Skip to main content
sharethis

มิไยที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างเนปาลจะปลดกษัตริย์ลงไปเป็นสามัญชน แต่ภูฏานกลับฝากความหวังเรื่องประชาธิปไตยไว้กับสถาบันกษัตริย์ ตำแหน่ง Visible Man ประจำปี 2549 ของประชาไท จึงตกเป็นของ "สมเด็จพระราชาธิบดี จิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก" กษัตริย์รายล่าสุดของโลก ผู้เป็นขวัญใจประชาชนทั้งชาวไทยและภูฎาน ทั้งยังเป็นผู้สานต่อ "ระบอบประชาธิปไตยแบบพอเพียง" อีกด้วย

 

 

 

 

หลังจากที่ประชาไทนำเสนอผู้ท้าชิงตำแหน่ง The visible man ประจำปี 2006 มาถึง 13 คนแล้ว ก็มาถึงขั้นตอนสุดท้าย ว่าประชาไทคัดเลือกใครมาดำรงตำแหน่ง The Visible Man ประจำปี 2549 นอกจากความสำคัญว่า "ใคร" แล้วสิ่งที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันก็คือ "อย่างไร" และ "ทำไม"

ตามประสาองค์กรที่ถูกเรียกแกมหยอกจากบางคนว่าเป็น "องค์กรที่เป็นประชาธิปไตยที่สุดในประเทศไทย" อย่างประชาไท แน่นอน จะให้โหวตเลือกกันง่ายๆ ก็ดูกระไร เราเริ่มกระบวนการคัดเลือกกัน ภายหลังจากที่นักข่าวน้อยใหญ่ทำการบ้านกันมาเต็มอัตราศึก และมีบทความฉบับร่างมานำเสนอ

 

ประชาไท ได้อาศัย อ.รุจน์ โกมลบุตร จากคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมกับควบตำแหน่งรองประธานมูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน (หรือจะเรียกง่าย ๆว่า เว็บไซต์ประชาไทก็ได้) มาทำหน้าที่เป็นประธานและกรรมการห้ามทัพระงับศึกอย่างเยือกเย็นและซาดิสม์ คือปล่อยให้ฟัดกันด้วยเหตุผลและอารมณ์จนโต๊ะประชุมแทบพังกันไปเป็นแถบๆ ก็ยังนั่งหัวเราะหึหึ พร้อมสรุปประเด็นต่อไปอย่างเยือกเย็นอย่างยิ่ง พร้อมระบายยิ้มบนใบหน้าอยู่ตลอดเวลาของการประชุม และยังยิ้มละไมอยู่ต่อไปเมื่อการประชุมสิ้นสุด แม้นักข่าวหลายคนร้องขอยาแก้ปวดควบอาหารเย็นก็ตามที ต้องขอขอบพระคุณ อ.รุจน์ มา ณ ที่นี้

 

เอาละ เมื่อสักครู่กล่าวว่า เราไม่ใช่วิธีโหวตเลือกกันง่าย เมื่อเราตกลงกติกากันแล้ว เราเลือก โหวตออก ก่อน ฮาฮาฮา

 

กระบวนการโหวตออกนั้นอย่าคิดว่าง่ายเชียวหนา การจะเลือกใครออกไปจาก "การมองเห็น" ของประชาไท เป็นเรื่องต้องให้เหตุผลกันหนักๆ และหลายชื่อ ถูกเสนอคัดออกและได้รับการปกป้องหลายครั้งหลายหน

 

เอาเป็นว่าหลักการกว้างๆ ที่ตกลงร่วมกันก็คือว่าคนที่เป็น The Visible Man ของประชาไทจะต้องเป็นคนที่มีบทบาทอย่างสำคัญต่อสังคมไทยในช่วงปีที่ผ่านมา

 

เมื่อมาถึงตรงนี้ข้อถกเถียงจึงมีว่า ถ้าเช่นนั้นแล้ว The Visible Man ของปีนี้คงหลีกเลี่ยงผู้คนในแวดวงการเมืองไปเสียไม่พ้น เราจึงเลือกโหวตคนที่ไม่เกี่ยวข้องกับแวดการเมืองออกก่อน

 

น้องเดียว หม่อมอุ๋ย ครูตี๋ ครูจูหลิง คุณอังคณา จึงจากไปด้วยเหตุผลหลักคือไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองไทยโดยตรง ส่วน คุณจาตุรนต์ ฉายแสง ถูกคัดออกด้วยเหตุผลหลักๆ คือ ไม่มีบทบาทต่อสังคมไทยอย่างถึงขนาดที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างฉกาจฉกรรจ์

 

ผู้ที่เข้ารอบก่อนสุดท้าย ได้แก่ สุรพล วรเจตน์ ทักษิณ ลุงนวมทอง กษัตริย์จิกมี กษัตริย์คเยนทรา ป๋าเปรม

 

รอบ 7 คนสุดท้าย ดร. วรเจตน์ ในฐานะนักวิชาการ ที่คงเส้นคงวาต้องพ่ายคะแนนให้กับการตั้งคำถามเชิงปฏิเสธกับนักวิชาการที่อุทิศตัวให้กับกระแสไม่เอาทักษิณ ไม่เอารัฐธรรมนูญ แต่เอามาตรา 7 และการรัฐประหาร ด้วยเหตุผลว่าประเทศเราถูกบิดเบือนหลักการและถูกบิดเบือนการรับรู้โดยนักวิชาการที่ใช้มายาคติของตัวเองครอบงำสังคมไทยและแม้ ดร.วรเจตน์นั้นเป็นนักวิชาการที่ไม่ใช้สถานะพิเศษของตัวเองอันนั้น แต่การตั้งคำถามเชิงลบนั้นมีน้ำหนักต่อสังคมมากกว่า

 

รอบสุดท้าย พล.เปรม ติณสูลานนท์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ลุงนวมทอง ไพรวัลย์ กษัตริย์คเยนทรา แห่งเนปาล กษัตริย์จิกมี แห่งภูฏาน และ ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ เมื่อมาถึงรอบนี้ คล้ายๆ กับต้องเคลียร์คะแนนเก่ามาตั้งกติกาที่รัดกุมขึ้น โดยมีผู้เสนอว่าควรเพิ่มเรื่องการให้น้ำหนักในประเด็นที่ต่างกันเข้าไปด้วย

 

แน่นอนว่ากระแสการเมืองไทยที่เข้มข้นระอุเดือดที่ผ่านมานอกจากเรื่องราวของการเมืองระดับนักการเมืองแล้ว สิ่งทรงพลังยิ่งที่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทักษิณใช้ก็คือพลังทางวัฒนธรรมของสังคมไทยนั่นก็คือสถาบันพระมหากษัตริย์

 

อาจารย์รุจน์เสนอให้ตัดคนที่เป็นไปได้น้อยที่สุดในรอบ 6 คน ลุงนวมทองถูกตัดออกไป และลุงนวมจะอยู่ในใจเราเสมอ มีบางคนในวงแซวว่านี่แหละความตอแหลของปัญญาชน อย่างไรก็ตาม มีการให้เหตุผลว่าประเด็นของคนเล็กคนน้อยที่ได้สัมผัสกับความเป็นเจ้าของสิทธิทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยนั้นเป็นประเด็นที่ซ่อนอยู่ในประเด็นของทักษิณอยู่แล้ว

 

สำหรับดร.สุรพลนั้น ก็เช่นกันกับนักวิชาการที่ให้ความชอบธรรมกับการรัฐประหารหลายๆ คน เป็นหนึ่งในปัญญาชนที่ต้องรับผิดชอบต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ต่อการผลิตและสร้างภาพที่น่ากลัวเกินจริง เพียงแต่ ดร.สุรพลอาจจะตกอยู่ในสถานะที่ต้องจับตากันเป็นพิเศษกว่าเพราะดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อยู่ด้วย และก็เป็นที่รู้กันดีว่ามหาวิทยาลัยแห่งนั้นต่อต้านเผด็จการมาทุกยุคทุกสมัย

 

ถึงจุดนี้จึงเริ่มมีการเสนอให้ตัดทักษิณออกไปอีกคนหนึ่ง เนื่องเพราะทักษิณสำคัญเสียจนเป็นมากกว่าภาพ แต่กลายเป็นแบล็กกราวนด์ของสังคมไทยไปเลยทีเดียว อันที่จริงทักษิณก็เป็นยิ่งกว่าแบล็กกราวนด์ด้วยซ้ำเพราะเขากลายเป็นกระดาษห่อสังคมไทยที่เมื่อฉีกกระดาษออกมาดูก็พบประเด็นที่น่าสงสัยในสังคมอันแสนสงบร่มเย็นแห่งนี้จำนวนมาก

 

ที่สุดแล้ว เมื่อสลัดกระดาษห่อสังคมไทยนามว่า ทักษิณ ชินวัตรไปได้ ประเด็นร่วมกันของชาวประชาไทก็คือ พลังทางวัฒนธรรมของสังคมไทยที่พุ่งสู่ขีดสูงสุดในปีที่ผ่านมาเนื่องในการเฉลิมฉลองการครองราชย์ครบ 60 ปี สถาบันกษัตริย์ในฐานะที่อยู่เป็นมิ่งขวัญกับสังคมไทยมานานจึงควรเป็นสถาบันที่สังคมไทยต้องเรียนรู้ด้วย

 

เมื่อเหลือเพียงกษัตริย์จาก 2 ประเทศจากเทือกเขาหิมาลัย ชาวประชาไทลงความเห็นว่ากรณีของกษัตริย์คเยนทราในฐานะที่ประชาไทติดตามนำเสนอมาโดยตลอดนั้น เป็น "มุมกลับ" ของกษัตริย์จิกมีนั่นเอง เมื่อราชวงศ์หนึ่งสามารถยึดครองพื้นที่ในหัวใจพสกนิกรในประเทศ โดยจะพระราชทานระบอบประชาธิปไตยให้แก่รัฐเล็กๆ พร้อมกับดำเนินนโยบายแบบ "พอเพียง" กอปรด้วยภาพลักษณ์ที่ทรงมีพระจริยวัตรงดงาม ภาพของกษัตริย์คเยนทราแห่งเนปาลซึ่งถูกประชาชนโค่นล้มไป ก็ด้วยเหตุที่ทรงกระทำในทางตรงกันข้ามกันนั่นเอง

 

.......และแล้ว กษัตริย์ จิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก ก็ได้รับการคัดเลือกให้เป็น "The Visible Man" ประจำปีของประชาไทไปด้วยคะแนนท่วมท้น

 

เนื่องจาก กษัตริย์จิกมี คือตัวแทนแห่งกษัตริย์ยุคใหม่ที่ทำให้เราเห็นการก้าวขึ้นสู่ความเป็นกษัตริย์ในใจมหาชน ที่ประชาชนสัมผัสได้ เป็นกษัตริย์ที่เข้าถึงประชาชนอย่าง "ติดดิน" และ "อ่อนโยน" เป็น "เจ้าชายในฝัน" ที่สื่อไทยเขียนถึง และด้วยพระจริยวัตรที่ "ติดดิน"และ "นอบน้อม" ก็ทำให้ช่วยลบล้างภาพ "พระราชาผู้สูงส่ง" ให้กลายเป็น "ผู้ปกครองประเทศที่แสนจะติดดินและใส่ใจประชาชนอย่างใกล้ชิด"

 

เหตุผลที่สำคัญยิ่งอีกประการก็คือ การผลัดพระราชบัลลังก์ของราชวงศ์ภูฏานที่เกิดขึ้นในปีนี้ เป็นสิ่งที่สังคมโลกต้องจับตากันต่อไปว่า สถาบันกษัตริย์และประชาธิปไตยในประเทศเล็กๆ จากเทือกเขาหิมาลัยจะดำเนินไปอย่างไร เพราะภายหลังการผลัดราชบัลลังก์ของพระกษัตริย์.....เพื่อสร้างกระบวนการสร้างประชาธิปไตยในแบบภูฏานนั้น ยกแรกก็เริ่มส่อเค้าความวุ่นวาย เรื่องข้อกำหนดของคุณสมบัติของผู้ที่จะมาเป็นสมาชิกรัฐสภาเสียแล้ว ปี 2007 ที่จะถึง การเมืองในภูฏาน จึงเป็นเรื่องที่ต้องติดตามอย่ากระพริบตา

      

 

 

000

 

 

จิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก:

จาก "เจ้าชายในฝัน" สู่ "ผู้สานต่อระบอบประชาธิปไตยแบบพอเพียง"

 

 

โดย ตติกานต์ เดชชพงศ

 

ภาษิตโบราณที่ว่า "คนธรรมดามองเห็นปัจจุบัน แต่นักปราชญ์มองเห็นอนาคต" คือเหตุผลที่หนังสือพิมพ์คุนเซล (Kuensel) ซึ่งเป็นสื่อมวลชนเพียงรายเดียวของภูฏานใช้อธิบายการตัดสินใจของกษัตริย์พระองค์ที่ 4 แห่งราชวงศ์วังชุก "จิกมี ซิงเย วังชุก" ที่ประกาศสละราชสมบัติก่อนเวลา เพื่อให้เจ้าชายจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก รัชทายาทลำดับที่ 1 ก้าวขึ้นเป็นกษัตริย์แทนพระองค์ [1]

 

ท่ามกลางความโศกเศร้าเสียดายที่กษัตริย์ผู้เป็นที่รักก้าวลงจากบัลลังก์ ประชาชนชาวภูฎานยังมีความหวังว่าการตัดสินใจของ "กษัตริย์นักปราชญ์" ผู้ปกครองแผ่นดินมาหลายสิบปี-ย่อมเป็นเรื่องดีและมีเหตุผล ควรค่าแก่การปล่อยให้มันเกิดขึ้นเสมอ

 

ยิ่งถ้ามองย้อนกลับไปตลอดปีที่ผ่านมา คงไม่อาจปฏิเสธได้ว่าบทบาทของอดีตเจ้าชายจากภูฏานโดดเด่นเป็นที่จับตามองในหมู่ชาวโลกเป็นพิเศษ

 

เมื่อเจ้าชายจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก ขึ้นครองราชย์ในฐานะสมเด็จพระราชาธิบดี จิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2549 จึงไม่มีเสียงคัดค้านใดๆ ดังออกมาให้ได้ยิน

 

ปรากฏการณ์ที่ว่ามาไม่ได้เกิดขึ้นเพียงชั่วข้ามปี แต่เป็นกระบวนการที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน โดย "ราชวงศ์วังชุก" ทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมใจของคนทั้งชาติ และเตรียมความพร้อมให้ชาวภูฏานยอมรับวิถีทางแห่งประชาธิปไตย (อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข…) ด้วยความยินดีและไม่มีข้อต่อรองใดๆ ทั้งสิ้น

 

เจ้าชายในฝัน - Prince Charming

ในงานพระราชพิธีเฉลิมฉลองวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ของชาวไทยทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี คนไทยไม่ปลาบปลื้มพระราชอาคันตุกะองค์ใดเท่ากับเจ้าชายจิกมี เคเซอร์ฯ ผู้เปี่ยมด้วยรอยยิ้ม มีอัธยาศัยดี ไม่ถือเนื้อถือตัว รวมถึงหน้าตาแบบชาวเอเชียที่ดูคุ้นตา และท่าทางที่สุภาพ สามารถซื้อใจคนไทยจำนวนมากได้อย่างไม่ยากเย็นอะไรเลย นี่จึงเป็นเหตุผลง่ายๆ ในขั้นต้นที่สามารถอธิบายความนิยมอันท่วมท้นที่คนไทยมีให้เจ้าชายจากเมืองเล็กๆ แห่งหนึ่งได้

 

ภาพของเจ้าชายจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก ถูกนำเสนอผ่านสื่อมวลชนและกระดานข่าวในเวบไซต์บ้านเราไม่ต่างจาก "ซูเปอร์สตาร์" หรือบุคคลสาธารณะที่เป็นขวัญใจประชาชน จนในที่สุดก็กลายเป็นปรากฏการณ์แห่งปีที่หลายๆ สื่อกล่าวถึง

 

พสกนิกรชาวภูฏานก็ปลาบปลื้มยินดีไม่แพ้กันที่ประเทศของตนมีเจ้าชายผู้ป็นกันเองกับประชาชน และฉายา "เจ้าชายผู้ทรงเสน่ห์" หรือ Prince Charming ที่คนไทยตั้งให้ ก็เป็นฉายาที่เจ้าชายจิกมีได้รับในภูฏานเช่นกัน เพราะตลอดปีที่ผ่านมา ชาวภูฎานเพิ่งจะมีโอกาสได้ใกล้ชิดเจ้าชายรัชทายาทเป็นพิเศษ หลังจากที่เจ้าชายของพวกเขาต้องห่างเหินไปอยู่ต่างประเทศเสียนาน [2]

 

เมื่อเจ้าชายจิกมี เคเซอร์ฯ สำเร็จการศึกษาระดับสูงสุดจากออกซ์ฟอร์ดแล้ว ก็ได้เวลาออกปฏิบัติภารกิจร่วมกับกษัตริย์จิกมี ซิงเย ผู้เป็นบิดา และการออกพบปะประชาชนอย่างไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อยของเจ้าชายก็ชนะใจคนภูฏานไปได้อย่างง่ายดาย เพราะแนวทางที่ใช้ในการเข้าถึงประชาชนของเจ้าชายจิกมี เคเซอร์ฯ แตกต่างจากแนวทางของกษัตริย์ จิกมี ซิงเย วังชุก ค่อนข้างชัดเจน

 

ในขณะที่ผู้เป็นบิดาวางรากฐานประชาธิปไตยแบบภูฎานเอาไว้ด้วยการประกาศแต่งตั้งให้มีรัฐสภาขึ้นมาถ่วงดุลอำนาจธรรมราชาตั้งแต่ปี 2541 และวางฐานะของตนเป็นผู้อยู่เบื้องหลังรัฐสภา แต่เจ้าชายผู้สืบทอดเลือกที่จะเข้าถึงประชาชนด้วยการพัฒนาการศึกษา วางรากฐานระบบสาธารณสุข และจัดสรรเรื่องที่ดินทำกินให้แก่ประชาชนผู้ยากไร้ ซึ่งภารกิจทั้งหมดทั้งมวลต้องอาศัยการเดินทางไปยังแต่ละพื้นที่ ไม่ว่าจะทุรกันดารแค่ไหน ก็ต้องเข้าไปให้ถึงตัวประชาชน

 

การกระทำเช่นนี้ช่วยลบล้างภาพ "พระราชาผู้สูงส่ง" ให้กลายเป็น "ผู้ปกครองประเทศที่แสนจะติดดินและใส่ใจประชาชนอย่างใกล้ชิด" ภายในเวลาชั่วพริบตา

 

แต่ว่าในขณะเดียวกัน ความศรัทธาและเชื่อมั่นในราชวงศ์วังชุกก็ไม่ได้เสื่อมสลายไปไหนเลย…

 

ภาพจาก Kuensel

 

รากฐานความนิยมที่มั่นคงของราชวงศ์วังชุก

สิ่งที่ทำให้เจ้าชายจิกมี เคเซอร์ฯ หรือสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ฯ เป็น "ที่รัก" ของชาวภูฏานมาก ถึงเพียงนั้น ส่วนหนึ่งมาจากรากฐานของราชวงศ์วังชุกที่แสนจะเข้มแข็ง แม้ว่าจะสืบเชื้อสายมาได้แค่ 4 ช่วงอายุคนเท่านั้น

 

เมื่อนับย้อนไปถึงรากฐานความนิยมที่มั่นคงของราชวงศ์วังชุก มีหลักฐานปรากฏชัดว่าเกิดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2450 เมื่อผู้ปกครองรัฐต่างๆ ในภูฏานได้มารวมตัวกัน และเลือกให้ "อุเก็น วังชุก" (Ugyen Wangchuck) ผู้ปกครองเมืองตองซา ขึ้นมาเป็นกษัตริย์ปกครองประเทศ และเป็นต้นสายของราชวงศ์วังชุก

 

เหตุผลในการสถาปนาราชวงศ์ขึ้นมาในสมัยนั้น ประเด็นหลักน่าจะมาจากการรวบรวมมณฑลต่างๆ ของภูฏานให้เป็นปึกแผ่น เพื่อป้องกันไม่ให้อังกฤษแทรกแซงการเมืองการปกครองในช่วงล่าอาณานิคม แต่ที่จริงอังกฤษคงไม่ได้สนใจรัฐกันชนอย่างภูฏานที่อยู่ระหว่างจีนกับอินเดียสักเท่าไหร่ อังกฤษจึงสนับสนุนให้ภูฏานสถาปนาราชวงศ์ของตนขึ้นมา และลงนามในสัญญาสงบศึกเมื่อปี พ.ศ.2453 แลกเปลี่ยนกับความมีอิสระของอังกฤษที่จะ "ชี้นำ" ภูฏานในเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือขอทรัพยากรป่าไม้สักเล็กน้อยเป็นข้อแลกเปลี่ยน

 

การที่อังกฤษยอมลงนามในสัญญาสงบศึกและรามือไป ทำให้ภูฎานครองความเป็นเอกราชมาโดยตลอด และการไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของประเทศตะวันตกเลย (แม้จะถูกรุกรานจากทิเบตและจีนบ้างเป็นระยะๆ) ก็น่าจะทำให้ชาวภูฏานภูมิใจในคุณสมบัติของประเทศข้อนี้เป็นอย่างยิ่ง เช่นเดียวกับที่ "พระปรีชาสามารถ" ของกษัตริย์ต้นราชวงศ์วังชุก เป็นเรื่องที่ถูกกล่าวขานอย่างซาบซึ้งตรึงใจในหมู่ชาวภูฏานจนถึงปัจจุบัน

 

นอกจากนี้ สมเด็จพระราชาธิบดีลำดับที่ 1 คือ อุเก็น วังชุก เป็นนักปฏิบัติที่เคร่งครัดของศาสนาพุทธนิกายตันตรยาน (หรือ มหายาน) จึงนำหลักการปกครองแบบธรรมราชามาใช้ นักวิชาการชาวตะวันตกส่วนใหญ่จึงเรียกราชวงศ์วังชุกว่าเป็น Buddhist Monarchy และวิถีชีวิตของชาวภูฎานส่วนใหญ่ก็ผูกพันกับคำสอน แนวคิด และความเชื่อทางพุทธศาสนาอย่างแยกกันไม่ออก

 

การใช้ชีวิตโดยยึดหลักทางสายกลางแบบพอเพียงของพุทธศาสนา ช่วยให้การพัฒนาประเทศดำเนินไปอย่างไม่รีบร้อน ผ่านรัชสมัยของสมเด็จพระราชาธิบดีที่ 2 จนมาถึงรัชสมัยของสมเด็จพระราชาธิบดีที่ 3 "จิกมี ดอร์จี วังชุก" ความเปลี่ยนแปลงก็เกิดขึ้นในภูฎาน คือ การสร้างระบบคมนาคมเชื่อมต่อถนนสายหลักภายในประเทศ และมีการพัฒนาระบบการศึกษา รวมทั้งกำหนดให้ภาษาซองกาเป็นภาษาราชการ

 

เมื่อมาถึงรัชสมัยของสมเด็จพระราชาธิบดีลำดับ 4 จิกมี ซิงเย วังชุก  ก็มองการณ์ไกลพอที่จะใช้ความสุขรวมประชาชาติ (GNH: Gross National Happiness) เป็นตัวชี้วัดความเจริญของประเทศแทนผลผลิตมวลรวม (GNP: Gross National Product) แบบที่ประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ชอบใช้กัน

 

ในปีเดียวกับที่กษัตริย์จิกมี ซิงเย วังชุก ครองราชสมบัติครบ 25 ปี (พ.ศ.2542) ได้มีการเปิดให้ประชาชนภูฏานได้สัมผัสความเป็นไปจากโลกภายนอกผ่านจอโทรทัศน์ และอาจถือได้ว่านี่คือรางวัลประการหนึ่งที่กษัตริย์ภูฏานมอบให้ประชาชนผู้จงรักภักดี

 

แต่ก็ใช่ว่าชาวภูฏานจะมีอิสระเสรีในการเลือกดูเลือกชมรายการอะไรก็ได้ เพราะสิ่งที่ถูกนำมาฉายในทีวีภูฏานช่วงแรกๆ ก็คือการถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอลเวิลด์คัพ และหลังจากนั้นสถานีโทรทัศน์ที่บริหารโดยรัฐบาลจะเป็นผู้คัดเลือกรายการมาให้ประชาชนดูอีกที ในภูฏานไม่มีผู้ประกอบการสถานีโทรทัศน์ที่เป็นของเอกชนเลย และการติดตั้งจานดาวเทียมก็ถือเป็นเรื่องผิดกฎหมายด้วย

 

เมื่อสถานีโทรทัศน์ที่ถ่ายทอดรายการต่างๆ เพิ่งจะเกิดขึ้นเมื่อไม่กี่ปีมานี้ สื่อสิ่งพิมพ์ที่มีในประเทศก็มีแค่หนังสือพิมพ์ Kuensel เพียงรายเดียว ความเปลี่ยนแปลงและอิทธิพลจากโลกภายนอกจึงเข้ามากล้ำกรายภูฎานได้น้อยมาก เมื่อถึงช่วงแห่งการเปลี่ยนผ่านของราชวงศ์ ชาวภูฎานส่วนใหญ่จึงตื่นเต้นกับเหตุการณ์ที่จะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงมากกว่าจะมองว่าเป็นเรื่องน่ากลัว

 

มุ่งสู่การปฏิรูปการปกครองประเทศแบบแนบเนียนและพอเพียง

กษัตริย์องค์ใหม่แห่งภูฏานประกาศอย่างชัดเจนว่าจะคงแนวคิดเรื่องความสุขรวมประชาชาติเอาไว้ เพื่อให้ประชาชนชาวภูฏานอยู่อย่างเรียบง่ายและสงบงามตามเดิม แต่สิ่งที่สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก ตั้งเป้าไว้ว่าจะพัฒนาเป็นอันดับแรกๆ ได้แก่เรื่องของสวัสดิการและการวางระบบสาธารณสุขที่ดี (กว่าเดิม)

 

เพราะเท่าที่เป็นอยู่ แม้ประชาชนชาวภูฏานจะมีสิทธิ์รักษาพยาบาลฟรี แต่ประชาชนเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ เพราะสถานพยาบาลส่วนใหญ่อยู่ไกลและไม่เพียงพอจะให้ประชาชนเข้าถึงโดยง่ายดาย

 

ส่วนชนชั้นสูงในภูฏานก็ไม่นิยมใช้โรงพยาบาลในบ้านเมืองของตัวเอง แต่มักจะมารับการรักษาหรือตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาลในประเทศไทย เพราะมีเครื่องไม้เครื่องมือและบริการที่ทันสมัยกว่าที่ภูฏานมาก

 

หนทางหนึ่งที่กษัตริย์จิกมี เคเซอร์ฯ ใช้ในการเข้าถึงประชาชนตั้งแต่ครั้งยังเป็นมกุฎราชกุมารก็คือการออกตระเวนไปตามพื้นที่ต่างๆ อันไกลแสนไกลในหุบเขา จากนั้นแพทย์หลวงก็จะเข้าไปบรรเทาความเจ็บป่วยของชาวบ้านละแวกนั้น เป็นความพยายามที่จะแสดงให้ประชาชนเห็นว่าสมาชิกแห่งราชวงศ์ภูฏานห่วงใยประชาชนของตนมากเพียงใด และนั่นก็คือการผูกใจคนด้วยวิธีการที่แสนจะแนบเนียน

 

อีกเรื่องหนึ่งที่มีการพูดถึงก็คือการปฏิรูปที่ดินทำกินอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งอาจมีการสานต่อโครงการของกษัตริย์จิกมี ซิงเย วังชุก ที่คิดจะจัดสรรพื้นที่ทางตอนใต้ของภูฏานให้แก่ชาวบ้านที่ไม่มีที่ทำกินในภาคอื่นๆ ได้เข้ามาจับจอง แต่การปฏิรูปที่ดินด้วยวิธีนี้ถูกคัดค้านจากองค์กรต่างๆ ที่เคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน ด้วยเหตุผลว่า พื้นที่ทางตอนใต้ของภูฏานเป็นพื้นที่ของชาวบ้านที่ถูกเนรเทศออกไปนอกประเทศเมื่อประมาณ 16 ปีก่อน และผู้ที่คัดค้านนโยบายนี้ได้รวมตัวกันเดินขบวนประท้วงอย่างสันติ ก่อนที่มกุฎราชกุมารจิกมี เคเซอร์ฯ จะเข้ารับตำแหน่งประมุขของประเทศอย่างเป็นทางการเพียง 5 วัน [3]

 

หลักฐานที่เจ้าหน้าที่ยูเอ็นและนักวิชาการอิสระช่วยกันรวบรวมระบุว่า ชาวภูฏานที่โดนเนรเทศเหล่านั้นถูกกองกำลังของราชวังหลอกล่อ ข่มขู่ และทำทุกวิถีทางให้เซ็นสัญญา "อาสา" ลี้ภัยไปยังเนปาล โดยที่ผู้ลี้ภัยเหล่านี้ต้องเผชิญหน้ากับการทารุณ ข่มขืน และทำร้ายร่างกายพ่วงมาเป็นของแถมด้วย [4]

 

เหตุผลมีอยู่ว่า ชาวภูฏานที่อยู่ทางใต้ มีเชื้อสายเนปาลกว่าครึ่ง ซึ่งต่างจากชาวภูฏานในภาคอื่นๆ ที่สืบเชื้อสายมาจากชาวทิเบต และชาวเนปาลที่อพยพเข้ามาอยู่ในภาคใต้ของภูฏาน เข้ามาในประเทศเป็นครั้งแรกเมื่อสมเด็จพระราชาธิบดีที่ 3 จิกมี ดอร์จี วังชุก มีดำริให้สร้างหนทางคมนาคมเชื่อมต่อกันภายในประเทศ และต้องใช้เวลายาวนานมากในการสร้างความศิวิไลซ์ให้กับภูฏาน แรงงานที่มาจากเนปาลจึงตั้งรกรากอยู่ที่ภูฏานตามใบอนุญาตที่ขอจากผู้ปกครองเมืองในขณะนั้น

 

จนกาลเวลาผ่านไปสิบกว่าปี แรงงานชาวเนปาลอพยพรุ่นที่ 1 ก็เปลี่ยนผ่านเป็นชาวภูฏานเชื้อสายเนปาลแทน แต่ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในเนปาล ส่งผลกระทบต่อชาวภูฏานเชื้อสายเนปาลอย่างยิ่ง เพราะเป็นที่รู้กันว่าชาวเนปาลที่นิยมลัทธิเหมา ต่อต้านการปกครองในระบอบกษัตริย์ และมีกองกำลังที่เพียงพอต่อการสร้างความสั่นสะเทือนให้แก่บัลลังก์กษัตริย์เนปาลได้

 

ด้วยเหตุนี้ ชาวภูฏาน-เนปาลที่เคยสร้างความเจริญให้กับประเทศก็กลายเป็นชนชาติที่เป็นอื่นและไม่น่าไว้ใจไปเสียแล้ว จึงเป็นที่มาของการไม่ต่อใบอนุญาตให้แก่ชาวเนปาลที่ย้ายมาอยู่ในภูฏาน และนำไปสู่การขับไล่ชาวภูฏาน-เนปาลออกไปจากพื้นที่ทางตอนใต้ของประเทศ

 

นั่นคือความเป็นมาที่ทำให้เรื่องราวของชาวเนปาลี (หรือชาวภูฏานเชื้อสายเนปาล) ไม่เป็นที่นิยมพูดกันในเวทีการเมืองระดับประเทศของภูฎานสักเท่าไหร่ และได้ลุกลามกลายเป็นเรื่องต้องห้ามระหว่างประเทศหลังจากที่นักวิชาการชาวอังกฤษรายหนึ่งได้รับอนุญาตให้เข้ามาศึกษาวิถีชีวิตที่แนบอิงอยู่กับคำสอนของศาสนาพุทธในแบบภูฏาน นักวิชาการคนนั้นกลับสังเกตถึงบ้านเรือนมากมายที่ถูกทิ้งร้างอยู่ทางตอนใต้ของประเทศ

 

หลังจากที่ได้รวบรวมข้อมูลตั้งแต่ พ.ศ. 2533 - 2544 หนังสือชื่อ Unbecoming Citizens: Culture, Nationhood, and the Flight of Refugees from Bhutan ซึ่งเขียนโดย "ไมเคิล ฮัทท์" และมีเนื้อหาเกี่ยวกับความเป็นมาของการอพยพชาวภูฏานเชื้อสายเนปาลออกไปนอกประเทศ ก็ถูกตีพิมพ์ออกสู่สายตาชาวโลกในปี 2548

 

คำถามถึงการมีอยู่ของชาวภูฎานเชื้อสายเนปาล ผู้ถูกทำให้เป็น "ชนกลุ่มน้อย" ที่โดนผลักไสออกไปจากบ้านเรือนที่พวกเขาเคยลงแรงแผ้วทาง กลายเป็นเรื่องต้องห้ามในภูฏาน ผลงานของฮัทท์ถูกแปะยี่ห้อว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ และตัวฮัทท์เองก็กลายเป็นอาชญากรที่ "ทรยศ" ต่อความไว้วางใจของชาวภูฏานที่เปิดโอกาสให้เขาเข้าไปศึกษาค้นคว้าข้อมูลอยู่นานหลายปี ถึงขั้นที่เขาถูกสั่งห้ามไม่ให้เข้าไปในภูฎานอีก [5]

 

ภาพจาก มติชน

 

หนทางสู่ประชาธิปไตยของภูฏาน (และนานาปัญหาที่รอเวลาสะสาง)

สื่อหลายแห่งทั่วโลกต่างรายงานว่าการขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ฯ จะเป็นหมุดหมายที่สำคัญในการสร้างประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นในภูฏาน และเชื่อกันว่ากระบวนการสร้างประชาธิปไตยจะดำเนินไปอย่างละมุนละม่อม และไม่น่าจะมีการเสียเลือดเสียเนื้อใดๆ เหมือนอย่างที่ราชวงศ์กษัตริย์ในประเทศเนปาลประสบชะตากรรมให้เห็นเป็นตัวอย่าง

 

แม้ว่าเนปาลและภูฏานจะเป็นประเทศที่อยู่ใต้เงื้อมเงาของเทือกเขาหิมาลัยด้วยกันทั้งคู่ แต่ชั้นเชิงในการปกครองประชาชนของประมุขทั้งสองประเทศต่างกันอย่างสิ้นเชิง

 

ขณะที่กษัตริย์เนปาลองค์สุดท้ายขึ้นครองราชย์อย่างไม่โปร่งใส เพราะไม่มีการชำระประวัติศาสตร์ในคดีฆาตกรรมสมาชิกราชวงศ์เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา จึงยังเป็นที่กังขาถึงการเถลิงอำนาจของกษัตริย์คเยนทรามาโดยตลอด แต่ที่ร้ายกว่านั้นก็คือการยึดอำนาจของฝ่ายบริหารมาเป็นของตัวเองภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช ประชาชนเนปาลที่เคยยึดมั่นในหลักสมมติเทพมาตลอดก็ยังทนไม่ได้ ต้องลุกขึ้นมาปฏิวัติขับไล่กษัตริย์ออกไปจากตำแหน่งประมุขของประเทศ

 

ในเวลาเดียวกัน กษัตริย์ภูฏานพร้อมจะมอบอำนาจคืนให้กับประชาชนก่อนจะมีการร้องขอเกิดขึ้น และกษัตริย์ก็ยินยอมที่จะอยู่ "ภายใต้" กฏหมายรัฐธรรมนูญด้วยความยินดี ติดอยู่นิดเดียวก็ตรงที่รัฐธรรมนูญของภูฏานร่างกันมายาวนานตั้งแต่ปี 2542 โน่นเลยทีเดียว (แต่ก็เข้าใจได้ว่ารัฐธรรมนูญไม่ใช่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่จะทำให้เสร็จได้อย่างรวดเร็วในเวลาชั่วพริบตา)

 

หากย้อนกลับไปก่อนหน้านั้นสัก 2-3 ปี สิ่งที่รัฐสภาภูฏานกังวลมากที่สุดไม่ใช่เรื่องการร่างรัฐธรรมนูญ แต่เป็นการชั่งน้ำหนักว่าภูฏานควรจะมีรัฐสภาแบบไหนดี ระหว่างรัฐสภาที่มีพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียว และอำนาจในการบริหารประเทศจะขึ้นตรงต่อผู้นำประเทศ ซึ่งได้แก่นายกรัฐมนตรี (โดยมีพระมหากษัตริย์ ผู้เป็นประมุขอยู่ใต้รัฐธรรมนูญคอยลงนามเห็นชอบในเรื่องต่างๆ อีกต่อหนึ่ง) หรือจะเปิดให้มีพรรคการเมืองมากกว่าหนึ่ง เพื่อใช้เป็นกลไกในการถ่วงดุลและตรวจสอบการทำงานของแต่ละฝ่าย

 

