'อุทัยวรรณ' The Myth of More : อเมริกากับมายาคติลูก e ช่างเพิ่ม

ท่ามกลางข้อเสนอมากมายจากหลายฝ่าย แต่ไม่ว่าจะหันไปทางไหน ทุกๆ ไอเดียข้อเสนอในวอชิงตันเพื่อแก้หรือยึดครองอิรักวันนี้ ยังคงเต็มไปด้วย "ความหวังดี" ชนิดที่-ขอแทรกคำว่า "มากขึ้น" เข้ามาด้วยเสมอ อุทัยวรรณ เจริญวัย จะพาไปรู้จักไมเคิล ชวอร์ตส์ เพื่ออธิบายว่าทำไม "มากขึ้น" ถึงแปลว่า อุบาทว์ขึ้น ทำลายล้างมากขึ้น และช่วยให้คนอิรักฆ่ากันตายมากขึ้น

 

โดย อุทัยวรรณ เจริญวัย

 

 

 

"ชัยชนะในอิรัก...ยังเป็นเรื่องที่สามารถบรรลุได้"

 

"ผมไม่เชื่อว่าชาวอเมริกันส่วนใหญ่ต้องการแค่...ให้เราออกจากอิรักตอนนี้ ชาวอเมริกันจำนวนมากรู้ซึ้งดีว่าผลของความพ่ายแพ้จะเป็นอย่างไร การถอยของเราจะทำให้พวกหัวรุนแรงแข็งแกร่งและฮึกเหิม มันจะทำลายความน่าเชื่อถือของสหรัฐอเมริกา"

 

ประธานาธิบดีบุช กล่าวไว้เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม รายงานข่าวของเอพีไม่ได้บอกว่าประธานาธิบดีแถลงข่าวจาก "ดาวอังคาร" หรือเปล่า แต่ที่แน่ๆ ก็คือ กว่า 60% ของคนอเมริกันอยากเห็นบุชจบสงคราม กว่า 60% ไม่อยากเห็นการกลับชาติมาเกิด...ของสงครามเวียดนาม

 

7 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ประชาชนส่วนใหญ่ได้ "โหวต" บอกนักการเมืองไปแล้วว่าพวกเขาต้องการอะไร แต่จนถึงตอนนี้ กลับไม่มีข้อเสนอใดๆ ที่จะรับประกัน "การถอนทหารจริงๆ" ในอิรัก          

 

แม้การปรับเปลี่ยนในนโยบายอิรัก จะเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และบุชบอกว่าจะมีคำตอบให้หลังปีใหม่ แต่ไม่ว่าจะเป็นคำตอบไหน...ล้วนไม่มี "ตอนจบ" เพราะทั้งบุชและนักการเมืองส่วนใหญ่ในวอชิงตันไม่เคยคิดที่จะจบ

 

หลังเลือกตั้งมิดเทอม แลนด์สเคปการเมืองอเมริกา มีการเปลี่ยนแปลง 2 อย่าง

-          รีพับลิกันแพ้ เดโมแครตชนะ เข้ายึดเสียงข้างมากทั้ง 2 สภา

-          การเสื่อมถอยของบิ๊กสาย "นีโอคอน" พร้อมกับบทบาทที่โดดเด่นขึ้นมาในช่วงแรกๆ ของสาย "เรียลลิสต์"

 

ในส่วนของเดโมแครต พรรคที่เป็นแค่การรวมตัวของมุ้งการเมืองหลากหลาย (4 มุ้งขึ้นไป) พวกขวา-กลางคุมเสียงส่วนใหญ่ วิธี "โหวตตัดงบสงคราม" ถือเป็นอำนาจเด็ดขาดของคองเกรสที่จะหยุดสงครามอิรักได้ แต่ก็เป็นวิธีการที่ถูกปฏิเสธไปแล้ว เดโมแครตไม่ได้เป็นพรรคแอนตี้วอร์ และเสียงส่วนใหญ่ก็ไม่ได้เรียกร้อง "กำหนดการถอนทหารที่ชัดเจน"

 

("ข่าวดีคือรีพับลิกันแพ้ ข่าวร้ายคือเดโมแครตชนะ" - ประโยคคันๆ ของวิลเลียม บลัมนี้ น่าจะโดนใจแอนตี้วอร์หลายคน)

 

ในส่วนของนีโอคอนและเรียลลิสต์ ที่ไม่ค่อยจะลงรอยกันในนโยบายตะวันออกกลางนั้น กระแสเสื่อมถอยหรือ "ขาลง" ของนีโอคอนเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้แล้ว แต่การลาออกหลังมิดเทอมของบิ๊กสายเหยี่ยวที่อยู่แก๊งเดียวกับนีโอคอน 2 คน เริ่มจาก โดนัลด์ รัมสเฟลด์ ตามด้วย  จอห์น โบลตัน (ทูตอเมริกาประจำยูเอ็น) ทำให้กระแสนี้ชัดขึ้น พร้อมกันนั้น การแทนที่รัมสเฟลด์ ด้วย รอเบิร์ต เกตส์ (ที่มีประวัติอยู่ในสายเรียลลิสต์) ประกอบกับการเปิดตัวรายงานร้อนๆ ของ กลุ่มศึกษาปัญหาอิรักหรือไอเอสจี (Iraq Study Group) คณะกรรมการร่วมสองพรรคที่นำทีมโดย เจมส์ เบเกอร์ (บิ๊กสายเรียลลิสต์) ในช่วงหลังเลือกตั้งพอดี ก็ยิ่งสร้างกระแสความโดดเด่นให้กับพวกเรียลลิสต์ไปพร้อมกัน

 

แต่หลังจากนั้นหลายสัปดาห์ต่อมา กระแสที่ว่า...อาจจะกลายเป็นเรื่องของ "ภาพลวงตา" ที่ไม่เกี่ยวอะไรกับนโยบายอิรักไปแล้ว

 

ท่ามกลางข้อเสนอมากมายจากหลายฝ่าย ฝ่ายนีโอคอนทั้งในและนอกทำเนียบขาว ได้ผลักดันทางเลือก "เพิ่มทหาร" ในอิรักมาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้แผน Choosing Victory: A Plan for Success in Iraq ซึ่งหมายถึง การทำในสิ่งที่เคยทำให้มากขึ้น แต่ทำให้หนักขึ้นและทำให้ชนะ ล่าสุด...นักวิเคราะห์ฟันธงว่าแผนนี้ชนะใจบุช (ถูกจริตเชอร์ชิล) ไปเรียบร้อยแล้ว แม้ว่าจะมีเสียงต้านจากบางส่วนในกองทัพ รวมทั้งในพรรคเดโมแครตก็ตาม

 

ขณะที่ข้อเสนอของพวกเรียลลิสต์ ตามรายงานของไอเอสจี (ที่สื่อให้ความสนใจอย่างมาก ตั้งแต่ช่วงก่อนเปิดตัว 6 ธ.ค.) แม้จะมีจุดเด่นที่แตกต่างจากนีโอคอนและถูกบุชปฏิเสธไปแล้ว เช่น เรื่องลดจำนวนทหารแบบมีเงื่อนไข (ไม่ใช่การถอนทหาร) และการใช้วิถีทางการทูตเข้าช่วย (เจรจากับอิหร่าน-ซีเรีย) เป็นต้น แต่ถึงที่สุดแล้ว ความคิดพื้นฐาน เป้าหมายพื้นฐาน ระหว่างนีโอคอนกับเรียลลิสต์ยังคงไม่ต่างกัน เรียลลิสต์ได้เรียกร้องให้มีการส่งเจ้าหน้าที่อเมริกันไปฝึกทหารอิรักเพิ่มขึ้น เพื่อถ่ายโอนภารกิจไปให้ทหารอิรักมากขึ้น ตลอดจนให้มีการโยกย้ายทหารอเมริกันไปใช้ฐานทัพละแวกเพื่อนบ้านมากขึ้น เพื่อเน้นการโจมตีทางอากาศ (ที่จะเพิ่มขึ้น) ตามมา

 

ไม่ว่าจะหันไปทางไหน ทุกๆ ไอเดียข้อเสนอในวอชิงตันวันนี้ ยังคงเต็มไปด้วย "ความหวังดี" ชนิดที่-ขอแทรกคำว่า "มากขึ้น" เข้ามาด้วยเสมอ  และไม่ว่าบุชวางแผนจะเพิ่มทหารอเมริกันอีกจำนวนเท่าไหร่...หรือกำลังสุมหัวกับ "เชนีย์" เพื่อคิดเพิ่มอะไรอีกก็ตาม ทุกๆ ทางเลือกที่เกี่ยวข้องกับคำว่า "เพิ่ม" หรือ "มาก" จะไม่มีทางนำไปสู่เสถียรภาพและความมั่นคงใน (การยึดครอง) อิรัก อย่างที่โฆษณาเอาไว้ได้

 

ต่อไปนี้จะเป็นคำอธิบายว่าทำไม "มากขึ้น" ถึงแปลว่า อุบาทว์ขึ้น ทำลายล้างมากขึ้น และช่วยให้คนอิรักฆ่ากันตายมากขึ้น

 

พบกับ ไมเคิล ชวอร์ตส์ (Michael Schwartz) ศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยา Stony Brook University กับงานวิเคราะห์ดีๆ The Myth of More: Two Fallacies of Bush Administration Policy in Iraq จาก Tomdispatch 7 ธันวาคม 2006

 

(มีการปรับอินโทรตอนต้นออกนิดหน่อยเพื่อให้ทันสถานการณ์ - ประโยคแรกยังมีกลิ่นไอมองโลกในแง่ดีอยู่บ้าง เพราะช่วงนั้นฝุ่นยังไม่จาง - สนใจไฮเปอร์ลิงก์ ข้อมูลและเอกสารอ้างอิงทุกชิ้น คลิกไปเช็คเพิ่มเติมได้ที่ Tomdispatch)

 

0 0 0

 

The Myth of More : มายาคติ 2 ข้อในนโยบายอิรัก

 

ไมเคิล ชวอร์ตส์

7 ธันวาคม 2006

 

 

และแล้วการเลือกตั้งมิดเทอมในอเมริกา ก็ได้นำพายุคใหม่มาให้นโยบายอิรัก เพียงแต่เบื้องหลังสถานการณ์ร้อนๆ ที่ยังหาความแน่นอนไม่ได้นี้ มีบางสิ่งที่สืบทอดมาจากยุคก่อน...และโชคร้ายที่มันไม่ยอมเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย นั่นก็คือ  The Myth of More หรือ "มายาคติว่าด้วยการเพิ่มมากขึ้น"

 

แทบจะไม่มีข้อยกเว้น ไม่ว่าข้อเสนอใดๆ ก็ตามที่มีขึ้นเพื่อการเปลี่ยนแปลงนโยบายอิรัก ล้วนปฏิเสธความคิดที่ว่า...อเมริกาควรจะยุติความพยายามที่จะยึดครองอิรักได้แล้ว และควรจะถอนทหารกลับบ้านจริงๆ สักที ด้วยเหตุนี้ แทนที่ข้อเสนอใหม่ๆ จะเรียกร้องให้อเมริกาทำสิ่งต่างๆ ในอิรักให้น้อยลงกว่าเดิม มันกลับเรียกร้องให้อเมริกาทำสิ่งที่เคยทำมาแล้ว และเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายชุดที่แล้ว "มากขึ้น"

 

เสียงเรียกร้องร่วมกันดังๆ ที่ได้ยินได้ฟังมากที่สุด ได้แก่ ให้นำทหารอิรักจำนวน มากขึ้น เข้ามาแทนที่กำลังรบของทหารอเมริกันที่ถูกใช้งานหนักมาตลอด, ให้มีที่ปรึกษาอเมริกันจำนวน มากขึ้น เข้ามาช่วยฝึกทหารอิรัก เพื่อให้หน่วยรบเติบโต-เพิ่มขีดความสามารถ, ให้ทหารอเมริกันจำนวน มากขึ้น เข้าไปเสริมกำลังในแบกแดดเพื่อต่อสู้ช่วงชิงพื้นที่ในเมืองหลวงกลับคืน, ให้มีนาวิกโยธินจำนวน มากขึ้น ในจังหวัดอัล-อันบาร์ ที่มั่นสำคัญของฝ่ายต่อต้านซุนนี เพื่อสยบความรุนแรงที่กำลังโหมหนักขึ้นเรื่อยๆ, ให้มีการตรวจสอบของสภาคองเกรส มากขึ้น เพื่อรับประกันว่า...คณะผู้บริหารบุชจะเดินตามแนวทางที่สร้างสรรค์สำหรับตะวันออกกลาง

 

แม้แต่ข้อเสนอที่มาจากการประเมินสถานการณ์เป็นลบ ก็ยังอุตส่าห์อยู่บนพื้นฐานความต้องการที่ "มากขึ้น" ไปด้วย การเรียกร้องให้อเมริกามีกำหนดการถอนทหารหรือโยกย้ายทหารไปสู่พื้นที่ที่ปราศจากความขัดแย้ง มาจากคำอธิบายที่ว่า มันเป็นหนทางที่จะบังคับให้รัฐบาลอิรักมีความรับผิดชอบ มากขึ้น ต่อสถานการณ์ความมั่นคงของประเทศ ขณะที่การเรียกร้องให้รัฐบาลอิรักกวาดล้างกองกำลังติดอาวุธ ก็มาจากความต้องการที่จะเห็นตำรวจอิรักจำนวน มากขึ้น เข้าไปลุยปราบปรามในพื้นที่ที่กลุ่มติดอาวุธปฏิบัติการอยู่

 

ปัญหาร้ายแรงที่ตามมาก็คือ ข้อเสนอแนะทุกข้อที่ว่ามานี้ รวมทั้งที่ผุดขึ้นตามสื่อต่างๆ ไม่เว้นแต่ละวัน ล้วนตั้งอยู่บนสมมุติฐานที่ว่า...การมีอยู่ของทหารอเมริกาในอิรัก ไม่ว่ามันจะล้มเหลวขนาดไหน มันก็ยังช่วยทำให้ปัญหาภายในที่แก้ยากระหว่างคนอิรักด้วยกัน "ดีขึ้น" ได้

 

และนี่ก็คือ ความเชื่อผิดๆ หรือมายาคติพื้นฐานสำหรับอาการเรียกร้องสิ่งต่างๆ "มากขึ้น" เพราะโดยข้อเท็จจริงแล้ว การบุกรุกและยึดครองของอเมริกา ได้นำมาซึ่งความเดือดร้อนยุ่งยากต่างๆ นานาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งกับประชาชนชาวอิรักเอง กับประชาชนชาวอเมริกัน และกับโลกใบนี้ทั้งใบ และความวิบัตินี้ก็ไม่มีทางเยียวยารักษาได้...จนกว่าทหารอเมริกาจะถอนตัวออกไปจริงๆ หรือถูกขับไล่ให้พ้นไปจากอิรัก

 

เพื่อที่จะแสดงให้เห็นว่า ข้อสังเกตที่น่าเศร้าใจนี้เป็นความจริง เราจะลองสำรวจข้อเสนอแนะ 2 ข้อในตระกูล   The Myth of More เพื่อตีแผ่ความฉ้อฉลของความคิดพื้นฐานที่รองรับมันอยู่

 

 

มายาคติ 1 เมื่อทหารอิรักที่ได้รับการฝึกมีมากขึ้น ทั้งฝ่ายต่อต้านและทหารอเมริกันจะลดจำนวนลง

มีคาถาอยู่บทหนึ่ง ที่ประธานาธิบดีบุชนิยมท่องติดปากมาตลอด เพิ่งจะหยุดไปไม่นานก่อนหน้าเลือกตั้งมิดเทอม นั่นก็คือ : เมื่อไหร่ที่อิรักยืนหยัดขึ้นมาได้ เราก็จะถอยออกไป (As the Iraqis stand up, we will stand down.) - ซึ่งประโยคเด็ดนี้สามารถแปลได้ว่า เมื่อทหารอิรักมีจำนวนมากขึ้น มันจะส่งผลให้การปะทะกันระหว่างฝ่ายต่อต้านกับทหารอเมริกันต้องลดน้อยถอยลง นำไปสู่การลดจำนวนทหารอเมริกันในอิรักตามมา

 

ตรรกะของข้อสรุปนี้ก็ง่ายๆ ตรงไปตรงมา เป็นเรื่องของการหยั่งรู้เอาเองมากกว่า มันอยู่บนสมมุติฐานที่ว่า สิ่งที่เป็นพื้นฐานสำคัญของสงครามนี้ก็คือ ความรุนแรงโหดร้ายเกิดขึ้นเมื่อฝ่ายต่อต้านต้องการยึดเมืองต่างๆ ในอิรัก โดยฝ่ายต่อต้านได้ใช้ความรุนแรงกับประชาชนพลเมืองในท้องถิ่นนั้น ด้วยเหตุนี้ เพื่อเป็นการตอบโต้ กองทัพอเมริกา (รวมทหารอิรัก) จึงต้องยกพลเข้าไปในเมืองนั้นๆ เพื่อขับไล่ฝ่ายต่อต้านให้พ้นไปหรือล่าถอยไปซ่อนตัวที่ไหนสักแห่ง แต่โชคร้ายจริงๆ ตามคำอธิบายชุดนี้ หลังเสร็จภารกิจ กองทัพอเมริกา (รวมทหารอิรัก) จากไป ฝ่ายต่อต้านและความรุนแรงในเมืองก็ย่างเท้ากลับมาใหม่ ดังนั้น ถ้าเพียงแต่เรามีทหารอิรักที่ได้รับการฝึกมาอย่างดีจำนวนมากขึ้น สามารถตั้งฐานที่มั่นคอยพิทักษ์เมืองนั้น (ที่ถูกทำให้ "สงบ" ลงแล้ว) อย่างถาวร ฝ่ายต่อต้านย่อมไม่สามารถกลับมายึดคืนได้อีก ด้วยเหตุนี้ การมีทหารอิรักจำนวนมากขึ้น ย่อมหมายถึงความรุนแรงที่จะลดลงตามมา

 

 

ฟังดูก็เป็นเหตุเป็นผลดี แต่ปัญหาข้อเดียวที่มีก็คือ : ตรรกะนี้ใช้ไม่ได้กับสถานการณ์จริง ไม่ใช่...อย่างที่เกิดขึ้นในถนนหลายสาย ในเมืองต่างๆ ของอิรักแน่ๆ ระหว่างฤดูใบไม้ร่วงปี 2004 ถึงฤดูใบไม้ร่วงปี 2006 แหล่งข่าวในกองทัพอเมริการายงานว่า จำนวนทหารอิรักที่อยู่ในสภาพพร้อมรบหรือเรียกได้ว่าเป็นทหารในหน่วยรบนั้น มีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 40,000 เป็น 130,000 นาย ซึ่งเมื่อเทียบกับเป้าหมายที่อเมริกาเคยตั้งไว้นานแล้วว่า ทหารอิรักที่จำเป็นต่อภารกิจด้านความมั่นคงคือ 137,000 นาย จะเห็นว่าตัวเลขที่ห่างกัน...ก็แค่เส้นยาแดงผ่าสิบแปดเท่านั้น แต่ถึงกระนั้น การเพิ่มขึ้นของทหารอิรักที่มากขนาดนี้กลับไม่มีผลทำให้ปฏิบัติการใดๆ ของฝ่ายต่อต้านลดระดับลงได้เลย

 

ตรงกันข้าม ในช่วงเวลาเดียวกัน การโจมตีกองทัพโดยฝ่ายต่อต้านกลับเพิ่มขึ้นในอัตราใกล้เคียงกันกับจำนวนทหารอิรักที่ "ยืนหยัดขึ้น" คือประมาณสามเท่า จาก 50 ครั้งต่อวันเป็น 150 ครั้งต่อวัน (1) ขณะที่คาร์บอมบ์กับโรดไซด์บอมบ์ (ระเบิดที่ฝังไว้ตามถนน) เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า ยิ่งกว่านั้น แม้ทหารอิรักจะเพิ่มจำนวนซะขนาดนี้แล้ว ปรากฏว่า ทหารอเมริกันกลับไม่สามารถลดจำนวนตามไปด้วยได้ ก็เห็นกันชัดๆ กันอยู่แล้วว่า พวกเขายังคงรักษาระดับที่ 140,000 มาโดยตลอด

 

ลองมาดูกันซิว่า ผลลัพธ์แปลกๆ ที่แย้งกับตรรกะมันเกิดขึ้นได้อย่างไร ในช่วงเวลาที่ สถาบันบรูคกิงส์ (Brookings Institute) รายงานว่า ทหารอิรักขยับเพิ่ม "มากขึ้น" เกือบถึง 90,000 นั้น ทหารอเมริกันคงอยู่ที่ 140,000 ตามปกติ ปรากฏว่าช่วงนั้น ความเคลื่อนไหวของฝ่ายต่อต้านกลับยิ่งทวีความเข้มข้นและหนักหน่วงยิ่งกว่าเดิมมาก จริงๆ แล้ว อาการ "มากขึ้น" ดูจะตอบสนองหรือเข้าทางฝ่ายต่อต้านมากกว่า ตลอดช่วงเวลาอันยาวนานที่ผ่านมา...ทำไมการมีทหารมากขึ้นจึงไม่นำไปสู่การปราบปรามที่ได้ผลมากขึ้น?

 

เพื่อที่จะตอบคำถามนี้ เราจำเป็นจะต้องเข้าใจความจริงอันน่าสยดสยอง และเป็นพื้นฐานสำคัญในนโยบายอิรักของบุชก่อน : ทหารอเมริกันอยู่ที่นั่น แต่สิ่งที่พวกเขาทำนั้นไม่ใช่การสยบความรุนแรง พวกเขาต่างหาก...ที่เป็นตัวผลิตความรุนแรง

 

แทนที่จะยกพลเข้าเมืองที่มีการปะทะกันดุเดือดและทำให้มันสงบเรียบร้อย พวกเขากลับเข้าไปในเมืองที่ค่อนข้างสงบกว่าแล้วทำให้มันรุนแรงขึ้นมา ตัวอย่างที่ชัดเจนของสถานการณ์เช่นนี้ - ตามที่มีบรรยายไว้ในที่ต่างๆ อาทิ ในหนังสือ the Belly of the Green Bird ของ เนียร์ โรสเซน (Nir Rosen) - มีรายละเอียดอยู่ว่า สำหรับเมืองที่มีความเป็นปฏิปักษ์กับอเมริกันมากที่สุด อย่างเช่น ทัล-อาฟาร์ และ รามาดี นั้น โดยทั่วๆ ไป ถือว่ามีความสงบพอใช้ได้...เวลาที่อเมริกาไม่ได้อยู่ที่นั่น ชาวเมืองถูกปกครองด้วยผู้นำท้องถิ่นที่ทำงานร่วมกันกับพวกนักรบจรยุทธในท้องถิ่น ฝ่ายต่อต้านซึ่งมักจะมีการจัดตั้งอยู่ในรูปกลุ่มติดอาวุธนี้ จะทำหน้าที่หลายๆ อย่างเหมือนเป็นตำรวจ รวมทั้งบังคับใช้กฎหมายอิสลาม (เคร่งลัทธิ) ด้วย ซึ่งปัจจุบันกฎหมายดังกล่าว ได้เข้ามามีบทบาทอย่างมากทั้งในพื้นที่ซุนนีและชีอะต์

 

 

เมืองเหล่านี้ ไม่ได้ยอมรับอำนาจปกครองของรัฐบาลอิรักหรือการยึดครองของอเมริกา ด้วยเหตุนี้ เมื่ออเมริกันพยายามที่จะนำเอาการปกครองจากภายนอกเข้ามายัดเยียดติดตั้งให้ พร้อมกับถอนรากถอนโคนเหล่าผู้นำของฝ่ายต่อต้านทิ้งไป เมืองทั้งหลายจึงระเบิดตามมาเป็นเสี่ยงๆ - - ตามท้องถนน ขณะที่อเมริกาพยายามหาทางจะไล่ฆ่าและจับกุมผู้นำกลุ่มติดอาวุธในท้องถิ่นนั้น ในอีกด้าน นักรบฝ่ายต่อต้านก็พยายามจะวางระเบิดแสวงเครื่องหรือไออีดี (IED - Improvised Explosive Device) รวมทั้งวางกำลังซุ่มยิงโจมตี เพื่อขัดขวางไม่ให้อเมริกาเข้ายึดเมืองได้ แต่โดยทั่วไป อันเนื่องมาจากฝ่ายต่อต้านมักจะได้รับการสนับสนุนจากผู้คนในชุมชนจำนวนมาก ยุทธวิธีที่ว่านี้ของอเมริกาจึงเท่ากับนำหายนะมาให้ - - "ความสำเร็จ" ทางการทหารของอเมริกาที่เกิดขึ้น ได้ช่วยผลิตนักรบฝ่ายต่อต้านรุ่นใหม่ๆ เพื่อมาแก้แค้นให้เพื่อนฝูงหรือญาติพี่น้องที่ตายจากไป เมื่ออเมริกาถอนกำลัง เมืองนั้นก็จะกลับไปสู่สภาพเดิมอีกครั้ง (นักรบฝ่ายต่อต้านกลับมาเล่นบทบาทเป็นตำรวจอีก) เพียงแต่ว่า สิ่งที่จะเปลี่ยนไปก็คือ เมืองๆ นั้นจะตกอยู่ในสภาพที่ยับเยินบอบช้ำกว่าตอนแรก อดอยากยากไร้มากขึ้น คุกรุ่นไปด้วยความโกรธแค้นมากขึ้น และพร้อมที่จะหมดความอดทนได้ง่ายขึ้น       

 

ด้วยเหตุนี้ มันจึงไม่น่าประหลาดใจว่า ทำไมขนาดที่เพิ่มขึ้นของกองทัพ "อิรัก" จึงผลิตอย่างอื่นไม่ได้...นอกจากความรุนแรงที่มากขึ้นไปด้วย (ในทางปฏิบัติ ทหารอิรักถูกจับไปผสมปนเปอยู่ในโครงสร้างใหญ่-ภายใต้การบัญชาการของกองทัพอเมริกา) เมื่อมีทหารในมือมากขึ้น แม่ทัพอเมริกันก็จะยกพลไปตีบ้าน ตีเมือง ตีละแวกต่างๆ ในอิรักมากขึ้น ส่งผลต่อการเผชิญหน้าที่จะมากขึ้นและยืดเยื้อยาวนานขึ้นตามไปด้วย

 

ถึงที่สุดแล้ว การสู้รบทั้งหมดนี้จะจบลงได้ก็ด้วยวิธีเดียวเท่านั้น อเมริกาต้องหยุดความพยายามที่จะนำอำนาจปกครองจากข้างนอกมายัดเยียดให้...กับเมืองที่ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของผู้นำท้องถิ่นไปแล้ว

 

 

มายาคติ 2 เมื่อเพิ่มทหารให้มากขึ้นที่แบกแดด การปะทะกันรุนแรงระหว่างสองนิกายจะลดลงไป

เช่นกัน คำอธิบายที่มาพร้อมกับมายาคติข้อสอง...ยังคงเป็นเรื่องของตรรกะตรงๆ ง่ายๆ ไม่ซับซ้อนเหมือนข้อแรก : ในแบกแดด อเมริกาต้องการทหารที่มีกำลังแข็งแกร่งมากพอจำนวนหนึ่ง เพื่อภารกิจจับกุม สกัดกั้น ขัดขวาง และทำลาย "มือระเบิดพลีชีพชาวซุนนี"  และ "หน่วยล่าสังหารชาวชีอะต์" - - ที่ผ่านมา มีการปิดถนนตั้งด่านตรวจค้นบุคคลที่มีลักษณะน่าสงสัย พร้อมกับมีการกระจายกำลังขนานใหญ่เข้าตรวจค้นตามบ้านเรือน (house-to-house searches) เพื่อที่จะรวบตัวผู้ต้องสงสัยและค้นหาแหล่งเก็บอาวุธของกลุ่มต่างๆ  ทั้งหมดนี้คาดว่าจะช่วยให้การโจมตีระหว่างชาวอิรักสองนิกาย...ลดปริมาณและความรุนแรงลงได้ อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่แบกแดดเป็นเมืองที่กว้างใหญ่เกินไป นักรบแต่ละนิกายมีจำนวนมหึมามหาศาลเกินไป แม้ว่าช่วงไม่กี่เดือนนี้ จะมีการโอนย้ายทหารอเมริกันจำนวนมากจากจังหวัดอัล-อันบาร์ มาสมทบเพิ่มเติม ประกอบกับตำรวจและทหารชาวอิรักที่มีอยู่ในแบกแดดเป็นจำนวนมากแล้วก็ตาม แต่ก็ปรากฎว่า...อเมริกายังไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ความรุนแรงระหว่างสองนิกายได้

 

 

เหมือนเดิม เรากำลังเผชิญหน้ากับปัญหาแบบ paradox อีกแล้ว แม้ว่าตรรกะของการเพิ่มมากขึ้น จะฟังดูเป็นเหตุเป็นผลเมคเซ้นส์เอามากๆ แต่ในทางปฏิบัติแล้ว Operation Together Forward ปฏิบัติการร่วมกันระหว่างอิรัก-อเมริกัน เพื่อปราบปรามความรุนแรงระหว่างนิกายในแบกแดด กลับให้ผลออกมาตรงข้าม หกเดือนหลังการเริ่มต้นของปฏิบัติการนี้ การโจมตีของผู้ก่อความไม่สงบในแบกแดดเพิ่มขึ้น 26% อัตราการตายอันเนื่องมาจากความรุนแรงเฉพาะที่มีรายงาน...เพิ่มขึ้นช่วงแรกเป็นสองเท่า และต่อมาเพิ่มอีกเป็นสองเท่า ทำให้นักข่าวนิวยอร์คไทมส์ เอ็ดวิน วอง (Edwin Wong) และ แดเมียน เคพ (Damian Cave) ถึงกับใช้คำว่า "เหตุการณ์รุนแรงระหว่างสองนิกาย พุ่งขึ้นจนควบคุมไม่ได้ไปแล้ว"

 

เบื้องหลังลักษณะแพราดอกซ์ เราจะพบคำตอบก็ต่อเมื่อย่องเข้าไปดูใกล้ๆ ว่า จริงๆ แล้ว...สิ่งที่ทหารอเมริกันและอิรักทำในท้องถนนแบกแดดคืออะไร? ก่อนอื่น สิ่งที่เราต้องเข้าใจก่อนก็คือ กลุ่มติดอาวุธอิงนิกายศาสนา - เป้าหมายหลักของปฏิบัติการครั้งนี้ - แม้จะมีลักษณะบางอย่างกระเดียดไปทางพวกแก๊งอาชญากรก็ตาม แต่โดยบทบาทที่ผ่านมา พวกเขาคือกองกำลังที่คอยรักษาความสงบเรียบร้อยให้กับแบกแดด ไม่ให้กลายสภาพไปเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อน กลุ่มติดอาวุธเหล่านี้ทำหน้าที่หลายๆ อย่าง ทั้งดูแลเรื่องการจราจร จับโจรผู้ร้ายมาลงโทษ ไกล่เกลี่ยความขัดแย้งและข้อพิพาทของคนในชุมชน ตลอดจนปกป้องคุ้มกันไม่ให้ "บุคคลภายนอก" เข้ามาทำอันตรายสมาชิกที่อาศัยอยู่ในชุมชนนั้นๆ ไม่ว่าบุคคลภายนอกของพวกเขาจะหมายถึง ทหารอิรัก ทหารอเมริกัน หน่วยล่าสังหาร หรือมือระเบิดพลีชีพก็ตาม

 

เมื่อทหารอเมริกันยกพลเข้าไปลุยตามละแวกย่านต่างๆ ของแบกแดด พวกนั้นจะทำให้กลุ่มติดอาวุธต้องหนีหายไปจากท้องถนนและหันไปกบดานอยู่ใต้ดินแทน ปกติ การยกทัพบุกจะส่งผลให้เกิดการสู้รบระหว่าง "กองกำลังผู้บุกรุก" และ "กลุ่มติดอาวุธที่กลายเป็นฝ่ายต่อต้าน" ตามมา แต่บางโอกาสมันก็ส่งผลทำให้กิจกรรมด้านจัดระเบียบและปกป้องชุมชนของพวกเขาต้องถูกกวาดล้างไปด้วย กลุ่มติดอาวุธของชุมชนไม่สามารถลาดตระเวณตามท้องถนนได้เพราะกลัวทหารจะโจมตี ขณะที่ทหารผู้บุกรุก นอกจากจะปราศจากทักษะและความเข้าใจในพื้นที่แล้ว ยังไม่สามารถให้การปกป้อง "ทุกหัวมุมถนน" เพื่อทดแทนบทบาทของกลุ่มติดอาวุธได้ สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ ทำให้ชุมชนต่างๆ กลับมีความเสี่ยงภัยมากขึ้น-ไม่ใช่น้อยลง-จากมือระเบิดพลีชีพหรือไม่ก็หน่วยล่าสังหารจำนวนมาก

 

ความอ่อนแอลงของชุมชนนี้ เป็นเรื่องที่มีรายละอียดประกอบชัด โดยเฉพาะในปฏิบัติการ Operation Together Forward จากกรณีที่ทหารอเมริกันยกพลไปบุก เมืองซาเดอร์ (Sadr City) ชุมชนแออัดขนาดมโหฬารของชาวชีอะต์ทางด้านตะวันออกของแบกแดด (ที่มั่นของพวก ซาเดอริสต์ หรือผู้ที่ศรัทธาใน มุกตาดาร์ อัล-ซาเดอร์) ภายใต้การควบคุมดูแลของ กองทัพมาห์ดี (Mahdi Army) กองกำลังติดอาวุธของพวกซาเดอริสต์ ที่รวมตัวกันอยู่อย่างหนาแน่นในพื้นที่ ที่ผ่านมา เมืองนี้จึงค่อนข้างจะมีภูมิคุ้มกันสูง (โดยเปรียบเทียบ) ต่อพวกคาร์บอมบ์หรือบอมบ์พลีชีพ แต่ความแข็งแกร่งในการต้านทานนี้ก็ต้องมีอันสิ้นสุดลง เมื่อในเดือนตุลาคม กองทัพอเมริกาได้ปิดทางเข้าออกพื้นที่และตั้งด่านตรวจขึ้นมาที่จุดเข้าออกหลักๆ ของเมือง เพื่อที่จะไล่ล่าเหล่าผู้นำกองทัพมาห์ดีที่ต้องสงสัยว่าจะเกี่ยวข้องกับหน่วยล่าสังหาร และลักพาตัวทหารอเมริกันคนหนึ่งไป ชาวบ้านในเมืองนั้นเล่าให้นักข่าวนิวยอร์ค ไทมส์ ซาบรีนา แทเวอร์นิส (Sabrina Tavernise) ฟังว่า การปิดล้อมเมืองนี้ "ได้บีบบังคับให้สมาชิกกองทัพมาห์ดีที่เคยลาดตระเวณตามท้องถนนต้องหายสาบสูญไป" ส่งผลให้เมืองนี้ต้องตกเป็นเหยื่อคาร์บอมบ์ฝีมือจิฮัดดิสต์ชาวซุนนี...ที่เกิดขึ้นอย่างดุเดือดตามมาหลายระลอก

 

และแม้ในช่วงหลังยกเลิกด่านตรวจ การออกลาดตระเวณตามท้องถนนของอเมริกาก็ยังทำให้กองทัพมาห์ดีต้องกบดานต่อไป เปิดทางให้กับหายนะจากคาร์บอมบ์ครั้งใหญ่ 1 ชุด 5 จุด คร่าชีวิตผู้คนในเมืองซาเดอร์ไปอย่างน้อย 215 ศพ และบาดเจ็บ 257 คน คูซาย อับดุล-วาหับ (Qusai Abdul-Wahab) สมาชิกสภาฯ ในกลุ่มของมุกตาดาร์ อัล-ซาเดอร์ พูดแทนใจสมาชิกส่วนใหญ่ในชุมชน เมื่อเขากล่าวกับสำนักข่าวเอพีว่า "กองกำลังผู้ยึดครองคือผู้ที่ต้องรับผิดชอบเต็มๆ สำหรับสิ่งที่เกิดขึ้น"

 

ช่วงเวลาเดียวกันและด้วยวิธีการคล้ายๆ กันนั่นเอง (เพียงแต่ตัวละครกลับกัน) กองทัพอเมริกาก็ได้เปิดทางสะดวกให้กับหน่วยล่าสังหารชีอะต์ในการโจมตีชาวซุนนีในเมือง บาลัด (Balad) และ ดูลุยยาห์ (Duluiyah) เมืองที่ความตึงเครียดระหว่างสองนิกายเป็นไปอย่างเข้มข้น กองทัพอเมริกาได้ปิดล้อมเมืองเพื่อที่จะกวาดล้างฝ่ายต่อต้านซุนนีที่ถูกกล่าวหาว่าสังหารหมู่คนงานชีอะต์ไป 17 ศพ วิธีการของอเมริกาได้ขับไล่กองกำลังติดอาวุธของซุนนีให้หนีหายไปกบดานเงียบเชียบตามมา หลังจากนั้นไม่นาน หน่วยล่าสังหารชีอะต์ก็เพ่นพ่านไปทั่ว วอชิงตันโพสต์รายงานว่า "เจ้าหน้าที่ตำรวจในเมืองดูลุยยาห์ ร้อยตำรวจเอก คาอิด อัล-อาซาวี (Capt. Qaid al-Azawi) ได้กล่าวหากองกำลังอเมริกาว่า เอาแต่วางเฉยไม่ยอมทำอะไร ปล่อยให้กลุ่มติดอาวุธในเครื่องแบบตำรวจและในรถตำรวจ...ออกไล่ฆ่าชาวซุนนีจำนวนมาก"

 

ในทั้งสองกรณี หลักคิดของอเมริกาเหมือนกัน อเมริกาไม่สามารถหรือไม่เต็มใจที่จะหันเหความสนใจไปจากศัตรูเป้าหมายอันดับแรกของพวกเขาได้ (พวกที่ต้านอเมริกา - กองทัพมาห์ดีในเมืองซาเดอร์ และฝ่ายต่อต้านซุนนีในเมืองบาลัด) เพราะฉะนั้นพวกเขาจึงเปิดประตูพร้อมสำหรับพวกคาร์บอมบ์และหน่วยล่าสังหารให้ปฏิบัติการได้อย่างค่อนข้างเป็นอิสระ ถึงที่สุดแล้ว พันธกิจสำคัญอันดับแรกของกองทัพอเมริกัน - ปราบปรามกองกำลังทุกฝ่ายที่ต่อต้านการยึดครอง - ได้ถ่ายทอดหัวใจของมันลงในสูตรวิปริตที่กล่าวมาแล้ว สูตรที่กองทัพอเมริกาพร้อมจะร่วมผลิตความรุนแรงแตกแยกระหว่างนิกายให้ลุกลามออกไปมากๆ ยิ่งขึ้น

 

แต่ดูเหมือนแค่นั้นจะยังไม่พอ...สำหรับสูตรพิเศษที่ว่า ในกรณีของพื้นที่ชีอะต์ เมื่อกองทัพอเมริกาเข้าไปบุกยึดแล้ว ผลที่ตามมาอาจจะหมายถึงการขัดขวางกองกำลังป้องกันตัวเองของท้องถิ่น ทำให้ชุมชนถูกโจมตีจากพวกจิฮัดดิสต์ได้ง่ายๆ แต่ในกรณีของพื้นที่ซุนนี การบุกยึดของอเมริกามีรายละเอียดที่แตกต่างออกไป ซึ่งสามารถส่งผลที่เลวร้ายได้ยิ่งกว่า

 

ในพื้นที่ซุนนี อเมริกาไม่เพียงขัดขวางกองกำลังป้องกันท้องถิ่นของซุนนี แต่ในกรณีที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ อเมริกามักจะนำทหารอิรักจำนวนมากเข้าไป โดยทหารเหล่านี้จะหมายถึงทหารชีอะต์เป็นหลัก (เนื่องจากกองทัพที่อเมริกาจัดตั้งขึ้นมา ทหารส่วนใหญ่มาจากชาวชีอะต์) การปะทะกันหลังจากนั้น จึงกลายเป็นการสู้รบระหว่างทหารชีอะต์ (และอาจจะรวมไปถึงตำรวจชีอะต์) กับนักรบฝ่ายต่อต้านซุนนีที่ต้องการปกป้องชุมชนของตนเอง การโจมตีในลักษณะเช่นนี้ได้สร้างความขมขื่นคับแค้นใจอย่างใหญ่หลวงให้กับชาวซุนนี โดยพวกเขามองว่านี่เป็นอีกหนึ่งในความพยายามของชาวชีอะต์ที่จะยืมมือกองทัพอเมริกาเข้ามาจัดการกับเมืองต่างๆ ของซุนนี ส่งผลให้เกิดจิฮัดดิสต์ใหม่ๆ ขึ้นเป็นจำนวนมาก พวกเขาต้องการแก้แค้นเอาคืนกับชุมชนชีอะต์ ไม่ว่าจะในรูปแบบการก่อการร้ายหรืออะไรก็ตาม - - และสิ่งเหล่านี้ ก็จะไปกระตุ้นหน่วยล่าสังหารชาวชีอะต์อีกที ภายในวัฏจักรความดิบโหดรุนแรงที่กำลังเร่งอัตราขึ้นเรื่อยๆ

 

ความจริงอันน่าเจ็บปวดมีอยู่ว่า ในวัฏจักรความรุนแรงที่กล่าวมา กองทัพและการยึดครองของอเมริกาคือผู้ที่ยืนอยู่ทั้งตรงจุดเริ่มต้นและจุดสุดท้าย :

 

>> อเมริกาบุกเข้าไปปฏิบัติการอย่างโหดเหี้ยมในเมืองของชาวซุนนีเป็นส่วนใหญ่ - อเมริกามีผู้ช่วยเป็นทหารชีอะต์ซึ่งมีจำนวนมากขึ้นตลอดเวลา - สิ่งนี้นำไปสู่การล้างแค้นของจิฮัดดิสต์ซุนนีด้วยวิธีคาร์บอมบ์และรูปแบบอื่นๆ - การโจมตีในย่านชีอะต์ไปกระตุ้นหน่วยล่าสังหารชีอะต์ - หน่วยล่าสังหารชีอะต์ใช้ทรัพยากรของรัฐบาล ทั้งคน อุปกรณ์ ยานพาหนะ - หน่วยล่าสังหารชีอะต์บุกไปในย่านซุนนี และสังหารคนที่ต้องสงสัยว่าก่อการร้าย (พร้อมกันนั้น ก็สังหารผู้บริสุทธิ์ที่ไม่เกี่ยวข้องมากขึ้นเรื่อยๆ) - สุดท้าย ในฉากจบที่เต็มไปด้วยอารมณ์ขันแบบประชดประชัน กองทัพอเมริกาได้ยกพลกลับเข้าไปในพื้นที่ที่อยู่ระหว่างสงครามพวกนี้อีกครั้ง เพื่อไปขัดขวางทำลายระบบป้องกันตัวเองที่พวกเขาอุตส่าห์สร้างขึ้นมา ในที่สุด...ชุมชนทั้งหลายก็ถูกทำให้อ่อนแอ เสี่ยงภัย และพร้อมจะถูกโจมตีได้ง่ายดายยิ่งกว่าเดิม

 

ข้อเสนอใดๆ ก็ตามที่วาดภาพการมีอยู่ของทหารอเมริกาหรืออิรักจำนวนมากขึ้น ว่าเป็น "ยาถอนพิษ" สำหรับการใช้ความรุนแรงระหว่างสองนิกาย ไม่ว่าจะที่แบกแดดหรือที่ไหนแล้วล่ะก็ ถือว่าข้อเสนอนั้นจับประเด็นสำคัญไม่ได้ ด้วยเพราะไม่เข้าใจนโยบายทางการทหารของบุช : ปฏิบัติการของทหารอเมริกันไม่ได้ช่วยระงับความรุนแรงระหว่างนิกาย มันเป็นเพียงตัวเร่งความรุนแรงให้แพร่กระจายออกไปตามพื้นที่ใหม่ๆ มากขึ้น

 

การเพิ่มระดับอย่างน่าสะพรึงกลัวของความรุนแรงในแบกแดดเร็วๆ นี้ นับเป็นรางวัลจาก Operation Together Forward โดยตรง และตราบเท่าที่กองทัพอเมริกากับพันธมิตรชาวอิรักของมัน ยังคงมุ่งมั่นที่จะยกพลไป "สร้างความสงบเรียบร้อย" ในย่านต่างๆ ทั่วทั้งแบกแดดไม่เลิก พวกเขาก็รังแต่จะปั่นให้การโจมตีระหว่างนิกายขยายวงออกไปมากๆ ยิ่งขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม ส่วนที่บั่นทอนจิตใจและทำให้สิ้นหวังมากที่สุดในปรากฎการณ์ครั้งนี้ มีอยู่ว่า เริ่มเป็นที่เชื่อกันมากขึ้นเรื่อยๆ ในคณะผู้บริหารของบุชว่า ความรุนแรงระหว่างนิกายอาจจะเป็นหนทางเดียวที่จะ "ช่วย" ให้ภารกิจของอเมริการอดพ้นจากความล้มเหลวได้ - - จากสภาพข้อเท็จจริงที่ว่ากลุ่มติดอาวุธชีอะต์กำลังไล่ฆ่าฝ่ายต่อต้านซุนนี และในทางกลับกัน ฝ่ายต่อต้านซุนนีก็กำลังไล่ฆ่ากลุ่มติดอาวุธชีอะต์ อดีตเจ้าหน้าที่ข่าวกรองของอเมริกาผู้ไม่ประสงค์จะออกนามรายหนึ่ง ได้กล่าวกับนักข่าวแนววารสารศาสตร์เชิงสืบสวน ซีมัวร์ เฮิร์ช (Seymour Hersh) ในงานเขียนล่าสุดของเขา ในนิวยอร์คเกอร์ ว่า

 

"(ตอนนี้) ทำเนียบขาวเชื่อกันว่า ถ้าทหารอเมริกาอยู่ในอิรักนานพอ  - ด้วยจำนวนทหารที่มากพอ - ลงท้าย พวกคนชั่วก็จะฆ่าอีกฝ่ายจนตายกันหมดไปเอง"

 

 

หมดเวลามายาคติ : ไม่เชื่อ ไม่เอา ไม่เพิ่ม

ไม่กี่วันมานี้ เนียร์ โรสเซน หนึ่งในนักข่าวที่รู้แจ้งเห็นจริงมากที่สุดในประเด็นอิรัก ได้สรุปสถานการณ์ปัจจุบันไว้ว่า :

 

"ผมคิดว่า ทั้งบุชและมาลิกี (นายกฯ) ไม่มีความหมายอะไรต่อสถานการณ์จริงในอิรัก ทั้งสองคนไม่มีอำนาจจริง มาลิกีไม่มีกลุ่มติดอาวุธเป็นของตัวเอง ขณะที่บุชอาจจะมีกลุ่มติดอาวุธของตัวเอง ก็กองทัพอเมริกาน่ะแหละ...กลุ่มติดอาวุธที่ใหญ่ที่สุดที่ปฏิบัติการในอิรัก แต่กองทัพอเมริกาก็แพ้ไปแล้วในอิรัก มันแพ้ตั้งแต่มันมาถึงแล้ว เดี๋ยวก็ตีกับซุนนี เดี๋ยวก็ตีกับชีอะต์ แต่ส่วนใหญ่แล้วมันจะชอบโจมตีไปโดนผู้บริสุทธิ์มากกว่า กองทัพอเมริกาไม่มีปัญญาที่จะแยกแยะว่าใครเป็นใคร มันไม่สามารถจะใช้อำนาจอะไรได้มากมาย มันมีอำนาจอย่างมากก็แค่...ตรงหัวมุมถนนที่มันตั้งอยู่เท่านั้น เพราะฉะนั้น มันจึงไม่มีความสำคัญอะไรเลย....."

 

 

"ตอนนี้ คุณมีประมาณ 10 ถึง 12 เมืองที่กลายสภาพเป็นรัฐอิสระในอิรัก : โมซุล แบกแดด เคอร์คุก บาสรา อมารา รามาดี ฯลฯ แต่ละเมืองไม่ได้เกี่ยวข้องกัน แต่ละที่ก็มีกลุ่มติดอาวุธของตัวเองดูแลอยู่ คุณไม่สามารถจับใครก็ได้ที่คุณต้องการมายัดใส่แบกแดด หรือที่อื่นๆ นอกแบกแดดก็จะให้ผลไม่ต่างกัน คนที่คุณจะจับมาคุมแบกแดดได้...ต้องมีอำนาจจริงในแบกแดดเท่านั้น ซึ่งหมายถึงอำนาจที่เป็นที่ยอมรับกันตามท้องถนน และนั่นก็หนีไม่พ้น มุกตาดาร์ อัล-ซาเดอร์"

 

ข้อเสนอนโยบายอิรักทุกๆ เวอร์ชันที่มีการนำเสนอวอชิงตัน ล้วนอวดอ้างว่าออกแบบมาเพื่อที่จะทำให้สถานการณ์ปัจจุบันพลิกกลับมาดีขึ้นได้ ทั้งหมดได้วาดภาพ-ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง-ว่า การบดขยี้กลุ่มติดอาวุธให้ราบคาบ จะส่งผลให้อำนาจอเมริกาคงอยู่ต่อไปในประเทศที่พื้นที่ส่วนใหญ่ถูกทำให้สงบเรียบร้อยแล้ว ไม่มีข้อเสนอใดเลยที่พร้อมจะตัดขาดจากความต้องการที่แท้จริงของบุช ซึ่งได้แก่การมีอิทธิพลครอบงำในอิรัก แม้แต่ข้อเสนอที่พยายามจะหยิบแผนอะไรสักอย่างที่มีคำว่า "ถอนทหาร" มาห่มคลุมตัวเอง ก็ยังอุตส่าห์อ้าแขนเปิดรับ "มายาคติว่าด้วยการเพิ่มมากขึ้น"           

 

