Skip to main content
sharethis

FIFPro สหภาพแรงงานนักฟุตบอลระดับโลกเผยแพร่รายงานสำรวจสถานภาพและสภาพการจ้างนักฟุตบอลหญิง 3,600 คน พบร้อยละ 49.5 เล่นฟุตบอลโดยที่ไม่ได้รับค่าจ้าง และเกือบ 2 ใน 3 ได้รับค่าจ้างต่ำกว่า 600 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือน (ประมาณ 18,700 บาท)


ที่มาภาพประกอบ: Don Voaklander (CC BY-NC-ND 2.0)

17 ก.พ. 2561 FIFPro สหภาพแรงงานนักฟุตบอลระดับโลกได้เผยแพร่รายงาน 2017 FIFPro Women Football Global Employment Report เมื่อปลายปี 2560 ที่ผ่านมา รายงานชิ้นนี้ได้ทำการสำรวจสถานภาพและสภาพการจ้างนักฟุตบอลหญิง 3,600 คน ที่เป็นสมาชิกของ FIFPro จากทวีปยุโรป อเมริกา แอฟริกา และเอเชีย ข้อค้นพบที่น่าสนใจของรายงานชิ้นนี้พบว่าร้อยละ 49.5 ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่าพวกเธอเล่นฟุตบอลโดยที่ไม่ได้รับค่าจ้างจากสโมสร และประมาณร้อยละ 60 ได้รับค่าจ้างต่ำกว่า 600 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือน (ประมาณ 18,700 บาท) ประมาณร้อยละ 30 ได้รับค่าจ้างระหว่าง 600-2,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือน (ประมาณ 18,700-62,500 บาท) และมีเพียงจำนวนเล็กน้อย (ร้อยละ 1) เท่านั้นที่ได้รับค่าแรงมากกว่า 8,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือน (ประมาณ 250,000 บาท)

นอกจากนี้ร้อยละ 37 ระบุว่าพวกเธอได้รับการจ่ายค่าแรงที่ล่าช้าไม่ตรงต่อเวลา โดยร้อยละ 9 ได้รับค่าจ้างล่าช้ากว่า 3 เดือนเลยทีเดียว สำหรับผู้เล่นที่ติดทีมชาติพบว่ากว่าร้อยละ 35 ไม่ได้รับค่าตอบแทนจากการเล่นให้ทีมชาติ นอกจากนี้ยังมีข่าวคราวที่สมาคมฟุตบอลไม่จ่ายเงินรางวัลให้กับทีมชาติหญิงหลายครั้งด้วย

ข้อได้เปรียบอย่างเดียวของนักฟุตบอลหญิงเมื่อเทียบกับชาย คือนักฟุตบอลหญิงจะมีการศึกษาที่ดีกว่านักฟุตบอลชาย โดยร้อยละ 84 จบการศึกษาในระดับมัธยม และกว่าร้อยละ 30 จบการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย ทั้งนี้ร้อยละ 46 ยังเล่นฟุตบอลควบคู่กับการเป็นนักศึกษาไปด้วย ส่วนในรายงาน 2016 FIFPro Global Employment Report ระบุว่าส่วนใหญ่นักฟุตบอลชายจบการศึกษาในระดับมัธยม ร้อยละ 72 และจบในระดับมหาวิทยาลัยแค่ร้อยละ 12 เท่านั้น

สถานะทางอาชีพ = ครึ่ง ๆ กลาง ๆ และไม่มั่นคงเป็นอย่างมาก

"ยังคงมีการเลือกปฏิบัติบางอย่างอยู่รอบกายนักฟุตบอลหญิง, ถ้าคุณบอกว่าคุณเล่นฟุตบอลในระดับอาชีพ บางคนจะหัวเราะใส่คุณ พวกเขาบอกว่าคุณไม่สามารถทำเงินได้, นั่นไม่ใช่สิ่งที่จับต้องได้"

เชีย กรูม นักฟุตบอลหญิงจากทีมแคนซัส ซิตี้

จากการสำรวจสถานภาพและสภาพการจ้างนักฟุตบอลหญิง 3,600 คน ของ FIFPro ครั้งนี้พบว่าส่วนใหญ่เป็นผู้เล่นในระดับสมัครเล่นร้อยละ 43.8 ตามมาด้วยผู้เล่นกึ่งอาชีพร้อยละ 32.1 และผู้เล่นอาชีพเพียงร้อยละ 24.1 ทั้งนี้ในระดับสมัครเล่นและระดับกึ่งอาชีพนั้นนักฟุตบอลหญิงถือว่ามีสถานะที่ ‘คลุมเครือ’ ผู้เล่นบางคนมีสัญญา บางคนไม่มีสัญญา และหลายคนไม่ทราบว่าตนเองมีหรือไม่มีสัญญา

และเมื่อพิจารณาสภาพการจ้างในภาพรวมพบว่ามีเพียงร้อยละ 47 เท่านั้นที่มีสัญญาจ้าง ร้อยละ 34 มีสัญญาจ้างแบบสมัครเล่น และผู้เล่นที่มีสัญญาจ้างระยะเวลาสัญญาส่วนใหญ่เฉลี่ยเพียง 12 เดือน เท่านั้น

นักฟุตบอลอาชีพหญิงในอังกฤษที่ไม่ระบุชื่อคนหนึ่งให้ข้อมูลกับ FIFPro ว่ามีทีมระดับชั้นนำในลีกเพียง 3 อันดับแรกเท่านั้นที่ได้รับการเอาใจใส่ที่ดี สำหรับเธอนั้นเธอฝึกซ้อม 4-5 วันต่อสัปดาห์ไม่ได้ทั้งเงินเดือนและค่าเดินทางมาซ้อม เธอต้องทำงานพาร์ทไทม์ (หรืองานหลักกันแน่?) ไปด้วยให้มีรายได้จุนเจือเพื่อที่เธอจะได้เล่นฟุตบอล

ยังไงก็เลิกเล่น

"ในรอบสองทศวรรษที่ผ่านมา ฉันเห็นสุดยอดนักฟุตบอลอาชีพ(หญิง) ทยอยหันหลังให้กับเกมกีฬานี้"

โฮป โซโล อดีตผู้รักษาประตูฟุตบอลหญิงทีมชาติสหรัฐอเมริกา

พบว่าอายุเฉลี่ยของนักฟุตบอลหญิงในรายงานชิ้นนี้ส่วนใหญ่ร้อยละ 69 อยู่ระหว่าง 18-23 ปี โดยผู้เล่นในระดับอาชีพต้องการที่จะเลิกเล่นฟุตบอลก่อนวัยอันสมควรร้อยละ 90.4 ส่วนในระดับสมัครเล่นอยู่ที่ร้อยละ 88.3

ผู้ที่ตอบแบบสอบถามของ FIFPro ที่ระบุว่าพวกเธอต้องการที่จะเลิกเล่นฟุตบอลก่อนวัยอันสมควร ให้เหตุผลว่าต้องการที่จะมีครอบครัวร้อยละ 47.4 ตามมาด้วยเหตุผลด้านการเงินร้อยละ 46.8 การไปหาโอกาสในหน้าที่การงานที่ดีกว่าร้อยละ 39.2 การหาจุดลงตัวไม่ได้ระหว่างชีวิตส่วนตัวและการเล่นฟุตบอร้อยละ 29.4 ไปศึกษาต่อร้อยละ 27.7 ให้เหตุผลว่าระบบโครงสร้างของกีฬาฟุตบอลหญิงไม่ค่อยดีนักร้อยละ 25.9 เลิกเล่นเพราะว่าเกิดความเครียดร้อยละ 13.1 และเลิกเล่นเพราะถูกเลือกปฏิบัติร้อยละ 5.9

ในประเด็นการเลือกปฏิบัติทางเพศนั้น ร้อยละ 17.5 ระบุว่ามีประสบการณ์การถูกเลือกปฏิบัติทางเพศ ร้อยละ 5.4 มีประสบการณ์การถูกกลัวและเกลียดชังทางเพศอย่างไม่มีเหตุผล (Homophobia) ร้อยละ 4.5 มีประสบการณ์การถูกเหยียดเชื้อชาติ และร้อยละ 3.5 มีประสบการณ์การถูกล่วงละเมิดทางเพศ (ทุกกรณีการทั้งจากแฟนบอลในวันแข่งขันและวันที่ไม่มีการแข่งขัน, ฝ่ายจัดการทีม, ผู้เล่นด้วยกัน และสต๊าฟโค้ช)

มีเพียงร้อยละ 2 เท่านั้นที่มีบุตร และอีกร้อยละ 47 ระบุว่าพวกเธอจะเลิกเล่นฟุตบอลเร็ว ๆ นี้เพื่อเริ่มต้นมีครอบครัว ข้อค้นพบที่น่าสนใจอีกประการในรายงานฉบับนี้ของ FIFPro ก็คือร้อยละ 5 ระบุว่าพวกเธอเคยถูกติดต่อให้เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการกำหนดผลการแข่งขันหรือการล้มบอล (match-fixing) ทั้งในระดับสมัครเล่นและอาชีพ โดยผู้ที่ถูกติดต่อให้ล้มบอลนั้นมักจะได้รับค่าจ้างต่ำ มีประสบการณ์การที่สโมสรจ่ายค่าจ้างล่าช้าและมีอายุอยู่ช่วงท้ายของการเล่นฟุตบอล

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net