Skip to main content
sharethis


สุริยันต์ ทองหนูเอียด

ผู้ปฏิบัติงานภาคสนามกลุ่มเพื่อนประชาชน


 


 


ความมะงุมมะงาหราของอำนาจรัฐไทย หลังเหตุการณ์ 19 กันยายน 2549 ย่อมสะท้อนถึงผีมือความสามารถ คุณภาพ ความเด็ดขาด และผลงานของคณะรัฐประหารหลงยุคชุดนี้ได้อย่างชัดเจน


 


และทันทีเปิดศักราชใหม่ 2550 กับการก่อวินาศกรรม 8 จุดในกรุงเทพฯ พบว่า พวกเขา (รัฐบาลและคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ หรือ คมช.) ตอบโต้และรับมือช้ามาก ซ้ำยังใช้โอกาสอย่างสิ้นเปลือง ทั้งยังเป็นที่แปลกใจเป็นอย่างยิ่งที่คืนวันที่ 2 มกราคม 2550 รายการสด "กรองสถานการณ์" ทางโทรทัศน์ช่อง 11 กลับเชิญแค่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา มากล่าวแค่ผลกระทบปลายเหตุที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ขณะที่สื่อเสรีอื่นๆ ยิ่งรายงานความไร้สภาพในการรับมือของต่อเหตุวินาศกรรม


 


นี่คือ ความหลงยุคของรัฐชนิดเก่า ซึ่งรัฐบาลที่มาจากอำนาจแบบเก่า รัฐของทหารที่ใช้อำนาจแบบเดิมๆ ย่อมเป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่า ไม่สามารถรับมือกับสถานการณ์ของโลกยุคโลกาภิวัฒน์ได้


 


และยังกล่าวได้ว่า นี่คือมรณกรรมของระบบราชการที่เฉื่อยชา ล้าหลัง รอให้ผู้มีอำนาจนักการเมืองสั่งการจูงจมูก บนโครงสร้างของระบอบอุปถัมภ์ เล่นพรรคเล่นพวก รุ่นพี่รุ่นน้องอันเหนียวแน่น ซึ่งสุดท้ายอำนาจรัฐที่มาจากปลายกระบอกปืน ก็ไม่กล้าผ่าตัด ทำได้แค่เพียงลูบหน้าปะจมูกแค่นั้นเอง


           


ขณะที่สังคมไทยได้ปรากฏความขัดแย้งชนิดใหม่ขึ้นอย่างแจ่มชัด ความขัดแย้งชนิดนี้ คือการสวนทางระหว่างรัฐประชาธิปไตยที่อ้างเสียงข้างมาก ว่ามาจากการเลือกตั้ง แต่ใช้อำนาจอธิปไตยอันเป็นของปวงชนละเมิดสิทธิเข่นฆ่าประชาชน แทรกแซงองค์กรอิสระ และคอรัปชั่นอย่างมโหฬาร และถูกรัฐประหารลง ด้วยเหตุผล 4 ประการ โดยกองกำลังและอาวุธของกองทัพ


 


ขณะที่รัฐบาลที่มาจากปลายกระบอกปืน กลับถูกวินาศกรรมความมั่นคงด้วยการวางระเบิดเสียเอง


 


งานวิจัย ชุด "รัฐ-ชาติ กับ (ความไร้) ระเบียบรัฐโลกชุดใหม่ ของ ดร.ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร ได้สรุปผลกระทบของสภาวการณ์ของโลก ยุคหลังสงครามเย็นเกี่ยวกับรัฐบาลกับการบริหารจัดการ ไว้ว่า "ความคิดเกี่ยวกับการบริหารจัดการภาคสาธารณะในปัจจุบัน เกิดการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก นั่นคือ ในโลกยุคหลังสงครามเย็น เรามีความจำเป็นต้องแยกความแตกต่างระหว่างสิ่งที่เรียกว่า "รัฐบาล" (Government) กับ "การบริหารจัดการ" (Governance)


 


รัฐบาล คือรูปแบบของการจัดการภาคสาธารณะที่วางอยู่บนฐานของอาณาเขต พื้นที่ของประเทศตามความคิด เรื่อง อำนาจอธิปไตยเหนือเขตแดนของรัฐ ในแบบของสนธิสัญญาสันติภาพเวสพาเลีย ปี ค.ศ.1648 รัฐบาล คือรูปแบบการบริหารจัดการของรัฐ-ชาติ สมัยใหม่ที่เน้นความมั่นคงทางการเมืองภายใน และความปลอดภัยจากภัยคุกคามภายนอกประเทศ


 


ส่วนการบริหารจัดการมีสองความหมายใหญ่ๆ ด้วยกัน ความหมายแรก หมายถึง การบริหารจัดการภาคสาธารณะโดยนำความคิด ตัวแบบและวิธีการบริหารจัดการของภาคเอกชนมาใช้


 


ความหมายที่สองของการบริหารจัดการ ได้แก่ความคิดเรื่องการบริหารจัดการแบบกว้างๆ ที่ไปไกลกว่าอาณาเขตของรัฐ-ชาติเป็นเรื่องของการจัดระเบียบส่วนร่วมตั้งแต่ระดับชุมชนจนถึงระดับโลก


 


ความหมายที่สองของการบริหารจัดการนี้ยังรวมถึงการบริหารจัดการในรูปของเครือข่ายที่ทำงานบนฐานความไว้วางใจ การร่วมมือประสานงานและการปรับตัวมากกว่า การสังการตามกฎหมายอย่างการบริหารจัดการของรัฐบาล การจัดลำดับขั้นสูงต่ำแบบระบบราชการ หรือการต่อสู้แข่งขันตามความคิดเรื่องกลไกตลาดในโลกภาษาอังกฤษ คำว่า Governance จะสื่อความหมายถึงสิ่งใหม่ๆ เหล่านี้ แต่เมื่อแปลเป็นภาษาไทยว่า "การบริหารจัดการ" แล้ว ความใหม่ต่างๆ ก็แทบจะมองไม่เห็น นอกจากเป็นการนำเอาวิธีการบริหารของภาคธุรกิจเอกชนมาใช้กับภาครัฐบาลเท่านั้น ความคิดเรื่องการบริหารจัดการข้างต้นนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับการบริหารจัดการภาคสาธารณะในโลกยุคหลังสงครามเย็นที่สำคัญ 2 ประการได้แก่


 


(1) ความคิดเรื่องการบริหารจัดการระดับโลก และ(2) ความคิดเรื่องประชาคมโลก การบริหารจัดการระดับโลก เป็นคนละเรื่องกับรัฐบาลโลก แต่เป็นการประสานความร่วมมือของประชาคมโลก เพื่อการแก้ไขปัญหาที่ตัดข้ามเส้นแบ่งสังคม และเส้นแบ่งรัฐ-ชาติ จนก่อเกิดเป็นสิ่งที่เรียกว่า "ประชาคมโลก" ขึ้นมา…"


 


นั่นคือ สิ่งที่เราพบว่า หลังจาก 19 กันยายน การผ่องถ่ายอำนาจจากส่วนบนที่อยู่ในมือของ คมช. และพวกพ้อง ซึ่งพวกเขาเองก็ยังแยกไม่ออก อะไรคือความเป็นรัฐบาล และ อะไรคือการบริหารจัดการ


 


การแต่งตั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ปปช.),ผู้ว่าการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.),คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ(คตส.),สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.),คณะรัฐมนตรีหรือกระทั่งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.) ซึ่งคลาคล่ำไปด้วยข้าราชการ อดีตข้าราชการและนักธุรกิจ ก็ยังไม่อาจตอบโจทย์ความยุ่งยากในสถานการณ์ใหม่นี้ได้


 


ซ้ำร้าย เรื่อง ความยากจนกับเศรษฐกิจพอเพียง ก็กลายเป็นหน้าที่ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ตามคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2550 เรื่องการจัดตั้ง "ศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาชนบทตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.)" อันมีพล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ.และประธาน คมช. เป็นผู้อำนวยการกับส่วนราชการทั้งหลาย แต่ไม่มีกลไกของภาคประชาชนเลย


 


แต่ที่น่าตื่นตกใจเป็นที่สุดคือ ณ บัดนี้ ขณะนี้รัฐทหารยังไม่มีกลไกอันใดเลยที่จะมาแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ซึ่งรอคอยความช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง หรือมาจากกระบอกปืน ก็ต้องช่วยเหลือประชาชนทั้งสิ้น ทั้งปัญหาที่ดิน ทำกิน ราคาสินค้าเกษตร ตกต่ำ หนี้สิน ฯลฯ 


 


คำถามในสถานการณ์ที่ล่อแหลม ณ ขณะนี้ต่อ คมช. ผู้ยึดอำนาจรัฐ กล้ากระทำสิ่งเหล่านี้หรือไม่


 


1.ปรับรื้อโครงสร้าง กลไก ขั้นตอน ของรัฐที่เฉื่อยชาและล้าหลัง ล้มระบบพวกพ้อง พี่น้อง ตามกระทรวง กรม กองต่างๆ หรือไม่ เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และนายทหารนอกแถวทั้งหลาย


 


2.กล้าออกกฎหมายที่ลดอำนาจนักการเมือง และข้าราชการระดับสูงที่ส่อไปในทางส่งเสริมให้เกิดการผูกขาดอำนาจ หรือผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ เช่น ห้ามนักการเมืองสัมปทานโครงการของรัฐฯ


 


3.กล้าออกกฎหมายที่ให้อำนาจประชาชนเพิ่มเติมหรือไม่ เช่น กฎหมายกระจายการถือครองที่ดินจัดเก็บภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า กฎหมายมรดก หรือ ปฏิรูปกฎหมาย ทรัพยากรทั้งระบบ เป็นต้น


 


คำถามที่สำคัญ พวกท่าน (คมช.) จะดำเนินการให้องค์กรภาคประชาชนมีส่วนร่วมได้อย่างไร?


 


อย่าลืมว่า โอกาส คือ ทรัพยากรชนิดหนึ่ง หากใช้โดยไม่ระมัดระวัง มันก็จะหมด และเกิดวิกฤติได้


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net