ศาลปัตตานีชี้ 32 ศพกรือเซะ เสียชีวิตในการสั่งการของ "พัลลภ"

สถาบันข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

วันอังคารที่ 28 พฤศจิกายน 2549

 

 

เมื่อเวลา 09.00 น. วันนี้ (28 พฤศจิกายน)  ที่ห้องพิจารณาคดี 1  ศาลจังหวัดปัตตานีได้นัดฟังคำสั่งศาลในคดีหมายเลขดำที่ ช. 4/2547 กรณีคดีชันสูตรพลิกศพ 32 รายในเหตุการณ์มัสยิดกรือเซะ เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2547 ที่พนักงานอัยการจังหวัดปัตตานีและญาติผู้เสียชีวิตยื่นคำร้องขอไต่สวนการตายอันเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ โดยมีญาติของผู้เสียชีวิตมารอรับฟังคำสั่งศาลกว่า 20 คน

 

ศาลจังหวัดปัตตานีมีคำสั่งโดยสรุปว่า ผู้เสียชีวิตทั้งหมด 32 คน ถูกเจ้าหน้าที่กระทำให้ชีวิตและผู้เสียชีวิตทั้งหมดมีการปะทะกันกับเจ้าหน้าที่รัฐโดยใช้อาวุธเป็นมีดและปืน  ในจำนวนนี้ มี 4 คน ที่เสียชีวิตเมื่อเวลา 05.00 น. โดยเสียชีวิตที่บริเวณป้อมยาม 1 คน และเสียชีวิตบริเวณหน้ามัสยิดกรือเซะอีก 3 คน  ส่วนอีก 28 คน เสียชีวิตเมื่อเวลา 14.00 น. ในมัสยิดกรือเซะ ซึ่งเป็นการเสียชีวิตภายใต้คำสั่งการของ พล.อ. พัลลภ ปิ่นมณี รองผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความปลอดภัยภายใน (กอ.รมน.) และ พ.อ.มนัส คงแป้น ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจปัตตานี พ.ต.ธนภัทร นาคชัยยะ นายทหารยุทธการกรมรบพิเศษที่ 3 (ยศในขณะนั้น) ทั้งนี้ ศาลปัตตานีจะได้ส่งคำสั่งศาลให้อัยการจังหวัดปัตตานีดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมปกติต่อไป

 

คดีดังกล่าวเป็นผลมาจากเหตุการณ์ปะทะและถล่มมัสยิดกรือเซะในวันที่ 28 เมษายน 2547 อันเป็นเหตุให้ประชาชนเสียชีวิตจำนวน 32 คน และเจ้าหน้าที่เสียชีวิตจำนวน 4 นาย บาดเจ็บ 6 นาย และพนักงานอัยการจังหวัดปัตตานียื่นคำร้องขอไต่สวนการตายอันเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ โดยมีนายสการียา ยูโส๊ะและพวกรวม 32 คนซึ่งเป็นญาติของผู้เสียชีวิตเป็นร่วมเป็นผู้ซักค้าน

 

ศาลจังหวัดปัตตานีได้รับฟ้องเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2547 และเริ่มนัดไต่สวนคำร้องและรับฟังพยานมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2547 - กันยายน 2549 รวมทั้งหมด 14 นัด สำหรับการนัดฟังคำสั่งศาลในครั้งนี้ ถือเป็นคดีชันสูตรไต่สวนที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นวันที่ 28 เมษายน 2547 เป็นคดีแรก จากคดีชันสูตรไต่สวนทั้งหมด 25 คดี ที่กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลจังหวัดปัตตานี ยะลา และสงขลา

 

นายอนุกูล อาแวปูเตะ คณะทำงานศูนย์นิติธรรมสมานฉันท์ ทนายความเจ้าของคดี กล่าวอีกว่า การนัดฟังคำสั่งศาลคดีชันสูตรพลิกศพในวันนี้เป็นไปตามกระบวนการตามกฎหมายมาตรา 150 ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งระบุว่า หากมีผู้เสียชีวิตภายใต้การกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐหรือในลักษณะวิสามัญฆาตกรรม อัยการจะต้องยื่นคำร้องขอไต่สวนการตายต่อศาล เพื่อให้ศาลพิจารณามีคำสั่งว่าผู้เสียชีวิตคือใคร เสียชีวิตที่ไหน อย่างไร รวมทั้งพฤติกรรมการตายเป็นอย่างไร อย่างไรก็ตาม คดีชันสูตรไต่สวนจะไม่มีการพิพากษาว่าเจ้าหน้าที่ทำเกินกว่าเหตุหรือไม่

 

เขากล่าวอีกว่า กระบวนการต่อจากนี้ ศาลจะส่งสำนวนการชันสูตรไต่สวนและคำสั่งศาลดังกล่าวไปให้อัยการจังหวัดเพื่อส่งต่อให้กับพนักงานสอบสวนเจ้าของสำนวนเดิม กระบวนการหลังจากนั้น พนักงานสอบสวนรวบรวมหลักฐานเพิ่มเติมเพื่อพิจารณาว่าเจ้าหน้าที่กระทำการเกินขอบเขตหรือไม่  เพื่อทำสนวนส่งฟ้องผู้ต้องหาในลำดับต่อไป ทั้งนี้ ในกรณีวิสามัญฆาตกรรมจะต้องส่งสำนวนดังกล่าวให้กับอัยการสูงสุดเป็นผู้ชี้ขาดว่าจะส่งฟ้องต่อศาลหรือไม่

 

นายอนุกูล ระบุด้วยว่า หากเจ้าพนักงานสอบสวนหรืออัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้อง ญาติผู้เสียชีวิตสามารถเป็นโจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลเองได้ โดยใช้คำสั่งศาลดังกล่าวและสำนวนการชันสูตรไต่สวนซึ่งเบิกความในศาลไปแล้วมาเป็นหลักฐานสำคัญได้ อย่างไรก็ตาม การฟ้องร้องในทางอาญาเป็นสิทธิของญาติผู้เสียชีวิต ซึ่งจะต้องมีการหารือร่วมกับทนายความของศูนย์นิติธรรมสมานฉันท์ว่าจะฟ้องคดีหรือไม่ในเร็วๆ นี้

 

นายกิจจา อาลีอิสเฮาะ คณะทำงานศูนย์นิติธรรมสมานฉันท์ กล่าวว่า คำสั่งของศาลในคดีชันสูตรไต่สวนจะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินคดีอาญาในอนาคต เนื่องจากที่ผ่านมาการไต่สวนการตายมีการเบิกความของหลายฝ่ายไม่เฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐเท่านั้น และเมื่อมีคำสั่งศาลระบุว่าผู้ตายทั้งหมดเสียชีวิตภายใต้การกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐจริง และเป็นการระบุอย่างชัดเจนว่าใครเป็นผู้สั่งการ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อญาติที่ต้องการฟ้องร้องครั้งต่อไป

 

"การตายแบบไม่ธรรมชาติอย่างนี้ เป็นเรื่องที่พนักงานสอบสวนจะต้องพิจารณาดำเนินคดีอยู่แล้ว"

 

ด้านนายยะโกะ ลาเต๊ะ  หนึ่งในญาติของผู้เสียชีวิต กล่าวว่า ตนไม่แน่ใจว่าจะฟ้องดำเนินคดีอาญากับเจ้าหน้าที่ต่อหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาระยะเวลา 2 ปีกว่าแล้วที่ต้องไปมาศาลบ่อยครั้ง ศาลก็เลื่อนนัดหลายครั้ง ทำให้การไต่สวนล่าช้าและเสียเวลามาก อีกทั้งต้องเสียค่าใช้จ่าย เช่น ค่าเดินทาง  อย่างไรก็ตาม คิดว่าคงต้องปรึกษากับทนายความและญาติผู้เสียชีวิตคนอื่นๆ ก่อน.

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท