กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายยื่นหนังสือนายกฯ ขอยกเลิกใบอนุญาต รง.4 โรงงานน้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์

กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายยื่นหนังสือนายกฯ ขอยกเลิกใบอนุญาต รง.4 โรงงานน้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ ชี้ไม่มีส่วนร่วมจากประขาชนในพื้นที่ หวั่นแย่งชิงทรัพยากรน้ำ ที่ตั้งโครงการอยู่ใกล้ชุมชน ทั้งการดำเนินโครงการขัดแย้งกับนโยบายแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง

18 พ.ค. 2561 ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล สำนักงานปลัดนายกรัฐมนตรี ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายได้เดินทางเข้ายื่นหนังสื่อถึงนายกรัฐมนตรี เรื่อง ขอให้พิจารณาทวนยกเลิกใบอนุญาตโรงงาน ของโครงการโรงงานน้ำตาลทราย ขนา 20,000 ตันต่อวัน ของบริษัท น้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ จำกัด ที่ตั้งอยู่ที่ตำบลน้ำปลีก อำเภอเมืองอำนาจเจริญ จังหวัดอำนาจเจริญ โดยสาธิต สุทธิเสริม หัวหน้าฝ่ายประสานมวลชน ได้ออกมารับหนังสือดังกล่าว

ใจความในหนังสือระบว่า ตามที่บริษัท น้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ จำกัด ได้เสนอรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้านอุตสาหกรรมและระบบสาธารณูปโภค โครงการโรงงานน้ำตาลของบริษัทฯ ซึ่งจัดทำโดย บริษัท คอนซัลแทนท์ ออฟ เทคโนโลยีจำกัด แล้วเสนอให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.) ดำเนินการพิจารณา โดยโครงการทั้งหมดมีขนาด 716 ไร่ 2 งาน 37 ตารางวา มีกำลังผลิต 20,000 ตันต่อวัน โดยได้รับมติเห็นชอบรายงานไปเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2560 โดยให้ผู้เสนอกลับไปแก้ไขเพิ่มตามแนวทาง รายละเอียดตามที่คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญกำหนด

ต่อมาได้มีการส่งรายงานฉบับชี้แจงเพิ่มเติม แต่ คณะกรรมการผู้ชำนาญการมีมติไม่เห็นชอบรายงานดังกล่าว เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2560 ซึ่งถือว่าเป็นการสิ้นสุดกระบวนการพิจารณารายงานแล้ว แต่ต่อมาบริษัทได้เสนอรายงานฉบับใหม่เมื่อวันที่ 5 ก.พ. 2561 โดยมีการลดขนาของโครงการเหลือพื้นที่ 702 ไร่ 2 งาน 53.77 ตารางวา ฝ่ายเลขานุการได้พิจารณาเบื้องต้น มีข้อเสนอให้แก้ไขเพิ่มเติมในประเด็นเรื่องการจัดการน้ำ รายละเอียดของโครงการ และการใช้ประโยชน์ในที่ดิน การคมนาคม การมีส่วนร่วมของประชาชน พื้นที่สีเขียว

ต่อมาวันที่ 14 มีนาคม คณะกรรมการผู้ชำนาญการ มีมติ เห็นชอบกับรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (ครั้งที่ 11/2561) ตลอดจนเปิดโอกาสให้ทางบริษัทที่ปรึกษากลับไปทำรายงานฉบับสมบูรณ์ และในปัจจุบันทางบริษัทกำลังดำเนินขั้นตอนในการขอใบอนุญาต รง.4

ทางกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ต.เชียงเพ็ง อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร ซึ่งเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่มีพื้นที่อยู่อาศัยภายในรัศมี 5 กิโลเมตร รวมทั้งชุมชนอื่นๆ อีกมากมายที่พึ่งพิงลำเซบายเป็นหลัก ถือว่าใกล้พื้นที่จะเกิดโรงงานน้ำตาล การมีวิถีชีวิตที่พึ่งพิงทรัพยากรจากดิน ลำน้ำเซบาย ป่าชุมชน ป่าบุ่งป่าทาม ทำให้ชุมชนเกิดความตระหนักที่จะมีโรงงานใกล้ชุมชนและทรัพยากรที่ชุมชนได้อาศัยอันจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อวิถีของชุมชน ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจฐานรากที่หาได้จากทรัพยากร วัฒนธรรม และอื่นๆ

จึงขอคัดค้านมติให้ความเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมดังกล่าวของ คชก. โดยทางกลุ่มขอเรียนยืนยันตามข้อมูลข้อเท็จจริงและเหตุผล รวมถึงข้อคิดเห็นท้วงติงและข้อคัดค้านของหน่วยงานองค์กรและนักวิชาการต่างๆ เกี่ยวกับเหตุความไม่ถูกต้องเหมาะสมของโครงการ ซึ่งได้เคยยื่นส่งเป็นเอกสารและส่งตัวแทนเข้าร่วมชี้แจงในการประชุมพิจารณารายงาน EIA ของ คชก. แล้ว โดยกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ขอเรียนเน้นย้ำถึงเหตุผลข้อคัดค้านอันเป็นสาระสำคัญถึงความไม่ถูกต้องเหมาะสมของโครงการและยังมีข้อขัดแย้งทางข้อมูลต่อพื้นที่ ดังนี้

ประเด็นที่ 1 กระบวนการไม่มีส่วนร่วมของชุมชน การมีส่วนร่วมของของชุมชนถือว่าเป็นกระบวนการหลักถ้ามีโครงการหรือโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่จะเกิดขึ้น ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยปี พ.ศ. 2550 มาตรา 67 ที่ผ่านมา ระบุถึง “การให้สิทธิแก่ชุมชน” ไว้ว่า “สิทธิ ของบุคคลที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชน ในการอนุรักษ์ บำรุงรักษา และการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ และในการคุ้มครองส่งเสริม และรักษาคุณภาพ สิ่งแวดล้อม เพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อม  ที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ อนามัย สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิตของตน ย่อมได้รับความคุ้มครองตามความเหมาะสม” และปัจจุบันตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี พ.ศ. 2560 มาตรา ตามมาตรา 57 (1) รัฐต้องอนุรักษ์ ฟื้นฟู และส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม และจารีตประเพณีอันดีงาม จัดให้มีพื้นที่สาธารณะสำหรับการทำกิจกรรม โดยต้องส่งเสริมให้ประชาชน ชุมชน และองค์กรท้องถิ่น  มีส่วนร่วมด้วย ตามมาตรา 57 (2) รัฐต้องอนุรักษ์ คุ้มครอง บำรุงรักษา ฟื้นฟู ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวิตภาพ โดยต้องให้ประชาชน และชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมดำเนินการและได้รับประโยชน์ด้วย และตามมาตรา 78 รัฐต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศด้านต่างๆ การจัดทำบริการสาธารณะ การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ การต่อต้านการทุจริต รวมทั้งการตัดสินใจทางการเมือง และการอื่นๆ ที่อาจมีผลกระทบต่อประชาชน

ฉะนั้นทำให้กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ต.เชียงเพ็ง วิเคราะห์ว่า บริษัทที่ปรึกษาซึ่งทำ EIA ของโรงงงานน้ำตาล ไม่ได้ทำตามขั้นตอนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนที่แท้จริง โดยเฉพาะ 1. การมีส่วนร่วมทั้งในเรื่องการให้ข้อมูลข่าวสารของโรงงานน้ำตาล จะต้องให้ข้อมูลทั้งสองด้านคือด้านลบและด้านบวก เพื่อให้คนในพื้นที่และระดับนักวิชาการได้ร่วมพิจารณาตั้งแต่เริ่มต้นที่จะมีการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมว่าจะเหมาะสมกับพื้นที่หรือไม่ เนื่องจากการให้ข้อมูลที่ครบถ้วนจะทำให้ชุมชนได้มีโอกาสในการไตร่ตรองข้อมูล ก่อนตัดสินใจ ซึ่งที่ผ่านมากระบวนการมีส่วนร่วมในการจัดเวที ได้ติดตามกระบวนการชี้แจงการดำเนินโครงการ ในเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2559 และวันที่ 10 มี.ค. 2560 ซึ่งในเวทีกระบวนการเข้าร่วมเวทีของกลุ่มผู้มีส่วนที่กังวลต่อผลกระทบได้ถูกกำหนดจำนวนคนให้เข้าร่วมเวที ตลอดจนเวทีในวันที่ 10 มี.ค. 2560

