Skip to main content
sharethis

สนช. มีมติ 181 เสียง รับหลักการร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมฯ ไว้พิจารณา กำหนดความคุ้มครองข้าราชการตุลาการศาลในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีซึ่งได้กระทำโดยสุจริต สนช. ยังมีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ ไว้พิจารณา 

4 เม.ย.2561 รายงานข่าวระบุว่า วันนี้ ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ ไว้พิจารณา ด้วยคะแนน 181 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี และงดออกเสียง 6 เสียง จากผู้เข้าร่วมประชุมทั้ง 187 คน พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว 24 คน กำหนดแปรญัตติ 7 วัน กรอบระยะเวลาดำเนินการ 60 วัน

วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงหลักการและเหตุผลว่า ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ปี 2543 เพื่อกำหนดความคุ้มครองข้าราชการตุลาการในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี เนื่องจากนับตั้งแต่มีการเปิดศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบก็มีผู้นำคดีไปฟ้องร้องกล่าวหาผู้พิพากษาที่ทำหน้าที่พิพากษาเป็นจำนวนมาก แสดงให้เห็นว่า มีการใช้ช่องทางเดิมที่มีอยู่ฟ้องร้องได้ และแก้ไขเพิ่มเติมถ้อยคำที่อ้างถึงกรรมการการเลือกตั้ง กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้ตรวจการแผ่นดิน กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็น “ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ” ซึ่งเป็นคำที่ใช้ในรัฐธรรมนูญ รวมทั้งแก้ไขเพิ่มเติมการได้มาซึ่งกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อเป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ โดยกำหนดให้ข้าราชการตุลาการเป็นผู้เลือกจากผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งไม่เป็นหรือเคยเป็นข้าราชการตุลาการไม่เกินสองคน ตลอดจนแก้ไขเพิ่มเติมกระบวนการเลือกกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมฯ ให้มีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้เพื่อให้องค์กรซึ่งทำหน้าที่บริหารงานบุคคลเกี่ยวกับผู้พิพากษาศาลยุติธรรมมีความเป็นอิสระ เป็นกลาง ปลอดจากการถูกแทรกแซงทางการเมือง

ด้านสมาชิก สนช.อาทิ กล้านรงค์ จันทิก ได้ให้ข้อสังเกต กรณีการเพิ่มความ “การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีซึ่งข้าราชการตุลาการได้กระทำโดยสุจริต ย่อมได้รับความคุ้มครอง” เนื่องจากเกรงว่าข้อความดังกล่าวจะมีการแปลความไปอีกลักษณะหนึ่งได้ เพราะหลักความเชื่อของคนไทยนั้น เชื่อในกระบวนการยุติธรรมของทุกศาลว่าสุจริตและยุติกรรม ดังนั้นหากระบุ ให้มีการคุ้มครองผู้สุจริตจะทำให้มองภาพไปอีกในทางหนึ่งได้ อีกทั้งเห็นว่าไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาได้อย่างชัดเจน เพราะไม่สามารถป้องกันผู้ที่จะฟ้องร้องผู้พิพากษาได้ ขณะที่นายแพทย์เจตน์ ศิรธรานนท์ อภิปรายเห็นด้วยกับ กล้านรงค์ โดยกล่าวว่า ปัญหาผู้พิพากษาถูกฟ้องร้อง อาจทำให้ความเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่ได้รับผลกระทบ แต่การที่ระบุข้อความดังกล่าวไปในร่างกฎหมายฉบับนี้ อาจดีขึ้นในแง่ของจิตใจกรณีที่มีการฟ้องเกิดขึ้น อย่างไรก็ตามมองว่าเป็นเพียงกฎหมายสารบัญญัติเท่านั้น (กฎหมายที่กำหนดสิทธิหน้าที่ตลอดจนความรับผิดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ว่าทางแพ่งหรือทางอาญาแก่บุคคล) ควรมีการกำหนดไว้ในกฎหมายวิธีสบัญญัติอีกฉบับหนึ่ง (กฎหมายที่กำหนดกระบวนวิธีพิจารณาความเพื่อจะบังคับให้เป็นไปตามสิทธิและหน้าที่ของบุคคล เพื่อให้เกิดผลทางกฎหมาย) น่าจะเหมาะสมมากกว่าและทำให้ร่างกฎหมายมีความสมบูรณ์มากขึ้น 

รับหลักการร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง ไว้พิจารณา

วันเดียวกัน สนช. ยังมีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ไว้พิจารณา ด้วยคะแนนเห็นด้วย 184 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 4 เสียง จากจำนวนผู้เข้าประชุม 188 คน พร้อมกำหนดระยะเวลาแปรญัตติภายใน 7 วัน กำหนดระยะเวลาดำเนินงาน 60 วัน

วิษณุ กล่าวถึงหลักการของการเสนอร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเพื่ออนุมัติให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และเป็นการแก้ไขมาตราอื่นๆ ที่สอดคล้องกันให้เป็นกระบวนการเดียวกัน รองรับกันและแก้ไขสิ่งที่ปัญหาที่ค้างคามานาน เช่น การยื่นเรื่องให้สภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบก่อนประกาศใช้เป็นข้อบังคับ รวมทั้งเพื่อให้คู่ความมีความสะดวกที่จะนำคดีมาฟ้องร้อง ตลอดจนแก้เพื่อทำให้ผู้เป็นตุลาการในศาลปกครองได้รับความเป็นธรรมในเรื่องของการรับบำเหน็จบำนาญยิ่งขึ้น  

ด้านสมาชิก สนช.เห็นด้วยกับหลักการและสนับสนุนร่างฉบับนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมาตรา 18 และ มาตรา 21 เพราะเห็นว่าเป็นการปรับปรุงกฎหมายให้มีความทันสมัย นำหลักการความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมาบูรณาการร่วมกับหลักการพัฒนาไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิธีการนำเสนอคำฟ้องและการพิจารณาคำฟ้องโดยใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือดิจิตอล เป็นประโยชน์ต่อให้ประชาชน และสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ง่ายมากขึ้น

ขณะที่ ผู้แทนศาลปกครอง กล่าวชี้แจงถึงการยื่นฟ้องทางอิเล็กทรอนิกส์ สื่อดิจิตอล และระบบเดิมว่า การนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาประยุกต์ใช้และสร้างนวัตกรรมถือเป็นหัวใจสำคัญ และเป้าหมายของศาลปกครองที่นำมาใช้ก็เพื่อความสะดวก รวดเร็วและประหยัด โดยผลดีที่เล็งเห็นมี 4 ประการ คือ  1.คู่กรณีและประชาชนเป็นศูนย์กลางในการออกแบบและพัฒนาระบบของศาลปกครองอิเล็กทรอนิกส์ โดยนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วยบูรณาการงานพิจารณาคดี 2.เพิ่มความสะดวกให้กับคู่กรณีในการยื่นฟ้อง รับส่งเอกสาร โดยเพิ่มช่องทางผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อลดการพึ่งพากระดาษ 3.ลดภาระค่าใช้จ่ายของคู่กรณีและประชาชน และ 4.ลดขั้นตอนระยะเวลาในการเข้าใช้บริการที่ศาล

 

ที่มา เว็บไซต์วิทยุและโทรทัศน์รัฐสภา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net