Skip to main content
sharethis

สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอฯ ออกแถลงการณ์วันสตรีสากล ย้ำสตรีต้องการเลือกตั้ง  ทำแท้งได้อย่างปลอดภัยเมื่อไม่พร้อมมีบุตร หยุดล่วงละเมิดทางเพศ รัฐต้องรับรองอนุสัญญา ILO ฉ. 87,98 และ 183 รวมทั้งรัฐต้องกำหนดให้วันที่ 8 มี.ค. เป็นวันหยุดทั่วประเทศ

แฟ้มภาพ

8 มี.ค.2561 เนื่องในวันสตรีสากล (International Women's Day) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอการตัดเย็บเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์หนังแห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์ ภายใต้สโลแกน “หยุดละเมิดสิทธิสตรี ปีนี้ต้องเลือกตั้ง” โดยมีข้อเรียกร้องรณรงค์เนื่องในวันสตรีสากล 5 ข้อ ประกอบด้วย 1. สตรีต้องการเลือกตั้ง 2. ทำแท้งได้อย่างปลอดภัยเมื่อไม่พร้อมมีบุตร 3. หยุด!!!ล่วงละเมิดทางเพศ 4. รัฐต้องรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87,98 และ 183 รวมทั้ง 5. รัฐต้องกำหนดให้วันที่ 8 มีนาคม เป็นวันหยุดทั่วประเทศ

สำหรับ อนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 นั้น เป็นเรื่อง เสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว  ขณะที่ ฉบับที่ 98 เป็นประเด็นการรวมตัวและร่วมเจรจาต่อรอง ส่วน ฉบับที่ 183 นั้น เป็นประเด็นว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานหญิงเกี่ยวกับสิทธิความเป็นมารดาและการคลอดบุตร 

แถลงการณ์ของสหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอฯ มีรายละเอ่ียดดังนี้

แถลงการณ์วันสตรีสากล  

วันอันยิ่งใหญ่ทางประวัติศาสตร์การต่อสู้ทางชนชั้นกรรมกรหญิงทั่วโลกได้มาบรรจบครบรอบอีกครั้งหนึ่ง นั้นก็คือวันที่ 8 มีนาที่เรียกกันว่าวันสตรีสากล  โดยเฉพาะกรรมกรหญิงในโรงงานทอผ้า ที่เมืองชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ถูกนายจ้างในระบบทุนนิยม กดขี่ขูดรีดทารุณ เห็นกำไรสำคัญกว่าชีวิตของคน กรรมกรหญิงไม่ต่างอะไรกับทาส ทำงานวันละ14-16 ชั่วโมงกับได้ค่าจ้างแรงงานเพียงน้อยนิด สภาพการทำงานในโรงงานเลวร้ายหลายคนเจ็บป่วยล้มตายไร้การเหลียวแลจากนายจ้าง ทำให้กรรมกรหญิงทนไม่ได้กับระบบการกดขี่ขูดรีดจึงเกิดการลุกขึ้นสู้ โดยใช้วิธีการนัดหยุดงานและเดินขบวนในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ.1907 การต่อสู้ในครั้งนั้นได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวางจากกรรมกรหญิงทั่วโลก สร้างความสั่นสะเทือนต่อระบบทุนนิยมทั้งโลก และได้มีการเรียกร้องชั่วโมงการทำงานให้เหลือวันละ 8 ชั่วโมง พร้อมทั้งปรับปรุงสภาพการทำงานและสวัสดิการ รวมถึงสิทธิเสรีภาพประชาธิปไตยในการรวมตัว

วันที่ 8 มีนาคม ค.ศ.1910 มีผู้แทนสตรีจาก 18 ประเทศ ได้เข้าร่วมประชุมสมัชชาสตรีสังคมนิยม สมัยที่ 2 ที่จัดขึ้นที่เมืองโคเปนเฮเกน เสนอให้มีการทำงาน 8 ชั่วโมง ศึกษา 8 ชั่วโมง พักผ่อน 8 ชั่วโมง  ที่เรียกว่าระบบสามแปด  ค่าจ้างแรงงานระหว่างชายกับหญิงต้องเท่าเทียมกัน มีการคุ้มครองสิทธิกรรมกรหญิงและเด็ก  โดยเฉพาะนักต่อสู้สตรีที่สำคัญเธอชื่อ คลาร่า แซทกิน ซึ่งเป็นนักสังคมนิยมชาวเยอรมัน เธอเป็นผู้ยืนหยัดมาตลอดว่าการโค่นล้มทุนนิยมและการสร้างสังคมใหม่คือสังคมนิยม  จะเกิดขึ้นไม่ได้หากขาดพลังแรงงานกรรมกรผู้หญิง ถ้าพลังแรงงานกรรมกรหญิงยังถูกกดขี่ ขูดรีดอยู่ และไม่มีสิทธิใดๆ  และเธอก็ได้เผยแพร่ความคิดสังคมนิยมไปทุกหนทุกแห่งทั่วโลก 

วันประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ของการต่อสู้ของกรรมกรหญิง ต้องได้รบการยกย่องจัดงานเฉลิมฉลองชัยชนะ โดยเฉพาะวันที่ 8 มีนาคม ของทุกปีต้องเป็นวันหยุดงานทั่วประเทศ เพื่อกิจกรรมการเดินขบวนรณรงค์ ยกย่องเชิดชูเกียรติประวัติการต่อสู้ของชนชั้นกรรมกรหญิง และเรียกร้องสะสางปัญหาต่างๆที่เผชิญอยู่ในสังคมทุนนิยมปัจจุบัน

สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอฯ และองค์กรสมาชิกและพันธมิตร ได้พิจารณาปัญหาต่างๆของผู้ใช้แรงงาน และพวกเราผู้ใช้แรงงานต้องการและรณรงค์เนื่องในวันสตรีสากล ดังนี้

  1. สตรีต้องการเลือกตั้ง
  2. ทำแท้งได้อย่างปลอดภัยเมื่อไม่พร้อมมีบุตร
  3. หยุด!!!ล่วงละเมิดทางเพศ
  4. รัฐต้องรับรองอนุสัญญา ILOฉบับที่ 87,98 และ 183
  5. รัฐต้องกำหนดให้วันที่ 8 มีนาคม เป็นวันหยุดทั่วประเทศ

8  มีนาคม  2561

“หยุดละเมิดสิทธิสตรี ปีนี้ต้องเลือกตั้ง”

สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอการตัดเย็บเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์หนังแห่งประเทศไทย

           THE TEXTILE GARMENT AND LEATHER WORKERS FEDERATION OF THAILAND

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net