Skip to main content
sharethis

พาไปทำความรู้จักกับอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 อนุสัญญาระหว่างประเทศที่รับรองสิทธิคนงานในการตั้งสหภาพแรงงาน และคุ้มครองคนงานไม่เลือกหน้า ...ทุกคน ทุกเชื้อชาติ
 
 
 
ตามที่ใน รายงาน : เมื่อแรงงานไทยร่วม "สมานฉันท์ปกป้องสิทธิแรงงานข้ามชาติ ประชาไทได้สัมภาษณ์คุณจิตรา คชเดช เลขาธิการสหพันธ์สิ่งทอ ตัดเย็บเสื้อผ้าและเครื่องหนังแห่งประเทศไทย ซึ่งเสนอความเห็นเกี่ยวกับมาตรการปกป้องสิทธิการรวมกลุ่มตั้งสหภาพแรงงานของแรงงานข้ามชาติว่า "ประเทศไทยต้องรับรองสิทธิคนงานตามอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ได้แล้ว เพราะอนุสัญญาดังกล่าวรับรองคนงานมีสิทธิรวมตัวเพื่อจัดตั้งสหภาพแรงงาน" นั้น (อ่านข่าวย้อนหลัง)
 
หากเราทำความเข้าใจอนุสัญญาดังกล่าวแล้ว จะพบว่าอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ไม่เพียงแต่จะให้ประโยชน์กับแรงงานข้ามชาติเท่านั้น แต่รวมถึงแรงงานไทยด้วย หากรัฐให้สัตยาบันในอนุสัญญา ILO ไม่ว่าจะในฉบับใด ย่อมมีผลต่อผู้ใช้แรงงานทุกคน ทุกเชื้อชาติ ไม่ได้มีเลือกปฏิบัติว่าจะให้คุณให้โทษแต่เฉพาะกับแรงงานไทยเท่านั้น
 
บัณฑิตย์ ธนชัยเศรษฐวุฒิ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เสนอว่าในปัจจุบันแม้ไทยจะมีกฎหมายคุ้มครองการรวมตัวของแรงงาน ที่เรียกว่าพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 แต่ก็ถือเป็นกฎหมายแรงงานฉบับที่มีสาระที่ล้าหลัง ด้อยพัฒนาด้านการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพการจัดตั้งองค์กรและเรียกร้องต่อรองของลูกจ้างมากที่สุด มีการแก้ไขปรับปรุงน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ซึ่งปรับปรุงแก้ไขจากประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 พ.ศ.2518 และประกาศกระทรวงมหาดไทยหลายฉบับที่ออกตามมา และ พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ซึ่งมีการปรับปรุงครั้งใหญ่ในปี 2537 และปี 2542
 
โดย พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ได้มีการปรับปรุงแก้ไขสำคัญมาแล้วรวม 4 ครั้ง มักแก้ไขในยุคเผด็จการทหารปกครองประเทศ ซึ่งย่อมไปในทางควบคุม จำกัดเสรีภาพการรวมตัวต่อรองของลูกจ้างและสหภาพแรงงานมากขึ้น ได้แก่
 
(1) คำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 46 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519
 
(2) ประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 54 ลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2534 สาระสำคัญของประกาศ รสช. ฉบับที่ 54 คือ ที่ปรึกษาในการเจรจาต่อรองของสหภาพแรงงานต้องเป็นผู้จดทะเบียนตามคุณสมบัติที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกำหนด การนัดหยุดงานจะเกิดขึ้นได้ ต้องจัดประชุมใหญ่ และลงคะแนนลับได้มติอย่างน้อยกึ่งหนึ่งของทั้งหมด จึงจะนัดหยุดงานได้ ฯลฯ
 
(3) พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2534 กฎหมายนี้ออกเพื่อแยกพนักงานรัฐวิสาหกิจออกจากพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาอยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ตั้งแต่วันที่ 19 เมษายน 2534
 
จะเห็นได้ว่าภายใต้รัฐเผด็จการ มีความพยายามในการลิดรอนสิทธิการรวมกลุ่มของแรงงานมาโดยตลอด ซึ่งล่าสุดเพิ่งมีการแก้ไขกฎหมายพนักงานรัฐวิสาหกิจกลับเข้ามาอยู่ในความคุ้มครองของ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์โดย
 
การแก้ไขครั้งที่ (4) พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2544 กฎหมายนี้ออกมาเพื่อกำหนดให้สหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจตาม พ.ร.บ. แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 สามารถเข้าเป็นสมาชิกของสภาองค์การลูกจ้างตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518
 
ด้วยเหตุนี้ภาคแรงงานต่างๆ จึงเรียกร้องให้ประเทศไทยรับรองสัตยาบันในอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 97 และ 98 ที่มีเนื้อหาระบุถึงสิทธิเสรีภาพและคุ้มครองการรวมตัวของแรงงาน และออกกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ฉบับใหม่ที่มีเนื้อหาสอดคล้องกับอนุสัญญาดังกล่าว รัฐธรรมนูญ และหลักการสิทธิมนุษยชน
 
โดยจรรยา ยิ้มประเสริฐ จากโครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย เสนอว่า ตั้งแต่ที่รัฐบาลไทยเข้าร่วมเป็นหนึ่งในประเทศก่อตั้งองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) นับตั้งแต่ปี ค.ศ.1919 (พ.ศ.2462) ประเทศไทยให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เพียง 14 ฉบับจากจำนวนทั้งสิ้น 185 ฉบับ
 
จรรยาเสนอต่อไปว่า เป็นเวลาถึง 30 กว่าปี นับตั้งแต่ปี 2512-2542 ที่รัฐบาลไทยไม่ได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับใดเลย ในขณะที่ประเทศไทยอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากภาคเกษตรเป็นอุตสาหกรรม และมีคนจากชนบทจำนวนมากหลังไหลมาเป็นแรงงานในเมือง ที่จำเป็นต้องได้รับการคุ้มครองทั้งด้านการจ้างงาน สวัสดิการ สิทธิประโยชน์ และสุขภาพและผลกระทบจากการทำงานและสิ่งแวดล้อม แต่รัฐไม่ได้ใส่ใจเรื่องการให้สัตยาบันแรงงานเพื่อการปรับกฎหมายในประเทศให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่ทัดเทียมกับนานาประเทศ
 
และล่าสุดตั้งแต่ ปี 2541 ถึงปัจจุบัน ประเทศไทยให้สัตยาบันอนุสัญญาเพิ่มเพียง 3 ฉบับ ได้แก่ ฉบับที่ 100 (ค่าจ้างเท่าเทียม - ปี 2542) ฉบับที่ 182 (รูปแบบที่เลวร้ายที่สุดของการใช้แรงงานเด็ก - ปี 2544) และ 138 (อายุขั้นต่ำ) ที่เพิ่งให้สัตยาบันในปี 2547
 
ที่สำคัญอนุสัญญาหลีกที่ถือเป็นหัวใจของพวกเราสหภาพแรงงานคือฉบับที่ 87 และ 98 รัฐไทยยังไม่ได้สัตยาบันทั้งที่ ILO ได้ประกาศในปี 2541 ให้ทั้งสองอนุสัญญาอยู่ในปฏิญญาว่าด้วยหลักการและสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงาน
 
อนุสัญญาฉบับที่ 87 เสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว มีสาระสำคัญ 3 ประการที่เมื่อให้สัตยาบันแล้วจะทำให้กระบวนการสหภาพแรงงานเติบโตอย่างมาก คือ
 
1. คนงานและนายจ้างสามารถใช้สิทธิในการรวมตัวได้อย่างเสรีโดยไม่ต้องได้รับอนุญาตล่วงหน้าจากรัฐ
2. เจ้าหน้าที่รัฐต้องละเว้นการแทรกแซงใดๆ ที่จะจำกัดสิทธิในการดำเนินกิจกรรมขององค์กรของทั้งลูกจ้างและนายจ้าง
3. องค์กร(สหภาพ) มีเสรีภาพในการเข้าร่วมองค์กรใดๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศโดยเสรี
 
ในหลายต่างประเทศทั่วโลกคนงานไม่ต้องดำเนินเรื่องเพื่อขอจดทะเบียนสหภาพแรงงาน เพียงแต่แจ้งรายชื่อคณะกรรมการแต่ละชุด (ไม่จำเป็นต้องระบุสัญชาติ) ให้กับกระทรวงแรงงานทราบเท่านั้นหลังการประชุมใหญ่แต่ละครั้ง (ไม่จำเป็นต้องแจงรายชื่อสมาชิกสหภาพ ให้หน่วยงานทราบด้วยเช่นกัน)
 
