Skip to main content
sharethis

ศูนย์ข่าวภาคประชาสังคม อุบลฯ


 


 


6 ม.ค. 2550  สืบเนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 100 คนแล้วนั้น นายแพทย์ นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีต ส.ว.อุบลฯ และประธานมูลนิธิประชาสังคมจังหวัดอุบลฯ ได้แสดงความคิดเห็นถึงรายชื่อดังกล่าวว่า ส่วนใหญ่ที่ได้รับการแต่งตั้งนั้น มาจากตัวแทนของภาครัฐและนักวิชาการ ในขณะที่ตัวแทนภาคประชาสังคมหรือประชาชนมีน้อย ซึ่งมีความสำคัญต่อการร่างรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ เมื่อเป็นเช่นนั้น การร่างรัฐธรรมนูญจะเป็นการร่างในเชิงโครงสร้างของอำนาจและการจัดการองค์กร สถาบันทางการเมืองมากกว่า ซึ่งที่ผ่านมามักจะเป็นช่องว่างให้นักการเมืองใช้จุดอ่อนของรัฐธรรมนูญเข้ามาใช้อำนาจ ถ้าหากตัดวงจรนี้ได้ประชาชนจะได้รับประโยชน์เป็นอย่างมาก


 


การที่ตัวแทนภาคประชาชนมีจำนวนน้อยนั้น ตนเองเกรงว่า การร่างรัฐธรรมนูญในเรื่องการให้สิทธิเสรีภาพ และการมีส่วนร่วมจะไม่ได้รับความสนใจอย่างเป็นรูปธรรม อาทิ สิทธิชุมชน การเมืองภาคประชาชน สื่อ ฯลฯ ดังนั้น ในการร่างฯ สสร.จะต้องเน้นการมีส่วนร่วมและรับฟังประชาชนมากขึ้น เพื่อลบจุดอ่อนต่อการที่มีตัวแทนภาคประชาสังคมจำนวนน้อย ซึ่งไม่ใช่เป็นเพียงเอา รัฐธรรมนูญปี 2540 มาแก้ไขเท่านั้น


 


ในส่วนของเนื้อหาที่ตนเองเห็นว่าควรจะต้องเพิ่มเติมในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้นคือ การให้อำนาจภาคประชาชนเข้ามาร่วมตรวจสอบ ป้องกันและปราบปรามการทุจริตของภาครัฐมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาส่วนใหญ่เกิดจากปัญหาตัวบุคคลที่ต้องการผูกขาดอำนาจ จนนำไปสู่การทุจริตเชิงนโยบาย การแทรกแซงองค์กรอิสระ รวมทั้งการแก้ไขการแทรกแซงของทุนข้ามชาติ รัฐธรรมนูญจะต้องกำหนดให้ชัดเจนเพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งทำให้ประชาชนเข้าถึงโครงสร้างในการบริหารจัดการ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิชุมชน การใช้ทรัพยากร การป้องกันไม่ให้มีเพียงกลุ่มทุนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเข้ามาใช้ประโยชน์ของชาติฝ่ายเดียว เช่น การกำหนดเขตเศรษฐกิจพิเศษ การค้าเสรี (FTA) ซึ่งกระบวนการที่ผ่านมายังไม่ชัดเจน รัฐธรรมนูญต้องระบุให้ชัดเจนว่า กระบวนการอนุมัติจะต้องผ่านรัฐสภาและการประชาพิจารณ์จากภาคประชาชน


 


ด้านแนวโน้มที่มาของ ส.ว.นั้น ตนเองเห็นว่า แนวโน้มน่าจะมีการปรับเปลี่ยน เพราะที่ผ่านมาเกิดปัญหาการแทรกแซงจากนักการเมือง ทั้งนี้ถ้าหากแก้ไขให้ ส.ว.มาจากการแต่งตั้งก็จะเป็นการทำลายวิถีทางในระบอบประชาธิปไตยซึ่งตนเองไม่เห็นด้วย


 


นอกจากนี้ นพ.นิรันดร์ ยังได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับเหตุการณ์การขู่วางระเบิดในหลายพื้นที่รวมทั้งอุบลฯ นั้นว่า เป็นสัญญาณที่บอกให้ทราบว่า การแย่งชิงอำนาจรัฐของกลุ่มการเมืองยังไม่สิ้นสุด ซึ่งการทำรัฐประหารที่ผ่านมา ยังมีกลุ่มคนที่ไม่ยอมรับในเหตุผล ซึ่งแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลและ คมช.ยังไม่สามารถทำให้สังคมไทยเห็น ด้วยการนำคนที่ทุจริตและสร้างความวุ่นวายให้แก่บ้านเมืองมาลงโทษ รวมทั้งยังแสดงให้เห็นว่า กระบวนของคลื่นใต้น้ำยังมีการทำงานมาโดยตลอด ดังนั้นการหาทางออกเพื่อยุติความรุนแรงจึงเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องร่วมมือกัน


 


อย่างไรก็ตามสิ่งที่ประชาชนควรตระหนักในช่วงเวลาดังกล่าวคือ จะต้องแยกแยะถูก ผิด และตัดสินใจอยู่บนความถูกต้อง จะต้องร่วมกันขจัดสิ่งที่ไม่ดีออกจากสังคมไทย โดยเฉพาะในปีนี้เป็นปีมหามงคลที่ในหลวงทรงมีพระชนมายุครบ 80 พรรษาด้วยนั้น ประชาชนต้องร่วมกันทำความดีเพื่อให้สังคมไทยเข้าสู่สภาพปกติสุขให้เร็วที่สุด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net