Skip to main content
sharethis

ผอ.สถานีวิทยุชุมชนเชียงใหม่ เผยวิทยุชุมชนเปิดได้ตามปกติ ทหารแค่ขอความร่วมมือปฏิบัติตามกติกา จะมีก็แต่วิทยุชุมชนเทียมที่ถูกระงับ ด้านกรรมการสิทธิฯระบุการจำกัดเสรีภาพสื่อไม่ถูกต้อง แต่สถานการณ์เช่นนี้เข้าใจความจำเป็นของทหาร ขอดูบทบาทว่าจะจริงใจในการปฏิรูปหรือไม่ เกรงจะปฏิรูปแต่ชื่อ


 


ตามที่มีรายงานว่าระยะแรกที่มีการรัฐประหาร กองทัพภาคที่ 3 ได้มีคำสั่งให้ระงับการออกอากาศวิทยุชุมชนใน 17 จังหวัดภาคเหนือชั่วคราว และต่อมาเมื่อวันที่ 2 ต.ค. ได้มีวิทยุในราชการทหารไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด 17 จังหวัดภาคเหนือให้ยกเลิกการระงับการออกอากาศชั่วคราวของวิทยุชุมชน และมีข้อกำหนดให้วิทยุชุมชนปฏิบัติตามระเบียบและข้อตกลงในการดำเนินการจำนวน 16 ประการ เช่น ถ่ายทอดสัญญาณเสียง คำสั่ง แถลงการณ์ของคณะปฏิรูปฯ ทุกครั้งที่มีการประกาศ ให้เสนอข่าวตามข้อเท็จจริงในเชิงสร้างสรรค์ สร้างความรักความสามัคคีในชาติ ไม่วิพากษ์ วิจารณ์ อ่านข่าว หรือเสนอข่าวการเมืองที่ก่อให้เกิดความแตกแยกในทุกกรณี งดเปิดสายหน้าไมค์ งดการรับ - ส่ง SMS


 


โดยที่ล่าสุดกองทัพภาคที่ 3 โดย พ.อ.วิสิทธิ์ เดชสกุล หัวหน้ากองกิจการพลเรือน มณฑลทหารบกที่ 33 ได้เรียกประชุมตัวแทนสมาคม ชมรมวิทยุชุมชนต่างๆ เข้ารับฟังการชี้แจงแนวนโยบาย เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2549 ที่โรงแรมดิเอ็มเพรส จ.เชียงใหม่ นั้น


 


 



ทพ.อุทัยวรรณ กาญจนกามล ผอ.สถานีวิทยุชุมชน FM 99.00 MHz เชียงใหม่


 


วานนี้ (13 ต.ค.) "ประชาไท" ได้สัมภาษณ์ ทพ.อุทัยวรรณ กาญจนกามล ผู้อำนวยการสถานีวิทยุชุมชน "วิทยุชุมชนเสรี เพื่อศักดิ์ศรีของหมู่เฮาคนเมือง" FM 99.00 MHz ซึ่งส่งกระจายเสียงย่าน ต.ช้างเผือก จ.เชียงใหม่ กล่าวว่าคงจะเป็นแค่การปรามและบอกให้ทราบว่าถ้าปฏิบัติตามที่เขากำหนดไว้ก็เปิดได้ตามปกติ คือให้มีคล้ายกับกรมประชาสัมพันธ์ เช่น เปิดข่าวกรมประชาสัมพันธ์ ข่าวที่เขา (คมช.) จะพูด ส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างชาวบ้านกับคณะปฏิรูป โดยในส่วนของวิทยุชุมชน FM 99.00 MHz ก็ดำเนินรายการปกติ


 


"ของเราไม่มีอะไร เพราะเราไม่ได้ทำให้เกิดปฏิกิริยานั้น จะมีก็เฉพาะกลุ่มนักการเมืองที่โน้มเอียงไปทางทักษิณ ที่เขาขึ้นแบล็กลิสต์แล้ว 35 สถานี ซึ่งเขาห้ามกระจายเสียงไปแล้ว" ทพ.อุทัยวรรณกล่าว


 


สำหรับสถานีวิทยุชุมชน FM 99.00 MHz ดังกล่าว นับเป็นวิทยุชุมชนที่เกิดขึ้นเป็นแห่งแรกๆ ของเชียงใหม่ ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญปี 2540 โดยส่งกระจายเสียงและผลิตโดยชุมชนในเชียงใหม่และไม่มีการคั่นโฆษณาสินค้าระหว่างออกอากาศ


 


เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถาม ทพ.อุทัยวรรณ กรณีที่คำสั่งแม่ทัพภาคที่ 3 สั่งระงับการออกอากาศวิทยุชุมชนภาษาไทใหญ่ ที่ อ.ฝาง ว่ามีความเห็นอย่างไร ทพ.อุทัยวรรณ กล่าวว่า "จริงๆ แล้วเป็นเรื่องรู้เท่าไม่ถึงการณ์และเอาง่ายเข้าว่า คือมันมีช่วงที่มีการปิดวิทยุชุมชนใหม่ๆ มันมีกลุ่มธุรกิจกลุ่มหนึ่งได้ไปหาทหารโดยตรงขออาสาเลือกเป้าให้ว่าวิทยุชุมชนไหนดีหรือไม่ดี ซึ่งผมเห็นว่ากลุ่มดังกล่าวเป็นกลุ่มที่ตั้งตัวเองขึ้นเป็นตัวกลางโดยพลการ และก่อให้เกิดความเป็นทางการที่ไม่ชอบธรรม"


 


ส่วนรายการวิทยุภาษาไทใหญ่ที่มีช่วงเวลากระจายเสียงในวิทยุชุมชน FM 99.00 MHz นั้น ทพ.อุทัยวรรณกล่าวว่า รายการดังกล่าวมาในนามมูลนิธิ MAP ซึ่งเป็นผู้จัดรายการ โดยมีพี่น้องไทใหญ่เข้ามาร่วมสื่อสารผ่านการจัดรายการตรงนี้


 


 



นายกมล กมลตระกูล กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ


 


ด้านนายกมล กมลตระกูล กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกล่าวถึงกรณีการปิดวิทยุชุมชนว่าในเรื่องนี้กรรมการสิทธิมนุษยชนก็จับตามองอยู่ เพราะโดยหลักการแล้ว การจำกัดสิทธิเสรีภาพเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องอยู่แล้ว โดยส่วนตัวแล้วตนไม่เห็นด้วยกับการปิดวิทยุชุมชน หรือปิดสื่อมวลชนประเภทต่างๆ เพราะควรจะให้สิทธิเสรีภาพ ในขณะเดียวกันในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ ฝ่ายคณะมนตรีความมั่นคงฯ ก็อาจมีคำแนะนำได้ในระดับหนึ่ง หรือน่าจะห้ามปรามได้บ้าง หรืออาจต้องเลือกถ้าสื่อหรือสถานีวิทยุบางแห่งใช้เป็นเครื่องมือของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพื่อให้สร้างสถานการณ์


 


"ในช่วงที่ผ่านมาเราก็จะเห็นได้ว่าระบอบประชาธิปไตยมันถูกบิดเบือนมากๆ เลย มันก็มีความจำเป็น ถ้าหากเจตนาของคณะปฏิรูปเป็นเจตนาที่ดีและต้องการวางรากฐานใหม่ แต่ว่าไม่ได้มีเป้าหมายที่จะจำกัดสิทธิระยะยาว คิดว่าอาจต้องทนกันไปสักระยะดูบทบาทของคณะปฏิรูปว่ามีความจริงใจไหม ว่าจะปฏิรูปจริงๆ หรือปฏิรูปแต่ชื่อ และจำกัดสิทธิประชาชน คิดว่าทั้งสองฝ่ายควรให้โอกาสซึ่งกันและกันในระยะหนึ่ง การจำกัดสิทธิไม่ถูกต้อง เชื่อมันในประชาชนว่าจะไม่ถูกชักจูง ประชาชนมีสติปัญญา ถึงแม้สื่อนั้นจะเจตนาไม่ดี" นายกมล กล่าวในที่สุด.


 


 


.........................................................


ข่าวประชาไทก่อนหน้านี้


"วิทยุชุมชนเหนือยื่นหนังสือผ่านผู้ว่าฯ เชียงใหม่ ร้องนายกฯ หยุดคุมสื่อประชาชน พร้อมตั้ง กสช. ด่วน" 10 ต.ค. 49

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net