอย่าตั้งธงร่างรัฐธรรมนูญ จับตาสืบทอดอำนาจ ด้าน "วิชา มหาคุณ" เสนอลดอำนาจ ส.ว.ให้เหลือแค่กลั่นกรองกฎหมาย

 

นายวิชา กล่าวอีกว่า จากการหารือในเบื้องต้นของกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญได้ข้อสรุปว่า ร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกให้เสร็จในวันที่ 19 เม.ย.50 เพื่อส่งให้องค์กรต่างๆ และประชาชนได้ดูในเบื้องต้นก่อนว่า พอใจ หรือไม่พอใจ และจะต้องแก้ไขในเรื่องใด ส่วนร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรที่ได้ข้อยุติแล้ว คาดว่าจะเสร็จในวันที่ 9 มิ.ย.50 หรืออย่างช้าต้องเสร็จก่อนวันที่ 24 มิ.ย.50 หลังจากเดือน มิ.ย.50 ก็จะเปิดให้ประชาชนลงประชามติว่าจะรับร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ จากนั้น เชื่อว่าในเดือน ก.ย.จะจัดให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นได้

 

ด้าน นายสมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำกลุ่มมัชฌิมา(กลุ่มวังน้ำยมเดิม) กล่าวว่า แนวคิดการลดจำนวน ส.ส. อาจจะทำให้คนไทยเสียเปรียบ เสียประโยชน์จากที่เคยมี ส.ส.ดูแลและสัมผัสอย่างทั่วถึง เพราะหากลดจำนวน ส.ส.ลงหรือทำให้เขตใหญ่ขึ้น จะทำให้ ส.ส.ที่เคยดูแลชาวบ้าน 1 คน 1 เขต เข้าถึงปัญหาอย่างใกล้ชิด จะไม่สามารถทำได้เหมือนเดิม นอกจากนี้ หากเขตใหญ่ขึ้นจะทำให้ค่าใช้จ่ายในเรื่องของการเลือกตั้งและการดูแลพื้นที่สูงขึ้น ฉะนั้น จะส่งผลให้ผู้แทนที่มาจากประชาชน ที่มีฐานะยากจนไม่มีสิทธิเป็น ส.ส.ได้ เพราะเขตใหญ่จะเป็นโอกาสของคนที่มีเงินมากกว่า ส่วนตัวจึงคิดว่าการแบ่งเขตแบบเดิมเหมาะสมแล้ว รวมทั้งการลงคะแนนแล้วนำคะแนนมานับรวมกันที่จุดเดียวถือว่าดีที่สุดแล้ว

 

ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ก่อนที่จะกำหนดจำนวน ส.ส. และ ส.ว.ควรจะได้ข้อยุติเรื่องโครงสร้างใหญ่เสียก่อน ว่าสภาจะมีกี่สภา จะมีวุฒิสมาชิกสำหรับวุฒิสภาหรือไม่ ส่วนจำนวน ส.ส. ต้องมาหาข้อยุติว่าจะมีระบบบัญชีรายชื่อหรือไม่ ถ้าได้ข้อยุติแล้วจึงค่อยมาคำนวณสัดส่วน ส.ส.ต่อจำนวนประชากร ก็จะทราบว่าสมควรมี ส.ส.จำนวนเท่าไหร่ ซึ่งเรื่องนี้มีหลักอยู่แล้วว่าจะเอาเท่าไหร่

 

ขณะเดียวกัน นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เรื่องจำนวน ส.ส.ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนที่ ส.ส.ร. จะต้องนำมาคิด ส่วนตัวไม่เห็นด้วยถ้าจะให้การเลือกตั้งแบบเขตละ 3 คน เพราะการเลือกตั้งแบบเขตเดียวเบอร์เดียว ได้รับการยอมรับเป็นข้อยุติทางวิชาการแล้วว่าดีที่สุดในระบอบประชาธิปไตย อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าวควรรอให้มีการเลือกตั้งก่อน จากนั้นให้ ส.ส.เป็นผู้พิจารณาเองจะดีกว่า

 

ด้าน นายพิชัย บุณยเกียรติ อดีต ส.ว.นครศรีธรรมราช กล่าวว่า อยากจะท้วงติงนายจรัญ ภักดีธนากุล รองประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ว่าการร่างรัฐธรรมนูญต้องมองในภาพกว้าง ต้องดูต้นตอปัญหาที่แท้จริงซึ่งเกิดจากการใช้อำนาจเงินเข้ามาซื้อทุกอย่าง ไม่ใช่ปัญหาว่าจะมีจำนวน ส.ส. ส.ว.มากน้อยแค่ไหน การรับลูกความคิดจากนายกฯ อาจทำให้ประชาชนมองได้ว่ามีการฮั้วกันระหว่างนายกฯ และคณะกรรมาธิการยกร่างฯ

 

ขณะที่ นายสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) แถลงว่า ในขณะนี้กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญปี 50 ตั้งอยู่บนสถานการณ์ของความแตกแยกของคนในสังคม และการเผชิญหน้าระหว่างขั้วอำนาจเก่าและขั้วอำนาจใหม่ ดังนั้น ครป. จึงไม่มั่นใจว่า รัฐธรรมนูญใหม่จะนำช่องทางในการคลี่คลายวิกฤติของประเทศ และอาจจะเกิดการเผชิญหน้าและเกิดความรุนแรงมากใน 3 องค์อำนาจ คือ 1.กลุ่มอำนาจเก่าหรือกลุ่มแนวคิดอนุรักษ์นิยมที่ชูระบบรัฐราชการเป็นใหญ่ 2.เครือข่ายบริวารระบอบทักษิณ โดยมีความพยายามที่จะคว่ำร่างรัฐธรรมนูญเพื่อโค่นล้มรัฐบาลและ คมช. และ 3.กลุ่มอำนาจใหม่ เป็นภาคประชาชนที่เติบโตต่อเนื่องมาจากการปฏิรูปการเมืองครั้งที่ 1 ปี 40 โดยยุทธศาสตร์กลุ่มนี้ต้องการผ่านรัฐธรรมนูญปี 50 โดยมีเงื่อนไขสำคัญต้องก้าวหน้าหรือเปิดพื้นที่ให้กับการเมืองภาคประชาชนให้มากกว่ารัฐธรรมนูญปี 40

 

นายสุริยะใส กล่าวอีกว่า ครป. ขอเสนอต่อ คมช. รัฐบาล และ ส.ส.ร.ว่า ต้องไม่ส่งสัญญาณชี้นำหรือตั้งธงในการร่างรัฐธรรมนูญ เพราะจะทำให้สังคมหวาดระแวงกระทั่งไม่มีส่วนในการร่างรัฐธรรมนูญ แต่ควรส่งเสริมให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญให้มากที่สุด

 

สุวรรณภูมิเดี้ยง จ่อพึ่งดอนเมือง

ข่าวหุ้น - "สุวรรณภูมิ"อาการหนัก สารพัดปัญหารุมเร้า ส่งผลการบริการแน่ คาดซ่อมรันเวย-แท็กซี่เวย์ใช้เวลา 6 เดือน-1 ปี ล่าสุดท่อน้ำในอาคารผู้โดยสารแตก สื่อตปท.ตีข่าว บีบ"ธีระ"ฟันธงวันนี้ คาดสุดท้ายให้เที่ยวบินในประเทศกลับมาใช้ดอนเมือง

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีปัญหาการให้บริการหลายจุดที่ต้องซ่อมแซม เช่น แท็กซี่เวย์ และรันเวย์ ที่มีรอยปริแตกหลายจุด และพื้นผิวรันเวย์มีรอยทรุดตามน้ำหนักกดทับของเครื่องบิน ซึ่งขณะนี้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)หรือ ทอท. กำลังซ่อมแซมเป็นการชั่วคราว

 

โดยปัญหาดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อการขึ้น-ลงของหลายสายการบินเมื่อวันที่ 25มกราคมที่ผ่านมา เนื่องจาก ทอท. ปิดซ่อมพื้นผิวรันเวย์ฝั่งตะวันตกบางช่วง ทำให้การจราจรทางอากาศมีปัญหา มีเที่ยวบินจำนวนมากต้องบินวนเพื่อรอลงจอด จนน้ำมันเหลือน้อยสุดท้ายหลายสายการบิน เช่น การบินไทย นกแอร์ ไทย แอร์เอเชีย ต้องบินไปลงจอดที่สนามบินอู่ตะเภา เพื่อเติมน้ำมันก่อนที่จะกลับมาลงจอดที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

 

ขณะที่เมื่อวันที่ 27 มกราคม ทอท. ก็ปิดซ่อมรันเวย์ฝั่งตะวันออก ในช่วงเวลา02.00-06.00 น. โดย ทอท. ยืนยันว่าช่วงเวลาดังกล่าวมีเที่ยวบินน้อย จึงไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อการจราจรทางอากาศเช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 มกราคมที่ผ่านมา

 

อย่างไรก็ตาม การซ่อมแซมดังกล่าวเป็นการซ่อม เพื่อให้รันเวย์ใช้งานได้ชั่วคราวเท่านั้น ทอท. ยังคงต้องซ่อมรันเวย์ และแท็กซี่เวย์อย่างถาวร ซึ่งก่อนหน้านี้นายต่อตระกูลยมนาค กรรมการ ทอท. (บอร์ด) เคยระบุว่าอาจใช้เวลา 6 เดือน- 1 ปี ใช้งบประมาณซ่อมแซมคาดว่า 300-3,000 ล้าน

 

ส่วนการใช้สนามบินสำรองกรณีที่ลงจอดที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิไม่ได้นั้น ปัจจุบันสามารถใช้ได้ทั้งที่ท่าอากาศยานดอนเมืองและสนามบินอู่ตะเภา เพราะมีระยะทางใกล้เคียงกัน

 

ด้านการซ่อมแซมพื้นผิวรันเวย์และแท็กซี่เวย์เมื่อวันที่ 25 และ 27 มกราคมที่ผ่านมานั้น เป็นการซ่อมแซมเพื่อให้ใช้งานได้ชั่วคราวเท่านั้น ส่วนการซ่อมแซมอย่างถาวรต้องรอผลสรุปสาเหตุปัญหาจากคณะกรรมการชุดที่มีนายต่อตระกูลเป็นประธานหาข้อสรุปก่อน

 

เสนอเลิกสัญญาคิงเพาเวอร์

เว็บไซต์ไทยโพสต์ - โพลล์ระบุประชาชนเสียความรู้สึกจากข่าวซ่อมแซมสนามบินสุวรรณภูมิ เชื่อเกิดจากปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น โกงกินทุกกระบวนการ จี้เร่งตรวจสอบเอาคนผิดมาลงโทษ "สพรั่ง" ล้างบางอำนาจเก่า ทอท.จับตาประชุม 1 ก.พ.เชือด "สมชัย" รื้อ 124 สัญญาย้อนหลัง ขณะที่ "บรรณวิทย์" เอาแน่ยกเลิกสัญญาคิงเพาเวอร์

 

เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2550 "สวนดุสิตโพล"  ปิดผลสำรวจความเห็นประชาชนและผู้ใช้บริการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จำนวน 1,286 คน ระหว่างวันที่ 25-28 มกราคม ที่ผ่านมา ในหัวข้อ "สนามบินสุวรรณภูมิ ณ วันนี้ ในสายตาประชาชน" พบว่าจากกรณีข่าวซ่อมแซมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ประชาชนร้อยละ48.06เห็นว่ามาจากการทุจริตคอรัปชั่น ความไม่โปร่งใส และโกงกินทุกกระบวนการ รองลงมาร้อยละ 24.49เห็นว่าทำให้ประเทศเสียชื่อเสียงและเสียภาพลักษณ์ในสายตาต่างชาติ ร้อยละ 16.49 เห็นว่าทำให้เกิดความรู้สึกไม่ปลอดภัยในการใช้ท่าอากาศยาน และร้อยละ 8.01 สูญเสียความภูมิใจในการเป็นท่าอากาศยานที่ยิ่งใหญ่

 

ส่วนจะทำอย่างไรจึงจะแก้ปัญหาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้ ประชาชนร้อยละ 50.54เห็นว่าต้องเร่งตรวจสอบทุจริตเอาคนผิดมาลงโทษ ร้อยละ 37.25 เห็นว่าต้องเร่งสำรวจแก้ไขซ่อมแซมโดยด่วน ร้อยละ  7.93 ระบุต้องแก้ปัญหาจากข้อเท็จจริง และไม่ให้การเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง

 

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์  แถลงถึงปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับสนามบินสุวรรณภูมิ   และล่าสุดมีปัญหาท่อน้ำแตกไหลนองอาคารผู้โดยสารว่า พรรคเชื่อว่าคงไม่ใช่ปัญหาสุดท้าย ที่จะประจานความเหลวแหลกการก่อสร้างที่มีปัญหาการทุจริตอย่างมาก และถือเป็นใบเสร็จที่ฟ้องถึงปัญหาการทุจริต   ซึ่งแม้จะมีหลายคณะเข้าไปตรวจสอบไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ, การท่าอากาศยานสากลแห่งประเทศไทย, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังหาข้อสรุปไม่ได้ชัดว่าจะดำเนินการอย่างไร

 

โฆษกพรรคประชาธิปัตย์เสนอว่า รัฐบาลควรตั้งคณะกรรมการที่เป็นกลาง ประกอบด้วย บุคคลหลายฝ่ายที่มีความรู้ความสามารถเป็นที่ประจักษ์ให้สังคมยอมรับว่า คณะกรรมการชุดนี้จะมีส่วนในการหาข้อสรุปเพื่อประโยชน์ในการตัดสินใจของรัฐบาลว่าจะดำเนินการในการแก้ไขปัญหาสุวรรณภูมิ

 

ณะที่นายประพันธ์ คูณมี สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญตรวจสอบปัญหาการทุจริตสนามบินสุวรรณภูมิในคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการเปิดใช้สนามบินสุวรรณภูมิ สนช. ที่มี พล.ร.อ.บรรณวิทย์ เก่งเรียน เป็นประธานฯ เปิดเผยความคืบหน้าผลการสอบการทุจริตในโครงการต่างๆ ภายในสนามบินสุวรรณภูมิว่า คณะกรรมาธิการฯ ได้ตรวจสอบเรื่องหลักๆ 6 เรื่อง ได้แก่ 1.สัญญาก่อสร้างทั้งหมด เช่น การก่อสร้างแท็กซี่เวย์, รันเวย์, อาคารผู้โดยสาร 2.สัญญาของบริษัท คิง เพาเวอร์ 3.สัญญาการบริหารโรงแรมโนโวเทลสุวรรณภูมิ 4.การให้บริการแท็กซี่และการขนส่ง 5.การรักษาความสะอาดภายในอาคารสนามบิน และ 6.ความปลอดภัยและสภาพแวดล้อมโดยรวม

 

นายประพันธ์ระบุว่า ในส่วนของสัญญาการใช้พื้นที่พาณิชย์ภายในสนามบินของบริษัท คิงเพาเวอร์ การสอบสวนคืบหน้าไปกว่า 80% แล้ว เบื้องต้นพบว่าบริษัทคิงเพาเวอร์ มีความผิดอย่างชัดเจน โดยจากการตรวจสอบข้อมูลรายละเอียดและการให้การของบุคคลที่เกี่ยวข้อง มีหลายประเด็นที่พบว่ามีความผิด ทั้งเรื่องการทำสัญญาที่ไม่ผ่านมติคณะรัฐมนตรีเนื่องจากเป็นการทำสัญญากันระหว่างรัฐบาลกับบริษัทเอกชนที่มีมูลค่าเกินกว่า 1 พันล้านบาท ซึ่งจะต้องนำเรื่องเข้า ครม.เพื่อลงมติเห็นชอบก่อน  2.วิธีการประมูลทำโดยมิชอบ 3.ผลประโยชน์ตอบแทนกับ ทอท.มีพิรุธ 4.มีการใช้พื้นที่เกินและวางแผนผังพื้นที่ของตนเองตามอำเภอใจ

 

ดีเอสไอขอล้วงลูกฟังสอบ-ดูสำนวนบึ้มกรุง

เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ - อธิบดีดีเอสไอ เตรียมขอ ตร.ร่วมดูสำนวนและฟังการสอบสวนคดีบึ้มกรุง หวังแลกเปลี่ยนข้อมูลให้จับคนร้ายไม่ผิดตัว ด้านเลขาธิการ ครป.เรียกร้องนายกฯ -คมช.ทบทวนข้อเสนอปลด ผบ.ตร.ชี้ทำงานไร้ประสิทธิภาพ

 

นายสุนัย มโนมัยอุดม อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กล่าวถึงการหารือร่วมกันกับ พล.ต.ท.จงรัก จุฑานนท์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในวันนี้ (29 ม.ค.) เพื่อวางแนวทางความร่วมมือระหว่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และดีเอสไอ เพื่อคลี่คลายคดีลอบวางระเบิด 9 จุด ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ตามที่นายกรัฐมนตรีสั่งการ ว่าในส่วนของดีเอสไอได้ทำการสืบสวนในทางลับอยู่แล้ว เพราะเป็นคดีความมั่นคงที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

 

สำหรับที่จะร่วมกับตำรวจ ดีเอสไออยากขอเข้าฟังการสรุปสำนวนของพนักงานสอบสวนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในฐานะที่ตนเป็นผู้พิพากษามาก่อน มีประสบการณ์จึงอยากร่วมดูสำนวนเพื่อเสริมต่อบางจุดที่ขาดไป ในมุมมองของศาล

 

นายสุนัย กล่าวอีกว่า ดีเอสไอจะขอเข้าร่วมสังเกตการณ์ ให้ข้อเสนอแนะ และแลกเปลี่ยนข้อมูลในทางสืบสวน ซึ่งในการสืบสวนทางลับ ขณะนี้ข้อมูลที่ดีเอสไอได้มีความสอดคล้องกับตำรวจ แต่มีผู้ต้องสงสัยบางส่วนที่ไม่ตรงกัน โดยดีเอสไอยังไม่มั่นใจ ซึ่งคงต้องฟังข้อมูลของตำรวจ และต้องมีพยานหลักฐานที่ยืนยันได้ เพื่อให้ได้ตัวผู้กระทำผิดจริง อย่างไรก็ตาม ภายหลังได้แนวทางที่จะร่วมมือกับตำรวจแล้ว ตนจะเรียกประชุมผู้บริหารระดับสูงของกรมฯ เพื่อเริ่มปฏิบัติการร่วมทันที

 

ด้านนายสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) กล่าวถึงกรณีที่เจ้าหน้าที่สืบสวนปล่อยตัวผู้ต้องสงสัยก่อเหตุระเบิดกรุงเทพฯ ว่า การปล่อยตัวผู้ต้องสงสัยทำให้ประชาชนได้เห็นกระบวนการสืบสวนสอบสวนแบบนิยายที่ความน่าเชื่อถือไม่เหลืออยู่ สุดท้ายกรณีที่เกิดขึ้นจะมีจุดจบเหมือนนิยายคาร์บ๊องส์ที่กำกับโดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ  เพราะต้องกลับไปรวบรวมหลักฐานใหม่ ทำให้ประชาชนไม่มั่นใจการทำงานของฝ่ายสอบสวน

 

เลขาธิการ ครป. กล่าวอีกว่า ขอเรียกร้องให้รัฐบาลและคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ทบทวนการปลด พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ส่วนการให้เหตุผลว่าตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นเรื่องจำเป็น เป็นความเห็นที่ไม่ถูกต้อง เพราะเป็นไปได้อย่างไรที่จะไม่มีคนดีกว่า พล.ต.อ.โกวิท

 

"ดูเหมือนรัฐบาลจะทำเรื่องนี้ให้กระจ่างได้ เมื่อไปใช้นายตำรวจที่ภักดีกับอำนาจเก่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สะท้อนนโยบายของรัฐบาลที่จะทำให้กระบวนการยุติธรรมน่าเชื่อถือ แต่ขั้นตอนของคดีนี้เป็นการทำลายความน่าเชื่อถือของรัฐบาล"

 

เสี้ยม นศ.ราม ชน คมช.'สพรั่ง'สอบกลุ่มอำนาจเก่า'จตุพร'โวยมหามนุษย์

เว็บไซต์ไทยโพสต์ - "ดีเอสไอ" นัดหารือตำรวจวันนี้รื้อสอบคดีระเบิดกรุงเทพฯ ครป.จี้ปลด "โกวิท" แฉสมุนอำนาจเก่าทุ่ม 2 ล้านหนุนการเมืองรามฯ ชิงนายก อศ.มร. หวังใช้เป็นหัวหอกล้มรัฐบาล-คมช. "จตุพร" ร้อนตัวปัดวุ่นอ้างแค่ดูแลน้องๆ อัด "สพรั่ง" ทำตัวเป็นมหามนุษย์หลังรู้ข่าวจะเข้ามาสอบ  ประกาศนักศึกษาไม่ใช่ขี้ข้านักการเมือง ไฟไหม้โรงเรียนอีกแล้วที่ตาก ตำรวจชี้แค่อุบัติเหตุ ทรท.เตรียมร้องตุลาการรัฐธรรมนูญสั่งเลิกประกาศ คปค.สะกดพรรคการเมือง

 

คุณภาพชีวิต - การศึกษา

 

ฟัน"คลินิก"ขายยาแพง พาณิชย์ผนึก "อย." ตั้งทีมกำกับราคาขาย

เว็บไซต์แนวหน้า - "กระทรวงพาณิชย์" ตั้งคณะอนุกรรมการคุมราคายารักษาโรค หลังผู้บริโภคร้องโรงพยาบาล-คลินิก ขายยาแพง ห่วงคนจนเข้าไม่ถึงยาต้านมะเร็ง-โรคหลอดเลือด โดยคณะกรรมการดังกล่าวประกอบด้วยตัวแทนจาก กรมการค้าภายใน, อย., กรมทรัพย์สินทางปัญญา, เอ็นจีโอ และสมาคมยารักษาโรค

 

นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้า และบริการ (กกร.) ที่มีนายเกริกไกร จีระแพทย์ รมว.พาณิชย์ เป็นประธานเมื่อเร็วๆ นี้ได้มีมติให้ กกร.ตั้ง คณะอนุกรรมการพิจารณาแนวทางการกำกับดูแลราคายารักษาโรคขึ้น มาทำหน้าที่พิจารณาหามาตรการในการกำกับดูแลราคายารักษาโรคให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้บริโภค ตามข้อเสนอของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยจะคัดเลือกจากตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวโดยมีตัวแทนจาก กรมการค้าภายใน สำนักงานอาหารและยา(อย.) กรมทรัพย์สินทางปัญญา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และสมาคมยารักษาโรค 

 

"เราได้รับการร้องเรียนจากผู้บริโภคว่ายารักษาโรคบางชนิดมีราคาสูงมากโดยเฉพาะยาที่มีสิทธิบัตร แม้ว่าอายุความคุ้มครองจะหมดลงแล้ว แต่ราคาก็ไม่ได้ลดลง แถมยังแพงกว่าประเทศอื่นๆในภูมิภาค ดังนั้นเราจำเป็นต้องตั้งอนุกรรมการฯขึ้นมากำกับดูแลราคาให้เป็นธรรมโดยเฉพาะยารักษาโรคที่มีความจำเป็นต่อการรักษา โดยจะต้องดูแลให้มีการกำหนดราคาจำหน่ายให้เป็นธรรมไม่สูงเกินไป โดยจะเป็นคณะอนุกรรมการฯ รูปแบบที่ถาวรเหมือนกับคณะอนุกรรมการดูแลสินค้าเหล็กเส้น โดยจะทำงานต่อเนื่อง หากมีใครร้องเรียน หรือมีข้อมูลอะไรก็สามารถส่งผ่านมายังเวทีนี้ได้"นายศิริพล กล่าว 

 

น.ส.สารี อ๋องสมหวัง ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซึ่งเป็นองค์กรเอกชน(เอ็นจีโอ)กล่าวว่า ตนได้เสนอให้ กกร.เข้ามาควบคุมราคายารักษาโรคในบ้านเรา เพราะขณะนี้มียาบางประเภทที่ใช้รักษาโรคมะเร็ง โรคติดเชื้อ โรคหลอดเลือด มีการตั้งราคาแพงมากๆ ขณะที่ผู้ขายมีน้อยรายทำให้เกิดการผูกขาดประชาชนผู้มีรายได้น้อยเข้าไม่ถึงยา รวมทั้งยังไม่สามารถเบิกตัวยาดังกล่าวจากประกันสังคม หรือบัตร30 บาทได้ ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา กกร.ก็ขึ้นบัญชียาเป็นสินค้าควบคุม 1ใน 35 รายการ แต่มาตรการที่ควบคุมก็ไม่เข้มงวดอะไรไม่ได้เข้ามาดูราคาอย่างจริงจัง แถมผลิตภัณฑ์ยาที่ควบคุมจำนวน 6 รายการในปัจจุบันเป็นพวกยาแก้ไข้ แก้ปวด สำลีพันแผล ปลาสเตอร์ ซึ่งมีราคาถูกอยู่แล้ว เพราะมีผู้ผลิตออกมาขายจำนวนมาก ทำให้การคุมแทบจะไม่มีประโยชน์อะไร เลย

 

สำหรับผู้บริโภค มูลนิธิฯต้องการให้เข้ามาคุมราคายารักษาโรคที่มีการผูกขาดการขายมากกว่า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นยาที่มีสิทบัตรจากต่างประเทศ และเป็นยาที่เราจำเป็นต้องใช้ กระทรวงพาณิชย์ ต้องทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง  "เพราะขนาดเรื่องของการปราบปรามซีดีเถื่อน กกร.ยังมีการออกมาตรการคุ้มเข้มเรื่องการแจ้งต้นทุน การขนย้าย เข้มงวด ทั้งๆ ที่ซีดีไม่ใช้สินค้าจำเป็นต่อประชาชนและเป็นเรื่องประโยชน์ของภาคธุรกิจบันเทิง แต่เรื่องยารักษาโรคเป็นประโยชน์โดยตรงของผู้บริโภคซึ่งคนส่วนใหญ่ของประเทศจึงจำเป็นต้องเร่งหาแนวทางดูแลราคาโดยด่วน" น.ส.สารี กล่าว

 

ต่างประเทศ

 

มะกันนับหมื่นชุมนุมต้านสงครามอิรัก

เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ  - ชาวอเมริกันหลายหมื่นคนชุมนุมต้านสงครามอิรักในกรุงวอชิงตัน ดาราฮอลลีวู้ดแห่ร่วมประท้วง ขณะ "เจน ฟอนดา" อดีตแกนนำต่อต้านสงครามเวียดนามลั่นถึงเวลาแสดงจุดยืน

ชาวอเมริกันหลายหมื่นคนชุมนุมกันที่ลานเนชั่นแนล มอลล์ ซึ่งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของอาคารรัฐสภาในกรุงวอชิงตัน เมื่อวันเสาร์ (27 ม.ค.) เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐถอนทหารออกจากอิรัก โดยผู้ประท้วงประกอบด้วยบรรดาคนมีชื่อเสียง สมาชิกรัฐสภา ครอบครัวของทหารอเมริกันในอิรัก ประชาชนทั่วไป และแกนนำเคลื่อนไหวประท้วงสงครามเวียดนามเมื่อหลายสิบปีก่อน

 

ประชาชนบางส่วนเดินทางไกลมาจากหลายรัฐ เพื่อเข้าร่วมการประท้วงที่จัดขึ้นโดยสหภาพเพื่อสันติและความยุติธรรม ซึ่งเป็นกลุ่มที่คัดค้านการส่งทหารอเมริกันไปยังอิรัก ผู้จัดตั้งเป้าว่าจะมีผู้เข้าร่วมราว 100,000 คน แต่ตำรวจระบุว่ามีผู้ชุมนุมไม่ถึงจำนวนที่ตั้งเป้าไว้

 

คนดังจากแวดวงฮอลลีวู้ดที่ร่วมชุมนุมประท้วงครั้งนี้ ได้แก่ เจน ฟอนดา, ซูซาน ซาแรนดอน, ฌอน เพนน์, ทิม รอบบินส์, แดนนี โกลเวอร์ และรี เพิร์ลแมน โดยฟอนดา นักแสดงสาวรุ่นใหญ่จากฮอลลีวู้ด ซึ่งเคยเป็นแกนนำต่อต้านสงครามเวียดนามเผยว่า นี่เป็นการประท้วงต่อต้านสงครามครั้งแรกในรอบ 34 ปีของเธอ หลังจากเธอหลีกเลี่ยงที่จะแสดงจุดยืนเรื่องสงครามอิรักมาโดยตลอด แต่ขณะนี้ถึงเวลาที่เธอต้องแสดงจุดยืนแล้ว

 

ผู้บรรยายในการชุมนุม วิจารณ์แผนของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ในการส่งทหารไปยังอิรักเพิ่มอีก 21,500 นาย เพื่อควบคุมสถานการณ์รุนแรง พร้อมเรียกร้องให้รัฐสภา ซึ่งพรรคเดโมแครตครองเสียงข้างมาก ผลักดันให้มีการถอนทหารทั้งหมดออกจากอิรัก

 

การชุมนุมดำเนินไปอย่างสงบ แม้จะมีผู้ประท้วงราว 300 คน พยายามวิ่งตัดสนามหญ้าไปยังด้านหน้าของอาคารรัฐสภา แต่ตำรวจสามารถตั้งด่านสกัดทางเข้า และปะทะกับผู้ประท้วงจำนวนหนึ่ง ต่อมามีผู้ประท้วงราว 50 คนปิดกั้นถนนใกล้อาคารรัฐสภานาน 30 นาที ก่อนจะถูกขับไล่ไปโดยไม่มีการจับกุม

 

ขณะเดียวกัน นายจอห์น คอนเยอร์ส ประธานคณะกรรมการตุลาการประจำสภาผู้แทนราษฎร ขู่ว่าจะใช้อำนาจด้านงบประมาณเพื่อพยายามยุติสงครามอิรัก ขณะที่วุฒิสภามีกำหนดลงมติคัดค้านแผนเพิ่มทหารในอิรักของบุชในสัปดาห์หน้า แต่มติดังกล่าวไม่มีอำนาจผูกมัดต่อรัฐบาลของบุช

 

ด้านผลสำรวจความนิยมในตัวผู้นำสหรัฐครั้งล่าสุด ที่ทำหลังบุชแถลงนโยบายประจำปีเมื่อวันที่ 23 มกราคม ปรากฏว่า คะแนนนิยมในตัวบุชทรุดต่ำสุดทำสถิติรอบใหม่ อยู่ที่ 30% จากที่เคยมีคะแนนนิยมถึง 83% เมื่อต้นปี 2545

 

         

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท