Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 12 พ.ย. 2549 เมื่อวันที่ 11 พ.ย. เครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร จัดสภาต้านรัฐประหาร ครั้งที่ 3 ณ ลานโดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีผู้มาร่วมประมาณ 40 คน


 


ในการอภิปรายมีการตั้งคำถามกับการแต่งตั้งทหารที่ร่วมในการก่อการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 ก.ย. ที่ผ่านมาเข้าเป็นบอร์ดของรัฐวิสาหกิจหลายแห่ง นอกจากนี้ ตัวแทนจากกลุ่มโดมแดงได้เรียกร้องให้นายสุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เลือกระหว่างการเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ที่แต่งตั้งโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข(คปค.) ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) กับการเป็นอธิการบดี


 


โดยมีการแจกใบปลิวล่ารายชื่อนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปรอบๆ ลานโดม และจะนำหนังสือพร้อมรายชื่อแสดงเจตนารมณ์ดังกล่าวไปยื่นให้กับนายสุรพลในอีกไม่นานนี้ ด้านเครือข่าย 19 ก.ย. ได้เรียกร้องให้ยกเลิกการใช้กฎอัยการศึก


 


สำหรับความเคลื่อนไหวต่อเนื่อง นายภูมิวัตน์ นุกิจ นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงได้อ่านจดหมายเปิดผนึกลงนามถึง ดร.รังสรรค์ แสงสุข อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง มีเนื้อความว่า


 


คมช.ได้ตั้ง สนช. มาเพื่อรองรับการใช้อำนาจและการกระทำโดยอ้างว่าสรรหาสนช.เพื่อกลั่นกรองร่างรัฐธรรมนูญฉบับคมช.มาตามที่ต้องการ


 


นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง ศิษย์เก่าและประชาชนทั่วไปเห็นว่าบุคคลที่เข้าไปทำงานให้ คมช.คือบุคคลที่รับใช้โจรมีอาวุธอันมาจากภาษีของประชาชนมาปล้นรัฐ ดร.รังสรรค์ แสงสุข ได้เข้าไปรับใช้คณะโจรปล้นรัฐ โดยร่วมเป็นสนช. ครั้งนี้ได้นำพาชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยรามคำแหงเข้าไปด้วย


 


ดังนั้นจึงมีข้อเรียกร้องให้ ดร.รังสรรค์ลาออกจากการเป็น สนช. หรือ ข้อสอง ให้เลือกเป็น สนช. สื่อมวลชน หรืออธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง เพราะเป็นเรื่องระหว่างการมีวิชาชีพของอาจารย์เพื่อปลูกฝังสิ่งที่ดีงามและประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นในสังคม กับการรับใช้เผด็จการที่ไม่ได้มีมติมาจากประชาชน แต่กระทำไปเพื่อชนชั้นนำและอำนาจของตนเอง


 


ข้อสาม บทบาทของผู้บริหารมหาวิทยาลัยรามคำแหงมาจากมติประชาคมมหาวิทยาลัยรามคำแหงต้องให้ความสำคัญกับการรักษาและปลูกฝังระบอบประชาธิปไตย ส่งเสริม สนับสนุนกิจกรรมนักศึกษาให้มีความรู้ความเข้าใจในการออกไปรับใช้สังคมเพื่อให้เกิดความดีงาม และข้อสุดท้าย หาก ดร.รังสรรค์ไม่มีคำตอบหรือยังดื้อดึงที่จะเป็น สนช. และเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหงด้วย จะขอทำการแสดงออกซึ่งสิทธิของตนเองอย่างสงบ เปิดเผย มีอารยะและสันติโดยการชุมนุมใหญ่ในที่ใดที่หนึ่งและรณรงค์ให้มีการร่วมลงชื่อขับไล่


 


นอกจากนี้ จดหมายดังกล่าวยังระบุด้วยว่าจะยื่นให้กับ ดร.รังสรรค์ในเวลาที่เหมาะสม โดยสามารถร่วมลงชื่อได้ที่ way_life_@hotmail.com หรือ www.19sep.org


 


ทั้งนี้ ในเวทีสภาต้านรัฐประหาร มีการนัดรวมตัวกันที่ลานโดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อีกครั้ง ในวันที่ 18 พ.ย. ซึ่งจะเป็นวันครบรอบ 2 เดือนในการรัฐประหารของ คปค. เพื่อเดินขบวนไปแสดงเจตนารมณ์การต้านรัฐประหารต่อ คปค. โดยจะตั้งขบวนเวลา 18.00น. จากนั้นจะเดินทางไปหา คปค.ที่กองทัพบก เพื่อเรียกร้องให้ยกเลิกกฎอัยการศึกและบอกว่าคณะรัฐประหารและองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น สนช. สมัชชาร่างรัฐธรรมนูญ คมช. ล้วนไม่มีความชอบธรรม และขอเรียกร้องให้จัดการเลือกตั้งใหม่โดยทันทีภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540


 


 


อ่านข่าวประกอบ


ศิษย์ มธ. ขอล้างครู ล่ารายชื่อเรียกร้อง ศ. สุรพล นิติไกรพจน์เลือกเอาจะเป็น สนช. หรือ อธิการบดี


 


จม.เปิดผนึกจุฬาฯ ถึง ศ.สุชาดา "หากเชื่อว่านั่ง สนช.ถูกต้อง"สอดคล้องกับมโนสำนึก"ก็ให้ลาออกจากอธิการฯ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net