Skip to main content
sharethis

ปกรณ์ พึ่งเนตร                    


สถาบันข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย


                                               


เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ อ.บันนังสตา จ.ยะลา จนนำมาสู่กรณีชาวบ้านที่เป็นผู้หญิงและเด็กออกมาชุมนุมที่โรงเรียนบ้านบาเจาะ ม.2 ต.บาเจาะ อ.บันนังสตาเพื่อขับไล่เจ้าหน้าที่รัฐออกจากพื้นที่ กำลังกลายเป็นจุดสนใจของผู้ติดตามปัญหาภาคใต้ เนื่องจากกรณีที่ผู้หญิงและเด็กออกมาแสดงบทบาทเป็น "แนวหน้า" ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก แต่เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้งในพื้นที่ จ.นราธิวาส และไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้าย ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้เกี่ยวข้องจำต้องถอดบทเรียน เพื่อระวังป้องกันไม่ให้ก่อเป็นพฤติกรรมแพร่ขยายไปสู่พื้นที่อื่นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้


 


ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ซึ่งเก็บข้อมูลความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มาตลอด 3 ปี ชี้ว่า การปลุกระดมมวลชนเพื่อขับไล่ตำรวจ ทหารที่บ้านบาเจาะ อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา เป็น "สงครามเชิงสัญลักษณ์" ที่เกิดขึ้นหลังจากรัฐบาลเริ่มประสบความสำเร็จในการบ่อนเซาะฐานมวลชนของกลุ่มก่อความไม่สงบ ด้วยคำขอโทษของนายกรัฐมนตรี


 


แต่ปมที่น่าวิตกยิ่งกว่าในมุมมองของนักวิชาการผู้นี้ก็คือ ในอนาคตอันใกล้นี้ สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะหนักหน่วงรุนแรงยิ่งกว่าเก่า โดยมีเจ้าหน้าที่รัฐตกเป็นเป้าหมาย เพื่อยั่วยุให้ใช้ความรุนแรงตอบโต้


 


"หลังจากนี้ฝ่ายความมั่นคงต้องระมัดระวังตัวเองเพิ่มมากขึ้น เพราะฝ่ายตรงข้ามต้องก่อเหตุรุนแรงบ่อยครั้งขึ้นแน่ เนื่องจากต้องการยั่วยุให้ทนไม่ได้ และตอบโต้อย่างรุนแรง ซึ่งเมื่อถึงจุดนั้นจะอันตราย เพราะจะเข้าทางฝ่ายตรงข้ามที่พยายามสร้างกระแสอยู่ตลอดว่า รัฐบาลไม่ได้ตั้งใจจริงที่จะใช้สันติวิธีเพื่อแก้ไขปัญหา" ศรีสมภพ ระบุ


 


อย่างไรก็ดี การรวมตัวของผู้หญิงและเด็กมุสลิมที่ อ.บันนังสตาไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรกนับตั้งแต่ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เอ่ยคำขอโทษต่อหน้าผู้นำศาสนาและผู้นำชุมชน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ทว่ามีความพยายามก่อหวอดมาแล้วหลายครั้งในหลายพื้นที่


 


อาทิเช่น เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน กลุ่มสตรีมุสลิมนับร้อยคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นและเด็กในอ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส ได้รวมตัวกันขัดขวางไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้าชันสูตรพลิกศพ นายราฮิม มูซอ ซึ่งถูกคนร้ายใช้อาวุธปืนอาก้ายิงเสียชีวิต เพราะเชื่อว่าเป็นฝีมือของเจ้าหน้าที่รัฐ


 


แต่เหตุการณ์วันนั้นไม่รุนแรงบานปลาย เนื่องจากเจ้าหน้าที่ยอมถอนกำลังกลับแต่โดยดี


 


และหากสำรวจย้อนกลับไปในรอบ 1 ปีเศษที่ผ่านมา จะพบว่ากลุ่มก่อความไม่สงบใช้ยุทธวิธีปล่อยข่าวลือ และปลุกระดมมวลชนซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็ก เพื่อขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง


 


เริ่มจากเมื่อปลายเดือนสิงหาคม 2548 ที่บ้านละหาน อ.สุไหงปาดี กลุ่มผู้หญิง เด็ก และคนแก่รวมตัวกันขัดขวางไม่ให้เจ้าหน้าที่เข้าชันสูตรศพโต๊ะอิหม่ามที่เพิ่งถูกยิงเสียชีวิต โดยเหตุการณ์นี้นำไปสู่การอพยพย้ายถิ่นของ 131 คนไทยไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ด้วยข้ออ้างไม่มั่นใจในความปลอดภัย


 


24-25 กันยายน 2548 กลุ่มชาวบ้านล้อมจับ 2 นาวิกโยธินเป็นตัวประกัน ที่บ้านตันหยงลิมอ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส โดยมีกลุ่มผู้หญิงและเด็กรวมตัวเป็น "กำแพงมนุษย์" ขัดขวางเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ไม่ให้เข้าไปช่วย 2 นาวิกโยธิน จนสุดท้ายทั้งคู่ถูกสังหารอย่างโหดเหี้ยม


 


19 ธันวาคม 2548 ชาวบ้านไอบาตู อ.สุไหงปาดี กักขังครูโรงเรียนบ้านไอบาตู เพื่อต่อรองให้ตำรวจปล่อยตัววัยรุ่น 2 คนซึ่งถูกจับกุมฐานฆ่าผู้อื่น


 


9 กุมภาพันธ์ 2549 ชาวบ้านฮือจับครูโรงเรียนบ้านเจาะเกาะ ตำบลบูกิต อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เพื่อต่อรองให้ตำรวจปล่อยตัวผู้ต้องหาที่เพิ่งถูกจับกุมในคดีความมั่นคง


 


19 พฤษภาคม 2549 ชาวบ้าน 300 คนล้อมจับและรุมทำร้าย ครูจูหลิง ปงกันมูล ครูโรงเรียนบ้านกูจิงลือปะ ต.เฉลิม อ.ระแงะ จ.นราธิวาส เพราะไม่พอใจที่ตำรวจนำกำลังเข้าจับกุมผู้ต้องหา 2 คน ซึ่งเชื่อว่าเป็นคนร้ายที่ลอบยิงนาวิกโยธิน 2 นายเสียชีวิต ที่สถานีรถไฟบ้านลาโละ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส ก่อนหน้านั้น


 


ทั้งนี้ เมื่อพิเคราะห์ถึงสถานที่เกิดเหตุในแต่ละครั้ง จะพบว่าล้วนเป็นพื้นที่ "สีแดงจัด" ซึ่งมีแนวร่วมกลุ่มก่อความไม่สงบหนาแน่นทั้งสิ้น และเหตุการณ์ที่ อ.บันนังสตาเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน ก็ไม่แตกต่างกันในแง่ของการเลือกพื้นที่ก่อเหตุ


 


ฉะนั้นวิกฤตการณ์ที่อ.บันนังสตา ก็คือการย้อนกลับไปใช้วิธีเก่าๆ ที่เคยประสบความสำเร็จมาแล้วของกลุ่มก่อความไม่สงบ เพียงแต่คราวนี้มีความ "พิเศษ" ตรงที่มันเป็น "สงครามเชิงสัญลักษณ์" ที่กลุ่มผู้ไม่หวังดีพยายามส่งสัญญาณไปยังคนไทยทั้งประเทศว่า คนในพื้นที่ไม่ได้ยอมรับไมตรีของรัฐบาล


 


และยุทธวิธีครั้งนี้ก็ประสบผลเป็นที่น่าพอใจ เพราะทำให้สังคมหันมาตั้งคำถามเอากับรัฐบาลว่า "ทำไมขอโทษแล้วยังไม่จบ" ขณะเดียวกันก็มองประชาชนและสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในแง่ลบต่อไป


 


"พื้นที่เกิดเหตุเป็นฐานเดิมที่กลุ่มขบวนการจัดตั้งเอาไว้ค่อนข้างเข้มแข็งอยู่แล้ว จึงสามารถแสดงบทบาทต่อต้าน ท้าทาย หรือสร้างกระแสได้ง่ายมาก โดยเป้าหมายคือการสร้างภาพให้เห็นว่า ประชาชนในพื้นที่ยังไม่ยอมรับแนวทางสมานฉันท์ของรัฐบาล ถือเป็นสงครามเชิงสัญลักษณ์ที่สำคัญมาก"


 


เขาเสนอว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ขึ้น รัฐบาลต้องคิดว่าทำอย่างไรถึงจะแสดงให้ประชาชนเห็นความตั้งใจจริงที่จะแก้ไขปัญหา เพราะสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้เกิดจากหลายปัจจัย คำขอโทษของนายกฯเป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง โดยใช้วิถีทางการเมืองเท่านั้น แต่แน่นอนว่าย่อมไม่สามารถทำให้ความรุนแรงรายวันยุติลงได้ในทันที


 


"การก่อเหตุรุนแรงมีเงื่อนไขหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความไม่เป็นธรรม หรือปัญหาที่รัฐบาลชุดที่แล้วก่อไว้ อย่างกรณีตากใบ หรือกรือเซะ ทั้งหมดล้วนเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา ขณะที่อีกส่วนหนึ่งยังมีประเด็นทางชาติพันธุ์ และศาสนาด้วย ซึ่งปัจจัยหลังนี้จะลึกและใช้เวลามากกว่าในการแก้ไข"


 


ผศ.ดร.ศรีสมภพ บอกว่า ขบวนการที่ก่อเหตุรุนแรงต่างๆ ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาในระยะเวลาอันสั้น แต่กลุ่มที่ก่อเหตุต่างมีพัฒนาการ และมีการจัดการภายในที่ดีพอสมควร จนสามารถสร้างสถานการณ์อย่างต่อเนื่องได้ถึงขนาดนี้ ฉะนั้นจึงอยากให้สังคมแยกแยะระหว่างการแก้ไขปัญหาความรุนแรงรายวัน กับการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งจะส่งผลในระยะยาว


 


"ผมคิดว่าคำขอโทษของท่านนายกฯ เป็นการแก้ไขปัญหาโดยวิถีทางทางการเมืองเพื่อลดเงื่อนไขในเชิงโครงสร้าง แต่มันอาจจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ทันที เพียงแต่ในระยะยาวจะลดเงื่อนไขความรุนแรงได้มากทีเดียว ซึ่งถือว่ารัฐบาลมาถูกทางแล้ว"


 


"แต่ขณะเดียวกันก็ต้องไม่ลืมว่า การแก้ปัญหาต้องใช้เวลา และอดทน สังคมเราต้องเน้นให้เข้าใจประเด็นเหล่านี้เสียก่อน อย่าเพิ่งรีบตั้งคำถามว่าทำไมมันไม่หยุด เพราะขบวนการพวกนี้ไม่ใช่เพิ่งเริ่ม แต่มันเป็นปัญหาที่สะสมมายาวนาน ความรุนแรงช่วง 2-3 ปีหลังนี้ เป็นผลของปัญหาที่หมักหมมมานับร้อยปี จึงอยากฝากว่าอย่าให้เหตุการณ์เฉพาะหน้ามากระทบความตั้งใจที่ดีของรัฐบาลเลย"


 


ส่วนการก่อเหตุรุนแรงรายวันนั้น ผศ.ดร.ศรีสมภพ เสนอว่า รัฐบาลต้องมีวิธีจัดการ และสร้างความเข้าใจกับประชาชนโดยเร็ว โดยเฉพาะกับกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงอยู่แล้ว เพื่อให้แยกตัวออกมาจากกลุ่มที่ใช้ความรุนแรง


 


"มีหลายกระบวนการที่จะต้องทำไปพร้อมๆ กัน โดยเฉพาะฝ่ายความมั่นคง การระมัดระวังป้องกันตัวเองไม่ให้ตกหลุมพรางการยั่วยุ ท้าทาย เป็นสิ่งสำคัญที่สุดนับจากนี้" ศรีสมภพ กล่าว


 


ขณะที่ พล.อ.ปานเทพ ภูวนารถนุรักษ์ อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มองว่า สถานการณ์ ณ ปัจจุบันต้องมองเป้าแยกเป็น 2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มบุคคลที่มีอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน หรือต้องการก่อความไม่สงบ กลุ่มเหล่านี้ยังมีอยู่ และยังพยายามแสดงอิทธิฤทธิ์ตลอดเวลา จนกว่าจะถูกจับกุมดำเนินคดี กับ 2.กลุ่มประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ที่คับแค้นใจ และหันไปเป็นแนวร่วมของกลุ่มแรก


 


"การที่นายกฯขอโทษ เป็นการดึงคนกลุ่มที่ 2 ให้กลับมาอยู่กับฝ่ายรัฐ แต่ต้องยอมรับว่า กลุ่มอุดมการณ์ยังคงอยู่ และความคับแค้นในจิตใจของคนส่วนใหญ่ในพื้นที่ก็ยังไม่หมดไป คำขอโทษเป็นเพียงจุดเริ่มต้น ฉะนั้นต้องไม่ท้อแท้ ต้องมีสติ มีสัมมาทิฐิ และต้องไม่วู่วาม"


 


พล.อ.ปานเทพ ยังวิเคราะห์เหตุการณ์ปลุกระดมมวลชนหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ทำร้ายครูจูหลิง หรือเหตุการณ์ที่บ้านตันหยงลิมอ ว่า การแก้ลำยุทธวิธีปลุกระดมมวลชนจะไม่มีสูตรสำเร็จ ต้องศึกษาแต่ละเหตุการณ์ แล้วแก้เป็นกรณีๆ ไป เพราะเหตุปัจจัยของแต่ละเหตุการณ์ไม่เหมือนกัน


 


และทั้งหมดนี้คือโจทย์ข้อใหม่ที่รัฐบาลจักต้องเร่งวางยุทธศาสตร์เพื่อต่อสู้กับ "สงครามเชิงสัญลักษณ์" ที่จะรุนแรงเข้มข้นนับจากนี้ไป!

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net