Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 22 ม.ค.2550 เวทีสังคมโลก ครั้งที่7 จัดขึ้นที่กรุงไนโรบี ประเทศเคนย่า ในระหว่างวันที่ 20-25 มกราคม 2550 นับเป็นครั้งแรกที่เวทีสังคมโลกจัดขึ้นในทวีปแอฟริกา โดยประเด็นหลักของการประชุมในครั้งนี้คือ "People"s Struggles, People"s Alternatives" (การต่อสู้ของประชาชน, ทางเลือกของประชาชน)


 


 


บรรยากาศในพิธีเปิดงานเวทีสังคมโลก (WSF: World Social Forum) - ภาพจาก AFP


 


จากละตินอเมริกา (ปอร์โต อเลเกร, บราซิล) ซึ่งเป็นสถานที่ก่อกำเนิดเวทีสังคมโลกเมื่อปี 2544 กลายมาเป็นเวทีสังคมโลกซึ่งจัดขึ้นในเอเชียครั้งแรก (มุมไบ, อินเดีย) เมื่อปี 2547 จากนั้นมีผู้เสนอให้จัดเป็นเวทีสังคมโลกกระจายไปในแต่ละภูมิภาคของโลก ก่อนจะเป็นการจัดใหญ่ร่วมกันอีกครั้ง


 


เวทีสังคมโลกครั้งที่ 7 เริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการในวันที่ 20 มกราคม 2550 โดยเริ่มต้นจากการเดินขบวนเพื่อสันติภาพ "Peace March" ตั้งแต่เวลา 11.00-13.00 น. ขบวนเริ่มต้นจาก Kibera ซึ่งเป็นเป็นย่านสลัมที่ใหญ่ที่สุดของโลก ผ่านไปตามถนนเส้นต่างๆ ก่อนที่จะไปสิ้นสุดการเดินขบวนที่ Uhuru Park สวนสาธารณะใหญ่ในกรุงไนโรบี ซึ่งเป็นสถานที่ที่จัดพิธีเปิดเวทีสังคมโลก


 


พิธีเปิดอย่างเป็นทางการเริ่มด้วยการเชิญตัวแทนจากขบวนการประชาสังคมต่างๆ กล่าวทักทายและความมุ่งหมายในการต่อสู้ร่วมกันด้วยความสมานฉันท์เพื่อโลกใหม่ที่เป็นไปได้ ตามความมุ่งหมายของขบวนการประชาสังคมนั้นๆ อาทิ ตัวแทนจากปาเลสไตน์ได้กล่าวถึงความทุกข์ยากของชาวปาเลสไตน์ที่ดินแดนของตัวเองถูกยึดครอง ชาวปาเลสไตน์นับหมื่นคนถูกคุมขังในอิสราเอล จึงมาขอแรงแห่งการสมานฉันท์ในการต่อสู้เพื่อปลดปล่อยปาเลสไตน์ โดยเชิญชวนให้ร่วมกันลงโทษอิสราเอลด้วยการต่อต้านและบอยคอตต่อการกระทำของอิสราเอลเพื่อยุติการแบ่งแยกชาติพันธุ์ ดังที่แอฟริกาใต้เองก็เคยประสบผลสำเร็จในการต่อสู้มาแล้ว,


 


ตัวแทนจากยุโรปได้พูดถึงความร่วมมือระหว่างประเทศเหนือและประเทศใต้ (North and South-หมายความถึงประเทศพัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนา) เพื่อโลกใหม่ที่มีความเป็นธรรม พร้อมทั้งได้กล่าวด้วยว่าเป็นเรื่องน่าละอายที่รัฐบาลและผู้นำของประเทศในยุโรปได้ใช้งบประมาณทางทหารมากมาย ขณะที่มีผู้คนในแอฟริกายังยากจนและดำรงชีวิตอยู่อย่างขาดแคลนในสิ่งที่เป็นความจำเป็นพื้นฐาน และเขารู้สึกเสียใจและขอโทษสำหรับสิ่งที่ผู้นำในยุโรปได้ดำเนินการและไม่ดำเนินการ อันก่อให้เกิดผลเสียต่อประเทศใต้ทั้งหลาย


 


