กระทรวงการต่างประเทศ : ข้อเท็จจริงเรื่องสิทธิบัตรจุลินทรีย์ในเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น





 

หมายเหตุ - 26 มกราคม 2550 "ประชาไท" เผยแพร่คำให้สัมภาษณ์ของ "วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ" ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถีหรือไบโอไทย(BioThai) ที่ตั้งข้อสังเกตว่ารายละเอียดในเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น หรือ JTEPA จะเปิดช่องให้ต่างชาติเข้ามายึดครองทรัพยากรชีวภาพของไทย

 

ควรคลิกอ่านบทสัมภาษณ์ดังกล่าว วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ : เมื่อญี่ปุ่นล้วงทรัพยากรชีวภาพไทยผ่าน "เอฟทีเอ"  ประกอบคำชี้แจงของกระทรวงการต่างประเทศด้านล่าง

 

 

 000

 

 

ชื่อบทความเดิม : ข้อเท็จจริงเรื่องสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องกับจุลชีพที่มีอยู่ตามธรรมชาติ

 

โดย สำนักเจรจาเขตการค้าเสรีไทย-ญี่ปุ่น กระทรวงการต่างประเทศ

 

 

 

 

1. JTEPA จะทำให้ไทยต้องออกสิทธิบัตรในจุลชีพที่มีอยู่ตามธรรมชาติจริงหรือไม่

ประเด็นข้อวิจารณ์

 

คุณวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ จากองค์กรความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาไทย (BIOTHAI) ได้มีข้อวิจารณ์ต่อข้อบทว่าด้วยเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาภายใต้ JTEPA (ข้อ 130 วรรค 3) ว่าอาจส่งผลให้ไทยต้องออกสิทธิบัตรในจุลชีพที่มีอยู่ตามธรรมชาติ (naturally occurring micro-organism)

 

ข้อเท็จจริง

 

1)   ข้อ 130 วรรค 3 ของ JTEPA กำหนดว่า

 

"ภาคีแต่ละฝ่ายจะต้องให้ความมั่นใจว่า คำขอรับสิทธิบัตรใดๆ จะต้องไม่ถูกปฏิเสธเพียงเพราะเหตุว่าสิ่งที่ขอรับสิทธิบัตรในคำขอนั้นเกี่ยวข้องกับจุลชีพที่มีอยู่ตามธรรมชาติ"

 

"Each Party shall ensure that any patent application shall not be rejected solely on the grounds that the subject matter claimed in the application is related to a naturally occurring micro-organism."

 

2)   เรื่องนี้มีข้อพิจารณาที่สำคัญหลัก 2 ประเด็นคือ

 

ประเด็นแรก คุณวิฑูรย์เป็นห่วงว่าไทยจะต้องออก "สิทธิบัตรในตัวจุลชีพที่มีอยู่ตามธรรมชาติ" ขณะที่ข้อ 130 วรรค 3 พูดถึง "คำขอสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องกับจุลชีพที่มีอยู่ตามธรรมชาติ" ซึ่ง 2 สิ่งนี้แตกต่างกัน

 

ตัวอย่างเช่น ในเรื่องการใช้แบคทีเรียแลคโตบาซิลลัสในการผลิตยาคูลท์ พระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 ห้ามไม่ให้ออกสิทธิบัตรในตัวแบคทีเรียเพราะถือเป็นจุลชีพที่มีอยู่ตามธรรมชาติ แต่พระราชบัญญัติดังกล่าวให้ความคุ้มครองแก่วิธีการนำแบคทีเรียแลคโตบาซิลลัสออกมา และการใช้ประโยชน์ในการผลิตนมเปรี้ยว รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากกรรมวิธีดังกล่าว ซึ่งสามอย่างหลังนี้ถือได้ว่าเป็นสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องกับจุลชีพที่มีอยู่ตามธรรมชาติ

 

จุลชีพและส่วนประกอบส่วนใดส่วนหนึ่งของจุลชีพที่มีอยู่ตามธรรมชาติถือเป็นสิ่งต้องห้ามออกสิทธิบัตร ภายใต้พระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 (มาตรา 9) และจะไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติ เพราะถือเป็นเพียงการค้นพบ ไม่ใช่การประดิษฐ์ที่ขอรับสิทธิบัตรได้ ซึ่งหลักการนี้สอดคล้องกับแนวปฏิบัติของหลายประเทศในโลก ขณะเดียวกันหากสิ่งที่อยู่ในคำขอ รับสิทธิบัตรประกอบด้วยลักษณะตามมาตรา 5 ของพระราชบัญญัติสิทธิบัตร กล่าวคือเป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่ มีขั้นประดิษฐ์สูงขึ้น และสามารถประยุกต์ในทางอุตสาหกรรม ก็สามารถรับความคุ้มครองสิทธิบัตรได้ รวมทั้งการประดิษฐ์ที่เกี่ยวข้องกับจุลชีพที่มีอยู่ตามธรรมชาติ

 

ประเด็นที่สอง ร่างข้อบทข้อ 130 วรรค 3 ของ JTEPA กำหนดว่าภาคีจะไม่ปฏิเสธคำขอเพียงเพราะเหตุว่าสิ่งที่ขอรับสิทธิบัตรนั้นมีความเกี่ยวข้องกับจุลชีพที่มีอยู่ตามธรรมชาติ การไม่ปฏิเสธคำขอไม่ได้จำกัดสิทธิไทยในการพิจารณาว่าจะให้สิทธิบัตรแก่คำขอนั้นหรือไม่ การจะออกหรือไม่ออกสิทธิบัตรจะต้องพิจารณาว่าสิ่งที่ขอรับสิทธิบัตรนั้นเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติสิทธิบัตรหรือไม่  

 

เจตนารมณ์ในการบัญญัติข้อ 130 วรรค 3 ของ JTEPA ก็เพียงเพื่อให้ความมั่นใจแก่

นักประดิษฐ์ญี่ปุ่น ว่าการประดิษฐ์ที่เกี่ยวข้องกับจุลชีพที่มีอยู่ตามธรรมชาติซึ่งมีสิทธิได้รับสิทธิบัตรภายใต้กฎหมายไทยปัจจุบันอยู่แล้ว อาทิ กรรมวิธีหรือผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากการต่อยอดหรือพัฒนาจากจุลชีพที่มีอยู่ จะสามารถรับการรับการคุ้มครองสิทธิบัตรในประเทศไทยได้

 

3) ความเห็นทางกฎหมาย

 

นักกฎหมายของกรมทรัพย์สินทางปัญญาและกระทรวงการต่างประเทศ อ่านข้อนี้แล้ว

เห็นว่า ถ้อยคำที่อยู่ในข้อ 130 วรรค 3 ไม่มีผลบังคับให้ไทยต้องออกสิทธิบัตรให้จุลชีพที่มีอยู่ตามธรรมชาติแก่คนญี่ปุ่นแต่อย่างใด และเป็นความเข้าใจร่วมกันของทั้งฝ่ายไทยและญี่ปุ่นตลอดมาตั้งแต่ระหว่างการเจรจา

 

 

2. ข้อบทข้อ 130 วรรค 3 จะมีผลต่อดุลพินิจในการพิจารณาของเจ้าหน้าที่จริงหรือไม่

ประเด็นข้อวิจารณ์

 

คุณวิฑูรย์ฯ ยังกล่าวด้วยว่า ได้หารือประเด็นนี้กับเจ้าหน้าที่ของกรมทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว เจ้าหน้าที่คนดังกล่าวแจ้งว่าข้อบทข้อ 130 วรรค 3 จะมีผลกระทบต่อดุลพินิจของเจ้าหน้าที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาในการพิจารณาว่าจะต้องออกสิทธิบัตรหรือไม่ 

 

ข้อเท็จจริง

 

เกี่ยวกับประเด็นที่ว่าเจ้าหน้าที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาให้ความเห็นว่าข้อบทข้อ 130 วรรค 3 ของ JTEPA อาจมีผลต่อดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ในการพิจารณาการออกสิทธิบัตรนั้น กระทรวงการต่างประเทศได้รับทราบจากเจ้าหน้าที่คนดังกล่าวแล้ว ได้รับการยืนยันว่าไม่เคยกล่าวเช่นนั้น การจะออกหรือไม่ออกสิทธิบัตรไม่ใช่เรื่องดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ การพิจารณาคำขอสิทธิบัตรใดๆ ไม่ว่าจะเป็นคำขอของคนญี่ปุ่นหรือชาติใดจะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขภายใต้กฎหมายไทย และ JTEPA จะไม่มีผลกระทบต่อหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการพิจารณาแต่อย่างใด

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท