Skip to main content
sharethis

ประชาไท - วานนี้ (1พ.ย.2549) เว็บไซต์ผู้จัดการรายงานว่า นพ.มงคล ณ สงขลา รมว.สาธารณสุข กล่าวถึงนโยบายการยกเลิกเก็บเงิน 30 บาทว่า ได้ลงนามในหนังสือราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ไม่ต้องจ่าย 30 บาท โดยปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้ทำหนังสืออย่างเป็นทางการ แจ้งไปยังโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ ส่วนการยกเลิกเก็บ 30 บาท ในทางปฏิบัติแนวทางในการเข้ารับบริการยังคงเหมือนเดิมตามกฎเกณฑ์ของสำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)ซึ่งกำหนดไว้อยู่แล้ว โดยการรักษาพยาบาลกับสถานพยาบาลต้นสังกัดเดิมยกเว้นไม่ต้องจ่ายเงิน 30 บาท เท่านั้น ในส่วนของประชาชนสามารถบริจาคให้กับทางโรงพยาบาลได้

        

นพ.มงคล กล่าวต่อว่า ส่วนการหารือร่วมกับ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เกี่ยวกับงบประมาณอัตราเหมาจ่ายรายหัว ในปีงบประมาณ 2550 นั้น ที่ผ่านมาเงินรายหัว 1,659 บาท มีการนำเงินเดือนเจ้าหน้าที่มาร่วมอยู่ด้วยกัน เป็นสัดส่วนเงินเดือนถึง 79 % ทำให้มีเงินในการให้บริการประชาชนน้อย ดังนั้น จึงมีแนวคิดจะปรับสัดส่วนเงินเดือนข้าราชการในงบประมาณส่วนนี้ใหม่เป็น 60 % ซึ่งจะทำให้มีงบประมาณเหลือมาให้บริการประชาชนมากขึ้น โดยอาจเสนอให้แยกเงินเดือนออกจากค่าใช้จ่ายรายหัว เพื่อให้เกิดความชัดเจน ซึ่งต้องหารือกับกระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณต่อไป

 

ด้านนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ประธานพิจารณากฎหมายพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.)ในฐานะคณะทำงานนโยบาย ปชป.กล่าวว่า สนับสนุนแนวนโยบายนี้ เพราะสอดคล้องกับนโยบายการดูแลสุขภาพประชาชนของพรรคฯ ที่ประกาศมาตั้งแต่ 2 ปีที่แล้ว การเก็บเงินจากประชาชน 30 บาท นอกจากก่อให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายแก่ผู้มีรายได้น้อยแล้ว ยังไม่ช่วยลดภาระทางงบประมาณของสถานพยาบาลแต่ละแห่งด้วย

 

นายพีระพันธุ์ กล่าวอีกว่า เสนอให้กระทรวงสาธารณสุขสร้างระบบการบริหารจัดการงบฯ ที่ใช้ในโครงการสุขภาพดีถ้วนหน้าใหม่แทนการอุดหนุนเงินงบประมาณรายหัวไปยังสถานพยาบาลโดยตรง โดยการนำระบบประกันภัยในลักษณะประกันสุขภาพมาใช้ โดยให้จัดตั้งบริษัทประกันสุขภาพของรัฐขึ้นทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางรับประกันสุขภาพของประชาชนทั้งหมด โดยรัฐจ่ายค่าเบี้ยประกันให้ทั้งหมด ขณะเดียวกันก็สามารถประกันภัยต่อไปยังบริษัทประกันภัยหรือประกันสุขภาพทั่วไปได้ เท่ากับเป็นการยกภาระนี้ให้กับบริษัทประกันที่มีความรู้ความชำนาญในการบริการในลักษณะนี้มากกว่า

 

"ระบบการจ่ายเบี้ยประกันสุขภาพให้กับประชาชนนี้ เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ ประชาชนไม่ต้องจ่ายเงิน 30 บาท แต่ได้รับการรักษาฟรี มีคุณภาพ และทั่วถึง รัฐแทนที่จะใช้งบประมาณในการจ่ายค่ารักษาพยาบาลเป็นรายหัวให้กับสถานพยาบาล ก็จ่ายเป็นเบี้ยประกันให้กับบริษัทประกันของรัฐแทน อัตราค่าเบี้ยก็จะถูกกว่าค่าอุดหนุนรายหัว ขณะเดียวกันบริษัทประกันของรัฐก็สามารถขยายฐานการประกันภัยออกไปอย่างกว้างขวาง มีรายได้เพิ่มขึ้น สถานพยาบาลก็ไม่ต้องรับภาระการบริหารความเสี่ยงและค่าใช้จ่าย ทุกคนได้หมด"นายพีระพันธุ์กล่าว

 

ขณะที่ นายจาตุรนต์ ฉายแสง รักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย กล่าวว่า การเลิกเก็บเงิน 30 บาท เป็นเพียงการเปลี่ยนชื่อเรียกเนื้อหาสาระเปลี่ยนแปลงไม่มาก พิจารณาแล้วยังคงเป็นโครงการ 30 บาทเดิม เข้าใจว่าเป็นความต้องการจะลบล้างความสำเร็จที่เป็นผลงานของรัฐบาลชุดก่อน จงใจที่ลดคะแนนนิยมที่ประชาชนมีต่อพรรคไทยรักไทย และหวังว่ารัฐบาลจะไม่ทำเช่นนี้กับนโยบายอื่นๆ โดยมุ่งหวังคะแนนเสียงให้ตัวเองอีก

 

ขณะเดียวกันเว็บไซต์คมชัดลึกก็รายงานว่า ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง นักวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า เท่าที่ทราบการหารือระหว่าง มรว.ปรีดียาธร และ นพ.มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นเพียงการหารือ ซึ่งทางกระทรวงการคลังยังไม่ได้ชี้ขาดว่าจะอนุมัติงบอัตราเหมาจ่ายรายหัวที่ 2,089 บาท ตามที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เสนอหรือไม่ เพียงแต่ให้กลับไปทำ ข้อมูลมาใหม่ และมีน้ำหนักพอที่จะนำเสนอ ซึ่งที่ผ่านมาตนพูดมาตลอดว่า โครงการหลัก ประกันสุขภาพถ้วนหน้าควรมีการจัดทำระบบบัญชีที่ดี เพื่อให้ทราบถึงผู้มาใช้บริการที่แท้จริง ตั้งแต่ที่หน่วยบริการ ซึ่งจะเป็นตัวเลขที่นำไปชี้แจงกับสำนักงบประมาณได้

 

ดร.วิโรจน์ กล่าวว่า หากไม่ได้งบประมาณตามที่เสนอคือ 2,089 บาทนั้น ต้องดูว่างบประมาณถูกปรับอยู่ที่เท่าไหร่ หากตัวเลขใกล้เคียงกับอัตราเดิม คือ 1,659 บาท เชื่อว่าจะ ก่อให้เกิดวิกฤตศรัทธาขึ้นกับโครงการแน่นอน ทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นต่อบริการรักษา เพราะที่ผ่านมาโรงพยาบาลและหน่วยบริการต่างมีปัญหาจากงบประมาณจำกัดมาโดยตลอด นอกจากนี้ยังอาจจะส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการรักษาได้ เพราะงบทีมีอยู่ไม่เพียงพอ แต่หากได้งบที่ตัวเลขใกล้เคียงกับ 2,000 บาท ก็ยังสามารถดำเนินโครงการต่อไปได้

 

อย่างไรก็ตามเห็นว่า โครงการนี้ควรทำให้คนมีความเชื่อมั่นในการเข้ารับบริการในระบบก่อน อย่างไรก็ตามตนเห็นว่า นอกจากนี้น่าจะปรับงบประมาณต่าง ๆ ให้เป็นระบบมากขึ้น แม้ ว่าในปีที่ผ่านมารัฐบาลที่แล้วจะอนุมัติอัตราค่าใช้จ่ายรายหัวที่ 1,659 บาท ตามที่ สปสช. และ สธ.เสนอ แต่กลับนำไปใส่ในงบประมาณเพียง 1,396 บาทเท่านั้น ที่เหลือให้ไปเบิกกับ งบกลาง ซึ่งขณะนี้ก็ยังเบิกไม่ครบและยังค้างจ่ายอยู่กว่า 9,000 ล้านบาท ทำให้ได้เงินมาไม่ครบ

 

ดร.วิโรจน์ กล่าวว่า การเปลี่ยนการเก็บ 30 บาทในโครงการหลักประกันสุขภาพเป็น 0 บาท นั้น เห็นว่าเป็นซูปเปอร์ประชานิยม ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการตอบคำถามว่า หากไม่เก็บเงิน แล้วจะมีผู้ใช้บริการเพิ่มมากขึ้นหรือไม่ ไม่มีใครรู้ แม้ว่าตนและนักวิชาการจะเชื่อว่า จะมีผู้ใช้ เพิ่มขึ้นไม่รุนแรง แต่ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรไม่มีใครบอกได้ สำหรับที่มีการเสนอแนวคิด การร่วมจ่ายนั้น ยอมรับว่าจะทำให้คนจนได้ประโยชน์ ซึ่งตนก็ไม่คัดค้าน เพียงแต่จะต้องมี การจัดทำระบบการร่วมจ่ายที่ดี ว่าใครเป็นบุคคลที่สมควรจะเป็นผู้ร่วมจ่ายและต้องทำให้เป็นมาตรฐาน เพราะหากดูจากภาษีจะมีปัญหาในกลุ่มผู้ที่ไม่ได้เสียภาษีในระบบ อย่างไรก็ตาม ที่มีการพูดกันมาก คือ ให้ดูการขอใช้ห้องพักผู้ป่วยพิเศษ เพราะจะเป็นการบ่งถึงสถานะทาง การเงินได้ แต่เป็นเพียงข้อเสนอเท่านั้น นอกจากการร่วมจ่ายไม่ว่าจะมีรูปแบบใด ไม่ควร เป็นลักษณะการเก็บที่หน่วยบริการ เพราะจำทำให้เกิดปัญหาการเลือกปฏิบัติได้ และต้องมี เพดานในการร่วมจ่ายด้วย

 

สำหรับในส่วนของโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ภายหลังจากที่มีการประกาศยกเลิกเก็บ 30 บาท หลายแห่งได้เริ่มเลิกเก็บเงิน 30 บาท จากผู้ที่มาใช้บริการแล้ว แต่บางแห่ง ยังไม่เลิกเก็บ 30 บาท เพราะยังปรับตัวไม่ทัน และบางแห่งขอรอหนังสือสั่งการเป็นลายลักษณ์อักษรจากปลัดกระทรวงสาธารณสุขก่อน เนื่องจากเกรงว่าจะผิดระเบียบราชการ

 

นพ.อนุศักดิ์ ตั้งไพบูลย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา กล่าวว่า ทางโรง พยาบาลได้เลิกเก็บเงิน 30 บาท จากผู้ป่วยแล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2549 โดยไม่รอ หนังสือแจ้งจากกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งจากการสังเกตพบว่าผู้ป่วยก็ยังคงมาโรงพยาบาล ในอัตราปกติ คือประมาณ 2,000-3,000 คนต่อวัน ไม่ได้เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด และในแต่ละปี โรงพยาบาลมีรายได้จากการเก็บ 30 บาท ประมาณ 3 ล้านบาท เท่านั้น การเก็บหรือไม่เก็บ 30 บาท จึงไม่กระทบกับรายได้ของโรงพยาบาล

 

ขณะที่ นพ.วชิระ บถพิบูลย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมพวง กล่าวว่า ทางโรงพยาบาลจะ เริ่มเลิกเก็บ 30 บาท จากผู้ป่วยในวันที่ 2 พฤศจิกายนนี้ เพราะต้องประชุมหารือและทำความ เข้าใจในทางปฎิบัติกับเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลก่อน ซึ่งในช่วงแรกนั้นตนเห็นว่าจะไม่มีผล กระทบเท่าใดนักต้องรอประมาณ 2-3 เดือน จึงจะเห็นว่าการเก็บหรือไม่เก็บ 30 บาท กระทบกับโรงพยาบาลอย่างไร คนไข้จะมากขึ้นจริงหรือไม่ แต่โดยส่วนตัวแล้วเห็นว่าหาก

นพ.วชิระ กล่าวว่า โรงพยาบาลชุมพวง เป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 60 เตียง และได้ราย ได้จากการเก็บเงิน 30 บาท ประมาณ 4-5 แสนบาทต่อปี ซึ่งถือเป็นเงินที่มากพอสมควร แต่ หากรัฐบาลหางบประมาณจากส่วนอื่นมาโปะให้ได้ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net