Skip to main content
sharethis

ในที่สุด เครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด ซึ่งปักหลักชุมนุมที่หน้าศาลากลางจังหวัดตรัง ตั้งแต่บ่ายวันที่ 17 มกราคม 2550 อันสืบเนื่องจากกรณีพิพาทอุทยานแห่งชาติเขาปู่ - เขาย่า ทับที่ดินทำกิน ที่ยืดเยื้อมานานหลายปี ก็ยุติการชุมนุมลง เมื่อเวลา 17.00 น. ของวันที่ 18 มกราคม 2550

 

เป็นการยุติการชุมนุม ท่ามกลางการยกพลเข้ามาสมทบของบรรดามิตรสหายแห่งเครือข่ายป่า จากจังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดสงขลา

 

เป็นการยุติการชุมนุม ในขณะที่บรรดามิตรสหายแห่งสมัชชาคนจน จากภาคต่างๆ กำลังทยอยเดินทางมาให้กำลังใจ

 

"ตอนนี้ หลายพื้นที่ถูกข่มขู่จากทหารและเจ้าหน้าที่หน่วยราชการอย่างหนัก เช่น จังหวัดนครสวรรค์ ศรีษะเกษ อุบลราชธานี เป็นต้น" เป็นคำบอกเล่าผ่านคำปราศรัยต่อที่ชุมนุม จากตัวแทนสมัชชาคนจนแห่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

 

ก่อนหน้าการสลายตัว 2 ชั่วโมง "นายอานนท์ มนัสวานิช" ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ได้เปิดห้องประชุมรัษฎานุประดิษฐ์ ศาลากลางจังหวัดตรัง เชิญตัวแทนเครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัดเข้าหารือ มีนายธำรง เจริญกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง นายไกรเพชร ปาณสมบูรณ์ จากสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 นครศรีธรรมราช และหน่วยงานราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม

 

ประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาหารือ ก็คือ ชาวบ้านชุมชนรอบเทือกเขาบรรทัด 3 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดตรัง พัทลุง นครศรีธรรมราช ซึ่งถูกรัฐประกาศเขตอุทยานแห่งชาติเขาปู่ - เขาย่า ทับที่ดินทำกิน ถูกเจ้าหน้าที่ขมขู่ คุกคาม ดำเนินคดี อยู่เป็นระยะๆ มาเนิ่นนานหลายปี

 

ข้อเสนอที่ถูกหยิบยกขึ้นมาหารือในที่ประชุม ของเครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด มีอยู่ 5 ข้อ

1. ให้ยุติการจับกุม ข่มขู่ คุกคาม

2. ให้ยุติการทำลายทรัพย์สิน  เช่น ตัดฟันต้นยาง  เผาบ้าน

3. ให้ยุติการดำเนินคดีชาวบ้านในเครือข่ายฯ โดยไม่เป็นธรรม

4. หยุดขัดขวาง และให้การสนับสนุนการพัฒนาสาธารณูปโภคของชุมชน

5. ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี วันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๔๑ เรื่องการแก้ไขปัญหาที่ดินในพื้นที่ป่าไม้ ซึ่งกำหนดให้ควบคุมผู้ที่อยู่อาศัยทำกินมาก่อนการประกาศเป็นพื้นที่ป่าไม้ ด้วยการจำกัดพื้นที่ หรืออพยพออกจากพื้นที่ ส่วนผู้ที่เข้าไปอยู่อาศัยทำกินหลังประกาศเป็นพื้นที่ป่าไม้ ให้อพยพออกจากพื้นที่ทั้งหมด

 

ทั้งนี้ ตัวแทนเครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด ยืนยันว่ามติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว มีปัญหาเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ในการพิสูจน์ และไม่สอดคล้องกับแนวคิดการจัดการทรัพยากรป่าไม้โดยชุมชน

 

ผลของการหารือ "นายอานนท์ มนัสวานิช" รับจะไปเชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือตัวแทนรัฐมนตรีที่มีอำนาจตัดสินใจ มาประชุมร่วมกับชาวบ้าน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกัน ที่ศาลากลางจังหวัดตรัง ในวันที่ 25 มกราคม 2550

 

พร้อมกับจะชะลอการจับกุม ชะลอการทำลายทรัพย์สิน ชะลอการดำเนินคดี และไม่ขัดขวางพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของราษฎร ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาปู่ - เขาย่า และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า จนกว่าจะมีข้อตกลงชัดเจนร่วมกัน

 

กรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง จะมีการลงโทษทางวินัยอย่างเฉียบขาด

ทั้งนี้ นายไกรเพชร ปาณสมบูรณ์ จากสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 นครศรีธรรมราช ร่วมลงชื่อในบันทึกข้อตกลงเบื้องต้นนี้ด้วย

 

นี่คือ บทไหว้ครู ก่อนจะเข้าสู่การต่อสู้ครั้งใหม่ ของชาวบ้านแห่งเครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด กับเจ้าหน้าที่รัฐผู้กุมทิศทางการจัดการทรัพยากรป่าไม้

 

อันเป็นการต่อสู้บนเวทีการเจรจาต่อรอง ที่จะเริ่มยกแรกอย่างเป็นจริงเป็นจัง ในวันที่ 25 มกราคม 2550 นี้

 

สรุปสถานการณ์กรณีพิพาทอุทยานทับที่ดินทำกินเทือกเขาบรรทัด

 

วัน  เดือน  ปี

 

เหตุการณ์

พ.ศ. 2518

ราชการได้ประกาศเขตอนุรักษ์ทับที่ดินของชาวบ้านโดยประกาศเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัด

พ.ศ. 2525

การประกาศเขตอุทยานแห่งชาติเขาปู่เขาย่า

30 มิ.ย 2541

ออกมติครม. แนวทางการแก้ไขปัญหาป่าไม้  ตั้งแต่นั้นมาเจ้าหน้าที่รัฐก็ได้ข่มขู่คุกคาม  ขัดขวางการพัฒนาทำให้ได้รับความเดือดร้อนมาโดยตลอด

พ.ศ. 2543

มีการเคลื่อนไหวชุมนุมของชาวบ้านในพื้นที่ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลนายชวน หลีกภัย ลงมาแก้ไขปัญหาในพื้นที่  ทั้งนี้รัฐบาลนายชวนได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาหนึ่งชุด โดยมีแนวทางในการเดินแนวเขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์ให้พ้นจากพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน รวมทั้งได้ทำข้อตกลงและลงนามร่วมกันไว้

พ.ศ. 2544

ได้เข้าร่วมเคลื่อนไหวเรียกร้องร่วมกับสมัชชาคนจน  จนกระทั่งวันที่ 3 เม.ย 2544 รัฐบาลได้มีมติเห็นชอบให้ผ่อนผันราษฎรสมารถอยู่อาศัยทำกินได้ตามวิถีชีวิตปกติและพัฒนาสาธารณูปโภคในพื้นที่ได้ โดยไม่มีกรจับกุมคุกคามหรือโยกย้ายราษฎร  รวมทั้งมีการแต่งตั้งกรรมการแก้ไขปัญหาป่าไม้ภาคใต้ เพื่อทำงานพิสูจน์สิทธ์การครอบครองที่ดินโดยมีตัวแทนสมัชชาคนจนและตัวแทนรัฐในสัดส่วนที่เท่ากัน

พ.ศ. 2545

ได้มีการปฎิรูประบบราชการ โดยมีการโยกย้ายปัญหาป่าไม้ที่ดินของสมัชชาคนจน ไปอยู่ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ได้ส่งผลให้คณะกรรมการแก้ไขปัญหาป่าไม้ที่ดินถูกยกเลิกไป

เจ้าหน้าที่ป่าไม้ได้มีการจับกุมชาวบ้านในพื้นที่

พ.ศ. 2546

เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ได้เริ่มเดินแนวเขตป่าอนุรักษ์อีกครั้ง โดยมีการปักแนวเขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์เข้าไปในพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน ในบางพื้นที่ได้มีการล้อมรั้วลวดหนาม รวมทั้งมีการข่มขู่ คุกคาม  จับกุมชาวบ้านในพื้นที่

พ.ศ. 2547  - 2548

เจ้าหน้าที่ป่าไม้ยังคงจับกุม ข่มขู่ คุกคาม และห้ามไม่ให้ชาวบ้านในพื้นที่ตัดโค่นสวนยางและทำกินในพื้นที่ของตนเอง

ชาวบ้านในพื้นที่ได้รวมตัวกันชุมนุมเรียกร้องกันในพื้นที่ต่างๆ  หลายครั้ง  รวมทั้งมีการร่วมกันผลักดันพรบ.ป่าชุมชนฉบับประชาชน  แต่ในพื้นที่ก็ไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาแต่อย่างใด

พ.ศ. 2549 - ปัจจุบัน

เจ้าหน้าที่ป่าไม้ได้คุกคามชาวบ้านในพื้นที่หนักขึ้น โดยในบางพื้นที่ได้มีการทำลายทรัพย์สิน ตัดโค่นสวนยาง  และเผาบ้านเรือนของชาวบ้าน รวมทั้งมีการฟ้องร้องคดีแพ่งเรียกร้องค่าเสียหายจากชาวบ้าน

ชาวบ้านจึงได้มีการรวมตัวชุมนุมเรียกร้องระดับจังหวัดและระดับชาติแต่การข่มขู่คุกคาม จับกุม ในระดับพื้นที่ยังคงดำเนินอยู่ต่อไป

 

 

หมายเหตุ : อุทยานแห่งชาติเขาปู่ - เขาย่า มีพื้นที่ครอบคลุมจังหวัดตรัง นครศรีธรรมราช พัทลุง  รวมเนื้อที่ประมาณ 433,750 ไร่ หรือ 694 ตารางกิโลเมตร

 

 

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net