Skip to main content
sharethis

สถาบันข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย


 


 


ปัญหาความขัดแย้งภายใน อสมท. กลายเป็นกรณีที่ถูกสังคมจับตามอง ว่าเกิดอะไรขึ้นกับวงการสื่อสารมวลชน อะไรเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดความขัดแย้งภายในองค์กร ผลประโยชน์ของสื่อเอง เป็นเรื่องที่เป็นอุปสรรคของการปฏิรูปสื่อสู่การเป็นสื่อเพื่อสาธารณะจริงหรือ


 


หลังจากที่เป็นประเด็นร้อนมากว่าสัปดาห์ ล่าสุดเมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2549 สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย จัดเสวนาโต๊ะกลม หัวข้อ "ใคร...? ทำร้าย อสมท." โดยมีนักวิชาการด้านสื่อมวลชน อดีตผู้บริหาร อสมท. และบุคคลในแวดวงสื่อสารมวลชนเข้าร่วมเสวนา ณ ห้องประชุมอิศรา อาคารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย


 


ดร.ดรุณี หิรัญรักษ์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2520 อสมท. อยู่ภายใต้การกำกับดูแลโดยนโยบายรัฐบาลมาโดยตลอด ทำให้แนวทางในการดำเนินงานเป็นไปอย่างไม่อิสระ และเมื่อเข้าตลาดหลักทรัพย์ก็ยังต้องเผชิญกับการถูกจับตาจากสื่อด้วยกัน รวมถึงความคาดหวังจากประชาชน ทิศทางการบริหารงานของ อสมท. จึงต้องมีดุลยภาพและความโปร่งใส และคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะเป็นหลัก ไม่เป็นกระบอกเสียงให้กับพรรคการเมืองหรือรัฐบาลชุดไหน


 


"อสมท. เป็นสื่อของรัฐแต่ไม่ใช่สื่อรัฐบาล จึงไม่ต้องขึ้นอยู่กับพรรคการเมืองใด และต้องเป็นกลางในการเสนอข่าว" ดร.ดรุณี กล่าว


 


คณบดีคณะนิเทศศาสตร์กล่าวอีกว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วง 1-2 สัปดาห์นี้ เกิดความกดดันหลายอย่างเกิดขึ้นกับการเปลี่ยนแปลงของ อสมท. ส่วนหนึ่งมาจากความใจร้อนของคณะกรรมาการบริหารชุดใหม่ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงให้ อสมท. มีทิศทางที่ถูกต้อง และการสื่อสารภายในองค์กรก็ไม่บรรลุเป้าหมาย


 


ดร.ดรุณี กล่าวอีกว่า การแทรกแซงการทำงานของสื่อมวลชนจากรัฐบาลมีทุกยุคทุกสมัย แต่วิธีการจะแนบเนียนต่างกันไหม เป็นอีกเรื่อง การเคลื่อนไหวของพนักงาน อสมท.ครั้งนี้ ถือเป็นประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของวงการสื่อมวลชนไทยที่สื่อโทรทัศน์เองลุกขึ้นมาต่อต้านคัดค้านขับไล่รัฐมนตรีที่มาจากคณะรัฐประหาร


 


คณบดีคณะนิเทศศาสตร์กล่าวแสดงความคิดเห็นต่อปัญหาที่เกิดขึ้นนี้กับบริษัท อสมท.จำกัดว่า นโยบายของรัฐบาลชุดนี้ไม่ชัด ซ้ำยังถูกคาดหวังสูง เพราะได้ประกาศว่า จะเดินตามนโยบาย 4 เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นมา ทำให้ฉุกคิดได้ว่าความโปร่งใสเริ่มไม่มี เพราะข้อมูลที่ถูกปกปิดเริ่มถูกตีแผ่ จนไม่รู้ว่าใครอยู่เบื้องหน้าเบื้องหลังและต้องการเข้ามาหาประโยชน์กับ อสมท. รวมถึงการให้สัมปทาน การจัดผังรายการและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องไม่แสดงนโยบายในการปฏิรูปสื่ออย่างชัดเจน ขณะนี้ประชาชนทั่วไปเกิดความขัดใจ ว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่ในอสมท.


 


"เราเจ็บปวดจากรัฐบาลชุดที่แล้วมากพอแล้ว ยังไม่สายเกินไป คณะกรรมการบริหาร อสมท.และรัฐมนตรีเองควรจะมองจุดบกพร่องพร้อมแก้ไข เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสาธารณะ ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลควรทำคือ การเร่งรัดให้มีการแก้ไขปัญหาและเปิดพื้นที่สื่อให้มีสิทธิเสรีภาพมากที่สุด"คณบดีคณะนิเทศศาสตร์


 


ขณะที่นายสมชาย แสวงการ ที่ปรึกษาสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กล่าวว่า นอกจากตรวจสอบผังรายการที่ไม่มีความชอบธรรมแล้ว ควรตรวจสอบการทุจริตในส่วนแบ่งของค่าโฆษณาที่มีการปกปิดตัวเลขไปจากอสมท.กว่า 140 ล้านบาทด้วย แม้ภายหลังจะมีการคืนเงินทั้งหมด แต่ความผิดถือว่าเกิดขึ้นแล้ว จึงต้องมีการตรวจสอบว่าเหตุดังกล่าวเป็นการกระทำที่จงใจหรือประมาทเลินเล่อ


 


ที่ปรึกษาสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยกล่าวเพิ่มเติมว่า ขอเรียกร้องให้มีการตรวจสอบธรรมาภิบาลใน อสมท.และควรมีการตรวจสอบกำไรภายหลังจากที่อสมท.เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ด้วย เพราะพบข้อสังเกตจากกำไรที่เพิ่มขึ้นว่ามีความสัมพันธ์กันจริงหรือไม่


 


ทั้งนี้จากข้อมูลผลประกอบการของ อสมท. จากเว็บไซด์ตลาดหลักทรัพย์พบว่า อสมท. มีรายได้สูงถึง 2,202 ล้านบาทจากรายการทีวี และมีค่าใช้จ่ายการดำเนินการมากถึง 982 ล้านบาท ขณะที่มีรายได้จากวิทยุ 555 ล้านบาท แต่มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ 335 ล้านบาท และมีรายได้จากสัญญาร่วมดำเนินกิจการอีก 660 ล้านบาท รวมทั้งมีรายได้จากสินทรัพย์รับโอนตัดบัญชีอีก 55 ล้านบาท ซึ่งก็มีค่าใช้จ่ายจากการดำเนินการ 27 ล้านบาท แต่ก็ยังมีกำไรเบ็ดเสร็จหลังหักการดำเนินการถึง 1,344 ล้านบาท


"นี่ยังไม่รวมรายได้จากค่าสัมปทานที่ยูบีซีเช่าอีกกว่า 500 ล้านบาทต่อปี ค่าเช่าสถานีวิทยุอีก 500 ล้านบาท และรายได้ส่วนอื่น ๆ กว่า 158 ล้านบาท ถือว่า อสมท.มีรายได้สิทธิกว่า 2 พันล้านบาท แสดงให้เห็นว่าอสมท.มีสัดส่วนค่าใช้จ่ายสูงเกินความเป็นจริง"



นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) ให้ความเห็นต่อเรื่องนี้ว่า การที่พนักงานของ อสมท. ออกมาเคลื่อนไหวนั้น เป็นการแสดงออกที่ถือเป็นสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 พนักงานมีสิทธิเสรีภาพที่จะสามารถคัดค้านนโยบายของบอร์ด บอร์ดก็ต้องยอมรับว่าพนักงานมีสิทธิเสรีภาพที่จะเรียกร้อง เราต้องเคารพความคิดของคนที่คิดต่างกับเราด้วย ไม่ใช่ว่าใครคิดไม่เหมือนเราแล้วจะต้องทำสงคราม หรือสาดโคลนใส่กัน เห็นต่างกันก็ต้องถกเถียงกันด้วยเหตุผล


 


"รัฐบาลควรปฏิรูปสื่อแบบจริงจัง เพื่อไม่ให้รัฐธรรมนูญที่เสียไปต้องสูญเปล่า การเปลี่ยนแค่บอร์ดไม่พอ แต่ควรเปิดเวทีสาธารณะให้ประชาชนได้มีสวนร่วมแสดงความคิดเห็น การปฏิรูปสื่อต้องอาศัยหลักวิชาการ การยอมรับจากสังคม จากนักวิชาชีพ และควรจะปฏิรูปพร้อมกันทั้งหมดทั้งช่อง 5, 11, 7, 3, และ ไอทีวี ไม่ใช่แค่เพียงช่อง 9 เท่านั้น" นางสาวสุภิญญากล่าว


 


ด้านนายพิเชียร อำนาจวรประเสริฐ อดีตว่าที่ กสช. กล่าวว่า ความขัดแย้งครั้งนี้เป็นปัญหาเรื่องการสื่อสาร ที่ทั้งสองฝ่ายทั้งบอร์ดชุดใหม่และพนักงานไม่ได้ทำความเข้าใจถึงเป้าหมายในการบริหารร่วมกัน บอร์ดใหม่ปรับเปลี่ยนนโยบายด้วยจังหวะก้าวกระโดดที่รวดเร็วเกินไป ทำให้พนักงานส่วนใหญ่ยอมรับการเปลี่ยนที่รวดเร็วนี้ไม่ได้


 


"เรื่องนี้พูดไปแล้วก็เหมือนกับขิงก็ราข่าก็แรง ความจริงแล้วทั้งสองฝ่ายน่าจะถอยออกมาคนละก้าว ค่อยๆ เปลี่ยนแปลง บอร์ดใหม่จะใช้วัฒนธรรมที่เคยใช้กับอีกองค์กรมาใช้กับ อสมท.ไม่ได้ เพราะมันดูจะหักหาญน้ำใจไปหน่อย ส่วนพนักงาน อสมท. ถ้าไล่บอร์ดออกไปก็ใช่ว่าภาพพจน์ของพนักงานจะดีขึ้น ประชาชนอาจจะมองว่าท้ายที่สุด เหตุผลที่พนักงานออกมาคัดค้านก็เพื่อปกป้องผลประโยชน์ตัวเองไม่ให้หุ้นตก" นายพิเชียรกล่าว


 


ทั้งนี้ นายพิเชียร ยังเสนอแนะให้ทั้งสองฝ่ายอย่ามัวมาตั้งคำถามว่าใครทำร้าย อสมท.แต่ให้ตั้งคำถามว่าใครจะมาสร้างสรรค์ให้ อสมท. ดีขึ้น ดีกว่า โดยทั้งหมดทั้งมวลต้องยืนอยู่บนความสมดุลระหว่างผลประโยชน์ของประชาชนมากกว่าผลกำไร เพราะรายได้จากสัมปทานหลับๆ ตื่นๆ ก็ 2-3 พันล้านอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นที่จะต้องเน้นเรื่องผลกำไร


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net