Skip to main content
sharethis

ประชาไท - เมื่อวันอังคารที่ 26 ธ.ค.49 ศาลอุทธรณ์อิรักได้มีคำพิพากษายืนโทษประหารชีวิตซัดดัม ฮุสเซ็น อดีตประธานาธิบดีอิรักและสมุนอีก 2คน ด้วยการแขวนคอภายใน 30 วัน ฐานก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ในคดีฆ่าสังหารหมู่ชาวชีอะห์จำนวน 148 คน ที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งในเมืองดูญิล


 


ทั้งนี้ ซัดดัม ได้เขียนจดหมายถึงชาวอิรักในเรือนจำก่อนที่การอุทธรณ์ดังกล่าวจะล้มเหลวโดยระบุว่า "ผมขอสละชีพ หากเป็นพระประสงค์ของพระเจ้า"


         


ขณะที่กอห์ลิล ดูไลมี หนึ่งในทีมทนายของซัดดัมในจอร์แดนกล่าวว่า ซัดดัมเขียนจดหมายดังกล่าวขึ้นตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน หลังจากที่เขาต้องคำพิพากษาของศาลชั้นต้นให้ประหารชีวิตด้วยการแขวนคอ แต่จดหมายดังกล่าวเพิ่งจะถูกนำมาเผยแพร่ต่อสาธารณชนหลังจากที่การอุทธรณ์ของเขาไม่เป็นผล


        


"มันถูกปล่อยออกมาช้าเนื่องจากขั้นตอนซึ่งทางสหรัฐฯ เป็นผู้สร้างนั้นต้องดำเนินการยาวนาน" ดูไลมีกล่าว


     


นอกจากนี้ ซัดดัมยังได้เขียนตำหนิสหรัฐฯ และอิหร่านด้วยว่า เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการนองเลือดในอิรักระหว่างชาวสุหนี่และชาวชีอะห์ และยังได้สั่งเสียชาวอิรักว่า "ผมขอให้พวกคุณจัดเลี้ยงอำลาผม เมื่อดวงวิญญาณของผมเดินทางไปสู่อ้อมอกของพระผู้เป็นเจ้า" และระบุว่า "อิรักจงเจริญ อิรักจงเจริญ ปาเลสไตน์จงเจริญ ญีฮัดและมูญาฮีดีนจงเจริญ"


 


องค์กรสิทธิมนุษยชน ต่อต้านการประหารชีวิตอดีตผู้นำอิรัก


อย่างไรก็ตาม หลังศาลอุทธรณ์อิรัก พิพากษายืนโทษประหารชีวิตซัดดัม และพวก ทั้งองค์การนิรโทษกรรมสากลและฮิวแมน ไรท์ วอทช์ ออกแถลงการณ์ไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ โดยทั้งสององค์กรยืนยันในการต่อต้านการลงโทษประหารชีวิต ขณะเดียวกันยังระบุว่า การพิพากษาของศาลอุทธรณ์มาจากกระบวนการพิจารณาคดีและไต่สวนในศาลชั้นต้นที่ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ พร้อมเรียกร้องรัฐบาลอิรัก ยกเว้นไม่ลงโทษประหารชีวิตอดีตประธานาธิบดีซัดดัม  ด้วยการแขวนคอตามคำพิพากษา


         


ด้านผู้นำกลุ่มมุสลิมนิกายสุหนี่อิรักระบุว่า การดำเนินคดีอดีตประธานาธิบดีซัดดัมและพวก เป็นความพยายามทางการเมืองของอดีตศัตรูของนายซัดดัม ที่ปัจจุบันมีอำนาจในรัฐบาลนำโดยกลุ่มมุสลิมชีอะห์ และอาจจะนำไปสู่การจุดชนวนความรุนแรงระหว่างนิกายในอิรัก ให้ขยายขอบเขตออกไปอีก


 


ชาวอิรักหลั่งไหลไปสมัครเป็นเพชฌฆาตประหารซัดดัม


นายบัสซัม อัล ฮุสเซนี ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี นูรี อัลมาลิกี ของอิรัก เปิดเผยว่า ชาวอิรักหลายร้อยคนได้ไปสมัครทำหน้าที่เพชฌฆาตประหารชีวิตอดีตประธานาธิบดีอิรัก โดยผู้ที่แห่มาสมัครเป็นเพชฌฆาตมาจากทุกกลุ่มศาสนาและทุกกลุ่มเชื้อชาติในอิรัก ปัจจุบันอิรักไม่มีเพชฌฆาตมืออาชีพ ทั้งยังไม่มีตำแหน่งเพชฌฆาตอย่างเป็นทางการ  นอกเหนือจากซัดดัมแล้ว นายบาร์ซาน อัล ทิกริตี น้องชายของซัดดัม ซึ่งเคยดูแลด้านข่าวกรอง และ นายอาหวัด อัคเหม็ด อัล บันดาร์  อดีตผู้ช่วยซัดดัม ก็อยู่ในกลุ่มที่ต้องโทษประหารชีวิตด้วย


 


ด้านนายฮาเช็ม อัล ชิบลี รัฐมนตรียุติธรรมอิรัก เปิดเผยว่า คำพิพากษาประหารชีวิตของศาลอุทธรณ์จะถูกส่งให้ประธานาธิบดีอิรักอนุมัติเร็วๆ นี้ ขณะที่กรมราชทัณฑ์ซึ่งดูแลเรื่องการประหารก็กำลังเตรียมการ โดยบอกว่าการเดินเรื่องสามารถทำได้โดยเร็ว แต่การประหารอาจล่าช้ากว่าที่ศาลกำหนดราว 4 วัน เพราะติดเทศกาลทางศาสนาที่จะเริ่มในปลายสัปดาห์นี้ ขณะที่ประธานาธิบดี จาลัล ทาลาบานี ของอิรัก ส่วนตัวต่อต้านโทษประหารชีวิต และเคยส่งสัญญาณมาก่อนว่าจะให้รองประธานาธิบดีเป็นผู้ลงนามอนุมัติประหารชีวิตนักโทษแทน


 


กระแสโลกแตกทาง ทั้งหนุนและไม่หนุนประหาร


ด้านกระแสนานาชาติต่างมีปฏิกริยาแตกต่างกันไป หลังศาลอุทธรณ์อิรักตัดสินยืนคำพิพากษาเดิม นายสก็อต สแตนเซล โฆษกทำเนียบขาวสหรัฐฯ กล่าวว่า "คำพิพากษาดังกล่าวถือเป็นเหตุการณ์สำคัญของชาวอิรักที่พยายามจะใช้หลักของกฎหมายแทนที่หลักของผู้นำเผด็จการ"


         


"มันถึงเวลาแล้วที่ซัดดัม ฮุสเซ็น ต้องรับโทษตามขั้นตอน และสิทธิที่ถูกต้องตามกฎหมายที่เขาได้ปฏิเสธต่อชาวอิรักมาโดยตลอด ดังนั้น วันนี้จึงเป็นวันสำคัญสำหรับประชาชนชาวอิรัก"


                 


ขณะที่อังกฤษยืนยันท่าทีเดิมในหลักการของอังกฤษคือไม่เห็นด้วยการตัดสินลงโทษด้วยการประหารชีวิต แต่ก็ว่า ศาลอิรักมีอิสระเต็มที่ในการพิจารณาคดีนี้



ด้านอินเดีย ซึ่งเคยมีความสัมพันธ์อันดีกับอิรัก ออกมาเรียกร้องให้ทางการอิรักลดหย่อนโทษให้กับอดีตผู้นำอิรัก เช่นเดียวกับกลุ่มสิทธิมนุษยชนซึ่งก็เรียกร้องให้รัฐบาลอิรักไม่ใช้โทษประหารกับซัดดัมโดยว่า การใช้โทษประหารและการที่จำเลยไม่สามารถต่อสู้ในชั้นศาลได้เลยนั้น เป็นเรื่องไม่ถูกต้องและการตัดสินคดีนี้ก็ยังมีข้อบกพร่องอยู่มาก พร้อมเรียกร้องให้ทบทวนอย่างรอบคอบ



 


ทำเนียบขาวรับทหารตายในสงครามอิรักมากกว่าตึกเวิร์ลเทรดถล่ม


สำหรับสถานการณ์หลังสหรัฐฯนำทหารบุกโค่นอำนาจซัดดัม ทำเนียบขาวสหรัฐ ระบุว่า ยอดทหารสหรัฐที่เสียชีวิตในอิรักเพิ่มขึ้นเป็น 2,976 นาย มากกว่ายอดผู้เสียชีวิตจากเหตุก่อวินาศกรรม 11 กันยายน 2544 ที่มีผู้เสียชีวิต 2,973 คน


 


ล่าสุด มีรายงานทหารสหรัฐเสียชีวิตอีก 4 นายรอบกรุงแบกแดดเมื่อวันอังคาร ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตใน 1 เดือนนี้มีจำนวนอย่างน้อย 93 นาย


          


ด้านผลสำรวจของสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ระบุว่า เสียงสนับสนุนประธานาธิบดีบุช ในการจัดการปัญหาอิรักตกลงเหลือร้อยละ 28 ลดลง 6 จุดในเดือนตุลาคม โดยมีผู้ตอบแบบสอบถามถึงร้อยละ 70 ยอมรับว่า ไม่เห็นด้วยกับนโยบายการทำสงครามของผู้นำสหรัฐ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net