Biz-Review : ธนาคารแห่งประเทศไทยกับความเป็นอิสระ

โดย  วิทยากร บุญเรือง

 

 

นักลงทุน - นักเก็งกำไรในตลาดหุ้นไทยแทบจะสำลักกาแฟ หลังจากการแถลงข่าวเมื่อเย็นวันที่ 18 ธ.ค. 2549 ของ นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย โดยเนื้อหาของมาตรการชิ้นนี้คือ ...

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้กำหนดให้สถาบันการเงินที่รับซื้อหรือแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเป็นเงินบาท ต้องกันสำรองร้อยละ 30 ของเงินตราต่างประเทศที่นำเข้ามาแลกเป็นเงินบาท ยกเว้นเงินตราต่างประเทศที่ได้รับจากค่าสินค้าและบริการ หรือเงินที่บุคคลหรือนิติบุคคลไทยได้รับจากการลงทุนในต่างประเทศ รวมทั้งธุรกรรมเงินตราต่างประเทศที่สถาบันการเงินต้องปฏิบัติตามสัญญาการรับซื้อ หรือแลกเปลี่ยนเงินบาท ที่ได้ตกลงไว้ก่อนวันที่ 18 ธันวาคม โดยมีเงื่อนไขสำคัญว่าลูกค้าจะสามารถขอเงินที่กันไว้ร้อยละ 30 คืนได้ก็ต่อเมื่อเงินที่นำเข้ามาลงทุนนั้นต้องอยู่ในประเทศไทยไม่ต่ำกว่า 1 ปี โดยหากลูกค้านำเงินลงทุนกลับคืนก่อนครบกำหนด 1 ปี จะได้รับเงินคืนในส่วนที่กันไว้คืนเพียง 2 ใน 3 เท่านั้น ซึ่งก็เท่ากับว่าถูกหักร้อยละ 10 ของเงินที่นำเข้ามา

 

ความหมายง่ายๆ คือ สกุลเงินต่างชาติที่ถูกขายเพื่อนำมาซื้อบาทโดยไม่เกี่ยวข้องกับการค้า จะต้องนำมาฝากไว้กับ ธปท. เป็นจำนวน 30 % ระยะเวลา 1 ปีโดยไม่ได้รับดอกเบี้ย และนักลงทุนจะต้องสูญเสีย 1/3 ของเงินจำนวนดังกล่าว ถ้าหากนักลงทุนโอนเงินกลับประเทศก่อนครบ 1 ปี

 

แต่เพียงแค่ประกาศใช้ได้เพียงหนึ่งวัน ก็ต้องยกเลิกอย่างกระทันหัน เนื่องจากตลาดหุ้นร่วงเป็นประวัติการณ์ถึง 108.41 จุด ทำให้ market cap หายไปถึง 8 แสนล้านกว่าบาท

 

ทั้งนี้ พ่อค้าแม่ขาย ชาวนาชาวสวน ลูกจ้างกรรมกร อันเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ก็คงยังจะไม่ได้มีความเดือดร้อนชิบหาย ในทันทีทันใดหลังเหตุการณ์แดงยกแผงในวันนั้น อาจจะมีบ้างในความสะใจของผู้หมั่นไส้รัฐบาลที่ไม่ได้รับการเลือกตั้งในครั้งนี้ และแน่นอนว่ายังไงๆ หลายคนก็คงที่จะอดไม่ได้ที่จะมีอาการ nostalgia ถึงอดีตผู้นำประเทศและพวกพ้องที่พึ่งถูก hijack มาเมื่อไม่กี่เดือน ;-)

 

และนี่คงไม่ใช่ข้อเขียนที่นำเสนอ "ความฉลาดหลังเหตุการณ์" แต่อย่างใด เพราะอย่างไรก็แล้วแต่ ผู้ออกนโยบายหฤโหดเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม ที่ผ่านมาคงไม่อยากถูกก่นด่าทั้งประเทศแบบนี้ .. เอาเป็นว่าเรารับรู้ถึงความตั้งใจดีอันที่จะปกป้องการเก็งกำไรค่าเงินนั้น ว่าได้ทำได้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้แล้ว --- เพียงแต่อยากที่ตั้งคำถามอีกข้อ ที่คนไม่ค่อยสงสัยกัน คือถามถึงสิ่งที่รัฐบาลนี้ได้ทำฝืนกับสิ่งที่ตัวเองใช้เป็นข้ออ้างการเสนอตัวในเรื่องของ "การทำให้องค์กรอิสระปราศจากการแทรกแซงจากหน่วยการเมือง"

 

0 0 0

 

อันที่จริงแล้ว ความฝันอันสูงสุดของธนาคารกลางแต่ละประเทศทั่วโลก ต่างก็อยากที่จะเป็นอิสระ ดำเนินนโยบายของตนเองอย่างเป็นอิสระปราศจากการแทรกแซงของฝ่ายการเมือง ซึ่งจะอิสระได้มากน้อยเพียงใด มันก็ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมทางการเมือง-เศรษฐกิจ ของประเทศนั้นๆ

 

เช่นเดียวกับสภาพปกติวิสัยของบ้านเราที่ผ่านมา เราจะเห็นได้ว่า ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กับ ฝ่ายการเมือง มักจะเป็นไม้เบื่อไม้เมากันตลอด ทั้งนี้เพราะธนาคารแห่งประเทศไทยต้องรักษาวินัยทางการเงิน ส่วนกระทรวงการคลังมีหน้าที่ถลุงเงิน ซึ่งมีให้เห็นมาตั้งแต่ยุคของ กำจร สถิรกุล , นุกูล ประจวบ , ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล หรือแม้แต่ในยุคของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวากุล ที่คอยแคะแทะกัดฝ่ายการเมืองของ ทักษิณ ชินวัตร อยู่เสมอ ;-)

 

แน่ล่ะ! ว่านั่นไม่ได้แสดงออกถึงปรากฎการณ์สมานฉันท์แต่อย่างใด ในทางกลับกัน บางสิ่งบางอย่างจะต้องมีการถ่วงดุลและคานอำนาจกัน --- ดังได้กล่าวไปแล้วนั้นว่า ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย มักจะทำได้ดีเสมอ

 

ดังที่ ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ได้ถามถึงความเป็นอิสระของแบงก์ชาติ คือ ต้องไม่ให้นักการเมืองครอบงำ เพราะนักการเมืองจะหวังประโยชน์ระยะสั้น ซึ่งจะทำให้ประโยชน์ระยะยาวเสียไป ...

 

"แบงก์ชาติมีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องการเงิน เรื่องอัตราแลกเปลี่ยน ตรงนี้ต้องมีอิสระจากคลัง ยกตัวอย่างเช่น ถ้าแบงก์ชาติต้องการขึ้นดอกเบี้ย แต่ถ้าถูกครอบงำจากการเมือง ก็จะขึ้นดอกเบี้ยไม่ได้ เพราะนักการเมืองต้องการหาเสียง ดึงดอกเบี้ยให้ต่ำ แต่ผลที่จะเกิดขึ้นในระยะยาวคือ เงินเฟ้อจะสูง ซึ่งไม่เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจในระยะยาว"

 

แต่สิ่งที่ได้เกิดในยุค รัฐบาลขิงแก่ครั้งนี้ เราได้เห็นปรากฏการณ์ ลูกน้องเก่า เป็นคนแถลงประกาศมาตรการสกัดการเก็งกำไรค่าเงิน ... แต่เมื่อตอนประกาศยกเลิก กลับให้อดีตเจ้านายเป็นคนช่วยแถลง

 

ซ้ำร้ายนายเก่าที่ย้ายฟากไปอยู่ฝ่ายการเมือง ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กลับยังมาออกหน้ารับแทนแบงก์ชาติว่า

 

"ไม่ได้ผิดพลาดในการทำนโยบาย และไม่จำเป็นต้องมีผู้รับผิดชอบ เนื่องจากนโยบายของแบงก์ชาติมีวัตถุประสงค์เพื่อกันไม่ให้ค่าเงินบาทแข็งขึ้น ซึ่งได้ผลชัดเจน แต่บังเอิญมีผลข้างเคียง"

ช่างเข้าขากันได้ดีจังฮะ ;-)

 

แม้แต่ กรณ์ จาติกวณิช แห่งประชาธิปปัตย์เองก็ได้ออกมาบ่นๆ อย่างน่าฟังว่า ...

 

"ผมไม่เข้าใจการทำงานของแบงก์ชาติกับกระทรวงการคลังในเรื่องนี้ เป็นไปได้ไหมว่าแบงก์ชาติไม่เห็นด้วยกับการที่คลังตัดสินใจยกเลิกมาตรการ หรือที่จริงแล้วคลังเป็นคนสั่งให้ออกมาตรการ ยิ่งก่อนหน้านี้ ครม.เพิ่งอนุมัติให้ร่าง พ.ร.บ.สถาบันการเงินเข้าสภาฯ ให้แบงก์ชาติมีอำนาจเต็มในการกำกับดูแลสถาบันการเงิน และกำลังจะมีการผ่าน พ.ร.บ.แบงก์ชาติออกมาอีก"

 

การกระทำในครั้งนี้ ยิ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงความขัดแย้งในตัวเอง ของรองนายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนนี้ ทั้งๆ ที่เมื่อเดือนที่แล้ว ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ได้เร่งสรุปร่างพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภานิบัญญัติโดยเร็ว ซึ่งในสาระสำคัญของร่างกฎหมายดังกล่าวจะมุ่งเน้นให้ธนาคารแห่งประเทศไทย มีความอิสระ และปลอดการแทรกแซงจากการเมือง

 

ดังนั้นเราจะไม่ถามว่าสิ่งที่เกิดเมื่อ "วันแดงเดือด(ยกแผง)" วันนั้น เป็นหนทางที่เลี่ยงไม่ได้แล้วจริงๆ หรือ? --- แต่อยากถามว่า ทั้งๆ ที่มีความพยายามให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีความเป็นอิสระจากฝ่ายการเมืองมาเนิ่นนาน แต่ทำไมตอนนี้มันถึงได้กลายเป็นซะงั้น?

 

 

.......................................

ประกอบการเขียน :

 

มีอะไร ใน 1 วัน กับมาตรการป้องกันการเก็งกำไรเงินบาท : อุ๋ยกลับใจ หลังหุ้นร่วงระนาว

 

เมื่อ 'คลัง' เหนือ 'แบงก์ชาติ' กลไกคานอำนาจที่หายไป : กรุงเทพธุรกิจ Biz Week December 23, 2006

 

ย้อนรอย 'แบล็คดีเซมเบอร์'นาทีก่อนตัดสินใจ 18 ธันวาคม 2549 : เว็บไซต์ฐานเศรษฐกิจ , December 24, 2006 05:05

 

"ปรีดิยาธร" ชงผู้ว่าการ ธปท.ปลอดการเมือง : เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ , November 13, 2006 02:19

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท