Skip to main content
sharethis

พาดหัว


 


 


โปรย


รายงานโดย นิตยสารรายสัปดาห์ "พลเมืองเหนือ"


 


 


เจ้าของอาคารฝั่งตรงข้ามโรงแรมเซ็นทรัลดวงตะวันร้องเทศบาลฯ จัดการแผงลอยบุกรุกพื้นที่สาธารณะสร้างความเดือดร้อน ไม่เป็นระเบียบ  ขณะที่แผงลอยซัดกลับเจ้าของอาคารเรียกเก็บเงินค่าไฟ "พรชัย" โดดเคลียร์แจงไม่รู้ไม่เห็น เตรียมตั้งคณะกรรมการพิจารณาจุดผ่อนปรนในพื้นที่รับผิดชอบทั้งหมดของเทศบาลฯ ฉะปัญหาทั้งหมดเกิดจากการขัดผลประโยชน์กันเอง


 


ประชาชนเจ้าของอาคารฝั่งตรงข้ามโรงแรมเซ็นทรัลดวงตะวัน ย่านถนนลอยเคราะห์ เข้าร้องเรียน หนังสือพิมพ์พลเมืองเหนือ ให้ไปตรวจสอบ การตั้งแผงลอยขายสินค้าที่ระลึกที่หน้าบ้านของตนเป็นเวลานานจนได้รับความเดือดร้อน บดบังหน้าร้าน ประชาชนและนักท่องเที่ยวไม่สามารถเดินเท้าได้โดยสะดวก ซึ่งเกิดขึ้นเป็นเวลานานตั้งแต่ปี 2543 และมีปัญหาขัดแย้งกันเรื่อยมา


 


นางนิตยาพร สุวรรณชิน เจ้าของร้านเซเว่นอีเลฟเว่น บริเวณตรงข้ามโรงแรมดวงตะวัน กล่าวว่า ร้านลานนาโฟโต้ ร้านผ้าไหมแฟรนด์ชิพ ร้านกาแฟไหมไทย ร้านขายไข่ และร้านของตนได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก เพราะเจ้าของแผงลอยมาตั้งแผงขายของบังร้าน จนทำให้ร้านขายของในละแวกนั้น บางร้านถึงกับต้องปิดกิจการไป และสร้างความเดือดร้อนให้กับตน ทั้งในเรื่องของความสะอาด ความเป็นระเบียบเรียบร้อย หลังจากที่แจ้งไปยังตำรวจพื้นที่ ก็มีการตกลงกันให้ย้ายไป ถัดจากนั้นประมาณ 4 - 5 เดือน ก็มีการกลับมาตั้งใหม่อีกครั้ง


 


นางนิตยาพรกล่าวด้วยว่า ได้เข้าไปขอร้องให้เจ้าของแผงลอยได้ย้ายออกไป แต่ได้คำตอบว่าถ้าแน่จริงก็ให้เทศบาลนครเชียงใหม่มาขับไล่  ตนเห็นว่าไม่อยากให้มีเรื่องจึงไม่เข้าไปดำเนินการต่อ ซึ่งแผงลอยก็มีการขยายจำนวนเพิ่มขึ้น จนกระทั่งอาคารข้างบ้านมีการปรับปรุง และต่อไฟออกมานอกบ้าน เพื่อให้แสงสว่าง และมีการร้องขอให้ร่วมจ่ายค่าไฟ ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กลุ่มผู้ค้าแผงลอยจนเคยเกิดเรื่องทะเลาะวิวาทกันมาแล้ว


 


"เหตุการทะเลาะกันในครั้งนั้นเกิดขึ้นเมื่อปี 2547 เจ้าของแผงลอยที่ไม่เคารพสิทธิ์ ไม่พอใจที่เจ้าของอาคารขอให้ร่วมจ่ายค่าไฟ จึงตามพรรคพวกที่ไนท์บาซ่าร์มา และเกิดเหตุการทะเลาะวิวาทขึ้นที่หน้าร้านผ้าไหม  ตำรวจสภอ.เมืองเขียงใหม่จึงเข้ามาดำเนินคดี และลงบันทึกประจำวันเอาไว้ จากนั้นก็ร้องไปยังนายพูลสวัสดิ์ วรวัลย์ รองนายกเทศมนตรี และมีคำสั่งให้แผงลอยย้ายออกไปตั้งแผงที่อื่น"


 


นางนิตยาพร กล่าวต่ออีกว่า 2 ปีผ่านไปเทศบาล ฯ นำกระถางต้นไม้มาประดับไว้บริเวณหน้าร้านของตน และมีอีกส่วนหนึ่งที่ตนซื้อเอง เพื่อประดับหน้าร้านให้สวยงาม แต่หลังจากที่มีการจัดวางต้นไม้ดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว จากนั้นเมื่อวันที่ 22 ..49 มีคนจำนวนกว่า 10 คน นำแผงลอยมาตั้งบริเวณหน้าร้านที่มีกระถางต้นไม้ประดับอยู่ โดยไม่สนใจความเป็นระเบียบเรียบร้อย  และยังมีหนังสือข่มขู่ติดหน้าบ้าน ตนจึงสอบถามไปยังเทศกิจ แต่ก็ไม่มีการตอบรับเรื่องกลับมา ในเวลาเดียวกันแผงลอยดังกล่าวได้อ้างถึงนายพรชัย จิตรนวเสถียร เลขานุการนายกเทศมนตรี และต่อมาก็มีการขยายแผงลอยบริเวณหน้าร้านมากขึ้น


 


ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์พลเมืองเหนือตรวจสอบหนังสือข่มขู่ดังกล่าว พบว่ามีข้อความว่า "ถึง…เจ้าของร้าน ใครจะมาทำมาหากินก็หากินไป อย่าให้ผมลำบากใจเลย ผมรู้จักคุณดี แต่คุณไม่รู้จักผมว่าผมมาอย่างไร แต่ก่อนคุณหากินอยู่ที่ภูเก็ต? ผมเห็นคุณอยู่นาน ผมไม่อยากทำร้ายใคร ไม่อยากวุ่นวายใคร คุณเจอนักเลง เจอนักเลงจริงคุณก็ตาย คนเรามันโตแล้วไม่ใช่เด็ก เราพูดกันรู้เรื่องแล้วนะ ถ้าคุณอยากขายของ คุณก็ขอเทศบาลเพราะเป็นที่ของหลวง ไม่อยากให้ใครสร้างปัญหาต่อไป"


 


 


แผงลอยโต้มีเรียกเงินค่าแผง


นางภาคินี บุนนาค แม่ค้าแผงลอยที่ตั้งแผงในบริเวณที่มีปัญหา กล่าวว่า เจ้าของร้านมีการเรียกเก็บเงินค่าแผง โดยอ้างว่าเป็นค่าไฟจำนวน 2,000 - 3,000 บาท และถ้าไม่จ่ายก็จะไม่ให้ขาย นอกจากนี้เจ้าของอาคารยังบอกว่ามีกลุ่มแผงลอยกลุ่มอื่นที่เสนอราคาให้ตนดีกว่านี้ และนำโต๊ะมาตั้งขวางไว้เพื่อไม่ให้แผงลอยตั้งขายได้ และในที่สุดก็เกิดเรื่องทะเลาะวิวาทกันขึ้น โดยเจ้าของอาคารได้นำคนจำนวน 4 คนเข้ามารุมทำร้ายผู้ที่ตั้งแผงลอย โดยตนมั่นใจว่าไม่ได้ทำให้พื้นที่ดังกล่าวสกปรก และบังหน้าร้านแต่อย่างใด ที่สำคัญยังมีการเปิดทางเข้า - ออก ให้กับร้านดังกล่าวตลอด ภายหลังจากที่มีปัญหาแล้ว เทศบาลฯ ก็สั่งให้ระงับการตั้งแผงในบริเวณดังกล่าวไว้ก่อน เพื่อรอการพิจารณาในการเปิดเป็นจุดผ่อนปรน ซึ่งขณะนี้กลุ่มผู้ค้าแผงลอยได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก เนื่องจากหวังว่าในช่วงพืชสวนโลกจะส่งผลให้รายได้จากการขายของบริเวณพื้นที่ดังกล่าวเพิ่มขึ้นไม่มีสถานที่ค้าขาย ทำให้ขาดรายได้ จนบุตรหลานของกลุ่มผู้ค้าหลายคนต้องออกจากโรงเรียนกลางคัน เพราะไม่มีเงิน จนถึงตอนนี้ก็ทำได้แค่ตั้งแผงขายของในบริเวณถนนคนเดินช่วงเสาร์ และอาทิตย์ที่อนุสาวรีย์สามกษัตริย์เท่านั้น


 


"ในการตั้งแผง เราจะใช้โต๊ะพับเตี้ยๆ ในการตั้ง ไม่ใช่เป็นแบบที่แผงบริเวณริมถนนช้างคลานทำ และที่สำคัญบริเวณประตูหน้าบ้านกลุ่มแผงลอยไม่ได้เข้าไปตั้งเพื่อขัดขวางประตูตามที่กล่าวหาเลย และถ้าย้อนกลับไปจะมีเพียงแต่รถเข็นขายโรตีเท่านั้นที่ไปตั้งขายในจุดนั้น และจากที่คุยกับเจ้ารถเข็นพบว่ามีการจ่ายเงินจำนวน 3,000 บาทให้กับนางนิตยาพร โดยได้ออกใบเสร็จรับเงินไว้ด้วย แต่ขณะนี้เจ้าหน้าที่สภอ.เมืองเชียงใหม่ที่ชื่อ สมชาย ไม่ทราบนามสกุลเป็นผู้ขอเก็บใบเสร็จนี้ไว้ และมารู้ภายหลังว่านายสมชายเป็นคนรู้จักกับเจ้าของอาคารดังกล่าว"


 


ขณะที่นางนิตยาพร ออกมายอมรับต่อที่ประชุมว่ามีเจ้าของอาคารในบริเวณดังกล่าวขอเก็บเงินค่าไฟจริง เป็นเงิน1,500 บาทต่อเดือน แต่ก็ไม่มีแผงลอยรายใดจ่าย เนื่องจากมีเหตุการณ์ทะเลาะวิวาทเกิดขึ้น และมีคำสั่งจากเทศบาลให้ยุติการค้าขายของแผงลอยในบริเวณนั้น


 


 


พรชัยโต้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง


ด้านนายพรชัย จิตรนวเสถียร เลขานุการนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ ที่ถูกพาดพิงว่าได้รับผลประโยชน์ดังกล่าวยืนยันว่าเทศบาลฯ ไม่มีการเก็บผลประโยชน์บนพื้นที่สาธารณะเลย และตนก็ไม่มีส่วนรู้เห็นในการจัดเก็บเงินค่าแผง หรือว่ารู้จักกลุ่มผู้ค้าแผงลอยที่อ้างชื่อตนแต่อย่างใด และถ้ารู้ตนจะเข้าไปดำเนินการอย่างเด็ดขาดในทันที ซึ่งที่ผ่านมาตั้งแต่ตนเข้ามารับงานมีแค่เพียงครั้งเดียวเท่านั้นที่มีพบว่ามีการจัดเก็บโดยเทศกิจฯ ที่ย่านบริเวณกาดหลวง ซึ่งในขณะนั้นตนก็เข้าไปดำเนินการ และกำชับว่าอย่าให้มีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีก


 


นายพรชัย กล่าวต่อไปอีกว่า จากการประชุมในครั้งก่อนที่มีการเรียกทั้ง 2 ฝ่ายมาตกลงกัน ในเรื่องการใช้พื้นที่สาธารณะมีข้อสรุปว่าพื้นที่หน้าร้านที่เป็นทางเท้าสาธารณะจะต้องมีความกว้าง 4 เมตร และเปิดทางเข้าสำหรับคนเดินได้ประมาณ 1.5 เมตร ส่วนอีก 2.5 เมตร จะเปิดให้มีการตั้งแผงลอยเพื่อขายของ เรื่องต่อมาเป็นเรื่องการตั้งขายสินค้า มีข้อสรุปว่าห้ามตั้งเป็นตู้ ใช้โต๊ะพับในการจัดวางสินค้าเท่านั้น และถ้าฝนตกก็ให้นำผ้าพลาสติกมาคลุม


 


"ข้อตกลงเป็นตามนี้ แต่มีเจ้าของอาคารบางคนที่ยังไม่พอใจในและยืนยันว่าจะไล่แผงลอยเหล่านี้ออกไปจากหน้าร้านตนให้ได้ ภายหลังจากเสร็จสิ้นการประชุมก็ยื่นหนังสือถึงหน่วยงานต่างๆ จนกระทั่งผู้ว่าราชการจังหวัดแทงเรื่องเข้ามาที่เทศบาล และสั่งให้ประกาศพื้นที่ดังกล่าวให้เป็นจุดผ่อนปรน"


 


 


เตรียมตั้งกรรมการระบุจุดผ่อนปรน


ทั้งนี้ในการประชุมที่สำนักงานเทศบาลนครเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 20 .. 2549 มีมติเห็นชอบให้จัดตั้งคณะกรรมการจากหน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชนร่วมกันหารือเพื่อพิจารณา และกำหนดจุดที่ควรจะเป็นพื้นที่ผ่อนปรนภายในจังหวัดเชียงใหม่ทั้งหมด อีกทั้งยังกำหนดประเภทของสินค้าในพื้นที่นั้นๆ อีกด้วย โดยพิจารณาจากศักยภาพของพื้นที่ จุดเด่น - จุดด้อย ความจำเป็น และเสนอรูปแบบแผงลอยให้เหมาะสมกับลักษณะพื้นที่นั้น นอกจากนี้ยังกำหนดวันในการประชุมชี้ขาดพื้นที่ผ่อนปรนในวันที่ 17 มกราคม พ.2550


 


ภายหลังนายพรชัย ให้สัมภาษณ์"พลเมืองเหนือ"ว่า ที่มาที่ไปของเรื่องนี้คือการใช้ผลประโยชน์ในพื้นที่สาธารณะ ซึ่งตามข้อกฎหมายไม่สามารถทำได้ และเป็นการขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์กันเองระหว่างเจ้าของอาคาร กับแผงลอย โดยก่อนหน้าที่มีปัญหามีการจ่ายเงินให้กัน แต่ภายหลังเศรษฐกิจไม่ดีจึงไม่มีการจ่ายเงินให้ และพอเจ้าของอาคารไม่ได้เงินจึงใช้กำลังเข้าตัดสิน เท่าที่ตนรู้มามีการนำทหารเข้ามาจัดการกับแผงลอย และในการเปิดเป็นจุดผ่อนปรนในทัศนะของตนอยากให้มีการเปิดจุดผ่อนปรนยาวไปถึงสะพานข้ามแม่น้ำ เพราะถ้าเลยไปกว่านี้คงจะไม่เหมาะเนื่องจากมีบาร์เบียร์ และสถานบริการที่ไม่เหมาะต่อการค้าขาย และจะมีการกำหนดสินค้าพื้นเมืองเท่านั้น คล้ายกับการตั้งถนนคนเดิน แต่จะมีการขายทุกวัน ส่วนในระหว่างที่รอการดำเนินการจะมีการจัดหาพื้นที่ให้กลุ่มแผงลอยที่เดือดร้อนขายก่อนหรือไม่นั้น ตนยืนยันว่าไม่มีสิทธิ์ในการจัดหาพื้นที่ดังกล่าวให้ แต่ตนจะช่วยเร่งขั้นตอนการดำเนินการเพื่อเปิดพื้นที่ดังกล่าวเป็นจุดผ่อนปรนภายในเดือนมกราคม


 


"ก่อนหน้านี้มีการประกาศถนนช้างคลาน และบริเวณใกล้เคียงให้เป็นจุดผ่อนปรน ทำให้แผงลอยมีโอกาสค้าขายได้ จุดนี้เป็นช่องโหว่ของกฎหมายและเกิดปัญหานี้ตามมา ซึ่งที่ผ่านมาตนก็สั่งให้เทศกิจเข้าไปกวดขันอย่างต่อเนื่อง"


 


แหล่งข่าวภายใน สภอ.เมืองเชียงใหม่เปิดเผยว่า มีตำรวจชื่อตามที่นางภาคินีกล่าวอ้างอยู่จริง ซึ่งแหล่งข่าวได้เปิดเผยเกี่ยวกับเหตุการณ์ในวันนั้นว่า ขณะที่ออกตรวจพื้นที่ได้รับแจ้งจาก 191 ว่ามีเหตุทะเลาะวิวาทกันบริเวณหน้าโรงแรมเซ็นทรัลดวงตะวัน เมื่อไปถึงพบว่ามีการด่าทอใช้คำหยาบคายกันอยู่จึงแนะนำให้ไปแจ้งความเพื่อทำบันทึกประจำวันที่โรงพัก ส่วนเรื่องใบเสร็จที่อ้างว่ามีตำรวจเก็บไปนั้น แหล่งข่าวที่เป็นชุดที่เข้าไประงับเหตุดังกล่าวยืนยันว่าไม่มีการเรียกเก็บใบเสร็จ และไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับใบเสร็จที่มีการอ้างถึงแต่อย่างใด อีกทั้งยังยืนยันว่ารู้จักกลุ่มเจ้าของอาคารบริเวณดังกล่าวตามที่ถูกกล่าวอ้างจริง แต่ไม่ได้มีความสนิทสนมกันตามที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด เพราะในการออกตรวจพื้นที่จำเป็นต้องรู้จักคนในพื้นที่ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาอยู่แล้ว และยืนยันว่าไม่ใช่เพียงแค่กลุ่มเจ้าของอาคารดังกล่าวเท่านั้นที่รู้จัก แต่ยังรู้จักกลุ่มผู้ประกอบการเกือบทั้งหมดในย่านไนท์บาซ่าร์อีกด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net