Skip to main content
sharethis

วัชรพงษ์ หิรัญรัตน์ รายงาน


 


 



 


ที่มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 19 พ.ย.ที่ผ่านมา โครงการพื้นที่ทางสังคมและสื่อทางเลือก ได้จัดเวทีเสวนา 60 วันรัฐประหาร สังคมไทยได้อะไร? โดย ผศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ให้ทัศนะไว้ดังนี้


 


พรรคการเมือง / นักการเมือง จะถูกทำให้อ่อนแอ


... เรื่องที่ผมจะคุย มีสั้นๆ คือว่า "60 วันรัฐประหาร สังคมไทยได้อะไร?" ผมคิดว่ามันไม่ได้อะไร ... แต่ผมไม่ซีเรียส เรื่องที่ผมอยากจะพูดคือ การเมืองไทยหลัง 19 กันยายน จะเปลี่ยนอย่างไร? อันนี้คือที่สนใจ


 


ผมมีความเห็นดังนี้ -


 


สถานการณ์การเมืองภายหลัง 19 ก.ย. 2549 จะมีความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดคือ สถานะของนักการเมือง หรือนักเลือกตั้งถูกจัดการให้มีอำนาจในทางการเมืองน้อยลงกว่าเดิม เช่น พรรคการเมืองที่เข้มแข็งเช่น ไทยรักไทย จะมีโอกาสเกิดขึ้นอีกได้น้อยมาก หรืออาจจะทิ้งช่วงไปสักระยะหนึ่ง ซึ่งต่อไปนี้ การเลือกตั้งจะถูกทำให้เกิดความอีเหละเขละขละ อย่าให้ได้พรรคการเมืองพรรคเดียวมา พรรคการเมืองและนักการเมืองจะถูกจัดการให้อ่อนแอที่สุด


 


ในปัจจุบันสังคมไทยกำลังมองว่าพรรคการเมืองที่เข้มแข็งนำปัญหามาให้ ดังนั้น พรรคการเมือง หรือนักการเมืองจะถูกลดทอนอำนาจลง โดยที่ต่อไปจะไม่มีพรรคการเมืองที่ควบคุมนักการเมืองได้  และนักการเมืองจะมีระยะเวลาในการสังกัดพรรคการเมืองน้อยลง ทำให้สามารถปลีกตัวออกจากพรรคเดิมได้มากขึ้น เป็นต้น


 


ทั้งนี้ ก็ยังไม่แน่ใจว่าระบบการเลือกตั้งจะเปลี่ยนด้วยหรือไม่ โดยอาจทำให้ได้นักการเมืองมาจากหลายพรรคมากขึ้น แต่โดยนัยยะนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าฝ่ายบริหารจะลดอำนาจการบริหารตามไปด้วย ซึ่งไม่แน่ว่า อาจจะมีฝ่ายบริหารที่เข้มแข็งต่อไป เพียงแต่พรรคการเมืองถูกทำให้อ่อนแอลงเท่านั้น


 


ใน model แบบนี้ฝ่ายบริหารที่เข้มแข็งหมายว่าอย่างไร ผมคิดว่ามันมีความเป็นไปได้ที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะกำหนดให้นายกฯ ไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง


 


3 สถาบันที่จะมีบทบาทต่อไปจากนี้


โดยในอนาคตอันใกล้นี้ มีความเป็นไปได้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะกำหนดให้ฝ่ายบริหารมีความเข้มแข็งได้ แม้ว่านายกที่มาจากการเลือกตั้งจะไม่ได้มาจากพรรคการเมืองใหญ่ๆ ก็ตาม โดยที่การสร้างฝ่ายบริหารที่เข้มแข็งนั้นมี 3 สถาบันมีบทบาทเป็นตัวหนุน ดังนี้คือ 1. องคมนตรี , 2. ทหาร , 3. ศาล


 


1. องคมนตรี ซึ่งโดยรัฐธรรมนูญนั้นอาจจะไม่ถูกแก้ไขมาก แต่สิ่งที่จะเห็นมากขึ้นคือ องคมนตรีจะมีบทบาทเชิงวัฒนธรรม จะมีการปรากฏตัวทางสื่อมากขึ้น พร้อมกับการพูดชี้นำเรื่องต่างๆ มากขึ้น อาทิเช่น พล.อ. เปรม ออกมาบอกว่า "เนี่ย! สุรยุทธ์เนี่ย Churchill นะเว้ย!" เป็นต้น


 


ผมคิดว่าจะเห็นรูปการแบบนี้มากขึ้น ก่อนหน้านี้ในช่วงที่พันธมิตรเคลื่อนไหว เราได้เห็นรูปการแบบนี้เกิดขึ้นแล้ว เราเห็น 3 ประสานขององคมนตรีปรากฏกายใช่ไหม? เราเห็นถึงการประสานขององคมนตรีโดยมิได้นัดหมายรึเปล่า? อันนั้นผมก็ไม่รู้ แต่การปรากฏตัวขององคมนตรี อย่างน้อยในระยะช่วงปีข้างหน้า เราจะเห็นองคมนตรีทำงานมากขึ้น ออกมาพูดมากขึ้น 


 


2. ทหาร ผมคิดว่าจะเข้ามามีบทบาทในการเมืองไทยมากขึ้นมากกว่าก่อนหน้าปี 2549 แต่ก็เป็นไปไม่ได้ที่จะมีบทบาทมากเท่ากับกรณีเหตุการณ์ รสช. 2535 ทั้งนี้ ทหารจะเข้ามามีบทบาทผ่านทางวุฒิสมาชิก ซึ่งผมเดาๆ เอาว่าต่อไปนี้วุฒิสมาชิกจะไม่ได้มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด


 


อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าการที่ทหารยังคงอยู่ในอำนาจต่อไป เป็นไปได้ว่ามีเหตุผล 2 ประการคือ เพื่อค้ำให้การเลือกตั้งครั้งต่อไปไม่ให้ทักษิณและพวกของทักษิณเข้ามาได้ เพราะถ้าทักษิณและพรรคพวกเข้ามาได้พวกเขาตายแน่


ส่วนอันที่สอง คือ ผลประโยชน์ เพราะว่าคุณขึ้นหลังเสือแล้วคุณลงไม่ได้ ซึ่งประเด็นนี้เริ่มฉายแววออกมาบ้างแล้ว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นบทบาทของทหารอาจจะอยู่อย่างไม่สง่างามมากนัก เพราะสังคมไทยมีประวัติศาสตร์ในการเรียนรู้เกี่ยวกับทหารมาในทิศทางค่อนข้างลบ ทำให้ทหารเป็นที่จับตามองของสังคมมากหากมีการสืบทอดอำนาจต่อไป ประชาชนจะลุกขึ้นมาต่อต้านอย่างแน่นอน


 


จากนี้ไปทหารจะมีบทบาทต่อคนในสังคมไทยแบบ "ทั้งรักทั้งชัง" แบบว่า มึงจะอยู่ก็อยู่ มึงจะทำอะไรก็ทำ แต่..อ๊ะ..อ๊ะ มึงจะทุจริตรึเปล่า? อะไรประมาณนี้ --- ซึ่งแบบนี้ผมคิดว่าทหารจะอยู่แบบไม่สง่างามเท่าไหร่ แบบว่า ไอ้กูจะเอามากๆ ก็ไม่ได้เพราะคนเขาก็จะด่า ไอ้ครั้นจะไม่ทำอะไรเลยก็ไม่ได้เพราะเดี๋ยวขั้วทักษิณจะกลับมาเล่นกูอีก


 


ถ้าจะเขียน รธน. ให้สืบทอดอำนาจต่อได้นี่มึงก็โดนแน่ หรือไม่ต้องเรื่องสืบทอดอำนาจ แค่เรื่องเงินเดือนเรื่องเดียวเสียงมันก็เริ่มแตก จะรับ-ไม่รับ นี่แค่เรื่องเงินเดือนเรื่องเดียว อันนี้แสดงให้เห็นถึงความไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของทหาร หรือแม้แต่พวกทหารที่เคยเดินตามทักษิณเมื่อก่อน พอมาดูเดี๋ยวนี้พวกมันมานั่งน่าตาปั้นจิ้มปั้นเจ๋อกับ คมช. ซะงั้น


 


ในความคิดของผมทหารจะเป็นองค์กรที่ค่อนข้างไร้น้ำยาที่สุดใน 3 องค์กร เหตุผลเนื่องจากการไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของทหารและด้วยบทบาทที่ไม่ค่อยดีนักในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เหล่านี้จะทำให้ขยับอะไรไม่ได้มาก


 


3. ศาล จะเข้ามามีบทบาทอย่างแน่นอน ผมคิดว่าศาลเป็นองค์กรที่สังคมไทยเชื้อเชิญให้เข้ามาทำหน้าที่ทางการเมืองอย่างที่ไม่เคยทำมาก่อน และตอนนี้ได้เข้ามาทำหน้าที่แล้ว อย่างเช่น การเข้าไปอยู่ใน กกต. และ ปปช. เป็นต้น


 


ครั้งนี้ผมคิดว่าศาลจะเข้ามามีบทบาททางการเมืองมากขึ้น และที่ผ่านมาศาลไม่ได้เข้ามามีบทบาททางการเมืองเชิงนโยบายที่เปิดเผยอย่างแจ่มชัดนัก ถามว่าดีรึเปล่า? อันนี้แล้วแต่ความเชื่อ คือ ถ้าคุณเชื่อแบบ ธีรยุทธ บุญมี ก็ตุลาการภิวัตน์น่ะ ที่เชื่อว่าศาลจะมาทำให้การเมืองไทยใสสะอาด เป็นโอโม อะไรก็ว่ากันไป


แต่ถ้าสรุปจากบทเรียนการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนไทย ในตอนนี้มีหลายคดีที่ศาลตัดสินได้ถูกใจเรา แต่ผมขอยืนยันว่าคดีเหล่านั้นเป็นคดีที่มันดังๆ แต่คดีทั่วไปที่เกี่ยวข้องประชาชนชาวบ้าน ส่วนใหญ่ยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงมากนัก ในองค์กรศาลนั้น ในระดับนำมันอาจจะเปลี่ยน แต่ในระดับที่เป็นกลไกโดยทั่วไป เราไม่ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงเท่าไหร่


 


ถ้าถามผม ผมคิดว่ามันเป็นองค์กรที่เราไม่รู้จักมากจนเราจะไว้ใจมันได้ ที่น่ากลัวกว่านั้นคือ เราไม่สามารถวิจารณ์หรือแตะศาลได้ เพราะอาจเป็นการหมิ่นประมาทศาลได้


 


ผมเขียนบทความลงสื่อเล่มหนึ่ง เขียนด่าทักษิณ เขียนด่าทหาร ลงได้หมดไม่เคยโดนตัด แต่เมื่อผมเขียนบทความเกี่ยวกับกรณีที่ชูวิทย์หมิ่นศาล เพื่อนคนหนึ่งถามว่าทำไมอ่านไม่รู้เรื่อง มันสมควรที่จะอ่านไม่รู้เรื่องอยู่ล่ะ เพราะมันตัดของกูออกไป


 


มันน่ากลัวที่อำนาจบางอย่างที่ทำให้เราไม่สามารถพูดได้ ไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์ กระทั่งทำให้เราเซ็นเซอร์ตัวเอง โดยที่องค์กรนั้นทำให้เรารู้สึกว่ายังไม่รู้จักดีพอ และไม่สามารถควบคุมได้ เป็นเรื่องน่ากังวลมากที่สถาบันนี้เข้ามามีบทบาทในการเมืองสูง ดังนั้นคำถามคือ เราจะแตะต้องได้อย่างไร


 


เช่นปัญหาที่ดินลำพูน เราด่าตำรวจ ด่าใครก็ได้ พอไปด่าศาลปุ๊บ ศาลก็เรียกมา นักวิชาการก็หงอละวะ กลัวติดคุกเหมือนกัน ศาลเรียกมามานั่งคุยกัน สั่งสอน ทำไมคุณพูดจาแบบนี้ เป็นครูบาอาจารย์คน นักวิชาการก็หงอก็ถอยกลับไป แล้วอย่าลืมว่าที่ผ่านมากระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ถูกทำให้กระบวนการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนขยับไม่ได้ ...


 


โดยภาพรวมสรุปแล้ว ที่มีคนกลุ่มหนึ่งวิเคราะห์ว่า ระบอบอำมาตยาธิปไตยสมัย  พล.อ เปรม  จะกลับมาอีกครั้ง  คือ ถามว่ามีการเลือกตั้งรึเปล่า? ก็บอกว่ามี แต่พอเลือกตั้งเสร็จเขาก็เอา พล.อ เปรมมาเป็นนายก โดยที่ไม่มองถึงเสียงข้างมากข้างน้อย อันนี้คือทหารมีบทบาททางการเมือง นั่นคือในสมัยเปรมาธิปไตย 


แต่ในทัศนะของผม ครั้งนี้การกลับมาของทหารในครั้งนี้ไม่ได้กลับมาโดยฐานกำลังเหมือนในอดีต   การทหารกลับมาในครั้งนี้ กลับมาโดยการอิงกับสถาบันเบื้องบนไม่ได้กลับมาด้วยตัวเอง ไม่มีฐานอำนาจที่เข้มแข็ง จึงเป็นไปได้ยากที่ระบอบอำมาตยาธิปไตยจะกลับมาอีกครั้งในรูปแบบเดิม


 


แต่การกลับมาอาจจะมาในรูปแบบใหม่คือ  ถึงคุณยึดอำนาจได้คุณก็ต้องทำให้มีการเลือกตั้ง และต่อไปรูปแบบการเมืองจะเป็นระบบรัฐสภาที่มีการเลือกตั้งภายใต้ระบอบอำมาตยาธิปไตยแบบใหม่ โดยมี 3 องค์กรหลักค้ำยันไว้ คือ องคมนตรี ทหาร และ ศาล เป็นหน่วยกำกับ และอยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ซึ่งการเมืองไทยในรอบปีสองปีข้างหน้ามันน่าจะเป็นแบบนี้


 


 

 


 


รายงานพิเศษที่เกี่ยวเนื่อง


รายงาน : 60 กว่าวันหลังรัฐประหาร..เราได้/เสียอะไรบ้าง? มุมมองนักเศรษฐศาสตร์การเมือง


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net