ประเด็นที่ 2 ไม่มีการทำความตกลงกับชุมชนให้ชัดเจนถึงการกำหนดระดับน้ำในการผันน้ำให้อยู่ในระดับที่หน่วยงานอนุญาตหรือที่ชุมชนยอมรับร่วมกัน ทั้งกลางน้ำ ปลายน้ำ และยังไม่มีการจัดประชุมประชาคมกลุ่มผู้ใช้น้ำและทรัพยากรในลำน้ำเซบายในประเด็นเรื่องการผันน้ำเข้าไปใช้ในโครงการ 2 ล้าน ลบ.ม./ปี ซึ่งโครงการจะมีแผนในการผันน้ำจากลำเซบายเข้าพื้นที่โรงงานน้ำตาลในช่วงฤดูน้ำหลากเดือนส.ค – เดือนก.ย. 2 ล้าน ลบ.เมตร/ปี การกำหนดปริมาณน้ำที่ต้องผันจากลำน้ำเซบายนั้นกำหนดโดยบริษัทเพียงฝ่ายเดียว ไม่มีการปรึกษาหารือหรือรับฟังความเห็นของชุมชนในเรื่องนี้โดยซึ่งหน้า และไม่มีการพิจารณาประเมินผลกระทบต่อทรัพยากรชีวภาพในบริเวณจุดผันน้ำลำเซบาย นอกจากนี้เนื่องด้วยลำน้ำเซบายเป็นทางน้ำสาธารณะที่มีประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมและมีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 5 จังหวัด 105 ตำบล 530 หมู่บ้านโดยเป็นพื้นที่บางส่วนของจังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดมุกดาหาร จังหวัดยโสธร จังหวัดอำนาจเจริญและจังหวัดอุบลราชธานี มีชุมชนระดับเทศบาลเมือง 1 แห่ง เทศบาลตำบล 6 แห่ง มีประชากรรวมทั้งลุ่มน้ำ 281,210 คน หากโครงการต้องการจะผันน้ำลำเซบายเข้ามาใช้ในโครงการจะต้องมีการรับฟังความคิดเห็นประชาชน จัดทำประชาคมหมู่บ้านหรือกลุ่มผู้ใช้ประโยชน์ทรัพยากรน้ำและทรัพยากรอื่นๆ ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ในลำน้ำเซบายที่จะได้รับผลกระทบจากการผันน้ำดังกล่าว

2.1 ไม่มีการศึกษากิจกรรมของการใช้น้ำทั้งลำน้ำเซบายว่าชุมชนมีกิจกรรมอะไรเกี่ยวข้องกับลำน้ำเซบายบ้าง อย่างไรก็ตามบริษัทได้ทำการศึกษาปริมาณน้ำที่จะผันน้ำเข้าโรงงานเพียงเท่านั้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมที่ชุมชนเป็นผู้ดูแลรักษาและใช้ประโยชน์จากลำน้ำเซบายหลายด้าน เช่น การเกษตรในการทำนาปี(บางปีฝนแล้งสถานีสูบน้ำตลอดลำน้ำจะต้องดึงน้ำจากลำเซบายขึ้นไปหล่อเลี้ยงต้นข้าว และชุมชนจะต้องดึงน้ำขึ้นมาเพื่อทำการประปาชุมชนและเมือง) โดยเฉพาะการใช้น้ำประปาจังหวัดอำนาจเจริญ มีสำนักงานประปาภูมิภาคประมาณ 5 แห่ง โดยมีหน่วยบริการในตำบลน้ำปลีก มีจำนวนผู้ใช้น้ำประมาณ 966 ครัวเรือน หน่วยบริการอำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร มีจำนวนผู้ใช้น้ำ 755 ครัวเรือน หน่วยบริการพนา มีจำนวนผู้ใช้น้ำประมาณ 1,098 ครัวเรือน หน่วยบริการลืออำนาจมีจำนวนผู้ใช้น้ำประมาณ 658 ครัวเรือน และมีแม่ข่ายอยู่ที่สำนักงานประปาอำนาจเจริญ มีจำนวนผู้ใช้น้ำประมาณ 10,656 ครัวเรือน ตลอดจนการทำข้อตกลงในการใช้น้ำ

ประเด็นที่ 3 การดำเนินการโครงการโรงงานน้ำตาลขนาด 20,000 ตันอ้อย/วัน และโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 61 เมกะวัตต์ ถือว่าเป็นโครงการที่ขัดแย้งกับนโยบายแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 อุบลราชธานี ศรีสะเกษ ยโสธร อำนาจเจริญ พ.ศ. 2560 – 2564  การขยายพื้นที่ปลูกอ้อยของบริษัท น้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ โดยเฉพาะ ใน จ.อำนาจเจริญ และจังหวัดใกล้เคียงตามที่บริษัทได้พิจารณาทางเลือกของโครงการนั้นยังมีข้อขัดแย้งกับแนวคิดนโยบายและยุทธศาสตร์แผนพัฒนากลุ่มจังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 อุบลราชธานี ศรีสะเกษ ยโสธร อำนาจเจริญ พ.ศ. 2560 – 2564 ของจังหวัดยโสธร และอำนาจเจริญ ที่กำลังดำเนินการขยายพื้นที่ปลูกพืชอินทรีย์ และการปฏิบัติของชุมชน โดยเฉพาะการปลูกข้าวหอมมะลิอินทรีย์ ซึ่งเป็นนโยบายของจังหวัดยโสธรเป็นเมืองแห่งวิถีอีสาน เกษตรอินทรีย์ก้าวไกลสู่สากล และจังหวัดอำนาจเจริญเมืองธรรมเกษตรอินทรีย์ ด้วย

ประเด็นที่ 4 ความไม่เหมาะสมในการดำเนินโครงการเชิงพื้นที่ 

4.1 ที่ตั้งของโรงงานน้ำตาลที่จะจัดตั้งในจังหวัดอำนาจเจริญตั้งอยู่ในพื้นที่ใกล้ชุมชน รอยต่อพื้นที่ตำบลน้ำปลีก ตำบลนาหมอม้า จังหวัดอำนาจเจริญ และตำบลเขียงเพ็ง อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร ประมาณ  0.8-1 กิโลเมตร ซึ่งบริเวณดังกล่าวมีชุมชนและประชาชนอาศัยอยู่มากและทรัพยากรยังคงอุดมสมบูรณ์ชาวบ้านจึงมีความกังวล ถ้าเกิดมีการตั้งโรงงานเกิดขึ้นการก่อให้เกิดการทำลายทรัพยากรจากลำน้ำเซบาย ที่ดิน ป่า วิถีชีวิตชุมชน ปัญหาสังคม เป็นต้น

4.2 ที่ตั้งของโรงงานน้ำตาลที่จะจัดตั้งในตำบลน้ำปลีก อำเภอเมืองอำนาจเจริญ จังหวัดอำนาจเจริญ ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ลำเซบาย ตั้งอยู่ใกล้ชุมชนตำบลน้ำปลีก ตำบลนาหมอม้า จังหวัดอำนาจเจริญ และฝั่งตรงข้าม ตำบลเชียงเพ็ง อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร      

ดังนั้นทางกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ต.เชียงเพ็ง อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร จึงขอให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

1. พิจารณาทบทวนยกเลิกการขอใบอนุญาตโรงงาน ของโครงการโรงงานน้ำตาลทราย ขนาด 20,000 ตันอ้อย/วัน ของบริษัท น้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ จำกัด ตั้งอยู่ที่ตำบลน้ำปลีก อำเภอเมืองอำนาจเจริญ จังหวัดอำนาจเจริญ ซึ่งเป็นรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่ คชก. มีมติเห็นชอบ แต่ทางกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายจึงมองว่าเป็นข้อมูลที่หลายประเด็นยังขัดแย้งกับข้อมูลความเป็นจริงในระดับพื้นที่ตามที่เสนอข้างต้น

2. ให้ สผ. ทบวนยกเลิก มติเห็นชอบ รายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโรงงานน้ำตาล โรงไฟฟ้าชีวมวล เพื่อมาเริ่มกระบวนการใหม่ตั้งแต่เริ่มต้น

3. ให้มีการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment - SEA ) ที่เป็นการประเมินศักยภาพและข้อจำกัดของสิ่งแวดล้อม ที่จะทำให้เห็นความเหมาะสมของพื้นที่ในการพัฒนา เพื่อให้สอดคล้องกับ SEA หากว่าสอดคล้องจึงค่อยมีการทำ EIA/EHIA หากไม่สอดคล้องต้องไม่ต้องดำเนินการโครงการนั้น

4. ให้มีกระบวนการจัดทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโดย

- ผู้จัดทำรายงานต้องเป็นหน่วยงานกลางที่มีการยอมรับร่วมกัน

- ความสัมพันธ์ของเจ้าของโครงการและบริษัทผู้จัดทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมต้องแยกขาดจากกันโดยสิ้นเชิง

- มีการจัดทำรายงานผลการรับฟังความคิดเห็นโดยการมีส่วนร่วม และแสดงถึงผลการพิจารณาข้อคิดเห็นของประชาชนเพื่อสร้างความเชื่อมั่นของกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย

- กำหนดขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นให้เป็นไปโดยชอบธรรมโดยมีคณะกรรมการตรวจสอบควบคุมดูแลในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นโดยเฉพาะ

- กำหนดให้ประชาชนผู้มีส่วนได้เสียหรือผู้ได้รับผลกระทบสามารถเข้าถึงขั้นตอนการทำรายงานฯ ได้ตลอด ทั้งในระยะก่อนเริ่มดำเนินการ ระหว่างดำเนินการ และหลังจากดำเนินการ 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท