Skip to main content
sharethis

การเดินเท้าระยะทางกว่า 800,000 ก้าว 450 กิโลเมตร จากกรุงเทพฯ ถึงขอนแก่น ภายในระยะเวลา 1 เดือน โดยกลุ่ม ‘We Walk เดินมิตรภาพ’ ของเครือข่าย People Go Network ที่เริ่มต้นวันแรก (20 ม.ค. 61) ก็โดนขัดขวางจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ขณะที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจำนวน 8 คน ก็ถูกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ดำเนินการแจ้งความฐานฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 เรื่องห้ามมั่วสุม ชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน

แม้ท้ายสุดกลุ่มเดินมิตรภาพจะออกเดินต่อได้ แต่ช่วงแรกของการเดินก็เต็มไปด้วยความตึงเครียดและกดดัน ทั้งการส่งเจ้าหน้าที่กว่า 200 นาย มาตั้งด่านตรวจค้น ถ่ายบัตรประชาชนของผู้เข้าร่วมทุกคน การติดตามและบันทึกภาพตลอดทางอย่างใกล้ชิด การกดดันวัดที่ทางกลุ่มประสานไว้ไม่ให้รับกลุ่มเข้าพัก จนกระทั่งทางกลุ่มตัดสินใจฟ้องเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อศาลปกครอง และขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ที่สุดศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น (ชั่วคราว)

ประชาไทชวนคุยกับ อัมรินทร์ สายจันทร์ และพูนสุข พูนสุขเจริญ ทีมทนายความของกลุ่ม  We Walk เดินมิตรภาพ ผู้อยู่ในสถานการณ์กับกลุ่มเดินมิตรภาพมาตลอด และให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายทั้งหลายเพื่อให้การเดินครั้งนี้สำเร็จลุล่วงไปได้ ทั้งการต้องพิมพ์เอกสารสดๆ ร้อนๆ กันบนรถเพื่อจะนำไปศาล การต้องรอแฟกซ์คำสั่งศาลจนถึงตีหนึ่งครึ่ง พร้อมข้อสังเกตต่อกระบวนการยุติธรรมไทย

ทีมทนาย-แนวร่วมจากหลายองค์กรทางกฎหมาย

กิจกรรม We Walk เดินมิตรภาพเป็นของเครือข่าย People Go Network ซึ่งต้องการสื่อสารปัญหาต่างๆ ต่อสังคม 4 ประเด็น ได้แก่ หลักประกันสุขภาพ ความมั่นคงทางอาหาร สิทธิชุมชน และสิทธิทางการเมืองในรัฐธรรมนูญใหม่ เมื่อมีการวางแผนการเดินทาง เครือข่ายจึงได้ประสานมาเนื่องจากต้องการที่ปรึกษาเรื่องกฎหมาย เราจึงประชุมวางแผนให้คำปรึกษาทางกฎหมายรวมถึงในกรณีที่มีการจับกุม ทีมที่ปรึกษากฎหมายนั้นเป็นทนายความจากหลายองค์กร ทั้งศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม และสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน มาร่วมประชุมและทำงานด้วยกันตั้งแต่แรก เพราะเราประเมินสถานการณ์ว่าอาจมีกรณีที่ถูกเจ้าหน้าที่มาปิดกั้นขัดขวาง

ซึ่งสุดท้ายวันที่เริ่มจัดกิจกรรมก็เกิดขึ้นจริงๆ แต่เรายืนยันและมั่นใจว่าเราได้แจ้งการชุมนุมสาธารณะล่วงหน้าและปฏิบัติถูกต้องตามที่ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะกำหนดไว้แล้วทุกประการ เมื่อฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจมีหนังสือตอบกลับมาโดยตั้งเงื่อนไขและคำแนะนำต่างๆ ที่ไม่ได้เป็นไปตามอำนาจที่กฎหมายให้ไว้ เราก็ทำหนังสือยืนยันกลับไปว่าเราไม่ได้ทำอะไรผิด และเป็นการใช้เสรีภาพการชุมนุมโดยสงบภายใต้กรอบที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายรับรอง

 

วันแรกที่โดนตำรวจขัดขวาง-คำฟ้องศาลที่ส่งไม่ได้เพราะเป็นวันเสาร์

เช้าวันที่ 20 ม.ค. พอขบวนเดินมาถึงหน้าประตูมหาวิทยาศาสตร์ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ก็พบว่ามีเจ้าหน้าที่มาตั้งแนวรั้วปิดกั้นประตูทางออกไว้ พอช่วงสายๆ ทางทีมกฎหมายเห็นว่าสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น ตอนประมาณ 10.00 น. ทีมทนายเราเลยตัดสินใจกันที่จะเขียนคำฟ้องเพื่อยื่นขอให้ศาลสั่งเจ้าหน้าที่ให้ยุติการปิดกั้นขัดขวางการชุมนุมเพราะคิดว่าเป็นอำนาจเดียวที่จะถ่วงดุลกับเจ้าหน้าที่รัฐได้ โดยคิดว่าจะไปยื่นที่ศาลยุติธรรมก่อนเพราะเป็นวันเสาร์ ก็พิมพ์คำฟ้องคำร้องกันสดๆ ตรงนั้นใกล้ๆกับจุดที่ผู้ชุมนุมถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจยืนขวางทางไว้

แต่เนื่องจากวันนั้นเป็นวันเสาร์ ศาลเปิดถึงเที่ยงครึ่ง เราต้องทำงานแข่งกับสถานการณ์และเวลา พิมพ์เอกสารกันบนรถด้วย เพื่อจะไปยื่นศาลให้ทัน ไปถึงก็ประมาณ 12.30 น. เจ้าหน้าที่ศาลแจ้งว่าวันเสาร์รับเฉพาะคดีอาญาที่เป็นพวกฝากขัง ขอออกหมาย ส่วนของเราตอนนั้นถือเป็นคดีแพ่งเจ้าหน้าที่จึงไม่ยอมรับคำฟ้อง และตอนไปถึงศาลก็ปิดไปแล้ว ตรงนี้ถือเป็นปัญหาในการอาศัยช่องทางตามกฎหมายในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนมาโดยตลอด

หากติดช่วงเสาร์อาทิตย์เจ้าหน้าที่สามารถขอออกหมายได้ แต่ประชาชนเราไม่สามารถยื่นคำฟ้องหรือคำร้องอะไรได้เลย เช่น หากมีกรณีควบคุมตัวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเราก็ไม่สามารถยื่นคำร้องตามมาตรา 90 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้ หรืออย่างกรณีการชุมนุมคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่เมื่อช่วงต้นปีก่อน ศาลมีหมายนัดไต่สวนการชุมนุมสาธารณะมาวันศุกร์โดยนัดไต่สวนในวันจันทร์ ในขณะที่วันเสาร์เจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวผู้ชุมนุมทั้งหมดแล้ว การชุมนุมไปไม่ถึงวันจันทร์ แม้กฎหมายชุมนุมสาธารณะจะให้ไต่สวนโดยด่วนก็ไม่ทันเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว

เมื่อยื่นคำฟ้องต่อศาลไม่ได้ในวันนั้นก็ต้องถือว่าการชุมนุมในช่วงวันเสาร์และอาทิตย์นี้ยิ่งตกอยู่ในความเสี่ยง ต่อมาในช่วงบ่ายทราบว่าทีมเดินจะปรับแผนกิจกรรมเป็นการเดินผลัดละ 4 คน ฝ่ายกฎหมายจึงแบ่งกันขับรถติดตามสังเกตการณ์กลุ่มที่เดิน เพราะแม้ตอนนั้นจะแบ่งเป็น 4 คนแล้วและออกมาเดินได้ แต่อาจจะมีกรณีที่เจ้าหน้าที่จะตามมาปิดกั้นขัดขวางหรือจะควบคุมตัวขึ้นรถไปได้เพราะเคยเกิดเหตุการณ์ลักษณะดังกล่าวมาก่อน

พอเวลาใกล้ 18.00 น. เราก็แจ้งเตือนทางเครือข่ายว่าควรจะหยุดเดินแล้วแม้จะยังไม่ถึงจุดหมายที่จะพักในคืนนั้นเพราะเราไม่ต้องการละเมิดกฎหมายแม้ความจริงแล้วจะเป็นการเดินไปตามฟุตบาทธรรมดาก็ตาม  วันนั้นมีรถหน่วย S.W.A.T ตามมาสองคัน รถตู้ตำรวจอีกสี่คัน และรถของเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบอีกจำนวนหนึ่ง รวมๆ แล้วมากกว่าทีมเดินมาก แต่สรุปแล้ววันนั้นก็สามารถเริ่มกิจกรรมได้แม้จะมีการปิดกั้น และติดตามบันทึกภาพตลอดเวลา

 

เหตุการณ์ตั้งด่านตรวจค้นที่วัดลาดทราย-4 คนถูกสอบปากคำ ทนายห้ามเข้า

คืนวันที่ 20 ม.ค. กลุ่มผู้ชุมนุมก็ไปพักกันที่วัดลาดทราย อยุธยา แม้ก่อนหน้านั้นทางวัดจะปฏิเสธไม่ให้เข้าพักตามกำหนดเนื่องจากมีเจ้าหน้าที่ไปเจรจากับทางวัดก่อนหน้าแต่เมื่อทางผู้ชุมนุมเข้าไปชี้แจงทางวัดก็เข้าใจและยินยอมให้เข้าพักตามที่ตกลงไว้แต่เดิม แต่ก็มีเจ้าหน้าที่นับสิบนายมาเฝ้าอยู่บริเวณรอบวัด พอตอนเช้าวันที่ 21 ม.ค.ประมาณ 6.00 น. ทางทีมกฎหมายได้รับแจ้งจากกลุ่มที่อยู่ในวัดว่าเจ้าหน้าที่ประมาณเกือบ 200 นายมาตั้งด่านตรวจค้นตัวผู้ชุมนุมก่อนผู้ชุมนุมออกเดินทาง มีการถ่ายรูปบัตรประชาชนของทุกคน บันทึกภาพผู้ชุมนุม และตรวจรถ โดยคันสุดท้ายที่เป็นรถฝ่ายสวัสดิการขนของกินของใช้ก็ถูกกั้นไว้ แล้วถูกบังคับให้ไปที่ อบต.ลำไทร ซึ่งอยู่ปากซอยทางเข้าวัด

เจ้าหน้าที่ได้ค้นรถโดยไม่มีหมายค้น และพาคนที่อยู่ในรถ 4 คนขึ้นไปสอบปากคำ เรากับน้องอีกคนซึ่งเป็นทนายที่อยู่ใกล้ที่สุดก็ตามไปที่ อบต. เจรจากับตำรวจ แจ้งว่าเราเป็นทนายความ ขอเข้าไปร่วมสอบปากคำด้วยแต่ถูกปฏิเสธ โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่ายังไม่ได้เป็นการแจ้งข้อกล่าวหาดำเนินคดี เป็นการสอบถามข้อมูลเบื้องต้น ยังไม่ให้ทนายเข้า พยายามเจรจาอยู่หลายรอบเขาก็ไม่ยอมให้ทนายขึ้นไป

เราก็ข้องใจเหมือนกันว่าขนาดผู้ต้องหายังมีสิทธิมีทนาย เมื่อไม่ใช่ผู้ต้องหายิ่งต้องมีสิทธิดีกว่า แต่อันนี้อยู่ดีๆ โดนเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวขึ้นไปสอบเรื่องอะไรก็ไม่รู้ ไม่ได้รับแจ้ง แล้วก็ถูกปฏิเสธไม่ให้มีทนายหรือคนที่ไว้วางใจเข้าไปร่วมด้วย แม้แต่ทีมที่ถูกควบคุมตัวขึ้นไปก็ไม่ได้รับแจ้งว่าเป็นการให้การในฐานะใด จนกระทั่งเห็นเอกสารที่จะให้ลงชื่อในภายหลัง

ประมาณ 10.30 น. ทั้งหมดจึงได้รับการปล่อยตัว  สุดท้ายในเรื่องการค้นรถเขาก็ไม่พบสิ่งผิดกฎหมายอะไร แต่ในส่วนสอบคำให้การ ทีมทนายข้างล่างได้แจ้งให้ทั้ง 4 คนที่ถูกสอบไม่ต้องลงลายมือชื่อ เพราะเราเห็นว่ากระบวนการไม่ชอบด้วยกฎหมายและเราไม่รู้ว่าจะถูกเอามาใช้ในเรื่องอะไร แต่ก็มีบางคนที่ลงลายมือชื่อไปแล้ว เพราะในสถานการณ์ตรงนั้นมีแต่เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร ไม่มีทนายร่วมรับฟังและให้คำแนะนำข้างๆ ด้วย


เช้าวันที่ 21 ม.ค. ขณะสอบปากคำ 4 คน ที่ อบต.ลำไทร
ทนายพยายามขอเข้าร่วม แต่ถูกตำรวจปฏิเสธ

 

ฟ้องคดีต่อศาลปกครอง

ในช่วงบ่ายทีมทนายความที่กลับมาที่กรุงเทพฯ ประชุมปรึกษาหารือกันว่าจะต้องใช้การดำเนินการทางกระบวนการยุติธรรมเพื่อยุติการคุกคามการชุมนุม โดยมีประเด็นว่าเราจะฟ้องคดีต่อศาลใด เพราะขั้นตอนตามกฎหมายชุมนุมสาธารณะนั้นกำหนดให้ใช้กลไกศาลยุติธรรม และมีโอกาสที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่จะอ้างว่า การชุมนุมเป็นการกระทำผิดกฎหมายและการดำเนินการของเจ้าหน้าที่เป็นกระบวนการยุติธรรมทางอาญา แต่ความจริงแล้วปฏิบัติการปิดกั้นการชุมนุมของเจ้าหน้าที่นั้นเป็นปฏิบัติการทางปกครอง เราจึงเลือกฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลาง เพราะถือว่านี่เป็นการใช้อำนาจปฏิบัติการทางปกครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งอยู่ในอำนาจการตรวจสอบของศาลปกครอง พอตัดสินใจกันได้ก็เริ่มร่างคำฟ้องกัน นับเวลาจริงๆ ก็ไม่ถึง 24 ชั่วโมง เพื่อยื่นให้เร็วที่สุด สุดท้ายเรามายื่นกันตอนประมาณบ่ายสามโมงของวันจันทร์ที่ 22 ม.ค.

วันนั้นเรายื่นคำขอให้ศาลกำหนดมาตรการบรรเทาทุกข์ชั่วคราว เพื่อให้ศาลสั่งคุ้มครองให้เจ้าหน้าที่ยุติพฤติกรรมการข่มขู่คุกคามเพื่อให้สามารถใช้เสรีภาพเดินต่อไปได้อย่างปลอดภัย เพราะในวันที่ 20-21 ม.ค. นอกจากการปิดกั้นก็มีการตามไปบันทึกภาพ การติดต่อเจรจากดดันวัดที่ผู้ชุมนุมประสานไว้ว่าจะไปพัก ทำให้วัดหรือเจ้าของสถานที่ไม่กล้าให้ผู้ชุมนุมเข้าไปพัก ซึ่งก็มีบางวัดที่แจ้งปฏิเสธเรามา รวมถึงเหตุการณ์ตรวจค้นรถและถ่ายรูปบัตรประชาชนต่างๆ ด้วย เราขอให้ศาลไต่สวนโดยฉุกเฉิน แต่วันนั้นศาลก็บอกว่าข้อมูลยังไม่ชัดเจน ต้องฟังความจากเจ้าหน้าที่ด้วยจึงไม่ได้เรียกไต่สวนฉุกเฉิน

ในระหว่างวันที่ 23 – 25 ม.ค. กิจกรรมเดินมิตรภาพก็ยังพอดำเนินไปได้แบบกลัวๆ ยังต้องเดินกันผลัดละ 4 คน เพราะกลัวเขาจะใช้คำสั่งหัวหน้า คสช.มาเอาผิดผู้ชุมนุม ตำรวจก็ยังมาตามประกบทีมเดินตลอด ส่วนทีมทนายเราก็ผลัดเวรกันไปคอยติดตามสังเกตการณ์เป็นระยะ เผื่อมีเหตุฉุกเฉินจะได้เข้าช่วยเหลือกันได้ทันที จนกระทั่งเย็นวันที่ 25 ม.ค. ก็ได้รับการติดต่อจากศาลปกครองแจ้งว่าศาลจะทำการไต่สวนคำขอบรรเทาทุกข์ชั่วคราวบ่ายวันที่ 26 ม.ค. และศาลมีคำสั่งเรียกผู้ถูกฟ้องคดีมาเพิ่มอีกสามราย คือผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 ภาค 3 และภาค 4 จากเดิมที่เราฟ้องเพียงสี่รายคือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้กำกับ สภ.คลองหลวง ผู้กำกับจังหวัดปทุมธานี และผู้กำกับจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

คืนวันที่ 25 ม.ค.เรารวบรวมข้อมูลที่จะชี้แจงศาลเพิ่มเติม และเช้าวันที่ 26 ม.ค.ทีมกฎหมายและตัวแทนผู้ฟ้องคดี 2 คน ก็ต้องประชุมเตรียมข้อมูลและหลักฐาน เพื่อแสดงให้ศาลเห็นถึงภัยคุกคามการชุมนุมที่กำลังเกิดขึ้น การไต่สวนเริ่มตั้งแต่ 13.00 น. ถึงประมาณ 19.00 น. โดยทางเจ้าหน้าที่ตำรวจมองว่ากิจกรรมส่วนหนึ่งคือการรวบรวมรายชื่อเพื่อเสนอกฎหมายให้ยกเลิกประกาศและคำสั่ง คสช.ขัดต่อคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ซึ่งห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป แต่ก็ยอมรับว่าการชุมนุมของ People Go Network นั้นเป็นการชุมนุมที่สงบและปราศจากอาวุธ ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่เคยกำหนดเงื่อนไขหรือดำเนินการให้เลิกชุมนุมตามขั้นตอนกฎหมายชุมนุมสาธารณะแต่อย่างใด และการมีคำสั่งตามคำขอบรรเทาทุกข์นั้นไม่เป็นอุปสรรคในการบริหารราชการ  ในขณะที่ทางผู้ฟ้องคดียืนยันเสรีภาพในการชุมนุมและสิทธิในการเข้าชื่อเสนอกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ รวมถึงชี้แจงเหตุการณ์ที่มองว่าเป็นการจำกัดหรือปิดกั้นเสรีภาพที่เกิดขึ้น
 

ศาลสั่งคุ้มครองชั่วคราว แต่จนท.จากอำเภอยังกดดันวัดไม่ให้เข้าพัก

เมื่อไต่สวนเสร็จศาลแจ้งว่าจะมีคำสั่งวันนี้เลยว่าจะคุ้มครองชั่วคราวหรือไม่ เนื่องจากศาลรับฟังข้อมูลแล้วก็เห็นว่าเป็นเรื่องเร่งด่วน เราก็กลับมารอกันที่สำนักงานเพราะศาลจะส่งคำสั่งให้ทางแฟกซ์กับทางอีเมล สุดท้ายศาลส่งคำสั่งมาประมาณ 01.30 น. โดยศาลมีคำสั่งกำหนดมาตรการชั่วคราว สั่งผู้บังคับการตำรวจภูธรภาค 3 และภาค 4  ห้ามไม่ให้ตำรวจคุกคามขัดขวางการชุมนุม และให้ดูแลการชุมนุมตามหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดโดยเคร่งครัดจนกว่าการเดินมิตรภาพจะเสร็จสิ้นในวันที่ 17 ก.พ. อันเป็นการรับรองว่าสิ่งที่ผู้ชุมนุมทำอยู่เป็นการใช้เสรีภาพการชุมนุมโดยชอบ และไม่ได้ทำผิดกฎหมาย  คดีนี้น่าจะเป็นคดีแรกๆหลังมีการบังคับใช้กฎหมายชุมนุมสาธารณะในปี 2558 ที่มีการทดลองใช้ช่องทางศาลปกครอง และเราก็หวังว่าคดีนี้จะเป็นตัวอย่างและทำให้เจ้าหน้าที่รัฐระมัดระวังในการบังคับใช้กฎหมายที่จะมาจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมหรือการแสดงออกมากยิ่งขึ้น

ตั้งแต่วันที่ 27 ม.ค. หลังจากศาลมีคำสั่ง สถานการณ์ดีขึ้น เจ้าหน้าที่ตำรวจมีการมาแจ้งรายงานตัวกับทีมเดินว่ามีใครมาติดตามดูแลการชุมนุมบ้าง ทีมเดินก็มีความมั่นใจมากขึ้นที่จะเดินพร้อมกันหลายๆ คน มีพี่น้องประชาชนกล้าออกมาให้กำลังใจและมาร่วมเดินกันมากขึ้น แต่เมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมาในพื้นที่โคราช เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง เข้าใจว่าเป็นจากอำเภอ มาพูดคุยกดดันทางวัดอีก ในลักษณะที่จะไม่ให้ผู้ชุมนุมเข้าพัก ทีมกฎหมายเราก็กำลังปรึกษากันอยู่ว่าจะมีมาตรการทางกฎหมายอย่างไร เพราะตามคำสั่งของศาลปกครองแม้จะสั่งไปถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ถูกฟ้องคดี แต่จริงๆ ก็เท่ากับเป็นการรับรองว่าการเดินมิตรภาพของเราเป็นกิจกรรมที่ชอบด้วยกฎหมาย และคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวที่ห้ามการปิดกั้นคุกคามต้องผูกพันเจ้าหน้าที่รัฐทุกฝ่ายด้วยไม่ใช่แค่ตำรวจ เพราะฉะนั้นเขาต้องเคารพในคำสั่งศาลตัวนี้ด้วยเช่นกัน
 

ความคืบหน้าคดี 8 ผู้ชุมนุม ปฏิเสธข้อกล่าวหา นัดรายงานตัวอีกครั้ง 26 ก.พ.

ในส่วนคดีที่มีทหารไปแจ้งความดำเนินคดีกับตัวแทนผู้ชุมนุม 8 คน ข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมือง ตอนแรกตำรวจนัดไปรับทราบข้อกล่าวหาวันที่ 28 ม.ค. แต่ทีมทนายได้ไปยื่นหนังสือขอเลื่อนเพื่อให้ผู้ถูกกล่าวหาได้เตรียมความพร้อมกันก่อน และตอนนี้ก็ได้ไปเข้ารับทราบข้อกล่าวหาจากสถานีตำรวจภูธรคลองหลวงมาแล้วเมื่อวันที่ 31 ม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งทางเราให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และทางทีมทนายจะได้ทำคำให้การยื่นเป็นหนังสือไปภายหลัง ยืนยันว่าเราใช้เสรีภาพการชุมนุมโดยชอบตามรัฐธรรมนูญ และไม่ได้ทำผิดกฎหมายหรือคำสั่ง คสช. ตามที่ถูกกล่าวหา โดยตำรวจนัดไปรายงานตัวเพื่อฟังว่ามีความเห็นสั่งฟ้องและจะส่งตัวให้อัยการต่อไปหรือไม่ในวันที่ 26 ก.พ.นี้

 

คลิกที่ภาพเพื่ออ่าน








 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net