"แม่รำพึง" เสียงครวญใต้เงาอุตสาหกรรมเหล็ก

มูฮำหมัด ดือราแม

 

 

การแย่งชิงทรัพยากรระหว่างชาวบ้านในพื้นที่กับนายทุนใหญ่ เป็นเรื่องหนักหนาสาหัสในสังคมไทยตลอดมา และจะเป็นปัญหาต่อไป ตราบเท่าที่การจัดสรรทรัพยากรยังไม่เป็นธรรมและการควบคุมตามกติกายังไม่มีประสิทธิภาพมากพอ

 

การปกป้องทรัพยากรให้คงอยู่อย่างยั่งยืนกลายเป็นเรื่องยากยิ่งในยุคทุนนิยมครอบโลก แต่ก็ยังมีคนกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยส่วนหนึ่งในสังคมกล้าต่อกร เพื่อปกป้องทรัพยากรสาธารณะที่มีอยู่น้อยนิดจากการคุกคามจากภายนอก

 

เช่นชาวบ้านหมู่ที่ 1 และหมู่ที่ 7 ตำบลแม่รำพึง อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่รวมตัวกันตั้งเป็นกลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลนที่ 8 ด้วยความหวังจะรักษาป่าพรุสาธารณะผืนเล็กๆ เพียง 400 - 500 ไร่ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า "ในพรุ" ให้เป็นที่อยู่ของนกป่านานาชนิดต่อไป

 

ชาวบ้านกลุ่มนี้มีความกังวลมากเมื่อมีข่าวออกมาอย่างต่อเนื่องว่าบริษัทเจ้าของโรงงานรีดเหล็กขนาดใหญ่ มีแผนจะตั้งโรงงานถลุงเหล็กขนาดใหญ่อีกแห่ง โดยได้กว้านซื้อที่ดินของชาวบ้านไปแล้วทางด้านทิศเหนือของป่าในพรุ จึงเกรงว่าป่า "ในพรุ" จะถูกทำลายไปด้วย

 

ด้วยเหตุนี้ เมื่อวันที่ 24 - 25 พฤศจิกายน 2549 มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ร่วมกับสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้จัดโครงการสำรวจเก็บข้อมูลพื้นที่หาดแม่รำพึง อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ขึ้น มีผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์จากสำนักข่าวต่างๆ และเจ้าหน้าที่องค์กรอนุรักษ์เข้าร่วมกว่า 10 คน

 

การเข้าสำรวจครั้งนี้ พบว่าป่า "ในพรุ" อยู่ห่างจากโรงงานรีดเหล็กของบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านอุตสาหกรรมเหล็ก ซึ่งอยู่ทางด้านทิศตะวันออก ประมาณ 1 กิโลเมตร โดยคั่นด้วยพื้นที่วนอุทยานแห่งชาติแม่รำพึง และพื้นที่อนุรักษ์ป่าชายเลนที่ 8

 

ในบริเวณนั้นมีนกขนาดใหญ่น้อยหลายชนิด ส่วนบริเวณหนองน้ำซึ่งเป็นพื้นที่เชื่อมต่อกับเขตวนอุทยานแห่งชาติ มีตาข่ายที่ชาวบ้านมาตั้งไว้ดักนกหลายจุด

 

นายวิฑูรย์ บัวโลย แกนนำกลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลนที่ 8 เปิดเผยว่า เจ้าของโรงงานรีดเหล็กได้กว้านซื้อที่ดินชาวบ้านที่อยู่ด้านทิศเหนือและทิศตะวันออกของป่าในพรุ กว่า 700 ไร่ไว้แล้ว นอกจากนี้ยังได้ขออนุญาตใช้ที่ดินป่าช้า จากกรมป่าไม้ไว้ด้วย 60 ไร่ โดยรวมแล้วพื้นที่ชุมน้ำเขตวนอุทยานแห่งชาติแม่รำพึงกับเขตอนุรักษ์ป่าชายเลนที่ 8 มีประมาณ 1,200 ไร่ พื้นที่ป่าในพรุอีกประมาณ 500 ไร่

 

หากจะมีการตั้งโรงงานจริงชาวบ้านคิดว่าคงต้องใช้พื้นที่มากกว่า 700 ไร่ และทางเขาเองทราบมาว่าบริษัทต้องการใช้ที่ดินถึง 2,000 ไร่ แต่หากจะต้องใช้ที่ดินป่าพรุนี้ด้วย ชาวบ้านก็คงไม่ยอม

 

"เราไม่ได้ค้านการตั้งโรงงาน แต่เราต้องการรักษาป่าเอาไว้ เราจะเอาป่าไว้ เพื่อสิ่งแวดล้อมของหมู่บ้าน" คำยืนยันของวิฑูรย์

 

วิฑูรย์ให้ข้อมูลต่อว่า ป่าแห่งนี้มีความสำคัญกับหมู่บ้าน เป็นพื้นที่ป่าชุมชนที่ชาวบ้านใช้ประโยชน์และดูแลร่วมกัน โดยไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานใด ในอดีตใครมีวัว มีควาย เวลาไม่ได้ทำนาก็เอามาปล่อยไว้ในป่านี้

 

ส่วนหน้ามรสุมนกในทะเลก็จะอพยพมาอยู่ในป่านี้ โดยป่าผืนนี้เป็นแหล่งที่พักและหากินของนกป่านานาชนิด ทั้งที่เป็นนกประจำถิ่นและนกอพยพ เช่น นกยาง นกอีโก้ นกเป็ดน้ำ นกอีลุ้ม นกเหยี่ยว แร้ง เป็นต้น

 

สำหรับแร้งเป็นตัวชี้วัดว่าเป็นป่าที่สมบูรณ์ เพราะแร้งเป็นสัตว์กินเนื้อ ซึ่งเป็นตัวเร่งให้เกิดการย่อยสลาย แสดงให้เห็นว่าวงจรชีวิตของสัตว์สมบูรณ์ คือมีทั้งผู้ผลิตและผู้ย่อยสลายตามธรรมชาติ หากป่าซึ่งเป็นแหล่งหากินของแร้งหายไป วงจรชีวิตของสัตว์ป่าถูกทำลายไปด้วย

 

เขาเล่าว่า อย่างไรก็ตาม การที่มีนกนานาชนิด ทำให้มีชาวบ้านจากที่ต่างๆ มาตั้งตาข่ายดักจับนกอยู่ด้วย ส่วนใหญ่จะจับนกอีลุ้ม มีตำรวจมาจับอยู่บ่อย เพราะนกชนิดนี้เป็นนกที่อยู่ในบัญชีอนุรักษ์ ถ้าจับไปก็จะผิดกฎหมาย ถึงอย่างนั้นก็ยังมีคนมาจับนกอยู่ทุกคืนเช่นกัน และก่อนหน้านี้ไม่กี่เดือน มีขบวนการทำลายนกที่อยู่ที่นี่ด้วย โดยมีคนกลุ่มหนึ่งใช้ปืนยิงนกไก่นาและนกกระทุงทิ้ง ตายจำนวนมาก ซึ่งนี่ก็เป็นการคุกคามสัตว์ป่าที่ยังมีอยู่ในพื้นที่

 

ในอดีตภัยคุกคามต่อนกป่าอย่างรุนแรงเกิดขึ้นมาแล้วครั้งหนึ่ง ประมาณปี 2534 หลังจากมีการสร้างโรงงานรีดเหล็กเสร็จใหม่          ๆ มีนกตายจำนวนมาก เพราะตื่นแสงและเสียงในเวลากลางคืน ทำให้นกนึกว่าเป็นเวลากลางวันจึงออกมาบินว่อน เกิดการบนชนกันตายจำนวนมาก และชาวบ้านก็ไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก

 

ในส่วนผลกระทบต่อชาวบ้านวิฑูรย์ให้ข้อมูลว่ามีอยู่บ้าง เช่น เรื่องเสียงดังจากโรงงานในเวลากลางคืน บางครั้งเวลาตากผ้ากลางแจ้งจะมีคราบเหลืองๆ เป็นจุดๆ ติดที่ผ้าด้วย ทั้งๆ ที่ก่อนการตั้งโรงงานไม่เคยมี ส่วนชาวบ้านที่เคยทำงานอยู่ในโรงงานหลายคนมีอาการเจ็บป่วย แต่ผลการตรวจของแพทย์กลับระบุว่าตายด้วยโรคภัยไข้เจ็บธรรมดา ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้ยังเป็นที่สงสัยของชาวบ้าน เพราะทางโรงงานเองก็ไม่เคยมาเปิดเผยข้อมูลให้ชาวบ้านทราบ

 

วิฑูรย์ บอกอีกว่า บทบาทสำคัญอีกอย่างของป่าพรุแห่งนี้ รวมทั้งพื้นที่วนอุทยานแห่งชาติแม่รำพึง พื้นที่อนุรักษ์ป่าชายเลนที่ 8 ไปจนถึงพื้นที่ของโรงงานรีดเหล็กเอง ก็คือ การเป็นพื้นที่ซับน้ำตามธรรมชาติ ซึ่งช่วยป้องกันน้ำท่วมได้

 

และเมื่อปลายปี 2548 เกิดน้ำท่วมใหญ่ในอำเภอบางสะพาน อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในรอบ 50 ปี เพราะมีการถมที่ดินป่าชายเลนริมคลองทัพมอญ ซึ่งเป็นทางระบายน้ำออกสู่ทะเล ทำให้คลองแคบลง จนชาวบ้านร้องเรียนไปยังกรมป่าไม้ว่าอาจเป็นการบุกรุกป่าชายเลน เจ้าพนักงานที่ดินที่ลงมาตรวจสอบก็ยืนยันว่าเป็นการออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบ ขณะนี้เรื่องอยู่ในชั้นศาลแล้ว

 

ส่วนเรื่องรอยไถป่าในพรุ เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ โดยคนกลุ่มหนึ่งที่เป็นคนของเจ้าของโรงงานรีดเหล็ก ซึ่งเคยทำงานให้กับเจ้าของโรงงานมาตั้งแต่มีการก่อตั้งโรงงานใหม่นั้น ยังไม่ทราบจุดประสงค์ที่แท้จริงว่าต้องการอะไร ชาวบ้านจึงเกรงว่าจะเป็นการบุกรุกเพื่อทำประโยชน์จึงต้องช่วยกันป้องกัน

           

นอกจากนี้ยังพบว่ามีการย้ายหลักเขตวนอุทยานแห่งชาติแม่รำพึงในบริเวณใกล้กับป่าในพรุออกไปจากเดิมเกือบ 100 เมตรด้วย ซึ่งชาวบ้านก็ยังไม่ทราบใครเป็นคนย้ายและย้ายด้วยเหตุใด

 

นอกจากนี้ก่อนหน้านี้ประมาณ 1 เดือน มีเจ้าหน้าที่ที่อ้างว่ามาจากกรมป่าไม้ได้นำแบบสอบถามมาให้ชาวบ้านหมู่ที่ 7 บ้านทุ่งลานควาย ตำบลแม่รำพึงด้วย ซึ่งคำถามในแบบสอบถามดังกล่าวสร้างความสงสัยให้กับชาวบ้านมาก เพราะถามว่า คุณคิดว่าพื้นที่ป่าพรุนี้ สามารถประมูลราคาเปลี่ยนเป็นเงินได้หรือไม่ ชาวบ้านจึงเชื่อว่าจะต้องมีการใช้ประโยชน์ที่ป่าแห่งนี้แน่นอน

 

วิฑูรย์ บอกด้วยว่า ทางกลุ่มเคยส่งหนังสือไปยังที่ว่าการอำเภอบางสะพานแล้ว เพื่อคัดค้านการขอใช้ที่ดินสาธารณะในผืนป่าแห่งนี้ของบริษัทเอกชน โดยคนในชุมชนอยากกันพื้นที่นี้ไว้เป็นที่สาธารณะ

 

 "แต่หากถึงที่สุดแล้ว มีแนวโน้มจะปกป้องป่าแห่งนี้ไม่ได้เราก็คงต้องใช้วิธียึดป่า คงต้องเกณฑ์คนไปเฝ้าป่าแน่นอน" นั่นคือคำยืนยันของแกนนำอนุรักษ์ป่าชายเลนที่ 8

 

วิฑูรย์ บอกอีกว่า สิ่งที่ทำเพื่อการอนุรักษ์ป่าแบบยั่งยืนทางหนึ่งก็คือ การสร้างจิตสำนึกให้กับเยาวชน ทำให้เขารักป่าและสัตว์ป่า โดยเฉพาะนก ที่ผ่านมาได้หาสมุดแสตมป์ที่มีรูปนกมาใช้สอนเด็กๆ บอกเขาว่านกแต่ละชนิดมีความสำคัญอย่างไร ซึ่งก็ทำเท่าที่ทำได้ เพราะไม่มีวิทยากรที่มีความรู้และไม่รู้ว่าจะหาข้อมูลมาให้เด็กได้อย่างไร

 

นอกจากนี้กลุ่มอนุรักษ์ยังพยายามสร้างเครือข่ายกับองค์กรอนุรักษ์อื่นๆ ด้วยเพื่อสร้างความเข้มแข็งในการป้องกันรักษาป่าด้วย เช่น กลุ่มอนุรักษ์บ่อนอกที่เคยคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน เป็นต้น

 

"อนาคตหากเป็นไปได้ เราอยากสร้างสะพานเดินป่าเพื่อเข้าไปดูนกเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ เพราะป่าแห่งนี้ เป็นที่อยู่อาศัยของนกหลายชนิด บางชนิดหาได้ยากในประเทศไทย หากป่าที่เป็นที่อยู่อาศัยของนกถูกทำลายไป นกพวกนี้ก็จะสูญพันธ์ไปด้วย" แกนนำกลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลนกล่าว

 

นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ จากมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่า กล่าวว่า การขอใช้พื้นที่อุทยานสามารถทำได้ แต่สำหรับพื้นที่ตรงนี้มีลักษณะเป็นพื้นที่ชุมน้ำ ซึ่งมีกฎหมายรองรับว่าจะเปลี่ยนแปลงสภาพป่าไม่ได้ ส่วนเรื่องการป้องกันการจับนกป่านั้น ถ้าหากชาวบ้านต้องการอนุรักษ์ให้มีประสิทธิภาพด้วย ก็ต้องมาทำข้อตกลงร่วมกัน เช่น อาจจะตกลงกันว่า ให้จับปลาได้แต่นกคงจับไม่ได้ เพราะเป็นสัตว์ที่อยู่ในบัญชีอนุรักษ์

 

นี่คือความเคลื่อนไหวในพื้นที่ ตำบลแม่รำพึง อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งชาวบ้านต้องการอนุรักษ์ "ในพรุ" ขณะที่โรงงานต้องการขยายพื้นที่อุตสาหกรรม คงต้องจับตาการต่อสู้ระหว่าง "คน" กับ "เหล็ก" นี้อย่างใกล้ชิด...

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท