Skip to main content
sharethis

สหรัฐฯ แสดงความวิตก หลังรัฐบาลไทยบังคับส่งกลับ 'แซม โสกา' ไปยังกัมพูชา ทั้งๆ ที่ได้รับสถานะผู้ลี้ภัยจากยูเอ็นแล้ว กต.แจงเป็นความร่วมมือระหว่างตำรวจของ 2 ประเทศ อังคณา ขอ รบ.ไทยติดตามว่าส่งกลับไปแล้ว ปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชนครบถ้วนไหม

ภาพตัวอย่างจากคลิปที่ระบุว่าเป็นการขว้างรองเท้า’ ใส่ป้าย ‘ฮุน เซน’ 

14 ก.พ.2561 จากกรณีที่องค์กรระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนฮิวแมนไรท์วอทช์ (Human Rights Watch) ออกแถลงการณ์ประณามรัฐบาลไทย เมื่อ 9 ก.พ.61 กรณีที่มีการส่งตัว แซม โสกา ผู้ลี้ภัยชาวกัมพูชา กลับประเทศต้นทาง เมื่อวันที่ 8 ก.พ.ที่ผ่านมา แม้ว่า แซม โสกา (Sam Sokha) จะได้รับการรับรองสถานะผู้ลี้ภัยจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) แล้วก็ตาม โดยฮิวแมนไรท์วอทช์ระบุว่า การดำเนินการดังกล่าวของไทย เข้าข่ายละเมิดกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศว่าด้วยการไม่ส่งกลับ (non-refoulement) เพราะอาจทำให้บุคคลที่ถูกส่งกลับมีความเสี่ยงจะถูกปราบปราม ทรมาน หรือถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงนั้น

สหรัฐฯวิจารณ์ไทย ส่งกลับ

สำนักข่าวเอพีรายงานว่า 12 ก.พ. ที่ผ่านมา แคททินา อดัมส์ แถลงว่า สหรัฐฯรู้สึกวิตกอย่างยิ่งที่รัฐบาลไทยบังคับส่งกลับ แซม โสกา ไปยังกัมพูชา ทั้งๆ ที่เธอได้รับสถานะผู้ลี้ภัยจากสหประชาชาติแล้ว 

แซม โสกา เป็นนักเคลื่อนไหวแรงงาน ศาลของกัมพูชาพิพากษาลับหลังเมื่อวันที่ 25 ม.ค.ที่ผ่านมา ตัดสินว่าเธอมีความผิดในข้อหาดูหมิ่นเจ้าพนักงานและปลุกปั่นยุยงเพื่อสร้างความแตกแยก โดยกำหนดโทษจำคุก 2 ปี คลิปความยาว 13 วินาทีที่เผยแพร่เมื่อเดือน เม.ย.ปีที่แล้ว แสดงให้เห็นเธอกำลังขว้างรองเท้าใส่ป้ายที่มีภาพของ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรี และเฮง สัมริน ประธานสภา โดยเมื่อ 8 ก.พ.61 ทางการไทยจับกุม แซม โสกา และส่งตัวเธอให้ทางการกัมพูชา เวลานี้ เธอถูกควบคุมตัวภายในห้องขังของศาลจังหวัดกัมปงสปือ  

โฆษกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ เรียกร้องประเทศไทย ขอให้หลีกเลี่ยง “การส่งกลับผู้ลี้ภัยโดยไม่สมัครใจ

กต.แจงเป็นความร่วมมือระหว่างตำรวจของ 2 ประเทศ

ขณะที่ 11 ก.พ.ที่ผ่านมา บุษฎี สันติพิทักษ์ อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ แถลงตอบโต้ว่า การส่งตัว แซม โสกา กลับประเทศ เป็นการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ของไทย และเป็นความร่วมมือระหว่างตำรวจทั้งสองประเทศ นอกจากนี้ โดยหลักการแล้ว ประเทศไทยให้ความสำคัญต่อหลักสิทธิมนุษยชนและกฎ non-refoulement แม้ประเทศไทยมิได้เป็นภาคีอนุสัญญาเรื่องผู้ลี้ภัย

"ดังนั้น ก่อนการส่งตัวกลับ เชื่อว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการพิจารณาเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องอย่างรอบคอบแล้วว่าการส่งตัว แซม โสกา กลับไปกัมพูชา จะไม่เป็นภัยต่อบุคคลดังกล่าว" บุษฎี กล่าว

อังคณา ขอ รบ.ไทยติดตามว่าส่งกลับไปแล้ว ปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชนครบถ้วนไหม

12 ก.พ.ที่ผ่านมา อังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวถึงเรื่องนี้ ว่า เท่าที่ติดตามทราบว่าหญิงชาวกัมพูชารายนี้ถูกทางการไทยจับกุมเมื่อ 5 ม.ค.61 ในข้อหาอยู่ในประเทศไทยเกินระยะเวลาที่กำหนด ต่อมาวันที่ 12 ม.ค.ทนายความได้ยื่นคำร้องไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เพื่อขอไม่ให้ถูกส่งตัวกลับ และล่าสุดเมื่อช่วงต้นเดือน ก.พ.61 ได้ยื่นขออุทธรณ์ต่อศาลเนื่องด้วยเกรงว่าหากส่งตัว Sam Sokha กลับไปยังกัมพูชาอาจจะเกิดอันตรายขึ้นกับเธอได้ แต่ก็มาถูกส่งตัวกลับไปเสียก่อน

"อันที่จริงในขณะที่เรื่องอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ควรชะลอการส่งกลับ ให้ศาลได้พิจารณาก่อน" อังคณา กล่าว พร้อมระบุว่า ส่วนกรณีที่กระทรวงการต่างประเทศของไทยชี้แจงว่า การส่งตัว Sam Sokha กลับไปยังกัมพูชานั้นเชื่อว่าจะไม่เป็นการผลักดันให้ต้องไปเผชิญกับอันตรายนั้น แม้ประเทศไทยจะไม่ได้ลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัย แต่อนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้ มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี ซึ่งไทยได้ไปลงนามไว้ ในข้อ 3 (1) ก็กำหนดว่ารัฐภาคีต้องไม่ส่งคนกลับไปยังรัฐที่มีเหตุให้เชื่อได้ว่าบุคคลที่ถูกส่งกลับนั้นจะเป็นอันตรายจากการถูกทรมาน ดังนั้นทางการไทยก็ต้องปฏิบัติตามอนุสัญญาดังกล่าว
 
"เรื่องนี้น่าห่วงใย ปัญหาคือส่งกลับไปแล้ว สิ่งที่จะทำได้คือรัฐบาลไทยโดยกระทรวงการต่างประเทศควรจะติดตาม ว่าส่งกลับไปแล้วเขาได้รับการปฏิบัติตามหลักมนุษยธรรม ตามหลักสิทธิมนุษยชนครบถ้วนไหม เพื่อยืนยันว่าเขาได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย" อังคณา กล่าวย้ำ
 
สำหรับ แซม โสกา เป็นผู้เผยแพร่คลิปวิดีโอเหตุการณ์ที่เธอปารองเท้าใส่รูปของ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา และมีผู้นำไปเผยแพร่อย่างกว้างขวางในโซเชียลมีเดีย ทำให้ทางการกัมพูชาออกหมายจับเธอในข้อหา “ดูหมิ่นเจ้าพนักงาน” และ “ยุยงให้เกิดการเลือกปฏิบัติ” ตามมาตรา 494 , 496 และ 502 ของประมวลกฎหมายอาญากัมพูชา ส่งผลให้เธอต้องหลบหนีจากกัมพูชาเพื่อมาลี้ภัยในประเทศไทย และได้เข้าสู่ขั้นตอนการสัมภาษณ์และได้รับสถานะผู้ลี้ภัยอย่างเป็นทางการจากยูเอ็นเอชซีอาร์

 

ที่มา : hrw.org Voice TV และแนวหน้า

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net