Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 29 พ.ย.2549 ตัวแทนสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) จากมหาวิทยาลัยทั้ง 5 แห่ง ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยรามคำแหง และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (สจพ.) รวมตัวกันที่กระทรวงศึกษาธิการ ก่อนจะออกเดินทางไปยื่นแถลงการณ์แก่นายกรัฐมนตรีเรื่องการคัดค้านการแปรรูปมหาวิทยาลัยออกนอกระบบราชการ พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งคืนอำนาจให้แก่ประชาชนด้วย


 


นายนิธิวัต วรรณศิริ กรรมการบริหาร สนนท. นิสิตชั้นปีที่ 3 คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้สัมภาษณ์โดยระบุว่า นโยบายการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบราชการ จริงๆ แล้วเป็นเพียงการลดงบประมาณด้านการศึกษาของประเทศ เพื่อนำเงินไปใช้ด้านอื่น ในที่สุดมหาวิทยาลัยก็ต้องมาขึ้นค่าเทอมกับนักศึกษา ทำให้ต่อไปมหาวิทยาลัยรัฐจะเป็นเหมือนมหาวิทยาลัยเอกชน ที่เก็บเงินค่าเทอมกับนักศึกษาในอัตราสูงกว่าเดิมมาก โดยมีตัวอย่างจากมหาวิทยาลัยที่ออกนอกระบบแล้วทั้ง 4 แห่ง


 


ทั้งนี้ มีการอ้างถึงมหาวิทยาลัยของรัฐบาลที่ออกนอกระบบราชการไปแล้ว 4 แห่ง คือ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ซึ่งนายนิธิวัตกล่าวว่าการออกนอกระบบส่งผลกระทบต่อนักศึกษาอย่างมาก เนื่องจากบางสถาบันเก็บค่าเทอมเพิ่มขึ้นมาถึงร้อยละ 107 หรือบางมหาวิทยาลัย เช่น มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ประสบปัญหาอาจารย์วิ่งรอกสอนหลายแห่ง ทำให้นักศึกษาถูกจัดตารางเรียนถึง 7 วันต่อสัปดาห์ เพราะอาจารย์ต้องจัดตารางสอนในมหาวิทยาลัยให้สอดคล้องกับงานนอกที่ตัวเองบอกรับ


 



กรรมการบริหาร สนนท.ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกด้วยว่าการคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบราชการดำเนินมาตั้งแต่ปี 2541สมัยนายชวน หลีกภัยเป็นนายกรัฐมนตรี แต่รัฐบาลทุกชุดที่ผ่านมาเพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องนี้ และเร่งผลักดันนโยบายการแปรรูปการศึกษา ทั้งที่ทุกครั้งที่มีการนำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุม ครม. และขั้นตอนต่างๆ ในการผ่านร่าง พ.ร.บ.ออกนอกระบบของแต่ละมหาวิทยาลัยได้เกิดกระแสคัดค้านอย่างกว้างขวางจากทุกภาคส่วน


 


ทางด้านขั้นตอนดำเนินการก็ยังมีข้อกังขาในหลายประเด็น เช่น ผลประโยชน์ทับซ้อน การขาดการมีส่วนร่วมของนักศึกษา คณาจารย์และประชาชนทั่วไปที่ได้รับผลกระทบ แต่รัฐบาลชุดปัจจุบันก็ยังเร่งผลักดันเรื่องนี้ ทั้งที่รัฐบาลชุดปัจจุบันได้อำนาจมาจากการทำรัฐประหาร สนนท.ถือว่าไม่มีความชอบธรรมในการบริหารประเทศ รัฐบาลชุดนี้จึงขาดความชอบธรรมโดยสิ้นเชิงในการใช้อำนาจกำหนดนโยบายต่างๆ ที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยเฉพาะนโยบายแปรรูปมหาวิทยาลัยออกนอกระบบราชการ ซึ่งเป็นการทำลายโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาของประชาชนส่วนใหญ่


 


ท้ายสุด นายนิธิวัต กล่าวสรุปว่า ข้อเรียกร้องที่มีต่อนายกรัฐมนตรีชุดนี้มี 4 ประการ คือ


 


(1)   รัฐบาลควรยกเลิกนโยบายผลักดันให้มหาวิทยาลัยออกนอกระบบราชการ


(2)   ให้นำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบกลับมาเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ


(3)   ขอให้รัฐบาลตระหนักถึงการได้มาซึ่งอำนาจ และเร่งคืนอำนาจการบริหารประเทศให้แก่ประชาชน


(4)   ขอให้สื่อมวลชนนำเสนอข่าวโดยไม่ต้องเกรงกลัวต่ออำนาจใดๆ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net