พวกเขาคาดหวังกันว่า ทหารอิรักที่มากขึ้นจะช่วยให้เอาชนะเมืองที่แข็งข้อเป็นกบฏ, ทหารอเมริกันที่มากขึ้นจะช่วยให้ยึดแบกแดดคืนมาจาก มุกตาดาร์ อัล-ซาเดอร์ กองทัพมาห์ดี ตลอดจนจิฮัดดิสต์ซุนนีและฝ่ายต่อต้าน, พวกที่สนับสนุนให้เปลี่ยนผู้นำในอิรักบอกว่า คนที่ทรงอำนาจ มีความแข็งแกร่งเด็ดขาด (strong man) จะช่วยให้อเมริกาบรรลุเป้าหมายด้าน "ความมั่นคง" มากขึ้นทั่วประเทศ, แผนการโยกย้ายปรับปลี่ยนทหารไปประจำการตามฐานทัพทั้งในอิรักและละแวกใกล้เคียง จะช่วยให้กองทัพมีฐานปฏิบัติการที่ปลอดภัยและโจมตีได้ผลมากขึ้น อเมริกาสามารถเปิดฉากปฏิบัติการโจมตีกลุ่มติดอาวุธเพื่อสนับสนุนรัฐบาลอิรักได้มากเท่าที่ต้องการ, การเจรจาต่อรองกับประเทศต่างๆ ในละแวกนั้น จะช่วยสร้างความกดดัน (ทางการทูต ทางเศรษฐกิจ และ/หรือ ทางการทหาร) มากขึ้นสำหรับกลุ่มติดอาวุธและฝ่ายต่อต้านสารพัดก๊กก๊วนฝักฝ่าย เพื่อที่จะยอมอ่อนข้อต่อการมีอยู่ของอเมริกา, ตลอดจน ขบวนการตรวจสอบและไต่สวนของสภาคองเกรสในประเด็นอิรัก ก็จะช่วยรับประกันไม่ให้เกิดความผิดพลาดทางยุทธศาสตร์มากไปกว่านี้ เพราะนั่นจะเป็นตัวบั่นทอนความพยายามที่จะสร้าง "ความสงบเรียบร้อย" ในอิรักตามมา

 

มีเรื่องใหญ่ที่เสี่ยงต่อการสูญเสียมากกว่า...เรื่องการต่อสู้ทางความคิดที่ว่าใครควรจะมาคุมเมืองต่างๆ ในอิรัก ขบวนการต่อต้านการยึดครองของอเมริกามีที่มาจากเป้าหมายแรกเริ่มของอเมริกา ได้แก่ : จัดตั้งระบอบปกครองในอิรักที่มีลักษณะต่อไปนี้ (เป็นอย่างน้อย) นั่นก็คือ พร้อมที่จะเป็นพันธมิตรทางการทหารกับอเมริกา, มีนโยบายต่างประเทศที่เป็นปฏิปักษ์ชัดเจนกับอิหร่าน (และซีเรีย), มีนโยบายเศรษฐกิจที่ยกเลิกระบบรัฐสวัสดิการทางด้านอาหาร และยกเลิกการอุดหนุนราคาน้ำมัน แล้วแทนที่สิ่งเหล่านี้ด้วย "ตลาดเสรี" ที่มุ่งตอบสนองต่อบรรษัทข้ามชาติของอเมริกาเป็นหลัก

 

ตั้งแต่แรกเริ่มเช่นกัน กลุ่มก้อนและฝักฝ่ายต่างๆ ที่ต่อสู้กันเพื่อแย่งชิงความเป็นใหญ่ในพื้นที่จริงๆ ของอิรัก ได้ต่อต้านโปรแกรมที่วางไว้ของบุช...ไม่ว่าจะเป็นจุดใดจุดหนึ่ง ชีอะต์ไม่ชอบที่อเมริกันตั้งหน้าแต่จะเป็นศัตรูกับอิหร่าน, ซุนนีกบฏต่อนโยบายยุบสลายพรรคบาธ ยุบสลายกองทัพ รื้อทิ้งกิจการของรัฐ, คนงานกิจการน้ำมันประท้วงสัญญาที่ปล่อยให้บริษัทน้ำมันของอเมริกันเข้าครอบงำเรื่องการตลาดของน้ำมันอิรัก, และอาจกล่าวได้ว่า ชาวอิรักทุกคนต่อต้านนโยบายยกเลิกการอุดหนุนทั้งด้านอาหารและเชื้อเพลิง

 

ไม่ว่า "มากขึ้น" ของอะไรก็ตามที่อเมริกากำลังทำอยู่ในอิรัก...มันก็เป็นเพียงความพยายามอีกครั้งที่จะเอาชนะในสงครามเพื่อยึดครองชาติอื่น การยึดครองที่เป้าหมายของมันตรงกันข้ามกับความปรารถนาของชาวอิรักทุกคน สิ่งที่นโยบาย "มากขึ้น" จะทำให้เกิดขึ้นได้ ก็มีเพียง : ความตายที่มากขึ้น การทำลายล้างที่มากขึ้น และความรุนแรงที่จะเพิ่มมากขึ้น - - แทนที่จะมากขึ้น อเมริกาควรจะตัดขาดมากกว่า เลิกล้มความพยายามที่จะครอบงำแหล่งน้ำมันสำคัญของตะวันออกกลางซะ และถอนทหารออกมาจากอิรักได้แล้ว o

 

 

อธิบายท้าย

(1) ข้อมูลสถิติเกี่ยวกับ "การโจมตีของฝ่ายต่อต้าน" ย่างเป็นทางการ จากกองทัพอเมริกา มีโอกาสมากๆ ว่า-จะเป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อนต่ำกว่าความเป็นจริง จากการเปิดเผยในรายงานของไอเอสจีเร็วๆ นี้ รายละเอียดตอนหนึ่งระบุว่า วันหนึ่งในเดือนกค. เจ้าหน้าที่ของอเมริกาในอิรักรายงานว่า มี "การโจมตี" หรือมี "เหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงในระดับที่มีนัยสำคัญ" เกิดขึ้น 93 ครั้ง ขณะที่คณะกรรมการพบว่า เหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรง "ทั้งหมด" ที่เกิดขึ้นจริงๆ วันนั้นมีถึง 1,100 ครั้ง (สรุปคร่าวๆ ว่า เหตุการณ์ที่ไม่ถูกนับ หรือเหตุการณ์ที่ "ไม่มีนัยสำคัญอะไรเล้ย" วันเดียว มีถึง 1,000 เหตุการณ์!!)

 

หมายเหตุท้าย

-  ประเด็นความรุนแรงระหว่างนิกายหรือ "สงครามกลางเมือง" ที่กำลังเกิดขึ้นในอิรัก ชิ้นที่จบไปของไมเคิล ชวอร์ตส์ มีการพาดพิงไปถึงแค่ "มุมหนึ่ง" เท่านั้น ยังมีอีกหลายๆ มุม เนื้อๆ เจ๋งๆ จะตามมาเป็นระยะ ทั้งปัจจุบันและย้อนอดีต

 

- ประเด็นกลุ่มติดอาวุธ หน่วยล่าสังหาร นักรบฝ่ายต่อต้าน ทั้งพวก secular สายกลาง สายเคร่ง หรืออะไรก็แล้วแต่ จะมีรายละเอียดตามมาเช่นกัน  โดยเฉพาะระยะหลัง ฝ่ายต่อต้านเริ่มมีการเปิดเผยตัวเองมากขึ้น พร้อมกับมีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจมั่กๆ

 

- ข่าวร้ายแอนตี้วอร์ พ้นไปจากทางเลือกในอิรักที่กล่าวมา อเมริกากำลังวางแผนที่จะ "ทำกองทัพให้ใหญ่ขึ้น" พร้อมรับมือกับสงครามทั่วโลก (ยกเว้นดาวอังคาร เนปจูน พลูโต) ในโอกาสต่อไป

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท