Skip to main content
sharethis

แม่ทัพภาคที่ 3 เข้าร่วมเวทีสาธารณะหาแนวทางแก้ไขโครงการบ้านพักศาลเชิงดอยสุเทพ นักวิชาการป่าไม้ห่วงพื้นที่ก่อสร้างโซนบ้านพักที่อยู่บนพื้นที่ลาดชัน 26% ล้อมด้วยป่าเต็งรัง เสี่ยงไฟป่า-ดินถล่ม โดยแม่ทัพภาคที่ 3 ประมวลข้อเสนอจากภาคประชาสังคมที่ขอให้วัดแนวเขตและรื้อแล้วปลูกป่าคืน ส่วนศาลค่อยหาพื้นที่ใหม่ปลูกบ้าน โดยแม่ทัพภาค 3 จะเสนอ ผบ.ทบ. และนายกรัฐมนตรีพิจารณา

เวทีสาธารณะร่วมหาแนวทางแก้ไขปัญหาโครงการก่อสร้างบ้านพักข้าราชการตุลาการศาลอุทธรณ์ภาค 5 บริเวณป่าเชิงดอยสุเทพ ต.ดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ที่ มทบ.33 ค่ายกาวิละ (ที่มา: สวท.เชียงใหม่/สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์)

ภาพจาก Google Maps แสดงพื้นที่ก่อสร้างบ้านพักข้าราชการตุลาการศาลอุทธรณ์ภาค 5 โดยซ้ายสุดคือโซนสองที่เป็นบ้านเดี่ยว 45 หลัง

9 เม.ย. 2561 ที่มณฑลทหารบกที่ 33 ค่ายกาวิละ จังหวัดเชียงใหม่ กองทัพภาคที่ 3 พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และภาคประชาชน จัดเวทีสาธารณะร่วมหาแนวทางแก้ไขปัญหาโครงการก่อสร้างบ้านพักข้าราชการตุลาการศาลอุทธรณ์ภาค 5 บริเวณป่าเชิงดอยสุเทพ ต.ดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่

ทั้งนี้มี พล.ท. วิจักขฐ์ สิริบรรสพ แม่ทัพภาคที่ 3 เข้าร่วม พร้อมนายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ธนารักษ์พื้นที่เชียงใหม่ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย ส่วนเครือข่ายภาคประชาชนได้ส่งตัวแทนเจรจา 7 คน ท่ามกลางสื่อมวลชนและภาคประชาสังคมที่มาร่วมสังเกตการณ์จำนวนมาก

อนึ่งมีการจัดที่นั่งสำหรับรองเลขาธิการ สำนักงานศาลยุติธรรม และประธานแผนกคดีสิ่งแวดล้อม ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ด้วย อย่างไรก็ตามตัวแทนฝ่ายศาลไม่ได้เข้าร่วม โดยฝ่ายศาลมีการประชุมแก้ไขปัญหากรณีนี้ที่กรุงเทพมหานคร เช่นเดียวกัน (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

สนง.ศาลยุติธรรมยันไม่รื้อบ้านพักเชิงดอยสุเทพเพราะจะผิดสัญญา-เรื่องแก้ไขแล้วแต่รัฐบาล

ในการประชุมมีการเปิดโอกาสให้แต่ละฝ่ายได้ร่วมแสดงความคิดเห็น โดยแกนนำเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพยังคงยืนยัน ข้อเรียกร้องเดิม ว่าให้ยุติโครงการและรื้อถอนบ้านพัก เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ เพราะเป็นพื้นที่ป่าในเขตรอยต่อเขตอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย พร้อมฟื้นฟูสภาพป่าให้กลับมาสมบูรณ์เหมือนเดิม

ขณะที่ชาติชาย นาคทิพวรรณ นักวิชาการป่าไม้ชำนาญพิเศษ ตัวแทน ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 ห่วงใยพื้นที่ก่อสร้างโซนสองที่เป็นบ้านพักข้าราชการศาลที่เป็นบ้านเดี่ยว 45 หลัง โดยระบุว่าโซนนี้มีความลาดชัน 26% มีการตัดต้นไม้เป็นพื้นที่เปิดโล่ง ดินเป็นลูกรัง และพบดินทรายจำนวนมากง่ายต่อการชะล้างพังทลาย ส่วนโซนที่สามและสี่ ที่เป็นอาคารชุด และอาคารสำนักงาน อยู่บนพื้นที่ลาดชัน 12%

ส่วนพื้นที่โครงการเป็นพื้นที่ป่าเต็งรัง ป่าผลัดใบในฤดูแล้ง มีใบไม้แห้งซึ่งเป็นเชื้อเพลิงได้ง่าย นอกจากนี้ยังมีทางน้ำไหลลงไปยังอ่างเก็บน้ำแม่จอกหลวงและที่ราบลุ่มของชุมชน โดยนักวิชาการป่าไม้แสดงความห่วงใยเรื่องดินถล่มและไฟป่า

ส่วนนพดล ณ เชียงใหม่ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า โครงการดังกล่าวไม่มีการทำประชาพิจารณ์และไม่มีการยื่นแจ้งว่าจะมีการก่อสร้างเพราะเป็นโครงการของราชการที่ไม่ต้องขออนุญาต อย่างไรก็ตามต้องแจ้งว่าจะมีการก่อสร้าง แจ้งแบบแปลนอาคาร เพราะท้องถิ่นเกี่ยวข้องกับการควบคุมอาคารสูง แต่ที่ผ่านมาไม่ได้มีการแจ้งและ อบต. ไม่สามารถเข้าพื้นที่ได้

โดยหลังการประชุม พล.ท.วิจักขฐ์ สิริบรรสพ แม่ทัพภาคที่ 3 ได้กล่าวสรุปข้อเสนอจากการประชุมโดยกล่าวว่าจะนำเสนอผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ภายวันพรุ่งนี้อย่างช้า 10 เม.ย. เพื่อจะได้กราบเรียนหัวหน้า คสช. ได้พิจารณา ส่วนบ่ายวันนี้ผลการประชุมของสำนักงานศาลยุติธรรมก็จะออกเช่นกัน

พล.ท.วิจักขฐ์ ระบุว่าเขาจะเรียน ผบ.ทบ. ในฐานะเลขาธิการ คสช. ให้ทราบว่าความต้องการของประชาชนในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ที่มีการจัดเสวนาโดยเปิดเผย กว้างขวาง เสรีนั้น เมื่อสักครู่ท่านได้ประกาศแล้วว่าจุดยืนคืออะไร แต่มีบางท่านเสนอเป็นบางส่วนว่าจะทำอย่างไรต่อไป

ผมก็นำข้อเสนอของท่านที่เป็นตัวแทน และของหลายๆ ท่านที่เป็นประเด็นปลีกย่อย เสนอต่อ ผบ.ทบ. และเรียนนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้า คสช. ได้รับทราบถึงความต้องการของคนเชียงใหม่ ความต้องการของภาคประชาชน ประชาสังคม และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้แม่ทัพภาคที่ 3 ได้ประมวลข้อเสนอจากที่ประชุม มีรายละเอียดประกอบด้วย

ประการแรก ภาคประชาสังคมต้องการให้รื้ออาคารศาลบางส่วน แต่จะรื้อถึงขนาดไหนก็จะจัดกรรมการไปดูในพื้นที่ด้วยกันหลายฝ่าย อย่างเป็นธรรม และจะนำเสนอ โดยขออนุญาตว่าให้ภาคประชาสังคมนำเสนอจุดที่จะขีดเส้น ภายในวันที่ 19 เม.ย. ผมจะได้รับคำตอบหรือไม่ ก็จะให้กรรมการไปดู ว่าจะรื้อแค่ไหนจึงจะเหมาะสมกับความต้องการของท่าน พูดกันตั้งแต่เบื้องต้นว่างานนี้จะวิน-วิน เพราะงานนี้ไม่มีการรุกฆาต มีแต่ว่าสันติวิธีอยู่ตรงไหนเพราะคือคนไทยด้วยกัน

ประการที่ 2 ให้ผู้รับเหมาทำงานให้เสร็จ หรือจะหยุดแค่นี้แต่รัฐต้องจ่ายให้เขาตามงวดงานของเขา คือเพื่อไม่ให้กระทบต่อการทำงานของบริษัทก่อสร้าง ที่เข้ามาโดยถูกกฎหมายโดยวิธีประมูลงานของส่วนราชการ ซึ่งเขาต้องได้รับสิทธิมาทำงานกับภาคราชการ

ประการที่ 3 หากมีการรื้อ รัฐบาลต้องหาพื้นที่จำนวนที่เหมาะสมด้านล่าง ทดแทนให้กับพื้นที่รื้อของบ้านพักศาลต่างๆ และเยียวยาด้วยการหางบประมาณมาก่อสร้างใหม่ เป็นบ้านพักของทางราชการ ในพื้นที่ที่เหมาะสม

ประการที่ 4 ให้สำนักงานศาลส่งคืนพื้นที่กระทบคืนผืนป่าดอยสุเทพ-ดอยปุย ให้กับราชพัสดุ เพื่อนำพื้นที่ดังกล่าวไปปลูกป่าราษฎร์รัฐร่วมใจต่อไป

ทั้ง 4 ประเด็น จะกราบเรียนผู้บัญชาการทหารบก เพื่อไปเรียนนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้า คสช. ประกอบการตัดสินใจกับข้อยุติที่ศาลที่มีการประชุมเช่นกัน (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ถ้าอยากทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ผมจะกราบเรียนข้อคิดเห็นที่จับมาจากประเด็นเวทีเสวนา ผมเก็บประเด็นทุกท่านที่เหมาะสม มันเป็นข้อยุติที่เป็นสันติวิธี เชื่อมั่นว่าท่านนายกรัฐมนตรีกล้าตัดสินใจ อันนี้เป็นปัญหากระทบต่อจิตใจของคนเชียงใหม่ ท่านฟัง ท่าน ผบ.ทบ.ก็ฟัง ท่าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณก็ฟัง ศาลขอยกเลิกการมาเสวนาที่นี่ กราบเรียน ผบ.ทบ. ศาลเขายกเลิกการมาร่วมเสวนา ท่านก็รับทราบและขอให้ผมเก็บประเด็นความต้องการของชาวเชียงใหม่ กลุ่มอนุรักษ์ว่าต้องการอะไร

อนึ่งเมื่อเวลา 19.30 น. ธีระวัฒน์ รูปสุวรรณ ผู้ประสานงานเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ ได้ให้สัมภาษณ์ไทยรัฐทีวี ยืนยันเจตนารมณ์ของกลุ่มว่ายืนยันว่าต้องรื้อส่วนที่เป็นบ้านพักที่อยู่ในเขตป่าดอยสุเทพ รวมทั้งแฟลตบ้านพัก 9 หลัง ยกเว้นแฟลตที่เหลือจำนวน 4 หลังที่อยู่นอกเขตป่า

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net