จักรชัย โฉมทองดี : แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับ TDRI กรณีเอฟทีเอ ไทย-ญี่ปุ่น

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

จักรชัย โฉมทองดี ขอใช้โอกาสที่ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ พาดพิงในบทความ "ตอบกลุ่มเอ็นจีโอเรื่องผลศึกษาเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA)" ซึ่งเผยแพร่ในเว็บไซด์ เอฟทีเอไดเจสท์ (FTA Digest) ของทางสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย และ "ประชาไท" เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

 

จักรชัย โฉมทองดี

โครงการศึกษาและปฏิบัติการงานพัฒนา (โฟกัส) และสมาชิกกลุ่ม FTA Watch

12 ม.ค. 2550

 

 

 

จากบทความ "ตอบกลุ่มเอ็นจีโอเรื่องผลศึกษาเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA)" ที่เผยแพร่ในเว็บไซด์ เอฟทีเอไดเจสท์ (FTA Digest) ของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เป็นที่น่ายินดีที่ขณะนี้มีหลายส่วนของสังคมเห็นพ้องกันชัดเจนว่า กระบวนการเจรจาและจัดทำพันธกรณีระหว่างประเทศของไทย (ซึ่งอาจรวมถึงนโยบายสาธารณะจำนวนมากด้วย) ยังบกพร่องด้าน งความโปร่งใส' และ 'การมีส่วนร่วมจากประชาชน' นอกจากนี้ ยังมีความเห็นร่วมกันอีกว่า จำเป็นที่จะต้องมีกฎหมายเพื่อกำกับกระบวนการเหล่านี้ให้มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น

 

 

ในด้านเนื้อหาหรือสารัตถะของความตกลงนั้น ก็น่ายินดีเช่นกันที่มีความคิดเห็นแลกเปลี่ยนกันในพื้นที่สาธารณะมากขึ้น โดยในบทความข้างต้น ทาง TDRI ได้ชี้แจงตอบประเด็นการแถลงข่าวของภาคประชาชนในหลายข้อ ซึ่งผมจะขอให้ข้อมูลและความคิดเห็นเพื่อความกระจ่างมากขึ้นกับกรณีที่ผมได้แถลงไปแล้ว แต่ยังมีความเห็นต่างกันอยู่

 

 

มาตรการที่เน้นปริมาณนำเข้า ไม่คำนึงถึงปัจจัยราคา 

 

การที่มาตรการปกป้องสองฝ่ายใน JTEPA นั้น มีการใช้ระดับปริมาณการนำเข้าเป็นตัวกำหนดโดยไม่คำนึงถึงปัจจัยด้านราคา อาจทำให้มีปัญหาตามมาได้ เนื่องจากในหลายกรณี การนำเข้าในปริมาณไม่มากอาจส่งผลดึงราคาภายในให้ตกลงจนก่อความเสียหายต่อผู้ผลิตได้

 

นอกจากนี้ แน่นอนว่าราคาภายในที่ตกต่ำลงของสินค้า ย่อมสามารถเกิดจากสาเหตุอื่นนอกเหนือจากผลของความตกลงทางการค้านั้นๆ แต่ประเด็นอยู่ที่ว่า รัฐบาลยังควรคงความสามารถที่จะปกป้องผู้ผลิตภายในได้หรือไม่ เช่น เมื่อลงนาม FTA ไปแล้ว หากเกษตรกรไทยเดือดร้อนจากราคาผลผลิตตกต่ำด้วยสาเหตุด้านดินฟ้าอากาศ รัฐบาลจะไม่สามารถใช้มาตรการทางภาษีในการปกป้องเกษตรกรไม่ให้ถูกซ้ำเติมจากสินค้านำเข้าได้

 

สรุปคือ ถึงปัญหาไม่ได้เกิดจาก FTA หนึ่ง แต่การลงนาม FTA นั้น จะลดความสามารถของรัฐบาลไทยในการบรรเทาปัญหา ไม่ว่าปัญหานั้นจะเกิดจากสาเหตุใดก็ตาม

 

ตัวอย่างของสินค้าเกษตรอาจไม่ชัดเจนกับกรณีของ JTEPA นัก แต่น่าจะเป็นบรรทัดฐานให้กับประเทศไทยในการวางท่าทีต่อไปกับสินค้าอื่นๆ หรือการเจรจาในอนาคต ดังนั้นสิ่งที่ควรพิจารณาคือ การมีมาตรการปกป้องที่สามารถใช้ได้ทั้งปริมาณและระดับราคาเป็นตัวกำหนด แต่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีกระบวนการที่เปิดเผย โปร่งใส และชัดเจน ในการชี้วัดผลกระทบและปัญหาที่เกิดขึ้นจริง อันจะนำไปสู่การใช้มาตรการดังกล่าวของทั้งสองฝ่าย เพื่อป้องกันความไม่เป็นธรรมกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกในประเทศคู่ภาคี

 

การเน้นการใช้มาตรการนี้ มิได้เป็นการให้ความสำคัญกับผู้ผลิตเหนือผู้บริโภค แต่เป็นการมองเสถียรภาพและประโยชน์ในภาพรวม ผู้ผลิตก็เป็นผู้บริโภค และผู้บริโภคจำนวนมากก็เป็นผู้ผลิต

 

ที่ผ่านมาในอดีต บ่อยครั้งเหลือเกินที่เมื่อผู้นำเข้าสินค้าสามารถนำเข้าในราคาถูกลง แต่ผู้บริโภคกลับไม่สามารถซื้อสินค้านั้นๆ ได้ในราคาที่ถูกลง รวมถึงในระยะยาว สินค้าที่ราคาถูกลงจริงจากการเปิดเสรี ระดับราคาอาจมีการผันผวนได้จากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นอัตราแลกเปลี่ยนหรืออิทธิพลเหนือตลาดเป็นต้น

 

จุดนี้เอง เป็นความสุ่มเสียงด้านสวัสดิการของผู้บริโภคที่อาจเกิดขึ้นจากการพึ่งพิงการนำเข้ามากเกินไป การคุ้มครองการผลิตภายในอย่างเหมาะสม จึงเป็นประโยชน์กับผู้บริโภคเช่นกัน

 

อย่างไรก็ตาม การมีระดับราคาภายในที่ไม่เหมาะสม อาจเกิดจากอำนาจเหนือตลาดหรือปัจจัยภายในอื่นๆ ได้ ซึ่งควรมีกฎหมายและกลไกในการดูควบคุมเช่นกัน เป้าหมายของรัฐบาลจึงควรสร้างสมดุลระหว่างการผลิต การนำเข้า กับการบริโภคภายใน ซึ่งมาตรการปกป้องที่รัดกุมจะสามารถช่วยได้

 

 

มาตรการปกป้องฉุกเฉิน หรือ ESM

เรื่องของมาตรการปกป้องฉุกเฉิน หรือ ESM ในหัวข้อการค้าบริการนั้น การที่ผู้เจรจาฝ่ายไทยไม่สามารถให้มีการตกลงในเรื่องนี้เกิดขึ้น ทั้งที่เป็นท่าทีของไทยในองค์การการค้าโลก (WTO) ย่อมก่อให้เกิดความเสียหายต่อจุดยืนของไทยและพันธมิตรในการเจรจาระดับพหุภาคีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

แม้ว่าจะเปิดให้เจรจาเรื่องนี้หกเดือนหลังจาก JEPTA มีผลบังคับใช้ แต่นั่นมีความแตกต่างอย่างมากกับการที่มีผลผูกพันอยู่ในความตกลงรอบแรก เนื่องจากรัฐบาลไทยต้องนำประเด็นอื่นๆ ไปแลกเพิ่มเติมอีกเพื่อให้ได้ความตกลงในส่วนนี้ ซึ่งอาจหมายถึงการที่ไทยต้องเปิดให้ญี่ปุ่น เกินกว่าที่กฎหมายภายในประเทศกำหนดในปัจจุบัน

 

หากเป็นเช่นนั้นก็ต้องตามดูว่า มาตรการปกป้องที่(หาก)ได้มา เมื่อเทียบเคียงกับเงื่อนไขการเปิดเสรีที่เพิ่มแล้วมีความสมดุลหรือไม่

 

แต่สิ่งที่ควรคำนึงถึงเป็นอย่างยิ่งคือ แม้จะไม่ได้มีข้อตกลงเกินไปกว่าที่กฎหมายในปัจจุบันกำหนด แต่การลงนามเช่นนี้ จะมีผลในการจำกัดความสามารถในการปรับเปลี่ยนหรือออกกฎหมายใหม่ในอนาคตของไทย

 

 

มาตรฐานสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช SPS

ในการหยิบยกเรื่องมาตรฐานสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช SPS ขึ้นมานำเสนอ มีเป้าประสงค์สองข้อสำคัญคือ

 

หนึ่ง ชี้ว่าการยกตัวอย่างผลประโยชน์จากการลดภาษีสินค้าเกษตรโดยไม่พูดถึงข้อจำกัดอันเกิดจาก SPS เป็นการให้ข้อมูลที่ขาดความครบถ้วนซึ่งมักปรากฏอยู่เสมอ

 

สอง จุดยืนที่ผมนำเสนอมาโดยตลอดคือ ในความตกลงระหว่างไทยกับญี่ปุ่น หากทางญี่ปุ่นสามารถพิสูจน์ให้เรายอมรับได้ว่า การนำเข้าสินค้าเกษตรใด จะก่อให้เกิดความเสียหายกับเกษตรกรและความมั่นคงทางอาหาร เราก็ควรจะให้เกียรติเขา แต่สินค้าใดที่ญี่ปุ่นต้องนำเข้าจากประเทศอื่นอยู่แล้ว ก็ควรให้สิทธิ์กับสินค้าไทยเป็นพิเศษ

 

โดยสิทธิพิเศษทางภาษีนั้น ควรเป็นไปเพื่อส่งเสริมการค้าที่เป็นธรรม การผลิตที่ยั่งยืน และไม่สลายความเข้มแข็งของชุมชนชนบทในทั้งสองประเทศ โดยที่เรื่อง SPS ไม่ควรนำมาใช้ในลักษณะกีดกัน ซึ่งเป็นการเบี่ยงเบนจากวัตถุประสงค์จริงที่มีไว้เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม

 

การเจรจาในเรื่องนี้ จึงไม่ควรมุ่งแต่การลดมาตรฐานของเขา แต่ควรปรับและพัฒนามาตรฐานที่มีการยอมรับร่วมกัน มีการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์รองรับ และมีความคงเส้นคงวาในการบังคับใช้

 

สรุปคือ มาตรการเพื่อความมั่นคงทางอาหารของญี่ปุ่น ควรจะชัดเจน โปร่งใส และไม่นำ SPS เข้ามาปะปน

 

ดังนี้แล้วจะเห็นว่า การมีความผูกมัดเรื่อง SPS ที่เหมาะสมชัดเจน นอกจากจะส่งผลดีต่อไทยแล้ว จะยังไม่คุกคามวิถีชีวิตของเกษตรกรญี่ปุ่น

 

 

ศึกษาให้ถ้วน ทั้งผลเฉพาะหน้า และผลระยะยาว

ประเด็นสิ่งทอที่ได้นำเสนอไปนั้น ชี้ว่าควรจะมีการศึกษาผลที่สินค้าจากจีนจะเข้าถึงตลาดโลกได้มากขึ้นด้วย เนื่องจากผลประโยชน์ที่ผู้ส่งออกไทยได้รับจากการลดภาษีนำเข้าของญี่ปุ่นภายใต้ JTEPA และกับประเทศต่างๆ ในความตกลงอื่นๆ อาจมีอายุสั้นเพียงไม่กี่ปี ทำให้ผู้ประกอบการไทยไม่สามารถรักษาปริมาณการผลิตหรือรูปแบบการผลิตที่เป็นอยู่ได้ต่อไป

 

การคำนึงถึงปัจจัยจากประเทศจีนนี้ จะทำให้เราเห็นประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะตกกับใคร ได้ชัดเจนยิ่งขึ้นทั้งด้านปริมาณและระยะเวลา

 

ประเด็นต่อมาคือใครเป็นผู้เสียประโยชน์หากส่งออกได้น้อยลง ก็ค่อนข้างแน่นอนว่า กลุ่มผู้ใช้แรงงานมีแนวโน้มที่จะต้องเป็นผู้แบกรับภาระนั้นมากกว่าผู้ประกอบกิจการหรือผู้ส่งออก เนื่องจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองที่เป็นอยู่ ไม่ได้เอื้อให้คนกลุ่มใหญ่นี้มีอำนาจต่อรองเพียงพอได้

 

แต่คำถามที่น่าสนใจคือ ถ้าทำ FTA แล้ว แรงงานจะได้ประโยชน์ตามที่กล่าวอ้างจริงหรือ กลไกตลาดในไทยหรือที่อื่นๆ ทรงประสิทธิภาพในการจัดสรรผลประโยชน์อย่างที่เราถูกทำให้เชื่อเสมอไปหรือไม่

 

ในกรณีนี้ คำถามที่ผมถามคือ แม้ว่าในปัจจุบัน ประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศจะยังคงหาทางกีดกันสิ่งทอจากจีนต่อไปภายหลังการสิ้นสุดลงของ "ข้อตกลงเส้นใยระหว่างประเทศ" (MFA) แต่หากจีนสามารถระบายสินค้าสิ่งทอราคาต่ำออกสู่ตลาดโลกอย่างที่เกรงกันได้จริง ในอนาคตอันใกล้ สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ได้จาก FTA อาจไม่เพียงพอที่จะชดเชย จนก่อให้เกิดความสามารถในการแข่งขันด้านราคาได้ ส่งผลให้ผู้ผลิตไทยอาจเปลี่ยนลักษณะการจ้างงาน ไปสู่แรงงานต่างด้าว หรือไปตั้งโรงงานในประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้นเพื่อลดต้นทุน ซึ่งจะทำให้แรงงานไทยประสบปัญหาอยู่ดี

 

รวมทั้งถ้าแนวโน้มนี้เกิดขึ้นจริง แรงงานต่างด้าวหรือแรงงานในประเทศเพื่อนบ้าน น่าที่จะถูกจ้างในเงื่อนไขที่มาตรฐานความคุ้มครองอยู่ในระดับต่ำมาก นำมาสู่สถานการณ์ที่เรียกว่า แรงงานไทยถูกเลิกจ้างขณะที่แรงงานต่างชาติถูกขูดรีด (แนวโน้มนี้อาจกำลังเกิดขึ้นอยู่แล้วแม้ไม่มี FTA แต่หากเป็นเช่นนั้นจริงประโยชน์จาก FTA กับแรงงานก็คงไม่เกิดตามที่กล่าวอ้าง อีกทั้ง FTA จะยิ่งทำให้ไทยแก้ไขปัญหาไม่ถูกจุด) อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่การสรุปสุดท้าย แต่เป็นข้อสังเกตที่มุ่งหวังให้มีการศึกษาเพิ่มเติม

 

 

ได้ดุลจริงหรือ เสถียรภาพศก.เกิดจริงไหม?

เรื่องดุลการค้า แม้จะไม่ใช่ประเด็นที่สำคัญที่สุดต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชากร แต่เป็นประเด็นที่รัฐบาลที่ผ่านมาให้ความสำคัญและมักจะหยิบยกขึ้นมากล่าวอ้างเป็นสาเหตุความจำเป็นในการทำ FTA

 

นอกจากนี้คณะเจรจา JTEPA ของไทย พยายามชี้แจงให้มองในภาพรวมว่า การขาดดุลกับญี่ปุ่นที่จะเพิ่มขึ้นจากความตกลงนี้ อาจทำให้ไทยได้ดุลกับประเทศอื่นๆ ตามมา

 

ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งกับการมองในภาพรวม แต่ได้พยายามชี้ให้เห็นว่า การเร่งเปิดเสรีอาจไม่ได้นำมาซึ่งการได้ดุลในภาพรวมเสมอไป

 

ข้อสังเกตก็คือ ไทยเป็นประเทศที่ระบบเศรษฐกิจพึ่งพิงการนำเข้าและส่งออกอยู่มาก และได้เปิดเสรีเพิ่มขึ้นมาเป็นลำดับ แต่แนวทางเช่นนี้ก็ไม่ได้ช่วยให้ไทยหลุดพ้นจากภาวการณ์ขาดดุลการค้าที่ต่อเนื่องยาวนานนับสิบปีจนถึงวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 หลังจากวิกฤตเศรษฐกิจ เราก็เห็นว่าภาวการณ์ได้ดุลนั้น หดแคบลงอีกจนขาดดุลในที่สุด

 

คำถามที่ต้องถามคือว่า หากแนวทางโดยรวมของประเทศยังเป็นไปเช่นนี้อย่างต่อเนื่อง เสถียรภาพของเศรษฐกิจไทยจะเป็นอย่างไร

 

คงต้องกล่าวย้ำอีกครั้งว่า การแลกเปลี่ยนและถกเถียงในเนื้อหาของความตกลงนั้น เป็นสิ่งจำเป็น แต่ยังคงดำเนินไปด้วยความจำกัด หากกระบวนการเจรจายังเป็นที่รู้กันในวงคนเฉพาะกลุ่มเท่านั้น ผมจำเป็นต้องยืนยันสิทธิ์ที่ประชาชนทั่วไปจะสามารถรับรู้ร่างการเจรจาเพื่อร่วมแสดงความคิดเห็นและตัดสินใจ ไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม การมีกฎหมายกำกับการเจรจาการค้า หรือการสร้างพันธกรณีระหว่างประเทศ เป็นสิ่งทีขาดไม่ได้

 

 

เฝ้าหวังการเจรจาที่โปร่งใส มีส่วนร่วม เป็นประชาธิปไตย

กลุ่ม FTA Watch ในฐานะเครือข่ายภาคประชาสังคม จึงได้เป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันหลักการนี้มาอย่างต่อเนื่อง โดยได้จัดรับฟังความคิดเห็นจากเครือข่ายประชาชนต่างๆ รวมถึงนักวิชาการ และเมื่อได้ข้อสรุปหลักการ ก็ได้พยายามนำเสนอต่อสื่อมวลชนและสาธารณะ ซึ่งเป็นบทบาทของภาคประชาสังคมในการร่วมสร้างความเข้มแข็งกับการเมืองภาคพลเมือง รวมทั้งยังพยายามหาหนทางให้มีนักกฎหมายที่มีความเชี่ยวชาญ ได้ยกร่างกฎหมายโดยคำนึงถึงข้อเสนอของเครือข่ายประชาชนต่างๆ

 

อย่างไรก็ตาม ภาคส่วนต่างๆ ของสังคมนั้น มีงบประมาณ มีความชำนาญ และที่สำคัญมีบทบาทที่แตกต่างกันไป จึงไม่จำเป็นว่า จะต้องรอให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมีบทบาทนำในทุกเรื่องหรือทุกขั้นตอน สำคัญที่ภาคส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ องค์กรเอกชน ภาคประชาชน รวมถึงหน่วยงานรัฐที่มีเป้าหมายคล้ายคลึงกัน จักสามารถร่วมไม้ร่วมมือในการสรรสร้างความก้าวหน้าได้

 

น่ายินดีที่ทราบว่าทาง TDRI และทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีงบประมาณและบุคลากรที่จะดำเนินการในเรื่องนี้ ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี และทาง FTA Watch ไม่เพียงยินดีแต่จะพยายามเข้าร่วมกับทุกกระบวนการที่มีเป้าหมายเพื่อให้ได้มาซึ่งกฎหมายการเจรจาฯ ที่มีความโปร่งใส มีส่วนร่วมจากประชาชนและมีความเป็นประชาธิปไตย ด้วยความเชื่อที่ว่า การค้าการลงทุนที่เหมาะสม จะยังประโยชน์อย่างยิ่งกับเศรษฐกิจและสังคมไทย รวมทั้งข้อตกลงทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่ดี สามารถนำไปสู่การเสริมสร้างความเสมอภาคและความยั่งยืนได้

 

สุดท้าย ต้องชี้แจงว่า FTA Watch ไม่ได้อ้างสิทธิ์เป็นตัวแทนของประชาชน แต่เป็นเพียงกลุ่มคนที่สนใจติดตามและห่วงใยในประเด็นการค้าเสรี จึงได้พยายามผลักดันการเจรจาให้เป็นที่รับรู้ในสังคม และเปิดพื้นที่ให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมเท่าที่จะทำได้

 

 

 

เรื่องประกอบ

สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ (ฉบับเต็ม) : ตอบกลุ่มเอ็นจีโอเรื่องผลศึกษาเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท