Skip to main content
sharethis

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ร่วม TDRI เผยผลศึกษาโครงการพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัล ชี้ปัญหาใหญ่ไทยกำลังคนด้านดิจิทัลสูง แต่ทำงานได้จริงน้อย สวนทางความต้องการภาคธุรกิจ จ้างงานเพิ่มขึ้นประมาณ 14,000 คนในปี 60   

16 พ.ค.2561 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย รายงานว่า เมื่อวันที่ 15 พ.ค.ที่ผ่านมา  ในการสัมมนาทางวิชาการเรื่อง แนวทางการสร้างกำลังคนด้านดิจิทัลของไทย: จากปริมาณสู่คุณภาพ ซึ่งจัดโดย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) ร่วมกับ TDRI  ณ ห้องคริสตัล บอลรูม โรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ สีลม มีสาระสำคัญคือ

DEPA ร่วม TDRI เผยผลศึกษาโครงการพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัล (Digital Manpower) รองรับอุตสาหกรรม S-Curve และ หนุนการเติบโตพื้นที่ EEC ชี้ปัญหาใหญ่ไทยกำลังคนด้านดิจิทัลสูง แต่ทำงานได้จริงน้อย สวนทางความต้องการภาคธุรกิจ จ้างงานเพิ่มขึ้นประมาณ 14,000 คนในปี 2560   

ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กล่าวเปิดงานงานสัมมนา เรื่อง “แนวทางการสร้างกำลังคนด้านดิจิทัลของไทย: จากปริมาณสู่คุณภาพ” ว่า ภายใต้นโยบายThailand 4.0 กลไกหนึ่งที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (new engine of growth) คือ การพัฒนา 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งประกอบด้วยการต่อยอด 5 อุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพ (First S-Curve) ประกอบด้วย อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริย อุตสาหกรรมท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ  อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ และอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร และการเติม 5 อุตสาหกรรมอนาคต (New S-Curve) ประกอบด้วย อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และเครื่องจักรอัตโนมัติ อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมดิจิทัล และอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร

รัฐบาลมุ่งหวังให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายดังกล่าวในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งประกอบด้วยพื้นที่ในจังหวัดระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวมีโครงสร้างพื้นฐานที่มีความพร้อม อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญที่สุดประการหนึ่งของการเติบโตของอุตสาหกรรมเป้าหมายดังกล่าว คือการพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัล ที่มีความรู้ความสามารถเพื่อตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) และสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่ EEC ทาง depa จึงได้ร่วมกับ TDRI ในการศึกษา “การพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัลเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายและการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)”  

ด้าน ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบัน ดร.เสาวรัจ รัตนคำฟู นักวิชาการอาวุโส และดร.เปาว์  ไวโรจน์พันธ์ นักวิชาการ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ได้เผยผลการศึกษา “การพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัลเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายและการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)” ที่สำคัญว่าการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ EEC เป็นก้าวสำคัญในการยกระดับประเทศไทยสู่ Thailand 4.0 แต่ข้อจำกัดสำคัญในขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ดังกล่าวคือ ประเทศไทยยังขาดกำลังคนทักษะสูงที่มีคุณภาพจำนวนมาก

ความท้าทายที่สำคัญของประเทศไทยคือ กำลังคนด้านดิจิทัลของไทยมีปริมาณมาก แต่กำลังคนที่มีคุณภาพสูงที่สามารถทำงานได้จริงมีปริมาณน้อย ทำให้ดูเหมือนประเทศไทยขาดกำลังคนด้านดิจิทัล โดยในปี 2560 มีผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรี เฉพาะสาขาคอมพิวเตอร์ เกือบ 20,000 คน (ไม่รวมผู้จบการศึกษาในสาขาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น วิศวกรรมโทรคมนาคม) และมีผู้ว่างงานที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาคอมพิวเตอร์เกือบ 7,000 คน ขณะที่ความต้องการกำลังคนด้านดิจิทัลในภาคธุรกิจเพิ่มขึ้นประมาณ 14,000 คน และภาคธุรกิจมักสะท้อนปัญหาการขาดแคลนกำลังคนด้านดิจิทัลที่มีคุณภาพและสามารถทำงานได้จริง

สาเหตุหนึ่งของสถานการณ์ดังกล่าวคือ หลักสูตรสาขาคอมพิวเตอร์ที่สอนอยู่ในปัจจุบันส่วนหนึ่ง ยังไม่ได้ปรับให้ทันต่อเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รวมทั้งบางหลักสูตรไม่ได้บรรจุวิชาหลักที่จำเป็นต่อการเป็นนักวิชาชีพด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ดังนั้น หากประเทศไทยต้องการเพิ่มกำลังคนด้านดิจิทัลเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ EEC ได้จริง ประเทศไทยจำเป็นต้องปรับคุณภาพของกำลังคนด้านดิจิทัลอย่างเร่งด่วน

อย่างไรก็ดีมาตรการสำคัญในการการยกระดับคุณภาพกำลังคนด้านดิจิทัลเพื่อตอบสนองต่ออุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ EEC คือ ภาครัฐควรดำเนินการเป็นโครงการนำร่อง (pilot project) โดยมีแนวทางดำเนินการในระยะสั้นคือ ภาครัฐควรร่วมมือกับภาคเอกชนและภาคการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ EEC ในการจัดโปรแกรมหรือหลักสูตรฝึกอบรมระยะสั้นด้านเทคโนโลยีดิจิทัลที่เกิดขึ้นใหม่ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things) และภาครัฐควรส่งเสริมการเชื่อมโยงระหว่างสถาบันการศึกษาและภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ EEC เพื่อให้สามารถผลิตบุคลากรด้านดิจิทัลที่ตอบสนองต่อความต้องการของภาคอุตสาหกรรมได้จริง และสุดท้าย ภาครัฐควรอำนวยความสะดวกและสร้างแรงจูงใจในการเข้ามาทำงานของนักวิชาชีพดิจิทัลที่มีทักษะสูงให้มากขึ้น เช่น มาตรการสมาร์ทวีซ่าของไทยในปัจจุบัน กำหนดให้นักวิชาชีพทักษะสูงที่มีเงินเดือนอย่างน้อย 2 แสนบาทจะได้วีซ่านาน 4 ปี ภาครัฐอาจพิจารณาปรับเงื่อนไขให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้นโดยกำหนดให้ผู้มีเงินเดือนอย่างน้อย 1 แสนบาทแต่ไม่ถึง 2 แสนบาท จะได้วีซ่านาน 2 ปีเป็นต้น

ส่วนในระยะยาว ต้องมุ่งปรับปรุงคุณภาพการศึกษาด้านดิจิทัล โดยสร้างกลไกให้ภาคเอกชนให้ข้อมูลทักษะกำลังคนที่ต้องการแก่สถาบันการศึกษา และภาคการศึกษาปรับหลักสูตรให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคเอกชน รวมทั้ง ภาคการศึกษาควรจัดทำแผนปรับปรุงคุณภาพการศึกษาและหลักสูตร ขยายโครงการนักศึกษาฝึกงาน และเพิ่มจำนวนอาจารย์ที่มีคุณภาพ และที่สำคัญภาครัฐต้องมุ่งส่งเสริมการเชื่อมโยงระหว่างการวิจัยพัฒนาด้านดิจิทัล และการพัฒนาบุคลากรด้านดิจิทัลไปพร้อมๆ กัน

นอกจากนี้ ในงานสัมมนาดังกล่าว ยังมีการเสวนาในหัวข้อ “แนวทางการสร้างกำลังคนด้านดิจิทัลของไทยเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายและการพัฒนาพื้นที่ EEC: จากปริมาณสู่คุณภาพ” โดยมีผู้ร่วมเสวนาได้แก่ คุณโชคดี แก้วแสง (รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน) ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ (ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล) รศ.ดร.ชิต เหล่าวัฒนา (กรรมการ คณะอนุกรรมการเร่งรัดนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ คลัสเตอร์หุ่นยนต์) คุณพฤฒิ เมาลานนท์ (รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย) และคุณล้ำบุญ สิมะขจรบุญ (Local Business Unit Manager, Robotics and Motion บริษัท เอบีบี (ไทยแลนด์) จำกัด) และผู้ดำเนินการเสวนาคือ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net