อ่าน 'แสง น้ำ และรวงข้าว' เพื่อสดับฟังคนอื่นและความเป็นอื่น

เราเป็น “คนอื่น” เมื่อเรา “ฟัง”

มีคำกล่าวหลายครั้งจาก อ.เดชา ตั้งสีฟ้า จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อพูดถึงความเป็น “เรา” และ “คนอื่น” ในบริบทของหนังสือ แสง น้ำ และรวงข้าว: ทักษะวัฒนธรรมเพื่อความเป็นอื่น เขากล่าวหลายครั้งว่า เมื่อเราได้ฟังเสียง ได้ฟังเรื่องราวของคนอื่น เราจะกลายเป็นคนอื่น เป็นคนอีกคนหนึ่งที่ไม่ใช่ตัวเรา

ลังเลและสงสัยในคำกล่าวของ อ.เดชา ไม่น้อย เมื่อได้ยินประโยคนี้ในครั้งแรก และอีกหลายๆ ครั้งก็ยิ่งเพิ่มความสงสัยในระดับทวีคูณ นั่นเพราะว่าการ “ฟัง” เป็นสิ่งที่เราทำมาตั้งแต่มีชีวิตอยู่แล้วไม่ใช่หรือ และส่วนใหญ่เราก็ฟังเสียงของ “คนอื่น” นั่นอย่างไร กล่าวคือเราอาจะคุยและฟังกับตัวเองบ้าง แต่ส่วนใหญ่เขาพูด เล่า อธิบาย เราก็ฟัง แล้วเราจะกลายเป็นคนอื่นได้อย่างไร

แม้ว่าจะลังเลและสงสัย แต่คงเป็นโอกาสดีไม่น้อย หากจะลองฟัง อ.เดชา และฟังหนังสือแสง น้ำ และรวงข้าวฯ อีกสักหนหนึ่งก่อน ก่อนที่จะตัดสินใจอีกครั้งเราเป็นอื่นหรือไม่ เมื่อเราฟัง

ราวสี่โมงเย็นของวันศุกร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ 2561 ซึ่งมีงานเสวนาเปิดตัวหนังสือ “แสง น้ำ และรวงข้าว: ทักษะวัฒนธรรมเพื่อความเป็นอื่น” ที่ จ.ปัตตานี ณ Patani Artspace พื้นที่จัดแสดงผลงานศิลปะร่วมสมัยของ อ.เจะอับดุลเลาะ เจ๊ะสอเหาะ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี หนึ่งในศิลปินจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

วงเสวนาครั้งนี้มี อ.แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากรเป็นผู้ดำเนินรายการ และมีผู้ร่วมเสวนา 3 ท่าน ได้แก่ อ.เดชา ตั้งสีฟ้า ผู้เขียนหนังสือแสง น้ำ และรวงข้าวฯ  อ.สุรัยยา สุไลมาน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.อ. ปัตตานี และคุณซะการีย์ยา อมาตยา กวีซีไรต์ปี 2553

ก่อนเวทีจะเปิดทำการ ผู้เข้าร่วมกว่า 70 คน ทั้งคนหนุ่มสาวและคนทำงานในพื้นที่สามจังหวัดฯ ต่างทยอยหามุมนั่งจับจองกัน ทั้งในส่วนเก้าอี้จัดวางหน้าเวที ศาลาไม้ในส่วนในร้านกาแฟ หรือพื้นหญ้าริมบึงน้ำด้านข้างเวที บรรยากาศขณะนี้คึกคักและมีชีวิตชีวาเต็มที

เดชา ตั้งสีฟ้า: ความอ่อนน้อมถ่อมตนอยู่ในแสง น้ำ และรวงข้าวฯ

ความตั้งใจในการเขียนหนังสือแสง น้ำ และรวงข้าวฯ เล่มนี้ เพื่อเป็นข้อมูลหลักคิดทางวิชาการในเรื่องทักษะวัฒนธรรมสำหรับคนทำงานของโครงการทักษะวัฒนธรรม  ซึ่งเขาได้รับมอบหมายให้เขียนจาก อ.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ คณะรัฐศาสตร์ มธ. ที่ปรึกษาโครงการทักษะวัฒนธรรม กระนั้นเรื่องราวในหนังสืออาจไม่ได้เฉพาะเจาะจงกับสถานการณ์ในพื้นที่สามจังหวัดฯ ในภาคใต้ทั้งหมดทีเดียว แต่เป็นไปเพื่อเรื่องของทักษะวัฒนธรรม หรือความสามารถทางปัญญาในการแยกแยะความต่าง และมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนที่ต่างในวัฒนธรรม

สิ่งที่หนังสือพยายามบอกกับผู้อ่าน คือความอ่อนน้อมถ่อมตนเมื่อต้องปฏิสัมพันธ์กับผู้คนที่ต่างวัฒนธรรม ให้เหมือนกับสายน้ำที่อ่อนนุ่ม ลื่นไหล และไหลลงสู่ที่ต่ำเสมอ ซึ่งคล้ายกับการโน้มเอียงของรวงข้าวลงสู่พื้นดินเช่นเดียวกัน โดยหนทางที่จะทำให้เราจะสามารถอ่อนน้อมถ่อมตนได้นั้น คือการไม่วางตนเองเป็นศูนย์กลางของการปฏิสัมพันธ์  เปิดพื้นที่ให้กับความแตกต่างได้เปล่งเสียง และฟังเสียงนั้น ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นเสียงของคำพูดหรือข้อความ แต่ยังเป็นเสียงการดำรงอยู่ของคนอื่นด้วย

“เมื่อเราฟังคนอื่น เราได้เปิดตัวเองและปล่อยตัวเองต่อคนอื่น เราเอียงเล็กน้อยไปด้านข้างเพื่อฟัง…โดยตระหนักว่าทุกครั้งที่เราฟัง เราก็ (ค่อยๆ) กลายเป็นคนอื่น เป็นการเปิดตัวเองในฐานะที่เป็นการอยู่-กับ เพื่อคนอื่น”

หากจะสรุปใจความสำคัญของทักษะวัฒนธรรม สำหรับเขาแล้ว นั่นคือ การฟัง

สุรัยยา สุไลมาน: Cultural Literacy อ่านวัฒนธรรมให้ออก

คำนำของหนังสือแสง น้ำ และรวงข้าวฯ ในส่วน “คำตอบจากแม่มด” โดย อ.ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล และ “คำถามจากพ่อมด” โดย อ.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ เป็นคำนำที่มีความน่าสนใจอย่างยิ่ง เมื่อถูกจัดวางอยู่ในส่วนต้นของหนังสือ มีวิธีการเขียนเล่า แนะนำโครงการทักษะวัฒนธรรม โดยใช้การเล่านิทาน ซึ่งนอกจากทำให้เราเข้าใจความเป็นไปและวัตถุประสงค์ของโครงการได้อย่างง่ายและชวนติดตาม

ส่วนเนื้อหาเรื่องทักษะวัฒนธรรมของ อ.เดชานั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่า ไม่ใช่เนื้อความที่อ่านและเข้าใจได้ง่ายในเวลาอันสั้น คล้ายกับการปีนป่ายบนเทือกเขาสูงซึ่งมีอุปสรรคและต้องใช้เวลากว่าจะถึงบนยอดเขาได้ แต่บนยอดนั้นเองก็มีความงามที่รอคอยอยู่  แสง น้ำ และรวงข้าวฯ ก็เปรียบได้กับเทือกเขาสูงเช่นนั้น

อย่างไรก็ดี ก่อนจะเรียนรู้เรื่องทักษะวัฒนธรรม หรือ Cultural Fluency นั้น อยากเสนอให้เราได้ทำความเข้าใจเรื่อง Cultural Literacy ก่อน ซึ่งหมายถึงการเรียนรู้ที่จะอ่านวัฒนธรรม ความรู้ความเข้าใจในวัฒนธรรมที่หลากหลาย ให้ออกเสียก่อน ก่อนที่จะไปฝึกฝนความคล่องแคล่วในเรื่องวัฒนธรรม

ซะการีย์ยา อมาตยา : ไม่ Practical แต่ทำงานกับความคิด

ชื่อหนังสือแสง น้ำ และรวงข้าวฯ คล้ายกับการตั้งชื่อแบบปรัชญาของการมองเห็น เปรียบแสงเหมือนความคิด ที่ต้องระมัดระวังไม่ให้แสงจ้าเกินไปจนมองไม่เห็นแสงของคนอื่น ซึ่งหมายถึงหากใส่ใจแต่ที่ความคิดของตนเอง ก็ยากจะมองเห็นหรือได้ยินความคิดของคนอื่น

จากหนังสือนั้น มีส่วนคำถามจากพ่อมดจากบทคำนำที่ถามว่า ทำอย่างไรจึงจะอาศัยพลังทางวัฒนธรรม มาหยุดหรือลดความสูญเสียที่เกิดจากพลังมืดของความรุนแรงในภาคใต้ได้? คำว่าพลังมืดนั้นจะหมายความว่าอะไร หากมีการตีความ จะหมายความการต่อสู้ของคนในพื้นที่สามจังหวัดใช้ความมืดมาต่อสู้หรือ?

นอกจากนี้ ในส่วนของการให้ความหมายของคำต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับทักษะวัฒนธรรม เช่น ทักษะ skill fluency ได้อธิบายรากศัพท์ของคำเหล่านี้อย่างลึกซึ้งทั้งในภาษาไทย สันสกฤต หรือภาษาในยุโรป ซึ่งมีข้อสังเกตหากเพิ่มการอธิบายคำที่มาจากรากศัพท์ของภาษาอาหรับ จะเพิ่มความหลาหลายของภาษา และมีส่วนที่ทำให้ใกล้ชิดกับคนในพื้นที่มากยิ่งขึ้น

แม้หนังสือเล่มนี้จะไม่ได้เป็นหนังสือที่เฉพาะเจาะจงกับบริบทในพื้นที่สามจังหวัดฯ แต่อาจจะเกี่ยวข้องกับคนในพื้นที่ได้ ตรงที่มีความเป็นมนุษย์เหมือนกัน

หนังสือแสง น้ำ และรวงข้าวฯ อาจจะไม่ practical ปฏิบัติได้จริง หรือนำไปใช้เลย แต่เป็นหนังสือที่ทำงานกับความคิด เปรียบเทียบก็คือหนังสือเล่มนี้ไม่ได้เป็นอาหารสำเร็จรูป แต่เป็นเหมือนเนยแข็งที่ต้องเอามาละลาย และใช้เวลา แต่เมื่อนำมาประกอบเป็นอาหารจะได้รสและกลิ่นงดงาม

หนังสืออาจจะไม่ทำงานกับความคิดในตอนนี้ แต่ในอีกนาทีข้างหน้า หนึ่งชั่วโมง หนึ่งวัน หรือหนึ่งปี เราจึงจะเข้าใจหนังสือเล่มนี้ได้

อ่านแสง น้ำ และรวงข้าวฯ

แสง น้ำ และรวงข้าวฯ อาจจะเป็นหนังสือที่อ่านเข้าใจยากในรอบแรก ดังที่ อ.สุรัยยา กล่าวไว้ในวงเสวนา กระนั้นในรอบที่สองของหนังสือเล่มนี้ก็ยังไม่ง่ายหรือใกล้เคียงกับการเดินลงเขา แต่ก็ไม่ยากเท่ากับเมื่อต้องเดินขึ้นไป

เหตุที่น่าสนใจกลับมาอ่าน แสง น้ำ และรวงข้าวฯ อีกครั้ง นั่นเพราะมีรายละเอียดและใจความสำคัญที่น่าสนใจ โดยเฉพาะประเด็นที่ผู้เขียนกล่าวไว้ว่า หัวใจของทักษะวัฒนธรรมคือ การฟัง

เรื่องของการฟังถูกกล่าวถึงเป็นตอนหนึ่งในหนังสือ “ฟังคนอื่น ฟังความเป็นอื่น” ชักชวนให้เราฟังคนอื่น เพื่อเปิดตัวเอง เมื่อเปิดตนเองจึงค่อยๆ กลายเป็นคนอื่น เพราะเราได้ลดละอัตตาของตัวเองลง กระนั้นการฟังที่ถูกต้องมีบอกไว้ว่า ให้ผู้ฟังทำตัวเหมือนสายน้ำที่อ่อนนุ่ม ลื่นไหล และไหลลงสู่ที่ต่ำกว่าเสมอ นั่นคือขยับตนเองออกจากศูนย์กลางของพื้นที่ระหว่างความแตกต่าง หรืออาจกล่าวได้ว่าผู้ที่ฟังจะต้องมีความอ่อนน้อมถ่อมตน

หัวใจของทักษะวัฒนธรรมคือการฟัง หัวใจของการฟังคือความอ่อนน้อมถ่อมตน

หากเรายิ่งปฏิสัมพันธ์กับความต่างด้วยความคล่องตัวและลื่นไหลเหมือนสายน้ำ เราจะกลายเป็นคนอื่นมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งผู้ที่กระทำการปฏิสัมพันธ์ในลักษณะเช่นนี้นั้น คือผู้ที่มีทักษะวัฒนธรรม

ผู้ที่มีทักษะวัฒนธรรมเปรียบได้กับรวงข้าวที่เมื่อเติบโตจะกลับโน้มตัวลงสู่พื้นดิน เพราะมีแสงและน้ำที่อุดมสมบูรณ์ ซึ่งแสงเปรียบได้กับ วัฒนธรรม/ความเป็นเรา ไม่ระมัดระวังไม่ให้มากหรือสว่างเกินไปจนบดบังแสงหรือวัฒนธรรมของความเป็นอื่น และน้ำ คือการฟัง การมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น ฝึกฝนให้คล่องแคล่วและอ่อนน้อมเหมือนสายน้ำ

 

หมายเหตุ: หนังสือแสง น้ำ และรวงข้าวฯ จัดพิมพ์ครั้งที่ 1 เมื่อเดือนมิถุนายน 2560 โดยการสนับสนุนจากศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ปัจจุบันยังไม่ได้จัดจำหน่ายอย่างเป็นทางการ  หากสนใจหนังสือ สามารถติดต่อได้ที่ facebook fanpage: cf.shortfilm หรือ cfproject.pic@gmail.com

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท