Skip to main content
sharethis

Keiko Sei เขียน


สมเกียรติ ตั้งนโม แปลและเรียบเรียง


 



  ภาพจาก http://www.presidency.ro/


 


 


"กองทัพอยู่กับเราจริงหรือ?" - อะไรที่เราสามารถเรียนรู้ได้จากการปฏิวัติโรมาเนีย


[-บทความชิ้นนี้เขียนขึ้นมาเพื่อสนับสนุนมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน-]


"Was The Army Really With Us?" ~ what can we learn from the Romanian revolution ~


[--This article was written in support of Midnight University--]


 


 


มีอะไรอยู่ในชื่อ? (What"s in the name?)


การจะตั้งชื่ออะไรก็ตามหรือการจะตั้งชื่อคน มันเป็นการสะท้อนถึงความคิดของผู้ตั้งชื่อคนๆ นั้น แน่นอนอันนี้เป็นจริงเช่นเดียวกับชื่อของพรรคการเมือง, กลุ่มพลังประชาชน, และบรรดา NGOs ทั้งหลายด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรณีที่น่าสนใจต่างๆ สามารถพบได้ในกลุ่มที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นมาเพียงชั่วครั้งชั่วคราว ซึ่งได้ก่อตัวขึ้นมาเพื่อโค่นล้มผู้มีอำนาจที่มีพลานุภาพ - กลุ่มต่างๆ เหล่านั้น บ่อยทีเดียว เปลี่ยนแปลงชื่อหรือฉายากลุ่มตนไปต่างๆ นาๆ ขณะที่กลุ่มเหล่านั้นมีพลังอำนาจมากขึ้น อันนี้ถูกทำขึ้นเพื่อต้องการสร้างความยอมรับของผู้คน หรือเพื่อจัดการพวกเขาอย่างชาญฉลาด หรือบางครั้งเพื่อปิดบังซ่อนเร้นหรือทั้งสองอย่าง


 


รัฐบาลทหารที่เข้ามาบริหารประเทศพม่าได้เปลี่ยนแปลงชื่อของพวกตนจาก the State Law and Order Restoration Council (SLORC) [สภาฟื้นฟูกฎระเบียบและกฎหมายแห่งชาติ] ไปสู่ the State Peace and Development Council (SPDC) [สภาพัฒนาและสันติภาพแห่งชาติ] ด้วยความช่วยเหลือของเอเจนซีโฆษณาอเมริกันแห่งหนึ่งในปี ค..1997 เพื่อชำระล้างภาพลักษณ์ที่เต็มไปด้วยคาวเลือดซึ่งสัมพันธ์กับเหตุการณ์ต่างๆ ในปี ค..1988 และบันทึกประวัติเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนที่ย่ำแย่ของพวกเขาที่ตามมาหลังเหตุการณ์นั้น แต่อย่างไรก็ตาม ท่าทีและทัศนคติของพวกเขามิได้เปลี่ยนแปลงอะไรไปเลย


 


สำหรับบทความชิ้นนี้ ข้าพเจ้าได้หยิบเอากรณีหนึ่งเกี่ยวกับกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า "National Salvation Front (FSN --- Frontul Salvarii Nationale)"[แนวหน้ากอบกู้แห่งชาติ] ของโรมาเนียขึ้นมาเป็นตัวอย่าง รัฐบาลชั่วคราวนี้ได้รับการสร้างขึ้น (หรืออย่างที่พวกเขาอ้าง) ในช่วงระหว่างการปฏิวัติโรมาเนียในเดือนธันวาคม 1989 เพื่อที่จะ "ปกป้องประเทศให้ปลอดจากจอมเผด็จการ" และเพื่อเป็นการสรรค์สร้างรัฐประชาธิปไตยขึ้นมา


 


หลังจากการปฏิวัติ พวกเขาได้เปลี่ยนชื่อไปเป็น the Provisional National Unity Council (CPUN --- Consiliul Provizoriu de Uniune National) [สภาเอกภาพแห่งชาติชั่วคราว] ภายหลังต่อมาคนกลุ่มนี้ได้แบ่งออกเป็นสองกลุ่ม ซึ่งกลุ่มที่แยกตัวออกมา พวกเขาได้ละทิ้ง FSN, และได้สถาปนากลุ่มใหม่ขึ้นที่เรียกตนเองว่า Democratic National Salvation Front (FDSN) [แนวหน้าปกป้องประชาธิปไตยแห่งชาติ] ซึ่งต่อมาได้แปรเปลี่ยนเป็น Party of Social Democracy in Romania (PDSR) [พรรคสังคมประชาธิปไตยแห่งโรมาเนีย], และถัดมาได้เปลี่ยนไปเป็น Social Democratic Party (PSD) [พรรคสังคมประชาธิปไตย] ส่วนสำหรับคนที่ยังคงอยู่ในกลุ่ม FSN เดิมนั้น ก็ได้เปลี่ยนชื่อไปเป็น Democratic Party - National Salvation Front (PD-FSN) [พรรคประชาธิปไตย - แนวหน้ากอบกู้แห่งชาติ], ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนชื่อให้สั้นลงเป็น "พรรคประชาธิปไตย" ในท้ายที่สุด (Democratic Party) [PD]


 


การปฏิวัติโรมาเนีย เดิมที เป็นการลุกขึ้นมาของประชาชนเพื่อก่อกบฎต่อจอมเผด็จการ Nikolai Ceausescu. ฉากยอดนิยมต่อมาก็คือ พลเมืองทั้งหลายได้ทำให้ทหารมาอยู่กับฝ่ายของพวกตนเอง และประชาชนก็ประสบความสำเร็จในการต่อสู้กับพวกที่จงรักภักดีต่อ Ceausescu และหน่วยรักษาความมั่นคงของเขา (ตำรวจลับที่น่ากลัวที่สุด ซึ่งมีเครือข่ายขนาดใหญ่ซึ่งทำหน้าที่ตรวจตราการเคลื่อนไหวของผู้คนทุกๆ ฝีก้าว) มีการใช้กำลังกันอยู่หลายวัน จนกระทั่ง Ceausescu ถูกจับและถูกลงโทษประหารชีวิต


 


ในช่วงระหว่างการปฏิวัติ ผู้คนทั้งหลายจากทุกภาคส่วน ซึ่งมองว่าพวกเขาเองนั้นคือ "คนที่มีสิทธิโดยชอบธรรมที่จะปกครองประเทศ" ได้มาร่วมมือกันและจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวขึ้น คนพวกนี้ได้ตั้งชื่อกลุ่มของพวกเขาว่า แนวหน้ากอบกู้แห่งชาติ (National Salvation Front) บุคคลสำคัญของแนวหน้านี้ก็คือ Ion Iliescu, ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นผู้นำของ FSN และได้เป็นประธานาธิบดีคนแรกของโรมาเนีย ภายหลังจากการล่มสลายของจอมเผด็จการ Ceausescu


 


หนึ่งในกล้องถ่ายภาพวิดีโอจำนวนมาก ที่ได้มีการบันทึกถึงฉากเหตุการณ์ความสับสนวุ่นวายในช่วงระหว่างการปฏิวัติ เป็นภาพของการสนทนาพูดคุยที่ตามมาในหมู่สมาชิก FSN ที่แตกต่าง ระหว่างการประชุมพบปะของพวกเขาได้ถูกบันทึกไว้ในวิดีโอ การประชุมดังกล่าวได้ถูกจัดให้มีขึ้นเพื่อพูดคุยกันถึงเรื่องการจัดตั้ง FSN ขึ้นมาอย่างเป็นทางการและการจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราว


 


สมาชิกคนหนึ่ง Mr. Iliescu, กล่าวว่า: คำว่า"การกอบกู้"นั้นฟังดูไม่ค่อยดี เพราะมันฟังแล้วเหมือนกับว่าเป็นการทำรัฐประหาร. ผมว่า "ประชาธิปไตยแห่งชาติ" จะฟังดูดีกว่า "ประชาธิปไตย" เป็นคำที่ถูกใช้มาก่อน


สมาชิกคนหนึ่ง: แล้ว"แนวหน้าเอกภาพของประชาชน"เป็นอย่างไรล่ะ


นายพลคนหนึ่ง: แต่คำว่า "แนวหน้ากอบกู้แห่งชาติ"มันอยู่มาตั้ง 6 เดือนแล้ว จนกระทั่งเดี๋ยวนี้


 


ฉากนี้ได้เป็นการจับภาพเกี่ยวกับบุคลิกลักษณะของการปฏิวัติ นั่นคือ การปฏิวัติตามข้อเท็จจริงแล้วคือการวางแผนเพื่อทำการรัฐประหารโดยประชาชนภายในพรรคคอมมิวนิสต์และกองทัพ และไม่ใช่ชัยชนะของประชาชนในการโค่นล้มเผด็จการและการก้าวไปสู่ประชาธิปไตยแต่อย่างใด


 


กล้องตัวเดียวกันได้จับภาพในฉากต่างๆ ที่เกี่ยวกับการประชุมครั้งต่อๆ มา. การประชุมพบปะกันครั้งหนึ่ง นำโดย Iliescu และรวมถึง Petre Roman (ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นนายกรัฐมนตรี), นายพลแห่งกองทัพและคนอื่นๆ Iliescu กล่าวว่า เพื่อทำให้ผู้คนทั้งหลายเข้าใจถึงความจำเป็นสำหรับ FSN ที่จะเข้ามาปกครองประเทศ และแสวงหาความไว้วางใจจากประชาชน, "เราต้องการที่จะรักษาอุปสงค์ที่เป็นความจำเป็นขั้นพื้นฐาน, อุปสงค์ด้านพลังงาน, รวมไปถึงอาหาร, และการขนส่งสาธารณะ"


 


ในอีกด้านหนึ่ง กล้องตัวเดียวกันนี้ได้บันทึกภาพผู้ก่อตั้ง FSN อีกคนหนึ่ง, Dumitru Mazilu, ซึ่งกำลังนำฝูงชนกลุ่มหนึ่งที่ได้รับการปลุกเร้า ประชาชนต่างถูกทำให้กระหายที่จะมีส่วนร่วมในประชาธิปไตยใหม่ และกระบวนการสร้างชาติ:


 


Mazilu: อันดับแรก ระบบพรรคการเมืองเดียวจะต้องถูกล้มล้างไป และโครงสร้าง(พหุลักษณ์)ที่หลากหลายจะต้องได้รับการนำเสนอขึ้นมา


Mazilu: …และการเลือกตั้งจะต้องเกิดขึ้นในเร็ววันเท่าที่จะเป็นไปได้


พลเมือง: กุมภา? มีนา? เมษา?


Mazilu: ไม่, ไม่ใช่มีนาคม นั่นคือเดือนที่ทรราชย์มักจะใช้สำหรับการเลือกตั้งของพวกเขาเสมอ


Mazilu: …และการแบ่งแยกอำนาจต่างๆ ก็เป็นสิ่งที่มีความสำคัญด้วยเช่นกัน


Mazilu: และ โอ้ ใช่เลย, วันนี้ พวกเราจะต้องประกาศชื่อ "โรมาเนีย" ของพวกเรา, แต่ไม่ใช่ "สาธารณรัฐสังคมนิยมแห่ง…" เพียง "โรมาเนีย"เท่านั้น! บรรดาโรงงานต่างๆ จะต้องพร้อมที่จะติดธงชาติใหม่ภายใน 5 วัน!


พลเมือง: Waoooo! Yeahh!


 


ประเทศประชาธิปไตยใหม่ประเทศหนึ่งได้รับการตั้งขึ้นด้วยวิธีการปัจจุบันทันด่วนนี้ ในสถานการณ์ที่ค่อนข้างสับสนอลหม่าน และด้วยเวลาที่รวดเร็วอย่างไม่น่าเชื่อ


 


การปฏิวัติโรมาเนีย - ฉากแรก (The Romanian Revolution - the first version)


ให้เรามาดูถึงการปฏิวัติตั้งแต่จุดเริ่มต้นกันเลยทีเดียว


 


ในช่วงเวลานั้น โรมาเนียเป็นประเทศที่ยากจนข้นแค้นมาก ซึ่งปกครองโดยเผด็จการ Ceausescu ที่กำลังฉกฉวยความมั่งคั่งจากประเทศบอลข่านและประชาชนของตนไป เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวของเขาและครอบครัวรวมถึงบรรดาสมัครพรรคพวกด้วย. ผู้คนต่างได้รับการปันส่วนอาหารและสิ่งจำเป็นอื่นๆ คนละเล็กละน้อย ในขณะที่ผู้หญิงได้ถูกบีบบังคับให้มีลูกหลายคนเพื่อสร้างประเทศของจอมเผด็จการ อันนี้ยังผลให้ประชากรส่วนใหญ่ที่กำพร้านั้นต้องถูกทอดทิ้ง เพราะครอบครัวจำนวนมากไม่สามารถที่จะหาอาหารมาเลี้ยงดูพวกเขาได้


 


Ceausescu ได้ทำลายเมืองหลวงบูคาเลสท์ (Bucharest) ไปถึงหนึ่งในสาม เพื่อที่จะสร้างพระราชวังของตนขึ้นมา ("พระราชวังของประชาชน" ซึ่งเป็นอาคารสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของโลก หลังจาก Pentagon), ประกอบด้วยถนนหนทางขนาดใหญ่ที่มีต้นไม้ปลูกอยู่สองข้างทาง และคฤหาสน์ที่หรูหรามากมายสำหรับบรรดามิตรสหายของเขา เขายังได้ทำลายและบีบบังคับผู้คนในหมู่บ้านต่างๆ ให้มาตั้งรกรากใหม่ยังอพาร์ทเม้นท์ขนาดใหญ่หลายชั้น ภายใต้ชื่อของความเป็นสมัยใหม่


 


เขาได้สร้างสถานภาพของตนเองขึ้นมาโดยผ่านวิธีการโฆษณาชวนเชื่อต่างๆ หนึ่งในวิธีการเหล่านั้นก็คือการครอบครองสื่อแต่เพียงผู้เดียวเพื่อเหตุผลต่างๆ สำหรับการโฆษณา ผลก็คือสถานีโทรทัศน์ในโรมาเนียได้ถูกจำกัดให้ออกอากาศได้เพียง 2 ชั่วโมงในแต่ละวันเท่านั้น และรายการทั้งหลายเกือบทั้งหมดทำขึ้นเพื่อยกย่องสรรเสริญเขาและภรรยา Elena รวมไปถึงความสำเร็จของพวกเขา. เหตุนี้ผู้คนชาวโรมาเนียจึงไม่เพียงทุกข์ทรมานกับความขาดแคลน และความขัดสนทางด้านอาหาร และสิ่งจำเป็นพื้นฐานต่างๆ ในชีวิตประจำวันเท่านั้น แต่รวมไปถึงข่าวสารข้อมูลทั้งหลายด้วย


 


(มีเรื่องเล่าเรื่องหนึ่งของชาวโรมาเนียนว่า ใน Transylvania ซึ่งหิวกระหายข้อมูลข่าวสาร พวกเขาได้สร้างเสาอากาศรูปโค้ง (จานรับสัญญาณ) เพื่อรับสัญญาณทีวีจากฮังการีที่เป็นประเทศเพื่อนบ้าน เรื่องเล่าตำนานอีกเรื่องกล่าวว่า ภายหลังเมื่อ Caucescu ถูกจับ คำถามแรกที่ถามตรงๆ กับเขาโดยคนที่จับตัวเขาได้ มันไม่ใช่เรื่องความขาดแคลนอาหาร แต่เป็นเรื่องเกี่ยวกับว่า ทำไมเขาจึงให้มีการถ่ายทอดสัญญาณโทรทัศน์เพียง 2 ชั่วโมงต่อวันเท่านั้น)


 


การปฏิวัติได้ปะทุขึ้นใน Transylvanian city of Timisoara ซึ่งอยู่ทางตะวันตกของโรมาเนีย ในวันที่ 16 ธันวาคม 1989 ประชาชนเป็นจำนวนมากรู้สึกโกรธแค้นเมื่อพวกเขาได้ยินว่าหน่วยรักษาความมั่นคงได้มีการลักพาตัว Laszlo Toekes ไป, บาดหลวงชาวฮังกาเรียนซึ่งวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล. การประท้วงกลายเป็นการเดินขบวนขนาดใหญ่ และในวันนั้นได้ถูกปราบปรามอย่างโหดเหี้ยมโดยกองกำลังรักษาความมั่นคงและกองทัพ


 


การรับรู้ถึงการปิดกั้นที่ไม่ปรกติเกี่ยวกับชายแดนโรมาเนียที่ติดกับฮังการี สำนักข่าวต่างๆ เริ่มรวบรวมข่าวสารและข้อมูลต่างๆ ที่สัมพันธ์กัน เพื่อรายงานเกี่ยวกับการฆาตกรรมหมู่ใน Timisoara ข่าวดังกล่าวได้ถูกเผยแพร่โดยสถานีวิทยุโรปเสรี และสื่ออิสระต่างๆ และโลกเริ่มจะตระหนักว่ามีบางสิ่งบางอย่างที่ไม่ปรกติกำลังเกิดขึ้นในรัฐสตาลิน


 


ช่วงนั้น Ceausescu ได้ไปเยือนประเทศอิหร่านสองสามวัน และหลังจากที่เขากลับมาเขาก็รู้ว่า สถานการณ์ดังกล่าวกลายเป็นเรื่องที่เลวร้ายสำหรับเขาเสียแล้ว ดังนั้นเขาจึงตัดสินใจขึ้นเวทีปราศรัยกับประชาชนที่มารวมตัวกันในกรุงบูคาเรสท์ เพื่อประกาศกับพลเมืองทั้งหลายให้สามัคคีกันเพื่อประเทศ. Ceausescu มักจะจัดให้มีการรวมตัวกันของฝูงชนเสมอ ซึ่งบรรดาคนงานทั้งหลายจากโรงงานและสำนักงานต่างๆ ได้ถูกบังคับให้มาเข้าร่วมฟังเป็นประจำ. โดยปรกติแล้ว ผู้คนราว 3000 คนหรือกว่านั้น จะถูกจัดเอาไว้อยู่หน้าเวทีเพื่อส่งเสียงเชียร์ Ceausescu และปรบมือแสดงความยินดีต่อสุนทรพจน์ของเขา


 


ในวันที่ 21 ธันวาคมปีเดียวกัน ผู้คนที่มารวมตัวชุมนุมซึ่งดูเหมือนเป็นปรกติในตอนเริ่มต้น ขณะที่เขากำลังยกย่องตัวเองถึงความสำเร็จเกี่ยวกับรัฐสังคมนิยม และกำลังสัญญากับบรรดาคนงานทั้งหลายว่าจะมีการขึ้นเงินเดือนและค่าจ้างให้กับบรรดาคนงานทั้งหลายอีก 200 ลิว(Lei)(ประมาณ 8 ยูเอสดอลลาร์) จากมุขระเบียงหน้าอาคารคณะกรรมการกลาง สุนทรพจน์ของเขาก็ได้ถูกขัดจังหวะขึ้นจากใครบางคนในหมู่ฝูงชน ซึ่งเริ่มตะโกนต่อต้านเขา


 


ในไม่ช้าเหตุการณ์นี้ได้กลายเป็นความสับสนวุ่นวายจนควบคุมไม่ได้ และผู้คนเริ่มเข้าร่วมมากขึ้น เขาและภรรยา Elena พยายามที่จะทำให้ฝูงชนทั้งหลายสงบลง แต่ไร้ประโยชน์อย่างสิ้นเชิง. เขาและภรรยาต้องถอยจากมุขระเบียงกลับเข้าไปหลบซ่อนอยู่ภายในตัวอาคาร. สุนทรพจน์ของเขาเพิ่งได้รับการออกอากาศสดๆ เพื่อเหตุผลในการโฆษณาชวนเชื่อ แต่ในช่วงขณะนั้นการถ่ายทอดสัญญาณได้ถูกตัดลงทันที ผู้คนซึ่งกำลังเฝ้าดูทางจอโทรทัศน์เพียงเห็นแต่สีแดงขึ้นอยู่หน้าจอทีวีของพวกเขาเท่านั้น ทำให้คนทั้งหลายรู้ได้ทันทีว่า มีบางสิ่งบางอย่างที่ไม่ปรกติกำลังเกิดขึ้นแล้ว อย่างไรก็ตาม ฝูงชนในวันนั้นได้ถูกยิงและถูกคุกคามโดยรถถัง


 


เช้าวันต่อมา 22 ธันวาคม, Ceausescu ได้ประกาศกฎอัยการศึก และห้ามการรวมตัวกันมากกว่า 5 คนขึ้นไป และในชั่วโมงต่อๆ มา ข่าวโทรทัศน์ได้ประกาศถึงการถึงแก่กรรมของรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม Vasile Milea และเขาถูกเรียกว่าเป็น "ผู้ทรยศ". ช่วงระหว่างวันเวลาของ Ceausescu, หน่วยรักษาความมั่นคง และ USLA(Unite Speciala pentru Lupta Antiterorista - anti-terrorist special squad)[กองกำลังพิเศษเพื่อต่อต้านการก่อการร้าย] ได้เข้ามาแทนที่กองทัพและค่อนข้างได้รับสิทธิพิเศษ ส่วนกองทัพได้รับการกันออกไปและทำให้เป็นเพียงแค่ส่วนประกอบเท่านั้น


 


ความแตกแยกระหว่าง Ceausescu กับกองทัพเป็นที่เรื่องเล่าลือมาช่วงเวลาหนึ่งแล้ว และด้วยเหตุผลนี้ Milea จึงค่อนข้างเป็นที่นิยมในหมู่ประชาชน. การตายอย่างลึกลับของ Milea ได้ไปฉกฉวยจินตนาการของผู้คนให้คิดไปทำนองว่า เขาตายเพราะปฏิเสธคำสั่งของ Ceausescu ที่ให้เข่นฆ่าประชาชน (อันนี้ได้รับการกล่าวว่า กองทัพได้เปลี่ยนข้างมาอยู่กับฝ่ายประชาชนแล้ว ในช่วงระหว่างที่มีการก่อกบฎขึ้นที่เมือง Timisoara). ประชาชนที่ไม่ใยดีต่อกฎอัยการศึกได้ลงยังท้องถนน ซึ่งในช่วงเวลานั้นพวกเขาต่างเต็มไปด้วยอารมณ์ที่โกรธแค้น


 


ที่ด้านหน้าของอาคารคณะกรรมการกลาง ผู้คนมากกว่า 100,000 คนได้ร้องตะโกนสาบแช่งจอมเผด็จการ Ceausescu ให้ประสบกับความพินาศฉิบหาย. Ceausescu พยายามที่จะกล่าวปราศรัยกับประชาชนอีกครั้ง โดยตะโกนก้องออกมาว่า "ความสามัคคี ความมีเอกภาพเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในเวลานี้" แต่ก็ตระหนักว่าเขาไม่สามารถควบคุมฝูงชนได้อีกต่อไป. หลังจากนั้นเพียงชั่วระยะเวลาสั้นๆ ฝูงชนจากใจกลางจตุรัสได้มองเห็นเฮลิคอปเตอร์ได้พาตัว Ceausescu และ Elena ภรรยาของเขาออกไปจากยอดตึกของอาคารคณะกรรมการกลาง. ฝูงชนต่างพากันหัวเราะเย้ยหยันกับเฮลิคอปเตอร์ลำนั้น และต่างอยู่ในห้วงอารมณ์ของชัยชนะ


 


ประชาชนพากันร้องเพลงและร้องตะโกน "Oh re oh re oh re, ไม่มี Ceausescu ต่อไปอีกแล้ว!" จากนั้นพวกเขาก็ได้โถมกันเข้าไปยังตัวอาคาร และฉีกทึ้งทำลายเอกสารและหนังสือ ทำลายภาพเขียนและจิตรกรรมฝาผนังที่เป็นภาพ Ceausescu และคู่ครอง รวมไปถึงเฟอร์นิเจอร์ที่หรูหรา. ผู้คนต่างถือธงโรมาเนียนและโบกสะบัดท่ามกลางอาคารอันเป็นสัญลักษณ์ที่เป็นศูนย์กลางของสังคมนิยมที่ได้ถูกทำลายลง ในช่วงเวลานั้นผู้คนต่างรับรู้ว่า กองทัพได้สลับปรับเปลี่ยนมาอยู่กับฝ่ายตนแล้ว และการสนับสนุนของกองทัพเป็นสิ่งจำเป็นอันขาดเสียมิได้สำหรับชัยชนะของพวกเขา


 


คำขวัญของผู้คนทั้งหลายในเวลานั้นก็คือ "กองทัพอยู่ข้างเรา", "กองทัพอยู่กับเรา" ได้กลายเป็นวลีที่นิยมติดปากมากที่สุดในระหว่างช่วงการปฏิวัติ. เมื่อตอนที่ฝูงชนกลุ่มหนึ่งบ่ายหน้าไปยังทำเนียบรัฐบาลและอาคารคณะกรรมการกลาง ฝูงชนอีกกลุ่มหนึ่ง รวมถึงนักกวีที่ออกมาต่อต้านอย่างเด่นชัด Mircea Dinescu ซึ่งเพิ่งจะได้รับการปลดปล่อยจากการถูกคุมขังอยู่ภายในบ้านของตนเอง ได้มุ่งหน้าไปยังสถานีโทรทัศน์ พวกเขาได้เจรจาหารือกับผู้อำนวยการทีวีและเข้ายึดครองสตูดิโอทีวี และเริ่มถ่ายทอดการปฏิวัติสดๆ นี่ทำให้การปฏิวัติดังกล่าวเป็นการปฏิวัติของประชาชนที่มีการถ่ายทอดสัญญาณครั้งแรกในประวัติศาสตร์


 


การปฏิวัติของประชาชนบนจอทีวี (Revolution on TV)


สตูดิโอทีวีมีบรรยากาศที่น่าเหลือเชื่อ ไม่มีใคร ไม่มีพลเมืองคนใดเคยเข้าถึงการถ่ายทอดสัญญาณหรือการออกอากาศ ดังนั้นทุกคนในสตูดิโอจึงออกจะประสาทและรู้สึกหงุดหงิด พวกเขาพูดกันว่า ผู้คนนับล้านๆจ้องมองดูมัน Ion Caramitru, นักแสดงที่ออกมาคัดค้านคนหนึ่ง และ Dinescu ได้ออกแถลงการณ์เป็นครั้งแรก "พวกเราทั้งหมดรู้สึกหมดแรง, ตื่นเต้น, และประสาท… แต่ในท้ายที่สุด วันนี้เราก็ได้อิสรภาพมา พระผู้เป็นเจ้าทรงอยู่ข้างเรา กองทัพอยู่ฝ่ายเดียวกันกับเรา. หน่วยรักษาความมั่นคงได้ยอมแพ้แล้ว เราทั้งหลายเป็นผู้ได้รับชัยชนะ เราชนะแล้ว!!!"


 


หลังจากแถลงการณ์ฉบับแรก ประชาชนทุกภาคส่วนของสังคม นับจากบาทหลวงจนถึงชาวนา ได้รีบรุดมายังสตูดิโอที่จะพูดบางสิ่งบางอย่าง ทุกๆ คนต่างต้องการที่จะปรากฏตัวบนจอทีวี ต้องการที่จะมีบทบาท ต้องการจะเข้าไปมีส่วนร่วม และต้องการที่จะปราศรัยกับผู้คน บางคน รวมไปถึงผู้ประกาศข่าวที่เคยทำหน้าที่รับใช้ Ceausescu ได้กล่าวคำขอโทษสำหรับการโกหกต่อผู้คนมาเป็นเวลายาวนาน นายพลของกองทัพได้สั่งให้บรรดาทหารทั้งหลายกลับไปยังกรมกองและหน่วยที่ตั้งของตน และสั่งห้ามยิงประชาชนไม่ว่าในสถานการณ์ใดทั้งสิ้น


 


ทหารและตำรวจได้เข้ามายังสถานีโทรทัศน์ครั้งแล้วครั้งเล่า เพื่อให้มั่นใจว่าสถานีโทรทัศน์ยังคงปลอดภัยอยู่ เพราะมันยังคงตกอยู่ภายใต้สถานการณ์การโจมตี แนวหน้ากอบกู้แห่งชาติ (The National Salvation Front) ออกประกาศแต่งตั้งรัฐบาลของพวกเขาจากสตูดิโอ การถ่ายทอดสดได้ถูกนำมาใช้ด้วย เพื่อถ่ายทอดคำเตือนต่างๆ และแถลงการณ์: "อย่าดื่มน้ำจากก๊อกน้ำ เนื่องจากมีข่าวลือว่าหน่วยรักษาความมั่นคงได้ละลายยาพิษลงไปในอ่างเก็บน้ำ", "จอมเผด็จการได้หนีไปพร้อมกับรถยนต์ Decia สีแดง พร้อมกับใบอนุญาตหมายเลข… ขอได้โปรดตรวจตราอย่างระมัดระวังและค้นหารถยนต์คันนั้น"


 


หนึ่งในสิ่งที่เป็นเหตุการณ์สำคัญด้วยก็คือ การจับตัวพวกที่จงรักภักดีต่อ Ceausescu และพวกหน่วยรักษาความปลอดภัยทั้งหลาย คนเหล่านี้ได้ถูกนำตัวมายังสถานีโทรทัศน์เพื่อประจาน และเพื่อประกาศต่อสาธารณะถึงข้อดีและผลประโยชน์ของการมาอยู่ข้างฝ่ายเดียวกับประชาชน หนึ่งในอาชญากรที่โดดเด่นที่ได้รับการนำมาอยู่แถวหน้ากล้องบันทึกภาพคือ Nicu Ceausescu ซึ่งเป็นบุตรชายเพลย์บอยที่ได้รับความเกลียดชังของจอมเผด็จการ Ceausescu


 


"นี่คือ Nicu, โดยปราศจากข้อสงสัย เขาได้รับสารภาพว่า เขาได้จับเด็กๆ เป็นตัวประกัน…"


Nicu: "นั่นไม่เป็นความจริง"


 


ในระหว่างเวลานั้น บนท้องถนน เรียกว่า "พวกก่อการร้าย" ซึ่งกล่าวกันว่าประกอบด้วยกองกำลังรักษาความมั่นคง, USLA และคนที่ยังจงรักภักดีต่อ Ceausescu ได้เริ่มต่อสู้อย่างดุเดือดกับกองทัพพลเรือน บรรดาพวกนักซุ่มยิงทั้งหลายได้ซุ่มยิงผู้คนมาจากตัวตึกต่างๆ ในลักษณะสุ่ม โดยไม่เลือกว่าใครเป็นใคร ประชาชนต่างตกอยู่ในความหวาดกลัว ดังข่าวที่มีการเล่าลือกันว่า Ceausescu ได้สร้างเครือข่ายใต้ดินขนาดใหญ่ที่ประกอบด้วยบังเกอร์และเส้นทางใต้ดินต่างๆ เป็นจำนวนมาก (อันนี้เป็นข่าวลือเช่นเดียวกันกับเครือข่ายใต้ดินของซัดดัม ที่ถูกทำให้น่าหวาดกลัวมาหลายปี) และมีแต่เพียงหน่วยรักษาความมั่นคงและ USLA เท่านั้นที่รู้โครงสร้างเส้นทางลับต่างๆ พวกนี้ และสามารถที่จะใช้มันให้เป็นประโยชน์ได้


 


การต่อสู้ยังคงดำเนินต่อมาอีกหลายวัน ในช่วงระหว่างเวลานั้น การสนับสนุนทางศีลธรรมและวัสดุอุปกรณ์ต่างๆจากทั่วโลกได้ทยอยมาถึง โลกทั้งใบกำลังเฝ้ามองการปฏิวัตินองเลือดครั้งนี้ในยุโรปตะวันออก และมันตรงกับวันหยุดในช่วงคริสต์มาสพอดี


 


วันที่ 25 ธันวาคม ได้มีประกาศเกี่ยวกับการสอบสวน Nikolai และ Elena Ceausescu โดยศาลทหาร ทั้งคู่ได้ถูกตัดสินประหารชีวิตด้วยข้อหา 5 กระทงด้วยกันคือ


1.       การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (เป็นไปได้ว่าได้มีการสังหารผู้คนไปกว่า 6 หมื่นคน)


2.       มีการใช้อาวุธในการโจมตีผู้คนและใช้อำนาจรัฐโดยมิชอบ


3.       มีการทำลายอาคารสิ่งก่อสร้างต่างๆ และสถาบันทั้งหลายของชาติ


4.       มีการทำลายเศรษฐกิจของชาติ


5.       มีการยักยอกฉ้อฉลทรัพย์สมบัติของชาติ(ไปกว่า 100 ล้านลิว) และนำเงินจำนวนเหล่านั้นไปฝากยังธนาคารหลายแห่งในต่างประเทศ


 


ในวันต่อมา ภาพวิดีโอสั้นๆ เกี่ยวกับการสอบสวนได้รับการออกอากาศ พร้อมกับภาพนิ่งซากศพของจอมเผด็จการและคู่ครอง หลังจากที่พวกเขาถูกประหารชีวิตแล้ว ภาพดังกล่าวได้ถูกถ่ายทอดซ้ำๆ อีกตลอดทั้งวัน ส่วนใหญ่เพื่อทำลายกำลังขวัญกองกำลังที่ยังคงต่อสู้อยู่นั่นเอง ผู้คนต่างกู่ร้องตะโกนคำว่า"bravo!" ไชโย, จอมเผด็จการตายแล้ว! ทั่วทั้งประเทศอยู่ภาวะรื่นเริงและแสดงความดีอกดีใจออกมาอย่างมีความสุข


 


การปฏิวัติโรมาเนีย - ฉากที่สอง (Romanian Revolution - the second version)


จนกระทั่งทุกวันนี้ เรื่องราวเหตุการณ์ดังกล่าวได้รับการแสดงออกไปทั่วโลก มันถูกเล่าขานและถูกเชื่อเช่นนั้น แต่อย่างไรก็ตาม ดังที่เหตุการณ์ต่อๆ มาได้เผยออกมาภายหลัง ซึ่งเป็นที่ชัดเจนว่า อันนี้ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงแต่อย่างใด


 


ภายในเพียงแค่ปีเดียว พลเมืองโรมาเนียนต่างเรียนรู้ว่า อะไรที่ถูกทำให้เชื่อในฐานะที่เป็นการปฏิวัติประชาชน ซึ่งอันที่จริงเป็นการรัฐประหารต่อ Ceausescu เท่านั้น เป็นไปได้ว่าพวก KGB ที่ให้การหนุนหลังสมาชิกคอมมิวนิสต์ (ช่วงแรกในเดือนพฤศจิกายน, Mikhail Gorbachev ได้ขอร้องให้ Ceausescu ลงจากตำแหน่ง แต่ Ceausescu ปฏิเสธ) และกองทัพ ซึ่งรู้สึกไม่พอใจที่ถูกทำให้กลายเป็นเพียงแค่ตัวประกอบโดย Ceausescu ด้วยเหตุนี้ เป็นไปได้ที่ผู้คนส่วนใหญ่จะถูกใช้โดยอำนาจต่างๆ เหล่านี้ ซึ่งไม่เพียงในฐานะเกราะกำบังเท่านั้น แต่ยังเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการทำรัฐประหารด้วย


 


และเป็นได้มากถึงสิ่งที่ถูกเชื่อว่ามันเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นโดยตัวมันเอง อันที่จริงแล้วมันคือแผนการอันหนึ่งและเป็นเหตุการณ์ที่มีการเขียนสคริปท์ขึ้นมา Ion Iliescu ได้ถูกเลือกแล้วในฐานะผู้รับช่วงเป็นทายาทต่อจาก Ceausescu มาก่อนหน้านั้น FSN แม้คำสัญญาของพวกเขาว่าจะเป็นเพียงรัฐบาลชั่วคราว และกลุ่มของตนจะสลายตัวลงไปทันทีหลังจากการปฏิวัติ แต่อันที่จริงยังคงอยู่ในอำนาจในฐานะพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง - พวกเขาเพียงเปลี่ยนชื่อเป็นสภาเอกภาพแห่งชาติชั่วคราว ซึ่งจะเข้ามาบริหารประเทศจนกว่าจะมีการเลือกตั้งครั้งแรกขึ้นในปี ค..1990; ซึ่งต่อมามันได้แบ่งแยกเป็นสองพรรคการเมือง


 


ยังคงมีบางสิ่งบางอย่างที่ไม่โปร่งใสเกี่ยวกับทรัพย์สินที่ยึดมาได้จาก Ceausescu --- มีบางอย่างที่เป็นไปได้ว่าได้สูญหายไปเข้ากระเป๋าของใครบางคนในคณะรัฐบาลชั่วคราว และผู้คนซึ่งอยู่เบื้องหลังและจัดตั้งรัฐบาลขึ้นมา. ผู้คนได้เรียนรู้สิ่งเหล่านี้ทั้งหมดในหนทางที่บอบช้ำอย่างสุดๆ เมื่อ Iliescu, ประธานาธิบดีที่ได้รับการแต่งตั้งขึ้นมาใหม่ของโรมาเนีย ได้ใช้คนงานเหมืองจากท้องถิ่นเข้าจู่โจมการเดินขบวนของประชาชน ซึ่งเพียงแค่ปีเดียวหลังจากการปฏิวัติ เมื่อประชาชนต่างชุมนุมกันเพื่อต่อต้านการตัดสินใจของ FSN ที่จะลงแข่งขันในการเลือกตั้งระดับชาติ อันเป็นการทำผิดสัญญาของพวกเขาเอง. ขบวนฝูงชนได้ถูกทุบตีอย่างไร้ความปรานี โดยบรรดาคนงานเหมือง และผู้คนราวร้อยหรือสองร้อยคนถูกฆ่าในคราวนี้ (ตามรายงานที่เป็นทางการบอกว่ามีแค่ 5 คน) และผู้คนประมาณ 5 พันคนต้องได้รับบาดเจ็บ


 


นอกจากนี้ บรรดาคนงานเหมืองยังได้เข้าทำลายทรัพย์สมบัติในมหาวิทยาลัยบูคาเรสท์, พิพิธภัณฑ์ต่างๆ, และพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม. Iliescu ได้กล่าวขอบคุณบรรดาคนงานเหมืองหลังจากนั้นสำหรับภารกิจที่ได้กระทำลงไปอย่างดีเยี่ยม. เหตุนี้ผู้คนทั้งหลายจึงเริ่มตระหนักแล้วว่า พวกเขาเพียงช่วยให้ Iliescu มีอำนาจขึ้น และเขาก็ไม่แคร์หรือรู้สึกกังวลใจเลยกับเรื่องสิทธิมนุษยชน และเขาได้บูชายัญผู้คนไปเป็นจำนวนมากสำหรับการดำรงอยู่ของเขา (ตามรายงานอย่างเป็นทางการ การปฏิวัติโรมาเนียได้ฆ่าผู้คนไปราว 1,100 คน และมีผู้ได้รับบาดเจ็บประมาณ 3,350 คน)


 


เรื่องราวต่างๆ ได้รับการเปิดเผยมากขึ้น ในช่วงวันแรกๆ ของเหตุการณ์ใน Timisoara, ทั่วโลกได้เห็นถึงชิ้นส่วนศพอันน่ากลัว และได้รับการบอกเล่าว่า ศพเหล่านี้เป็นเหยื่อของการฆาตกรรมหมู่โดยหน่วยกองกำลังรักษาความมั่นคงของ Cauasescu ทั่วโลกต่างรู้สึกเจ็บแค้นและได้รับการแสดงให้เห็นถึงความสามัคคีและให้การสนับสนุนต่อกองกำลังฝ่ายพลเรือน เช่นเดียวกับ NSF. ซากศพต่างๆ มาถึงตอนนี้เป็นที่รู้กันแล้วว่าคือ "ซากศพ Timisoara" กลับกลายไม่ใช่บรรดาเหยื่อของการฆาตกรรมหมู่ แต่ซากศพเหล่านี้ได้ถูกขุดขึ้นมาจากสุสานธรรมดาและได้รับการนำมาแสดง


 


ช่วงขณะนั้น Ceausescu ได้ถูกชักจูงโดยบรรดาที่ปรึกษาของเขาให้ไปเยือนประเทศอิหร่าน และบรรดาที่ปรึกษากลุ่มเดียวกันได้เชิญชวนให้เขาจัดให้มีการชุมนุมฝูงชนขึ้น ณ สถานที่การชุมนุม ปืนกลได้ถูกติดตั้งเพื่อยิงเข้าไปในท่ามกลางฝูงชน เพียงเพื่อสร้างความตระหนกขึ้นมาท่ามกลางผู้คน และเพื่อเริ่มต้นการปฏิวัติต่อ Ceausescu บรรดาที่ปรึกษากลุ่มเดียวกันยังได้แนะให้ Ceausescu หลบหนีด้วยเฮลิคอปเตอร์ เพื่อไปยังสถานที่บางแห่ง (เป็นไปได้ที่ว่าพวกเขาน่าจะบอกแก่เขาว่าจะไปไหนด้วย)


 


อีกสิ่งหนึ่งซึ่งผู้คนต่างตระหนักว่า กลุ่มที่ได้รับการปิดป้ายว่า "พวกก่อการร้าย" อาจไม่ใช่มาจากฝ่ายของ Ceausescu อันนี้คือศัตรูที่มองไม่เห็นที่ได้รับการสร้างขึ้นเพื่อก่อให้เกิดความหวาดกลัว และผลักดันพวกเขาให้ไปสนับสนุนกองทัพ และ NSF. สิ่งต่างๆ มากมายยังคงเป็นความลึกลับ


 


เมื่อการรัฐประหารได้รับการวางแผนขึ้น (มันอาจได้รับการวางแผนมาตั้งแต่ช่วงต้นของปี 1982 แล้ว) เหตุนี้ ทำไม Milea จึงถูกฆ่า? ทำไมการสอบสวนเกี่ยวกับพฤติกรรมของ Ceausescu จึงเป็นไปอย่างรีบเร่งเช่นนั้น? และทำไมทั้งคู่(หมายถึง Ceausescu และภรรยา)จึงถูกประหารชีวิตทันที? ยังมีคำถามอีกว่า ทำไมเทปทั้งหมดเกี่ยวกับการสอบสวนและการประหารชีวิตจึงไม่ถูกนำมาออกอากาศ ณ ช่วงเวลานั้นด้วย? (การสอบสวนทั้งหมดได้ถูกนำมาออกอากาศหลังจากนั้น 4 เดือน หลังจากที่ French TF1 ได้ซื้อสำเนาเทปที่ขโมยมาเกี่ยวกับการสอบสวนจากคนซึ่งไม่เป็นที่รู้จัก และนำมันมาออกอากาศ)


 


วิดีโอลึกลับ (Video Mystery)


ภายหลังการปฏิวัติ ข้าพเจ้าพร้อมด้วยเพื่อนๆ นักวิจัยด้านสื่อของข้าพเจ้าในโรมาเนียและในฮังการี เริ่มที่จะรวบรวมข่าวสารจากวิดีโอทั้งหลาย ยิ่งเรารวบรวมได้มากเท่าไหร่ เราก็ยิ่งตระหนักว่า เป็นไปได้ที่เนื้อหาสาระเหล่านี้ได้ช่วยไขปริศนาความลึกลับบางอย่างออกมามากขึ้น ในทางตรงข้าม พวกมันยิ่งทำให้ความลึกลับซับซ้อนลึกล้ำลงไปอีก!


 


-          อย่างแรกสุดก็คือ เราไม่อาจรู้ว่าทำไมกล้องเป็นจำนวนมากจึงนำมาใช้ได้ทันทีในประเทศที่ยากจนแห่งนี้ ที่ซึ่งผู้คนเกือบจะไม่มีอะไรเลย


-          ประการที่สอง ทำไมกล้องบางตัวจึงนำเข้าไปในสถานที่ที่มีความอ่อนไหวต่างๆ ได้ และ


-          ปัญหาข้อที่สามเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตากล้องที่เต็มไปด้วยทักษะ โดยทั่วไปแล้ว มุมมองและความรู้ของช่างกล้องและผู้กำกับจะสะท้อนอยู่บนแผ่นฟิล์มและการยิงภาพของภาพยนตร์สารคดี มันเป็นอย่างเดียวกันสำหรับภาพวิดีโอทั้งหมดที่ได้ถูกทำขึ้นในช่วงระหว่างการปฏิวัติโรมาเนีย จากภาพที่ประมวลได้ดูเหมือนว่าช่างกล้องบางคนจะรู้ว่าใครเป็นใครในสถานการณ์ที่สับสนอลหม่าน ใครคือผู้แสดงบทไหนและแสดงบทบาทอะไรบ้าง และนั่นเป็นความสลับซับซ้อนของเหตุการณ์ดังกล่าว ยิ่งกว่าในกรณีต่างๆ ที่มองเห็นความสัมพันธ์ต่างๆ ของ "บรรดานักแสดง"


 


วิดีโอเหล่านี้ยังส่งผลต่อมาอย่างไม่คาดหวังขึ้นด้วย ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายอาชญากรรมชาวฝรั่งเศสคนหนึ่งซึ่งได้ดูวิดีโอเกี่ยวกับศพของคู่สามีภรรยา Ceausescu สรุปว่า การประหารดังกล่าวนั้นเป็นของปลอม เพราะระดับของเลือดที่จับตัวข้นที่มองเห็นบนศพของคู่สามีภรรยานี้ พิสูจน์ว่าพวกเขาได้ตายมาแล้วหลายชั่วโมง ก่อนที่วิดีโอจะถูกถ่าย ซึ่งนี่ยังคงเป็นปริศนาอีกสิ่งหนึ่ง


 


ข้อสันนิษฐานความหลอกลวง (Hypothesis of Hypocrisy)


นักสร้างวิดีโอชาวอเมริกันคนหนึ่ง Steve Fagin, ซึ่งได้สร้างภาพยนตร์เรื่องหนึ่งเกี่ยวกับการปฏิวัติฟิลิปปินส์ ที่มีชื่อว่า "The Machine That Killed Bad People" (เครื่องจักรที่ฆ่าคนชั่ว) ได้เปรียบเทียบการปฏิวัติฟิลิปปินส์กับการปฏิวัติโรมาเนีย สำหรับเขา แม้ว่าจะมีการจัดการต่างๆ ที่อยู่เบื้องหลังฉากจำนวนมาก ซึ่งถูกสร้างขึ้นในช่วงระหว่างการปฏิวัติฟิลิปปินส์คล้ายๆ กับการปฏิวัติอื่นๆ คนดีและคนเลวและแรงกระตุ้นทั้งหลายเกี่ยวกับความดีความเลว มันค่อนข้างชัดเจนมาก ในทางตรงข้าม ในกรณีของการปฏิวัติโรมาเนีย "ทุกๆ คนต่างสวมหน้ากากกันคนละสองสามหน้า ทำให้เป็นไปได้ง่ายที่จะเป็นการปฏิวัติลวงเอามากๆ แบบปากว่าตาขยิบเลยทีเดียว


 


การเสแสร้ง ความหลอกลวงเป็นผลผลิตของบรรทัดฐานทางศีลธรรมบางอย่าง กระนั้นก็ตาม ลักษณะท่าทีของการตีสองหน้าและความไม่ซื่อ อาจแพร่หลายภายใต้สถานการณ์ที่สุดขั้วบางอย่าง ดังเช่นในการปฏิวัติ ที่ล้มคว่ำคุณค่าทั้งหมดลงในทันทีทันใด - คนคุกกลายเป็นประธานาธิบดี, ผู้นำรัฐต้องโทษประหารชีวิต, ศัตรูกลายเป็นมิตร, ส่วนมิตรอาจกลายเป็นศัตรูได้, คอมมิวนิสต์คนหนึ่งกลายเป็นนายทุน, ระบบหนึ่งที่คุณเชื่อว่าอยู่บนฟากฟ้าหรือสรวงสวรรค์ได้ถูกทิ้งลงขยะเพราะปราศจากคุณค่าใดๆ อีก, และทั้งหมดเหล่านี้เกิดขึ้นภายในเวลาเพียงไม่กี่นาทีเท่านั้น? มันจะยาวนานแค่ไหนที่บรรทัดฐานของความหลอกลวงสามารถใช้ประโยชน์ได้? หรือแม้กระทั่ง ใครบางคนที่สร้างสถานการณ์หนึ่งขึ้นมา เพียงเพื่อวัตถุประสงค์ที่จะเปลี่ยนความเป็นคนหลอกลวงสู่การเป็นคนที่ไม่เสแสร้ง? นี่คือช่วงขณะที่ยุ่งยากสุดๆ สำหรับนักรบทางศีลธรรมที่จะยอมรับได้


 


ความหลอกลวง, hypokrisis ในภาษากรีก คือแนวคิดที่สำคัญอันหนึ่ง หมายถึงการแสดงที่เป็นส่วนหนึ่งของการแสดงบนเวที นิยามความหมายของ "ความหลอกลวง" ปัจจุบันในพจนานุกรม Webster คือ: การเสแสร้างแกล้งทำว่าไม่ใช่ หรือเชื่อว่ามันไม่ใช่ Rhyme Zone ได้เพิ่มเติมนิยามความหมายว่า: การแสดงออกอันหนึ่งของความตกลง ที่ไม่ได้รับการสนับสนุนโดยความเชื่อมั่นที่แท้จริง


 


ในกรณีของการปฏิวัติโรมาเนีย นักประพันธ์บทละครเสแสร้งแกล้งว่าไม่ได้เป็นนักประพันธ์ และบรรดานักแสดงทั้งหลายซึ่งร่วมแสดงละครเรื่องนี้ ได้แสดงบทบาทที่หลายหลากมาก มีการเปลี่ยนแปลงบทบาทของตัวพวกเขาตลอดเวลา และอะไรคือผลของการนี้? ในสังคมหนึ่ง ที่ที่บทละครเรื่องหนึ่งซึ่งผู้ประพันธ์ที่แท้จริงไม่เป็นที่ล่วงรู้ได้ถูกทำซ้ำหลายต่อหลายครั้งมากในประวัติศาสตร์ ผู้คนเริ่มที่จะคิดว่ามันจะต้องมีใครบางคนที่อยู่บนฟ้า และเขา/เธอจะต้องกำลังเขียนบทละครเรื่องหนึ่งอยู่ อันนี้ได้กลายเป็นศาสนา


 


นี่คือเหตุผลหนึ่งที่ว่าทำไม, หลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียต จำนวนมากของกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออกและประเทศในคาบสมุทรบอลข่าน ที่ซึ่งสถานการณ์ทางการเมืองไม่มีเสถียรภาพ ศาสนาได้ผุดขึ้นมา. ในทางการเมือง ผู้คนกลายเป็นคนที่ไม่ใคร่กระตือรือร้น เฉื่อยชา - อะไรคือความต่าง หากว่าใครบางคนที่อยู่บนสวรรค์มักจะเขียนบทละครเสมอ? ผู้คนเริ่มเชื่อกันว่า พวกเขาเพียงเล่นไปตามบทบาทที่กำหนดไว้แล้วเท่านั้น


 


ผลกระทบภายหลังการปฏิวัติ (Post Revolutionary affect)


ในช่วงระหว่างการปฏิวัติ ณ สถานีโทรทัศน์โรมาเนียน มีผู้อำนวยการคนหนึ่งซึ่งทำหน้าที่กำกับดูแลรายการสดเกี่ยวกับการปฏิวัติ เธอเป็นเยาวสตรีที่ปรกติแล้วทำงานอยู่กับรายการที่เกี่ยวกับวรรณกรรม เธอได้รับการดึงตัวมากำกับรายการเกี่ยวกับการปฏิวัติ ในฐานะที่เป็นคนดูสงบเสงี่ยมและมีเหตุผล แต่มีความเชื่อมั่นเด็ดเดี่ยวอันเป็นที่ต้องการสำหรับงานที่ยากลำบากนี้


 


ข้าพเจ้าได้พบปะกับเธอภายหลังจากการรัฐประหารใหม่ๆ จากประสบการณ์ในชีวิตของเธอ เธอยังคงมีท่าทีปลุกเร้าและมองโลกในแง่ดี เธอกกล่าวว่าผู้คนเริ่มเดินกันมายังสถานีโทรทัศน์ทันที เพราะพวกเขาได้รับการศึกษามาจากช่องทางนี้ พวกเขาได้รับการสอนที่โรงเรียนว่า ถ้าเผื่อมีเหตุการณ์ทางการเมืองบางอย่างเกิดขึ้น พวกเขาจะต้องปกป้องสถานีโทรทัศน์เป็นอันดับแรก สำหรับคำถามของข้าพเจ้า อะไรคือสิ่งที่ยุ่งยากมากสุดเมื่อต้องมากำกับรายการเกี่ยวกับการปฏิวัติ เธอตอบว่า "ดูแลเครื่องไม้เครืองมือทางเทคนิคธรรมดาๆ ให้ดีที่สุด เพราะการจ่ายไฟฟ้าไม่น่าไว้ใจ และเครื่องมือเก่าแก่ของเราก็วางใจไม่ได้เช่นกัน ดังนั้นพวกเราต้องทำงานกับความกังวลที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ซึ่งปัญหาทางเทคนิครองๆ บางอย่างที่มักจะเข้ามาขัดจังหวะและเข้าแทรกรายการของเราตลอดเวลา"


 


เกี่ยวกับการอำนวยความสะดวกกับผู้คน เธอกล่าวว่าจะต้องปฏิบัติกับทุกคนอย่างเสมอภาคไม่ว่าเขาจะเป็นใครก็ตาม - นายพลของกองทัพ, บาทหลวง, ชาวนา, ครู หรือนักโทษ - ขณะที่ทุกคนมายังสตูดิโอทีวีต่างเท่ากันคือไม่มีใครมีประสบการณ์เกี่ยวกับโทรทัศน์มาเลย บางทีอันนี้จะเป็นชั่วขณะสั้นๆ อันมีค่าในประวัติศาสตร์ของโรมาเนียน เมื่อผู้คนต่างมีประชาธิปไตยที่แท้จริง


 


หลังจากนั้นหลายปีต่อมา ใน ค..1997 ข้าพเจ้าได้พบเธออีกครั้งหนึ่ง ข้าพเจ้ารู้สึกประหลาดใจที่ได้พบเห็นเธอ - เธอแก่ลงไปมาก ผมของเธอเปลี่ยนเป็นสีเทา เธอดูไร้เรี่ยวแรง เธอบอกกับข้าพเจ้าว่าชีวิตมันอย่างลำบากแค่ไหนสำหรับเธอในช่วงระหว่างการปกครองของ Iliescu, มันเลวร้ายเสียยิ่งกว่าในช่วงเวลาของ Ceausescu เสียอีก เพราะเพื่อนร่วมงานของเธอเป็นจำนวนมากที่สถานีโทรทัศน์โรมาเนียน ได้ตายไปในสภาพการณ์ต่างๆอย่างลึกลับ เธอต้องมีชีวิตอยู่ท่ามกลางความหวาดกลัวตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมา ในปี ค..1996 ผู้คนออกเสียงลงคะแนนเลือกประธานาธิบดีประชาธิปไตยครั้งแรกในประวัติศาสตร์ คือ Emil Constantinescu เธอพูดว่า "มาถึงตอนนี้มันดีขึ้นบ้างแล้ว และฉันหวังว่ามันจะดีขึ้นเรื่อยๆ"


 


การปฏิวัติที่ไม่ได้แก้ปัญหาใดๆ คล้ายกับเป็นเพียงผีหรือวิญญาณ ที่หลอกหลอนประเทศด้วยประชาธิปไตยเล็กๆ น้อยๆ หรือความจริงที่ว่าผู้คนไม่เคยได้ใช้สื่อเลย และดำรงชีวิตอยู่เป็นเวลายาวนานโดยปราศจากการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร พวกเขาต้องพ่ายแพ้แก่คนกลุ่มเล็กๆ ซึ่งทั้งหมดมีความรู้ว่าจะจัดการสื่ออย่างฉลาดและเหมาะสมอย่างไร ภาวะหงุดหงิดอดรนทนไม่ได้กับการปฏิรูปเศรษฐกิจของ Constantinescu ในช่วงระหว่างเวลา 4 ปีของการดำรงตำแหน่งของเขา และภายใต้อิทธิพลครอบงำเกี่ยวกับการโฆษณาชวนเชื่อที่มีประสิทธิภาพของ Iliescu ผู้คนจึงลงคะแนนเลือกตั้ง Iliescu ครั้งแล้วครั้งเล่า


 


ผลของการณ์นี้ ผู้คนชาวโรมาเนียนต้องแบกรับภาพลักษณ์อันน่าขายหน้าและเสื่อมเกียรติของพวกเขาเอง ในฐานะมวลชนที่ไร้ข้อมูล ไร้การศึกษา ดังที่ประเทศเพื่อนบ้านในยุโรปต่างๆ คิด พวกเขายังคงไม่ได้รับการยอมรับในฐานะสมาชิกหนึ่งของสหภาพยุโรป และเมื่อเร็วๆ นี้ พวกเขาได้รับความขายหน้าอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน นั่นคือพวกเขาจะได้รับการเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปในปี ค..2008



ทุกวันนี้ไม่มีผู้คนโรมาเนียนคนใดเรียกเหตุการณ์ปี 1989 ว่า "การปฏิวัติ" อีกแล้ว ดังที่กลุ่มดังกล่าวได้แย่งชิงอำนาจจากเผด็จการ และได้ตั้งชื่อลวงของกลุ่มขึ้นมา เหตุการณ์ดังกล่าวได้รับการทึกทักว่าเป็นเหตุการณ์ของประชาชน บางคนเรียกมันว่า "การปฏิวัติที่น่าสงสัย" ส่วนบางคนเรียกมันอย่างเยาะหยันว่า "การรัฐประหารคราวนั้น" เพื่อพ้นไปจากเรื่องราวเยาะหยันถากถางอันนี้ ผู้คนโรมาเนียนต้องการที่จะเข้าถึงเอกสารทั้งมวลที่เกี่ยวโยงกับการปฏิวัติ และจะต้องได้รับข้อมูลอย่างเหมาะสมเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าว


 


ที่สำคัญสุดเหนือสิ่งใด พวกเขาควรรู้ว่าใครคือตัวจริงที่เขียนละครบทนี้ขึ้นมา และเมื่อผู้คนทั้งหลายสามารถมีส่วนร่วมในการเขียนละครบทต่อไปอย่างเต็มที่ ถึงตอนนั้นผู้คนก็จะรู้สึกว่าเป็นก้าวย่างแรกของประชาธิปไตย ชีวิตอาจกลายเป็นละครโรงใหญ่โรงหนึ่ง ซึ่งมันจะสร้างความรู้สึกอย่างบริบูรณ์แต่เพียงเมื่อคุณคือผู้ประพันธ์มันอย่างแท้จริง


 


ปัจฉิมกถา (Epilogue)


ถ้าเพื่อว่า Ceausescu ยังคงอยู่และมีอำนาจ ศัตรูที่ยิ่งใหญ่สุดของเขาอาจจะเป็นอินเตอร์เน็ต เผด็จการทุกคนหวาดกลัวสื่อที่อยู่ในมือของประชาชน ในปี ค..1989 ไม่มีพลเมืองคนใดใช้อินเตอร์เน็ต ด้วยเหตุนี้ผู้คนทั้งหลายจึงปกป้องและใช้โทรทัศน์ มาถึงปัจจุบันนี้ ผู้คนจะปกป้องอินเตอร์เน็ตยิ่งกว่าสื่ออื่นๆ นั่นคือสิทธิอันชอบธรรมของประชาชนที่จะได้รับข่าวสารและการศึกษา โดยผ่านสื่ออันทรงประสิทธิภาพมากที่สุดแห่งยุคสมัย


 


++++++++++++++++++++++++++++++++


แนะนำผู้เขียน Keiko Sei


Keiko Sei เป็นผู้จัดการประชุมนานาชาติเรื่อง "Media Are With Us! ~ The Role of Television in the Romanian Revolution" (สื่ออยู่กับเรา! - บทบาทของโทรทัศน์ในการปฏิวัติโรมาเนียน) ในกรุงบูดาเปสท์ และเธอเป็นบรรณาธิการหนังสือชื่อ "Von der Beurokratie zur Telekratie ~ Rumanien im Fernsehen" ที่ได้รับการตีพิมพ์โดย Merve Verlag, เยอรมนี


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net