ตัวแทนจากองค์กรชาวนาโลก (ลาเวีย คัมปาซิน่า) ได้กล่าวว่าจากการที่มีชาวนาจากประเทศต่างๆ มาร่วมแลกเปลี่ยนและพูดคุย ได้พบว่า เราต่างเผชิญปัญหาคล้ายๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นชาวนาจากละตินอเมริกาหรือชาวนาจากแอฟริกาเรากำลังประสบปัญหาเดียวกัน เช่น ปัญหาหนี้สิ้น ปัญหาการถูกแย่งชิงทรัพยากร อันเป็นผลมาจากลัทธิล่าอาณานิคมใหม่ (Neo-liberalism) ผ่านองค์กรการค้าโลก, ข้อตกลงการค้าเสรี ที่จักรวรรดินิยมกำลังพยายามไล่ล่า ดังนั้นจึงเป็นเรื่องจำเป็นที่เราต้องมาร่วมกันขับไล่และกำจัดสิ่งเหล่านี้ให้หมดไป


 


ตัวแทนจาก สหภาพแรงงานโลก (World Trade Union) ได้ขึ้นกล่าวเป็นคนสุดท้าย โดยกล่าวถึงปัญหาการว่างงานซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ อัตราการว่างงานสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ ดังนั้นการเรียกร้องให้มีการกระจายงานเป็นเป้าหมายที่สหภาพแรงงานโลกจะต่อสู้และผลักดัน การไม่มีงานทำเป็นผลกระทบอย่างแรงต่อบุคคล นอกจากจะเป็นผลกระทบทางเศรษฐกิจแล้วยังกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ต่อการเคารพตัวเองและได้รับการเคารพจากบุคคลอื่น


 


ภายหลังการกล่าวต้อนรับ ทักทาย และแสดงจุดยืนในการต่อสู้ของขบวนการประชาสังคมส่วนต่างๆ แล้ว เคนเนธ คาอันดา (Kenneth Kaunda) อดีตประธานาธิบดีแห่งแซมเบีย ได้กล่าวปาฐกถาเพื่อเปิดเวทีแห่งสังคมโลกอย่างเป็นทางการ โดยนายคาอันดาได้ย้ำว่าสิ่งที่ประชาชนในเวทีสังคมโลกกำลังต่อสู้ เป็นการต่อสู้ร่วมกันเพื่อเป้าหมายร่วมในการที่จะขจัดกติกาและการดำเนินการอันไม่เป็นธรรม เพื่อโลกใหม่ที่มีความเท่าเทียม ไม่ว่าจะเป็นการให้สตรีมีสิทธิ, การต่อสู้กับปัญหาโรคเอดส์, หนี้สิ้นของประเทศยากจน, ฯลฯ


 


โดยสิ่งหนึ่งที่ประชาชนที่กำลังต่อสู้ต้องตระหนักไว้เสมอคือ ประชาชนมีความเข้มแข็งและมีความสามารถที่จะบรรลุเป้าหมายแห่งการสร้างโลกใหม่ได้


 


อดีตผู้นำแซมเบียยังได้กล่าวถึงประสบการณ์ส่วนตัวในการต่อสู้และเผชิญกับปัญหาโรคเอดส์ ซึ่งเป็นปัญหาที่มีผลพวงสืบเนื่องกับความยากจน ที่ผ่านมาวาทกรรมที่เกี่ยวกับโรคเอดส์ถูกกำหนดโดยประเทศเหนือ ถึงเวลาแล้วที่ประเทศในแอฟริกาจะต้องมีส่วนกำหนดและให้ความหมายเกี่ยวกับโรคเอดส์ด้วยตัวของเราเอง เขายังได้กล่าวถึงการสูญเสียลูกชายไปด้วยโรคเอดส์ในช่วงทศวรรษ 1990 ว่าญาติและครอบครัวของผู้ที่เสียชีวิตจากโรคเอดส์มักจะปิดบังความจริงเกี่ยวกับสาเหตุการเสียชีวิต สร้างเรื่องอื่นๆขึ้นมาแทนที่จะบอกว่าเสียชีวิตด้วยเอดส์ โดยเหตุผลสำคัญมาจากปัญหาการตีตราบาปต่อผู้ติดเชื้อและครอบครัวที่มีอยู่สูงในขณะนั้น เขาและภรรยาได้ปรึกษากันและตัดสินใจที่จะเปิดเผยกับสาธารณชนว่าลูกชายของเขาเสียชีวิตด้วยโรคเอดส์ เพราะเขาคิดว่าคือวิธีการต่อสู้และเอาชนะกับการตีตราดังกล่าวด้วยการเผชิญความจริง


 


นอกจากการกล่าวต้อนรับและกล่าวปาฐกถาแล้ว ยังมีการแสดงเพื่อสร้างสีสันและบรรยากาศแห่งการเติมพลังแห่งการสร้างโลกใหม่ที่เป็นธรรม เพราะนอกจากเวทีการประชุมแลกเปลี่ยนทางวิชาการแล้ว กิจกรรมวัฒนธรรมเป็นอีกส่วนหนึ่งที่สำคัญของการแบ่งปันแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ นอกจากวงดนตรีจากบราซิลที่เรียกความสนุกสนานคึกคักให้แก่ผู้มาร่วมชุมนุมในพิธีเปิดแล้ว ส่วนใหญ่เป็นการแสดงจากแอฟริกา การแสดงการเต้นประกอบบทกวีของ Mau Mau เป็นหนึ่งในการแสดงที่มีพลังตรึงคนดูไว้ ด้วยถ้อยคำง่ายๆที่ขับขานเป็นบทกวีประกอบดนตรี และลีลาการเต้นของเด็กชาย เด็กหนุ่มที่แสดงถึงความแข็งแกร่งและสนุกสนานกับการใช้ร่างกายให้เป็นการแสดงที่น่าสนใจ


 


Mau Mau เป็นชื่อของกลุ่มที่ต่อสู้เพื่อเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษตั้งแต่ ปี 2495 จนได้รับชัยชนะและเป็นอิสระและก่อตั้งเป็นประเทศเคนย่าในเวลาต่อมา โดยผู้นำการต่อสู้ของ Mau Mau คนหนึ่งคือ Dedan Kimathi ซึ่งถูกแขวนคอในปี 2500 คำพูดหนึ่งที่พลังยิ่งของเขาคือ "it"s better to die on our feet than to live on our knee"


 



 


....................................................


 



 


เวทีสังคมโลก (World Social Forum) เป็นเวทีโลกของภาคประชาชนก่อกำเนิดขึ้นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2544 ที่เมือง ปอร์โต อเลเกร ประเทศบราซิล โดยเริ่มต้นมาจากการเป็นเวทีของภาคประชาชนที่คู่ขนานไปกับเวทีเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ผลสำเร็จจากการประชุมในครั้งนั้น นอกจากจะเป็นจุดกำเนิดของ กฎบัตรแห่งหลักการ (World Social Forum Charter of Principles) ที่คณะกรรมการสังคมโลกได้ยกร่างและผ่านความเห็นชอบเพื่อเป็นหลักการที่ผู้ร่วมประชุมในเวทีสังคมโลกครั้งต่อๆไปต้องเคารพในหลักการดังกล่าวนี้ร่วมกัน อาทิเช่น การประกาศจุดยืนร่วมกันในแนวทางของการแสวงหาโลกใหม่ที่เป็นไปได้ หรือ "Another World is Possible" เป็นแนวทางถาวรในการแสวงหาและสร้างทางเลือกและทางเลือกในโลกใหม่ที่ว่านี้อยู่บนจุดยืนที่คัดค้านกระบวนการโลกภิวัฒน์ที่บงการโดยบรรษัทข้ามชาติและรัฐบาล ขณะที่มุ่งสร้างให้เกิดโลกาภิวัฒน์แห่งความสมานฉันท์


 


นอกจากนี้ กฎบัตรแห่งหลักการยังได้ย้ำหลักการเพื่อเป็นแนวปฏิบัติของเวทีสังคมโลกต่อไป โดยเน้นย้ำว่าเวทีสังคมโลกเป็นสถานที่ประชุมที่เปิดกว้างสำหรับการแลกเปลี่ยนความคิดอย่างเป็นประชาธิปไตย, เวทีสังคมโลกเพียงต้องการนำขบวนการประชาสังคมต่างๆจากทุกประเทศในโลกมาพบปะและเชื่อมโยงกัน ไม่ได้มุ่งหมายที่จะเป็นองค์กรตัวแทนของประชาสังคมโลกแต่อย่างใด และจะไม่มีการลงมติในฐานะเป็นตัวแทนของเวทีสังคมโลกโดยรวม แต่องค์กรหรือกลุ่มองค์กรที่เข้าร่วมในเวทีสังคมโลกก็มีสิทธิที่จะลงนามโดยลำพังหรือโดยการประสานงานร่วมกันกับผู้ร่วมประชุมอื่นโดยเวทีสังคมโลกจะเผยแพร่ผลการตัดสินใจนั้นอย่างกว้างขวางด้วยวิธีการต่างๆ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net