Skip to main content
sharethis

รายงานเชิงสืบสวนสอบสวนของรอยเตอร์ เผยว่าทหารพม่าและ อส. ร่วมกันสังหารหมู่ชาวบ้านโรฮิงญา 10 รายในขณะถูกควบคุมตัวที่หมู่บ้านอินดิน ห่างจากเมืองหลวงรัฐยะไข่ 50 กม. ทั้งยังเผยว่ากองทัพพม่ามีคำสั่ง "เคลียร์" หมู่บ้านชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่อย่างเป็นระบบ ขณะที่นักข่าวที่เปิดเผยเรื่องนี้กำลังถูกทางการพม่าดำเนินคดีข้อหาเผยแพร่ความลับราชการ ระวางโทษจำคุกสูงสุด 14 ปี


เจ้าหน้าที่พม่าขุดศพ 10 ร่างขึ้นมาจากหลุมศพขนาดใหญ่ที่ค้นพบที่หมู่บ้านอินดิน ห่างจากเมืองซิตตะเหว่ เมืองหลวงรัฐยะไข่ไปทางเหนือ 50 กม. ภาพถ่ายเมื่อ 19 ธันวาคม 2560 ล่าสุดรายงานข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนของรอยเตอร์ยืนยันว่าผู้เสียชีวิตทั้งหมดเป็นพลเรือนที่ถูกเจ้าหน้าที่พม่าร่วมกับชาวบ้านยะไข่สังหาร (ที่มา: Office of the Commander-in-Chief)


สภาพของหมู่บ้านอินดิน ในรัฐยะไข่ เดิมเป็นหมู่บ้านที่มีประชากร 6,000 คน ในภาพเป็นภาพถ่ายจากดาวเทียมเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2560 แสดงให้เห็นสภาพของชุมชนที่ถูกเผาทำลาย (กรอบสีแดง) โดยมีชุมชนเพียงบางส่วนเท่านั้นที่ไม่ได้ถูกเผาทำลาย (กรอบสีเขียว) (ที่มา: วิกิพีเดีย)

9 ก.พ. 2561 ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวรอยเตอร์คือวะลง, จ่อซออู, ไซมอน เลวิส และแอนโทนี สโลโควสกี โดย 2 คนแรกถูกตำรวจพม่าจับกุมดำเนินคดีในระหว่างรายงานข่าวเรื่องโรฮิงญา ล่าสุดเมื่อ 8 ก.พ. พวกเขาได้เผยแพร่รายงานสืบสวนสอบสวนกรณีสังหารหมู่พลเรือนโรฮิงญา 10 ราย ที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านอินดิน รัฐยะไข่ เหตุเกิดเมื่อเดือนกันยายนปีก่อน

ทั้งนี้ชาวยะไข่พุทธ 2 ราย ที่เป็นผู้ขุดหลุมขนาดใหญ่เพื่อฝังศพชาวโรฮิงญา 10 ราย และได้เห็นการสังหารหมู่ด้วยตัวเอง เป็นผู้ให้ข้อมูลกับนักข่าวรอยเตอร์ระบุว่า มีชาวโรฮิงญา 2 รายถูกชาวบ้านยะไข่ฟันจนเสียชีวิต อีก 8 รายถูกทหารพม่ายิงเสียชีวิต โดยแต่ละคนถูกยิงไม่ต่ำกว่า 2-3 ครั้ง

นอกจากนี้ผู้สื่อข่าวรอยเตอร์ยังได้ภาพถ่ายจากผู้อาวุโสรายหนึ่งในหมู่บ้าน 3 ภาพ เป็นภาพถ่ายชาวโรฮิงญาที่ถูกจับกุม ในช่วงเย็นวันที่ 1 ก.ย. 2560 ก่อนที่จะถูกสังหารทั้งหมดในวันที่ 2 ก.ย. หลังเวลา 10.00 น. ภาพที่ 2 เป็นภาพที่ถ่ายก่อนสังหารหมู่ ทั้งหมดถูกนำมานั่งคุกเข่าเรียงแถว และภาพสุดท้ายทั้งหมดกลายเป็นศพกองอยู่ในหลุมตื้น

สำหรับผู้เสียชีวิตทั้ง 10 รายเป็นผู้ชายทั้งหมด อายุระหว่าง 17-40 ปี พวกเขามีอาชีพประมง เปิดร้านขายของชำ มีคนหนึ่งเป็นครูสอนศาสนา และในจำนวนนี้มีนักเรียนมัธยม 2 ราย ครอบครัวของผู้เสียชีวิตซึ่งขณะนี้ลี้ภัยไปอยู่บังกลาเทศได้ระบุตัวตนของผู้เสียชีวิตผ่านภาพถ่ายที่ส่งไปให้โดยสำนักข่าวรอยเตอร์

ข้อมูลที่รอยเตอร์ได้รับจากชาวยะไข่ ที่อยู่ในหมู่บ้านอินดินนับสิบรายยืนยันว่า ทหารพม่า ตำรวจกองหนุนหรือ อส. ที่จัดตั้งโดยชาวยะไข่ในหมู่บ้าน เป็นผู้จุดไฟเผาหมู่บ้านโรฮิงญา มีชาวชาวยะไข่พุทธ 11 ราย ให้ข้อมูลว่า มีชาวยะไข่พุทธในหมู่บ้านที่ก่อความรุนแรงรวมทั้งก่อเหตุฆ่าฟันด้วย

นอกจากนี้ตำรวจกองหนุน 3 รายในพื้นที่ และเจ้าหน้าที่ตำรวจหน่วยสืบราชการลับที่ประจำอยู่ที่ซิตตะเหว่ เมืองหลวงรัฐยะไข่ เปิดเผยว่ามีคำสั่งจากกองทัพพม่าให้ "เคลียร์" บ้านของชาวโรฮิงญาในหมู่บ้านอินดิน และในช่วงปฏิบัติการ เจ้าหน้าที่กองทัพพม่าได้สวมเครื่องแบบพลเรือนด้วยเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกจับได้

ทั้งนี้กองพันทหารราบเบาที่ 33 เป็นผู้ปฏิบัติการที่หมู่บ้านอินดิน และได้รับการสนับสนุนจากกองพันตำรวจกองหนุนที่ 8

โดยรายงานทั้งหมดสามารถอ่านได้ในเว็บไซต์ของสำนักข่าวรอยเตอร์ "How Myanmar forces burned, looted and killed in a remote village" (อ่านข่าว)

 

ผู้สื่อข่าวพม่าที่รายงานข่าวกำลังถูกดำเนินคดีข้อหาเผยแพร่ความลับราชการ

สำหรับผู้สื่อข่าวพม่า 2 คนที่ร่วมรายงานสืบสวนสอบสวนของรอยเตอร์คือ วะลง เขามีพื้นเพมาจากภาคมัณฑะเลย์ เคยทำงานให้กับเมียนมาร์ไทม์ช่วงเลือกตั้งทั่วไปของพม่าปี 2015 ส่วนจ่อซออูเป็นนักข่าวชาวยะไข่ ทั้ง 2 คนปัจจุบันสังกัดสำนักข่าวรอยเตอร์ และเมื่อวันที่ 12 ธันวาคมหลังจากที่พวกเขาเพิ่งลงพื้นที่เพื่อทำข่าวสถานการณ์รัฐยะไข่ ได้ถูกตำรวจพม่าจับกุมที่ชานเมืองย่างกุ้ง และถูกดำเนินคดีในข้อหาได้ข้อมูลมาโดยมิชอบด้วยกฎหมายและมีเจตนาส่งต่อให้กับสื่อมวลชนต่างชาติ โดยเป็นกฎหมายที่ใช้มาตั้งแต่ ค.ศ. 1923 หรือในสมัยอาณานิคม และพวกเขาต้องระวางโทษจำคุกสูงสุด 14 ปี หากศาลตัดสินว่าพวกเขาผิด

นอกจากนี้สามวันหลังการจับกุมนักข่าวทั้ง  2 คน มีชาวยะไข่ 5 คน ที่อยู่ในหมู่บ้านอินดินถูกควบคุมตัวด้วย เพราะต้องสงสัยว่าเป็นคนให้ข้อมูลกับนักข่าวทั้งสอง

 

กองทัพพม่าเคยปฏิเสธเสียงแข็ง ออกรายงานแก้เกี้ยวว่าสังหารกลุ่มติดอาวุธ

ส่วนกรณีสังหารหมู่ชาวโรฮิงญาที่หมู่บ้านอินดินนั้น ก่อนหน้านี้ หนังสือพิมพ์นิวไลท์ออฟเมียนมาร์ของรัฐบาลพม่า รายงานเมื่อวันที่ 11 ม.ค. นี้ว่า คณะกรรมการข้อเท็จจริงของกระทรวงกลาโหมพม่าได้แถลงยอมรับเมื่อ 10 ม.ค. ว่าหลุมศพขนาดใหญ่ที่มีศพ 10 ร่าง ที่พบเมื่อ 18 ธ.ค. ที่หมู่บ้านอินดิน ห่างจากซิตตะเหว่ เมืองหลวงรัฐยะไข่ไปทางเหนือราว 50 กม. นั้นเป็นศพของกลุ่มมุสลิมติดอาวุธ

โดยแถลงการณ์ของคณะกรรมการดังกล่าวยังระบุว่า ในช่วงก่อเหตุโจมตีระลอกใหม่ของกองกำลัง ARSA เมื่อ 25 ส.ค. ที่ผ่านมา กลุ่มติดอาวุธดังกล่าวถูกกล่าวหาว่าเป็นคนลงมือฆ่า "หม่องนี" ชาวบ้านในหมู่บ้านอินดิน นอกจากนี้ยังข่มขู่กลุ่มชาติพันธุ์อื่นที่ไม่ใช่มุสลิมในหมู่บ้าน โดยกลุ่มชาติพันธุ์ที่ไม่ใช่มุสลิมได้ย้ายไปรวมกันในวัดแห่งหนึ่งของหมู่บ้าน และเจ้าหน้าที่กองทัพพม่าถูกส่งเข้ามาในพื้นที่เพื่อรักษาความปลอดภัย ต่อมาเมื่อวันที่ 1 ก.ย. มีผู้ก่อเหตุราว 200 คน พยายามโจมตีกองกำลังของรัฐบาลพม่าที่เข้ามาในหมู่บ้าน เจ้าหน้าที่จึงยิงปืนเตือนขึ้นฟ้าเพื่อให้กลุ่มผู้ก่อเหตุสลายตัว และจับชายที่มีอาวุธได้ 10 คน โดยชายเหล่านี้สารภาพว่าเกี่ยวข้องกับกลุ่มผู้ก่อการร้าย และถูกจัดตั้งมาโดยผู้นำศาสนาในพื้นที่ชื่อ "หม่อละวี" ที่มัสยิดในหมู่บ้าน

คณะกรรมการของกระทรวงกลาโหมพม่า อ้างว่า ผู้ถูกควบคุมตัวทั้ง 10 คนต้องถูกส่งมอบตัวกับตำรวจ แต่ในรายงานอ้างว่า เนื่องจากรถยนต์ 2 คันของสถานีตำรวจอินดินถูกเผาทำลายโดยผู้ก่อการร้าย และมีเหตุโจมตีของผู้ก่อการร้ายเกิดขึ้นในเวลานั้น ทำให้ทหารพม่าร่วมกับชาวบ้านบางรายสังหารผู้ถูกควบคุมตัวทั้ง 10 ราย โดยรายงานของคณะกรรมการดังกล่าวระบุด้วยว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่และชาวบ้านดังกล่าวเป็นการละเมิดกฎการปะทะ และจะมีการดำเนินการลงโทษต่อบุคคลเหล่านี้ นอกจากนี้จะลงโทษเจ้าหน้าที่ซึ่งไม่ยอมรายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับหน่วยงานบังคับบัญชาอีกด้วย

ทั้งนี้ กองกำลัง ARSA ปฏิเสธข้อกล่าวหาของกระทรวงกลาโหมพม่าดังกล่าว และระบุว่า ศพชาวโรฮิงญา 10 ราย ที่พบดังกล่าวไม่ใช่สมาชิกกลุ่มติดอาวุธแต่เป็นพลเรือนชาวโรฮิงญาที่ไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับกองกำลัง ARSA

สำหรับความรุนแรงระลอกใหม่ขึ้นในรัฐยะไข่ ทางตะวันตกของพม่า เกิดขึ้นเมื่อกองกำลัง ARSA ซึ่งระบุว่าเป็นกองกำลังติดอาวุธโรฮิงญาบุกโจมตีป้อมตำรวจที่ชายแดนพม่าเมื่อ 25 ส.ค. ปีก่อน ทำให้กองทัพพม่าใช้วิธีปราบปรามแบบไม่เลือกหน้าและมุ่งเป้ามาที่พลเรือน โดยใช้ทั้งวิธีสังหารและเผาทำลายหมู่บ้าน ขณะเดียวกันกลุ่มชาติพันธุ์อื่นในรัฐยะไข่ในพื้นที่ขัดแย้ง ก็อพยพเข้ามาอยู่ในพื้นที่ซึ่งรัฐบาลพม่าจัดให้ โดยระบุว่าถูกโจมตีจากกลุ่ม ARSA เช่นกัน

โดยผลจากการกวาดล้างของกองทัพพม่า ทำให้เกิดการอพยพของชาวมุสลิมโรฮิงญาเข้าสู่ชายแดนบังกลาเทศแล้วกว่า 690,000 คน

ด้านองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) กล่าวประณามกองทัพพม่าว่าเป็นการกวาดล้างชาติพันธุ์ แต่ทางการพม่าปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว และระบุว่าได้ดำเนินการตามกฎหมาย นอกจากนี้ทางการพม่ายังห้าม ยองฮีลี ผู้รายงานพิเศษจากองค์การสหประชาชาติ เดินทางเข้าประเทศ และประกาศระงับการให้ความร่วมมือกับผู้รายงานพิเศษจากองค์การสหประชาชาติด้วย

ส่วนอองซานซูจี ซึ่งดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาแห่งรัฐ และได้ร่วมบริหารประเทศในรัฐบาลของประธานาธิบดีถิ่นจ่อนับตั้งแต่ปี 2559 นั้น ก็ถูกวิจารณ์หนักในเรื่องเพิกเฉยต่อเหตุละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ โดยเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีก่อน สภาเมืองออกซฟอร์ดมีมติถอนรางวัลเสรีภาพแห่งเมืองออกซฟอร์ด ที่อองซานซูจีเคยได้รับเมื่อปี 2540 นอกจากนี้ยังถูกริบรางวัลเสรีภาพเมืองดับลิน ถูกปลดรูปและป้ายชื่อออกจากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net