Skip to main content
sharethis

การอภิปรายจากเวทีเสวนา “รัฐ” กับการศึกษารัฐไทย ไชยันต์ รัชชกูล ชวนตั้งคำถามเมื่อต้องทำการศึกษา "รัฐไทย" กุลลดา เกษบุญชู-มี้ด เสนอประวัติศาสตร์ “รัฐไทย” กับบริบทโลก เพราะเหตุใดคนที่อยู่ในสาขาวิชาการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจึงต้องศึกษาเรื่องรัฐ ขณะที่ วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ชี้ว่ารูปแบบของรัฐ เป็นคำตอบสุดท้ายที่ไม่มีใครคิดถึงแต่ต้น

ในการเสวนา “รัฐ” กับการศึกษารัฐไทย เมื่อวันพุธที่ 14 กุมภาพันธ์ 2561 ณ ห้องประชุมสีฟ้า ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มีผู้อภิปรายประกอบด้วย ไชยันต์ รัชชกูล คณะรัฐศาสตร์และคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยาผู้เขียน "อาณานิคมสมบูรณาญาสิทธิราชย์" (The Rise and Fall of the Thai Absolute Monarchy) ซึ่งตั้งข้อสังเกตต่อแนวทางการศึกษาประวัติศาสตร์ รวมทั้งการศึกษาเกี่ยวกับ "รัฐไทย

ขณะที่ กุลลดา เกษบุญชู-มี้ด คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เขียนThe Rise and Decline of Thai Absolutism อภิปรายเรื่องเหตุใดคนที่อยู่ในสาขาวิชาการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจึงต้องศึกษาเรื่องรัฐ

และ วรเจตน์ ภาคีรัตน์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองจากมุมกฎหมาย พร้อมเสนอว่าเรื่องรูปแบบรัฐไทย เป็นคำตอบสุดท้ายที่ในแวดวงนักกฎหมายไม่เคยคิดกับเรื่องนี้เลยตั้งแต่ต้น

โดยการอภิปรายเป็นส่วนหนึ่งของการเสวนาวิชาการชุด “สะท้อนย้อนคิดสังคมศาสตร์ ศาสตร์สังคม” ครั้งที่ 1 จัดโดย คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับ ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และศูนย์พหุวัฒนธรรมและนโยบายการศึกษา สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

Critical mind ในการศึกษารัฐไทย
ไชยันต์ รัชชกูล

 

อันนี้พูดจากใจ ตอนที่เกิดรัฐประหารเมื่อสามปีก่อน ผมบอกว่ารัฐไทยมันก็อย่างนี้ จะให้มันมากไปกว่านี้หรือ คิดอย่างนั้นได้ก็ปลงว่าต้องเตาะแตะไปเช่นนี้ แต่นี่ก็เตาะแตะมาสามสี่ปีแล้ว ความใจเย็นมันจึงหายไป การประชุมครั้งนี้คงจะมีส่วนที่เราจะได้เห็นว่า เราอาจต้องมาทุ่มการศึกษาเรื่องรัฐไทยให้จริงจังมากกว่านี้

 

ผมเรียนปริญญาตรีโดยไม่เคยเข้าใจคำว่า critical (วิพากษ์) อาจารย์ หนังสือว่ายังไงก็ต้องตามนั้น เป็น mind set (ชุดความเชื่อที่ส่งผลต่อพฤติกรรม) ตอนเรียน พอมาเรียนทางสังคมศาสตร์ก็เชื่อตามนั้นไปหมด ตัวอย่างอันหนึ่งคือ หนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์เกี่ยวกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มี 10 กว่าเล่มทุกเล่มพูดเหมือนกันหมดว่า ประเทศไทยเป็นกรณียกเว้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของตะวันตก เก่งกล้าสามารถ เราเป็นนักเรียนจะไปเถียงยังไง ในคำนำ อ.วรเจตน์ พูดถึงรัฐกันชนว่าสยามเป็นรัฐกันชนระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศส เรื่องนี้เราก็ฟังกันเรื่อยมา แต่รัฐกันชนเป็นยังไง มันมีเขตกันชนระหว่างเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้ คือ เส้นขนานที่ 38 แค่ 4 กิโลเมตรแล้วถ้าสองประเทศบีบมาจริงต้องการรัฐกันชนกว้างเท่าไทยเชียวหรือ เราก็ไม่ได้ตั้งคำถาม เราน่าจะถามต่อไปว่า สนธิสัญญา ทั้งที่จริงมันเป็น declaration (คำประกาศ) ซึ่งก็ระบุเพียงแต่ว่า ขออย่าให้ทั้งฝรั่งเศสหรืออังกฤษให้มีกองกำลังเข้าไปบริเวณนั้นและพื้นที่อยู่เชียงของ ติดจีน เป็นบริเวณนิดหนึ่งที่มีการตกลงกัน ไม่ใช่ไทยทั้งประเทศ แต่เราก็รับกันเรื่อยมาเรื่องแนวคิดรัฐกันชน

คำประกาศนั้นเกิดปี ค.ศ. 1896 พอปี ค.ศ. 1904 อังกฤษฝรั่งเศสรักกันดีมาก เพราะเยอรมันกำลังผงาดขึ้นในเวทีโลก อะลุ่มอล่วยกัน ฉะนั้น ไม่เห็นมีความขัดแย้งระหว่างฝรั่งเศสกับอังกฤษที่ทำให้สยามรักษาเอกราชไว้ตามที่พูดกัน ความจริงฝรั่งเศสไม่มีน้ำยาตั้งแต่นโปเลียนแพ้ ดังนั้น ในการศึกษา หน่วยของการวิเคราะห์เราเอาแค่ไหน เอาเฉพาะสยามประเทศหรือ เอาเฉพาะในกรุงเทพฯ หรือ เอาเฉพาะผู้ปกรองหรือ เราไม่เอาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือประวัติศาสตร์โลกหรือ ถ้าเรามองประวัติศาสตร์ยุโรปจะทำให้เราไม่ต้องเถียงกันอีกเลยเพราะฝรั่งเศสไม่มีความหมายมากมายเท่าที่เราคิดว่าเขาเป็น แสดงว่าเราให้ความสำคัญฝรั่งเศสเกินจริง

กลับมาที่ประเด็นว่าผมไม่เข้าใจคำว่า critical พอเรียนมากขึ้น รู้มากขึ้นก็รู้สึกว่าทำไมมุสาแบบนี้ พูดดำเป็นขาว หรือเป็นคุณสมบัติของคนไทย มันไม่มีเค้าความเป็นจริงเลยในหลายเรื่อง การศึกษาเรื่องรัฐตอนหลังยิ่งไปมากกว่านั้น การเรียนสังคมศาสตร์มนุษยศาสตร์สำคัญที่ being critical กว่าผมจะเข้าใจคำนี้ก็ประมาณตอนปลายจะเรียนไม่จบปริญญาโท ครูผมบอกว่า you must be critical, you must elaborate your point. เขาไล่ผมกลับหลายครั้ง "being critical" สำคัญมากต่อการไม่เชื่ออะไรเลย ผมเคยพูดกับนิสิตนักศึกษาทีเล่นทีจริง ถ้าเขาบอกว่าอะไรสักอย่าง ขอให้นักศึกษาพลิกกลับให้ตรงกันข้าม พูดแบบนี้ก็เกินไปแต่มันมีประเด็น

ที่พูดอย่างนี้เพื่อบอกว่าเดี๋ยวนี้ทางสังคมศาสตร์มนุษยศาสตร์ก้าวไปถึงว่าต้อง deconstruct (ถอดรื้อ) งานที่ศึกษาเรื่องรัฐมันต้อง deconstruct ไหม เราควร deconstruct เรื่องอะไร มีสองแนวใหญ่ คือ

1. แหล่งข้อมูล ต้องดูกันใหม่ แต่เราจะสำรวจหลักฐานได้ยังไงในเมื่อสิบเล่มพูดเหมือนกันหมด เราจะคิดเป็นอื่นได้อย่างไร

2. แนวคิดทฤษฎี ในส่วนแนวคิดทฤษฎีที่มีอยู่ คณะรัฐศาสตร์ของเราศึกษาเรื่องรัฐก็จริง แต่ศึกษาเรื่องการบริหารงานของรัฐ ถามว่าแล้วเราจะศึกษาอะไร ผมเป็นผู้นิยมมาร์กซ์ (Marxist) มันมีการพูดจนถึงตอนนี้ว่าเราไม่มีทฤษฎีว่าด้วยรัฐในแนวมาร์กซ์ ที่มีอยู่บ้างก็เป็นแนวการต่อสู้ในงานเขียนของเลนิน แต่ไม่ใช่เชิงวิชาการ ส่วนที่มาร์กซ์พูดถึงรัฐก็มีบ้างในงานของเขาแต่ไม่เขียนตรงๆ การศึกษาเรื่องรัฐมันเป็นเรื่องใหญ่ เป็นสถาบันที่ใหญ่มากและสำคัญมาก แต่เราไม่มีความรู้เรื่องนี้ เรามีแนวคิดทฤษฎีที่จะศึกษาเรื่องรัฐน้อยมาก ไม่นานนี้มีงาน Studies of Thai State : The State of Thai Studies ของเบน แอนเดอร์สัน เป็นงานรีวิวที่ดีมาก เขาบอกว่าน่าเสียดายที่เราไม่มีทฤษฎีเกี่ยวกับรัฐไทย นักรัฐศาสตร์ทุกมหาวิทยาลัยจะพูดถึงลักษณะของรัฐ เช่น มีพื้นที่ มีเขตแดน มีกฎหมาย มีอำนาจส่วนกลาง คำนิยามแบบนี้มาจากเวเบอร์ มันโอเคถ้าเราคิดว่ารัฐมันมีอยู่แล้ว แต่เราไม่มีคำอธิบายเรื่องการก่อตัวของรัฐ

