Skip to main content
sharethis

นิวัฒน์ ร้อยแก้ว หรือ ครูตี๋ ปราชญ์ชาวบ้านผู้พิทักษ์แม่น้ำโขงแห่งเครือข่ายรักษ์เชียงของ ตอกกองทัพนักข่าวจีนแดงบุกเหนือทวงไทยระเบิดแก่ง-สร้างนิคม ชี้มีอะไรให้มาถามชาวบ้าน สอนสื่อไทย-รองฯ ผู้ว่าฯ ให้รู้ทันผลประโยชน์จีน ย้ำชาวบ้านทำวิจัยมานาน ถ้าระเบิดแก่ง-สร้างนิคมอุตสาหกรรม ชุมชนล่มสลายแน่นอน

ประชาไทภาคเหนือ รายงาน

 

ตามที่ สำนักนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลปักกิ่ง โดย Mr.Huang Junxion ผู้อำนวยการ Information Office of the State Council พร้อมด้วยสำนักข่าวสารของมณฑลยูนนาน นำตัวแทนคณะสื่อมวลชน-นักเขียนจีนหลายสำนักข่าวกว่า 50 ชีวิต ล่องเรือมายังประเทศไทยเมื่อวันที่ 17-23 ธันวาคม 2549 โดยคณะดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เดินทางมาศึกษาสำรวจเส้นทางคมนาคมแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง สู่อินโดจีน เพื่อติดตามความคืบหน้าโครงการพัฒนาสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ/การเดินเรือในแม่น้ำโขง รวมถึงการเปิดเส้นทางการค้า - การลงทุน-การท่องเที่ยวจีน-ไทย ผ่านแม่น้ำโขงนั้น

 

โดยการเข้าพบตัวแทนภาครัฐและเอกชนของไทย ผู้สื่อข่าวจีนได้พยายามสอบถามถึงความคืบหน้าในการพัฒนาเส้นทางการค้าผ่านแม่น้ำโขง หลังจากไทย พม่า ลาว จีน ลงนามในข้อตกลองเปิดใช้แม่น้ำโขงตอนบนเพื่อการเดินเรือพาณิชย์อย่างเป็นทางการแล้ว ว่า รัฐบาลไทย ดำเนินนโยบายใดบ้างที่สนับสนุนให้การเดินเรือสายนี้เป็นจริงขึ้นมาได้ ประเด็นปัญหาการระเบิดแก่งกลางแม่น้ำโขง ที่ทางการจีนได้ดำเนินการมาตั้งแต่ 2-3 ปีก่อน จนเหลือเพียง 2-3 แก่งบริเวณเหนือสามเหลี่ยมทองคำ และชายแดนไทย-ลาว ที่ยังไม่สามารถดำเนินการได้เพราะเหตุใด มูลค่าการค้าไทย-จีน แท้จริงแล้วมีอยู่เท่าใดกันแน่ ทิศทางการพัฒนาการค้า-การลงทุนในย่านสามเหลี่ยมทองคำในอนาคตของรัฐบาลไทย ภาวะการท่องเที่ยวระหว่างไทยและจีน โดยเฉพาะความเชื่อมโยงของเชียงใหม่ เชียงราย กับมณฑลยูนนาน

 

ต่อเรื่องนี้ ผู้สื่อข่าวได้สอบถามไปยัง นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว หรือ 'ครูตี๋' ปราชญ์ชาวบ้านแห่งเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง-ล้านนา และกลุ่มรักษ์เชียงของ ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาสังคมที่อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนภูมิปัญญา ศิลปวัฒนธรรมของชุมชนลุ่มแม่น้ำโขงในภาคเหนือ ตลอดจนมีบทบาทเป็นเวลานานในการคัดค้านการระเบิดแก่งกลางแม่น้ำโขงเพื่อขยายเส้นทางเดินเรือโดยตลอด ด้วยเกรงว่าจะทำให้ระบบนิเวศวิทยาในแม่น้ำโขงและทำให้วิถีชีวิตของชาวบ้านที่พึ่งพาอาศัยการจับปลาเป็นอาชีพล่มสลาย

 

โดยนายนิวัฒน์กล่าวว่าช่วยไปถามนักข่าวจีนว่าไปถามข้าราชการไทยทำไม ทำไมไม่มาถามชาวบ้านที่นี่ ทั้งนี้เรื่องต่อต้านการระเบิดแก่งในแม่น้ำโขง ชาวบ้านสู้กันมา 5 ปี สู้กันมานาน สื่อมวลชนจีนเอาแต่ประโยชน์บ้านเขา เรื่องระเบิดแก่งนี้มีแต่จีนเท่านั้นที่ได้ประโยชน์ ชาวบ้านไม่ได้ประโยชน์ ภูมิปัญญาองค์ความรู้เรื่องปลา เรื่องประมงพื้นบ้าน ความหลากหลายสิ่งแวดล้อมจะล่มสลาย

 

ผู้สื่อข่าวถามนายนิวัฒน์ว่าตามที่นายวรชัย อุตตมชัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่าไทยยังมีโครงการที่จะสร้างท่าเรือเชียงแสนแห่งที่ 2 เพิ่ม หลังจากท่าเรือเชียงแสน 1 ไม่สามารถขยายตัวเพราะติดปัญหาพื้นที่อนุรักษ์ ขณะเดียวกันถ้าหากถนน R3a จีน ลาว ไทย แล้วเสร็จในปี 50-51 ก็จะมีการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงขึ้นที่ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย เชื่อมกับถนนดังกล่าว ยิ่งจะทำให้การค้า การลงทุนคึกคักมากขึ้น และไทยเองก็มีโครงการนิคมอุตสาหกรรมที่ อ.เชียงแสน ขึ้นมารองรับแล้ว โดยขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการหาผู้ร่วมทุนอยู่นั้น

 

นายนิวัฒน์กล่าวว่าเรื่องนี้สื่อมวลชนจีนต้องถามชาวบ้านเพราะชาวบ้านอยู่ที่นี่ตั้งแต่เกิด ไปถามรองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายทำไม รองผู้ว่าราชการฯ คนใหม่นี่เขาเพิ่งมา เขาไม่รู้เรื่องท้องถิ่น แล้วผู้ว่าฯ เชียงรายก็ย้ายไปไม่รู้กี่คนต่อกี่คนแล้ว

 

"เรื่องระเบิดแก่งในแม่น้ำโขง ชาวบ้านก็ทำวิจัยไปแล้วว่า ระเบิดแก่งเพื่อขยายแม่น้ำเพื่อเดินเรือมันได้ผลไม่คุ้ม องค์ความรู้เรื่องแม่น้ำโขงของชาวบ้าน พืช สัตว์น้ำ จะหายไปหมด นักข่าวจีนเป็นคนหาเรื่อง ไม่ใช่ชาวบ้านหาเรื่อง เพราะฉะนั้นต้องถามนักข่าวจีนว่าถามเพื่อประโยชน์ใคร"

 

"นักข่าวจีนไม่มีจรรยาบรรณ ทำประโยชน์ให้แต่รัฐบาลเขา มันก็ย้ำในเรื่องนโยบายมัน ไม่นึกถึงหัวชาวบ้านทำไมไม่ถามชาวบ้าน รองผู้ว่าฯ มาได้กี่วัน ชาวบ้านทำวิจัยเรื่องน้ำโขงมากี่วัน นักข่าวไทยต้องรู้วอกนักข่าวจีนบ้าง เรื่องนี้นักข่าวจีนแน่จริงให้เข้ามาถามชาวบ้าน อยากรู้อะไรให้มาถามครูตี๋นี่" นายนิวัฒน์กล่าว

 

นายนิวัฒน์ยังกล่าวถึงกรณีที่รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายมีแผนรื้อฟื้นการสร้างนิคมอุตสาหกรรมที่ อ.เชียงแสน ขึ้นมาใหม่หลังจากถูกชาวบ้านต่อต้านว่า "รองผู้ว่าฯ ยังไม่ทันรู้ว่าสร้างแล้ว ชาวบ้านจะเดือนร้อนหรือไม่ ทำแบบนี้มันผิดแล้ว บ้านเมืองมันจะเดือดร้อน ที่บ้านเมืองมีการปฏิวัติก็ย้อน (ก็เพราะ) ไม่ฟังชาวบ้านชาวจอง (ชาวบ้านชาวเมือง) นี่แหละ การหานักลงทุนมาลงทุนของรองผู้ว่าฯ โดยที่ไม่ถามชาวบ้าน ก็เท่ากับเอาเงินมาวางกองไว้ตรงหน้า แต่ไม่เอาธรรมนำหน้า กลับเอากิเลสนำหน้า ซึ่งการทำโครงการก่อสร้างแบบนี้จะทำให้ชาวบ้านผิดหัว (ทะเลาะ) กัน"

 

นายนิวัฒน์เสนอทางเลือกให้กับการพัฒนาพื้นที่ริมแม่น้ำโขงในจังหวัดเชียงรายว่า "ที่นี่แม้จะเป็นเมืองชายแดน แต่ก็เป็นหน้าเป็นตาของบ้านเมือง จะทำนิคมอุตสาหกรรมได้ไง มีที่อื่นให้ทำนิคมฯ เยอะแยะ เชียงแสนเป็นเมืองชายขอบ ที่มีคุณค่า มีภูมิปัญญา มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ต้องรักษาไว้ อย่าไปสนองนักข่าวจีน ประเทศจีนมันเป็นประเทศเผด็จการ มันเป็นคอมมิวนิสต์ดีๆ นี่แหละ ไม่เหมือนบ้านเรามีปฏิวัติเราด่าว่าทหารได้ ทหารมันยังไม่ว่าอะไร"

 

ส่วนเรื่องการสร้างถนน R3a จีน - ลาว - ไทย จากยูนนาน - เชียงของ เพื่อขยายการค้านั้น นายนิวัฒน์กล่าวว่า "เรื่องการค้านั้นมันก็มีทางเลือกอยู่ว่าจะให้ทิศทางของบ้านเมืองเป็นอย่างไร คือจะทำถนน (หมายถึงถนนสาย R3a) ก็ทำไป ชาวบ้านเขาไม่ว่า แต่อย่ามาทำร้ายทำลายอะไรกับแม่น้ำโขง อย่าไปยุ่งของๆ ชาวบ้าน วิถีชีวิตชาวบ้านจะล่มสลาย" นายนิวัฒน์กล่าวในที่สุด

 

สื่อจีนแดงบุกไทย : การรุกของโลกาภิวัฒน์  "แดง" Made in China

 

เมื่อวันที่ 17-23 ธันวาคม ที่ผ่านมา สำนักนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลปักกิ่ง โดย Mr.Huang Junxion ผู้อำนวยการ Information Office of the State Council สาธารณรัฐประชาชนจีน พร้อมด้วยสำนักข่าวสารของมณฑลยูนนาน นำตัวแทนคณะสื่อมวลชน-นักเขียนจีนหลายสำนักข่าวกว่า 50 ชีวิต ล่องเรือมายังประเทศไทย โดยคณะดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เดินทางมาศึกษาสำรวจเส้นทางคมนาคมแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง สู่อินโดจีน เพื่อติดตามความคืบหน้าโครงการพัฒนาสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ / การเดินเรือในแม่น้ำโขง รวมถึงการเปิดเส้นทางการค้า - การลงทุน-การท่องเที่ยวจีน-ไทย ผ่านแม่น้ำโขง

 

คณะดังกล่าวได้ล่องเรือจากท่าเรือกวนเหล่ย สิบสองปันนา มณฑลยูนนาน ถึงท่าเรือเชียงแสน จ.เชียงราย นัดหมายสัมภาษณ์ตัวแทนภาครัฐ-เอกชนไทยที่เกี่ยวข้องในระดับจังหวัด - รัฐบาล

 

ตั้งแต่นายอำเภอเชียงแสน ด่านศุลกากร ส่วนควบคุมพืช ตม.เชียงแสน นายวรชัย อุตตมชัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย นายพัฒนา สิทธิสมบัติ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงราย นายวิชัย ศรีขวัญ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นายณรงค์ ตนานุวัฒน์ประธานหอการค้าฯเชียงใหม่ และคณะ ตัวแทนคณะกรรมการเพื่อโครงการสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ หอการค้าภาคเหนือ ธนาคารแห่งประเทศไทยสาขาภาคเหนือ สำนักงานส่งเสริมการลงทุนภาคเหนือ

 

นอกจากนี้ยังมีกำหนดการเข้าสัมภาษณ์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี ตัวแทนกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กรมศุลกากร ที่กรุงเทพมหานคร และหลังจากนั้นจะเดินทางต่อไปยังสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เพื่อพบกับตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเส้นทางคมนาคมในสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจอีกด้วย

 

การเดินทางของคณะดังกล่าว นิตยสารรายสัปดาห์พลเมืองเหนือถึงกับกล่าวว่า "นับจากการบุกเบิกเส้นทางล่องแม่น้ำโขงจากมณฑลยูนนาน ประเทศจีน เชื่อมมายังประเทศไทย ที่จังหวัดเชียงราย เมื่อปี 2535 การนำกองทัพนักข่าวกว่า 50 ชีวิตจากสำนักข่าวหลายแห่งของทางการจีน ล่องเรือมายังประเทศไทยเมื่อวันที่ 17 - 23 ธันวาคม 2549 ถือว่าเป็นคณะประวัติศาสตร์ และส่งสัญญาณถึงการรุกคืบเส้นทางสายนี้ของจีนอย่างน่าจับตา"

 

สื่อจีนรุกถามความคืบหน้าเส้นทางการค้าผ่านแม่น้ำโขง "ระเบิดแก่ง-ตัดถนน"

การเข้าพบตัวแทนภาครัฐและเอกชนของไทย ผู้สื่อข่าวจีนได้พยายามสอบถามถึงความคืบหน้าในการพัฒนาเส้นทางการค้าผ่านแม่น้ำโขง หลังจากไทย พม่า ลาว จีน ลงนามในข้อตกลองเปิดใช้แม่น้ำโขงตอนบนเพื่อการเดินเรือพาณิชย์อย่างเป็นทางการแล้ว ว่า รัฐบาลไทย ดำเนินนโยบายใดบ้างที่สนับสนุนให้การเดินเรือสายนี้เป็นจริงขึ้นมาได้ ประเด็นปัญหาการระเบิดแก่งกลางแม่น้ำโขง ที่ทางการจีนได้ดำเนินการมาตั้งแต่ 2-3 ปีก่อน จนเหลือเพียง 2-3 แก่งบริเวณเหนือสามเหลี่ยมทองคำ และชายแดนไทย-ลาว ที่ยังไม่สามารถดำเนินการได้เพราะเหตุใด มูลค่าการค้าไทย-จีน แท้จริงแล้วมีอยู่เท่าใดกันแน่ ทิศทางการพัฒนาการค้า-การลงทุนในย่านสามเหลี่ยมทองคำในอนาคตของรัฐบาลไทย ภาวะการท่องเที่ยวระหว่างไทยและจีน โดยเฉพาะความเชื่อมโยงของเชียงใหม่ เชียงราย กับมณฑลยูนนาน

 

 

เจิ้ง หมิง รองผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ สำนักฝ่ายข่าวรัฐบาลประชาชนมณฑลยูนนาน กล่าวว่า ความสัมพันธ์ระหว่างภาคเหนือของไทยและยูนนานจะยิ่งกระชับมากขึ้น โดยเฉพาะเส้นทางคมนาคมผ่านแม่น้ำโขง และเส้นทางบกคุณหมิง - กรุงเทพได้รับการพัฒนา การมาเก็บข้อมูลครั้งนี้เพื่อติดตามความคืบหน้าและคาดว่าน่าจะนำข้อมูลไปเผยแพร่ให้ชาวจีนได้ทราบความสำคัญของเส้นทางคมนาคมสายนี้

 

 

หลี่ เชี่ยน ผู้สื่อข่าวสาวสำนักข่าวซินหัว บอกว่า การพัฒนาคมนาคม-การค้าผ่านแม่น้ำโขงมีความสำคัญต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนตลอด 2 ฝั่งมาก แต่ที่ผ่านมาดูเหมือนว่า ยังไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร ขณะที่การเปิดเส้นทางคมนาคม-การค้าจากจีนตอนใต้ ผ่านไปทางพม่า บังกลาเทศ อินเดีย คืบหน้าไปมาก รวมทั้งจีน-เวียดนาม ก็เปิดเส้นทางรถไฟ - ถนนเชื่อมโยงกันได้แล้ว แต่เส้นทางเดินเรือจากจีน - ไทย ส่วนหนึ่งของโครงการเปิดเส้นทางคมนาคมคุนหมิง-กรุงเทพฯ กลับยังมีปัญหาอยู่

 

หลี่ เซี่ยน มองว่าการเปิดเส้นทางคมนาคม การค้าจีน - ไทย ผ่านแม่น้ำโขง ยังติดปัญหาอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องร่องน้ำในแม่น้ำโขง ที่ยังเป็นอุปสรรคต่อการเดินเรืออยู่ , มาตรฐานการขนส่งสินค้า ที่แม้ว่าทางการจีนจะลงทุนสร้างท่าเรือกันลันปา สิบสองปันนา อันเป็นท่าเรือรองรับตู้คอนเทนเนอร์เสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะช่วยยกระดับมาตรฐานการขนส่งสินค้าให้ปลอดภัยมากขึ้น มีระบบประกันภัยการขนส่ง ป้องกันสินค้าหนีภาษี หรือสินค้าผิดกฎหมายของประเทศคู่ค้าได้ดีขึ้น เพราะผ่านการตรวจสอบของศุลกากรต้นทาง - ปลายทางอย่างเข็มงวด แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีธุรกรรมขนส่งสินค้าผ่านคอนเทนเนอร์ในแม่น้ำโขงเท่าที่ควร ยังคงใช้ระบบขนส่งแบบเดิมผ่านเรือสินค้าทั่วไป ที่ทำให้สินค้าหนีภาษี - ผิดกฎหมาย มีโอกาสเล็ดรอดเข้าประเทศคู่ค้าได้มาก

 

จีนให้ความสำคัญต่อโครงการนี้ค่อนข้างมาก เปิดช่องทางให้มีการนำเสนอข่าวความเคลื่อนไหวด้านการค้า - การลงทุนภายใต้กรอบสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจเป็นอย่างดี เช่น 5 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลปักกิ่งได้มอบหมายให้มณฑลยูนนานออกใบอนุญาตให้นักลงทุนเข้ามาผลิตวารสาร - เว็บไซต์ เกี่ยวกับแม่น้ำล้านช้าง/แม่น้ำโขงออกเผยแพร่อย่างต่อเนื่อง มีทั้งภาษาจีน/พม่า/ลาวและภาษาไทย ซึ่งภาษาไทยสามารถดูได้ที่ http://www.th.yunan.cn

 

ทัศนะจากฝ่ายทุนไทย-ข้าราชการไทย "หนุนค้าไทย-จีนสุดตัว"

"รัฐบาลไทยมีนโยบายพัฒนาการค้า การลงทุนในย่านนี้เต็มที่ และในอนาคตเชื่อว่าเส้นทางการค้าไทย-จีนผ่านแม่น้ำโขง และถนนต่าง ๆ จะขยายตัวขึ้นอีกมาก นอกจากนี้ไทยยังมีโครงการที่จะสร้างท่าเรือเชียงแสนแห่งที่ 2 เพิ่มขึ้นอีก หลังจากที่ท่าเรือเชียงแสน 1 ไม่สามารถขยายตัวเพราะติดปัญหาพื้นที่อนุรักษ์ ขณะเดียวกันถ้าหากถนน R 3a จีน ลาว ไทย แล้วเสร็จในปี 50-51 ก็จะมีการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงขึ้นที่ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย เชื่อมกับถนนดังกล่าว ยิ่งจะทำให้การค้า การลงทุนคึกคักมากขึ้น และไทยเองก็มีโครงการนิคมอุตสาหกรรมที่ อ.เชียงแสน ขึ้นมารองรับแล้ว โดยขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการหาผู้ร่วมทุนอยู่" -- วรชัย อุตตมชัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย (ชี้แจงต่อคณะสื่อมวลชนจีน ที่โรงแรมเกรทเธอร์แม่โขงลอดจ์ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2549)

 

"การพัฒนาเส้นทางคมนาคมเชื่อมโยงระหว่างจีนตอนใต้กับภาคเหนือตอนบนของไทย ทั้งโดยเส้นทางแม่น้ำโขงและเส้นทางถนนคุนหมิง-กรุงเทพฯ หากประสบความสำเร็จ นอกจากจะเป็นการส่งเสริมให้เกิดการขยายตัวของการค้าการลงทุนแล้ว ยังจะเป็นปัจจัยที่ช่วยพัฒนาการท่องเที่ยวของทั้งสองประเทศด้วย เพราะวัฒนธรรมยูนนานและวัฒนธรรมล้านนา มีความคล้ายคลึงกันหลายอย่าง ซึ่งน่าจะเป็นสิ่งที่ช่วยส่งเสริมซึ่งกันและกันได้เป็นอย่างดี" -- วิชัย ศรีขวัญ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่

 

"ข้อมูลจนถึง ณ เดือนพฤศจิกายน 2549 พบว่า มีการลงทุนของนักลงทุนจีนที่เข้ามาลงทุนในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน และได้รับการส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 25 โครงการ มูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 6, 577.7 ล้านบาท โดยการลงทุนส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป รองลงมา เป็นอุตสาหกรรมเซรามิก-เครื่องปั้นดินเผา และเครื่องหนัง ซึ่งเมื่อพิจารณาแนวโน้มแล้วเชื่อว่ายังมีโอกาสอีกมากที่นักลงทุนจีนจะเข้ามาลงทุนในพื้นที่ภาคเหนือตอนโดยการลงทุนในอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป" -- ศิริพร นุรักษ์ ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคเหนือ 1 (เชียงใหม่)

 

"ปัจจุบันการค้าชายแดนระหว่าง ไทย-จีน ผ่านด่านศุลกากรในพื้นที่ภาคเหนือมีมูลค่าปีละประมาณ 2,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนเพียงประมาณ 1% เท่านั้น เมื่อเปรียบเทียบกับมูลค่าการค้าไทย-จีน ทั้งประเทศรวมกัน ซึ่งถือว่าน้อยมาก อย่างไรก็ตาม พบข้อสังเกตว่า มูลค่าการค้าชายแดนผ่านทางอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย มีการขยายต่ออย่างต่อเนื่อง เมื่อเปรียบเทียบกับปี ค.ศ.1992 ที่มีมูลค่าการค้าเพียง 500,000 บาทเท่านั้น"

 

"ทั้งนี้ เชื่อว่า ในอนาคตการค้าระหว่างภาคเหนือตอนบนของไทย กับจีนตอนใต้ จะมีความสำคัญเพิ่มขึ้นตามลำดับ โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากพื้นฐานความสัมพันธ์ที่แนบแน่นระหว่างทั้งสองประเทศ การเปิดเสรีการค้าร่วมกัน และการพัฒนาเส้นทางคมนาคม ทั้งการเดินเรือในแม่น้ำโขง และถนนคุนหมิง-กรุงเทพฯ รวมทั้งนโยบายของรัฐบาลที่จะขยายความเจริญสู่ภาคตะวันตกของประเทศให้มากขึ้น ซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อไทยในแง่ของการขยายการค้าการลงทุน" - - นายสมศักดิ์ วงศ์ปัญญาถาวร ผู้บริหารส่วนส่วนวิชาการ ธนาคารแห่งประเทศไทยสำนักงานภาคเหนือ

 

"ไทยและยูนนานมีการเปิดเที่ยวบินตรง สัปดาห์ละ 12 เที่ยวบิน มีที่นั่ง 4,000 ที่นั่ง ผู้เดินทางไม่น้อยกว่า 90 % ของที่นั่งทั้งหมด ซึ่งนักท่องเที่ยวชาวไทย นิยมเดินทางไปท่องเที่ยวประเทศจีนมาก หากมีการขยายการท่องเที่ยวด้วยเส้นทางเรือและรถในอนาคต น่าจะทำให้นักท่องเที่ยวกระจายตัวมากขึ้น อย่างไรก็ตามจำนวนนักท่องเที่ยวจากจีนมายังไทยกลับลดลง โดยตัวเลขที่เข้ามาเชียงใหม่ในปี 2548 มีจำนวน 70,000 คน แต่ 9 เดือนแรกของปี 2549 กลับมีนักท่องเที่ยวราว 39,000 คนเท่านั้น ซึ่งเป็นข้อกังวลของททท. อยู่ อาจเนื่องจากปัญหาทัวร์ 0 เหรียญที่ยังจะต้องร่วมมือกันแก้ไข" -- นายสบธนา อั๋นประเสริฐ ผู้ช่วยผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือเขต 1

 

"อยากให้สื่อจีนสะท้อนปัญหานักท่องเที่ยวของจีนจากมณฑลอื่นที่มายูนนานมากถึง 67 ล้านคนต่อปี แต่มีจำนวนน้อยมากที่จะต่อเนื่องมายังประเทศไทย นอกจากนั้นสินค้าของจีนที่ยังขาดการทำแบรนด์ และบริการหลังการขาย ปัญหาคือสินค้าเข้ามายังประเทศไทยได้ในราคาที่ถูกเช่นเครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าอุตสาหกรรม แต่ระยะยาวจะสูญเสียตลาดไป ควรเปลี่ยนแปลงเน้นด้านคุณภาพมากกว่าราคา" -- นายธานี ตรีวัฒนา ที่ปรึกษาศูนย์ขับเคลื่อนกลุ่มยุทธศาสตร์ภาคเหนือตอนบน

 

"การค้าไทยกับจีนที่จริงแล้วยังมีโอกาสที่จะขยายตัวได้อีกมาก ถ้าเข้าให้ถูกช่องทาง ปัจจุบันผู้ประกอบการไทยส่วนใหญ่ยังมุ่งไปที่เมืองหลัก ๆ ของจีน ที่การติดต่อการค้ามีมาตรฐานสากล ทั้งที่ข้อเท็จจริงแล้วจีนมีนโยบายที่จะเปิดเส้นทางจีนตอนใต้ลงมาเชื่อมไทย ทำให้มีการผ่อนปรน หรือยืดหยุ่นกฎระเบียบทางการค้ามากกว่า แต่ที่ผ่านมายังไม่คึกคักมากนัก ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากธุรกรรมทางด้านนี้ ยังมีทั้งมืดและสว่าง รวมถึงแผนพัฒนาของไทยในภาคปฏิบัติยังไม่บรรลุผลเต็มที่ ที่เห็นได้ชัดก็คือ การระเบิดแก่งในแม่น้ำโขง ที่ตัวแทนรัฐ-นักวิชาการไทย ก็เข้าร่วมศึกษาผลกระทบทุกด้าน แต่กลับไม่มีการนำข้อมูลนั้นมาเผยแพร่ ทำให้โครงการนี้เกิดปัญหาได้รับการต่อต้านขึ้นมา" -- นางกัลยาณี รุทระกาญจน์ ประธานบริษัทมณีต้าหมิง จำกัด ผู้บริหารศูนย์ธุรกิจไทย-จีน นครคุนหมิง จีน

 

 

หลังการเยือนของสื่อมวลชนจีน ได้ทำให้แผนขยายเส้นทางการค้า-การลงทุน อาทิ การสร้างถนนไฮเวย์จากจีนผ่านลาวมายังไทย การขยายเส้นทางเดินเรือในแม่น้ำโขงด้วยการระเบิดแก่งกลางแม่น้ำโขง การสร้างนิคมอุตสาหกรรมเชียงแสนรองรับการลงทุนขนาดใหญ่ ถูกพูดถึงกันอีกครั้งหนึ่ง นี่จึงอาจเป็นคลื่นการรุกของโลกาภิวัฒน์ที่ไม่ได้มาจากมหาอำนาจตะวันตกที่ไหน หากแต่เป็นคลื่นโลกาภิวัฒน์ "แดง" ยี่ห้อ Made in China ซึ่งเมื่อพิจารณารวมถึง  "FTA ไทย-จีน" ที่ลงนามกันไปเรียบร้อยแล้ว ปี 2550 คงต้องจับตามองกันต่อไปว่าโลภาภิวัฒน์ Made in China จะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตท้องถิ่น-ทรัพยากรธรรมชาติ มากแค่ไหน

 

พลังชุมชนท้องถิ่นริมฝั่งโขง จะต้านทานในนามของการตรวจสอบ-การมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อปกป้องวิถีชิวิตของตัวเองได้หรือไม่ ต้องจับตามองกันต่อไป

 

ข่าวประชาไทย้อนหลัง

จีนทวงสัญญาสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ ทัพใหญ่บุกเหนือรุกแม่น้ำโขง (นิตยสารรายสัปดาห์พลเมืองเหนือ) 26 ธันวาคม 2549

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net