Skip to main content
sharethis

สำนักข่าวประชาธรรม


28 พฤศจิกายน 2549


 


เมื่อวันที่ 27 พ.ย.ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมกันทรวิชัย คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม(มมส.) ภาควิชาสื่อสารมวลชน ร่วมกับภาควิชาภาษาเพื่อการสร้างสรรค์งานสื่อสิ่งพิมพ์ คณะมนุษย์ศาสตร์ มมส. ได้จัดสัมมนาวิชาการเรื่อง "ทางรอดของสื่อทางเลือก" โดยมีนักศึกษาจากทั้ง 2 ภาควิชาและผู้สนใจเข้าร่วมฟังกว่า 500 คน


น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) กล่าวว่า สื่อทางเลือกเกิดจากกลุ่มคนที่ไม่มีพื้นที่นำเสนอเรื่องราวของตัวเอง ดังนั้นสื่อทางเลือกรูปแบบต่าง ๆจึงเกิดขึ้นมา ทั้งสื่ออินเตอร์เน็ต วิทยุชุมชน โดยมีรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 รองรับไว้แต่หลังจากเกิดการรัฐประหารทุกอย่างก็กลับไปสู่จุดเดิมหรืออาจจะเลวร้ายกว่าเดิมก็ได้


"การฉีกรัฐธรรมนูญปี 2540 จากฝีมือของ คปค.ทำให้ประชาชนไม่มีหลักประกันอะไรเลยทุกอย่าง การอยู่ภายใต้กฏอัยการศึกซึ่งไม่มีความแน่นอนใดๆ ขณะที่สื่อส่วนใหญ่ก็เห็นด้วยกับการรัฐประหารครั้งนี้ มีเพียงส่วนน้อยที่ไม่เห็นด้วยแต่ก็จะถูกปิดไป ตอนนี้สังคมไทยอยู่ภายใต้การควบคุมของผู้มีอำนาจ ไม่มีรัฐธรรมนูญที่จะมาคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน" น.ส.สุภิญญา กล่าว


เลขาธิการ คปส. กล่าวอีกว่า สื่อทางเลือกเกิดมาเพื่อนำไปสู่การสร้างความเป็นประชาธิปไตยในการสื่อสารเพื่อให้เกิดดุลภาพใหม่ ๆในการสื่อสาร โดยสื่อทางเลือกจะต้องมีความเป็นอิสระจากรัฐและทุน ไม่ถูกครอบงำโดยง่ายและนำเสนอมุมมองที่แตกต่างจากสื่อกระแสหลัก ต้องเป็นเวทีให้คนที่ไร้สิทธิ์ และคนท้องถิ่นได้พูดเรื่องราวของตัวเองบ้าง


นายชูวัส ฤกษ์ศิริสุข บรรณาธิการเว็บไซต์ประชาไท กล่าวว่า ที่ผ่านมาสื่อมีปัญหาตรงที่สื่อเองถูกจัดเป็นฐานันดรที่ 4 จึงเป็นเป้าให้ผู้มีอำนาจจะต้องเข้าไปควบคุมและแทรกแซงเพื่อที่จะใช้สื่อเป็นเครื่องมือในการนำเสนอในสิ่งที่ผู้มีอำนาจต้องการจะสื่อออกไป ซึ่งความจริงสื่อจะต้องเป็นตะเกียงนำพาบ้านเมืองไปข้างหน้า ไม่ใช่เป็นแค่กระจกสะท้อนเรื่องราวเพียงอย่างเดียว


นายชูวัส กล่าวต่อไปว่า ความเป็นกลางไม่สามารถดำรงอยู่ได้ในสื่อใดสื่อหนึ่ง เมื่อก่อนเราจะพูดถึงรัฐบาลทักษิณในแง่ลบไม่ได้เลย แต่ทุกวันนี้เราคุยได้เต็มปากเช่นเดียวกับรัฐบาลปัจจุบันที่บอกว่าเป็นรัฐบาลคุณธรรม แสดงว่ารัฐบาลที่ผ่านมาเลวหมดเพราะนิยามความดีเกิดจากการกำหนดของผู้นำที่มีอำนาจในขณะนั้น


นายชูวัส กล่าวอีกว่า ปัจจุบันสื่ออินเตอร์เน็ตได้เข้ามามีบทบาทอย่างมากในสังคมโลก จึงนับได้ว่าเป็นสื่อทางเลือกช่องทางหนึ่งที่ถูกจับตาและจะทำให้ความเป็นฐานันดรที่ 4 ของสื่อกระแสหลักกลายเป็นเพียงคนธรรมดาเพราะต่อไปเมื่อการใช้อินเตอร์เน็ตแพร่หลายทุกคนจะเป็นพลเมืองข่าวคือสามารถเข้าถึงสื่อได้โดยเป็นทั้งคนรับและคนส่งสารไปในตัว


นายสมบัติ บุญงามอนงค์ ผอ.มูลนิธิกระจกเงา กล่าวว่า สื่อทางเลือกเกิดจากการดิ้นรนเพื่อที่จะหาช่องทางในการสื่อสารเรื่องราวของตัวเองออกไป เพราะสื่อกระแสหลักมีเจ้าของคือรัฐบาลจะใช้สื่อกระแสหลักโดยอ้างเรื่องความมั่นคง ส่วนนักธุรกิจและกลุ่มทุนจะใช้สื่อกระแสหลักเพื่อใช้เป็นเครื่องมือทำให้คนเชื่อในสินค้าและบริการของเขา ดังนั้นถ้าไม่มีเงินและอำนาจเราไม่สามารถมีพื้นที่อยู่บนสื่อกระแสหลักได้ สื่อกระแสหลักจึงรองรับเฉพาะรัฐและทุนและยิ่งจ่ายมากก็ยิ่งแสวงหากำไรมากเท่านั้น


"เรื่องราวในโลกนี้ไม่มีเฉพาะที่รัฐบาลหรือกลุ่มทุนต้องการพูดเท่านั้น ยังมีเรื่องราวที่เป็นความทุกข์ยากของประชาชนอีกมากมายเช่นปัญหาน้ำท่วม ชาวนาไม่มีที่ดินทำกิน เรื่องราวเหล่านี้ถามว่ามีพื้นที่ให้พวกเขาได้พูดได้ร้องเรียนบ้างไหม" นายสมบัติ กล่าว


ผอ.มูลนิธิกระจกเงา กล่าวในตอนท้ายว่า โดยธรรมชาติแล้วไม่มีรัฐบาลหรือผู้มีอำนาจคนไหนจะมาส่งเสริมหรือให้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรีได้ ดังนั้นเราจึงมีความจำเป็นที่จะต้องดิ้นรนเพื่อหาพื้นที่ในการนำเสนอเรื่องราวของเราเอง ซึ่งสื่ออินเตอร์เน็ตก็เป็นช่องทางเลือกใหม่ที่น่าสนใจเพราะเราจะสามารถเป็นได้ทั้งผู้สร้างและผู้รับสาร นอกจากนี้ยังมีสื่อทางเลือกอื่น ๆที่เราจะสร้างขึ้นมาได้หากเราเป็นผู้บุกเบิกทางที่แน่วแน่เราจะพบทางเลือกใหม่เสมอ


นายสมเกียรติ จันทรสีมา บรรณาธิการศูนย์ข่าวอิศรา กล่าวว่า ตนเคยลองให้นักศึกษาที่ตนสอนลองคำนวณพื้นที่ของหนังสือพิมพ์เกือบทุกฉบับพบว่า 50% ของพื้นที่จะเป็นโฆษณา อีก 35% เป็นเรื่องของธุรกิจ มีเรื่องการเมืองอยู่เพียง 5% ที่เหลือ 10%เป็นเรื่องทั่วๆไป เรื่องราวของชาวบ้านหายไปจากพื้นที่สื่อกระแสหลัก นาน ๆจะโผล่มาครั้ง นั่นเป็นสาเหตุที่เราจะต้องมีสื่อทางเลือกขึ้นมา ซึ่งสื่อทางเลือกของเราก็ล้าหลังกว่าใครเพื่อน


นายสมเกียรติ กล่าวต่อไปว่า เท่าที่ตนมีประสบการณ์ด้านงานข่าวมาและเคยเจอรัฐประหารมาหลายครั้ง แต่รัฐประหารครั้งล่าสุดนี้ตนรู้สึกงงมากที่คณะรัฐประหารไม่เรียกหัวหน้าของสื่อแต่ละแขนงไปเข้าพบทันที กลายเป็นว่าสื่ออินเตอร์เน็ตถูกเรียกเข้าพบเป็นกลุ่มแรก ๆ และหลายเว็บไซต์ที่แสดงความคิดเห็นที่แตกต่างจากคณะรัฐประหารก็ถูกปิดไป นั่นหมายถึงสื่ออินเตอร์เน็ตเป็นสื่อทางเลือกที่กำลังถูกจับตาจากผู้มีอำนาจแทนสื่อกระแสหลักอื่น ๆเพราะเขาถือว่าสื่อกระแสหลักอยู่ภายใต้การควบคุมของเขาหมดแล้ว.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net