Skip to main content
sharethis

4 ปีรัฐประหารกับการเมืองและกฎหมายในระบอบประชาธิปไตย 99.99% ระบอบที่อ้างกฎหมายเพื่อละเมิดสิทธิมนุษยชนและกดขี่ทางการเมือง ขยายอำนาจระบบราชการ และไม่มีทางเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย แต่ความหวังยังมี

คลิปการเมืองและกฎหมายในระบอบประชาธิปไตย 99.99%

 

  • ระบอบประชาธิปไตย 99.99% คือระบอบที่ทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนและกดขี่ทางการเมือง ภายใต้คำอ้างว่าเป็นการบังคับใช้ตามกฎหมาย
  • ชนชั้นนำไทยทำรัฐประหารรักษาระบบราชการที่จะนำสังคมต่อไป การจะกำหนดทิศทางว่ารัฐไทยจะใช้อำนาจอย่างไร จึงขึ้นกับการประนีประนอมกับระบบราชการ
  • สังคมอยู่ใต้ระบอบอำนาจนิยมที่เปราะบาง บนสังคมเข้มแข็งแต่แบ่งเป็นฝักฝ่าย และบนระบบราชการที่กำลังขยายตัวอย่างกว้างขวาง

 

4 ปีของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวได้ว่าเป็นคณะรัฐประหารที่อยู่ในอำนาจยาวนานที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ไม่ใช่แค่อยู่ในอำนาจ แต่กำลังสร้างกลไกต่างๆ เพื่อดำรงสภาพนี้ให้ดำรงอยู่ต่อไป

‘D-Move ก้าวที่ดี เลือกทางที่เดิน’ จัดงานเสวนาหัวข้อ การเมืองและกฎหมายในระบอบประชาธิปไตย 99.99% เมื่อวันเสาร์ที่ 19 พฤษภาคมที่ผ่านมา ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิชาการทั้ง 3 คนฉายภาพประเทศไทยในอนาคตที่ไม่ได้เปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยดังที่ คสช. กล่าวอ้าง แต่เป็นระบอบลูกผสมที่มีรัฐราชการเป็นแกน

 

‘เป็นไปตามกฎหมาย’ วาทกรรมเพื่อการดำรงอยู่ของระบอบใหม่

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เดือนพฤษภาคนเป็นเดือนที่ร้อนเป็นพิเศษ ความทรงจำของเราจะสับสนวุ่นวาย ตั้งแต่คนรุ่นผมขึ้นมาหรืออาจารย์สมชาย เวลาพูดถึงเดือนพฤษภาคม เราจะนึกถึงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬก่อน อย่าเพิ่งพูดถึงรัฐประหารเมื่อ 4 ปีที่แล้วเลย ตอนนั้นเรายังตากแดดไล่เผด็จการอยู่เลย บ้านเมืองไม่ไปไหนจริงๆ ที่อยากให้รำลึกถึงพฤษภาทมิฬก่อน ไม่นับเมื่อ 8 ปีที่แล้วที่มีการสลายการชุมนุม จนมาถึงการรัฐประหารเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ผมคิดว่ามีหลายเรื่องที่ต้องรำลึกถึงในเดือนนี้ ไม่อยากให้เหตุการณ์ที่เราคุยในวันนี้ตัดขาดจากเหตุการณ์ก่อนหน้านั้น

การเมืองและกฎหมายในระบอบประชาธิปไตย 99.99% สิ่งที่สำคัญคือ 0.01 ที่หายไปที่ทำให้ประชาธิปไตย 99.99% มันไม่เวิร์ค ถามว่าเราควรแค่ประณามคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หรือไม่ ก็คงพูดไม่ได้ในความหมายนั้น เพราะว่าเราทุกคนมีส่วนทำให้มันเกิดขึ้น ต้องทบทวนกันทุกฝ่ายในทิศทางที่เราจะเดินในอนาคต

สมมติว่าเราจะแบ่งเป็น 2 ด้าน ด้านหนึ่ง เรามองว่าระบบไม่ดี เราต้องโค่นล้มมัน ด้านที่ 2 ต่อให้เราจะโค่นล้มหรือวิพากษ์มัน สิ่งสำคัญคือคุณจะสร้างอะไรขึ้นมา และการสร้างอะไรให้มีคุณภาพมากกว่าเดิม ผมคิดว่าเป็นโจทย์ร่วมกัน ถ้าเราอยากได้ประชาธิปไตย มันต้องมีคุณภาพแบบไหน เพื่อไม่ให้อยู่ในวังวนแบบเดิม เป็นโจทย์ที่ผมอยากวางไว้ก่อน

ปูพื้นฐานนิดหนึ่งครับ ประเทศไทยอยู่ตรงไหนในโลก มีข้อมูลหลายฝ่าย แต่จาก Integrated Network for Societal Conflict Research (INSCR) ระหว่างปี 1946-2016 ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 5 ของประเทศที่มีรัฐประหารบ่อยครั้ง ประเทศไทยมีสถิติในการทำรัฐประหารประสบความสำเร็จมากที่สุด แต่ถ้านับรวมความพยายามทำรัฐประหารทั้งหมด เราอยู่ในอันดับ 5 อันดับ 1 ที่มีการทำรัฐประหารมากที่สุดคือซูดาน ตามด้วยอิรัก โบลีเวีย และกินี ตามลำดับ เขานับตั้งแต่รัฐประหารที่สำเร็จ รัฐประหารที่มีความพยายามแต่ล้มเหลว รัฐประหารที่มีการวางแผน และมีข่าวลือว่าจะรัฐประหาร ประเทศไทยมีสถิติน่าสนใจมาก รัฐประหารของเราประสบความสำเร็จมากที่สุด ล้มเหลว 5 ครั้ง วางแผน 1 ครั้ง มีข่าวลือ 2 ครั้ง

การเลือกตั้งที่จะมาถึงยังเลื่อนไปเลื่อนมาอยู่ สิ่งสำคัญที่อยากเสนอคือสิ่งที่เรากำลังจะเจอในอนาคต รัฐประหารรอบนี้มีลักษณะที่ไม่ปกติของการทำรัฐประหารไทย เรื่องแรกคือเป็นรัฐประหารที่อยู่ในอำนาจนานที่สุดรองจากสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ถนอม กิตติขจร และประภาส จารุเสถียร แต่ถ้าจากนับการลุกฮือของประชาชนเพื่อขับไล่ทหารในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ครั้งนี้ถือเป็นรัฐประหารที่อยู่ในอำนาจนานที่สุด ไม่มีรัฐประหารที่อยู่ได้นานขนาดนี้ และยังมีแผน 20 ปีอีกต่างหาก

“หนึ่ง-ไทยไม่กลับสู่ประชาธิปไตยแน่นอน มันจะเป็นระบอบไฮบริดแบบหนึ่ง สอง-การใช้อำนาจของรัฐบาลนี้ไม่ได้ใช้อำนาจผ่านปืนอย่างเดียว แต่ใช้อำนาจผ่านการตีความและใช้กฎหมายในแบบของเขา และสาม เขาพยายามอธิบายเหตุผลการมีอยู่ของระบอบของเขาและผลิตประชาชนแบบใหม่ให้อยู่ในระบอบนี้”

ข้อสังเกตประการที่ 2 รัฐประหารครั้งนี้มีลักษณะที่ให้ความสำคัญกับวิศวกรรมและสถาปัตยกรรมทางการเมืองสูง นอกจากมีแผนการสถาปนาสังคมใหม่ ระบอบการเมืองใหม่ ไม่ใช่เข้ามาแป๊บเดียว ล้างท่อ แล้วกลับไปสู่การเลือกตั้งเหมือนเดิม แต่มีความพยายามเป็นอย่างมากที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง หนึ่งคือมีการพยายามปรับปรุง เปลี่ยนแปลง จัดการสถาบันทางการเมืองและระบบกฎหมายหลายอย่างที่จะทำให้สังคมนี้เปลี่ยนผ่าน แต่ไม่ได้เปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย สองคือถ้าย้อนไปดู มันมีความพยายามจำนวนมากที่จะเปลี่ยนสังคม ไม่ใช่แค่ในระดับกฎหมายและสถาบัน แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงความรู้สึกนึกคิดของสังคมผ่านการใช้คำต่างๆ เช่น ประชาธิปไตย 99% ประชารัฐ ไทยนิยม เป็นต้น หมายความว่ามีความพยายามในระดับอุดมการณ์และวาทกรรมที่จะเข้าไปเปลี่ยนแปลงความคิดเรื่องประชาชน คำพูดเหล่านี้ไม่ใช่คำพูดพล่อยๆ แต่มีการวางแผนระดับหนึ่งที่จะช่วงชิง ตีความใหม่กับแนวคิดเรื่องประชาธิปไตย พวกนี้เป็นคำที่มีไม่มีความหมายในตัวเอง แต่ยัดความหมายบางอย่างเข้าไป ความเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายและอุดมการณ์มีมาก แม้ว่าปีสองปีที่ผ่านมาพลังด้านอุดมการณ์บางอุดมการณ์จะไม่ได้มีพลังอำนาจเหมือนเดิม

สิ่งสำคัญคือที่ผมเรียกว่าการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายและสถาบันต่างๆ มันมีกรอบทฤษฎีบางอย่างที่สามารถอธิบายได้ หนึ่ง-สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นไม่ใช่การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย แต่เป็นระบอบใหม่ ในการศึกษาด้านรัฐศาสตร์ การศึกษาเรื่องการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยมันล้าสมัยไปแล้ว เพราะในโลกนี้การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยมีน้อยลง สิ่งที่เกิดขึ้นคือการย้อนกลับมาของระบอบเผด็จการ ทั้งเผด็จการที่เกิดจากการรัฐประหารเองก็ยังมีและเผด็จการที่เกิดจากการแปลงสภาพของประชาธิปไตยก็มี แม้เราจะศรัทธาประชาธิปไตย เราก็ต้องพยายามปรับปรุงพัฒนาคุณภาพประชาธิปไตยไปด้วย ไม่อย่างนั้นมันจะกลายเป็นเผด็จการได้ หลังจากการศึกษาเรื่องการเปลี่ยนผ่านแล้วเข้าใจว่าเปลี่ยนไม่ผ่าน มันก็มี 2 แขนงในการศึกษา หนึ่งก็คือเผด็จการมาได้อย่างไร อยู่ได้อย่างไร และทำไมมันไม่ไปสักที กับสองคือการศึกษาระบบที่หัวมังกุท้ายมังกร ที่ดูว่าเวิร์ค หรือเป็นไฮบริด มันมีหน้าตาแบบไหนบ้าง ซึ่งสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตคือไฮบริดรูปแบบหนึ่ง เป็นไฮบริดที่ระบบรัฐราชการ ทหาร ยังมีบทบาทอยู่

ส่วนที่ 2 ในเรื่องการปรับเปลี่ยนกฎหมายและสถาบันต่างๆ สิ่งสำคัญคือการใช้กฎหมายและสถาบันต่างๆ เป็นการใช้อำนาจรูปแบบหนึ่ง เป็นโครงสร้างพื้นฐานทางอำนาจ (Infrastructure Power) แบบหนึ่ง ถ้าเราทำความเข้าใจแนวคิดเรื่องอุดมการณ์ให้ซับซ้อนขึ้น มันมีสิ่งที่จับต้องได้อยู่ กฎหมายเป็นสิ่งที่จับต้องได้ในระดับหนึ่ง แม้มันจะทำงานในระดับอุดมการณ์ มันมีกระบวนการในการร่าง มีตัวบทให้อ่าน มีคำอธิบาย อ้างอิง ราวกับเป็นสิ่งของบางอย่าง ไม่ใช่แค่ความคิดที่ครอบงำเรา อำนาจในระดับโครงสร้างพื้นฐานเป็นสิ่งสำคัญ มีพลังสำคัญ ไม่เหมือนอำนาจทางกายภาพที่ใช้ปืนหรือการข่มขู่ให้กลัวอย่างเดียว กฎหมายอยู่กลางๆ ระหว่างกายภาพกับความคิดล้วนๆ ทำให้เรานึกถึงสิ่งต่างๆ มากมาย ที่มีอิทธิพลต่อวิธีคิด แล้วมันปฏิบัติการอย่างไร

หนึ่งก็คือระบบประชาธิปไตย 99.99% ได้ทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนและกดขี่ทางการเมือง ภายใต้คำอ้างว่าเป็นการบังคับใช้ตามกฎหมาย ทั้งที่เป็นกฎหมายที่ออกโดยคณะรัฐประหารเอง ไม่ใช่กระบวนการแบบประชาธิปไตย เวลาใช้อำนาจ ไม่เคยบอกว่าเพราะไม่พอใจ แต่อ้างเสมอว่าเป็นการบังคับใช้ตามกฎหมายเสมอ ราวกับว่าฉันไม่ได้ยึดโยงกับกฎหมายเหล่านั้นเลย กฎหมายมีอยู่ของมันเอง มีชีวิตของมันเอง มีคนเดียวที่ฉีกกฎหมายนี้ได้ นอกนั้นทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมายนี้หมด

สอง-โครงสร้างพื้นฐานทางอำนาจเหล่านี้เป็นอำนาจที่แสดงตัวเองด้วยการสร้างสถาบันต่างๆ ให้เหล่าพันธมิตรมาอยู่ในสถาบันนี้ร่วมกัน ทำให้พันธมิตรมีที่ทางในโครงสร้างใหม่ ใน 4 ปีที่ผ่านมามีกรรมการไม่รู้กี่คณะ มีแม่น้ำไม่รู้กี่สาย มันทำให้คนที่เข้ามาเป็นชุมชนชนชั้นนำกลุ่มนี้สามารถอยู่ในอำนาจต่อและทำให้การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยล่าช้าลง ตัวอย่างการเลื่อนเลือกตั้งไปเรื่อยๆ เราจะเห็นว่าคนที่ทำไม่ใช่ คสช. เอง แต่เป็นการใช้อำนาจจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คสช. ก็บอกว่าตนไม่เกี่ยว พวกเขาทำกันเอง ทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย ดังนั้น คำว่ากฎหมายในระบอบนี้เป็นคำที่มหัศจรรย์ ไม่มีหรอก อยู่ๆ เดินไปทุบใคร อย่างมากก็เรียกไปพูดคุยทำความเข้าใจตามระเบียบกฎหมายเหล่านี้

ข้อสุดท้ายคือประชาธิปไตยกับประชารัฐ และประชาธิปไตย 99.99% เป็นความพยายามเปลี่ยนคำว่า ประชาธิปไตยเป็นคำว่า ประชารัฐ คณะรัฐประหารนี้ไม่เคยบอกว่าฉันดีกว่าประชาธิปไตย แต่บอกว่าฉันเป็นประชาธิปไตยแบบหนึ่ง ตรงนี้สำคัญ ตั้งแต่จอมพลสฤษดิ์เลย แทนที่จะปฏิเสธและหันไปเชียร์ระบอบอื่น แต่กลับใช้ความพยายามในการปรับเปลี่ยนความเข้าใจของเราให้คุ้นชินกับคำอธิบายแบบนี้ สะท้อนให้เห็นว่าคณะรัฐประหารชุดนี้เรียนรู้บทเรียนของตัวเองจากสิบกว่าครั้งที่ผ่านมา เป็นองค์กรที่มีการเรียนรู้ คำถามคือเราเรียนรู้อย่างเป็นระบบเท่าเขาหรือเปล่า เราต้องรู้จักเขา พอกับที่เขารู้จักเรา

คำว่าประชารัฐ มีหลายความหมายก็จริง แต่ควาหมายรวมคือความสามัคคีระหว่างรัฐกับประชาชน ประชารัฐแปลว่าประชาบวกรัฐ ไม่ใช่แปลว่ารัฐของประชา เพลงที่เราร้องทุกวันตอนเช้า มันทำให้เราคล้อยตามได้ง่ายมาก ตราบใดที่เราเปล่งเสียงคำว่า เป็นประชารัฐ เมื่อนั้นคำว่าประชารัฐก็วิ่งอยู่ในหัวเราทุกวัน แต่คำว่าประชารัฐไม่ได้หมายความเป็นประชาธิปไตย มันเป็นวิธีคิดทางอุดมการณ์ที่ว่าตราบใดที่เราเปล่งเสียงนี้ เราก็ตกอยู่ภายใต้คำอธิบายแบบนี้โดยไม่รู้ตัว แต่ความเป็นจริงคำว่า ประชารัฐคือโครงการขนาดใหญ่ระหว่างทุนกับรัฐ ซึ่งวิธีคิดนี้ไม่มีที่ให้นักการเมือง ประชาชนก็รอคำสั่งไป

คุณประยุทธ์บอกว่าทุกวันนี้ประเทศไทยมีประชาธิปไตย 99.99% ผมไม่เคยห้ามใครวิจารณ์ผม แต่อย่าต่อต้านผม ถ้าคุณอยู่ในประเทศอื่นคุณอาจอยู่ในคุกหรือโดนยิงไปแล้ว

สุดท้ายคือ 0.01% ที่ไม่เป็นประชาธิปไตยทำไมจึงสำคัญ มันมีสมการอยู่ คำอธิบายที่เขาพูดในปัจจุบันคือ เสรีภาพนำไปสู่ความไม่มั่นคง วิกฤต ความไม่สามัคคี สิ่งที่ทำให้คนแตกแยกเป็นสิ่งเลวร้าย อันนี้คือสมการที่ 1 ผมพยายามถอดสมการ

การรักษาความสงบ การกดขี่เท่ากับการใช้กฎหมาย เท่ากับระเบียบ ความสงบถูกใช้อธิบายในภาษาอังกฤษว่า Peace แต่ Peace หรือเปล่า หรือเป็นแค่ Order คำนี้มาจากอะไร มาจากกฎหมาย การใช้กฎหมาย แต่เป็นการใช้กฎหมายแบบของเขา

สมการที่ 3 คสช. คือผู้รักษาสันติภาพ เป็นผู้นำมาซึ่งสันติภาพและความสงบ ถ้าคุณยังแยกคำว่าความสงบกับสันติภาพจากกันไม่ได้ ความสงบจะเท่ากับสันติภาพ จะเท่ากับความมั่นคง ถอดไปถอดมา คำว่าสันติภาพเท่ากับความสามัคคีได้ยังไงก็ไม่รู้ และความสามัคคีก็มาถึงคำว่า รักสามัคคี ซึ่งเป็นคำที่พูดกันบ่อยมากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ตราบใดที่คุณรักสามัคคี คุณจะต้องไม่ปล่อยให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น จะต้องไม่มีเสรีภาพที่กระจัดกระจายแบบนี้ และสุดท้ายก็ย้อนกลับมาที่คำว่า ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย หมายความความสามัคคีเป็นฐานรากของประเทศนี้ ไม่รู้ว่าใครนิยามคำว่าแตกแยก แต่อะไรที่ทำให้สังคมแตกแยก เขามีความชอบธรรมเสมอในการจัดการ ไม่ว่าคุณจะใช้เสรีภาพอย่างไร ถ้าเสรีภาพนั้นถูกตีความว่ามันสร้างความแตกแยกให้กับสังคม สิ่งนั้นก็จะถูกจัดการตลอดเวลา

สุดท้ายครับ ย้ำ 3 ประเด็น หนึ่ง-ไทยไม่กลับสู่ประชาธิปไตยแน่นอน มันจะเป็นระบอบไฮบริดแบบหนึ่ง สอง-การใช้อำนาจของรัฐบาลนี้ไม่ได้ใช้อำนาจผ่านปืนอย่างเดียว แต่ใช้อำนาจผ่านการตีความและใช้กฎหมายในแบบของเขา และสาม เขาพยายามอธิบายเหตุผลการมีอยู่ของระบอบของเขาและผลิตประชาชนแบบใหม่ให้อยู่ในระบอบนี้ เพราะฉะนั้นมันไม่มีทางกลับสู่ประชาธิปไตยได้ ถ้าอยากกลับต้องสร้างทางเลือกอื่นๆ ไม่อย่างนั้นก็จะวนเวียนอยู่กับสิ่งเหล่านี้

 

รัฐประหารเพื่อระบบราชการ

วสันต์ เหลืองประภัสร์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ในทัศนะผม กระบวนการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง อีก 0.01% ที่จะเคลื่อนไปสู่ประชิปไตย สังคมไทยยังติดขัดอะไร มีอะไรที่ทำให้เราลุ่มๆ ดอนๆ มาตลอด อาจารย์พิชญ์บอกว่าเราไม่ได้เปลี่ยนไปสู่ระบอบประชาธิปไตย แต่จะไปสู่ระบอบอะไรก็ไม่รู้ที่อาจมีลักษณะไฮบริด แต่ผมจะบอกว่าสิ่งที่ คสช. พยายามทำอยู่คือการทำให้สังคมไทยเป็นรัฐที่มีราชการนำ องคาพยพใหญ่ที่มีอิทธิพลต่อทุกสิ่งทุกอย่างในสังคมไทยก็คือระบบราชการ ซึ่งรวมกองทัพด้วย เราเป็นรัฐราชการมานานมากและเป็นมากกว่าที่เราคิด มันแทรกซึมอยู่ในวัฒนธรรม วิธีคิด และหลายสิ่งหลายอย่าง และตัวระบบราชการก็มีอิทธิพลต่อการเมืองไทยมาโดยตลอด

สถานการณ์ปัจจุบันในทัศนผม ข้อติดขัดสำคัญในการเปลี่ยนผ่านการเมืองไม่ว่าจะเป็นประชาธิปไตย ไฮบริด หรือรูปแบบไหนก็ตาม องคาพยพสำคัญที่จะกำหดนทิศทางอย่างมากก็คือระบบราชการ ขอให้ท่านสอดส่องสายตาดูองค์ประกอบที่นั่งอยู่ใน สนช. ในคณะกรรมการชุดต่างๆ รัฐมนตรีที่นั่งอยู่ มีใครบ้างที่ไม่มาจากระบบราชการ เหล่านี้เป็นผลผลิตของระบบราชการทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นทิศทางที่เราจะเปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าทางไหน ผมคิดว่าเราต้องเข้าใจระบบราชการมากกว่านี้ มันซับซ้อนมาก เพราะมันไม่เหมือนกองทัพ ถ้ากองทัพโดดๆ ผู้นำกองทัพที่มีอำนาจบารมีมากก็สามารถกำหนดให้หันซ้ายขวาได้ มีเอกภาพสูง นั่นคือเหตุผลว่าทำไมทหารไทยจึงทำรัฐประหารเก่ง เพราะมีการจัดโครงสร้างระบบราชการที่ดีเยี่ยม

แต่ในกลุ่มข้าราชการพลเรือน มี 20 กระทรวง มีหน่วยงานระดับกรมอีกนับร้อยๆ หน่วย ระบบราชการไทยจึงมีความหลากหลายมาก ทั้งมิติเชิงอุดมการณ์ การทำงาน วัฒนธรรม แต่สิ่งหนึ่งที่ผมสังเกตมาตลอดคือรัฐประหารปี 2534 ที่นำมาสู่เหตุการณ์พฤษภาทมิฬปี 2535 และส่วนที่ทำให้เสียใจที่สุดคือรัฐประหารปี 2549 การรัฐประหาร 2 ครั้งนี้ในทัศนะผมสำคัญอย่างไร ผมจำได้ว่าหลังจากรัฐประหารปี 2543 ครูบาอาจารย์ของผมบอกเสมอว่าคงเป็นรัฐประหารครั้งสุดท้าย และไทยกำลังเปลี่ยนด้วยพลังเศรษฐกิจ ภาคเอกชน การเข้าสู่โลกาภิวัตน์ ฯลฯ และทำให้กลไกรัฐทำงานแบบเดิมไม่ได้ ซึ่งเราก็เห็นว่าระบบราชการเริ่มมีอำนาจการเมืองและการบริหารประเทศลดลงเป็นลำดับ แม้ยังเป็นกลไกรัฐ แต่ไม่ใช่กลไกที่หลุดลอยจากการตรวจสอบ หลังปี 2535 จึงนำไปสู่กระบวนการปฏิรูปการเมือง ผลผลิตสำคัญของขบวนการนี้คือรัฐธรรมนูญ 2540

ถ้าดูดีๆ ผมคิดว่าประมาณ 1 ใน 3 หรือครึ่งหนึ่งด้วยซ้ำไปที่พยายามยัดใส่รัฐธรรมนูญ 2540 เกือบจะทั้งหมดตั้งเป้าที่จะลดทอนอำนาจของระบบราชการ หรือทำให้ระบบราชการสามารถถูกตรวจสอบได้ เข้าไปมีส่วนร่วมกับมันได้ หรือจัดการได้ นำไปสู่การเกิดข้อกฎหมายและองค์กรที่มุ่งเน้นตรวจสอบองค์กรรัฐมากมาย เช่น พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร ตั้งศาลปกครองเป็นครั้งแรกเพื่อฟ้องร้องเอาผิดราชการได้ มีสำนักงานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน มีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ทั้งหมดมุ่งเป้าเล่นงานกลไกรัฐ หลายท่านอาจบอกว่าใช้เล่นงานนักการเมือง แต่วิธีคิดดั้งเดิมตั้งใจใช้เล่นงานระบบราชการ ซึ่งหลุดลอยจากสังคมและปลอดพ้นจากการตรวจสอบมานาน

“ชนชั้นนำไทยที่ทำรัฐประหารแต่ละครั้งมีเหตุผลหลายเรื่อง แต่ผมคิดว่าคำถามหนึ่งที่อาจช่วยให้เรามองเห็นอะไรบางอย่างคือ ทั้งหมดเกิดขึ้นมาเพื่อปกป้องอะไรบางอย่างเสมอ...ผมคิดว่าคือการพยายามรักษาความเป็นราชการที่จะนำสังคมต่อไป แล้วทำไมต้องหวงแหนไว้ขนาดนี้ ทำไมเราจึงควรเป็นสังคมที่มีราชการนำอยู่”

แต่สิ่งที่น่าเสียใจสุดคือรัฐประหารปี 2549 เพราะว่าก่อนนี้เราได้รัฐบาลไทยรักไทย สิ่งที่น่าสนใจของรัฐบาลนี้คือเป็นรัฐบาลแรกๆ ที่เป็นรัฐบาลพลเรือน แต่มีความตั้งใจกับการปฏิรูประบบราชการเป็นครั้งแรก คือระบบราชการไทยมีปัญหามานานแล้วครับ มันใหญ่โต เทอะทะ แต่ประสิทธิภาพการทำงานต่ำ รัฐบาลไทยพยายามปฏิรูปมานานแล้ว รัฐบาลแรกที่พูดคือรัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ แต่รัฐบาลแรกที่จริงจังคือรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ โดยตั้งคณะกรรมการปฏิรูปราชการและบริหารราชการแผ่นดินเป็นรัฐบาลแรก และใช้คณะกรรมการในการเสนอแนะปรับรื้อระบบราชการมาโดยตลอด สิ่งที่น่าสนใจคือหลังจากรัฐบาลเปรมเป็นต้นมา ทุกรัฐบาลจะมีแผนและตั้งคณะกรรมการปฏิรูประบบราชการ แต่มีความสำเร็จจำกัดมาก รื้อโครงสร้างใหญ่ไม่ได้เลย แต่มักปรับเปลี่ยนได้ในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่น การหยุดการขยายตัวของจำนวนข้าราชการ ซึ่งเริ่มต้นสมัยพลเอกเปรมและเรายังใช้อยู่จนถึงปัจจุบัน

แต่พอถึงรัฐบาลไทยรักไทย ซึ่งเป็นรัฐบาลแรกที่เอาจริงเอาจังมาก ปีแรกก็มีปรับเปลี่ยน พ.ร.บ.บริหารราชการแผ่นดิน นำไปสู่การตั้งสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ หรือ กพร. เพื่อมาทุบระบบราชการโดยตรง ก่อนหน้านี้ทุกรัฐบาลตั้งคณะกรรมการ แต่ไม่มีสถานะและอำนาจอย่างจริงจัง เพราะว่ามีลักษณะเป็นที่ปรึกษาเชิงนโยบายให้กับคณะรัฐมนตรีเท่านั้น ซึ่งการทำแบบเดิมนี้มันเคลื่อนไม่ได้ วิธีการคือให้มีอำนาจทางกฎหมายในการพัฒนาระบบราชการ จัดตั้งหน่วยงานถาวรเพื่อให้มีหน้าที่ ทำให้งานไปของมันได้และก็ไปของมันได้เรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน

สิ่งที่น่าเสียใจคือพลังจากภาคเอกชน สังคม รวมถึงเทคโนแครตในระบบราชการเองก็เห็นว่า ระบบราชการเป็นตัวหลักที่ฉุดรั้งประเทศ ต้องปฏิรูป ต้องปรับเปลี่ยน แนวโน้มในสมัยรัฐบาลไทยรักไทยก็ดูเหมือนจะดี ราชการไทยเริ่มไม่มั่นคง อยู่ในช่วงการปรับตัวอย่างมหาศาล เราเห็นการเปลี่ยนแปลงเยอะมาก แต่รัฐประหารปี 2549 ผมเป็นคนหนึ่งที่เสียใจมาก เพราะกลไกราชการที่กำลังเปลี่ยน สุดท้ายถูกดึงกลับอีกครั้งหนึ่ง รัฐประหารปี 2557 ก็ตอกย้ำว่าราชการไทยเริ่มกลับไปเหมือนเดิม เราเห็นการตั้งกรมใหม่ เห็นส่วนกลางเริ่มออกไปตั้งสำนักงานต่างจังหวัด ซึ่งถูกชะลอมานาน เพราะสายปฏิรูปเห็นว่ามันเป็นวิธีการทำงานแบบโบราณมากและสิ้นเปลืองทรัพยากรแต่ไม่นำไปสู่การสร้างผลงานได้อย่างเป็นระบบ เป็นการขยายตัวแบบสร้างอาณาจักรเท่านั้นเอง เพื่อสร้างตำแหน่งแห่งที่ ให้มีตำแหน่งระดับบริหารต่อไป

สถานการณ์ทั้งหมดนี้ ผมคิดว่าไม่ว่าเราจะเป็นประชาธิปไตยในความหมายใด จากการเลือกตั้งหรือในระบอบรัฐประหาร ในท้ายที่สุดพลังสำคัญที่จะกำหนดทิศทางว่ารัฐไทยจะใช้อำนาจแบบไหน อย่างไร ขึ้นกับการประนีประนอมพูดคุยกับกลไกในระบบราชการว่าระบบราชการจะไปอย่างไร

ทำไมถึงพูดเช่นนี้ ระบบราชการไทยมีทั้งด้านแข็งและอ่อน ด้านแข็งคือมีความสามารถต้านทานความเปลี่ยนแปลงสูงมาก แต่ด้านอ่อนคือสามารถอยู่กับรัฐบาลไหนก็ได้ ผมคิดว่ารัฐบาล คสช. ก็ปวดหัวกับระบบราชการไทยมาก เพราะการจะทำตามสัญญาต้องอาศัยกลไกในระบบราชการให้เกิดผลงาน แต่ปัญหาใหญ่ที่ทำให้ คสช. ยังไม่ประสบความสำเร็จมากนักก็คือกลไกระบบราชการที่ยังทำงานไม่ได้หรือทำก็ไม่ได้ผลดี เราจึงเห็นปรากฎการณ์การใช้มาตรา 44 หลายคนอาจมองมาตรา 44 เป็นรูปแบบหนึ่งของการใช้อำนาจตามอำเภอใจเพียงแต่มีกฎหมายบังคับ แต่อีกด้านหนึ่ง มาตรา 44 กลับถูกใช้มากเพื่อให้ระบบราชการไทยทำงาน ยกตัวอย่างคือโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี ใช้มาตรา 44 เพื่อเพิกถอนอำนาจราชการระดับกรม เพราะถ้าไม่ทำ โครงการต่างๆ ที่รัฐบาลทำไว้จะทำไม่ได้ เช่น การเชื่อมต่อระหว่างรางกับท่าเรือ ต้องไปรื้ออำนาจฝ่ายรางกับฝ่ายเรือเพื่อทำให้ต่อกันได้

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ผมขออ้างคำอธิบายหนึ่งถึงโครงสร้างการบริหารราชการแผ่นดินไทยผ่านงานของอาจารย์ชัยอนันต์ สมุทวณิชและอาจารย์เอนก เหล่าธรรมทัศน์ อาจารย์ชัยอนันต์บอกว่าประเทศไทยปกครองด้วยระบบกรม เรียกว่า กรมาธิปไตย หมายความว่าฐานอำนาจใหญ่ในการปกครองประเทศ ทั้งในเชิงอำนาจทางกฎหมาย ทรัพยากร บุคคลากร งบประมาณ กระจุกตัวกับกรมต่างๆ เพียงแต่กรมไทยมีลักษณะเด่นคือไม่ประสานงานกันเลย ต่างคนต่างมีอาณาจักรของตนเอง อาจารย์เอนกจึงเรียกสถานการณ์นี้ว่า Fragmented Centralism คือมีระบบบริหารราชการแบบรวมศูนย์ แต่มีสภาพแตกกระจายมาก ประเทศไทยรวมศูนย์ แต่ไม่เป็นเอกภาพเลย

มองในแง่นี้ ถ้าเราจะเป็นประชาธิปไตย โจทย์หนึ่งที่เราต้องให้ความสำคัญคือเราจะจัดการระบบราชการอย่างไรให้ตอบสนองต่อปัญหาประชาชนมากขึ้น

ผมขอทิ้งท้ายว่า ชนชั้นนำไทยที่ทำรัฐประหารแต่ละครั้งมีเหตุผลหลายเรื่อง แต่ผมคิดว่าคำถามหนึ่งที่อาจช่วยให้เรามองเห็นอะไรบางอย่างคือ ทั้งหมดเกิดขึ้นมาเพื่อปกป้องอะไรบางอย่างเสมอ คำถามคือทหารที่เข้ามาพยายามปกป้องอะไรไว้ สังคมไทยเปิดมาก แต่คำถามคือทุกๆ รัฐประหารเท่าที่ผมเห็น พยายามรักษาอะไรบางอย่างไว้ ผมคิดว่าคือการพยายามรักษาความเป็นราชการที่จะนำสังคมต่อไป แล้วทำไมต้องหวงแหนไว้ขนาดนี้ ทำไมเราจึงควรเป็นสังคมที่มีราชการนำอยู่

 

ระบอบอำนาจนิยมที่เปราะบาง บนสังคมเข้มแข็งแต่แบ่งเป็นฝักฝ่าย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ผมอยากเริ่มต้นด้วยการทบทวนความทรงจำ จากวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ที่เกิดรัฐประหาร พบว่าในช่วง 4 ทศวรรษ รัฐประหาร 3 ครั้งหลัง เราอยู่กับมันไม่นาน รัฐประหารปี 2520 มีการเลือกตั้งในปี 2522 ตามด้วยระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบ รัฐประหารปี 2534 ปี 2535 ก็มีการเลือกตั้ง รัฐประหารปี 2549 ผ่านไปปีเศษๆ ก็มีการเลือกตั้ง

แต่รัฐประหารปี 2557 ปรากฏว่าอยู่ยาว แล้วอยู่ยาวครั้งนี้ทำอะไรให้เกิดขึ้นมากมาย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเสนอว่ามี 3 เรื่องใหญ่ๆ ที่เกิดขึ้นคือ หนึ่ง-การจัดการพลเรือนด้วยวิธีคิดและปฏิบัติการทางทหาร สอง-สถาปนาอำนาจเผด็จการไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างถาวร สาม-ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือยกเว้นเสรีภาพของบุคคล ถามว่ารัฐประหารครั้งก่อนมีปรากฏการณ์แบบนี้เกิดขึ้นหรือไม่ มันก็อาจจะพอมีอยู่บ้าง แต่ไม่ลงลึก แผ่กว้างขนาดนี้ การสร้างระบอบเพื่อรักษาอำนาจเผด็จการไว้ก็ไม่เห็นชัดเท่านี้

ผมอยากชวนพิจารณาสถานะของ คสช. ว่าตอนนี้เป็นอย่างไร พออยู่ครบ 4 ปี ผู้คนมักเข้าใจว่า คสช. มีความเข้มแข็งจนยากสั่นคลอน เราอาจต้องอยู่กับมันไปยาวนาน ผมอยากลองดูบางด้านคืออำนาจนำและอำนาจบังคับของ คสช.

อำนาจนำคืออำนาจที่ทำให้ยอมรับการดำรงอยู่โดยไม่ต้องใช้กำลัง ไม่ต้องใช้ปืนจี้หัว อย่างน้อยก็มีสองสามเรื่องที่เขาอาจแสดงให้เห็นได้ หนึ่งคือเชิงคุณธรรม แสดงตนราวกับว่าเป็นคนดี สอง-เชิงความสามารถ ปัจจุบันผู้คนมักนึกถึงความสามารถด้านเศรษฐกิจ อำนาจนำคือจะทำให้คนเชื่ออำนาจนี้ได้อย่างไรโดยไม่ต้องเอาปืนจ่อหัว ผมว่าถึงปัจจุบันคนตั้งข้อสงสัยต่ออำนาจนำนี้เป็นจำนวนมาก สิ่งที่แสดงว่าความชอบธรรมในอำนาจนำของ คสช. ลดลง เพราะกลุ่มคนที่เอื้อให้ คสช. เข้าสู่อำนาจ เป็นกลุ่มคนชุดเดียวกันที่ออกมาวิจารณ์อย่างดุเดือด ผมจึงไม่แน่ใจว่าอำนาจนำของ คสช. ยังเข้มแข็งอยู่ขนาดไหน

ในเชิงอำนาจบังคับหมายถึงการใช้กำลัง ใช้อาวุธ เพื่อคุกคาม ควบคุมบุคคล มันมี 2 คำคือรัฏฐาธิปัตย์กับเป็นไปตามกฎหมาย วันที่ 30 มกราคม 2561 มีนักข่าวไปถามคุณประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เรื่องการเลือกตั้ง คุณประวิตรบอกว่า ตอนนี้เป็นรัฏฐาธิปัตย์จะมาอะไรล่ะ นัยคือฉันมีอำนาจสูงสุด พอพูดแบบนี้แล้วโดนถล่มเละเลย ผมคิดว่าตรงนี้น่าสนใจ เวลาพูดว่าตนเองเป็นรัฏฐาธิปัตย์หมายความว่าตนเองเป็นผู้ทรงอำนาจสูงสุด แต่คำนี้ไม่เป็นที่ยอมรับ

แต่อีกคำหนึ่งที่อาจารย์พิชญ์พูดถึง ผมคิดว่าคำนี้ถูกใช้อย่างต่อเนื่องคือ เป็นไปตามกฎหมาย ประยุทธ์พูดว่าเป็นรัฏฐาธิปัตย์น้อยมาก ไม่ว่าจะกรณีระบายข้าว กรณีธัมชโย กรณีเลือกตั้ง กรณีเปรมชัย ประยุทธ์ก็ว่าให้เป็นไปตามกฎหมาย ผมคิดว่าเวลาใช้คำว่าเป็นไปตามกฎหมาย นัยคืออำนาจไม่ได้รวมศูนย์ แต่กระจายไปกับกฎหมายหรือองค์กรที่บังคับใช้กฎหมาย ในด้านหนึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นคำสั่งที่ คสช. เขียนขึ้นเอง แต่พอพูดว่าอำนาจที่ตนเองมีอยู่เป็นไปตามกฎหมาย ผมจึงคิดว่าอำนาจนี้ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยและเงื่อนไขที่หลากหลาย คือไม่ได้ผูกขาดอำนาจทั้งหมดไว้

“ผมคิดว่าอำนาจของ คสช. อยู่ในช่วงที่เปราะบางมาก ผมคิดว่าสังคมไทยก็เข้มแข็งไม่น้อย แต่ที่ คสช. อยู่ได้เพราะอยู่บนสังคมที่แบ่งฝักฝ่าย ถ้าดูการใช้อำนาจของ คสช. ที่ประสบความสำเร็จ... เรากำลังอยู่ใต้ระบอบอำนาจนิยมที่เปราะบาง บนสังคมเข้มแข็งแต่แบ่งเป็นฝักฝ่าย และบนระบบราชการที่กำลังขยายตัวอย่างกว้างขวาง”

ดังนั้น สิ่งที่เราจะเห็นก็คือการใช้อำนาจบังคับสัมพันธ์กับอำนาจนำทางสังคมว่ามีสูงขนาดไหน ถ้าอำนาจนำทางสังคมไม่สูง ผมคิดว่าการใช้อำนาจบังคับที่ว่าเป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับตำรวจ อัยการ ศาล และอื่นๆ เมื่อเป็นอย่างนี้ ถ้าอำนาจนำคุณตกต่ำ มีความเป็นไปได้ที่องค์กรอื่นๆ ไม่ได้เดินตามแนวที่คุณกำหนดไว้หรอก ช่วงหลังเราจึงเริ่มเห็นร่องรอยที่ไม่เป็นไปตามความต้องการของ คสช. เช่น เห็นอัยการเริ่มมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องเพราะคดีไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ เราเริ่มเห็นคดีที่ศาลบอกว่าคดีนี้ยกฟ้อง หรือในหลายปีที่ผ่านมาถ้าเป็นคดีที่กระทบสิทธิเสรีภาพของประชาชน สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นส่วนใหญ่คือรอลงอาญา

เมื่อมีการใช้คำว่า เป็นไปตามกฎหมาย มีปฏิบัติการที่ผ่านคำนี้เยอะ หมายความว่า คสช. อาจไม่ได้เข้มแข็งมากเท่าไหร่ คำถามคือทำไมอยู่มาได้ถึง 4 ปี ผมมีคำตอบว่าอำนาจของ คสช. ปัจจุบันเป็นอำนาจที่เปราะบาง เปราะบางไม่ได้หมายถึงอ่อนแอหรือสุภาพเรียบร้อย อาจจะป่าเถื่อนก็ได้ ตอนปลายๆ ของรัฐบาลสุจินดา คราประยูร เปราะบางและก็ใช้อำนาจรุนแรงกับประชาชนได้ ผมคิดว่าอำนาจของ คสช. อยู่ในช่วงที่เปราะบางมาก ผมคิดว่าสังคมไทยก็เข้มแข็งไม่น้อย แต่ที่ คสช. อยู่ได้เพราะอยู่บนสังคมที่แบ่งฝักฝ่าย ถ้าดูการใช้อำนาจของ คสช. ที่ประสบความสำเร็จ จะสำเร็จอยู่บนสถานการณ์ที่ถูกตรึงเป็นฝักฝ่าย เช่น ถ้าใครลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ ผมคิดว่ามันทำให้บางฝ่ายไม่ยุ่งเรื่องนี้ เราจึงเห็นการควบคุมตัวอย่างไร้กฎเกณฑ์หรือมีคำถาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคดี 112 ถ้าประเด็นที่ยืนอยู่บนการแบ่งฝักฝ่าย แบบนี้ คสช. สามารถใช้อำนาจได้

แต่ถ้าเป็นประเด็นที่ข้ามพ้นสีทางการเมือง เราเห็นหลายเรื่องที่ทำให้เห็นพลังของสังคมไทยที่ยังพอมีอยู่ เช่น กรณีหมู่บ้านป่าแหว่งที่เชียงใหม่ กรณีพีมูฟ ประเด็นที่ไม่สัมพันธ์กับสีเสื้อ คสช. ก็ลังเลอยู่พอสมควร สังคมไทยไม่ได้อ่อนแอโดยตัวมันเอง แต่ความแบ่งฝักฝ่ายนี่แหละทำให้การใช้อำนาจของ คสช. เกิดขึ้นได้

ตอนนี้ผมคิดว่าเรากำลังอยู่ใต้ระบอบอำนาจนิยมที่เปราะบาง บนสังคมเข้มแข็งแต่แบ่งเป็นฝักฝ่าย และบนระบบราชการที่กำลังขยายตัวอย่างกว้างขวาง

ทำไมจึงเลื่อนเลือกตั้ง เพราะการเลือกตั้งจะทำให้อำนาจที่เปราะบางนี้ชัดเจนมากขึ้น ตัวคนในระบอบก็ตระหนักว่าถ้าขยับไปสู่การเลือกตั้ง มันไม่สามารถสร้างความมั่นใจใดๆ ให้เกิดขึ้นเลย

นอกจากพิจารณาตัว คสช. แล้ว การให้ความสำคัญกับภาคพลเมือง ผมคิดว่าสำคัญไม่แพ้กันและผมคิดว่าต้องกระโดดข้ามความขัดแย้ง ไม่ใช้ก้าว ต้องออกแรงเยอะ งานของอาจารย์สายชล สัตยานุรักษ์ เรื่อง นักวิชาการไทยกับการต่อสู้ช่วงชิงประชาธิปไตยในภาวะวิกฤตทางการเมือง 2548-2557 ซึ่งศึกษาแนวความคิดเกี่ยวกับประชาธิปไตยของนักวิชาการที่สนับสนุนเสื้อเหลืองและที่สนับสนุนเสื้อแดงว่ามีความเห็นอย่างไร งานของอาจารย์สายชลชี้ให้เห็นว่า งานของนักวิชาการทั้งสองฝ่ายมีประเด็นร่วมกันอยู่กว้างขวาง ผมคิดว่าท่ามกลางความเห็นที่แตกต่าง เราอาจมีประเด็นบางอย่างที่ร่วมกันได้อยู่บ้าง ที่มองไปอนาคตข้างหน้าแล้วเป็นความหวังอยู่บ้าง

ประเด็นพื้นฐานอะไรบ้างที่เราพอจะมองเห็นร่วมกัน ผมคิดว่าถึงตอนนี้มันคือการเลือกตั้ง แม้ว่าการเลือกตั้งไม่ใช่การแก้ไขปัญหาทางการเมืองที่สั่งสมมามากกว่าทศวรรษ แต่มันอาจเป็นประตูบานเล็กๆ ที่เปิดไปสู่ความเป็นไปได้ของการแก้ไขปัญหาด้วยการถกเถียงและใช้ปัญญามากขึ้น

ประการที่ 2 ผมคิดว่าความเหลื่อมล้ำที่กว้างขวางน่าจะส่งผลกระเทือนมากขึ้น คนที่ศึกษาเรื่องคนจน เรื่องความเหลื่อมล้ำ เริ่มมีตัวเลขออกมาให้เห็นว่าในช่วงสามสี่ปีแล้ว ความเหลื่อมล้ำและคนจนกำลังขยายตัวมากขึ้นในสังคมไทย ซึ่งผมคิดว่านี่เป็นประเด็นที่ไม่น่าจะถูกปฏิเสธจากฝ่ายไหน

กระบวนการยุติธรรมถูกดึงให้เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองมากขึ้น ปัจจุบันเราตระหนักแล้วว่ากระบวนการยุติธรรมไม่ใช่สถาบันที่อยู่นอกขอบเขตทางการเมือง มีงานหลายชิ้นที่อธิบายว่าตุลาการเข้ามามีส่วนทางการเมืองอยู่มาก มีงานของฝรั่งที่ชี้ว่าในประเทศเผด็จการหลายประเทศ ตุลาการมีแนวโน้มที่จะทำหน้าที่ที่ธำรงอำนาจนำแบบดั้งเดิม หมายความว่าตุลาการหันไปเข้ากับกลุ่มชนชั้นนำดั้งเดิมเพื่อพิทักษ์ระเบียบที่เคยเป็นมา

ผมคิดว่าเหล่านี้เป็นเรื่องที่เราต้องคิดถึงต่อไปว่าจะจัดการกับอนาคตข้างหน้าอย่างไร ถ้าเราเดินไปแบบนี้เรื่อยๆ เราก็คงเห็นระบบการเมืองแบบลูกผสมเกิดขึ้นแน่ๆ เราคงเห็นระบบราชการที่ขยายตัวใหญ่โต และอาจเห็นปัญหาอื่นๆ ทางสังคมและการเมืองตามมาอีกเยอะ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net