'สภาองค์การลูกจ้าง-สหพันธ์แรงงานสิ่งทอ' ร้อง คสช. คืนอำนาจให้ประชาชน ย้ำเลือกตั้งปีนี้

สภาองค์การลูกจ้างฯ - สหพันธ์แรงงานสิ่งทอฯ ออกแถลงการณ์วันกรรมกรสากลย้ำอำนาจอธิปไตย(ต้อง) เป็นของราษฎร คสช. ต้องคืนอำนาจ “เลือกตั้งปีนี้”  ยกเลิก ม.44 และคำสั่ง คสช. ทุกฉบับ

แฟ้มภาพ

1 พ.ค.2561 เนื่องในวันกรรมกรสากล หรือ “วันเมย์เดย์” (May Day)  ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สภาองค์การลูกจ้างสภาศูนย์กลางแรงงานแห่งประเทศไทย สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอการตัดเย็บเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์หนังแห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์ย้ำอำนาจอธิปไตย(ต้อง) เป็นของราษฎรทั้งหลาย โดยเรียกร้องอำนาจประชาธิปไตยทางการเมือง คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต้องคืนอำนาจให้ประชาชนโดย “เลือกตั้งปีนี้” เพื่อสืบสานการต่อสู้ของกรรมกร ให้ยกเลิก ม.44 และคำสั่ง คสช. ทุกฉบับ ณ วันนี้ ให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง สส.สว.ในเขตพื้นที่ตามที่ตั้งของสถานประกอบการ และยกเลิก การขยายอายุรับบำนาญชราภาพ

สำหรับประเด็นอำนาจประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ กลุ่มดังกล่าวเรียกร้องให้ รัฐ ต้องจัดเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า มีค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรม กำหนดค่าจ้างแรกเข้าและโครงสร้างค่าจ้างในสถานประกอบการ รัฐต้องจัดการศึกษาฟรี และต้องมีปฏิรูปการศึกษา รัฐต้องจัดให้มีรัฐสวัสดิการและการเลี้ยงดูบุตร และจัดตั้งโรงพยาบาลประกันสังคม

โดยมีรายละเอียดดังนี้ 

แถลงการณ์วันกรรมกรสากล 

“วันกรรมกรสากล” หรือ “วันเมย์เดย์” (May Day) กำเนิดมาจากการต่อสู้ของชนชั้นกรรมาชีพในยุโรปและอเมริกา ในยุคของ “การปฏิวัติอุตสาหกรรม” จากสังคมเกษตรไปสู่สังคมอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ผู้คนอพยพจากการผลิตภาคเกษตรกรรมไปเป็นแรงงานภาคอุตสาหกรรม ซึ่งผู้ใช้แรงงานต้องทนกับการถูกกดขี่ขูดรีดจากนายทุนโรงงานอุตสาหกรรม เช่น ถูกบังคับให้ใช้แรงงานเยี่ยงทาส ต้องทำงานหนักถึงวันละ 14-16 ชั่วโมงโดยไม่มีวันหยุด  มีการเคลื่อนไหวต่อสู้การกดค่าจ้างและให้ลดชั่วโมงการทำงาน

เดือนพฤษภาคม ค.ศ.1886 คนงานแห่งเมืองชิคาโก ประเทศอเมริกา ได้นัดหยุดงานครั้งใหญ่และจัดการชุมนุมเดินขบวนเพื่อเรียกร้อง “ระบบสามแปด” คือ ทำงาน 8 ชั่วโมง พักผ่อน 8 ชั่วโมง และศึกษาหาความรู้ 8 ชั่วโมง การต่อสู้ครั้งนั้น อำนาจรัฐนายทุน ได้ใช้กำลังเข้าปราบปรามอย่างรุนแรง

สหพันธ์คนงานแห่งอเมริกาได้ฟื้นการต่อสู้เรียกร้องระบบสามแปด โดยมีมติให้เดินขบวนทั่วประเทศในวันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ.1890 จึงมีแนวคิดจากกรรมกรในหลายประเทศแถบยุโรป ประกาศเป็นวันสามัคคีต่อสู้ของขบวนการกรรมกรทั่วโลก ที่ประชุมสภาสังคมนิยมสากล ณ กรุงปารีส จึงมีมติให้วันที่ 1 พฤษภาคม 1890 เป็นวันเดินขบวนเรียกร้องให้ลดชั่วโมงทำงาน และให้วันที่ 1 พฤษภาคม ของทุกปี เป็น “วันกรรมกรสากล” และเป็นวันเดินขบวนแสดงพลังของชนชั้นกรรมาชีพทั่วโลก  และการยืนหยัดต่อสู้ของคนงานชิคาโกและคนงานอื่น ๆ ทำให้นายจ้างลดชั่วโมงการทำงานลงเหลือ 8 ชั่วโมงต่อวัน

1 พฤษภาคม ของทุกปี คือ “วันกรรมกรสากล” เป็นสัญลักษณ์แห่งการสามัคคีต่อสู้เพื่อชนชั้นกรรมกร ซึ่งกรรมกรทั่วโลกจัดให้มีการชุมนุมเดินขบวน สร้างวัฒนธรรมการต่อสู้ เพื่อปลดปล่อยจากการกดขี่ขูดรีดของระบบทุนนิยม

ในประเทศไทย การจัดงานวันกรรมกรสากลในที่สาธารณะอย่างเปิดเผยครั้งแรก มีขึ้นในวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 ที่สนามหน้าสำนักงานสมาคมไตรจักร์ (สามล้อ) พระราชวังอุทยานสราญรมย์ จัดโดยสมาคมกรรมกรสงเคราะห์กรุงเทพร่วมกับสมาคมไตรจักร์ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประมาณ 3 พันคน

การชุมนุมวันกรรมกรสากล พ.ศ. 2490 มีขึ้นที่ท้องสนามหลวง ภายใต้คำขวัญ “กรรมกรทั้งหลายจงสามัคคีกัน” ซึ่งถือว่าเป็นการแสดงพลังความสามัคคีของชนชั้นกรรมกรไทยครั้งใหญ่ที่สุดเป็นประวัติการณ์ เพื่อเฉลิมฉลองการจัดตั้งสหพันธ์กรรมกรระดับชาติแห่งแรกในประเทศไทย คือ “สมาคมสหอาชีวะกรรมกรแห่งประเทศไทย” วันกรรมกรสากลปีนั้นมีผู้เข้าร่วมกว่าแสนคน นับเป็นการจัดงานที่มาจากจิตสำนึกของกรรมกร โดยกรรมกรและเพื่อกรรมกรอย่างแท้จริง

แต่แล้วเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 เกิดการรัฐประหารยึดอำนาจ โดยรัฐบาลเผด็จการได้สั่งห้ามจัดงานวันกรรมกรสากล

ในปี พ.ศ.2499 “กรรมกร 16 หน่วย” จัดตั้งรวมตัว โดยมีเป้าหมายเคลื่อนไหวให้รัฐบาลเร่งออกกฎหมายรับรองสิทธิด้านต่าง ๆ และให้มีการจัดงานวันกรรมกรสากล แต่รัฐบาลเผด็จการมีเงื่อนไขให้เปลี่ยนชื่อ “วันกรรมกรสากล” เป็น “วันแรงงานแห่งชาติ” จึงใช้มาถึงทุกวันนี้

รัฐบาลเผด็จการ แทรกแซงวันกรรมกรสากลมาโดยตลอด  เนื้อหา รูปแบบของการจัดงานจะถูกควบคุมโดยรัฐบาล การยื่นข้อเรียกร้องในวันที่ 1 พฤษภาคม ไม่ได้รับการตอบสนอง ทำให้การยื่นข้อเรียกร้องของกรรมกร  เป็นเพียงพิธีการเท่านั้น

“วันกรรมกรสากล” พี่น้องกรรมกรทุกคนจะต้องร่วมกันรำลึกถึงการต่อสู้ในอดีต กว่า 200 ปี ที่ปลดปล่อยกรรมกรจากการทำงานเยี่ยงทาส  วันนี้การต่อสู้ของกรรมกรยังคงต้องดำเนินต่อไป เพื่อกอบกู้ศักดิ์ศรีของชนชั้นกรรมาชีพ ให้เชื่อมั่นในพลังของเรา ต้องล้มล้างผลพวงของ คสช. และแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อปลดปล่อยโซ่ตรวนที่พันธนาการสิทธิและเสรีภาพ ด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง เช่นบรรพบุรุษของเราที่ได้ต่อสู้ เสียสละแม้กระทั่งชีวิต เพื่ออนาคตของลูกหลานกรรมกรและสังคมใหม่

สภาองค์การลูกจ้างสภาศูนย์กลางแรงงานแห่งประเทศไทย สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอการตัดเย็บเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์หนังแห่งประเทศไทย ยืนหยัด ร่วมต่อสู้กับมวลหมู่พี่น้องกรรมกรและประชาชนทุกสาขาอาชีพ  ในแนวทางที่เป็นประชาธิปไตย “อำนาจอธิปไตย(ต้อง) เป็นของราษฎรทั้งหลาย” กล่าวคือ

อำนาจประชาธิปไตยทางการเมือง

- คสช. ต้องคืนอำนาจให้ประชาชนโดย “เลือกตั้งปีนี้” เพื่อสืบสานการต่อสู้ของกรรมกร

- ให้ยกเลิก ม.44 และคำสั่ง คสช. ทุกฉบับ ณ วันนี้

- ให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง สส.สว.ในเขตพื้นที่ตามที่ตั้งของสถานประกอบการ

- ยกเลิก การขยายอายุรับบำนาญชราภาพ

อำนาจประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ

- รัฐ ต้องจัดเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า

- ค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรม กำหนดค่าจ้างแรกเข้าและโครงสร้างค่าจ้างในสถานประกอบการ

อำนาจประชาธิปไตยทางวัฒนธรรม

- รัฐต้องจัดการศึกษาฟรี และต้องมีปฏิรูปการศึกษา     

- รัฐต้องจัดให้มีรัฐสวัสดิการ / การเลี้ยงดูบุตร

- จัดตั้งโรงพยาบาลประกันสังคม

ทั้งหมดนี้ เพื่อการสร้างสังคมและชีวิตความเป็นอยู่ของกรรมกรและราษฎรทั้งหลาย ตามหลักการ สิทธิ เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ต้องเท่าเทียมกัน

สภาองค์การลูกจ้างสภาศูนย์กลางแรงงานแห่งประเทศไทย

สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอการตัดเย็บเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์หนังแห่งประเทศไทย

1 พฤษภาคม 2561

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท