Skip to main content
sharethis

เสาร์ที่ 27 มกราคม 2561

ตอนตีหนึ่งครึ่งที่ผ่านมาศาลปกครองส่งแฟกซ์พร้อมอีเมลไปให้กลุ่มทนายของกลุ่มเดินมิตรภาพ ท่ามกลางความยินดีของทีมทนายสองคนผู้รู้ข่าวก่อนใครเพื่อนว่าศาลปกครองกลางมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้กับการเดินมิตรภาพในครั้งนี้ เป็นเรื่องน่ายินดีที่การเดินมิตรภาพในครั้งนี้ถูกศาลตัดสินว่าถูกต้องตามกฎหมาย

7.00 น.

ที่พักใกล้กับบ้านมลฤดี ถนนมิตรภาพซอย 8 จ.นครราชสีมา

ตื่นมาพร้อมเสียงมือถือของพี่ร่วมห้อง หนึ่งในทนายกลุ่มเดินมิตรภาพที่ได้รับโทรศัพท์แต่เช้า หลังจากนั้นจึงเป็นเสียงคุยประสานงานอย่างเร่งด่วนให้มีการนำสรุปคำสั่งของศาลขึ้นในเพจ People Go Network

“ศาลสั่งคุ้มครองชั่วคราวแล้ว” พี่ทนายยิ้มบอกเมื่อฉันถามถึงคำสั่ง แล้วกลับไปวุ่นกับการประสานงานต่อ

10.00 น.

บ้านมลฤดี ถนนมิตรภาพซอย 8 จ.นครราชสีมา

วงประชุมอยู่กันพร้อมหน้า พี่น้องจากหลายเครือข่ายแนะนำตัวเอง สีหน้าทุกคนยิ้มแย้มแจ่มใส พวกเขาพูดคุยกันถึงข่าวดีที่สุดในรอบหลายวันที่ผ่านมา ศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว จะเดินต่อได้โดยไม่ต้องกังวลว่าจะถูกตาม ไม่ต้องกังวลว่าจะไม่มีที่พัก

หลังบรรยากาศตึงเครียดตั้งแต่วันแรกที่เดิน เจ้าหน้าที่ตำรวจกั้นขบวนเดิน จนต้องเปลี่ยนแผนเป็นการเดินทีละ 4 คน เรื่องวุ่นวายตามมาไม่หยุดหย่อนจากคำบอกเล่าของพี่คนหนึ่งในทีมเดิน ทั้งวัดที่ขอนอนไว้ไม่ยอมให้นอนเพราะถูกเจ้าหน้าที่กดดัน ทั้งการเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า 200 นาย และโดนตรวจค้นตัว ค้นรถ ถ่ายบัตรประชาชน โดนขับรถตามประกบไม่ลดละ กระทั่งแวะพักกินข้าว เจ้าหน้าที่เรียกเจ้าของร้านไปคุย แล้วเจ้าของร้านก็เดินมาถ่ายรูปทั้งกลุ่มไว้

“ตอนนั้นมันรู้สึกว่า ถึงขนาดนี้เลยเหรอ แค่เจ้าหน้าที่ไม่พอ ยังเป็นคนทั่วไปด้วยที่มาถ่ายรูปเรา เราร้องไห้เลย” น้องคนหนึ่งในทีมเดินมิตรภาพเล่าให้ฟัง

วงประชุมเห็นตรงกันว่านี่คือชัยชนะก้าวแรก แต่หลังจากนี้จะเป็นอย่างไรต้องติดตามต่อไป

พอถึงพักเที่ยงหลายคนเดินไปตักอาหาร ส้มตำคือเมนูยอดฮิตตลอดกาลของที่นี่ ไม่ว่ามาจากเครือข่ายไหน ภาคไหน ส้มตำคืออาหารแห่งความสมัครสมาน เรียกได้ว่าเป็นอาหารแห่งมิตรภาพในการเดินมิตรภาพครั้งนี้

โต๊ะกับข้าววันนี้นอกจากส้มตำที่แยกออกไปต่างหากแล้ว มีหมูทอด แกงไตปลา แกงเขียวหวาน ขนมจีน ข้าวสวย และบรรดาผักมากมายหลายชนิดจนจำไม่หมด จัดวางอย่างสวยงามบนกระจาดไม้สานขนาดใหญ่ ใกล้ๆ กับโต๊ะกับข้าว ณัทฐวรรณ อิสระทะ หรือที่เราเรียกกันติดปากว่า ‘พี่แมว’ หญิงร่างเล็กวัยกลางคน แม่ครัวใหญ่ของทีมกำลังคุยกับใครอีกคนอย่างออกรส

ช่วงบ่ายมีวงเสวนาเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ากับรัฐสวัสดิการกินเวลาจนถึงเย็น หลังจากนั้นจึงเป็นคิวของนักดนตรีขึ้นมาเล่นและร้องขับกล่อมคลอกับบรรยากาศสบายในวันพักผ่อน พร้อมอาหารเย็นที่อร่อยไม่แพ้อาหารกลางวัน ก่อนที่วันอาทิตย์พรุ่งนี้จะเริ่มเดินกันต่อ

ฉันกับพี่อีกคนเริ่มต้นสัมภาษณ์ หญิง-จุฑามาส ศรีหัตถผดุงกิจ จากเครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สาวร่างเล็กหนึ่งในทีมสื่อ ถึงการไลฟ์สดลงเพจตลอดเวลาการเดิน และบรรยากาศทั้งในโซเชียลและนอกโซเชียล เธอพูดถึงความรู้สึกเป็นทีมเดียวกันของทุกคน ไม่มีใครเป็นแกนนำ แต่ทุกคนได้มีส่วนแสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยนพูดคุยเรื่องที่ผิดพลาดในแต่ละวัน ทำให้เรื่องผิดพลาดนั้นกลายเป็นเรื่องเล็กน้อยที่นำมาหยอกล้อกันได้ เธอพูดชมอาหารไม่ขาดปากว่าอาหารรสชาติเยี่ยมแค่ไหน ฉันเห็นด้วยอย่างยิ่งไม่มีข้อโต้แย้ง

เมื่อถามหญิงถึงเรื่องที่พักในแต่ละวัน หลังจากที่วัดไม่ให้เข้าพักเพราะถูกเจ้าหน้าที่กดดัน “ต้องไปคุยกับพี่ตรอง” หญิงบอก ชี้ไปที่ชายร่างสูงใหญ่ซึ่งกำลังแบกถังน้ำไปกรอกน้ำจากแท้งค์ ฉันจึงเห็น ตรอง-นิติกร ค้ำชู จากขบวนการอีสานใหม่ที่ทำหน้าที่ฝ่ายสถานที่และสวัสดิการ

และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นของไอเดียการสัมภาษณ์ฝ่ายต่างๆ ในกลุ่มเดินมิตรภาพ แม้สื่อต่างๆ จะนำเสนอภาพการเดินของกลุ่ม แต่นอกจากทีมเดินที่มาจากหลากหลายภาค หลากหลายเครือข่าย ซึ่งทุกคนเต็มใจที่จะเดินเพื่อสื่อสาร 4 ประเด็นหลัก คือ รัฐสวัสดิการและหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สิทธิชุมชนและการจัดการทรัพยากร ความมั่นคงทางอาหาร และรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย แต่เบื้องหลังนอกจากนั้นยังมีทีมสื่อที่ต้องทั้งเดิน ทั้งไลฟ์ ทั้งบรรยายระหว่างเดิน มีทีมอาหารฝีมือเยี่ยมที่ทำให้ความอิ่มในทุกมื้อมีแต่ความอร่อย มีทีมสถานที่และสวัสดิการที่ต้องวิ่งวุ่น ทั้งคอยเสิร์ฟน้ำระหว่างทาง คอยประสานงานเรื่องจุดพักระหว่างเดินและหาที่นอน มีทีมทนายที่คอยช่วยเหลือด้านกฎหมายมาตลอดตั้งแต่วันแรกที่การเดินถูกปิดกั้น

จากกรุงเทพฯ ถึงขอนแก่น ระยะทาง 450 กิโลเมตร จำนวน 800,000 ก้าว ทุกก้าวของคนที่เดินจึงมาจากกำลังกายและกำลังใจจากทุกฝ่ายที่ผลักดัน พยายาม และทุ่มเทอย่างเต็มที่ในหน้าที่ของตัวเอง มีอุปสรรคขัดขวาง มีความยากลำบากและเหน็ดเหนื่อย แต่ทุกคนเชื่อมั่นว่าการเดินครั้งนี้ของพวกเขาจะไปถึงขอนแก่นและได้ส่งเสียงของตัวเองสะท้อนปัญหาไปสู่สังคมไม่มากก็น้อย และหวังว่าสักวันหนึ่งจะมีประชาธิปไตยที่ทุกคนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายรัฐอย่างแท้จริง

คลิกที่ภาพเพื่ออ่าน









ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net