Skip to main content
sharethis

หลังจากหมอมงคลประกาศใช้ "มาตรการบังคับใช้สิทธิ" ผลิตยาติดสิทธิบัตร 2 ชนิดสำหรับโรคหัวใจและเอดส์ บรรษัทยาก็ประกาศทันทีเช่นกันว่าจะเลิกลงทุนในไทย หากรัฐไทยรังแก "นักลงทุน" เช่นนี้…. นี่คือ การเผชิญหน้าครั้งสำคัญ คำกล่าวหาเป็นจริงหรือไม่ ประสบการณ์ต่างประเทศเป็นอย่างไร...อย่ารอช้า

 

 

โดย มุทิตา เชื้อชั่ง

 

 

 

เป็นที่ฮือฮากันพอสมควรในวงการสาธารณสุข รวมถึงผู้คนที่รับทราบข่าวสาร เมื่อ "นพ.มงคล ณ สงขลา" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิ หรือCL (Compulsory Licensing)* กับยาที่ติดสิทธิบัตรอีก 2 ตัวคือ plavix ยาละลายลิ่มเลือดเพื่อรักษาโรคหัวใจของบริษัทแอแวนติสต์ และยาต้านไวรัสสูตรสำรอง kaletra ของบริษัทแอบบอท โดย สธ. จะหันไปนำเข้ายาที่ผลิตได้ในอินเดียแทน

 

มาตรการนี้ทำให้ราคายาลดฮวบ plavix จากเม็ดละ 70-120 บาท เหลือ 6-12 บาท ส่วน katetra จาก 11,580 บาท/คน/เดือน เหลือ 4,000 บาท/คน/เดือน

 

ขณะที่ประชาชนเพิ่งหายงงและกำลังจะส่งเสียงเฮ ตัวแทนของอุตสาหกรรมยาก็ออกมาประกาศเปรี้ยงว่า มาตรการนี้ทำให้นักลงทุนไม่พอใจและหวั่นไหวยิ่ง ทั้งยังเตรียมจะหนีถอยจากไทยด้วยเหตุที่ไทย "ไม่เคารพกติการะหว่างประเทศ" และเป็นการ "ยึดทรัพย์สินเอกชน"

 

ข้อกล่าวหานี้ฉกาจฉกรรจ์ยิ่ง ทั้งยังมีรายละเอียดหลายอย่างที่ต้องทำความเข้าใจ "ประชาไท" จึงนำเสนอคล้ายการรายงานข่าวแบบ "ปิงปอง" ซึ่งตำราวารสารศาสตร์ไม่ให้การยอมรับว่าเป็นวิธีการที่ดี โดยหวังจะให้เห็นประเด็นแบบชัดๆ ระหว่างมุมมองนักลงทุน และ มุมมองประโยชน์สาธารณะ

 

ทั้งนี้ คำถามที่มีแถบสีเหลืองในช่องขวามือ (เอ็นจีโอ) เป็นการโค้ทคำพูดมาจากช่องซ้ายมือ (บริษัทยา)

 

 

000



 

บริษัทยา ประกาศหยุดลงทุนในไทย ตอบโต้สธ.ลุยผลิตยาติดสิทธิบัตร

 

ผู้จัดการออนไลน์

25 มกราคม 2550

 

 

กลุ่มธุรกิจยาประกาศแช่แข็งการลงทุนในไทย พร้อมทบทวนแผนการลงทุนใหม่ทั้งหมดในประเทศไทยหลังกระทรวงสาธารณสุขเตรียมบังคับใช้สิทธิผลิตยาที่ติดสิทธิบัตร 2 ชนิดคือยาต้านไวรัสเอดส์และยาโรคหัวใจ ลั่นต้องการให้เคารพกฎหมายที่ถือเป็นกติกาสากลและต้องการความมั่นใจว่ารัฐบาลจะสามารถรับประกันความปลอดภัยในทรัพย์สินของบริษัทผู้ผลิต ด้าน "หมอมงคล" โต้เชื่อแค่คำขู่เพื่อรักษาผลประโยชน์ ไม่ต้องเป็นห่วงว่าจะไม่มียาใช้ เพราะไม่เคยมีบริษัทยาที่ไหนที่จะเลิกขาย เผยทำเพื่อต้องการให้คนไทยได้ใช้ยาราคาถูก และได้ลงนามบังคับใช้แล้ว

จากการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ปรารภเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2550 ถึงแผนการที่จะบังคับใช้สิทธิบัตรยากับอีกหลายบริษัท เพื่อผลิตยาต้านไวรัสเอดส์ และยาโรคหลอดเลือดหัวใจ รวมทั้งได้เปิดเผยถึงรายชื่อยาอื่นๆ ที่อยู่ในแผนการในอนาคต ซึ่งรวมถึงยาต้านโรคมะเร็ง และยาปฏิชีวนะนั้น

 

นายธีระ ฉกาจนโรดม นายกสมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ (PReMA) กล่าวว่า สมาชิกสำคัญของสมาคมส่วนหนึ่งต่างก็ตะลึงกับการปรารภเจตนาดังกล่าว และต่างก็ได้ยืนยันว่า ได้สั่งชะลอแผนการลงทุนใหม่ทั้งหมดในประเทศไทย เพื่อทบทวนบรรยากาศการลงทุนในประเทศใหม่ เพราะทุกบริษัทต่างก็เป็นกังวลเกี่ยวกับการลงทุนในประเทศที่รัฐบาลไม่สามารถให้การรับรองเบื้องต้นถึงความปลอดภัยในทรัพย์สินของบริษัทเขาได้

        

"พวกเรามีความปิติที่ได้ยินคำรับรองจากปากท่านนายกรัฐมนตรีที่ได้ให้ไว้กับกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศเมื่อวานนี้ว่า ประเทศไทยยังคงเปิดอ้อมแขนต้อนรับการค้าและการลงทุนจากต่างประเทศ ที่จะเป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนพลวัตทางเศรษฐกิจให้ประเทศไทยได้เจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้นด้วยการค้าและการลงทุนจากต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม จนกว่าท่านรัฐมนตรีจะแสดงเจตนารมณ์ของการขานรับนโยบายท่านนายก เราจะพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนที่จะขยายการลงทุนต่อไปในประเทศไทยเราคงไม่สามารถคาดหวังให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศใดก็ตาม ที่ไม่สามารถให้การรับรองเบื้องต้นถึงความปลอดภัยในทรัพย์สินของพวกเขาได้"

        

นายธีระกล่าวด้วยว่า เท่าที่ทราบมายังมียารักษาโรคหัวใจ โรคมะเร็ง และยาปฏิชีวนะ ที่ตกเป็นเป้าหมายในการถูกบังคับใช้สิทธิบัตร (compulsory licensing) ของรัฐมนตรีว่าการสาธารณสุขด้วย

        

"เราชื่นชมกับท่านรัฐมนตรีที่ให้ความเอาใจใส่ในสุขภาพของประชาชนและรู้สึกเห็นใจกับปัญหาทางการเงินที่กระทรวงสาธารณสุขต้องประสบอย่างที่ท่านรัฐมนตรีได้อธิบายไว้ อย่างไรก็ตาม การกระทำที่ดีที่สุด สำหรับปัญหาเช่นนี้ คือมีการพูดคุยกันเพื่อที่จะหาจุดสมดุลในการแก้ปัญหา การที่รัฐบาลบังคับเอาทรัพย์สินของเอกชน เพราะไม่สามารถซื้อได้นั้น เป็นแบบอย่างที่อันตราย และจะทำให้ทำลายชื่อเสียงของประเทศว่า เป็นประเทศที่ไม่ให้ความเคารพต่อกฎกติกาสากล"

 

นายธีระกล่าวเสริมว่า โดยปกติกฎหมายได้อนุญาตให้รัฐทำเช่นนี้กับเวชภัณฑ์ใด ๆ ได้ในกรณีที่เป็นเรื่องฉุกเฉินของชาติจริง ๆ หรือในระหว่างสงครามเท่านั้น แต่กระนั้นก็ยังต้องมีการเจรจาตกลงกับบริษัทที่เกี่ยวข้องก่อน สิ่งที่รัฐมนตรีสาธารณสุขมีแผนจะทำเป็นข้อยกเว้นทางกฎหมายที่จะต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ เพื่อจะไม่ให้กระทบกระเทือนต่อความมั่นใจของนักลงทุน

 

ที่สำคัญคือนายกรัฐมนตรีเองได้กล่าวกับสมาชิกสมาคมหอการค้าต่างประเทศว่า ประเทศไทยเป็นตัวอย่างของการประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจเพราะต้อนรับการค้าและการลงทุนจากต่างประเทศ ไม่มีประเทศไหนที่หวังที่จะเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนการค้าโลกจะสามารถทำอย่างที่ประเทศไทยคิดจะกระทำ โดยไม่สูญเสียมูลค่านับพันล้านจากการลงทุน จากรายได้ และโอกาสในการพัฒนา

 

"การกระทำโดยไม่ได้หารือกับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องเช่นนี้ จะนำประเทศของเราไปสู่การถูกโดดเดี่ยวจากนักลงทุนต่างชาติในที่สุด ที่ผ่านมาบริษัทด้านชีววิทยาศาสตร์ต่างก็พยายามทำงานอย่างหนักเพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์เทคโนโลยีชีวภาพของภูมิภาคนี้ การประกาศเจตนาเช่นนี้มีโอกาสจะทำลายทุกสิ่งทุกอย่างที่เราได้พยายามทำมาตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ในการที่จะแสดงให้สำนักงานใหญ่ของเราเห็นถึงความน่าสนใจของประเทศไทย ในฐานะศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีชีวภาพ และการกระทำเช่นนี้ทำให้คู่แข่งของเราในภูมิภาคยิ่งได้เปรียบในการแข่งขันมากขึ้น"

 

"หากไม่มีการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเหมาะสมจะไม่มีแรงจูงใจ หรือการช่วยเหลือทางการเงินหรืออื่นใด ที่เพียงพอ ก็ไม่สามารถที่จะดึงบริษัทวิจัยพัฒนาเข้ามาลงทุนได้"

 

นายธีระกล่าวด้วยว่า ในประเทศที่ประสบปัญหาเอดส์/การติดเชื้อเอชไอวี บริษัทสมาชิกของสมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์เต็มใจอย่างยิ่งที่จะเจรจากับรัฐบาลในการให้การสนับสนุนการรักษาในราคาต่ำ และบางครั้งโดยไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ อย่างไรก็ตาม การที่กระทรวงสาธารณสุขบังคับใช้สิทธิผลิตยา (compulsory licensing) กับยาอื่น ๆ ทำให้มีกังวลว่าทางกระทรวงกำลังดำเนินนโยบายยึดทรัพย์สินของเอกชน เพียงเพราะกระทรวงมีงบประมาณไม่เพียงพอเท่านั้น

 

ด้าน นพ.มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ไม่ต้องเป็นห่วงว่าจะไม่มียาใช้ บริษัทยาคงไม่ปิดโรงงานแล้วเลิกขาย เพราะไม่เคยมีบริษัทยาที่ไหนที่จะเลิกขาย ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวน่าจะเป็นเพียงการขู่เพื่อรักษาผลประโยชน์ของเขาเท่านั้น

 

ทั้งนี้ การที่ไทยจะบังคับใช้สิทธิบัตรไม่ได้เป็นการกลั่นแกล้ง แต่เนื่องจากปัจจุบันยาดังกล่าวมีราคาแพง ขณะที่ประเทศของเรามีงบประมาณน้อย ดังนั้น ก็จะต้องหาวิธีการที่จะซื้อยาในราคาที่ถูก หากตัดในส่วนของประกันสังคมและกองทุนข้าราชการ เรามีประชาชนที่จะต้องดูอีก 18 ล้านคน ไม่เช่นนั้นคนเหล่านี้ก็จะต้องเสียชีวิต

 

ยกตัวอย่างเช่น ยารักษาโรคหัวใจที่จะบังคับใช้สิทธินั้น มีการกำหนดราคาเอาไว้ที่เม็ดละ 70 บาทมาเป็นเวลา 20 แล้ว หากบังคับใช้สิทธิบัตรก็จะได้ยาในราคาไม่เกิน 7 บาท คนที่เป็นโรคหัวใจก็จะรอดชีวิตมากขึ้น ซึ่งวานนี้(25 ม.ค.) ได้ลงนามในหนังสือบังคับใช้เรียบร้อยแล้ว แต่จะประกาศอย่างเป็นทางการให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในวันที่ 29 มกราคมนี้

 

"ถ้าเกิดรวยเราคงไม่ทำ ถ้าเกิดเขาขู่แล้วก็ยังยอมเราก็จะคงต้องเป็นทาสเขาตลอดไป"นพ.มงคลกล่าว

 

 

 

สัมภาษณ์-กรรณิการ์ กิจติเวชกุล

องค์การหมอไร้พรมแดน-เบลเยี่ยม (ประเทศไทย)

 

 

ประชาไทออนไลน์

26 มกราคม 2550

 

 

ถาม : PReMA คืออะไร

 

ตอบ : คือ สมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ แต่จริงๆ แล้ว PReMA ก็คือสาขาในไทยของสมาคมอุตสาหกรรมยาที่ใหญ่ที่สุดของอเมริกาที่เรียกว่า  PhRMA ยาที่เรารู้จักเกือบทุกบริษัทของอเมริกาอยู่ในสมาคมนี้ ซึ่งมีอิทธิพลมากกับรัฐบาลสหรัฐ

 

พูดง่ายๆ คือสมาคมผู้นำเข้ายานั่นเอง เพราะบริษัทยาของไทยเองมีน้อย และมีสมาคมต่างหากเรียกว่า สมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยา

 

ถาม : Quote "มีข้อกังวลว่าทางกระทรวงกำลังดำเนินนโยบายยึดทรัพย์สินของเอกชน เพียงเพราะกระทรวงมีงบประมาณไม่เพียงพอเท่านั้น"

 

"การที่รัฐบาลบังคับเอาทรัพย์สินของเอกชน เพราะไม่สามารถซื้อได้นั้น เป็นแบบอย่างที่อันตราย และจะทำให้ทำลายชื่อเสียงของประเทศว่า เป็นประเทศที่ไม่ให้ความเคารพต่อกฎกติกาสากล"

 

ตอบ : เรื่องการบังคับใช้สิทธิ หรือ CL นี้ไทยทำถูกทั้งกฎหมายในประเทศและระหว่างประเทศ

 

โดยเฉพาะประเด็นกฎหมายระหว่างประเทศนั้น ตามมาตรา TRIPs ที่ 31 (b) ระบุว่า เราสามารถบังคับใช้สิทธิได้ในกรณีที่เป็น National Emergency หรือ Extremely Urgency และอีกข้อคือ Public Non Commercial Use สิ่งที่ไทยทำอยู่ตอนนี้คือข้อนี้ คือ ไม่แสวงหากำไร เป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ

 

ในกรณีของ Public Non Commercial Use เมื่อรัฐบาลจะทำ ทั้งโดยรู้หรือไม่รู้ว่ามีสิทธิบัตรอยู่ แต่เมื่อรู้ก็ต้องแจ้งเจ้าของสิทธิโดยไม่ชักช้า สิ่งที่รัฐบาลต้องทำคือการแจ้งไม่ชักช้า แค่แจ้งเท่านั้น

 

แต่จริงๆ แล้วเราต้องใช้คำว่า Government Use คือ การบังคับใช้สิทธิโดยรัฐ เพราะ CL เป็นมาตรการบังคับใช้สิทธิเฉยๆ เอกชนใช้ก็ได้ไม่จำเป็นต้องเป็นรัฐ ซึ่งที่ใช้ในอเมริกาจึงจะเรียกว่า CL เพราะให้เอกชนบังคับใช้สิทธิได้ เช่น กรณียารักษาโรคแอนแทรกส์

 

อีกส่วนหนึ่งคือ คำประกาศ Doha เมื่อปี 2544 ว่าด้วย TRIPs and Public Health ระบุเลยว่า

 

"รัฐมนตรีเห็นพ้องว่าความตกลง TRIPs ต้องไม่ห้ามและไม่ควรที่จะขัดขวางประเทศสมาชิกที่จะใช้มาตรการเพื่อปกป้องสาธารณสุขของประเทศสมาชิก เพื่อเน้นย้ำข้อผูกพันตามข้อตกลง TRIPs ในเรื่องดังกล่าว ประเทศสมาชิกยืนยันว่า ความตกลง TRIPs ควรตีความและนำไปปฏิบัติในลักษณะที่เป็นการสนับสนุนสิทธิของประเทศสมาชิก ส่งเสริมการเข้าถึงยาของประชาชนโดยรวม ทั้งนี้ ประเทศสมาชิกขอยืนยันอีกครั้งถึงสิทธิที่จะใช้มาตรการในความตกลง TRIPs ได้อย่างเต็มที่และสมบูรณ์ ซึ่งความตกลงดังกล่าวได้ให้ความยืดหยุ่นแก่ประเทศสมาชิกในการนำมาตรการไปปฏิบัติ"

 

ปัญหาคือตั้งแต่คำประกาศโดฮาออกมา ประเทศที่จะกล้าทำมีน้อยมาก ประเทศไทยน่าจะเป็นลำดับที่ 5  ในหมู่ประเทศกำลังพัฒนา รองจาก โมซัมบิก ซิมบับเว อินโดนีเซีย มาเลเซีย ในขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วทำกับปกติ อย่างอเมริกานี่ทำบ่อย แต่ถ้าประเทศกำลังพัฒนาที่ไหนจะทำ CL บ้างจะโดนสกัด ล็อบบี้ โดย PReMa PhAMA นี้เอง

 

นี่ไม่ถือเป็นการยึดทรัพย์สินเอกชน เพราะจริงๆ แล้วเราจะพบว่าการทำ CL เราจะแจ้งต่อบริษัท มีการบอกด้วยว่าจะให้ค่าตอนแทนเขาตามสมควรที่เราคิดว่าเหมาะสม  ซึ่งเป็นการเทียบเคียงมาจากที่หลายประเทศใช้ ไม่ว่านอร์เวย์ แคนาดา พวกนี้จะบอกเลยว่าถ้าใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิจะต้องจ่ายเท่าไร และถ้าจะส่งออกไปให้ประเทศไหนประเทศนั้นต้องจ่ายเท่าไร โดยดูตามเศรษฐกิจของประเทศนั้นด้วย

 

ถาม : อะไรเป็นตัวชี้วัด "ความจำเป็น"

 

ตอบ : ความจำเป็นนั้นดูที่ความขาดแคลนของยา ความจำเป็นเร่งด่วน ราคา ถ้าสมมติว่าถ้ามันมีราคาแพงมากแต่คนใช้น้อยก็อาจมีความจำเป็นน้อย แต่ถ้าแพงแล้วคนใช้มากความจำเป็นก็มากกว่า อย่างตัวยา plavix คนตั้งแต่ 50 กว่าขึ้นไปใช้เยอะมาก

 

ถาม : หากนึกจะใช้ CL กับยาอะไรก็ได้ อย่างนี้นักลงทุนจะลำบากหรือไม่

 

ตอบ : ไม่ใช่จะทำได้ทุกตัว รัฐจะใช้ CL ได้เฉพาะยาที่อยู่ในบัญชียาหลัก คือ บัญชียาที่รัฐบาลระบุว่าเป็นยาสำคัญที่จำเป็นต้องใช้ซึ่งมีไม่เยอะ

 

ถาม : Quote "ในประเทศที่ประสบปัญหาเอดส์/การติดเชื้อเอชไอวี บริษัทสมาชิกของสมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์เต็มใจอย่างยิ่งที่จะเจรจากับรัฐบาลในการให้การสนับสนุนการรักษาในราคาต่ำ และบางครั้งโดยไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ"

 

ตอบ : ส่วนใหญ่บริษัทยาก็มักใช้แทกติกอย่างนี้ ไม่ยอมลดราคายา แต่ใช้วิธีเจรจา ซื้อ 10 แถม 5 หรือมีโครงการเพื่อภาพพจน์ บริจาค แต่ความจริงคือยาคุณไม่ได้แพงขนาดนั้นแล้ว หากำไรมาจนพอแล้ว ควรเปิดโอกาสให้ผู้คนเข้าถึงยาบ้าง ในกรณีขององค์การหมอไร้พรมแดนถูกเสนอจากบริษัทยาตลอดว่า อย่ารณรงค์ให้ลดราคายา แต่ควรรับการบริจาคดีกว่า แต่นั่นไม่ใช่หนทางที่ยั่งยืนที่ประเทศเหล่านั้นจะเข้าถึงยา เพราะมันต้องขึ้นอยู่กับบริษัท

 

กรณีของบริษัทแอบบอท มีโครงการจะให้ประเทศยากจนเข้าถึงยา 100 กว่าประเทศที่อยู่ในลิสต์ แต่มีแค่ไม่กี่ประเทศเท่านั้นที่แอบบอทยอมไปขึ้นทะเบียนยา และการไม่ขึ้นทะเบียนยาหมายถึงมันจะวางขายไม่ได้ คนก็จะเอาไปใช้ไม่ได้ แม้จะบอกว่าจะมีการบริจาคก็ตาม

 

เวลาที่ยาไม่ขึ้นทะเบียน ถ้าจะใช้นั้นกระบวนการขั้นตอนมันยากมากๆ ก่อนหน้านี้องค์การหมอไร้พรมแดนประเทศไทยพยายามจะนำเข้ายาต้านไวรัสคาเล็ทตราแบบเม็ดแข็งของบริษัทแอบบอท ซึ่งได้รับบริจาคมาจากองค์การหมอไร้พรมแดนสาขาในนิวยอร์ค แต่เขาไม่ยอมมาขึ้นทะเบียนในเมืองไทย เราจึงเอาเข้ามาไม่ได้ มันยากมากๆ โอกาสแทบไม่มี ฉะนั้น โครงการที่เขาเสนอนั้นเป็นโครงการแบบภาพพจน์และไม่ตอบคำถามความยั่งยืนเลย

 

ข้ออ้างสำคัญอีกประการหนึ่งของบริษัทยาก็คือ เขาบอกว่าคุณภาพของยาชื่อสามัญที่องค์การเภสัชกรรมในประเทศนั้นๆ ผลิตเองนั้นไม่ดี มีชิ้นข่าวในต่างประเทศหลายชิ้นที่โจมตียาชื่อสามัญขององค์การเภสัชกรรม แต่จริงๆ แล้วมันคุณภาพเดียวกัน การทำ CL ต้องดูที่คุณภาพก่อน ต้องได้รับการรับรองจาก WHO แล้ว

 

อีกทั้งจากการศึกษาขององค์การหมอไร้พรมแดนก็ได้ติดตามผู้ติดเชื้อที่ใช้ยาต้านไวรัสขององค์การเภสัชกรรมในโรงพยาบาลบ้านแหลม จ.เพชรบุรี จำนวน 120 คนเป็นเวลา 5 ปี พบว่า มีแค่คนเดียวที่ดื้อยา และที่โรงพยาบาลอื่นก็เช่นกันพบการดื้อยาเพียงเล็กน้อยและส่วนใหญ่เป็นเพราะการกินยาไม่สม่ำเสมอ รายงานฉบับนี้เราจะเขียนลงวารสารทางการแพทย์และจะส่งให้กระทรวงสาธารณสุขด้วย

 

ถาม : ประสบการณ์ในต่างประเทศเวลาใช้ CL มีภาคเอกชนออกมาประกาศถอนการลงทุนเช่นนี้หรือไม่

 

ตอบ : มีเยอะ กรณีที่มาเลเซียทำ CL ก็ถูกบริษัทยาฟ้องร้อง แต่รัฐบาลทำสำเร็จ ในขณะที่คดีก็ค้างอยู่เพราะบริษัทเขาไม่ไปเดินเรื่องต่อ

 

กรณีของแอฟริกาใต้ที่ประกาศใช้ CL ก็ถูกฟ้องโดย 39 บริษัทนำโดยสมาคมคล้ายๆ PReMA เช่นกัน ผลคือบริษัทถอนฟ้องเพราะกลัวเสียภาพพจน์ แต่โดนขู่ทางอื่นให้รับการบริจาค แล้วก็ลดราคาให้ แต่ต้องใช้ยา original ทุกวันนี้แอฟริกาใต้ยังไม่มีโครงการให้ยาต้านไวรัสเลย คนแอฟริกาไม่มียากิน ต้องซื้อยากินเอง ทั้งที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุดในโลก รัฐบาลก็ออกมาบอกว่า มันเป็นเรื่องที่ต้องกินอาหารดีๆ มีเซ็กส์ปลอดภัย ยาต้านไวรัสไม่ได้ช่วยอะไร

 

ประมาณปี 2001 เกาหลีใต้ก็จะใช้ CL กับยาตัวหนึ่ง ตอนนั้นรัฐมนตรีสาธารณสุขถูกปรับออกจากคณะรัฐมนตรี

 

ก่อนหน้านี้ประเทศไทยพยายามจะใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิกับยาดีดีไอ เราก็โดนรัฐบาลสหรัฐยื่นโนติสว่า ถ้าทำสหรัฐจะคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจกับรัฐบาลไทย แบบที่ PReMA ทำอยู่ตอนนี้

 

ถาม : Quote "สมาชิกสำคัญของสมาคมส่วนหนึ่งต่างก็ตะลึงกับการปรารภเจตนาดังกล่าว และต่างก็ได้ยืนยันว่า ได้สั่งชะลอแผนการลงทุนใหม่ทั้งหมดในประเทศไทย เพื่อทบทวนบรรยากาศการลงทุนในประเทศใหม่"

 

ตอบ : การลงทุนที่ว่าคืออะไร ถ้าลงทุนตั้งโรงงานนั้นไม่มีอยู่แล้ว เกือบทั้งหมดเป็นการนำเข้า หากจะมีการลงทุนก็คือการทดลองยาในมนุษย์ ซึ่งมีทั้งที่ดีและไม่ดี และถือว่าประชาชนได้รับประโยชน์น้อยมาก

 

 

 

* มาตรการบังคับใช้สิทธิ หรือ CL (Compulsory Licensing) หมายถึง การผลิต ใช้ ขาย มีไว้เพื่อขาย เสนอขาย หรือนำเข้า ผลิตภัณฑ์หรือกระบวนการที่ได้สิทธิบัตร โดยไม่ต้องได้รับอนุญาตจากผู้ทรงสิทธิ

 

การบังคับใช้สิทธิ มี 2 ลักษณะ คือ การบังคับใช้สิทธิโดยรัฐ (Government Use) และการบังคับใช้สิทธิโดยเอกชน (Compulsory Licensing)

 

การขอใช้มาตรการบังคับใช้สิทธินั้นสามารถทำได้ภายใต้เงื่อนไขหลายข้อ เช่น โดยปกติบุคคลหรือบริษัทจะขอใช้มาตรการนี้ได้ก็ต่อเมื่อก่อนการใช้ ผู้ขอใช้ต้องพยายามที่จะได้รับการอนุญาตจากผู้ทรงสิทธิตามข้อกำหนดและเงื่อนไขทางพาณิชย์ที่มีเหตุผล (Voluntary Licensing) และความพยายามดังกล่าวไม่ประสบความสำเร็จภายในระยะเวลาอันควร (มาตรา 31b) และเมื่อมาตรการบังคับใช้สิทธิเป็นผล ผู้ทรงสิทธิมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนอย่างเหมาะสมด้วย (มาตรา 31h) นอกจากนี้สิทธิหลังจากมาตรการบังคับใช้สิทธินั้นโอนต่อไม่ได้

 

ในกรณีบังคับใช้สิทธิโดยรัฐ ภายใต้ภาวะฉุกเฉินของประเทศหรือ สภาพการณ์เร่งด้วนอย่างที่สุดอื่นๆ (National Emergency, Other Circumstances of Extremely Urgency) หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ รัฐต้องแจ้งให้ผู้ทรงสิทธิทราบ และสามารถบังคับใช้สิทธิได้ทันที โดยไม่ต้องได้รับอนุญาตจากผู้ทรงสิทธิ (มาตรา 31b) ทั้งนี้ รัฐต้องจ่ายค่าตอบแทนอย่างเหมาะสมให้กับผู้ทรงสิทธิ (มาตรา 31h)

 

 

( อ้างจาก : รักษวร ใจสะอาด และ นุศราพร เกษสมบูรณ์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น. "ผลกระทบต่อการเข้าถึงยา จากข้อตกลงเขตการค้าเสรีไทย-สหรัฐอเมริกา" )

 

 

 

 

000

อ่านข่าวย้อนหลัง

สธ.กร้าวบังคับผลิตยาติดสิทธิบัตร บีบราคายาโรคหัวใจ-เอดส์ ถูกลงหลายเท่า

 

หมอไร้พรมแดนกร้าว สหรัฐอย่าขวางรัฐบาลขิงแก่ใช้มาตรการผลิตยาถูกให้ผู้ติดเชื้อ

 

บริษัทยาข้ามชาติรุกหนัก! ฟ้องร้อง-ตอบโต้รบ.อินเดีย ไทย ฟิลิปปินส์ กรณีสิทธิบัตรยา

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net