สำหรับงานของ อ.กุลลดา พบว่าเราอ่านหนังสือเล่มเดียวกันหลายเล่ม และเล่มหนึ่งที่น่าสนใจซึ่ง อ.กุลลดาเองก็โควทหลายจุดคือ Charles Tilly เป็นงานสำคัญมาก เป็นทฤษฎีที่ศึกษาเรื่องรัฐ แต่ก็มีข้อจำกัดโดยเฉพาะอย่างยิ่งเขาพูดถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมาของรัฐในยุโรป มันเป็นปัญหาของเรา เราไม่สามารถพึ่งหนังสือเล่มใดเล่มหนึ่งไม่ว่ามันจะวิเศษเพียงใดก็ตาม เรายังไม่มีงานที่ศึกษาการก่อตัวของรัฐไทย หากจะใช้ประเด็นของคาร์ล มาร์กซ์ เขาก็ดูเรื่องชนชั้น ในแง่การดูโครงสร้างของรัฐมันต้องดูคู่กับโครงสร้างของชนชั้น แต่มันก็ไม่เป็นกระจกส่องกันขนาดนั้น เพราะแต่ละโครงสร้างมีพลวัตรของตัวเอง มันจึงเป็นเรื่องที่เราต้องคิดในแต่ละกรณี class structure เป็นเงื่อนไข เป็นสภาพแวดล้อม เป็นตัวกำหนดบางส่วนในบางเวลาของ state structure และกลับกัน state structure ก็เป็นเงื่อนไข เป็นสภาพแวดล้อมที่เป็นตัวกำหนดในบางช่วงเวลาของ class structure

ในประเด็นแรกเรื่องแหล่งข้อมูล ปรากฏว่า นี่ก็เป็นปัญหาใหญ่ ไม่ได้หมายความว่า แหล่งข้อมูลที่ปรากฏตั้งใจจะมุสา แปลงข้อมูล แต่ปัญหาก็คือ ที่เขาบันทึกมันเป็นความรับรู้ของเขา ใครเป็นคนบันทึก ทางประวัติศาสตร์ก็สนอกันว่าต้องระวัง แต่ถึงระวังอย่างไรถ้ามันเข้าหัวเราโดยไม่ต้องตั้งคำถามมันก็รับว่าเป็นความเป็นจริงเช่นนั้น ยกตัวอย่าง เมืองประเทศราช หมายความว่าประเทศนั้นเป็นส่วนหนึ่งของรัฐสยาม อันนี้ชนชั้นนำกรุงเทพฯ คิดใช่ไหม คนที่นั่นเขาคิดอย่างนั้นไหมในสมัยนั้น คนเชียงใหม่ คนปัตตานี ฯลฯ ผมคิดว่าเขาไม่ได้รู้สึกแบบนั้นแม้กระทั่งปัจจุบัน และยังมีอีกหลายคำที่เป็นเช่นนี้ พอหนังสือว่าอย่างนั้น เราก็ถือเป็นเช่นนั้นราวกับว่าประเทศไทยมีแล้ว ผมคิดว่านี่คือหัวใจของปัญหาของการศึกษาเรื่องรัฐไทย

เราเคยได้ยินบ่อยๆ ว่า ปัญหาของนักรัฐศาสตร์ก็คือ ไม่มีมิติทางประวัติศาสตร์ ทีนี้มิติทางประวัติศาสตร์คืออะไร การศึกษาทางประวัติศาสตร์มันแก้ปัญหาไหม เราศึกษาเรื่องประวัติศาสตร์ไทยราวกับว่าประเทศไทยมีอยู่เช่นนี้นานแล้ว อันนี้คือหัวใจเลยว่า ประเทศไทยเป็นประเทศหรือเปล่า พูดอย่างนี้ไม่ได้จงเกลียดจงชังประเทศนี้ ความเป็นประเทศใหม่ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย ประเทศไหนๆ ก็ใหม่หมดเลย เยอรมันเป็นประเทศเมื่อ 1871 นี่เอง ใกล้ๆ กับของไทยเลย เมื่อก่อนไม่ได้เป็นประเทศ ประเทศที่เหมือนเก่าแก่มากอย่างโรมก็เพิ่งปี 1861 ที่เป็นประเทศอิตาลี เดี๋ยวนี้ก็ยังเป็นปัญหาคนทางเหนือกับคนทางใต้เขาหมันไส้กัน ประเทศอื่นๆ ก็เข้าลักษณะนี้หมด เพราะการเป็นประเทศไม่ใช่จู่ๆ ขึ้นมาเป็น การมีเส้นเขตแดนขึ้นมาก็เป็นการแบ่งสองส่วน แต่มันก็เป็นช่วงเดียวกันหมด เป็นช่วงของการเกิด “รัฐชาติ” แม้ผมจะไม่ค่อยชอบคำนี้นัก ประเทศที่เป็นประเทศแรกของโลกที่อ้างว่าเป็นรัฐชาติ คือ อังกฤษ ประเทศไทยเป็นประเทศใหม่เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ฉะนั้น การมีรัฐเกิดขึ้นไม่ได้เกิดเดี่ยวๆ มันต้องเป็น system of states คือเป็นช่วงเดียวกันกับประเทศอื่นๆ ไล่ตั้งแต่อินเดีย อิร่าน อิรัก ทำให้เราต้องมาศึกษากันใหม่ถึงความใหม่และการเตาะแตะขยับเดินจนสร้างเป็นรัฐ เนื่องจากเป็นองค์กรที่ใหญ่มากและสำคัญมากอย่างยิ่ง มันใช้เวลาและมีความยุ่งเหยิง ปั่นป่วน ของขบวนการสร้างรัฐ

อันนี้พูดจากใจ ตอนที่เกิดรัฐประหารเมื่อสามปีก่อน ผมบอกว่ารัฐไทยมันก็อย่างนี้ จะให้มันมากไปกว่านี้หรือ คิดอย่างนั้นได้ก็ปลงว่าต้องเตาะแตะไปเช่นนี้ แต่นี่ก็เตาะแตะมาสามสี่ปีแล้ว ความใจเย็นมันจึงหายไป การประชุมครั้งนี้คงจะมีส่วนที่เราจะได้เห็นว่า เราอาจต้องมาทุ่มการศึกษาเรื่องรัฐไทยให้จริงจังมากกว่านี้

 

ประวัติศาสตร์ “รัฐไทย” กับบริบทโลก
เส้นทางการปฏิรูปหรือปฏิวัติ
กุลลดา เกษบุญชู-มี้ด

 

จุดนั้นทำให้ค้นพบว่า ลัทธิชาตินิยมไม่ได้สร้างสมัย ร.6 แต่เกิดในสมัย ร.5 เป็นลัทธิที่ต้องการให้ประชาชนเป็นผู้ผลิต มีส่วนร่วมในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งแตกต่างกับลัทธิชาตินิยมที่เกิดขึ้นในสมัย ร.6 อย่างสิ้นเชิง รัฐสมัยใหม่ก็เลยได้สร้างคอนเซ็ปท์เรื่องชาติ (nation) ขึ้นมาเป็นครั้งแรกในสมัย ร.5 ปรากฏในแบบเรียนต่างๆ โดยเฉพาะหนังสือธรรมจริยา การทำให้คนตระหนักในความรู้สึกเป็นชาติเพื่อทำให้คนเป็นผู้ผลิตให้ระบบเศรษฐกิจ

 

หัวข้อ "รัฐไทย" เป็นหัวข้อที่ใช้เวลาเกือบตลอดชีวิตวิชาการในการศึกษา ผู้เชิญตั้งประเด็นมา 3 ประเด็น คือ 1.เหตุใดคนที่อยู่ในสาขาวิชาการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจึงศึกษาเรื่องรัฐ 2.ดิฉันใช้วิธีการศึกษาอย่างไร 3.กรณีของรัฐไทย ความเป็นรัฐสมัยใหม่สมบูรณ์แล้วหรือยัง

