19 กันยาฯ นัดเดินขบวนสนามหลวง-กองทัพบก ครบรอบ 4 เดือนรัฐประหาร

ประชาไท - 17 ม.ค.50 เครือข่าย 19 กันยาต้านรัฐประหาร เปิดแถลงข่าว ณ ห้องเพทาย โรงแรมรอยัลรัตนโกสินทร์ นัดชุมนุมและเดินขบวนจากสนามหลวงไปยังกองทัพบก ในวันอาทิตย์ที่ 21 ม.ค.50 นี้

 

น.ส.ชนกาญจน์ พันธุ์เดิมวงศ์ ผู้ประสานงานเครือข่าย 19 กันยาฯ อ่านแถลงการณ์ 'ชุมนุมต้านเผด็จการทหารและระเบิดการเมือง : เผด็จการทหารต้องออกไป! เลือกตั้งทันที' ความว่า เป็นเวลาเกือบ 4 เดือนที่ประเทศไทยต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจการปกครองที่ไม่ชอบธรรมของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) รัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง สภาร่างทรง เผด็จการ และสภาร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นตรายางให้กับเผด็จการ

 

หลังการรัฐประหาร 19 ก.ย.49 คณะเผด็จการทหาร-ตำรวจ ได้ฉีกรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ล้มระบอบประชาธิปไตยทำลายหลักการที่สำคัญที่สุดของประชาธิปไตยที่ว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน นอกจากนี้ภายใต้การบริหารประเทศของรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ได้สะท้อนให้เห็นถึงความอ่อนแอและไร้ประสิทธิภาพอย่างเห็นได้ชัด ในกรณีของการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจที่ผิดพลาด และเหตุระเบิดกลางเมืองที่เห็นว่ารัฐบาลไม่สามารถรับผิดชอบปกป้องชีวิตและความปลอดภัยให้ประชาชนได้ และมีแนวโน้มจะฉวยโอกาสจากสภาวะไม่ปกติของสถานการณ์ปัจจุบันยืดอายุการครองอำนาจ

 

ทางเครือข่ายเห็นว่า ทางออกในการแก้วิฤตการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันมีทางออกเดียวคือ จัดให้มีการเลือกตั้งทันที เนื่องจากสาเหตุของปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาจากคณะเผด็จการณ์ทหาร-ตำรวจนั่นเอง ทางเครือข่ายจึงขอเชิญชวนร่วมชุมนุมและเดินขบวนไปยังหน้ากองทัพบกในวันที่ 21 ม.ค. เพื่อต้านทหารและระเบิดการเมือง และแสดงออกถึงเจตนารมณ์ของประชาชนที่ต้องการให้มีการเลือกตั้งทันทีเพื่อยุติปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น โดยจะเริ่มเปิดเวทีปราศรัยเวลา 16.00 น.ที่สนามหลวง และเริ่มตั้งขบวนเวลา 18.00 น.จากนั้นจะเดินไปตามถนนราชดำเนิน ผ่านอนุสาวรีย์ระชาธิปไตยไปจนถึงหน้ากองทัพบก

 

นอกจากนี้ นายสมบัติ บุญงามอนงค์ ผู้ประสานงานเครือข่าย 19 กันยาฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในวันที่ 19 ม.ค. จะมีกิจกรรมรณรงค์บริเวณอาคารซีพี ทาวเวอร์ ถนนสีลม ทั้งการแจกใบปลิวและปราศรัยในประเด็นปัญหาทางเศรษฐกิจ

 

"เป็นการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ที่ขยายจากสนามหลวงสู่พื้นที่ทางเศรษฐกิจ คือถนนสีลม"

 

นายสมบัติกล่าวอีกว่า 4 เดือนที่ผ่านมาหลังการรัฐประหาร พบว่านโยบายทางเศรษฐกิจได้สร้างผลเสียต่อสังคมอย่างใหญ่หลวงจึงจะนำข้อมูลไปเผยแพร่ต่อประชาชนย่านถนนสีลม จะมีการแจกเอกสารเวลา 11.00 -13.00 น. และจะมีการปราศรัยตีแผ่ความผิดพลาดทางเศรษฐกิจว่าเกิดอะไรขึ้นภายใต้การบริหารของรัฐบาลเวลา 16.30 - 19.30 น.

 

"มาตรการการเงินสำรอง 30 %จากผู้ลงทุนในตลาดหุ้นแล้วพลิกกลับเพียงชั่วข้ามคืน รวมถึงล่าสุดเกี่ยวกับการแก้ไข พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ซึ่งทั้งสองส่วนนี้ส่งผลให้นักธุรกิจต่างชาติเมินการเข้ามาลงทุนในประเทศ และทุนต่างชาติที่จะเข้ามาหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจไทยหดหายไปอย่างน่าเสียดาย เป็นความหวาดกลัวทุนต่างชาติของกลุ่มทุนเก่าจนเกินขนาด ขณะที่สถานการณ์ของโลกยังคงต้องการการแข่งขันและการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ซึ่งกันและกันตลอดเวลา นอกจากนี้ยังจะชี้ให้เห็นว่า การดำเนินนโยบายต่างๆ เป็นไปอย่างขาดวิสัยทัศน์ มีการจัดทำนโยบายขาดดุลเป็นจำนวน 1,400,000 ล้านบาท การขาดดุลงบประมาณนี้ กลับย้อนยุคไปสู่การใช้งบประมาณที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ เช่น การซื้ออาวุธโดยไม่ผ่านกระบวนการประชาธิปไตย" นายสมบัติกล่าว

 

นายสมบัติยังได้ประณามการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจที่ไม่เป็นมืออาชีพแบบนี้ และให้รับผิดชอบด้วยการลาออก

 

ในการแถลงข่าว นายสมบัติปฏิเสธข้อกล่าวหาของนายธนาภัทร ณ นคร หรือ "เตมูจิน" ที่ออกมาระบุว่า เครือข่าย 19 กันยาฯ รับเงินมาเคลื่อนไหว 200 ล้านบาท และให้จับตาเตมูจินในการเคลื่อนไหวที่ผ่านมาว่า มีความพยายามจ้องทำลายกระบวนการทุกกระบวนการที่ต่อต้านคมช. จึงขอเรียกว่า 'เตมูจิน เลือดทหาร' โดยให้สังเกตการเคลื่อนไหวของเตมูจินตั้งแต่การพยายามมีบทบาทนำในการชุมนุม โดยบอกว่าจะมีคนมาชุมนุมจำนวนมาก การพบผู้นำคมช. การยกเลิกการชุมนุมกระทันหัน การดิสเครดิตกลุ่มคนวันเสาร์ และสุดท้ายคือการดิสเครดิตเครือข่าย 19 กันยาฯ และสมาพันธ์ประชาธิปไตย

 

ด้านนายสุวิทย์ เลิศไกรเมธี ผู้ประสานงานเครือข่าย 19 กันยาฯ กล่าวว่า ไฮไลท์การชุมนุมหน้ากองทัพบกคือ 'ฌาปนกิจ คมช. เผาเรียงตัว' ไม่ได้หมายความว่ากำลังสู้กับกองทัพ แต่กำลังสู้กับ Elite (ชนชั้นนำ) ในกองทัพและระบบโครงสร้างบางอย่างของการเมืองและกองทัพไทย

 

การไปกองทัพบกเป็นการยืนยันว่า พยายามทำให้กองทัพกลับมาเป็นของประชาชนให้ได้ ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาก็ไม่เคยเป็น เพราะก่อนหน้า 19 ก.ย. ผู้นำกองทัพทั้งหลายก็ไปเดินเร่ขายการปฏิวัติด้วยการไปต่อรองกับนายธนาคารบางคนเพื่อนำเศษเงินไม่กี่ร้อยล้านบาทมาปฏิวัติในครั้งนี้ แสดงว่าผู้นำเหล่าทัพไม่เคยเห็นกองทัพเป็นของประชาชนแต่เห็นกองทัพเหมือนสมบัติส่วนตัวอีกอย่างหนึ่ง

 

อีกตัวอย่างหนึ่ง กองทัพไทยมีกลุ่มอำนาจมากมายหลายกลุ่ม และต้องขึ้นกับกลุ่มอำนาจนี้มากบ้างน้อยบ้าง ยกตัวอย่างได้ว่า เวลามีการโยกย้ายนายทหารระดับสูง ในกองทัพจะต้องวิ่งไปหาองคมนตรี นี่เป็นตัวอย่างของอำนาจนอกระบบซึ่งเข้ามีบทบาทในการชี้นำกองทัพ

 

นายสุวิทย์ยังกล่าวอีกว่า แค่เสนอให้ทหารกลับเข้ากรมกองและมีการเลือกตั้งนั้นไม่พอ ต้องพูดไปถึงปัญหาที่เป็นใจกลางจริงๆ คือ ความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพกับการเมือง และกองทัพกับประชาชน

 

ประสบการณ์ในประวัติศาสตร์หลัง 14 ตุลา 2516 กองทัพพ่ายแพ้ต่อการลุกฮือของประชาชน แต่ในแง่ตัวโครงสร้างอำนาจส่วนบนนั้นไม่ได้เปลี่ยนแปลงมาก แค่เปลี่ยนหัวและกลุ่มอำนาจใหม่เข้าไปแทนประชาชนก็ถูกโต้กลับด้วยการยึดอำนาจในวันที่ 6 ตุลา 2519 ตามด้วยการยึดอำนาจปี 2520 แต่ผลพวงจาก 14 ตุลาฯ นั้นทำให้อุดมการณ์ประชาธิปไตยได้กลับมามีชัยชนะในระดับจิตสำนึก ทำให้หลังการยึดอำนาจ 2520 เพียง 1 ปีจึงต้องจัดให้มีการเลือกตั้ง

 

"ผู้นำเหล่าทัพในยุคนั้นคงรู้ดีว่าคงไม่สามารถที่จะทานกระแส จึงจัดการเลือกตั้ง และยอมให้มีประชาธิปไตยครึ่งใบเป็นเวลาประมาณ 10 กว่าปี"

 

นายสุวิทย์อธิบายต่อว่า แม้ช่วงนี้ประชาธิปไตยจะก้าวหน้าขึ้นแต่ไม่ได้หมายความว่าทหารจะกลับเข้ากรมกองอย่างสิ้นเชิง เป็นช่วงเวลาที่สังคมไทยเสียโอกาสที่จะพูดกันเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพกับการเมืองและประชาชนควรจะอยู่ในจุดใด จึงตามมาด้วยการยึดอำนาจอีกครั้งในปี 2534 จนถึงปี 2535 ก็เกิดการนองเลือดอีกครั้งที่ทหารฆ่าประชาชน และกลับเข้ากรมกองไป แต่ก็ยังไม่เคยพูดเรื่องบทบาทของทหารควรเป็นอย่างไร แม้แต่รัฐธรรมนูญ 2540 ก็พูดถึงเรื่องนี้น้อยมาก จนถึงมาเกิด 19 ก.ย. 49 จึงเป็นปัญหาตกค้างทางประวัติศาสตร์

 

"ครั้งนี้เราจึงไล่ทหารอย่างเดียวไม่พอ ไล่แล้วจัดการเลือกตั้ง ก็ต้องมาพูดกันต่อว่าจะเอาอย่างไรกับทหาร ในหลักการขอเสนอว่า ต้องทำให้กองทัพอ่อนแอทางการเมือง แต่เข้มแข็งทางการทหาร หมายความว่าต้องทำให้กองทัพหมดศักยภาพในการเข้าสู่อำนาจการเมืองโดยเด็ดขาด" นายสุวิทย์ กล่าว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท