เปิดตัว "พรรคอนาคตใหม่" ชูธงต้านนายกฯ คนนอก-ย้ำทุกพรรคคือคู่แข่ง

แถลงเปิดตัว "พรรรคอนาคตใหม่" "ปิยบุตร" ย้ำ "ต้องออกจากทศวรรษที่สูญหาย มุ่งหน้าสู่ทศวรรษแห่งการทวงคืนอนาคต" ระบุพรรคขอหลอมรวมคนยุคใหม่ ที่ไม่ยอมจำนนกับสิ่งที่เป็นอยู่ เสนอนโยบายที่ประชาชนมีโอกาสที่เท่าเทียม พัฒนาคุณภาพชีวิต ขณะที่ "ธนาธร" เรียกร้อง คสช. ปลดล็อกเพื่อให้ทุกพรรคดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ย้ำไม่เอานายกฯ คนนอก ในสนามเลือกตั้งทุกพรรคคือคู่แข่งไม่ว่าจะเป็น พท. ปชป. หรือพรรคหนุน คสช.

คณะผู้ริเริ่มจัดตั้ง "พรรคอนาคตใหม่"

เมื่อเวลา 07.30 น. ที่แวร์เฮาส์ ซอยเจริญกรุง 30  ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ รองประธานบริหารเครือบริษัทไทยซัมมิท และปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์ และคณะแถลงเปิดตัวพรรคการเมืองใหม่และคณะผู้ก่อตั้งพรรค 26 รายชื่อ โดยจะใช้ชื่อ "พรรคอนาคตใหม่" โดยในสูจิบัตรเปิดตัวพรรคมีการระบุข้อความด้วยว่า "ก้าวพ้นทศวรรษที่สูญหาย สร้างประเทศไทยที่มีอนาคต"

ทั้งนี้ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แถลงว่าพรรคอนาคตใหม่ มุ่งสร้างการเมืองแบบใหม่ ฟื้นความเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย ออกแบบนโยบายที่ทำให้ประชาชนมีโอกาสทางเศรษฐกิจที่เท่าเทียม เข้าถึงทุนและทรัพยากร ทำลายระบบผูกขาด พัฒนาสวัสดิการ เปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วมทางการเมือง ไม่ผูกขาดโดยคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง มีระบบยุติธรรม โปร่งใส ตรวจสอบได้โดยประชาชน และมีประชาชนเป็นเจ้าของพรรคร่วมกัน ผ่านการระดมสมองและระดมทุน โดยสมาชิกพรรค จะมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การเลือกคนลงสมัครรับเลือกตั้ง ไปจนถึงนโยบาย พร้อมย้ำว่าจะระดมทุนจากประชาชน ไม่มีใครคนใดคนหนึ่งหรือนายทุนมาอยู่เหนือสมาชิกพรรค

เขาย้ำด้วยว่าทุกพรรคคือคู่แข่ง ไม่ว่าจะเป็นเพื่อไทย ประชาธิปัตย์ หรือพรรคที่สนับสนุน คสช. จุดยืนพรรคไม่เลือกข้างหรือถือหางใครทั้งทักษิณ ชินวัตร พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ หรือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หากพรรคการเมืองใดล้ำเส้นประชาธิปไตยก็พร้อมวิจารณ์และต่อต้าน ส่วนตัวเขาหากล้ำเส้นก็พร้อมลาออกเช่นกัน ส่วนผู้ที่จะมาเป็นหัวหน้าพรรคต้องรอการประชุมและเลือกตั้งของพรรค

ทั้งนี้ยืนยันว่าไม่สนับสนุนนายกรัฐมนตรีคนนอก และเรียกร้องให้ คสช. ปลดล็อกพรรคการเมือง เพื่อให้พรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้ และไม่ให้พรรคเล็กเสียเปรียบพรรคใหญ่ ทำให้ทุกพรรคสามารถพบปะประชาชนได้ตามวิถีทางการเมืองปกติ

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และ ปิยบุตร แสงกนกกุล

ด้านปิยบุตร แสงกนกกุล กล่าวว่า "พรรคอนาคตใหม่มีวิธีการบริหารจัดการแบบใหม่ หลอมรวมเอาคนยุคใหม่ ที่ไม่ยอมจำนนกับสิ่งที่เป็นอยู่ หลอมรวมคนที่มีความสามารถเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อลงมือสร้างการเมืองแบบใหม่และนำเสนอนโยบบายแบบก้าวหน้า นโยบายที่เน้นการกระจายอำนาจ นโยบายที่ทำให้ประชาชนมีโอกาสทางเศรษฐกิจที่เท่าเทียม พัฒนาคุณภาพชีวิต ประชาชนเข้าถึงทุนและทรัพยากร ทลายการผูกขาดทางธุรกิจ พัฒนาระบบสวัสดิการที่สร้างหลักประกันถ้วนหน้าให้คนทุกคนตั้งแต่เกิด ในยามแก่ ในยามเจ็บ และยามตาย นโยบายที่ส่งเสริมให้ประชาชนในประเทศเท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก สร้างกฎหมายให้ทันกับยุคสมัยเพื่อตอบธุรกิจรูปแบบใหม่ ไม่ใช่เป็นอุปสรรคขัดขวาง"

"พรรคการเมืองแบบนี้อาจไม่เคยปรากฎขึ้นมาก่อนในการเมืองไทย และคงไม่มีใครคาดว่าจะเกิดขึ้นได้ในการเมืองไทย แต่อดีตเป็นบทเรียนและประสบการณ์ ไม่ใช่ตัวกำหนดอนาคต อนาคตเป็นของเรา หากเชื่อมั่นว่าเป็นไปได้ และลงมือทำ เช่นนี้ก็คือพวกเราที่กำหนดอนาคต ประเทศไทยสูญเสียเวลาและโอกาสไปมากพอแล้ว ประเทศไทยจะต้องมีชีวิตที่ดีกว่านี้ ประชาชนคนไทยมีศักยภาพในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่และเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่า ขอเพียงให้มีการเมืองที่มีประชาธิปไตยและเข้มแข็ง ไม่มีใครที่มีความชอบธรรมเพียงพอที่จะกำหนดอนาคตให้กับพวกเราได้นอกจากตัวเราเอง นี่คือห้วงเวลาทางประวัติศาสตร์ หากประชาชนไม่ร่วมมือกันกำหนดอนาคตของตนเอง เพื่อนำพาประเทศไทยออกจากทศวรรษที่สูญหาย ประเทศไทยจะเสียหายมากกว่านี้และเราอาจไม่มีโอกาสฟื้นกลับมาได้อีกแล้ว ต้องออกจากทศวรรษที่สูญหาย มุ่งหน้าสู่ทศวรรษแห่งการทวงคืนอนาคต ร่วมทวงคืนอนาคตของเรา ร่วมทวงคืนอนาคตประเทศไทย อนาคตใหม่เพื่อประเทศไทยที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน เพื่อประเทศไทยที่มีอนาคต" ปิยบุตรกล่าวตอนหนึ่ง

อนึ่ง ปิยบุตร ตอบคำถามเรื่องบทบาทที่เขาผลักดันให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ในช่วงที่เขาเป็นนักวิชาการคณะนิติราษฎร์ว่า ที่ผ่านมาผลักดันแก้ไขมาตรา 112 เพราะมีการใช้กฎหมายเพื่อทำลายฝ่ายตรงข้าม ตัวเขาแม้จะเปลี่ยนมาเป็นนักการเมือง แต่ยังคงยืนยันว่าต้องแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เพื่อไม่ให้มีการนำกฎหมายไปกลั่นแกล้งศัตรูฝ่ายตรงข้าม หรือบุคคลที่เห็นต่างกันทางการเมือง แต่เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับนโยบายและการตัดสินใจของสมาชิกพรรคว่าเห็นสมควรจะขับเคลื่อนเรื่องนี้หรือไม่ เพราะคณะนิติราษฎร์เป็นกลุ่มนักวิชาการไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับพรรคอนาคตใหม่ และพรรคอนาคตใหม่ไม่ใช่ของเขาคนเดียว

(จากซ้ายไปขวา) กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ, สุรินทร์ คำสุข และชำนาญ จันทร์เรือง 

ในเรื่องของนโยบายที่ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคต้องการผลักดันนั้น ชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการที่มีบทบาทด้านการผลักดันการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น กล่าวด้วยว่า เขาขับเคลื่อนเรื่องการกระจายอำนาจและร่วมผลักดันจังหวัดจัดการตนเอง ที่ผ่านมาไม่เคยมีพรรคการเมืองไหนพูดถึงเรื่องนี้

"เราเคยเสนอร่างพระราชบัญญัติเชียงใหม่มหานคร ซึ่งว่าด้วยการบริหารจัดการตนเอง ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 ประชาชนสามารถเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายได้ ถือเป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชน เป็นไปตามแนวนโยบายแห่งรัฐตามรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 แต่พอถึงรัฐธรรมนูญ 2560 ได้ตัดโอกาสนี้ออกไป ทำให้ประชาชนไม่มีสิทธิเสนอชื่อ"

ดังนั้นเลยคิดว่าช่องทางพรรคการเมืองนี้ จึงเป็นเพียงช่องทางเดียว โดย ส.ส. 20 คนขึ้นไปก็เสนอร่างกฎหมายได้แล้ว ส่วนนโยบายที่สนใจนอกจากนี้เป็นเรื่องของสิ่งแลดล้อม ป่า เรื่องสิทธิชุมชน ซึ่งเขาเองทำงานด้านนี้มานานพอสมควร

สุรินทร์ คำสุข ประธานสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์บรรจุภัณฑ์ กล่าวว่า ตัวเขาเสนอผลักดันเรื่องสิทธิแรงงาน กฎหมายแรงงาน การจัดตั้งสหภาพแรงงาน แม้ในกฎหมายจะเขียนไว้ แต่ในทางปฏิบัติยังมีปัญหา ซึ่งสิทธิเหล่านี้ควรจะเปิดกว้างและได้รับการยอมรับมากขึ้น

อีกเรื่องคือปัญหาของสิทธิประกันสังคม พนักงานหรือผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่จ่ายประกันสังคมแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้ คือโดนหัก ณ ที่จ่ายอยู่แล้ว แต่คุณภาพการบริการ การรักษาพยาบาล เหมือนผู้ประกันตันได้รับการบริการแบบชั้น 2 ชั้น 3 ถ้าเทียบกับการจ่ายประกันชีวิต จ่ายเบี้ยมาหลายปีขนาดนี้ ก็ควรได้รับการดูแลที่ดีกว่านี้

สุรินทร์ เสนอด้วยว่า นอกจากนี้ต้องลดชั่วโมงการทำงาน บ้านเราทุกวันนี้ถ้าไม่ทำโอที ก็อยู่ไม่ได้ เรื่องสิทธิทางและกฎหมายที่ยังเหลือมล้ำ เหล่านี้ เป็นสิ่งที่เขาอยากเข้ามาผลักดัน

กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ นักวิชาการอิสระด้านการศึกษา กล่าวว่าในฐานะคนเป็นครู ไม่ได้อยากเห็นอะไรมากไปกว่าการทำให้นักเรียนมีศักยภาาพ และสามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต และเป็นผู้ที่มีความสามารถที่จะอยู่ในอนาคตได้จริง เราต้องสร้างพื้นที่การเรียนรู้ให้มันเกิดขึ้นจริงก่อน เป็นพื้นที่ที่ปราศจากความกลัว เป็นพื้นที่ที่ทุกคนเป็นเจ้าของอย่างแท้จริง อีกสิ่งที่อยากทำคือ อยากให้นักเรียนไทยได้รู้จักฝันของตัวเองสักที และเมื่อรู้จักแล้วเขามีเครื่องมือที่จะเดินทางไปทำฝันนั้นให้เป็นจริง เขาสามารถมีสังคม และมีระบบการศึกษาที่เกื้อหนุนผลักดันให้ฝันของเขาเป็นจริงได้

นลัทพร ไกรฤกษ์ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ข่าวคนพิการ ThisAble.me กล่าวว่า ประเทศไทยยังให้ความสำคัญน้อย ในเรื่องของการยอมรับความแตกต่างและการมองคนให้เป็นคนอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเพศสภาพ อุดมการณ์ ฐานะ หรือความพิการ

ที่ผ่านมาคนพิการถูกแยกออกจากสังคม ถูกมองอย่างเป็นภาระและไม่มีศักยภาพ ซึ่งเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้แก้ไขได้ การนับรวมพวกเขาเข้ามาอยู่ในสังคมสามารถเกิดขึ้นได้ ถ้าเรามีการออกนโยบายที่เอื้อต่อพวกเขาตั้งแต่ต้น และนโยบายเหล่านี้จะต้องสนับสนุนคนแต่ละคน ในความแตกต่างของพวกเขา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท