Skip to main content
sharethis

10 กว่าปีมาแล้ว ที่เกาะยาวใหญ่และเกาะยาวน้อย อำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา เป็นที่หมายปองของนักล่าที่ดิน เพื่อจะแปลงโฉมที่ดินแปลงนี้เป็นรีสอร์ทหรูระยับ พร้อมกับท่าเทียบเรือขนาดใหญ่ไว้รองรับนักท่องเที่ยว นี่คือ หนึ่งในหลายศึกแย่งชิงทรัพยากรระหว่างชุมชนท้องถิ่นกับกลุ่มทุนขนาดยักษ์

10 กว่าปีมาแล้ว ที่เกาะยาวใหญ่และเกาะยาวน้อย อำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา เป็นที่หมายปองของนักล่าที่ดิน ทั้งชาวไทยและนายทุนต่างชาติมากหน้าหลายตา

 

อันเป็นที่มาของเสียงเล่าลืออื้อฉาวเนิ่นนาน ถึงการออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบบนผืนเกาะแห่งนี้

 

กระทั่งปลายปี 2549 จึงมีการจับกุมดำเนินคดีสามีชาวมาเลเซียกับภรรยาชาวไทย ผู้กว้างขวางแห่งเกาะภูเก็ตเป็นรายแรก

 

ตามมาด้วยการย่างเท้าก้าวไปตรวจสอบที่ดินบริเวณบ้านย่าหมี - คลองสน ตำบลเกาะยาวใหญ่ ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรม ตามที่ชาวบ้านร้องเรียนกับนายชาญชัย ลิขิตจิตถะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมว่า มีกลุ่มทุนต่างชาติเข้ามากว้านซื้อที่ดินจากนายทุนจังหวัดภูเก็ต โดยออกเอกสารสิทธิทับพื้นที่ป่าไม้

 

เมื่อกรมสอบสวนคดีพิเศษตรวจสอบภาพถ่ายทางอากาศก็พบว่า ในปี 2510 ที่ดินบริเวณนี้ ยังคงเป็นป่ารกทึบ ต่อมา ปี 2521 มีการออกเอกสารสิทธิเป็น น.ส.3 ก. ให้กับเอกชน 8 ไร่

 

จากนั้น เอกสารสิทธิ นส. 3 ก. ก็งอกเพิ่มขึ้นเป็น 32 ไร่ และ 88 ไร่ ตามลำดับ

 

ทว่า ประเด็นร้อนใจของชาวบ้าน กลับอยู่ตรงที่กลุ่มทุนข้ามชาติ กำลังร่วมมือกับกลุ่มทุนในเครื่องแบบชาวไทย จะแปลงโฉมที่ดินแปลงนี้เป็นรีสอร์ทหรูระยับระดับ 5 ดาว พร้อมกับก่อสร้างท่าเทียบเรือขนาดใหญ่ไว้รองรับนักท่องเที่ยว

 

กว่า 2 สัปดาห์แล้ว ที่ชาวบ้านเกาะยาวใหญ่ ปักหลักคัดค้านไม่ยอมให้บริษัทข้ามชาติเข้ามาก่อสร้างท่าเทียบเรือ ณ อ่าวคลองสน และโครงการต่อเนื่องรวม 4 โครงการ

 

เจ้าของ "โครงการก่อสร้างสะพานท่าเทียบเรือและโครงการที่เกี่ยวข้องบริเวณอ่าวคลองสน" คือ บริษัท นาราชา จำกัด

 

ตามหนังสือรับรองที่ นบ. 002921 สำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดนนทบุรี กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่าบริษัท นาราชา จำกัด เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ในกลุ่มบริษัทนิชดาธานี

 

กรรมการบริษัท นาราชา จำกัด มี 6 คน คือ พลอากาศเอกอวยชัย แจ้งเร็ว, นางวินิตา แจ้งเร็ว, นาวาอากาศเอกสรศักดิ์ จันทร์เฉลียว, นายโคคูแนน หยวน, นางโชเอะอิ หยวน, นายค๊อกคูเอ หยวน

 

กรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัท คือ พลอากาศเอกอวยชัย แจ้งเร็ว หรือนางวินิตา แจ้งเร็ว โดยลงนามร่วมกับกรรมการอื่นอีกหนึ่งคน รวมเป็นสองคน แล้วประทับตราบริษัท

 

บริษัท นาราชา จำกัด มีทุนจดทะเบียน 40,000,000 บาท สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ 39/20 หมู่ที่ 3 ตำบลบางตลาด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี

 

"โครงการก่อสร้างสะพานท่าเทียบเรือและโครงการที่เกี่ยวข้องบริเวณอ่าวคลองสน" เป็นโครงการขนาดใหญ่ จึงต้องจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือ EIA

 

ทางบริษัท นาราชา จำกัด ได้ว่าจ้างบริษัท แอดวานซ์ เอ็นไวรอนเมนทอล แมเนจเม้นท์ คอนซัลติ้ง จำกัด เป็นผู้จัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม

 

บริษัท แอดวานซ์ เอ็นไวรอนเมนทอล แมเนจเม้นท์ คอนซัลติ้ง จำกัด ตั้งสำนักงานอยู่เลขที่ 50/144 หมู่ที่ 1 ตำบลคูคต อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี รหัสไปรษณีย์ 12130 โทรศัพท์กับโทรสารประจำสำนักงาน เป็นหมายเลขเดียวกัน คือ 0 - 2987 - 7170

 

สำนักงานกระบี่ ตั้งอยู่เลขที่ 171/18 ถนนกระบี่ - เขาทอง ตำบลปากน้ำ อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ รหัสไปรษณีย์ 81000 โทรศัพท์กับโทรสารหมายเลขเดียวกัน คือ 0 - 7562 - 3504 โทรศัพท์มือถือหมายเลข 086 - 6147326

 

ขณะเดียวกัน ทางจังหวัดพังงาได้แต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบผลกระทบสิ่งล่วงล้ำลำน้ำจังหวัดพังงา ตามคำสั่งจังหวัดพังงาที่ 2088/2548 ลงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2548 ให้รองผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา (ที่ได้รับมอบหมาย) เป็นประธาน เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดพังงา เป็นรองประธาน

 

คณะทำงาน ประกอบด้วย ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดพังงา, หัวหน้าสำนักงานจังหวัดพังงา, โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดพังงา, ประมงจังหวัดพังงา, ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดพังงา, ผู้แทนสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 15, นายอำเภอท้องที่, ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดพังงา, นายกองค์การบริหารส่วนตำบลท้องที่, หัวหน้าสำนักงานขนส่งทางน้ำที่ 5 สาขาพังงา    เป็นคณะทำงานและเลขานุการ และผู้แทนสำนักงานการขนส่งทางน้ำที่ 5 สาขาพังงา เป็นคณะทำงานและผู้ช่วยเลขานุการ

 

"โครงการก่อสร้างสะพานท่าเทียบเรือและโครงการที่เกี่ยวข้องบริเวณอ่าวคลองสน" ใหญ่ขนาดไหน ดูได้จากคำยื่นขออนุญาตก่อสร้าง ดังต่อไปนี้

 

วันที่ 26 เมษายน 2549 บริษัท นาราชา จำกัด ได้ยื่นขออนุญาตสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ บริเวณอ่าวคลองสน ในทะเล และบริเวณที่ดินของบริษัท

 

เริ่มต้นจากขออนุญาตขุดลอกทราย บริเวณอ่าวคลองสน กว้าง 40 เมตร ยาว 600 เมตร ลึก 2.5 เมตร ระยะห่างจากฝั่ง 50 เมตร ปริมาณ 650,000 ลูกบาศก์เมตร เนื่องจากปัจจุบันมีสภาพตื้นเขิน เรือไม่สามารถเข้าบริเวณอ่าวได้ เช่นเดียวกับเรือชาวบ้านที่ไม่สามารถเข้าไปถึงสะพานเดิมในคลองสน สำหรับทรายจากการขุดลอก จะนำไปทิ้งในที่ดินสาธารณประโยชน์ของชุมชน

 

วันที่ 29 พฤษภาคม 2549 นายสมคิด ยิ้มประพันธ์ หัวหน้าสำนักงานการขนส่งทางน้ำที่ 5 สาขาพังงา ลงนามอนุญาตให้ดำเนินการได้ ระหว่างวันที่ 29 พฤษภาคม 2549 - วันที่ 1 กรกฎาคม 2549

 

ตามด้วยการขออนุญาตก่อสร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก ยาว 85 เมตร กว้าง 5 เมตร รองรับเรือขนาดต่ำกว่า 20 ตันกรอส ในลำน้ำหรือทะเลอ่าวคลองสน โดยให้ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ในยามจำเป็น

 

ได้รับอนุญาตให้ดำเนินการได้ จากนายสมคิด ยิ้มประพันธ์ เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2549 มีกำหนด 1 ปี ระหว่างวันที่ 29 พฤษภาคม 2549 - วันที่ 28 พฤษภาคม 2550

 

จนวันที่ 20 กรกฎาคม 2549 นายประหยัด ศรีสมุทร นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะยาวใหญ่ จึงได้ลงนามอนุญาตให้ก่อสร้าง

 

ต่อด้วยการขออนุญาตทำพอนทูนจอดเรือขนาดต่ำกว่า 20 ตันกรอส จำนวน 85 ลำ ในลำน้ำทะเลอ่าวคลองสน

 

นายสมคิด ยิ้มประพันธ์ ลงนามอนุญาต เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2549 มีกำหนด 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 29 พฤษภาคม 2549 - วันที่ 28 พฤษภาคม 2550 โดยมีเงื่อนไขให้ชาวบ้านเข้าจอดเรือได้

 

ต่อมา ในการชี้แจงของนายสมคิด ยิ้มประพันธ์ เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2549 ตัวเลขจำนวนพอนทูนลดลงเหลือเพียง 16 ลำ

 

ทางบริษัท นาราชา จำกัด ยังขออนุญาตทำเขื่อนป้องกันคลื่นแบบหินทิ้ง ห่างจากชายฝั่งประมาณ 185 เมตร ความยาวของเขื่อนประมาณ 320 เมตร ฐานล่างกว้าง 20.27 เมตร ฐานบนกว้าง 3.5 เมตร สูง 3.5 เมตร สูงจากระดับน้ำทะเลขึ้นสูงสุด 20 เซนติเมตร เพื่อกำบังคลื่นลมให้กับท่าเทียบเรือมารีน่าและป้องกันการกัดเซาะชายหาด เนื่องจากคลื่นลมแรงเรือเข้าจอดที่อ่าวสนไม่ได้ ถ้าไม่มีเขื่อนทรายกันคลื่น โดยให้ชาวบ้านใช้ประโยชน์ร่วมกันได้

 

การก่อสร้างประกอบด้วย ปูแผ่นใยสังเคราะห์ และนำหินไปวางบริเวณเขื่อน

 

ได้รับอนุญาตให้ดำเนินการ จากนายสมคิด ยิ้มประพันธ์ เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2549 มีกำหนด 1 ปี ระหว่างวันที่ 23 พฤศจิกายน 2549 - 22 พฤศจิกายน 2550

 

ชาวบ้านเกาะยาว ตั้งข้อสังเกตต่อโครงการขนาดใหญ่ของบริษัท นาราชา จำกัด ดังต่อไปนี้

 

ประเด็นแรก ชาวบ้านระบุว่าบริเวณที่บริษัท นาราชา จำกัด จะขุดลอกทราย ไม่ใช่ร่องน้ำเดินเรือที่ชาวบ้านใช้อยู่ในปัจจุบัน แต่เป็นบริเวณที่บริษัท นาราชา จำกัด จะดำเนินโครงการต่อเนื่องอื่นๆ เช่น สร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก การจัดทำพอนทูนจอดเรือ

 

ส่วนข้อเสนอจะนำทรายจากการขุดลอก ไปถมในที่ดินสาธารณประโยชน์ของชุมชน ชาวบ้านมองว่า เป็นข้อเสนอลอยๆ เพราะไม่ระบุให้ชัดเจนว่า จะนำทรายที่ขุดขึ้นมา 650,000 ลูกบาศก์เมตรไปทิ้งที่ไหน เพราะที่ดินสาธารณประโยชน์ของชุมชนที่มีอยู่ ไม่สามารถรองรับทรายจำนวนนี้ได้

 

ประเด็นที่สอง การสร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก ที่จะให้ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ในยามจำเป็น

 

ชาวเกาะยาวตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กเป็นของเอกชน ถึงแม้จะใช้พื้นที่สาธารณะก่อสร้าง โดยระบุว่าจะให้ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน ในความเป็นจริงย่อมยากอย่างยิ่งที่ประชาชนในชุมชนและชุมชนใกล้เคียง จะเข้าไปใช้ประโยชน์ได้

 

ประเด็นที่สาม บริเวณที่ทำพอนทูนจอดเรือในอ่าวค่อนข้างตื้น มีกระแสน้ำขึ้น - ลงรุนแรง จะทำให้เกิดความปั่นป่วนทั้งด้านล่าง และด้านท้ายของพอนทูน ตามทิศทางของกระแสน้ำ ส่งผลให้น้ำขุ่นและเกิดการกัดเซาะ ถึงแม้จะสร้างเขื่อนกันคลื่น ก็ไม่สามารถชะลอความรุนแรงลงได้

 

จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ชาวบ้านยืนยันว่า ชุมชนไม่เคยได้เข้าไปจอดเรือในพอนทูนเรือนักท่องเที่ยว เรือที่เข้ามาจอดและใช้ประโยชน์ เป็นเรือสำหรับนักท่องเที่ยวเท่านั้น

 

ประเด็นที่สี่ การ

ทำเขื่อนป้องกันคลื่นแบบหินทิ้ง ถือเป็นโครงสร้างที่แปลกปลอมจากธรรมชาติ จะก่อให้เกิดการกัดเซาะรุนแรง ทั้งด้านหน้าและด้านข้างของเขื่อน ขณะที่ด้านหลังจะเกิดการทับถมอย่างรวดเร็ว นับเป็นตัวเร่งให้บริเวณสะพานตื้นเขินเร็วขึ้น ขณะที่ด้านข้างจะถูกกัดเซาะลุกลามอย่างรวดเร็วไปสู่บริเวณอื่นๆ ระบบนิเวศทั้งอ่าว จะเปลี่ยนแปลงโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้

 

ชาวบ้านเกาะยาวยืนยันว่า "โครงการก่อสร้างสะพานท่าเทียบเรือและโครงการที่เกี่ยวข้องบริเวณอ่าวคลองสน" ขัดกับประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องกำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในบริเวณพื้นที่ที่ได้รับภัยพิบัติ จังหวัดกระบี่ จังหวัดตรัง จังหวัดพังงา จังหวัดภูเก็ต จังหวัดระนอง และจังหวัดสตูล ลงวันที่ 10 เมษายน 2549

 

ประกาศฉบับนี้ ระบุให้บ้านย่าหมี หมู่ที่ 3 ตำบลเกาะยาวใหญ่ เป็นพื้นที่ใช้มาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ให้การขุด การถม หรือการเปลี่ยนสภาพธรรมชาติของพื้นที่ชายหาด ดำเนินการโดยส่วนราชการ เพื่อฟื้นฟูพื้นที่จากความเสียหายทางธรรมชาติ ห้ามกระทำการ หรือการประกอบกิจกรรมใดๆ ที่อาจเป็นอันตราย หรือมีผลกระทบ หรือทำให้ปะการัง ซากปะการัง หรือหินปะการัง และหญ้าทะเลถูกทำลาย หรือเสียหายในแนวปะการัง และแหล่งหญ้าทะเล

 

นี่คือ หนึ่งในหลายศึกแย่งชิงทรัพยากรระหว่างชุมชนท้องถิ่นกับกลุ่มทุนขนาดยักษ์

 

ประเด็นที่น่าสนใจ ก็คือ นอกจากต้องต่อสู้กับกลุ่มทุนต่างชาติแล้ว ชาวบ้านย่าหมียังต้องเผชิญหน้าสู้กับกลุ่มทุนคนมีสีชาวไทยอีกด้วย

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net