Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เสน่ห์ของละครเวทีไม่ได้มีอยู่แค่บนเวที... เพราะเสน่ห์ที่เย้ายวนกว่านั้นคือการร่วมแรงร่วมใจของคนที่อยู่ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง อาจจะมีเถียงกันบ้าง ขัดคอกันบ้าง แต่ทุกคนก็คงจะหวังให้ผลงานของตัวเองออกมาสมบูรณ์พร้อมอย่างที่คิดไว้


 


แต่ละครเวทีที่ชื่อ "อะเวรา" จะเกิดจากสมมติฐานที่ว่ามาหรือไม่-คงพูดแทนใครไม่ได้ แต่ถ้าดูจากผลงานที่แสดงกันไป ณ อาคารมนูญผล เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ก็จะพอสรุป (เอาเอง) ได้ว่านี่เป็นละครเวทีแห่งความตั้งใจจริงอีกเรื่องหนึ่ง...


 


ความพยาบาทที่ติดตามมาตั้งแต่อดีตชาติ และวิธีจัดการกับต้นตอแห่งปัญหา... คือแก่นสำคัญของ "อะเวรา" อันเป็นผลงานที่เกิดจากความร่วมแรงร่วมใจของบรรดานักศึกษาจากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ โดยที่เงินรายได้ทั้งหมดจะนำไปมอบให้กับสถานสงเคราะห์คนชราบ้านลพบุรีด้วย


 


000


 



 


ปมซับซ้อนในจิตใจของ "กริต" คือจุดเริ่มต้นแห่งเรื่องราวทั้งหมด หลังจากที่เขาเฝ้าก่นด่าและชิงชังว่าพ่อของเขาคือตัวการที่ทำให้แม่ต้องเสียชีวิต กริตยิ่งทวีความเกลียดชังพ่อมากขึ้นตามวันและวัยที่เขาเติบโต จนกระทั่ง "ฐิตามอน" น้าสาวของเขาต้องนำความเกลียดชังเหล่านี้ไปปรึกษาจิตแพทย์


 


การสะกดจิตเพื่อระลึกชาติ คือ ทางเลือกหนึ่งที่หมอนำมาใช้รักษาอาการหมกมุ่นกับความพยาบาทของ กริตที่มีต่อพ่อของตัวเอง ผลปรากฏว่า "อดีตชาติ" ที่ผ่านมาของกริตและพ่อ เป็นสาเหตุแห่งความเคียดแค้นรุนแรงถึงขั้นที่อยากจะทำลายชีวิตของอีกฝ่ายให้ตายตกไปตามกัน                   


 


อดีตที่ผ่านมานั้นย้อนไปไกลถึงสมัยเอโดะแห่งประเทศญี่ปุ่น กริตและพ่อในชาติปัจจุบัน เคยผูกพันกันอย่างลึกซึ้ง และกริตก็เคยถูกพ่อหักหลังอย่างเจ็บปวดจนต้องจบชีวิตลงอย่างสะเทือนใจ


 


แม้ว่าเหตุการณ์จะดำเนินมาถึงชาติที่สอง ในยุคของสงครามโลกครั้งที่ 2 กริตในอดีตชาติก็ยังถูกพ่อทำร้ายจิตใจอีกจนได้ และกริตเองก็ขอสาบานว่าจะตามเกลียดชัง อาฆาต พยาบาท คู่รักคู่แค้นของตัวเองต่อไปไม่ว่าจะอีกกี่ภพกี่ชาติก็ตาม


 


ปัญหาก็คือ เมื่อมาถึงชาตินี้ ทั้งกริตและพ่อกลับมาผูกพันกันอีกครั้ง และแม้ทั้งสองจะรู้แล้วว่าสาเหตุแห่งความอาฆาตพยาบาทมาจากไหน ทางออกที่มีให้เลือกก็ยังเป็นหนทางที่หนักหนาสาหัสอยู่เช่นเดิม ซึ่งบทสุดท้ายของละครจะลงเอยถูกใจคนดูหรือไม่ คงขึ้นอยู่กับธงในใจของแต่ละคนที่มีต่อ "การไม่จองเวร" หรือ "อะเวรา" ที่ถูกหยิบยกมาเป็นชื่อเรื่อง


 


และนั่นก็คือประเด็นสืบเนื่องที่ตามติดมาให้คนดูได้คิดกันต่อหลังละครจบ...


 


000


 



 



 



 


"การไม่จองเวร" ที่ฝ่ายหนึ่งร้องขอ จะถูกลบเลือนไปจากอดีตชาติ (และปัจจุบันชาติ) ไม่ได้เด็ดขาด ถ้าไม่มีการย้อนกลับไปมองถึงสาเหตุ หรือ "ต้นตอ" แห่งปัญหาทั้งหมด เพื่อจะนำไปสู่การชำระความพยาบาทที่ส่งผลแห่งความร้ายกาจต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน...


 


แต่ดูเหมือนว่าการย้อนกลับไปมองต้นตอแห่งปัญหาแบบข้ามชาติใน "อะเวรา" เป็นเพียงการหาเหตุผลมาอธิบายพฤติกรรมของกริตและพ่อเท่านั้น ตัวละครหลักๆ จึงเล่นไปตามบทที่ต้องตามล้างตามแค้นข้ามภพข้ามชาติ และอาจเป็นเพราะเกรงคำครหาว่าเป็นคนรุ่นใหม่แต่ทำไมยังงมงาย บทพูดที่ตัวละครซึ่งเป็นนายแพทย์พยายามย้ำอยู่เสมอๆ จึงได้แก่ประโยคที่มีใจความว่า "เราไม่ควรปล่อยให้โชคชะตาหรืออดีตมากำหนดอนาคตของเรา"


 


น่าเสียดายที่บทละครไม่ได้โอบอุ้มความสำคัญของประโยคที่พยายามเน้นย้ำอยู่บ่อยๆ นั้นเลย ตัวละครที่จมอยู่ในวังวนแห่งความพยาบาท จึงไม่อาจหลุดพ้นไปจากวงจรเดิมๆ ได้...


 


การที่ผู้คนจะหลุดพ้นจากอดีตได้อย่างแท้จริง จนสามารถนำไปสู่การกำหนดอนาคต (ที่จะไม่ย้อนกลับไปซ้ำรอยเดิมอีก) คงต้องมีการเรียนรู้หรือทำความเข้าใจอดีตเหล่านั้นให้ได้เสียก่อนว่ามันมีความเป็นเหตุเป็นผลกันอย่างไร


 


แต่อาจเพราะคนส่วนใหญ่เข้าใจว่า "การให้อภัย" และ "การลืม" คือเรื่องเดียวกัน เช่นเดียวกับที่เรา "ชาวพุทธ" ถูกสอนให้ท่องจำมาตั้งแต่ยังเป็น "เด็กเอ๋ยเด็กดี" ว่า "สัพเพ สัตตา อะเวรา โหนตุ"


 


ความหมายของการไม่จองเวรจึงหดเหลือเพียงการลบลืมสิ่งเลวร้ายที่เคยเกิดขึ้นในอดีต และให้อภัยแก่ผู้ที่เคยทำสิ่งเลวร้ายเหล่านั้น เราจึงขาดโอกาสที่จะเรียนรู้และป้องกันความผิดพลาดครั้งใหม่ๆ ที่เกิดจากเหตุและผลเดิมๆ ซึ่งก็มีตั้งแต่เรื่องเล็กๆ ในชีวิตประจำวัน ไปจนถึงเรื่องสำคัญๆ ระดับชาติ


 


และอาจจะเพราะเหตุผลนี้ ประวัติศาสตร์ในบ้านเราจึงมักจะซ้ำรอยเดิมเสมอ...


 


000


 


ด้วยพล็อตเรื่องที่ผูกโยงอย่างหลวมๆ ภายใต้แก่นที่แสนจะกว้างอย่าง "การไม่จองเวร" ทำให้ภาพรวมของ "อะเวรา" ดูขาดพลังไปสักนิด และการจับแนวคิดทางศาสนามาเป็นแก่นหลักของละคร ก็คงต้องทำใจอยู่ก่อนแล้วว่า เป็นเรื่องธรรมดาที่จะพบกับการตีความแบบต่างมุมจากคนดู


 


ขณะเดียวกัน ตัวละครบางตัวใน "อะเวรา" ก็เกิดขึ้นและมีอยู่...โดยไม่มีความจำเป็นต่อเนื้อหาของเรื่องสักเท่าไหร่ ฉากบางฉากที่ใส่เข้ามาให้ตัวละครทำตลกเรียกเสียงหัวเราะจากคนดู จึงออกจะเฝือและฝืดไปสักนิด ทั้งที่เห็นได้ชัดว่านักแสดงแต่ละคนตั้งใจกับบทบาทของตัวเองแค่ไหน


 


แต่ส่วนที่ต้องปรบมือให้ดังๆ คือความพิถีพิถันของการจัดฉากและการทำเพลงประกอบในละครแต่ละองก์ที่ทำได้ดีและสมศักดิ์ศรีละครอันเกิดจากความร่วมแรงร่วมใจระดับมหาวิทยาลัย ทำให้พอจะมองข้าม อาการหลุดเล็กๆ น้อยๆ ที่มีอยู่ในละครเรื่องนี้ไปได้


 


และไม่ว่าจะอย่างไร... คนดูละครคงเข้าใจและยอมรับได้ว่า-เสน่ห์ของละครไม่ได้มีอยู่แค่บนเวทีเท่านั้น...


 



 


* ดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับละครเวทีการกุศล 'อะเวรา'

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net