Skip to main content
sharethis

พร้อมขอไทยยกเลิกข้อจำกัดมากมายต่อเสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพสื่อ เสรีภาพในการชุมนุมและรวมกลุ่มอย่างสงบ รวมทั้งกิจกรรมต่างๆ ของพรรคการเมืองและองค์กรภาคประชาสังคม ตามที่เคยคุยไว้เมื่อ ธ.ค.ปีที่แล้ว

แฟ้มภาพ

25 ม.ค. 2561 จากเมื่อวันที่ 23 ม.ค. ที่ผ่านมา ดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ กล่าวถึงกรณีคณะกรรมาธิการวิสามัญร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. เสนอแก้ไขร่างกฎหมายให้มีผลบังคับใช้ถัดไปอีก 90 วัน ภายหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา อาจทำให้จัดการเลือกตั้งไม่ทันภายในปี 2561 ว่า แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะเคยประกาศเอาไว้ระหว่างเยือนสหรัฐอเมริกาว่าจะมีการเลือกตั้งในปี 2561 แต่เรื่องการแก้ไขกฎหมายเป็นเรื่องของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ ส่วนนายกฯ เป็นฝ่ายบริหาร ดังนั้น เป็นคนละส่วนกัน

ต่อมาวานนี้ (24 ม.ค.61) มติชนออนไลน์ รายงานปฏิกิริยาจากสหรัฐฯ ว่า  จิลเลียน บอนนาร์โด โฆษกสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐ กล่าวว่า จุดยืนเรื่องการเลือกตั้งในประเทศไทยของสหรัฐอเมริกานั้นยังไม่เปลี่ยนแปลง สหรัฐยินดีที่นายกรัฐมนตรีของไทยได้แสดงพันธกรณีต่อสาธารณชน ในการที่จะจัดการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นไม่เกินเดือนพฤศจิกายนนี้

"เรายังรอให้ไทยกลับคืนสู่การบริหารงานโดยรัฐบาลที่มาจากประชาธิปไตยผ่านการเลือกตั้งที่เสรีและยุติธรรมโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เรื่องนี้จะทำให้สหรัฐสามารถสร้างเสริมความสัมพันธ์ เพื่อที่ประเทศไทยจะสามารถก้าวขึ้นเป็นประเทศที่แข็งแกร่งและเป็นผู้นำในภูมิภาคนี้"  บอนนาร์โด กล่าว

มติชนออนไลน์ ยังรายงานปฏิกิริยาจากสหภาพยุโรปหรืออียูด้วย โดย เปียร์ก้า ตาปิโอลา เอกอัครราชทูต คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย กล่าวว่า  อียูเข้าใจดีถึงความแตกต่างระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งทั้งสองฝ่ายเป็นฝ่ายอำนาจที่จำเป็นและเป็นอิสระในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย ซึ่งนี่ก็คือเหตุผลที่สหภาพยุโรปสนับสนุนการกลับคืนสู่การเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทยให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

เอกอัครราชทูต คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย กล่าวด้วยว่า ท่ามกลางความท้าทายที่ยังคงเหลืออยู่สำหรับการจัดเตรียมการเลือกตั้งอย่างทันท่วงที หนึ่งในนั้นคือยังคงมีข้อจำกัดมากมายต่อเสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพสื่อ เสรีภาพในการชุมนุมและรวมกลุ่มอย่างสงบ รวมทั้งกิจกรรมต่างๆ ของพรรคการเมืองและองค์กรภาคประชาสังคม ดังที่กล่าวไว้ในผลสรุปการประชุมของคณะรัฐมนตรีต่างประเทศสหภาพยุโรปเกี่ยวกับประเทศไทย เมื่อเดือนธันวาคม 2560 เราขอเรียกร้องให้ยกเลิกข้อจำกัด เหล่านี้โดยเร็วที่สุด
 
"เราเข้าใจว่ายังคงเป็นไปได้ที่จะมีการจัดการเลือกตั้งภายในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2561 และส่งเสริมให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายให้ความเคารพต่อโรดแมปเพื่อกลับคืนสู่ประชาธิปไตยในประเทศไทยที้ได้ประกาศไปก่อนหน้านี้ เพื่อประโยชน์ของประชาชนทุกคน สหภาพยุโรปพร้อมที่จะช่วยเหลือประเทศไทยในความพยายามนี้" เอกอัครราชทูต คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net