ในที่สุด รัฐสภาก็ตกลงกันได้ว่าจะใช้ระบบการเมืองแบบสองพรรค และการบริหารประเทศจะประกอบด้วยสองสภาตามร่างรัฐธรรมนูญปัจจุบัน คือสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ 75 ที่นั่ง และสมาชิกสภาแห่งชาติอีก 25 ที่นั่ง โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขแห่งรัฐเช่นเดิม ส่วนการเลือกตั้งครั้งสำคัญที่จะนำภูฏานไปสู่วิถีแห่งประชาธิปไตยจะจัดขึ้นในปี พ.ศ. 2551 อย่างแน่นอน

 

ถึงวันนี้ รัฐสภาที่มาจากการแต่งตั้ง และมีสมาชิกเพียง 161 คน ยังคงเสียงแตกเป็นหลายฝ่าย เนื่องจากบทบัญญัติที่เพิ่งผ่านออกมา เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2549 ระบุว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะต้องสำเร็จการศึกษา (อย่างน้อย) ระดับปริญญาตรีขึ้นไป แต่ในความเป็นจริง ประชาชนชาวภูฏานที่ได้รับการศึกษาถึงระดับนั้นมีน้อยมาก จึงมีผู้คัดค้านว่าการจบปริญญาหรือไม่จบนั้น ไม่เกี่ยวกับความสามารถในการทำงานเพื่อประเทศชาติเลย และการจำกัดวุฒิของผู้สมัครเลือกตั้ง ส.ส.ที่จะจัดขึ้นในปี 2551 ก็ดูจะเป็นการเปิดโอกาสให้ชนชั้นสูงซึ่งมีโอกาสเรียนจนจบปริญญาได้เข้ามาครอบครองพื้นที่ในสภามากกว่าครึ่ง

 

นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนบางส่วนจึงมองว่าการเปิดช่องทางประชาธิปไตยในภูฏาน เป็นเพียงการซื้อเวลาไม่ให้นานาประเทศมองว่าภูฏานเป็นเพียงประเทศล้าหลัง และเพื่อป้องกันไม่ให้มีการเคลื่อนไหวของผู้ต่อต้านเกิดขึ้น และถ้าจะพูดถึงกระบวนการประกอบสร้างประชาธิปไตยแบบ "ภูฏานๆ" ก็ส่อเค้าว่าจะวุ่นวายไม่แพ้เนปาลสักเท่าไหร่

 

ทางด้าน "เอ.ซี. ซิงห์" ศาสตราจารย์ชาวอินเดีย ผู้เชี่ยวชาญด้านภูฏานศึกษา ได้ตั้งข้อสังเกตว่าแม้จะมีการตั้งรัฐสภาขึ้นมา แต่กระบวนการประกอบสร้างประชาธิปไตยในภูฏาน ก็ยังถูกขับเคลื่อนโดยกษัตริย์จิกมี ซิงเย วังชุก อยู่ดี และประชาชนชาวภูฏานส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ตระหนักถึงความจำเป็นของระบอบประชาธิปไตยสักเท่าไหร่ เพราะชาวภูฏานส่วนใหญ่ยังคุ้นชินกับการปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่ของรัฐ เช่นเดียวกับที่การปลูกฝังเรื่องประชาธิปไตยในหลักสูตรการศึกษาของภูฏานมิได้ดำเนินไปอย่างจริงจังนัก [6]

 

นอกจากนี้ การร่างรัฐธรรมนูญของภูฏานยังถูกมองเป็นเพียงเครื่องมือต่อรองกับองค์กรระหว่างประเทศ เช่น UNHCR เพื่อให้ยูเอ็นเห็นอกเห็นใจว่าภูฏานกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากระบอบกษัตริย์ไปเป็นประชาธิปไตย แต่การที่สำนักงานใหญ่ผู้ลี้ภัยฯ ของยูเอ็นจะทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้กับปัญหาชาวภูฏานที่ตกค้างอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยในประเทศเนปาลกว่า 1 แสนคนได้ คงเป็นเรื่องยากพอดู

 

ผู้ลี้ภัยชาวภูฎานเชื้อสายเนปาลที่กลายเป็นคนพลัดถิ่นฐานและตกค้างอยู่ทางภาคตะวันออกของเนปาล รวมแล้วกว่า 100,000 คน ได้รวมตัวกันเพื่อเรียกร้องสิทธิของพวกตนอย่างแข็งขัน และหนึ่งในผู้นำกลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน ชื่อ Ratan Gazmere ได้ตอบคำถามของนักข่าวของบีบีซีที่อ้างถึงการก่อร่างสร้างประชาธิปไตยในแบบของราชวงศ์วังชุกว่า

 

"จะเรียกว่าประชาธิปไตยที่แท้จริงได้อย่างไร ในเมื่อผู้ลี้ภัยชาวภูฏานกว่าแสนคนยังถูกบีบบังคับให้ต้องอยู่อาศัยภายนอกราชอาณาจักร?" [7]

 

000

 

การเข้ารับตำแหน่งต่อจากกษัตริย์จิกมี ซิงเย วังชุก จึงเป็นภารกิจที่อดีตมกุฎราชกุมารจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก ต้องรับมือต่อไปอีกนาน เพราะดูเหมือนจะมีปัญหาอีกมากมายที่รอเวลาสะสางอยู่

 

เชื่อว่าสมเด็จพระราชาธิบดี จิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก จะทรงรู้ตัวดีว่าน้ำหนักแห่งภารกิจที่ถูกวางลงบนบ่านั้นใหญ่หลวงเพียงไร จึงทรงปฏิญาณตนในวันขึ้นครองบัลลังก์ว่าจะทรงยกเลิกอำนาจการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราช และเปลี่ยนแปลงภูฏานเข้าสู่การปกครองแบบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และจะปฏิบัติตามแนวทางที่กษัตริย์จิกมี ซิงเย วังชุก ทรงปฏิบัติมาก่อนหน้านี้ เพื่อที่ประชาชนภูฏานจะได้เบาใจว่ากษัตริย์ของพวกเขาจะใช้หลักธรรมในการบริหารประเทศเหมือนที่เคยเป็นมา

 

อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากกษัตริย์จิกมี ซิงเย วังชุก ผู้เป็นบิดา กษัตริย์รายล่าสุดของโลกยังมีบุคคลสำคัญที่เป็นแนวทางในการปฏิบัติภารกิจอันยิ่งใหญ่อีกพระองค์หนึ่ง เพราะคำกล่าวในพิธีรับมอบปริญญาดุษฎีบัณฑิต (กิตติมศักดิ์) ที่มหาวิทยาลัยรังสิต เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2549 กษัตริย์จากภูฎานได้กล่าวชัดถ้อยชัดคำ (และหวานหูคนไทยจำนวนมาก) ว่าตนจะใช้แนวทางการปกครองประเทศโดยมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ของไทยเป็นแบบอย่าง [8]

 

ไม่ว่าในทางปฏิบัติจะเป็นจริงได้หรือไม่ ก็นับว่าเป็นการเลือกข้างที่ถูกต้องสำหรับกษัตริย์ที่ต้องการอยู่เคียงข้างประเทศชาติไปอีกนานๆ เพราะชาวภูฏานคงไม่ตั้งคำถามถึงความไม่เท่าเทียมกัน และสิ่งสมมติอย่าง "ประชาธิปไตย" ก็คงไม่จำเป็นเท่าไหร่นัก ในเมื่อชีวิตปัจจุบัน พวกเขาเป็นชนชาติที่มีความสุขรวมประชาชาติในประเทศติดอันดับต้นๆ ของโลกอยู่แล้ว…

 

ข้อมูลประกอบ

[1] บทบรรณาธิการ "Of Destiny" จากหนังสือพิมพ์คุนเซลออนไลน์ วันที่ 16 ธันวาคม 2549

 

[2] Samtse questions the need for change

 

[3] PEACEFUL DEMONSTRATIONS ON NATIONAL DAY OF BHUTAN

 

[4] Bhutan King"s abdication draws mixed reaction from refugee community

 

[5] บทวิจารณ์หนังสือ Unbecoming citizens: Culture, Nationhood, and the Flight of Refugees from Bhutan/ ผู้เขียน Michael Hutt

 

[6] Citizenship and refugees will be a big issue for the small kingdom

 

[7] Bhutan moves towards democracy: The king wants to become a "constitutional" monarch

 

[8] "เจ้าชายจิกมี" ทรงยกย่อง "ในหลวง" สุดยอดกษัตริย์ ให้เด็กเรียนรู้จากพระองค์, เวบไซต์มติชน วันที่27 พฤศจิกายน 2549

 

 

 

 

     

โครงการ Visibleman 2006

 

คือการมองย้อนหลังในระยะเวลา 1 ปี

และค้นหาคนที่เรา "ประชาไท" เห็นเด่นชัดที่สุด

 

Visibleman ของเรา ไม่ใช่ข้อสรุปจากผลการศึกษา มิใช่ผลงานทางวิชาการ หรือการวิจัยใดๆ

แต่เราปรารถนาให้ผู้อ่านเห็นถึงนัยที่เราเลือก

กระบวนการเลือก กระบวนการการทำงาน การถกเถียง ตลอดจนการหาข้อสรุปของเรา

 

เพราะเหตุนี้ เราจึงตระหนักดีว่า

ความน่าเชื่อถือและพลังของการเลือกบุคคลผู้ที่จะเป็น Visibleman ของเรานั้น อยู่ที่เราแต่ละคน

ยิ่งเราแต่ละคนเติบโตขึ้นเท่าไร ลุ่มลึกมากเท่าใด

ความน่าเชื่อถือในโครงการ Visibleman ก็มากขึ้นเท่านั้น

 

เราปรารถนาให้โครงการ Visibleman ได้แสดงถึงความอ่อนด้อยของเรา

ตลอดจนการเติบโต ความรู้ของเรา และรายงานต่อผู้อ่านอย่างซื่อตรง

 

กล่าวอีกอย่างก็คือ

โครงการ Visibleman

ไม่ใช่เพียงเพื่อการเสนอนัยของ "บุคคลที่เราเห็น" ในปีที่ผ่านมา

หากแต่ยังหมายถึงการรายงานพัฒนาการของเราต่อผู้อ่านด้วย

 

…………………………….

 

Visibleman 2006 ได้เปิดให้ผู้สื่อข่าวและเจ้าหน้าที่ "ประชาไท" เสนอชื่อ

ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2549

ก่อนจะจัดทำข้อเสนอ ความเห็น ข้อมูล เพื่อร่วมถกเถียงหาข้อสรุป

ในวันที่ 18 ธันวาคม 2549

และทยอยนำเสนอต่อผู้อ่าน

ตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2549

จนไปสิ้นสุดที่รายชื่อผู้ที่สมควรเป็น Visibleman 2006 ของ "ประชาไท"

ในวันที่ 4 มกราคม 2550

โดยมีรายชื่อพร้อมผู้เสนอ ดังนี้

 


รายชื่อ  Visibleman 2006  และผู้เสนอ

 

 

กษัตริย์ คเยนทรา วีระ วิกรม ชาหะเทวะ    เสนอโดย  พงษ์พันธุ์  ชุ่มใจ
พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์   เสนอโดย  ชูวัส  ฤกษ์ศิริสุข และ
    พิณผกา  งามสม
นวมทอง ไพรวัลย์ เสนอโดย  มุทิตา  เชื้อชั่ง
จาตุรนต์ ฉายแสง เสนอโดย  ภาพันธ์  รักษ์ศรีทอง
จูหลิง ปงกันมูล เสนอโดย  มูฮัมหมัด  ดือราแม
อังคณา นีละไพจิตร เสนอโดย  นัดดา  มะลี
น้องเดียว - ด.ช.พัทธดนย์ เกลี้ยงจันทร์ เสนอโดย  เสาวภา  พุทธรักษา
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล เสนอโดย  อรพิณ  ยิ่งยงพัฒนา
ครูตี๋ - นิวัฒน์ ร้อยแก้ว เสนอโดย  องอาจ  เดชา
พล.อ. สพรั่ง กัลยาณมิตร เสนอโดย  วิทยากร  บุญเรือง
สุรพล นิติไกรพจน์ เสนอโดย  จิรนันท์  หาญธำรงวิทย์ 
วรเจตน์ ภาคีรัตน์ เสนอโดย  พิณผกา  งามสม
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เสนอโดย  พิณผกา  งามสม
จิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก เสนอโดย  ตติกานต์  เดชชพงศ

 

 

……………………………..


 

 

  

โครงการ Visibleman 2006

ดำเนินการถกเถียง แลกเปลี่ยน และหาข้อสรุป

โดย รุจน์ โกมลบุตร

คณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และกรรมการประชาไท

    

 

 

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net