ในขณะที่ พรบ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มีมาตรการควบคุมการนัดหยุดงาน และการจัดตั้งสหภาพแรงงานก็ต้องแจ้งต่อรัฐ ซึ่งขัดต่อเจตนารมณ์ ของอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 เป็นอย่างยิ่ง ที่ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า "ลูกจ้าง (และนายจ้าง) สามารถจัดตั้งองค์กรได้โดยเสรีโดยไม่จำเป็นต้องได้รับอนุญาต ล่วงหน้าจากรัฐและรัฐไม่ควรแทรกแซงการตั้งสหภาพ
 
จรรยา ยิ้มประเสริฐมองว่ารัฐมีสองมาตรฐาน โดยเห็นว่ามีการแทรกแซงมากมายไม่ให้ลูกจ้างตั้งสหภาพได้สำเร็จ แต่ไม่เคยแทรกแซงนายจ้างเลย จึงเป็นการเลือกปฏิบัติเฉพาะกับคนงานเท่านั้น เจ้าหน้าที่รัฐผ่อนปรนกับนายจ้างมาโดยตลอดด้วยการอ้างว่า "เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจ" และเอาหูไปนาเอาตาไปไร่กับการละเมิดสิทธิที่นายจ้างกระทำในเกือบทุกโรงงานในประเทศไทย
 
ในขณะที่ อนุสัญญา ILO ฉบับที่ 98 การรวมตัวและร่วมเจรจาต่อรอง
 
1.คุ้มครองลูกจ้างจากการกระทำใดๆ อันเป็นการเลือกปฏิบัติด้วยสาเหตุที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน
 
2.องค์กรลูกจ้างและนายจ้างต้องได้รับการคุ้มครองอย่างเพียงพอจากการแทรกแซงระหว่างกันทั้งในการก่อตั้ง การปฏิบัติ และการบริหาร และการมุ่งสนับสนุนการก่อตั้งองค์กรของคนงานให้อยู่ภายใต้การควบคุมของนายจ้าง
 
3.ส่งเสริมให้มีการใช้ ประโยชน์จากกลไก การเจรจา โดยสมัครใจทั้งนายจ้างหรือองค์กร นายจ้าง กับองค์กรคนงาน
 
ที่ผ่านมาเราจะเห็นว่าเพราะคนงานต้องขออนุญาตจัดตั้งสหภาพจากกระทรวงทำให้คนงานที่เป็นแกนนำถูกเลิกจ้างและทำให้นายจ้างขัดขวางและทำลายการจัดตั้งสหภาพมากมาย ทำให้ไทยมีจำนวนคนงานที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานในภาคเอกชนประมาณเพียง 290,000 คนและในภาครัฐวิสาหกิจประมาณ 230,000 คน หรือรวมกันเพียง 510,000 คน เมื่อเทียบกับจำนวนแรงงานทั้งประเทศ 35 ล้านคน จึงมี่สัดส่วนเพียง 1.5% เท่านั้นเอง ถือว่าต่ำที่สุดในเอเชียก็ว่าได้
 
น่าละอายยิ่งที่รัฐบาลไทยพยายามประชาสัมพันธ์ว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่เคารพมาตรฐานแรงงานสากล และจัดตั้งมาตรฐานแรงงานไทย มรท. 8001 ในขณะที่ในความเป็นจริงคนงานไทยถูกลิดรอนสิทธิในการจัดตั้งสหภาพและรวมตัวต่อรองอย่างหนักที่สุดในภูมิภาคนี้
 
 
ตารางเปรียบเทียบพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ที่ไม่สอดคล้องกับอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98
 
ประเด็น
หลักการของอนุสัญญาฉบับที่ 87 และ 98
กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ที่ไม่สอดคล้องกับอนุสัญญาฉบับที่ 87 และ 98
1. ผู้มีสิทธิจัดตั้งสหภาพแรงงานและเป็นกรรมการสหภาพแรงงาน
อนุสัญญาฉบับที่ 87 เรื่องหลักการจัดตั้งองค์กรโดยเสรีและปราศจากการเลือกปฏิบัติ
- ต้องมีอายุ 20 ปี หรือบรรลุนิติภาวะและสัญชาติไทย
- เป็นลูกจ้างที่หมายถึง ผู้ซึ่งตกลงทำงานให้แก่นายจ้างเพื่อรับค่าจ้าง ทำให้ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ผู้รับงานไปทำที่บ้าน ฯลฯ ตั้งสหภาพแรงงานไม่ได้
- ลูกจ้างเอกชนและรัฐวิสาหกิจ ไม่สามารถรวมตัวกันจัดตั้งเป็นองค์กรเดียวกัน เพราะกฎหมายแบ่งแยกออกจากกัน
- มีข้อยกเว้นห้ามข้าราชการ ลูกจ้าง ของส่วนราชการจัดตั้งสหภาพแรงงานได้
2. หลักเกณฑ์การจัดตั้งสหภาพแรงงานและการดำเนินงาน
อนุสัญญาฉบับที่ 87 เรื่อง เจ้าหน้าที่ต้องละเว้นการแทรกแซงใดๆ หรือขัดขวางการบริหารงาน การดำเนินกิจกรรมขององค์กรคนงาน
- ลูกจ้างอย่างน้อย 10 คน ต้องไปยื่นคำขอจดทะเบียนจัดตั้งสหภาพแรงงาน พร้อมกับร่างข้อบังคับสหภาพแรงงาน รวมทั้ง กรรมการสหภาพแรงงานเมื่อได้รับเลือกตั้งจากสมาชิกแล้วต้องนำไปยื่นจดทะเบียนต่อเจ้าหน้าที่รัฐ
- สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจต้องมีสมาชิกอย่างน้อย ร้อยละ 25 ของลูกจ้างทั้งหมด จึงจัดตั้งสหภาพแรงงานได้
- เจ้าหน้าที่รัฐมีอำนาจเข้าไปในสำนักงานของสหภาพแรงงานเพื่อตรวจสอบกิจการของสหภาพรวมทั้งสั่งให้กรรมการหรือลูกจ้างของสหภาพแรงงานส่งหรือแสดงเอกสาร หรือบัญชีของสหภาพแรงงาน เพื่อประกอบการพิจารณากรณีที่มีปัญหาเกิดขึ้น
3. สิทธิการรวมตัวเป็นสหพันธ์แรงงาน
อนุสัญญาฉบับที่ 87 เรื่อง องค์กรคนงาน มีสิทธิก่อตั้งและเข้าร่วมสหพันธ์และสมาพันธ์ได้โดยเสรี
- สหภาพแรงงานเอกชนกับสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ไม่สามารถรวมตัวเป็นสหพันธ์แรงงานและสภาองค์การลูกจ้างได้
- กฎหมายกำหนดให้เฉพาะ สหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจ เข้าเป็นสมาชิกของสภาองค์การลูกจ้างได้
4. จำนวนสหภาพแรงงานในสถานประกอบการเดียวกัน
อนุสัญญาฉบับที่ 87 เรื่อง สิทธิการรวมตัวอย่างเสรีของคนงาน
- กำหนดให้รัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งมีสหภาพแรงงานได้เพียง สหภาพแรงงานเดียว และลูกจ้างคนหนึ่งจะเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจได้เพียงแห่งเดียว
5. การห้ามลูกจ้างเข้าเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน
อนุสัญญาฉบับที่ 87 เรื่อง หลักการรวมตัวอย่างเสรีของคนงาน โดยไม่ถูกจำกัดสิทธิ
- ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้มีอำนาจบังคับบัญชาจะเป็นสมาชิกในสหภาพแรงงานที่ลูกจ้างอื่น ได้จัดตั้งหรือเป็นสมาชิกอยู่ไม่ได้ และลูกจ้างอื่นจะเป็นสมาชิกในสหภาพแรงงานที่ลูกจ้าง ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาได้จัดตั้งหรือเป็นสมาชิกอยู่ไม่ได้
- ฝ่ายบริหารในรัฐวิสาหกิจและลูกจ้างซึ่งทำงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราว การจร ตามฤดูกาล และตามโครงการไม่มีสิทธิเข้าเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานได้
6. การเลือกที่ปรึกษาของสหภาพแรงงาน
อนุสัญญาฉบับ 87 เรื่อง สิทธิในการบริหารงานของสหภาพแรงงานโดยไม่ถูกแทรกแซงจากเจ้าหน้าที่รัฐ
- กำหนดให้เลือกที่ปรึกษาในการเจรจาต่อรองของสหภาพแรงงานเฉพาะที่จดทะเบียนกับกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเท่านั้น
7. หลักเกณฑ์เกี่ยวกับสิทธินัดหยุดงาน
อนุสัญญาฉบับที่ 87 เรื่องเจ้าหน้าที่รัฐต้องละเว้นการแทรกแซงใดๆ หรือขัดขวางการดำเนินกิจกรรมของสหภาพแรงงานและขัดกับอนุสัญญาฉบับที่ 98 เรื่องการแทรกแซงการต่อรองโดยหน่วยงานรัฐ
- สหภาพแรงงานเอกชนจะนัดหยุดงานได้ต้องจัดประชุมใหญ่ และมีสมาชิกลงคะแนนเสียงอย่างน้อยกึ่งหนึ่งของทั้งหมด จึงจะสามารถนัดหยุดงานได้
- รัฐมนตรีมีอำนาจใช้ดุลพินิจสั่งยุติการนัดหยุดงานหรือกำหนดกิจการที่ห้ามใช้สิทธินัดหยุดงานได้ แม้ในกิจการที่ไม่ถือว่าเป็นบริการที่จำเป็น (non-essential service)
- ห้ามกิจการรัฐวิสาหกิจทุกประเภทนัดหยุดงาน แม้ไม่ใช่กิจการบริการสาธารณะ
8. การคุ้มครองผู้จัดตั้งสหภาพแรงงานและการรวมตัวต่อรอง
อนุสัญญา ฉบับที่ 98 เรื่อง องค์กรของคนงานไม่ได้รับการคุ้มครองอย่างเพียงพอ หรือไม่ถูกแทรกแซงขัดขวางจากนายจ้าง
- กฎหมายไม่ได้คุ้มครองผู้ดำเนินการก่อตั้งสหภาพแรงงานอย่างชัดเจน
- กฎหมายไม่ห้ามการปิดงานเฉพาะกลุ่มลูกจ้างที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน หรือมีรายชื่อยื่นข้อเรียกร้องต่อนายจ้าง และไม่ห้ามนายจ้างรับคนเข้าทำงานแทนลูกจ้างที่ใช้สิทธินัดหยุดงานอยู่
- ข้อแตกต่างการคุ้มครอง " กรรมการลูกจ้าง " และ " กรรมการสหภาพแรงงาน " คือ การลงโทษ หรือเลิกจ้างกรรมการลูกจ้าง ต้องได้รับอนุญาตจากศาลแรงงาน ในขณะที่นายจ้างมีอำนาจเด็ดขาดในการเลิกจ้างหรือลงโทษกรรมการสหภาพ
 
ที่มาของตาราง : บัณฑิตย์ ธนชัยเศรษฐวุฒิ, กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ไทยที่ไม่สอดคล้องกับอนุสัญญา ILOฉบับที่ 87 และ 98 (จากจดหมายข่าวแรงงานปริทัศน์ฉบับที่ 212 มีนาคม 2548 หน้า 3-6), โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย, ที่มา : http://www.thailabour.org/thai/journal/050503ll.html
 
ดังนั้นในการณรงค์ของขบวนการแรงงาน ไม่ว่าจะเป็นวันแรงงานสากล 1 พฤษภาคม หรือในวันแรงงานข้ามชาติสากล เราจะเห็นว่าภาคแรงงานจะเรียกร้องให้รัฐบาลไทยต้องให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 โดยเร็วที่สุด และรับร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ฉบับผู้ใช้แรงงาน ซึ่งเขียนขึ้นบนอุดมการณ์แห่งอนุสัญญา ILO ซึ่งขบวนการแรงงานเห็นว่าไม่เพียงแต่จะเป็นหลักประกันสิทธิของแรงงานไทยแล้ว ยังจะเป็นการคุ้มครองสิทธิของแรงงานข้ามชาติอีกด้วย
 
 
------------------------------------
 
แหล่งอ้างอิง
จรรยา ยิ้มประเสริฐ, ทำไมอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 จึงสำคัญที่สุดสำหรับคนงานไทย, โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย, ที่มา : http://www.thailabour.org/thai/journal/050503il.html
บัณฑิตย์ ธนชัยเศรษฐวุฒิ, กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ไทยที่ไม่สอดคล้องกับอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 (จากจดหมายข่าวแรงงานปริทัศน์ฉบับที่ 212 มีนาคม 2548 หน้า 3-6), โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย, ที่มา :http://www.thailabour.org/thai/journal/050503ll.html
 
 
ข่าวประชาไทเรื่องการณรงค์ในวันแรงงานข้ามชาติย้อนหลัง
 
 
เอกสารประกอบ

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net