ตอนที่อยู่ในภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต้องเรียนทฤษฎีหลักๆ โดยเฉพาะทฤษฎีสัจนิยม ซึ่งถือ “รัฐ” เป็นตัวตนอันหนึ่งที่จะไปมีปฏิสัมพันธ์กับตัวตนอื่นๆ ในระบบโลก แต่ก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับตัวตนนี้ของรัฐ แล้วก็ยังมีข้อสรุปอีกว่า รัฐมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เป็นไปตามกฎซึ่งเป็นสัจธรรมเลยว่า รัฐก็มีผลประโยชน์และแสวงหาอำนาจเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง ตรงนี้เป็นคำอธิบายที่มีพลังมาก แต่มันคงไม่ใช่แค่นั้น เราต้องทำความรู้จักกับรัฐให้มากกว่านี้ จึงสมัครเรียนวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ LSE แต่เขาไม่รับก็เลยต้องเฉไปที่ SOAS และท้ายที่สุดได้เรียนสาขาวิชา Politics and Economics พอจบปริญญาโทต้องทำปริญญาเอกในปี 1975 ตอนนั้นประเด็นสำคัญคือ การก่อตัวของความคิดและขบวนการชาตินิยมในสังคมไทย โดยอยากเข้าใจต้นกำเนิดของลัทธิชาตินิยมในสังคมไทย โดยทั่วไปเข้าใจกันว่าเกิดขึ้นในรัชกาลที่ 6 จึงต้องทำงานค้นคว้าในช่วงนั้น อันที่จริงตอนเริ่มทำวิทยานิพนธ์ได้รับแรงบันดาลใจจากงานอ.อคิน รพีพัฒน์ ที่พูดเรื่องระบบอุปถัมภ์ในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ เกิดความสงสัยมากว่าระบบอุปถัมภ์ยังมีไหมและเป็นอย่างไรในสังคมปัจจุบันแต่ไม่สามารถค้นหาคำตอบนี้ได้ จึงมาที่ลัทธิชาตินิยม ครูตั้งคำถามว่า เธออยากจะคุยกับคนเป็นหรือคนตาย ก็คิดหนักอยู่นานเหมือนกันแล้วเลือกว่าคุยกับคนตายดีกว่า เพราะไม่มีการถามตอบ ครูก็เลยบอกให้เข้าไปในหอจดหมายเหตุ

โดยใช้เวลาฝังตัวในนั้นและรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับรัชกาลที่ 6 ท่านได้สร้างขบวนการชาตินิยมที่สำคัญคือ กองเสือป่า รัชกาลที่ 6 สร้างเสือป่าขึ้นเพื่อรับมือกับปัญหาสำคัญในระบบราชการ ท่านเคยพูดว่า “เป็นผู้น้อยต้องเชื่อฟังผู้ใหญ่ ต้องมีวินัย ต้องจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์” แต่เราก็ไม่เห็นชัดๆ ว่าปัญหาที่ท่านในฐานะกษัตริย์ต้องเผชิญคืออะไร เมื่อไม่สามารถอธิบายได้ ดิฉันก็เลิกทำ แล้วกลับมาเมืองไทยแล้วฝังตัวในหอสมุดแห่งชาติ โดยคิดว่าต้องหาคำตอบจากสมัยรัชกาลที่ 5 แทนแม้คนจะบอกว่าคนทำเยอะมากแล้ว แต่คิดว่าต้องทำเพื่อตอบคำถามของตนเอง

จุดเปลี่ยนที่สำคัญคือ การพบว่าระบบราชการสมัยใหม่เป็นองค์ประกอบที่สำคัญมากของรัฐสมัยใหม่ ความพยายามเข้าใจปัญหาระบบราชการได้พาไปสู่ข้อสรุปว่าคงต้องศึกษา state formation (การก่อตัวของรัฐ) ด้วย จนเข้าใจว่าในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการเปลี่ยนเข้าสู่ความเป็นรัฐสมัยใหม่ คำถามคือเปลี่ยนจากอะไร ในเชิงทฤษฎีพูดกันว่ารัฐสมัยใหม่คือรัฐที่เรียกว่าสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แล้วก่อนหน้านั้นเป็นอะไร นักประวัติศาสตร์ไทยบอกว่าก่อนหน้านั้นเราเป็นรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งไม่เห็นด้วย จริงๆ คิดว่ามันเป็นรัฐศักดินาแล้วก็เป็นรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ซึ่งเป็นรัฐสมัยใหม่ ก่อนจะไปสู่รัฐชาติ ครูบอกถ้าเธอเขียน “รัฐศักดินา” เธอไม่จบแน่ สุดท้ายยอมเรียกว่า “รัฐก่อนสมัยใหม่” ในวิทยานิพนธ์

วิธีการศึกษาเรื่องรัฐสมัยใหม่ของไทยมี 2 วิธีด้วยกัน คือ ไปอ่านรัฐสมัยใหม่ของประเทศอื่น ดิฉันเริ่มศึกษารัฐในยุโรปตะวันตก โดยเฉพาะอังกฤษกับฝรั่งเศส จนกระทั่งเขียนเป็นตำราออกมา อีกแบบหนึ่งคือ ค้นเอกสารประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะจากกองจดหมายเหตุแห่งประเทศไทย ปัญหาสำคัญคือ อะไรเป็นตัวผลักดันให้เกิดรัฐสมัยใหม่ขึ้นมาได้ คำตอบที่พบก็คือ เศรษฐกิจเป็นตัวกำหนด แต่ไม่ใช่แค่เศรษฐกิจภายในเท่านั้น เรายังเห็นการค้าขายข้ามพรมแดนด้วย เลยสนใจระบบทุนนิยมโลก ทฤษฎีระบบโลก การก่อตัวของระบบทุนนิยมที่เข้ามามีปฏิสัมพันธ์กับรัฐไทย ถึงตอนนี้คำตอบที่พอใจก็คือ อังกฤษเข้ามาทำการค้ากับไทยในสมัย ร.5 และเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้เราเปลี่ยนรัฐจากรัฐศักดินามาเป็นรัฐสมบูรณาญาสิทธิ์ พอดีกับเอกสารที่ค้นพบจากหอสมุดแห่งชาติก็บอกเช่นนั้น ทำให้มั่นใจว่าพลังที่อยู่เบื้องหลังการเปลี่ยนแปลงรัฐคือ พลังทางเศรษฐกิจ ทำให้อวดดีเถียงกับนักวิชาการคนอื่นว่า ไม่ใช่สงครามสร้างรัฐ (war makes state) แต่เป็นเศรษฐกิจสร้างรัฐ (economics makes state)

จุดนั้นทำให้ค้นพบว่า ลัทธิชาตินิยมไม่ได้สร้างสมัย ร.6 แต่เกิดในสมัย ร.5 เป็นลัทธิที่ต้องการให้ประชาชนเป็นผู้ผลิต มีส่วนร่วมในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งแตกต่างกับลัทธิชาตินิยมที่เกิดขึ้นในสมัย ร.6 อย่างสิ้นเชิง รัฐสมัยใหม่ก็เลยได้สร้างคอนเซ็ปท์เรื่องชาติ (nation) ขึ้นมาเป็นครั้งแรกในสมัย ร.5 ปรากฏในแบบเรียนต่างๆ โดยเฉพาะหนังสือธรรมจริยา การทำให้คนตระหนักในความรู้สึกเป็นชาติเพื่อทำให้คนเป็นผู้ผลิตให้ระบบเศรษฐกิจ

ต่อไปก็ต้องอธิบายว่า รัฐสมบูรณาญาสิทธิ์มีช่วงอายุที่น้อยมาก ต้นรัชกาลที่ 5 ปลายศตวรรษที่ 19 ยังไม่ถึงกลางศตวรรษที่ 20 ก็ไปเสียแล้ว จึงต้องอธิบายว่ามันไปอย่างง่ายๆ ด้วยเหตุผลอะไร เราพบว่ามันเกี่ยวข้องกับระบบราชการ เพราะสมาชิกในระบบราชการคือคนที่ลุกขึ้นมาต่อต้านระบบการปกครองที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ระบบราชการสมัยใหม่ก่อให้เกิดความไม่พอใจในหลายระดับในหมู่ชนชั้นนำด้วยกันเอง นั่นคือ พระมหากษัตริย์กับเสนาบดี และที่มีเรื่องกันมากก็คือลูกของท่านเอง ที่สำคัญระบบราชการสมัยใหม่ยังสร้างความไม่พอใจให้ข้าราชการชั้นกลางที่เป็นคนที่ได้รับการศึกษา ผ่านระบบการศึกษาสมัยใหม่ที่ ร.5 สร้างขึ้นมา คนพวกนี้ไม่พอใจเพราะระบบอุปถัมภ์ การเติบโตของระบบราชการทำให้ข้าราชการรุ่นใหม่รู้สึกไม่มั่นคงในชีวิต การต่อสู้ให้ได้เลื่อนฐานะในระบบเป็นเรื่องลำบากเพราะยังเอาชาติตระกูลมาเป็นเงื่อนไขในการเลื่อนตำแหน่งด้วย ความไม่พอใจในระบบราชการทำให้เกิดกระแสชาตินิยมอีกกระแสหนึ่งขึ้นมา กระแสอันใหม่เสนอว่า ความจงรักภักดีนั้นควรมีต่อชาติ ไม่ใช่ต่อพระมหากษัตริย์ แนวความคิดนี้เป็นแรงผลักดันสำคัญให้เกิดเหตุการณ์ 2475 ขึ้นมา

ในการศึกษาเรื่องรัฐนี้นอกจากจะได้ประโยชน์จากคำอธิบายเรื่องระบบทุนนิยมโลกแล้ว ดิฉันก็ยังได้ประโยชน์จากทฤษฎี Critical International Political Economy ของ Robert Cox ด้วย เขาอธิบายโดยเอารัฐไปอยู่ตรงกลางระหว่างสองพลังคือ พลังทางสังคม (Social Forces) กับระเบียบโลก (World Orders) มันจึงเป็นทฤษฎีที่ให้ความสำคัญกับพลังต่างๆ ที่อยู่ภายในรัฐ และพลังที่เหนือรัฐขึ้นไปหรือก็คือระบบโลกด้วย Cox เป็นคนที่ทำให้คำเหล่านี้แพร่หลาย ระบบโลกที่มีอังกฤษเป็นศูนย์กลางเรียก Pax Britannica ส่วนระบบโลกที่มีอเมริกาเป็นศูนย์กลางเรียก Pax Americana นอกจาก Cox จะทำให้เห็นส่วนต่างๆ ของระบบทั้งหมดยังให้ความสนใจกับการสร้างอุดมการณ์นำหรืออำนาจนำเพื่อซับพอร์ตทั้งระบบโลกและระบบรัฐด้วย ตอนที่ได้อิทธิพลจากความคิดค็อกซ์ทำให้เข้าใจกระบวนการทำสนธิสัญญาเบาว์ริ่งได้ดีขึ้น เรามองว่า ร.4 ทำสนธิสัญญากับอังกฤษ แต่จริงๆ แล้วมี 2 กลุ่มเป็นอย่างน้อยที่ขัดแย้งกันอยู่ คือกลุ่มที่อยากให้ทำสนธิสัญญา กับกลุ่มที่ไม่อยากให้ทำสนธิสัญญา เพราะฐานของผลประโยชน์ของสองกลุ่มนี้แตกต่างกัน ผลประโยชน์ของพวกที่ไม่ต้องการให้ทำสนธิสัญญา คือ ขุนนางที่คุมเจ้าภาษีนายอากร เพราะสนธิสัญญานี้จะมารื้อระบบภาษีอากรของไทยทั้งหมดเนื่องจากอยากให้เราทำการค้าเสรี หากใครสนใจอยากหาหัวข้อทำวิทยานิพนธ์ประเด็นที่น่าศึกษาคือ โครงสร้างของภาษีอากรก่อนและหลังการทำสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง หากทำให้เห็นเป็นภาพที่ชัดเจนขึ้นมาคงมีประโยชน์มาก แต่ต้องบ้าๆ แบบดิฉันคือต้องจมกับกองเอกสารเป็นเวลานาน

ถึงตอนนี้จึงพบว่าตัวเองสามารถกลับมามีที่ทางในวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้ เป็นติ่งๆ ของทฤษฎีที่เรียกว่า International Political Economy แต่ไม่ได้สอนแบบกระแสหลักที่มักเน้นเรื่อง Finance ดิฉันให้ความสนใจกับ Social Forces, State, World Order พอมีที่ทางบ้างแต่ก็ไม่อาจนับได้ว่าดีนัก เพื่อนร่วมงานส่วนใหญ่จะพูดเรื่อง Security ดิฉันเป็นคนเดียวที่พูดเรื่องทุนนิยมในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จากพื้นฐานทางทฤษฎีไม่ว่า IPE หรือ World System และการอ่านงานของ Marxist บางคน เช่น Perry Anderson ที่อธิบายพัฒนาการของรัฐ ฯลฯ เหล่านี้เป็นฐานของการสร้างคำอธิบายที่เกี่ยวกับรัฐไทยในสมัยรัชกาลที่ 5

อย่างไรก็ตาม คณะรัฐศาสตร์พบว่าความรู้ของดิฉันไม่ค่อยเป็นประโยชน์กับเขาเท่าไร ดิฉันก็ตะเกียกตะกายในวิชาเลือกต่างๆ ทั้งหมดนี้ทำให้รู้สึกว่า ไม่ได้ทำหน้าที่ครูที่ทรงพลังในสาชาวิชารัฐศาสตร์ จึงหันไปทำวิจัย โดยเรื่องรัฐไทยกับ Pax Americana ได้ทุนจากธนาคารแห่งประเทศไทยทำให้สามารถไปดูเอกสารที่ทั้งอังกฤษและฝรั่งเศสได้ เรื่องนี้กำลังจะตีพิมพ์เร็วๆ นี้ อีกเรื่องหนึ่งคือ รัฐไทยกับเสรีนิยมใหม่ ดูบทบาทหรือสถานะของรัฐไทยในระบบเศรษฐกิจโลกที่มีชื่อว่า ลัทธิเสรีนิยม เงื่อนเวลาตั้งแต่ 1980 ถึงหลังวิกฤตเศรษฐกิจ งานวิจัยชิ้นนี้ก็กำลังจะพิมพ์ออกมาเช่นกัน

อีกเรื่องหนึ่งที่ทำให้เกิดความสนใจในการตั้งคำถามเกี่ยวกับรัฐไทยต่อมา เนื่องจากเขียนหนังสือเรื่อง วิวัฒนาการของรัฐอังกฤษและฝรั่งเศสไว้ โดยสิ้นสุดที่อังกฤษเกิดการปฏิบัติและฝรั่งเศสเกิดการปฏิวัติ ซึ่งมันเหลื่อมกันในเรื่องเงื่อนเวลาคือ การปฏิวัติของอังกฤษเกิดปี 1688 ที่เรียกว่าการปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ (glorious revolution) การปฏิบัติฝรั่งเศสเกิดปี 1789 หนังสือพิมพ์มาหลายครั้งและขายหมดแล้ว เลยดำริกันว่าจะพิมพ์ใหม่แล้วเอาอังกฤษกับฝรั่งเศสมาเจอกัน เพราะศตวรรษที่ 18 อังกฤษกับฝรั่งเศสทำสงครามกันหลายครั้งแล้วยุติลงที่การประชุมที่เรียกว่า Congress of Vienna ตั้งใจจะจบที่ตรงนั้นพูดถึงสถานะสงครามระหว่างสองประเทศ แต่พออ่านหนังสือใหม่ก็ค้นพบว่ามีงานศึกษาเรื่องรัฐ คือ งานของ Michael Mann ชื่อ The Sources of Social Power เขาศึกษาละเอียดมาก เข้าใจว่ามี 4 volumes ขยายวิธีวิเคราะห์ว่า การเข้าใจพื้นฐานอำนาจของรัฐมีความเข้าใจนอกเหนือไปจากระบบเศรษฐกิจ แต่ยังมีสถานะของ geopolitics ของแต่ละรัฐ, อุดมการณ์ความเชื่อของรัฐ และยังมีองค์ประกอบของตัวผู้นำด้วย ในหนังสือของเขาศึกษารัฐในยุโรปเป็นส่วนใหญ่ ทำให้เปิดหูเปิดตาจนต้องไปอ่านการเมืองอังกฤษในศตวรรษที่ 18

แล้วก็เลยเกิดคำถามที่ขอให้ท่านไปคิดต่อ ถ้าเข้าใจว่า glorious revolution คือ อำนาจของกษัตริย์ถูกจำกัดโดยรัฐสภา กษัตริย์ไม่สามารถออกกฎหมายเก็บภาษีใหม่ๆ โดยไม่ปรึกษารัฐสภา จนกระทั่งอังกฤษก็มีระบบที่เรียกว่า parliamentary democracy ซึ่งเราเห็นกันในปัจจุบัน แต่พอไปศึกษาประวัติศาสตร์อังกฤษในศตวรรษที่ 18 นั้นพบว่า เป็นการจำกัดอำนาจกษัตริย์เฉพาะเรื่องการเงินและภาษีอากร แต่พระมหากษัตริย์ในศตวรรษที่ 18 ในกรณีอังกฤษนั้นยังคงเป็นศูนย์กลางของการเมือง พระองค์แต่งตั้งเสนาบดีที่พระองค์พึงพอใจ ต้องรอนานกว่าศตวรรษ นายกรัฐมนตรีของอังกฤษถึงจะกลายมาเป็นผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐสภาไม่ใช่จากพระมหากษัตริย์ เมื่อในกรณีของอังกฤษต้องใช้ช่วงเวลาเกินศตวรรษ มันก็อาจเป็นจุดเริ่มต้นให้เราต้องคิดต่อในการเข้าใจวิวัฒนาการทางการเมืองของไทยยุคหลัง 2475 ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รัฐบาลของอังกฤษหลัง glorious revolution เขาเรียกว่า parliamentary monarchy มีความคล้ายคลึงไหมกับการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตรงนี้อาจต้องคิดต่อ

เราเห็นการปะทะกันระหว่างระบบเก่ากับระบบใหม่ ความพยายามรักษาอำนาจของระบบเก่า อาจมองได้จากการที่ระบบประชาธิปไตยของเรายังมีวุฒิสมาชิกที่มาจากการแต่งตั้ง ซึ่งก็เป็นตัวแทนของอำนาจเก่าที่คงอยู่ บางครั้งที่เราคิดว่าเราเป็นประชาธิปไตย เพราะพลังของ Nation ที่มีอำนาจขึ้นมาทำให้ได้เห็นเรื่อง ส.ว. มาจากการเลือกตั้ง แล้วก็ยังยื้อกันอยู่กับแต่งตั้งและเลือกตั้ง อีกประเด็นทีได้จาก Michael Mann คือ รัฐสมัยใหม่เกิดควบคู่มากับทุนนิยม เขาไม่สนใจระบบโลก ซึ่งดิฉันก็มีคำถาม อาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล บอกว่ารัฐไทยหลังสนธิสัญญาเบาว์ริ่งเปลี่ยนเป็นรัฐทุนนิยม ซึ่งดิฉันไม่เห็นด้วย ใช้เวลานานมากเถียงกับอาจารย์เก่งกิจ กิตติเรียงลาภ ว่าเราจะเริ่มต้นการเกิด “ทุนนิยม” ที่ไหน เราเริ่มเห็นความเป็นทุนนิยมเมื่อเราอเมริกามาบอกให้เรามีแผนพัฒนาเศรษฐกิจแล้วก็เปิดรับการผลิตในแบบอุตสาหกรรมและทดแทนการนำเข้า หรือเป็นทุนนิยมมากขึ้นเมื่อญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนหลัง Plaza Accord จุดเริ่มต้นอยู่ตรงไหน ต้องยอมรับว่า อย่างน้อยหลัง 2475 เราเริ่มมีการผลิตเป็นแบบอุตสาหกรรมทุนนิยมที่รัฐเป็นผู้นำ เริ่มเกิดรัฐวิสาหกิจ และผู้ที่มีบทบาทในการตัดสินใจนโยบายเศรษฐกิจที่สำคัญคือ ชนชั้นนำในระบบราชการ ไม่ใช่พระมหากษัตริย์อีกต่อไป เรื่องนี้ก็ยังถกเถียงกันได้

อีกประเด็นคือเรื่องรัฐชาติ ดิฉันถือว่า คำว่ารัฐชาตินั้นเกิดขึ้นในปี 2475 เมื่ออำนาจอธิปไตยของรัฐย้ายจากองค์พระมหากษัตริย์มาสู่ประชาชน อยากชี้ให้เห็นนิดหนึ่งว่า คำว่า รัฐชาติ เกิดขึ้นมาในช่วงหลังการได้รับเอกราช รัฐอาณานิคมต่างๆ เมื่อได้รับเอกราชก็กลายเป็นรัฐชาติ ในกระบวนการรับเอกราชมันได้มีการโอนถ่ายอำนาจอธิปไตยมาสู่ nation ในกรณีของรัฐไทยอำนาจอธิปไตยไม่ได้อยู่ที่เจ้าอาณานิคมแต่อยู่ที่พระมหากษัตริย์ จึงต้องมองว่า 2475 คือกระบวนการที่อำนาจอธิปไตยได้ถ่ายจากองค์พระมหากษัตริย์มาที่ nation หรือประชาชน ทำให้เรามีความเป็นรัฐชาติ

ฉะนั้น การศึกษาเรื่องรัฐยังไม่สมบูรณ์ ถ้าเรายังมองว่าความเป็นสมัยใหม่ของรัฐไทยต้องทำอีกเยอะ รัฐไทยขณะนี้มีลักษณะไม่แตกต่างไปจากรัฐยุโรปคือ อังกฤษและฝรั่งเศสในศตวรรษที่ 18 มากเท่าไหร่นัก เรื่องของ class และ nation ควรต้องได้รับความสนใจให้มากกว่านี้ แล้วจะศึกษาในรูปแบบไหน ดิฉันก็เสนอว่า เรื่องความเป็น nation ความเป็น class มันไม่ใช่อย่างเดียวกันแต่มันไปด้วยกัน ถ้าคนจำนวนหนึ่งในสังคมไทยเรียกร้องว่าตนมีสิทธิที่จะลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้ง ถือว่านี่คือการแสดงออกซึ่งความเป็น nation ความเป็นเจ้าของประเทศของคนไทย ในขณะเดียวกันการเปลี่ยนแปลงในชนบท เราได้เห็นงานของนักวิชาการหลายคนที่เห็นการก่อตัวของชนชั้นใหม่ในชนบท ซึ่งพ้นจากความเป็นชนชั้นล่างมาเป็นระดับที่อาจเรียกว่า ไม่ถึงกับ bourgeoisie แต่เป็น petite bourgeoisie หรือกระฎุมพีน้อย สิ่งที่ค้นพบจากการอ่านระยะหลังของประวัติศาสตร์ยุโรปคือข้อเสนอที่บอกว่า พลังที่สำคัญที่สุดในการปฏิวัติฝรั่งเศสนั้นไม่ใช่ กระฎุมพี แต่เป็น กระฎุมพีน้อย คนระดับช่างฝีมือ คนที่เป็นพ่อค้ารายย่อย ฯลฯ คนเหล่านี้มีข้อเรียกร้องที่ก้าวหน้ามากที่สุดหรือถึงราก (radical) มากที่สุดในการปฏิวัติฝรั่งเศส เรากำลังมีชนชั้นแบบนี้ขึ้นรึเปล่าในสังคมไทย แล้วข้อเรียกร้องเรื่องสิทธิในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งมาจากคนเหล่านี้รึเปล่า คงต้องศึกษากันต่อไป

สุดท้ายเมื่อศึกษาประวัติศาสตร์อังกฤษในปลายศตวรรษที่ 18 พบว่าอังกฤษมีองค์ประกอบหลายอย่างที่คล้ายคลึงกับฝรั่งเศส แล้วอังกฤษก็มีโอกาสจะเกิดการปฏิวัติขึ้นในระยะเวลาดังกล่าวด้วย แต่ในที่สุดอังกฤษก็เลือกการปฏิรูปแทนการปฏิวัติ แต่อยากขอสรุปสุดท้ายว่า เงื่อนไขความสำเร็จของการปฏิรูปของอังกฤษมีหลายประการด้วยกัน แต่ที่สำคัญที่สุดคือ อังกฤษมีทั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจภายใน และการเติบโตของเศรษฐกิจในฐานะที่เป็นจักรวรรดิด้วย แล้วยังมีอุบัติเหตุทางประวัติศาสตร์คือ พระมหากษัตริย์ทรงพระประชวร ทำให้คนดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปลายศตวรรษที่ 18 มีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งมีบทบาทเหนือพระมหากษัตริย์ นี่เป็นเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่ไม่ได้แปลว่าเราต้องมีอย่างนั้น เราจะเลือกปฏิรูปหรือปฏิวัติเป็นเรื่องต้องดูกันต่อไป

 

รูปแบบของรัฐ
คำตอบสุดท้ายที่เราไม่เคยคิดถึงแต่ต้น
วรเจตน์ ภาคีรัตน์

 

การก่อรูปของรัฐไทยไม่เคยปล่อยให้ดินแดนต่างๆ มีอิสระแล้วรวมกันแบบหลวมๆ ขึ้นมาตั้งหรือตั้งในรูปของมลรัฐตั้งแต่แรก หากเราดูการขยายอำนาจของกรุงเทพฯ ที่เป็นการผนวกเอาส่วนต่างๆ มาเป็นเนื้อเดียวกันกับกรุงเทพฯ

 

ในการศึกษาเรื่องรัฐ วัตถุของการศึกษาคือตัวรัฐซึ่งศึกษาได้หลายมิติ ทั้งประวัติศาสตร์ รัฐศาสตร์ สังคมวิทยา ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจและรวมถึงกฎหมายมหาชนด้วย แต่ละมิติก็มีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันออกไป โดยพื้นฐานผมเป็นนักกฎหมาย เวลาที่พูดถึงเรื่องรัฐก็นึกรัฐในแง่สถาบันที่สำคัญในทางกฎหมายมหาชน ข้อถกเถียงเกี่ยวกับรัฐในทางกฎหมายก็จะผิดแผกไปจากวิชาสาขาอื่น วิธีการศึกษาก็ต่างเหมือนกัน นักกฎหมายไทยยังหมกมุ่นกับประเด็นว่ารัฐไทยเป็นนิติบุคคลหรือไม่ สามารถถูกฟ้องคดีได้หรือเปล่า ยังอยู่กันตรงนั้น และบ้านเราในแง่กฎหมายอาจแปลกประหลาดกว่าที่อื่น เราทำให้บรรดาองคาพยพของรัฐ กระทรวง ทบวง กรม ต่างๆ มีสภาพเป็นบุคคลที่ถูกฟ้องคดี ในขณะที่ความเป็นนิติบุคคลของรัฐดูเหมือนไม่ได้ใช้ในทางปฏิบัติในระบบกฎหมายไทย

แม้ว่ารัฐจะมีฐานะเป็นวัตถุที่ศึกษาในหลายสาขาวิชาก็ตาม แต่จะบอกว่ามันไม่เกี่ยวพันกันเลยก็คงไม่ได้ แน่นอนว่า วิชาประวัติศาสตร์กับรัฐศาสตร์อาจดูเกี่ยวพันกันมากกว่ากฎหมายมหาชน อ.ไชยันต์ (รัชชกูล) ชี้ให้เห็นประเด็นสำคัญว่า เราไม่สามารถทำความเข้าใจรัฐได้หากไม่เห็นแง่มุมทางประวัติศาสตร์หรือการผันแปรเปลี่ยนแปลงหรือการก่อตัวขึ้นของรัฐ คำกล่าวนี้อาจใช้ได้เหมือนกันกับกฎหมายมหาชนหรือประวัติศาสตร์กฎหมาย เราอาจไม่เข้าใจสภาพของกฎเกณฑ์หรือกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน ถ้าเราไม่เห็นว่ารัฐไทยที่อยู่ในปัจจุบันฟอร์มตัวขึ้นมาอย่างไร

ตอนอ่านหนังสือ อ.ไชยันต์ เรื่อง อาณานิคมสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ผมได้ความกระจ่างหลายประเด็นในแง่การรู้จักรัฐไทยดียิ่งขึ้น เพราะมีการพูดถึงการก่อรูปของรัฐไทยสมัยใหม่ หนึ่งในประเด็นนั้นคือเรื่อง กำนันผู้ใหญ่บ้าน หลายคนสงสัยว่าปัจจุบันเรามีระบบการปกครองท้องถิ่นแล้ว แต่ทำไมระบบกำนันผู้ใหญ่บ้านยังมีอยู่ แล้วระบบกำนันผู้ใหญ่บ้านเกิดขึ้นมาได้อย่างไร เราจะไม่เข้าใจฟังก์ชันของมัน ถ้าไม่เห็นการขยายอำนาจของรัฐกรุงเทพฯ ออกสู่ดินแดนต่างๆ ซึ่งในตอนนั้นมีสภาพเป็นอิสระหรือกึ่งอิสระจากกรุงเทพฯ อยู่ โดยมีกำนันผู้ใหญ่บ้านเป็นข้อต่ออำนาจจากส่วนกลางลงไปเชื่อมกับคนในท้องถิ่น ปัจจุบันความจำเป็นของกำนันผู้ใหญ่บ้านอาจไม่เหมือนในอดีต แต่เราพบว่าการเลิกตำแหน่งกำนันผู้ใหญ่บ้านเป็นเรื่องยากเย็นมาก

โดยเหตุที่ในวงนี้พูดเรื่องรัฐไทยเป็นสำคัญ โดยเฉพาะการก่อตัวของรัฐไทย ผมอยากขอร่วมวงด้วยโดยพูดจากพื้นฐานของนักฎหมาย เราคงทราบว่ารัฐสมัยใหม่เกิดขึ้นมาไม่นานมาก กรณีของไทยเพียงร้อยกว่าปี ตอนที่ อ.ไชยันต์พูดถึงเยอรมัน เยอรมันเป็นรัฐสมัยใหม่หรือรวมชาติสำเร็จในปี 1871 ช้ากว่าที่อื่นในยุโรป ข้อสังเกตคือ ตอนเยอรมันรวมประเทศขึ้นมาเขาไม่ได้ดึงอำนาจหรือขยายอำนาจจากส่วนกลางไปครอบคลุมดินแดนอื่นทั้งหมด แต่เขาให้ราชอาณาจักรปรัสเซียรวมรัฐต่างๆ เข้ามาแล้วก็คงรูปของความเป็นสหพันธรัฐเอาไว้จนปัจจุบันแม้ว่าจะผ่านความผันผวนทางประวัติศาสตร์มาก็ตาม

ลักษณะของรัฐสมัยใหม่ ความสำคัญอันหนึ่งคือ มีเขตแดนแน่นอน ต่างจากในอดีตที่เขตแดนอาจไม่แน่นอนเพราะอำนาจผูกโยงกับตัวบุคคลมากกว่าเส้นเขตแดน แล้วเขตแดนของรัฐไทยสมัยใหม่มีความแน่นอนเกิดขึ้นเมื่อไร เรามักถูกทำให้เข้าใจว่ามีมานานแล้ว ประจักษ์พยานหลักฐานอันหนึ่งคือเพลงปลุกใจที่ใช้กัน ผมนึกถึงเพลงปลุกใจที่ชนะการประกวดเมื่อปี 2488 เพลงบ้านเกิดเมืองนอน มีเนื้อความตอนหนึ่งว่า “ก่อนนี้มีเขตแดนนับว่ากว้างใหญ่ ได้ไว้พลีเลือดเนื้อแลกเอา” , “อยู่กินบนท้องถิ่นกว้างใหญ่ ชาติไทยนั้นเคยใหญ่ในบูรพา” เนื้อความชวนให้เราเข้าใจไปได้ว่า ไทยมีสภาพเป็นรัฐชาติที่มีเขตแดนแน่นอนนานแล้วและกว้างใหญ่ไพศาล ความเข้าใจแบบนี้ไปด้วยกันอย่างดีกับอุดมการณ์ในการสร้างชาติหรือรัฐสมัยใหม่ที่ต้องการดึงเอาบุคคลที่มีความหลากหลายแตกต่างกันทางเชื้อชาติให้มีศูนย์รวมอยู่อย่างใดอย่างหนึ่ง แม้จะไม่ตรงกับข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ก็ตาม

ผมจึงเข้าใจเวลา อ.ไชยันต์เรียกร้องให้ไปดูหลักฐาน ในทางวิชาการเป็นแบบนั้นแต่คำสอนเรื่องรัฐชาติบ้านเราไม่ได้มีสภาพพรรณนาถึงข้อเท็จจริงแต่มีประเด็นอุดมการณ์ปะปนอยู่ ถูกผลิตซ้ำและส่งต่อไปในแบบเรียน ความยากของการถอดรื้อไอเดียแบบนี้จึงอยู่ที่การหาพยานหลักฐานและการตีความหลักฐานต่างๆ ซึ่งอาจเป็นภารกิจของนักประวัติศาสตร์และรัฐศาสตร์มากกว่านักกฎหมาย แต่นักกฎหมายก็อาจเอาองค์ความรู้นั้นมาใช้ประโยชน์ในการทำความเข้าใจกฎเกณฑ์ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

ทีนี้ถ้าจะอธิบายว่ารัฐเกิดขึ้นได้อย่างไร มีทฤษฎีในทางวิชาการจำนวนมากเคลมว่าถูกต้องที่สุดในการอธิบายกำเนิดของรัฐสมัยใหม่ แต่ทฤษฎีต่างๆ ไม่น่าจะเคลมได้โดยทฤษฎีใดทฤษฎีเดียวว่าถูกต้องที่สุด เพราะการทำความเข้าใจรัฐเป็นการทำความเข้าใจจากมุมมองที่กลับไปมองอดีต บางทีมันอาจมีปัจจัยหลายอย่างประกอบกัน การใช้หลายทฤษฎีอาจทำให้เรามองเห็นลักษณะของรัฐมากยิ่งขึ้น แต่ถ้ามีความขัดแย้งกันก็อาจต้องเลือกเอาทฤษฎีที่สอดรับกับหลักฐานทางประวัติศาสตร์มากที่สุด

ถ้าเราเห็นการก่อรูปของรัฐไทยสมัยใหม่มาร้อยกว่าปี สิ่งที่น่าสนใจต่อไปอีก คือ ทำไมเราอยู่ในรัฐที่เป็นรูปแบบแบบทุกวันนี้ ในทางกฎหมายเรียกว่าเป็นรัฐเดี่ยว ไม่ได้มีรัฐอื่นๆ รวมกันในรูปสหพันธรัฐ ใช่หรือไม่ที่เป็นผลจากการฟอร์มตัวร้อยกว่าปีก่อนแล้วยังส่งผลต่อเนื่องจนปัจจุบัน ความเข้มข้นของการรวมศูนย์อำนาจเห็นได้ชัด ในเชียงใหม่มีการต่อสู้ให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ เหมือนกรุงเทพฯ ทำไมไม่ประสบความสำเร็จ ทำไมบ้านเราถือกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลาง เราตอบคำถามนี้โดยย้อนกลับไปดูการฟอร์มตัวหรือการเกิดขึ้นของรัฐไทย ผมเคยคิดเหมือนกัน ร.5 เคยเสด็จประพาสยุโรป ตอนนั้นรวมชาติแล้ว กษัตริย์ปรัสเซียเป็นกษัตริย์ของเยอรมันเวลานั้น แต่รัฐอื่นๆ หรือมลรัฐอื่นๆ ก็มีกษัตริย์ของเขา ไม่ได้มีการขจัดกษัตริย์ของแต่ละมลรัฐ แต่ถือว่ากษัตริย์ปรัสเซียเป็นจักรพรรดิของเยอรมัน ระบบแบบนี้หมดไปเมื่อเยอรมันแพ้สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เป็นการสิ้นสุดระบบกษัตริย์ในเยอรมันในทุกมลรัฐ ความน่าสนใจคือ ในบ้านเรามันน่าจะไม่เคยมีประเด็นเรื่องนี้เลย การก่อรูปของรัฐไทยไม่เคยปล่อยให้ดินแดนต่างๆ มีอิสระแล้วรวมกันแบบหลวมๆ ขึ้นมาตั้งหรือตั้งในรูปของมลรัฐ ตั้งแต่แรก หากเราดูการขยายอำนาจของกรุงเทพฯ ที่เป็นการผนวกเอาส่วนต่างๆ มาเป็นเนื้อเดียวกันกับกรุงเทพฯ

ในหนังสือเล่มนี้ของ อ.ไชยันต์ ชอบข้อสังเกตบางเรื่องในภาคผนวกที่ชี้ให้เห็นว่า เอาเข้าจริงเมื่อร้อยกว่าปีก่อนดินแดนที่อยู่ในอาณัติของกรุงเทพฯ มันอาจจะไม่ใช่แบบรูปขวานที่เราเห็น แต่มันน้อยกว่านั้น อันหนึ่งที่น่าสนใจ คือการให้ดูจากพระอิสริยยศของเจ้าฟ้าต่างๆ ที่เป็นโอรสธิดาในรัชกาลที่ 5 โอรสธิดามีการตั้งเป็นเจ้าทรงกรม แล้วทรงกรมพระนามเจ้าฟ้าชั้นเอกตามชื่อเมืองเอก เช่น นครสวรรค์ พิษณุโลก เจ้าฟ้าชั้นโทจะทรงกรมตามชื่อหัวเมืองชั้นโท และพระองค์เจ้าจะทรงกรมตามชื่อเมืองทั่วไปตามลำดับ ยกตัวอย่างเช่น กรมหลวงสงขลานครินทร์ กรมขุนชัยนาทนเรนทร กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ฯลฯ ถ้าเราเห็นชื่อเมืองที่ตั้งเป็นเจ้าทรงกรม อ.ไชยันต์ตั้งข้อสังเกตว่า เมืองที่เอามาตั้งพระนามและยศเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ในเส้นทางคมนาคมทางน้ำ เป็นเส้นทางที่อำนาจของกรุงเทพฯ ขยายไปถึง เราไม่เห็นเจ้าทรงกรมเชียงใหม่ ลำปาง หรือลำพูน อาจสะท้อนว่าในเวลานั้นอำนาจที่นิ่งแล้วในทางเขตแดนอาจเป็นไปตามนี้ ในแง่นี้เราอาจกล่าวได้ว่า เราไม่มีไอเดียของการฟอร์มรัฐในรูปแบบสหพันธรัฐเลยตั้งแต่ต้น มันเป็นรูปแบบของรัฐเดี่ยว

ความเป็นรัฐเดี่ยวของรัฐไทย ลองดูจากการให้คุณค่าในทางกฎหมาย เราจะเห็นการให้น้ำหนักความสำคัญแบบนี้ อ.กุลลดาบอกว่า รัฐชาติมันเกิดขึ้นเมื่ออำนาจอธิปไตยเปลี่ยนมือตอน 2475 ความจริงในพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว 2475 ซึ่งผมมักเรียกว่า ปฐมรัฐธรรมนูญ ฉบับวันที่ 27 มิถุนายน 2475 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่ถูกลืม มาตรา 1 เขียนว่า อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย มาตรา 1 เป็นการให้คุณค่าที่สำคัญที่สุดของรัฐนั้น แล้วเราคงทราบว่าต่อมามันมีการต่อรองระหว่างคณะเจ้ากับคณะราษฎรจนเป็นรัฐธรรมนูญฉบับบที่ 2 ถ้าไปดูมาตรา 1 จะเขียนว่า สยามประเทศเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวจะแบ่งแยกมิได้ ซึ่งการเขียนแบบนี้สืบเนื่องมาจนปัจจุบัน ในขณะที่กฎเกณฑ์เรื่องอำนาจสูงสุดเป็นของราษฎรก็หายไปไม่กลับมาอีก แล้วต่อมาเปลี่ยนมาเป็น อำนาจอธิปไตยมาจากปวงชนชาวไทย และในรัฐธรรมนูญสองสามฉบับหลังก็เขียนว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย แปลว่า ความหมายเรื่องเจ้าของอำนาจรัฐถูกลดทอนความสำคัญลงเมื่อเทียบกับรูปแบบของรัฐ

ประเด็นนี้ไม่ได้จบเพียง 2475 แต่ยังต่อเนื่องจนปัจจุบัน รัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ตอนนี้กำหนดเรื่องการห้ามแก้ไขรัฐธรรมนูญเอาไว้ซึ่งรับมาจากรัฐธรรมนูญ 2540 ในมาตรา 215 ของรัฐธรรมนูญปัจจุบันเขียนว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองของรัฐจะกระทำมิได้ จริงๆ การเขียนอันนี้สะท้อนให้เห็นถึงความเข้าใจเรื่องรัฐและรูปแบบของรัฐอยู่ไม่ว่าในทางรัฐศาสตร์หรือกฎหมายมหาชนก็ตาม

การเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐคืออะไร การเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขคืออะไร ผมพูดเรื่องนี้ขึ้นมาเพราะอ.กุลลดาพูดถึงเรื่องของอังกฤษว่าเป็น parliamentary monarchy มันจะเหมือนการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขไหม ในความเห็นผม ผมคิดว่าไม่ใช่ ผมอาจจะบอกไม่ได้ว่าระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข โดยเนื้อหานั้นมีเนื้อหาอะไรบ้าง แต่ว่าผมพอจะบอกได้อย่างมั่นใจว่า ไม่เท่ากับ parliamentary monarchy แบบของอังกฤษแน่ๆ หรืออย่างน้อยคนอังกฤษก็ไม่น่าจะไม่เข้าใจแบบนั้น อะไรเป็นหลักฐานหรือข้อพิสูจน์

เมื่อ 19 กันยายน 2549 มีการทำรัฐประหาร คณะรัฐประหารเขาเรียกชื่อตัวเองว่า คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เรียกย่อๆ ว่า คปค. แล้วภายหลังก็เปลี่ยนเป็น คมช. ชื่อภาษาอังกฤษเขียนตรงตามนี้ แต่ในเวลาต่อมามีการเปลี่ยนชื่อภาษาอังกฤษเพราะการมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ห้อยท้ายอยู่ทำให้ชาวต่างชาติไม่เข้าใจ ในที่สุดจึงบีบให้เปลี่ยนชื่อภาษาอังกฤษ แต่ชื่อภาษาไทยไม่ได้เปลี่ยน ด้วยเหตุนี้อาจพอบอกได้ว่าชาวต่างชาติไม่เข้าใจและไม่ตรงกับสิ่งที่เรียกว่า parliamentary monarchy แต่ว่าจะแตกต่างอะไรบ้างนั้นอาจจะต้องอภิปรายและวิเคราะห์กันอีกส่วนหนึ่ง

รัฐไทยสมัยใหม่ที่ก่อรูปขึ้นมาโดยการขยายอำนาจไปผนวกเอาส่วนอื่นขึ้นมาเป็นรัฐเดี่ยว จริงๆ แล้วในแง่ที่รัฐธรรมนูญเขียนเรื่องการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นมนุษย์ มันแสดงให้เห็นถึงความสับสนบางอย่างเหมือนกัน ระหว่างรูปแบบของรัฐกับการจัดรูปการปกครอง คือ เราพูดถึงรูปแบบของรัฐ มันขึ้นอยู่กับว่าเราเอาอะไรเป็นเกณฑ์ในการแบ่ง ถ้าเอาประมุขเป็นเกณฑ์ในโลกนี้ก็มีอยู่สองรูปแบบใหญ่ๆ คือ รัฐที่เป็น monarchy (ราชอาณาจักร) หรือรัฐที่มีกษัตริย์เป็นประมุขอันหนึ่ง ซึ่งบ้านเราอยู่ในกลุ่มนี้ กับอีกอันคือรัฐที่เป็น republic หรือสาธารณรัฐ แต่ถ้าเราใช้ลักษณะของโครงสร้างอำนาจเป็นเกณฑ์ในการแบ่ง มันก็มีสองประเภทใหญ่เหมือนกัน คือ รัฐเดี่ยว กับรัฐรวม หรือโดยทั่วไปคือ สหพันธรัฐ จริงๆ อีกแบบคือสมาพันธรัฐ แต่ตอนนี้ไม่มีแล้ว ซึ่ง form (รูปแบบ) 2 แบบนี้มัน mix (ผสม) กันได้ เมื่อเอา 2 อันนี้มารวมกันก็จะก่อเกิดรัฐอีก 4 ประเภทคือ 1.สหพันธรัฐที่มีกษัตริย์เป็นประมุข ในอดีตปรากฏขึ้นในจักรวรรดิเยอรมัน ในปี 1781 ในปัจจุบันมีในบางประเทศ เช่นประเทศในเครือ commonwealth เบลเยียม สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 2.สหพันธรัฐที่เป็นสาธารณรัฐ มีประธานาธิบดีเป็นประมุข มีประเทศแบบนี้อยู่เยอะในโลกนี้ อมเริกา เยอรมัน 3.รัฐเดี่ยวและมีกษัตริย์เป็นประมุข บ้านเราจัดอยู่ในกลุ่มนี้ 4.รัฐเดี่ยวที่เป็นสาธารณรัฐ เช่น ฝรั่งเศส

ต้องเข้าใจว่าความเป็นรัฐเดี่ยวของแต่ละที่มีการกระจายอำนาจเข้มอ่อนแตกต่างกัน รัฐไทยถือเป็นรัฐเดี่ยวที่มีการรวมศูนย์อำนาจค่อนข้างเข้มข้น คนอาจบอกว่าเรามี อบต. อบจ. แต่มันเป็นการกระจายอำนาจแบบเจือจาง แต่ขณะที่บางรัฐเขากระจายอำนาจมากกว่าเรา เขาไม่ถึงขั้นเป็นสหพันธ์ แต่เป็นแคว้นซึ่งมีอำนาจในการจัดการปกครองตนเองมากขึ้น มากกว่าราชการส่วนภูมิภาคแบบที่เราใช้

เราพอกล่าวได้ว่า กำเนิดของรัฐไทยที่เกิดมาร้อยกว่าปี มันมีการเชื่อมต่อหรือมีอุดมการณ์ที่ฝังไว้อย่างเข้มข้น ในแง่รูปของรัฐเห็นได้เลยว่าเป็นรัฐเดี่ยว มหาดไทยอาจไม่ค่อยยินดีนักที่จะกระจายอำนาจลงไป คำถามง่ายมากเลย คือ ทำไมมีแต่ กทม. หรืออาจพัทยา ที่เลือกตั้งผู้บริหารเองได้ ทำไมเขตอื่นเลือกไม่ได้ ไม่แน่ใจว่าเป็นความกังวลหรือความกลัวของชนชั้นปกครองเองหรือเปล่าที่รู้สึกว่าต้องผนวกให้เข้าสู่ส่วนกลางให้เข้มข้นเอาไว้ เพราะการเลือกผู้บริหารเองอาจเป็นจุดเริ่มต้นไปสู่สิ่งอื่นหรือไม่ อันนี้เป็นเรื่องชวนคิดต่อ

ประเด็นก็คือ การทำความเข้าใจรัฐไทยในอดีต ไม่ใช่เรื่องทางประวัติศาสตร์ล้วนๆ หรือไม่มีประโยชน์ในการทำความเข้าใจสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน การมองปัจจุบันมองขาดจากอดีตไม่ได้ มันมีปัจจัยที่ส่งถึงกันเสมอ เพียงแต่เราจะมองเห็นประเด็นหรืออิทธิพลที่ส่งถึงกันมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับนักวิชาการที่ศึกษาเรื่องนั้นๆ ที่จะบอกว่าประเด็นไหนยังส่งผลถึงปัจจุบัน ความเป็นรัฐเดี่ยวยังส่งผลอยู่มาก เนื่องจากภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ที่ให้คุณค่ากับเรื่องนี้เป็นพิเศษ เราถึงมีมาตราว่า ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรหนึ่งเดียวจะแบ่งแยกมิได้ จริงๆ การกระจายอำนาจไม่ใช่การแบ่งแยก การกระจายอำนาจทำได้โดยไม่ขัดรัฐธรรมนูญด้วย มันแค่กระจายให้คนท้องถิ่นเลือกผู้บริหารได้เอง เลือกผู้ว่าได้เอง ซึ่งมันก็จะสลายการปกครองส่วนภูมิภาคทิ้งไป มีแต่ส่วนกลางกับส่วนท้องถิ่น แต่ยังอยู่ในรูปแบบรัฐเดี่ยวอยู่ แต่ถ้าถึงขั้นเป็นมลรัฐขึ้นมาก็เป็นปัญหาทางรัฐธรรมนูญแล้ว เพราะรัฐธรรมนูญบอกว่าแบ่งแยกไม่ได้ ผมอยากตั้งข้อสังเกตอยู่เหมือนกันเพราะในตำราหรือการสอนในบ้านเรามีสิ่งที่ไม่ match อยู่นิดหน่อยคือ รัฐศาสตร์เริ่มต้นอธิบายองค์ประกอบของรัฐ มีดินแดน มีประชากร มีอำนาจอธิปไตย มีรัฐบาลอะไรประมาณนี้ อาจอิงกับกฎเกณฑ์กฎหมายระหว่าประเทศด้วย มันก็ถูกถ้าเรามองรัฐเอกราชทั้งหลาย แต่ถ้าดูพวกสหพันธรัฐจะมีปัญหานิดหน่อยเพราะมลรัฐขาดอำนาจอธิปไตยแต่เขามีอำนาจรัฐ ถามว่าแบบนี้เขาเป็นรัฐไหม มุมมองของกฎหมายมหาชน เราถือว่าเขาเป็นรัฐ เพราะเขามีกฎหมายของเขาเอง มีสภาของเขาเอง มีรัฐบาลของเขาเอง มีศาลของเขาเอง ในอเมริกาหรือเยอรมันก็เป็นแบบนี้ การปกครองมีสองชั้น ฉะนั้น ระบบการปกครองแบบสหพันธรัฐจะมีความซับซ้อนกว่าและมีการถ่วงดุลกันทั้งในแนวนอนและในแนวตั้ง ในแนวนอนถ่วงดุลกันผ่าน องค์กรบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ ส่วนในแนวตั้งเขาถ่วงกันระหว่างสหพันธ์ มลรัฐ และท้องถิ่น ขณะที่รัฐเดี่ยวการถ่วงดุลอำนาจในแนวตั้งจะน้อยกว่า

คำถามเหลือแต่เพียงว่า การฟอร์มตัวร้อยกว่าปีมานี้ มันฟอร์มจนเข้มข้นไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้อีกแล้วหรือเปล่า หรือมันยังมีความผันแปรในทางประวัติศาสตร์ได้อีก อันนี้ผมไม่ค่อยแน่ใจเท่าไร เราอาจต้องมองพัฒนาการนี้ไปด้วยกัน และการผันแปรของรัฐมันมักเกินชั่วอายุคนคนหนึ่ง ยกเว้นจังหวะนั้นมาถึงพอดี

สุดท้ายอยากขอโควทหนังสือ อ.ไชยันต์นิดหน่อย ในช่วงท้ายของหนังสือมีการพูดถึงรัฐในระบบทุนนิยมรอบนอกและลักษณะเชิงวิเคราะห์และวิถีการทำงานในสยามไว้น่าสนใจ ในหน้า 168 พูดถึงประมวลกฎหมาย

การประมวลกฎหมายดำเนินไปเพราะการจัดตั้งสถาบันบังคับใช้กฎหมาย เช่น กรมตำรวจ กรมอัยการ กรมราชทัณฑ์ น่าสังเกตว่าเชื้อพระวงศ์อยู่เหนือกฎหมายของคนทั่วไป พวกเขามีศาลของตัวเองที่อยู่ภายในกระทรวงวัง กระทรวงนี้รับงบประมาณร้อยละ 12 ของงบประมาณทั้งหมด ในปี 1911, 1912 และเรียกได้ว่าเป็นโลกจำลองขนาดย่อมของรัฐบาลทั้งประเทศสำหรับราชวงศ์ ภายในนั้นมีพระคลังข้างที่ ศาลรับสั่ง กรมตำรวจวัง กรมมหรสพ และอื่นๆ สมาชิกราชสำนักที่มีชีวิตที่อยู่ดีกินดีจึงมีชีวิตที่แยกขาดจากส่วนอื่นของสังคมภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เจ้าและขุนนางสามารถอยู่เหนือกฎหมาย แต่กระนั้นก็ยังถือหลักกฎหมายและความสงบเรียบร้อยเป็นสูงสุดได้ ซึ่งแทบไม่น่าประหลาดใจเนื่องจากชนชั้นปกครองกุมอำนาจรัฐโดยตรง และการมีสองมาตรฐานในสังคมที่แบ่งแยกชนชั้นชัดเจนนั้นไม่ได้ดูเหลวไหล หากมองตามการใช้เหตุผลในยุคสมัยนั้น

คำถามก็คือ ข้อความแบบนี้ สมมติปรากฏในอีกร้อยปีข้างหน้าแล้วมองมันในยุคสมัยของเรา มันยังใช้ได้ไหม หนังสือนี้อาจไม่ต้องเปลี่ยนแปลงคำอธิบายใดเลยหรือไม่ หรือต้องถูกเปลี่ยนแปลง 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net