Skip to main content
sharethis

โดย วิทยากร บุญเรือง


 



 


คำข่มขู่







 



 


พระราชบัญญัติ การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542


หมวด 3 การป้องกันการผูกขาด


 


มาตรา 25 ห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอำนาจเหนือตลาดกระทำการในลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้


 


(1)    กำหนดหรือรักษาระดับราคาซื้อขายสินค้าหรือบริการอย่างไม่เป็นธรรม


(2)    กำหนดเงื่อนไขในลักษณะที่เป็นการบังคับโดยทางตรงหรือโดยอ้อมอย่างไม่เป็นธรรม ให้ผู้ประกอบธุรกิจอื่นซึ่งเป็นลูกค้าของตนต้องจำกัดการบริการ การผลิต การซื้อหรือการจำหน่ายสินค้า หรือต้องจำกัดโอกาสในการเลือกซื้อหรือขายสินค้า การได้หรือให้บริการ หรือในการจัดหาสินเชื่อจากผู้ประกอบธุรกิจอื่น


(3)    ระงับ ลด หรือจำกัดการบริการ การผลิต การซื้อ การจำหน่าย การส่งมอบ การนำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ทำลายหรือทำให้เสียหายซึ่งสินค้าเพื่อลดปริมาณให้ต่ำกว่าความต้องการของตลาด


(4)    แทรกแซงการประกอบธุรกิจของผู้อื่นโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร


 


 



 


มีข่าวครึกโครมออกมาแล้วว่ากรมการค้าภายใน โดยคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า ได้ลงนามเห็นชอบในเกณฑ์ผู้มีอำนาจเหนือตลาดตามมาตรา 25 ภายใต้ พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า พ.ศ.2542 และกำลังให้กระทรวงพาณิชย์เสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อขอความเห็นชอบการบังคับใช้เกณฑ์ผู้มีอำนาจเหนือตลาด


         


โดยกระทรวงพาณิชย์จะเสนอหลักเกณฑ์ดังนี้คือ  ผู้ประกอบธุรกิจรายใดรายหนึ่งในตลาดสินค้าใดสินค้าหนึ่งหรือบริการใดบริการหนึ่งที่มีส่วนแบ่งตลาดในปีที่ผ่านมาตั้งแต่ร้อยละ 50 ขึ้นไป และมียอดเงินขายในปีที่ผ่านมาตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป และผู้ประกอบธุรกิจ 3 รายแรกในตลาดสินค้าใดสินค้าหนึ่ง หรือบริการใดบริการหนึ่งที่มีส่วนแบ่งตลาดในปีที่ผ่านมารวมกันตั้งแต่ร้อยละ 75 ขึ้นไป และมียอดเงินขายของรายใดรายหนึ่งในปีที่ผ่านมาตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป ยกเว้นรายที่มีส่วนแบ่งตลาดในปีที่ผ่านมาต่ำกว่าร้อยละ 10 หรือรายที่มียอดเงินขายในปีที่ผ่านมาต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท


 


สำหรับธุรกิจที่เข้าข่ายมีอำนาจเหนือตลาด กลุ่มผู้จำหน่ายรถจักรยานยนต์คือ บริษัท เอ.พี.ฮอนด้า   ผู้จำหน่ายรถจักรยานยนต์ ยี่ห้อฮอนด้า กลุ่มรถ กระบะ เช่น  อีซูซุ โตโยต้า


         


กลุ่มเครื่องดื่มกาแฟผงสำเร็จรูป คือ บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด ผู้ผลิตและ จำหน่ายกาแฟผงสำเร็จรูปยี่ห้อเนสกาแฟ กลุ่มโรงภาพยนตร์ เช่น เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ และอีจีวี กลุ่มธุรกิจอาหารสัตว์คือ เครือเจริญโภคภัณฑ์ รวมถึงธุรกิจเหล้า เบียร์ โทรคมนาคม เครื่องใช้ไฟฟ้า ธุรกิจธนาคาร ประกันภัย เป็นต้น


 


ส่วนธุรกิจค้าปลีก ซึ่งมีหลายประเภท ทั้งร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีกสมัยใหม่ ร้านเอกซ์เพรส เป็นต้น


 


>> แต่เดี๋ยวก่อน! ท่านทั้งหลายโปรดพิจารณา เพราะอย่างไรก็ตามกรมการค้าภายในกำลังพิจารณาว่า ธุรกิจใดเข้าข่ายมีอำนาจเหนือตลาดบ้าง ซึ่งหากพบว่าเข้าข่ายผู้มีอำนาจเหนือตลาด และมีพฤติกรรมเอาเปรียบรายเล็ก หรือใช้ความเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาดทำธุรกิจจนทำให้รายเล็ก หรือคู่แข่งเกิดความเสียหายทางธุรกิจ ก็จะถูกดำเนินการตามกฎหมายทันที โดยจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ  และกรณีกระทำความผิดซ้ำต้องระวางโทษเป็นทวีคูณ แต่หากรายใดเข้าข่ายมีอำนาจเหนือตลาด แต่ทำธุรกิจตามปกติ ไม่เอาเปรียบรายเล็กก็จะไม่มีความผิดใด


 


บทลงโทษน้อยนิดนั้น และแถมยังมีข้อยกเว้นพ่วงท้าย มันจะมีประโยชน์อันใดถ้าไม่แก้ไขที่โครงสร้าง (ตัวอย่างก็ เอาวิธีโหดๆ เลยนะ เช่น การเก็บภาษีจากทุนใหญ่ในสัดส่วนที่สมเหตุสมผลกว่าเดิม แล้วนำไปอุดหนุนธุรกิจรายย่อยแขนงเดียวกันให้อยู่รอดและมีการพัฒนาขึ้นไปแข่งขัน พยายามสร้างตลาดให้มันเกือบๆ จะสมบูรณ์  เป็นต้น )


 


000


 


ผลลัพธ์


 


".. โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ  และกรณีกระทำความผิดซ้ำต้องระวางโทษเป็นทวีคูณ แต่หากรายใดเข้าข่ายมีอำนาจเหนือตลาด แต่ทำธุรกิจตามปกติ ไม่เอาเปรียบรายเล็กก็จะไม่มีความผิดใด .." ขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า ".. แต่หากรายใดเข้าข่ายมีอำนาจเหนือตลาด แต่ทำธุรกิจตามปกติ ไม่เอาเปรียบรายเล็กก็จะไม่มีความผิดใด .."


 


จึงเกิดคำถามที่ว่า เมื่อมันเข้าข่ายมีอำนาจเหนือตลาดแล้วมันจะไม่เข้าข่ายเอาเปรียบรายเล็กได้อย่างไร?


 


อาจจะมีผู้คลั่งไคล้กับระบบเสรีนิยมใหม่ ที่เน้นการสรรสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจด้วยบรรษัททุนใหญ่โต้เถียงว่า "คุณูปการของทุนใหญ่นั้นมีเหลือหลาย แล้วพวกมึงจะเอาอะไรกันหนักหนา --- ชิป ซีพียู จาก อินเทล , ระบบปฏิบัติการจาก ไมโครซอฟต์ , ม่าม่าจากไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์  ... พวกมึงดูดิ ทุนใหญ่ๆ ทั้งนั้นที่เขาสร้างสรรค์ให้"


 


มันก็น่าจะถูกต้องในส่วนหนึ่งละครับ  แต่ทว่าผู้บริโภคไม่สามารถเลือกชิบ ซีพียู ที่สร้างสรรค์กว่า อินเทล ไม่ได้หรือ? และไม่กิน มาม่า จากไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ ได้ป่าว? (เพราะร้านชำแถวบ้านมีแต่มาม่า) แล้วในอนาคตล่ะโลกธุรกิจแห่งนี้จะเปิดประตูอ้าแขนรับผู้ผลิต ซีพียูหรือบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรายใหม่ๆ แล้วหรือ?


 


ในทางปฏิบัติมันเปิดอยู่แล้วแหละ เปิดให้ไปเจ๊งตายน่ะ! เพราะผู้มีอำนาจเหนือตลาดทั้งหลายได้กุมช่องทางทางการตลาดไว้เกือบหมด แล้วทุนกระจ้อยร้อยจะกระโจนเข้าตลาดไปหาสวรรค์วิมารอะไร นอกจากกลายเป็นเพียงร้านโชว์ห่วย หรือหน่วยกระจายสินค้าให้ยักษ์ใหญ่เหล่านั้น การสร้างสรรค์ของทุนเล็กจากนี้ไป ก็จะเป็นการเอาสินค้าจากทุนใหญ่มาโปะนั่นแปะนี่ มามิกซ์กันแล้วก็ขายเอากำไรส่วนต่างนั้นไปอีกนิดหน่อย


 


ส่วนลูกหลานของเราก็เตรียมตัวเดินเรียงแถวเข้าองค์กร / โรงงานของบรรษัทเหล่านั้น และทำตัวเป็นผู้บริโภคที่ว่านอนสอนง่านได้อย่างเดียว! --- รึถ้าจะเป็นผู้ประกอบการ ก็เป็นเสียแต่รายเล็กๆ กระจุ๋มกระจิ๋ม พอเพียงไปวันๆ ซึ่งแทบไม่มีความหมายต่อตลาด เพราะรายใหญ่เขาไม่มีพื้นที่ให้ลูกๆ หลานๆ เราได้ยืนแล้ว (เว้นเสียแต่ลูกๆ หลานๆ ของเขา) ... มันจึงจะกลายเป็นประเด็นชนชั้นที่เกิดขึ้นอย่างที่จะเลี่ยงไม่ได้ในอนาคต


 


เปรียบดังเกมส์กระดานเศรษฐี (monopoly board games) ณ จุดจบของเกมส์คงมีแต่ผู้ชนะรายเดียว ที่ได้ครอบครองทุกอย่างบนกระดานนั้น --- นั่นคือเป้าหมายเดียวกันที่ผู้มีอำนาจเหนือตลาดทั้งหลายตั้งเป้าที่จะก้าวไปในแขนงที่ตนทำธุรกิจอยู่ ไม่ว่าจะตีความว่าเอาเปรียบรายเล็ก หรือตีความแบบงี่เง่าว่าไม่เอาเปรียบรายเล็ก  อย่างไรก็แล้วแต่ ถ้าพวกเขาไปถึงขั้นนั้น รายเล็กก็ตาย ผู้บริโภคก็หมดสิทธิ์ต่อรองใดๆ ทั้งสิ้น


 


สำหรับมาตรการป้องกันการผูกขาดแบบไทยๆ นี้ เราจะได้เห็นการบังคับใช้หรือไม่? คงจะไม่สำคัญเท่ากับว่า ใช้แล้วมันได้อะไรขึ้น? แค่ช่วยเพิ่มรายได้จากค่าปรับให้รัฐอีกน้อยนิดเท่านั้นหรือ? ไม่เห็นมันจะไปทำลายอำนาจเหนือตลาดได้ที่ไหน?


 


หลายนโยบายทางด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลยุคนี้ ดูหมายจะพยายามเอาใจฝ่ายชาตินิยม และฝ่ายต่อต้านโลกาภิวัตน์ที่ไม่เป็นธรรม ได้ผลักดันออกมาหลายๆ ตัว แต่ในทางกลับกันก็ดูเหมือนว่า เมื่อเข็นออกมาแล้ว ก็ต้องรีบยอมยกธงขาวไปอย่างทันควัน เพราะไม่สามารถนำมาใช้ในสถานการณ์ปัจจุบันได้ แล้วก็ออกมาใช้วาจาตลบตะแลงแกล้งเบี่ยงประเด็นไปวันๆ (ดังเช่นกฎเหล็ก 30% มหาโหดอันนั้น ที่ชักเข้าชักออกอย่างรวดเร็ว :-)


 


ทั้งนี้ ขอเพียงจริงใจต่อการขจัดความไม่เป็นธรรมด้านโครงสร้างของทุนนิยมสามานย์ที่ไม่สมดุลย์จริงๆ จังๆ ทั้งหมด- -- อย่าได้แต่เพียงออกกฎเกณฑ์แค่ล้างบางกลั่นแกล้งขั้วอำนาจเดิมเท่านั้น บางทีพวกท่านอาจได้รับความชอบธรรมขึ้นมาอีกซักนิดนึง ... ครับพ้ม!


 


...................

เอกสารประกอบ

พรบ. การแข่งขันทางการค้า2542

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net