Skip to main content
sharethis

คดีกวาดจับหน้ารามฯ จำเลย 14 คนตกเป็นผู้ต้องหาในข้อหาร่วมกันเป็นอั้งยี่, ซ่องโจร, มีวัตถุระเบิด พยานโจทก์ปาก 3 เชื่อจำเลยที่ 10-14 ไม่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิด ทนายชี้ให้การเป็นประโยชน์แก่จำเลยแต่ยังไม่ได้มีน้ำหนักต่อรูปคดีนัก ด้านญาติจำเลยส่วนใหญ่มีฐานะค่อนข้างยากจนเล่าการเดินทางจากนราธิวาสมากรุงเทพฯ ใช้เงินเยอะต้องผลัดกันมา

แฟ้มภาพ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (15 พ.ค. 61) เวลาประมาณ 10.00 น. ที่ศาลอาญา กรุงเทพฯ ห้องพิจารณาคดี 808 ได้มีการสืบพยานโจทก์ปากที่ 3 ในคดีกวาดจับหน้ารามฯ ในเดือนตุลาตม ปี 2559 หรือคดีระเบิดน้ำบูดู ซึ่งมีจำเลย 14 คนที่ตกเป็นผู้ต้องหาในข้อหาร่วมกันเป็นอั้งยี่, ซ่องโจร, มีวัตถุระเบิด โดยมีครอบครัวและญาติเข้าร่วมการสืบพยานเกือบ 20 คน

อัพเดทคดีกวาดจับหน้ารามฯ หลังข่าว 'คาร์บอม' เกือบ 2 ปี เพิ่งสืบพยาน 2 ปาก

ทนายชี้ให้การเป็นประโยชน์แก่จำเลยแต่ยังไม่ได้มีน้ำหนักต่อรูปคดีนัก

กิจจา อาลีอิสเฮาะ หนึ่งในทนายความของคดีและเลขานุการมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมกล่าวว่า วันนี้สอบพยานหนึ่งปากคือ พ.อ.ชัชภณ สว่างโชติ รอง ผอ.ศูนย์สันติวิธี กอ.รมน.ภาค 4 สน ซึ่งพยานได้เบิกความถึงตอนที่เขาได้รับตัวจำเลยที่ 10-14 มาอยู่ที่ศูนย์สันติวิธีซึ่งมีนโยบายเสริมสร้างความเข้าใจแก่ผู้หลงผิดในมิติศาสนา ซึ่งพยานได้เบิกความที่เป็นประโยชน์แก่จำเลยที่ 10-14 เนื่องจากพยานให้การว่าเชื่อว่าจำเลยทั้ง 5 คนไม่ได้เกี่ยวข้องกับขบวนการแบ่งแยกดินแดนและไม่ได้เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดในคดีนี้ แต่ในทางคดีก็อยู่ที่พนักงานตำรวจว่ามีหลักฐานอะไรอีกนอกเหนือจากนี้

นอกจากนี้พ.อ.ชัชภณ ซึ่งเป็นพยานปากนี้ได้ให้การว่า ทราบว่าจำเลยที่ 10-14 เคยถูกควบคุมตัวที่กรุงเทพฯ แต่ก็ได้รับการปล่อยตัว จากนั้นพ่อแม่ของจำเลยที่ 10-14 ได้ส่งตัวจำเลยที่ 10-14 มาเข้าร่วมโครงการของศูนย์สันติวิธีที่พยานเป็นผู้ดูแลอยู่ ซึ่งตอนนั้นจำเลยที่ 10-14 ก็เชื่อว่าจะไม่ถูกดำเนินคดี แต่พอจำเลยที่ 1-9 ถูกดำเนินคดีเป็นล็อตแรก จำเลยที่ 10-14 จึงถูกดำเนินคดีในข้อหาเดียวกันคืออั้งยี่,ซ่องโจร ครอบครองวัตถุระเบิด

ในส่วนจำเลยที่ 1-9 กิจจากล่าวว่า หากดูจากคำเบิกความที่ให้การกับชั้นกองปราบของพยานคนนี้ เขาบอกว่าไม่รู้ว่าพยานที่ 1-9 เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดครั้งนี้หรือไม่อย่างไร อีกทั้งในความเห็นของกิจจาคิดว่าพยานปากนี้ยังไม่ได้เป็นพยานสำคัญที่มีคำให้การที่มีน้ำหนักมาก แต่ก็เป็นประโยชน์ให้กับจำเลยที่ 10-14

ญาติส่วนใหญ่ฐานะค่อนข้างยากจน ชี้การเดินทางจากนราธิวาสมากรุงเทพฯค่าใช้จ่ายมาก

เมาะซู แม่ของอุสมาน กาเด็งหะยี จำเลยที่ 4 เล่าว่า ครอบครัวของจำเลยทุกคนล้วนมีสถานะความเป็นอยู่ค่อนข้างยากจน ส่วนใหญ่รับจ้างกรีดยาง รวมทั้งรับจ้างอย่างอื่นทั่วไป การเดินทางจากนราธิวาสมาขึ้นศาลอาญาที่กรุงเทพฯ ทุกครั้งมีค่าใช้จ่ายมาก มีทั้งค่ารถ ค่าที่พัก ค่าอาหาร รวมถึงเงินที่เตรียมมาให้ลูกทุกครั้งที่ขึ้นมาประมาณ 2,000-4,000 บาท ดังนั้นแต่ละครอบครัวจึงต้องผลัดกันมาทีละคนสองคน

แมะมูเนอะ สาและ แม่ของวิรัติ หะมิ จำเลยที่ 8 จากนราธิวาสเช่นกัน เล่าว่า วิรัติเป็นพี่คนโตในจำนวนพี่น้อง 3 คน เขาเข้ามาทำงานขายของในกรุงเทพฯ ประมาณสองเดือนก่อนจะถูกจับ ก่อนหน้านี้วิรัติแยกทางกับภรรยา และมีลูกสาวหนึ่งคนอายุ 3 ขวบ ปัจจุบันลูกสาวของเขาอยู่ในความดูแลของแมะมูเนอะและลูกชายคนรองวัย 17 ปี

แมะมูเนอะกล่าวว่าวิรัติช่วยดูแลหาเงินเลี้ยงดูครอบครัว เมื่อวิรัติถูกคุมขัง แมะมูเนอะจึงเป็นคนเดียวที่ต้องทำงานหาเงิน

“ช่วงนี้ฝนตกทุกวัน เก็บยางไม่ได้ ยางตอนนี้กิโลละ 15 บาท วันหนึ่งกรีดได้ 4-5 กิโล ได้วันหนึ่งไม่ถึง 200 บาท เราอายุ 57 ปีแล้ว ขึ้นเขาไปทำนาภูเขาก็ไม่ได้ เวลามาเยี่ยมลูกบางทีก็ยืมเงินเพื่อนมา เอามาให้ลูก 2,000 กินข้าวไม่ได้บางทีก็กินข้าวโพดกับน้ำ” แมะมูเนอะกล่าว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net